ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำไมเพื่อนร่วมห้องของฉันเป็นคนที่อยู่ด้วยยากเหลือเกิน?

ทำไมเพื่อนร่วมห้องของฉันเป็นคนที่อยู่ด้วยยากเหลือเกิน?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า . . .

ทำไม​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ฉัน​เป็น​คน​ที่​อยู่​ด้วย​ยาก​เหลือ​เกิน?

“ผม​เป็น​คน​มี​ระเบียบ มี​ระเบียบ​มาก. แต่​พอ​ผม​กลับ​เข้า​บ้าน เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ผม​จะ​นอน​แผ่​หลา​ดู​ทีวี​อยู่​บน​พื้น เศษ​กระดาษ​และ​ข้าว​โพด​คั่ว​ก็​เกลื่อน​ไป​ทั่ว. ทุก​ครั้ง​ที่​ผม​กลับ​เข้า​บ้าน ผม​จะ​นึก​ใน​ใจ​ว่า​ผม​จะ​ต้อง​เห็น​อะไร แล้ว​ผม​จะ​พูด​กับ​ตัว​เอง​ว่า ‘ผม​ไม่​อยาก​เข้า​ไป​ใน​นั้น.’”—เดวิด.

“เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ดิฉัน​เป็น​เด็ก​ที่​ถูก​ตาม​ใจ​จน​เคย​ตัว. ดิฉัน​เดา​ว่า เธอ​คง​นึก​ว่า​ตัว​เอง​มี​คน​รับใช้​คอย​เก็บ​กวาด​เช็ด​ถู​ให้. และ​เธอ​ก็​เอา​แต่​ใจ​ตัว​เอง​เสมอ.”—เรอเน. *

บทความ​หนึ่ง​ใน​วารสาร​ยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต กล่าว​ว่า “การ​เรียน​รู้​ที่​จะ​ทน​กับ​นิสัย​แปลก ๆ ของ​คน​แปลก​หน้า​อาจ​สอน​ให้​มี . . . ความ​ยืดหยุ่น​และ​ศิลปะ​แห่ง​การ​ประนีประนอม. แต่​ขั้น​ตอน​การ​เรียน​รู้​นั้น​มัก​ทำ​ให้​เจ็บ​ปวด.” คน​ที่​เคย​มี​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​คง​เห็น​ด้วย.

นัก​ศึกษา​มหาวิทยาลัย​หลาย​คน​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​เพื่อ​จะ​ช่วย​ลด​ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​การ​ศึกษา​ที่​แพง​มาก. เยาวชน​คน​อื่น ๆ ย้าย​ไป​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​เพราะ​ต้องการ​เป็น​อิสระ​จาก​บิดา​มารดา. หนุ่ม​สาว​คริสเตียน​หลาย​คน​อาจ​เลือก​ที่​จะ​อยู่​ร่วม​ห้อง​กับ​คน​อื่น​เพื่อ​มุ่ง​ติด​ตาม​ผล​ประโยชน์​ฝ่าย​วิญญาณ. (มัดธาย 6:33) พวก​เขา​พบ​ว่า​การ​ที่​มี​ใคร​สัก​คน​ช่วย​ออก​ค่า​เช่า​บ้าน​จะ​ช่วย​ให้​เขา​รับใช้​เป็น​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ได้. บาง​ครั้ง​การ​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ยัง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​มิชชันนารี​และ​ผู้​ที่​รับใช้​ใน​สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย. *

