ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว

เมื่อ​คุณ​มี​ลูก​พิการ

เมื่อ​คุณ​มี​ลูก​พิการ

คาร์โล: * “อันเจโล​ลูก​ชาย​ของ​เรา​เป็น​ดาวน์​ซินโดรม. การ​ดู​แล​เขาทำ​ให้​เรา​เหนื่อย​ล้า​ทั้ง​กาย​และ​ใจ. ลำพัง​การ​เลี้ยง​เด็ก​ที่​เกิด​มา​ปกติ​ก็ยาก​อยู่​แล้ว แต่​การ​ดู​แล​เด็ก​พิการ​ยิ่ง​ยาก​กว่า​เป็น​ร้อย​เท่า. บางครั้ง​การ​มี​ลูก​พิการ​ก็​สร้าง​ปัญหา​ให้​กับ​ชีวิต​สมรส​ของ​เรา.”

มีอา: “กว่า​เรา​จะ​สอน​อันเจโล​ให้​ทำ​อะไร​สัก​อย่าง​แม้​แต่​เรื่อง​ที่​ง่าย​ที่สุด​ก็​ต้อง​ใช้​ความ​พยายาม​และ​ความ​อด​ทน​สูง. ถ้า​เหนื่อย​มากๆเข้า ฉัน​ก็​มัก​จะ​หงุดหงิด​ใส่​คาร์โล​สามี​ของ​ฉัน. บาง​ครั้ง​เมื่อ​เรา​มี​ความ​เห็น​ไม่​ตรง​กัน สัก​พัก​เรา​ก็​จะ​ทะเลาะ​กัน.”

คุณ​จำ​วัน​แรก​ที่​ลูก​ของ​คุณ​ลืม​ตา​ดู​โลก​ได้​ไหม? คุณ​คง​อยาก​อุ้ม​ลูก​จน​แทบ​จะ​รอ​ไม่​ไหว. แต่​สำหรับ​พ่อ​แม่​ที่​มี​ประสบการณ์​เหมือน​คาร์โล​กับ​มีอา ใน​ความ​ปลาบปลื้ม​ยินดี​นั้น​มี​ความ​กังวล​แฝง​อยู่​เมื่อ​หมอ​บอก​ว่า​ลูก​ป่วย​หรือ​พิการ.

คุณ​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ลูก​พิการ​ไหม? คุณ​คง​สงสัย​ว่า​จะ​เลี้ยง​ดู​เขา​ได้​อย่าง​ไร? คุณ​อาจ​รู้สึก​กังวล แต่​อย่า​เพิ่ง​หมด​หวัง. พ่อ​แม่​หลาย​คน​ที่​มี​ลูก​พิการ​เช่น​เดียว​กับ​คุณ​ก็​ยัง​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มา​แล้ว. ขอ​พิจารณา​ปัญหา​สาม​ประการ​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​กับ​คุณ และ​ดู​ว่า​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ช่วย​ได้​อย่าง​ไร.

ปัญหา 1: คุณ​ไม่​อาจ​ทำ​ใจ​ได้​ว่า​ลูก​ของ​คุณ​พิการ.

พ่อ​แม่​หลาย​คน​แทบ​หัวใจ​สลาย​เมื่อ​รู้​ว่า​ลูก​มี​ความ​ผิด​ปกติ​บาง​อย่าง. จูเลีย​นา​แม่​คน​หนึ่ง​ใน​เม็กซิโก​บอก​ว่า “ฉัน​แทบ​ไม่​ เชื่อ​หู​ตัว​เอง​ตอน​ที่​หมอ​บอก​ว่า​ซันตีอาโก​ลูก​ชาย​ของ​ฉัน​เป็น​โรค​อัมพาต​สมอง​ใหญ่. ฉัน​รู้สึก​เหมือน​โลก​ทั้ง​โลก​ถล่ม​ลง​มา​ทับ.” บาง​คน​อาจ​รู้สึก​เหมือน​วิล​ลานา​แม่​คน​หนึ่ง​ใน​อิตาลี​ที่​บอก​ว่า “ฉัน​ตัดสิน​ใจ​มี​ลูก​ทั้งๆที่​รู้​ว่า​มัน​เสี่ยง​มาก​สำหรับ​ผู้​หญิง​อายุ​ขนาด​ฉัน. และ​เมื่อ​ลูก​ชาย​เป็น​ดาวน์​ซินโดรม ฉัน​จึง​รู้สึก​ผิด​เหลือ​เกิน.”

