กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
ให้ความนับถือต่อคู่ของคุณ
วิลล์ *พูดว่า “เวลาเรเชลไม่สบายใจ เธอจะร้องห่มร้องไห้ไม่หยุด. พอเรานั่งคุยกัน เธอก็จะหงุดหงิดหรือถึงกับงอนไม่พูดไม่จา. วิธีไหนก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผล. ผมเลยไม่อยากง้อเธออีกแล้ว.”
เรเชลพูดว่า “ตอนที่วิลล์กลับมาบ้าน ฉันกำลังร้องไห้อยู่. ฉันพยายามอธิบายว่าฉันไม่สบายใจเรื่องอะไร แต่เขาก็พูดตัดบทว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเลย ปล่อยมันไปเถอะ. นั่นทำให้ฉันยิ่งโมโห.”
คุณเคยรู้สึกเหมือนวิลล์หรือเรเชลไหม? ทั้งคู่ต้องการพูดคุยกัน แต่ก็มักจะหงุดหงิดใส่กัน. เพราะอะไร?
ผู้ชายและผู้หญิงมีวิธีสื่อความต่างกัน และพวกเขาก็มีความต้องการที่ต่างกัน. ผู้หญิงอาจชอบระบายความรู้สึกให้คนอื่นได้รับรู้. ในขณะที่ผู้ชายหลายคนกลับต้องการแก้ไขและยุติปัญหาโดยเร็วเพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามใหญ่โต. เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณจะเอาชนะอุปสรรคที่เกิดจากความแตกต่างและปัญหาในการสื่อความระหว่างคุณกับคู่สมรสได้อย่างไร? คุณจะทำได้โดยแสดงความนับถือต่อคู่ของคุณ.
คนที่มีความนับถือต่อผู้อื่นจะเห็นคุณค่าและพยายามเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น. คุณอาจถูกสอนมาตั้งแต่เด็กให้นับถือผู้ที่มีฐานะสูงกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่าคุณ. แต่ในชีวิตสมรส ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะแสดงความนับถือต่อคนที่มีฐานะและประสบการณ์พอ ๆ กับคุณ ซึ่งก็คือคู่สมรส. ลินดาที่แต่งงานมาแปดปีแล้วบอกว่า “ฉันรู้ว่าฟิลจะรับฟังด้วยความอดทนและเข้าใจคนอื่นเสมอไม่ว่าพวกเขาจะพูดเรื่องอะไร. ฉันก็แค่อยากให้ฟิลทำอย่างนั้นกับฉันบ้าง.” เมื่อเพื่อนหรือแม้แต่คนแปลกหน้าพูดกับคุณ คุณคงรับฟังด้วยความอดทนและพูดกับเขาด้วยความนับถือ. แต่คุณปฏิบัติต่อคู่ของคุณอย่างนั้นด้วยไหม?
การไม่ให้ความนับถือทำให้เกิดความตึงเครียดภายในครอบครัวและอาจนำไปสู่การทะเลาะกันอย่างรุนแรง. กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวไว้ว่า “เศษเสี้ยวอาหารที่เย็นชืดพร้อมกับความสงบสุขดีกว่าบ้านที่มีงานฉลองกันเต็มที่พร้อมกับการทะเลาะวิวาท.” (สุภาษิต 17:1, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) คัมภีร์ไบเบิลบอกให้สามีปฏิบัติต่อภรรยาด้วยความนับถือหรือให้เกียรติเธอ. (1 เปโตร 3:7) “ส่วนภรรยาก็ควรนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง.”—เอเฟโซส์ 5:33
คุณจะพูดคุยกันด้วยความนับถือได้อย่างไร? ขอพิจารณาคำแนะนำที่เป็นประโยชน์บางข้อจากคัมภีร์ไบเบิล.