ตื่นเถิด! ได้​สนทนา​กับ​หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​ซึ่ง​เคย​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง. ทั้ง​หมด​เห็น​ด้วย​ว่า​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​อาจ​เป็น​มาก​กว่า​คน​ที่​จะ​ช่วย​ออก​ค่า​เช่า​บ้าน คือ​อาจ​เป็น​เพื่อน​ที่​จะ​พูด​คุย​และ​ทำ​อะไร ๆ ด้วย​กัน. ลินน์​เล่า​ว่า “เรา​จะ​คุย​กัน​เรื่อง​ของ​ผู้​หญิง ๆ จน​ดึก​หรือ​ไม่​ก็​แค่​ดู​หนัง​กัน.” เรอเน​กล่าว​ว่า “เพื่อน​ร่วม​ห้อง​อาจ​หนุน​กำลังใจ​คุณ​ได้​ด้วย. บาง​ครั้ง​เมื่อ​คุณ​ทำ​งาน​หา​เลี้ยง​ชีพ, พยายาม​จะ​จ่าย​บิลล์​ทั้ง​หมด, และ​พยายาม​ออก​ประกาศ คุณ​จะ​รู้สึก​ดี​ถ้า​มี​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​คอย​หนุน​กำลังใจ​คุณ.”

ถึง​กระนั้น การ​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​อาจ​เป็น​เรื่อง​ที่​ยาก​มาก—โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​กับ​คน​ที่​คุณ​ไม่​รู้​จัก​เลย​ใน​ตอน​แรก. วารสาร​ยู. เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​สภาพการณ์​ใน​มหาวิทยาลัย​ดัง​นี้: “ทั้ง ๆ ที่​สถาน​ศึกษา​หลาย​แห่ง​พยายาม​อย่าง​มาก​ที่​จะ​ให้​นัก​เรียน​ที่​เข้า​กัน​ได้​อยู่​ด้วย​กัน แต่​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​มัก​จะ​ล้มเหลว.” ที่​จริง เป็น​ที่​ทราบ​กัน​ว่า ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ใน​มหาวิทยาลัย​เคย​ลุก​ลาม​จน​ถึง​ขั้น​เกิด​ความ​รุนแรง! เว็บไซต์​ใน​อินเทอร์เน็ต​ซึ่ง​เปิด​โอกาส​ให้​นัก​ศึกษา​ระบาย​ความ​กลัดกลุ้ม​ที่​ดู​เหมือน​ไม่​มี​วัน​จบ​สิ้น​เกี่ยว​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​จึง​เกิด​ขึ้น​มาก​มาย. ทำไม​การ​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​จึง​มัก​เป็น​เรื่อง​ยาก?

อยู่​กับ​คน​แปลก​หน้า

มาร์ก​กล่าว​ว่า “การ​ย้าย​ไป​อยู่​กับ​คน​แปลก​หน้า​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​สนใจ. คุณ​ไม่​รู้​จริง ๆ ว่า​เขา​เป็น​คน​อย่าง​ไร.” ที่​จริง ความ​คิด​ที่​จะ​อยู่​กับ​ใคร​สัก​คน​ที่​ต่าง​ไป​จาก​คุณ​หรือ​แทบ​ไม่​มี​อะไร​เหมือน​กับ​คุณ​เลย​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​ไม่​สบาย​ใจ​มาก. จริง​อยู่ คริสเตียน​ควร​มี​อะไร​หลาย​อย่าง​เหมือน​กัน​และ​มี​เรื่อง​ให้​คุย​กัน​ได้​หลาย​เรื่อง. ถึง​กระนั้น เดวิด​ยอม​รับ​ว่า “ผม​กังวล​มาก​เรื่อง​ที่​ผม​จะ​มี​เพื่อน​ร่วม​ห้อง.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปรากฏ​ว่า​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​เดวิด​ก็​มี​ภูมิ​หลัง​คล้าย​กัน​กับ​เขา. แต่​การ​จับ​คู่​ก็​ไม่​ได้​เหมาะ​สม​กัน​เสมอ​ไป. มาร์ก​กล่าว​ว่า “เพื่อน​ร่วม​ห้อง​คน​แรก​ของ​ผม​เป็น​คน​ไม่​ค่อย​พูด​เลย. เวลา​คุณ​อยู่​กับ​ใคร​สัก​คน​ใน​ที่​แคบ ๆ คุณ​จำเป็น​ต้อง​คุย​กัน. แต่​เขา​ไม่​พูด. ผม​เริ่ม​โมโห​จริง ๆ.”