ถ้า​คุณ​กำลัง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​ท้อ​แท้​สิ้น​หวัง​หรือ​ความ​รู้สึก​ผิด ขอ​ให้​รู้​ว่า​ความ​รู้สึก​เช่น​นั้น​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา. ความ​เจ็บ​ป่วย​ไม่​ใช่​พระ​ประสงค์​แรก​เดิม​ของ​พระเจ้า. (เยเนซิศ 1:27, 28) พระองค์​ไม่​ได้​สร้าง​มนุษย์​ให้​ยอม​รับ​ความ​ผิด​ปกติ​ได้​ง่ายๆ. ฉะนั้น เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​คุณ​จะ​รู้สึก “เศร้า” เมื่อ​ลูก​ของ​คุณ​ป่วย​หรือ​เกิด​มา​ผิด​ปกติ. คุณ​คง​ต้อง​ใช้​เวลา​ไม่​น้อย​กว่า​จะ​ทำ​ใจ​ยอม​รับ​และ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สถานการณ์​ใหม่​ได้.

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​คุณ​รู้สึก​ว่า​เป็น​ความ​ผิด​ของ​คุณ​ที่​ลูก​เกิด​มา​พิการ? ขอ​ให้​จำ​ไว้​ว่า ไม่​มี​ใคร​สามารถ​เข้าใจ​อย่าง​แท้​จริง​ว่า​กรรมพันธุ์ สภาพ​แวด​ล้อม หรือ​ปัจจัย​อื่นๆมี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​สุขภาพ​ของ​เด็ก. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง คุณ​อาจ​อยาก​โยน​ความ​ผิด​ไป​ให้​คู่​สมรส​ของ​คุณ. ขอ​อย่า​ได้​คิด​เช่น​นั้น. ถ้า​คุณ​ร่วม​มือ​กับ​คู่​สมรส​และ​ตั้งใจ​ดู​แล​ลูก​ของ​คุณ​ให้​ดี คุณ​จะ​มี​โอกาส​ประสบ​ผล​สำเร็จ​มาก​กว่า.—ท่าน​ผู้​ประกาศ 4:9, 10

ข้อแนะ: พยายาม​หา​ความ​รู้​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​โรค​ที่​ลูก​เป็น. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ครอบครัว​จะ​เจริญ​ก็​ด้วย​สติ​ปัญญา และ​ครอบครัว​จะ​มั่นคง​ก็​ด้วย​ความ​เข้าใจ.”—สุภาษิต 24:3, ล.ม.

คุณ​อาจ​ได้​ข้อมูล​หลาย​อย่าง​จาก​แพทย์​ผู้​เชี่ยวชาญ​และ​หนังสือ​ต่างๆที่​เชื่อถือ​ได้. การ​เรียน​รู้​จัก​โรค​ของ​ลูก​อาจ​เปรียบ​ได้​กับ​การ​เรียน​ภาษา​ใหม่. ตอน​แรก​คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​ยาก แต่​จริงๆแล้ว​เรื่อง​นี้​ไม่​ยาก​เกิน​ความ​สามารถ​ของ​คุณ.