เมื่อคู่สมรสพูดกับคุณ
ปัญหา:
คนส่วนใหญ่ชอบพูดมากกว่าฟัง. คุณเป็นอย่างนั้นด้วยไหม? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ผู้ที่ให้คำตอบก่อนได้ยินเรื่อง” ก็เป็นคนโฉดเขลา. (สุภาษิต 18:13) ดังนั้น จงฟังก่อนที่จะพูด. เพราะอะไร? คาราซึ่งแต่งงานมา 26 ปีแล้วบอกว่า “ฉันชอบมากกว่าถ้าสามีจะฟังให้จบเสียก่อนแทนที่จะเสนอวิธีแก้ปัญหาทันที. เขาไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับฉันหรือพยายามซักถามอะไร. ฉันแค่อยากให้เขาฟังและรับรู้ว่าฉันรู้สึกอย่างไรจริง ๆ.”
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเผยความรู้สึกของตนออกมา และเขาอาจรู้สึกไม่สบายใจถ้าคู่สมรสพยายามคะยั้นคะยอให้พูด. ลอร์รีซึ่งแต่งงานได้ไม่นานพบว่าสามีของเธอเป็นคนที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกออกมาง่าย ๆ. เธอบอกว่า “ฉันต้องอดทนคอยจนกว่าเขาจะยอมพูด.”
วิธีแก้:
ถ้าคุณและคู่สมรสจำเป็นต้องพูดคุยถึงเรื่องที่อาจทำให้ทะเลาะกัน คุณควรพูดเรื่องนั้นตอนที่คุณทั้งคู่อารมณ์ดีและผ่อนคลาย. แต่ถ้าคู่ของคุณไม่อยากพูดล่ะ? ขอให้จำไว้ว่า “ความมุ่งหมายในใจคนลึกเหมือนน้ำลึก; แต่คนที่มีความเข้าใจจะยกขึ้นมาได้.” (สุภาษิต 20:5) ถ้าคุณหย่อนถังลงตักน้ำในบ่อแล้วสาวเชือกขึ้นมาเร็วเกินไป น้ำก็จะกระฉอกออกไปจนแทบไม่เหลือเลย. ทำนองเดียวกัน ถ้าคุณคะยั้นคะยอคู่สมรสมากเกินไป เขาก็ยิ่งไม่อยากพูด แล้วคุณก็อาจหมดโอกาสที่จะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร. แทนที่จะทำเช่นนั้น คุณน่าจะค่อย ๆ ถามเขาด้วยความนับถือ และอดทนรอถ้าเขาไม่ได้เปิดเผยความรู้สึกออกมาทันทีอย่างที่คุณต้องการ.
เมื่อคู่ของคุณพูด จง “ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) ผู้ฟังที่ดีไม่เพียงแค่ฟังด้วยหู แต่ยังฟังด้วยใจ. เมื่อคู่สมรสพูด จงพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา. คู่ของคุณจะรับรู้ได้ว่าคุณนับถือหรือไม่นับถือเขามากน้อยแค่ไหนจากวิธีที่คุณฟัง.
พระเยซูสอนให้เรารู้วิธี ฟังที่ถูกต้อง. ตัวอย่างเช่น เมื่อชายที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนมาขอให้พระองค์รักษาเขา พระเยซูไม่ได้รีบรักษาเขาในทันที. สิ่งแรกที่พระองค์ทำคือรับฟังคำร้องขอของเขา. จากนั้น พระองค์พยายามรับรู้ความรู้สึกของเขาด้วยหัวใจของพระองค์. แล้วสุดท้ายพระองค์จึงลงมือรักษาชายคนนั้น. (มาระโก 1:40-42) เมื่อคู่ของคุณพูด จงฟังโดยใช้วิธีเดียวกันนี้. ขอให้จำไว้ว่า คู่ของคุณอาจต้องการให้คุณเห็นอกเห็นใจแทนที่จะรีบแนะวิธีแก้ปัญหาให้เขา. ดังนั้น จงตั้งใจฟัง. จากนั้นพยายามใช้หัวใจรับรู้ความรู้สึกของเขา. หลังจากทำทั้งสองขั้นตอนนี้แล้วเท่านั้น คุณจึงค่อยทำสิ่งที่คู่ของคุณต้องการ. ถ้าคุณทำเช่นนี้ก็แสดงว่าคุณนับถือคู่ของคุณ.