ภูมิ​หลัง​ที่​แตกต่าง​กัน​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ตึงเครียด​อื่น ๆ ด้วย. ลินน์​กล่าว​ว่า “ที​แรก​เมื่อ​คุณ​แยก​ตัว​ออก​ไป​อยู่​ต่าง​หาก คุณ​อยาก​ทำ​อะไร ๆ อย่าง​ที่​คุณ​ต้องการ. แต่​ไม่​นาน​คุณ​ก็​พบ​ว่า​ต้อง​คิด​ถึง​คน​อื่น​ด้วย.” ที่​จริง เมื่อ​ออก​จาก​บ้าน​ที่​ปลอด​ภัย​ของ​ครอบครัว คุณ​อาจ​ตกตะลึง​เมื่อ​รู้​ว่า​คน​อื่น​มอง​เรื่อง​ราว​ต่าง​ออก​ไป​สัก​เพียง​ไร.

ภูมิ​หลัง​ต่าง​กัน วิธี​ต่าง​กัน

หลาย​อย่าง​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​ฝึก​อบรม—หรือ​การ​ขาด​การ​ฝึก​อบรม—ที่​คน​เรา​ได้​รับ​จาก​บิดา​มารดา. (สุภาษิต 22:6) หนุ่ม​เฟอร์นันโด​กล่าว​ว่า “ผม​เป็น​คน​มี​ระเบียบ ส่วน​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ผม​เป็น​คน​มัก​ง่าย. อย่าง​เช่น​เรื่อง​ตู้​เสื้อ​ผ้า เขา​ชอบ​โยน​ของ​ไป​ทั่ว. ส่วน​ผม​ชอบ​แขวน​ให้​เรียบร้อย.” บาง​ครั้ง​มี​ความ​แตกต่าง​กัน​ค่อนข้าง​มาก​ใน​เรื่อง​มาตรฐาน.

เรอเน​เล่า​ว่า “ดิฉัน​เคย​มี​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ห้อง​นอน​เหมือน​กับ​รัง​หนู​ดี ๆ นี่​เอง! ดิฉัน​ยัง​เคย​มี​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ที่​ไม่​เก็บ​โต๊ะ​หลัง​กิน​อาหาร​หรือ​แช่​จาน​ไว้​ใน​อ่าง​สอง​สาม​วัน​ด้วย.” ถูก​แล้ว ใน​เรื่อง​งาน​บ้าน เพื่อน​ร่วม​ห้อง​บาง​คน​ดู​เหมือน​เป็น​อย่าง​ที่​ถ้อย​คำ​ของ​สุภาษิต 26:14 กล่าว​ไว้​ที่​ว่า “บาน​ประตู​เปิด​ปิด​อยู่​กับ​บานพับ​ฉัน​ใด, คน​เกียจ​คร้าน​ก็​พลิก​ไป​มา​อยู่​กับ​ที่​นอน​ของ​เขา​ฉัน​นั้น.”

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง การ​อยู่​ร่วม​ห้อง​กับ​คน​ที่​เจ้า​ระเบียบ​เกิน​ไป​ก็​ไม่​น่า​สนุก​เท่า​ไร. หญิง​สาว​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ลี กล่าว​ถึง​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​คน​หนึ่ง​ว่า “เท่า​ที่​เธอ​คิด การ​ทำ​ความ​สะอาด​ต้อง​ทำ​ทุก​ชั่วโมง. ดิฉัน​ก็​ไม่​ใช่​คน​สกปรก​เลย แต่​บาง​ครั้ง​ดิฉัน​วาง​ของ เช่น หนังสือ​ไว้​บน​เตียง. และ​เธอ​คิด​ว่า​เธอ​ต้อง​คอย​ตรวจ​ดู​ให้​เป็น​ระเบียบ.”