คาร์โล​กับ​มีอา​ที่​กล่าว​ถึง​ตอน​ต้น​ไป​ปรึกษา​แพทย์​ที่​รักษา​ลูกและ​องค์กร​ที่​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​เด็ก​ดาวน์​ซินโดรม​โดย​เฉพาะ. พวก​เขา​เล่า​ว่า “การ​ทำ​อย่าง​นี้​นอก​จาก​จะ​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​เด็ก​ดาวน์​ซินโดรม​แล้ว เรา​ยัง​ได้​รู้​ว่า​มี​อะไร​หลาย​อย่าง​ที่​ลูก​สามารถ​ทำ​ได้​เหมือน​เด็ก​ปกติ ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​สบาย​ใจ​ขึ้น​มาก.”

ลองวิธีนี้: คิด​ถึง​สิ่ง​ที่​ลูก​ของ​คุณ​ทำ​ได้. หา​กิจกรรม​ที่​ทุกคนใน​ครอบครัว​ทำ​ร่วม​กัน​ได้. เมื่อ​ลูก​ทำ​อะไร “สำเร็จ” แม้แต่​ใน​เรื่อง​เล็กๆน้อยๆ ต้อง​รีบ​ชมเชย​และ​ร่วม​ความ​ยินดี​กับ​เขา.

ปัญหา 2: คุณ​เหนื่อย​ล้า​และ​รู้สึก​ว่า​ไม่​มี​ใคร​ที่​จะ​ปรับ​ทุกข์​ได้.

คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​การ​ดู​แล​ลูก​ที่​ป่วย​ทำ​ให้​คุณ​หมด​เรี่ยว​หมด​แรง. เจนนี แม่​คน​หนึ่ง​ใน​นิวซีแลนด์​บอก​ว่า “ช่วง​สอง​สาม​ปี​หลัง​จาก​หมอ​พบ​ว่า​ลูก​ชาย​ของ​ฉัน​เป็น​โรค​ไข​สัน​หลัง​ไม่​ปิด ฉัน​แทบ​ไม่​ได้​ทำ​งาน​อย่าง​อื่น​เลย​นอก​จาก​งาน​บ้าน​ทั่วๆไป. ถ้า​ฉัน​ทำ​อะไร​มาก​กว่า​นี้​ฉัน​จะ​เหนื่อย​มาก แล้ว​ก็​ได้​แต่​ร้องไห้.”

ปัญหา​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ คุณ​อาจ​รู้สึก​โดด​เดี่ยว​อ้างว้าง. เบน มี​ลูก​ชาย​ที่​ป่วย​เป็น​โรค​กล้ามเนื้อ​ลีบ​และ​โรค​แอสเพอร์เกอร์. เบน​เล่า​ว่า “คน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​เข้าใจ​หรอก​ว่า​ชีวิต​ของ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร.” คุณ​อาจ​ต้องการ​จะ​คุย​กับ​ใคร​สัก​คน แต่​เพื่อนๆส่วน​ใหญ่​ก็​มี​ลูก​ปกติ​กัน​ทั้ง​นั้น. ดัง​นั้น คุณ​จึง​ไม่​อยาก​เล่า​อะไร​ให้​พวก​เขา​ฟัง.

ข้อแนะ: จง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ และ​อย่า​ปฏิเสธ​เมื่อ​มี​คน​พร้อม​จะ​ยื่น​มือ​เข้า​ช่วย. จูเลีย​นา ที่​กล่าว​ถึง​ตอน​ต้น​ยอม​รับ​ว่า “บาง​ที​ฉัน​กับ​สามี​ก็​ไม่​กล้า​เอ่ย​ปาก​ขอ​ให้​ใคร​ช่วย.” แต่​เธอ​บอก​ว่า “เรา​ได้​เรียน​รู้​ว่า​เรา​ไม่​สามารถ​ทำ​อะไร​เอง​ได้​ทุก​อย่าง และ​ถ้า​เรา​พึ่ง​คน​อื่น​บ้าง เรา​ก็​จะ​ไม่​รู้สึก​โดด​เดี่ยว.” ถ้า​เพื่อน​สนิท​หรือ​ญาติ​บอก​ว่า​เขา​ยินดี​นั่ง​กับ​ลูก​ของ​คุณ​เมื่อ​ไป​งาน​สังสรรค์​หรือ​ใน​การ​ประชุม​คริสเตียน คุณ​ควร​ขอบคุณ​และ​ตอบรับ​น้ำใจ​ของ​เขา. สุภาษิต​ข้อ​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “มิตร​สหาย​ย่อม​รัก​กัน​อยู่​ทุก​เวลา, และ​พี่​ชาย​น้อง​ชาย​ก็​เกิด​มา​สำหรับ​ช่วย​กัน​ใน​เวลา​ทุกข์​ยาก.”—สุภาษิต 17:17