ลองวิธีนี้: คราวหน้าถ้าคู่สมรสมีเรื่องอยากพูดคุยกับคุณ อย่าเพิ่งรีบแสดงปฏิกิริยาใด ๆ ทันที. จงรอจนกว่าคู่ของคุณพูดจบและคุณเข้าใจว่าเขาต้องการบอกอะไรจริง ๆ. หลังจากนั้น ลองถามเขาว่า “คุณรู้สึกว่าผมเป็นผู้ฟังที่ดีของคุณไหม?”
เมื่อคุณพูด
ปัญหา:
ลินดา ซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้สังเกตว่า “ละครซิตคอมทางทีวีทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่จะพูดถึงคู่สมรสในทางไม่ดีและพูดจาดูหมิ่นหรือประชดประชัน.” บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่พูดกันแบบไม่ให้ความนับถือ. และเมื่อเขาแต่งงาน เขาก็มักจะใช้คำพูดแบบนั้นกับคนในครอบครัวของตนเอง. ไอวี ซึ่งอยู่ในแคนาดาเล่าว่า “ฉันโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีแต่การใช้คำพูดประชดประชัน กรีดร้องโวยวาย และเรียกกันด้วยคำที่ไม่สุภาพ.”
วิธีแก้:
เมื่อคุณพูดถึงคู่สมรสต่อหน้าคนอื่น จงพูดแต่ “คำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นตามความจำเป็นในเวลานั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง.” (เอเฟโซส์ 4:29) คุณจะทำให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีต่อคู่ของคุณ ถ้าคุณพูดถึงเขาด้วยความนับถือ.
แม้แต่ตอนที่คุณอยู่กับคู่สมรสตามลำพัง คุณต้องควบคุมตัวเองไม่ให้พูดประชดเหน็บแนมหรือเรียกเขาอย่างดูถูก. ใน2 ซามูเอล 6:20-23) เรื่องนี้ให้บทเรียนอะไร? เมื่อคุณพูดกับคู่สมรส ขอให้เลือกใช้คำพูดที่ดี. (โกโลซาย 4:6) ฟิล ซึ่งแต่งงานมาแปดปีแล้วยอมรับว่าเขากับภรรยายังมีหลายเรื่องที่ไม่ลงรอยกัน. ฟิลสังเกตว่าบางครั้งคำพูดของเขายิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก. เขาพูดว่า “แล้วผมก็ได้ตระหนักว่า แม้ผมจะเถียง ‘ชนะ’ เธอ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมได้รับคือความพ่ายแพ้. ผมพบว่าการพูดแบบที่เสริมสร้างทำให้เรามีความสุขและได้รับประโยชน์มากกว่า.”
สมัยอิสราเอลโบราณ มีคัล มเหสีของกษัตริย์ดาวิดโกรธสามีของนางมาก. นางจึงพูดเหน็บแนมและบอกว่าดาวิดทำตัว “ดุจคนหน้าด้าน.” คำพูดของนางนอกจากจะทำให้ดาวิดขุ่นเคืองแล้วยังทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัยด้วย. (หญิงม่ายสูงอายุคนหนึ่งในสมัยโบราณอวยพรลูกสะใภ้สองคนที่เป็นม่ายให้ได้ “พบที่พักพิง ในบ้านของสามีคนใหม่.” (ประวัตินางรูธ 1:9, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน) เมื่อทั้งสามีและภรรยาให้เกียรติกันพวกเขาก็ทำให้บ้านเป็น “ที่พักพิง” อย่างแท้จริง.