นอก​จาก​นี้ เพื่อน​ร่วม​ห้อง​อาจ​มี​ทัศนะ​แตกต่าง​กัน​ใน​เรื่อง​สุขอนามัย​ส่วน​ตัว. มาร์ก​เล่า​ว่า “เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ผม​ตื่น​นอน​ใน​นาที​สุด​ท้าย. เขา​แค่​วิ่ง​ไป​ที่​อ่าง​ล้าง​หน้า เอา​น้ำ​ลูบ​ผม​นิด​หน่อย​แล้ว​ก็​ออก​จาก​ห้อง​ไป.”

ความ​แตกต่าง​เรื่อง​ภูมิ​หลัง​และ​บุคลิก​อาจ​ส่ง​ผล​ต่อ​การ​เลือก​ความ​บันเทิง​และ​นันทนาการ. มาร์ก​พูด​ถึง​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​เขา​ว่า “เรา​ชอบ​ดนตรี​คน​ละ​ประเภท.” แต่​ถ้า​มี​ความ​นับถือ​ต่อ​กัน ความ​แตกต่าง​เช่น​นั้น​อาจ​มี​ประโยชน์ บาง​ที​อาจ​ช่วย​ทั้ง​คู่​ให้​ลอง​ของ​แปลก​ใหม่​ได้. แต่​หลาย​ครั้ง ความ​แตกต่าง​เช่น​นี้​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง. เฟอร์นันโด​กล่าว​ว่า “ผม​ชอบ​ดนตรี​แบบ​สเปน แต่​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ผม​ติ​โน่น​ติ​นี่​ตลอด.”

ปัญหา​เรื่อง​โทรศัพท์

การ​ใช้​โทรศัพท์​อาจ​เป็น​สาเหตุ​สำคัญ​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ความ​ขัด​แย้ง. มาร์ก​กล่าว​ว่า “ผม​อยาก​จะ​นอน. แต่​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ของ​ผม​คุย​โทรศัพท์​จน​ดึกดื่น. พอ​ผ่าน​ไป​ระยะ​หนึ่ง​นั่น​ก็​อาจ​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​รำคาญ.” ลินน์​เล่า​เรื่อง​คล้าย ๆ กัน​ว่า “บาง​ครั้ง เพื่อน​ของ​เธอ​โทรศัพท์​เข้า​มา​ตอน​ตี​สาม​หรือ​ตี​สี่. ถ้า​เธอ​ไม่​อยู่ ดิฉัน​ก็​ต้อง​ลุก​ขึ้น​มา​รับ​โทรศัพท์.” ทาง​แก้​หรือ? “เรา​ต่าง​ก็​ต้อง​มี​โทรศัพท์​ของ​ตัว​เอง.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ใช่​หนุ่ม​สาว​ทุก​คน​จะ​มี​โทรศัพท์​ของ​ตัว​เอง​ได้ และ​หลาย​คน​ก็​จำเป็น​ต้อง​ใช้​ร่วม​กัน. นี่​อาจ​นำ​ไป​สู่​ช่วง​เวลา​ที่​ตึงเครียด​มาก. เรอเน​เล่า​ว่า “เพื่อน​ร่วม​ห้อง​คน​หนึ่ง​ของ​ดิฉัน​กำลัง​มี​แฟน และ​เธอ​มัก​จะ​คุย​โทรศัพท์​เป็น​ชั่วโมง ๆ. มี​อยู่​เดือน​หนึ่ง​เธอ​ใช้​โทรศัพท์​จน​ต้อง​จ่าย​บิลล์​ค่า​โทรศัพท์ 90 กว่า​ดอลลาร์. เธอ​จะ​ให้​พวก​เรา​ช่วย​กัน​จ่าย เพราะ​เรา​ทุก​คน​เคย​ตก​ลง​กัน​ว่า​จะ​หาร​ค่า​ใช้​จ่าย​เท่า ๆ กัน.”

แค่​การ​จะ​ใช้​โทรศัพท์​ก็​อาจ​เป็น​ปัญหา​อีก​อย่าง​หนึ่ง. ลี​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​อยู่​ร่วม​ห้อง​กับ​คน​หนึ่ง​ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า​ดิฉัน. และ​เรา​มี​โทรศัพท์​อยู่​เพียง​เครื่อง​เดียว. ดิฉัน​ใช้​โทรศัพท์​อยู่​ตลอด​เพราะ​มี​เพื่อน​มาก. เธอ​ไม่​เคย​พูด​อะไร​สัก​คำ. ดิฉัน​คิด​ว่า​ถ้า​เธอ​อยาก​จะ​ใช้​โทรศัพท์​เธอ​คง​จะ​บอก​ดิฉัน. ตอน​นี้​ดิฉัน​รู้​แล้ว​ว่า นั่น​เป็น​การ​ไม่​คำนึง​ถึง​คน​อื่น.”

ขาด​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว

เดวิด​กล่าว​ว่า “ทุก​คน​ต้องการ​เวลา​ส่วน​ตัว​บ้าง. บาง​ครั้ง​ผม​แค่​อยาก​พักผ่อน​อยู่​เฉย ๆ.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​หา​เวลา​ส่วน​ตัว​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​เมื่อ​คุณ​อยู่​ร่วม​ห้อง​กับ​คน​อื่น. มาร์ก​เห็น​พ้อง​ด้วย​ว่า “ผม​ชอบ​ใช้​เวลา​อยู่​คน​เดียว. ดัง​นั้น สิ่ง​ที่​เหลือ​ทน​ที่​สุด​สำหรับ​ผม​คือ​การ​ขาด​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว. ผม​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​มี​ตาราง​เวลา​ตรง​กัน. ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​จึง​หา​ได้​ยาก.”

แม้​แต่​พระ​เยซู​คริสต์​บาง​ครั้ง​ก็​ต้องการ​จะ​อยู่​ตาม​ลำพัง. (มัดธาย 14:13) ดัง​นั้น อาจ​เป็น​เรื่อง​น่า​ข้องขัดใจ​ถ้า​มี​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​ซึ่ง​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​ว่า​ยาก​หรือ​แทบ​จะ​ไม่​สามารถ​อ่าน​หนังสือ, ศึกษา, หรือ​คิด​รำพึง​ได้​เลย. มาร์ก​กล่าว​ว่า “ผม​ศึกษา​ไม่​ค่อย​ได้ เพราะ​จะ​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​อยู่​เรื่อย. เขา​เชิญ​เพื่อน​มา​ที่​ห้อง, เขา​คุย​โทรศัพท์, เขา​กำลัง​ดู​ทีวี​หรือ​ฟัง​วิทยุ.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม แม้​ว่า​การ​ทน​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก แต่​หนุ่ม​สาว​หลาย​พัน​คน​ก็​ทำ​ได้​สำเร็จ. บทความ​ตอน​ต่อ​ไป​ใน​ชุด​นี้​จะ​พิจารณา​ถึง​บาง​วิธี​ที่​ใช้​ได้​ผล​ซึ่ง​ทำ​ให้​สามารถ​อยู่​ร่วม​ห้อง​กับ​คน​อื่น​ได้​ง่าย​ขึ้น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 บาง​ชื่อ​เป็น​นาม​สมมุติ.

^ วรรค 6 แม้​ว่า​คำ​แนะ​นำ​นี้​จะ​มุ่ง​เน้น​ไป​ที่​คน​หนุ่ม​สาว แต่​ก็​อาจ​เป็น​ประโยชน์​กับ​ผู้​ใหญ่​ซึ่ง​ต้อง​เริ่ม​อยู่​กับ​เพื่อน​ร่วม​ห้อง​หลัง​จาก​สภาพการณ์​เปลี่ยน​ไป เช่น เมื่อ​เป็น​ม่าย.

[ภาพ​หน้า 16, 17]

รสนิยม​เรื่อง​ดนตรี​อาจ​ก่อ​ปัญหา

[ภาพ​หน้า 18]

การ​ไม่​คำนึง​ถึง​คน​อื่น​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ตึงเครียด