คุณ​ต้อง​ไม่​ลืม​ดู​แล​สุขภาพ​ของ​ตัว​เอง​ด้วย. เช่น​เดียว​กับ​รถ​พยาบาล​ที่​ต้อง​เติม​น้ำมัน​หรือ​แก๊ส​เป็น​ประจำ​เพื่อ​จะ​วิ่ง​รับ​ส่ง​ผู้​ป่วย​ได้​ตลอด คุณ​เอง​ก็​ต้อง​เติม​พลัง​ด้วย​อาหาร​ที่​มี​ประโยชน์ ออก​กำลัง​กาย และ​พักผ่อน​ให้​เพียง​พอ เพื่อ​จะ​มี​เรี่ยว​แรง​ดู​แล​ลูก​ที่​คุณ​รัก​ต่อ​ไป. กา​วี​เยอ ซึ่ง​มี​ลูก​ชาย​พิการ​บอก​ว่า “ลูก​ชาย​ฉัน​เดิน​ไม่​ได้ ฉัน​จึง​คิด​ว่า​ฉัน​ต้อง​พยายาม​กิน​อาหาร​ที่​มี​ประโยชน์. ฉัน​ต้อง​คอย​อุ้ม​เขา​ไป​โน่น​ไป​นี่. เท้า​ของ​ฉัน​ก็​คือ​เท้า​ของ​เขา!”

แต่​คุณ​จะ​เอา​เวลา​ที่​ไหน​มา​ดู​แล​สุขภาพ​ล่ะ? พ่อ​แม่​บาง​คน​ผลัด​กัน​ดู​แล​ลูก. ระหว่าง​ที่​คน​หนึ่ง​อยู่​กับ​ลูก อีก​คน​หนึ่ง​ก็​มี​เวลา​พักผ่อน​หรือ​ทำ​ธุระ​ส่วน​ตัว​อื่นๆ. แม้​จะ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย แต่​คุณ​ต้อง​ตัด​กิจกรรม​ที่​ไม่​จำเป็น​ออก​ไป​บ้าง​เพื่อ​จะ​มี​เวลา​มาก​ขึ้น. มยุรี แม่​คน​หนึ่ง​ใน​อินเดีย​บอก​ว่า “ใน​ที่​สุด คุณ​จะ​จัด​เวลา​ให้​ลง​ตัว​ได้.”

 จง​พูด​คุย​กับ​เพื่อน​ที่​คุณ​ไว้​ใจ. แม้​แต่​เพื่อน​ที่​ไม่​มี​ลูก​พิการ​ก็​เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี​และ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ได้. นอก​จาก​นั้น คุณ​ยัง​สามารถ​อธิษฐาน​ถึง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า. การ​อธิษฐาน​จะ​ช่วย​ได้​จริงๆไหม? ยัสมิน ซึ่ง​มี​ลูก​สอง​คน​ที่​เป็น​โรค​ซิสติก​ไฟโบรซิส (โรค​เกี่ยว​กับ​ระบบ​ทาง​เดิน​หายใจ​และ​ระบบ​ย่อย​อาหาร) ยอม​รับ​ว่า “บาง​ครั้ง​ฉัน​รู้สึก​เครียด​มาก​เหมือน​กำลัง​ถูก​บีบ​คอ​จน​แทบ​จะ​ขาด​ใจ​ตาย.” แต่​เธอ​บอก​ว่า “ฉัน​อธิษฐาน​ขอ​กำลัง​และ​การ​ปลอบโยน​จาก​พระ​ยะโฮวา. หลัง​จาก​นั้น​ฉัน​ก็​รู้สึก​ว่า​มี​เรี่ยว​แรง​ที่​จะ​ไป​ต่อ​ได้.”—บทเพลง​สรรเสริญ 145:18

ลองวิธีนี้: ขอ​ให้​สังเกต​ว่า​แต่​ละ​วัน​คุณ​รับประทาน​อะไร ออก​กำลัง​กาย​เมื่อ​ไร และ​นอน​หลับ​เพียง​พอ​หรือ​ไม่. ลอง​คิด​ดู​ว่า​คุณ​จะ​ตัด​ทอน​กิจกรรม​ที่​ไม่​สำคัญ​ออก​ไป​เพื่อ​เอา​เวลา​มา​ดู​แล​สุขภาพ​ของ​ตน​เอง​ให้​มาก​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร. คุณ​อาจ​ปรับเปลี่ยน​ตาราง​เวลา​ได้​เรื่อยๆเมื่อ​เห็น​ว่า​จำเป็น.

ปัญหา 3: คุณ​ทุ่มเท​เวลา​ให้​กับ​ลูก​ที่​ป่วย​จน​ละเลย​สมาชิก​คน​อื่น​ใน​ครอบครัว.

การ​ป่วย​ของ​ลูก​อาจ​ส่ง​ผล​ต่อ​อาหาร​การ​กิน​ใน​ครอบครัว การ​พักผ่อน​หย่อนใจ และ​เวลา​ที่​พ่อ​แม่​จะ​ให้​กับ​ลูก​แต่​ละ​คน. ผล​คือ ลูก​คน​อื่นๆอาจ​รู้สึก​ว่า​ถูก​ทอดทิ้ง. นอก​จาก​นั้น ถ้า​คุณ​ทุ่มเท​เวลา​ให้​กับ​ลูก​ที่​ป่วย​มาก​เกิน​ไป ความ​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​คู่​สมรส​ก็​อาจ​ได้​รับ​ผล​กระทบ. ไลออเนล พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​ไลบีเรีย​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง​ภรรยา​ก็​บ่น​ว่า​เธอ​ต้อง​แบก​ภาระ​อยู่​คน​เดียว​และ​ผม​ไม่​ช่วย​ดู​แล​ลูก​เลย. ผม​รู้สึก​น้อย​ใจ​และ​บาง​ที​ผม​ก็​ปฏิบัติ​ต่อ​เธอ​แบบ​ไม่​กรุณา.”

ข้อแนะ: หา​เวลา​ทำ​กิจกรรม​ที่​ลูก​แต่​ละ​คน​ชอบ เพื่อ​ให้​พวก​เขา​รู้​ว่า​คุณ​สนใจ​ลูก​ทุก​คน​เท่า​เทียม​กัน. เจนนี​ที่​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง​เรา​ก็​ทำ​อะไร​พิเศษ​ให้​ลูก​ชาย​คน​โต เช่น ไม่​นาน​มา​นี้​เรา​เพิ่ง​พา​เขา​ไป​กิน​อาหาร​ที่​ร้าน​โปรด​ของ​เขา.”

จง​ให้​ความ​สนใจ​ลูก​ทุก​คน​เท่า​เทียม​กัน

จง​พยายาม​รักษา​สาย​สมรส​เอา​ไว้​โดย​พูด​คุย​และ​อธิษฐาน​กับ​คู่​ของ​คุณ​เป็น​ประจำ. อาซีม พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​อินเดีย​ซึ่ง​มี​ลูก​เป็น​โรค​ลม​ชัก​บอก​ว่า “แม้​บาง​ครั้ง​ผม​กับ​ภรรยา​จะ​รู้สึก​เหนื่อย​หรือ​อารมณ์​ไม่​ดี แต่​เรา​จะ​หา​เวลา​นั่ง​คุย​กัน​และ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​เสมอ. ก่อน​ลูก​ตื่น​นอน​ตอน​เช้า เรา​จะ​อ่าน​และ​พิจารณา​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย​กัน​ข้อ​หนึ่ง.” สามี​ภรรยา​บาง​คู่​อาจ​จัด​เวลา​ไว้​คุย​กัน​ก่อน​เข้า​นอน. การ​ใช้​เวลา​พูด​คุย​กัน​ตาม​ลำพัง​และ​การ​อธิษฐาน​จาก​ใจ​จริง​จะ​ช่วย​รักษา​สาย​สมรส​ของ​คุณ​ให้​แน่นแฟ้น​เมื่อ​เผชิญ​ความ​เครียด. (สุภาษิต 15:22) คู่​สมรส​คู่​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “หลาย​ครั้ง​ช่วง​เวลา​ที่​หวาน​ชื่น​และ​มี​ความ​สุข​มาก​ที่​สุด​ก็​คือ​เวลา​ที่​เรา​เจอ​ปัญหา​หนัก​ที่​สุด​ใน​ชีวิต.”

ลองวิธีนี้: จง​ชมเชย​ลูก​คน​อื่นๆที่​ช่วย​คุณ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ลูก​ที่ป่วย. แสดง​ออก​ให้​ลูกๆและ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​รู้​เสมอ​ว่า​คุณ​รัก​และ​เห็น​คุณค่า​พวก​เขา.

มอง​แง่​บวก​เสมอ

คัมภีร์​ไบเบิล​สัญญา​ว่า​อีก​ไม่​นาน​พระเจ้า​จะ​ขจัด​โรค​ภัย​และ​ความ​พิการ​ทุก​อย่าง​ที่​ก่อ​ความ​ทุกข์​แก่​เด็ก​และ​ผู้​ใหญ่​ให้​หมด​ไป. (วิวรณ์ 21:3, 4) เมื่อ​ถึง​เวลา​นั้น “จะ​ไม่​มี​ใคร​ที่​อาศัย​อยู่​ที่​นั่น​พูด​ว่า, ‘ข้าพเจ้า​ป่วย​อยู่.’” *ยะซายา 33:24

ใน​ตอน​นี้ คุณ​สามารถ​เป็น​พ่อ​แม่​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ได้​แม้​มี​ลูก​พิการ. คาร์โล​กับ​มีอา​ที่​กล่าว​ถึง​ตอน​ต้น​บอก​ว่า “อย่า​เพิ่ง​ท้อ​ใจ​ถ้า​อะไรๆไม่​ได้​เป็น​อย่าง​ที่​คุณ​วาง​แผน​ไว้. ขอ​ให้​คิด​ถึง​เรื่อง​ดีๆเกี่ยว​กับ​ลูก​ของ​คุณ ซึ่ง​ความ​จริง​แล้ว​มี​อยู่​มาก​มาย​ที​เดียว.”

^ วรรค 3 ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 29 คุณ​สามารถ​อ่าน​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​คำ​สัญญา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เรื่อง​สุขภาพ​ที่​สมบูรณ์​ได้​ใน​บท 3 ของ​หนังสือ​คัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉันทำอะไรบ้างเพื่อรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงสัมพันธภาพกับพระเจ้าให้เข้มแข็งอยู่เสมอ?
  • ฉันชมเชยลูกที่คอยช่วยเหลือฉันครั้งสุดท้ายเมื่อไร?