ลองวิธีนี้: จัดเวลาไว้พูดคุยกันเกี่ยวกับข้อแนะที่กล่าวในหัวข้อย่อยนี้. ลองถามคู่สมรสของคุณว่า “เวลาที่ผม/ฉันพูดถึงคุณต่อหน้าคนอื่น คุณรู้สึกว่าผม/ฉันให้เกียรติคุณหรือดูถูกคุณ? มีอะไรที่ผม/ฉันต้องปรับปรุงอีกไหม?” ขอให้ตั้งใจฟังเมื่อคู่ของคุณบอกว่าเขารู้สึกอย่างไร และพยายามปรับปรุงตัวหากมีข้อเสนอแนะใด ๆ.
ยอมรับความแตกต่างของคู่สมรส
ปัญหา:
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าสามีและภรรยาเป็น “เนื้อหนังเดียวกัน.” (มัดธาย 19:5) ข้อนี้อาจทำให้คู่สมรสบางคู่ที่เพิ่งแต่งงานใหม่เข้าใจว่าทั้งสองต้องมีความคิดและลักษณะนิสัยเหมือนกันทุกประการ. แต่ไม่นานพวกเขาก็พบว่าเรื่องนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย. เมื่อคนสองคนมาใช้ชีวิตร่วมกัน ความแตกต่างของพวกเขามักเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันบ่อย ๆ. ลินดากล่าวว่า “ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งระหว่างฉันกับฟิลก็คือ ฟิลเป็นคนที่ไม่ค่อยกังวลอะไร ส่วนฉันก็กังวลไปหมด. บางครั้งเขาก็ยังใจเย็นอยู่ได้ในขณะที่ฉันวิตกกังวลแทบตาย สุดท้ายฉันก็โมโหเพราะเขาทำเหมือนไม่ใส่ใจในเรื่องที่ฉันคิดว่าสำคัญ.”
วิธีแก้:
ขอให้ตระหนักว่าคุณกับคู่สมรสแตกต่างกัน และยอมรับความแตกต่างของกันและกัน. ลองคิดถึงตัวอย่างนี้: หูมีหน้าที่แตกต่างจากตา ถึงกระนั้น อวัยวะทั้งสองก็ทำงานประสานกันได้ดี ทำให้คุณสามารถเดินข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย. เอเดรียน ซึ่งแต่งงานมาเกือบสามสิบปีบอกว่า “ตราบใดที่ทัศนะของเราไม่ขัดกับพระคำของพระเจ้า ฉันกับสามีก็จะยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน แม้ว่าเราจะคิดต่างกันก็ตาม. ที่จริง เราก็แค่แต่งงานกัน เราไม่ได้มาจากการโคลนนิงสักหน่อย.”
เมื่อคู่ของคุณมีความคิดเห็นหรือปฏิกิริยาต่างไปจากคุณ ขออย่าคิดถึงตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่ให้คิดถึงความรู้สึกของคู่สมรสด้วย. (ฟิลิปปอย 2:4) ไคล์ สามีของเอเดรียนยอมรับว่า “ผมไม่ได้เห็นด้วยหรือเข้าใจความคิดของภรรยาในทุกเรื่อง. แต่ผมจะเตือนตัวเองเสมอว่าความรู้สึกของเธอ สำคัญยิ่งกว่าความคิดเห็นของผม. ถ้าเธอมีความสุข ผมก็มีความสุขด้วย.”
ลองวิธีนี้: ขอให้นึกดูว่าคู่สมรสของคุณมีความคิดเห็นหรือวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าคุณในเรื่องใดบ้าง จากนั้นให้เขียนลงในกระดาษ. (ฟิลิปปอย 2:3)
การแสดงความนับถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตสมรสมีความสุขและยั่งยืน. ลินดาบอกว่า “ความนับถือทำให้ชีวิตสมรสมีความยินดีและมั่นคงปลอดภัย. นับว่าคุ้มค่าจริง ๆ ที่จะปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีเช่นนี้.”
^ วรรค 3 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
ถามตัวเองว่า . . .
-
การที่คู่สมรสคิดหรือทำอะไรต่างไปจากฉันช่วยส่งเสริมความสุขในครอบครัวของเราอย่างไร?
-
ทำไมนับว่าดีที่ฉันจะตามใจคู่สมรส ถ้าเรื่องนั้นไม่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล?