ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แม้เผชิญการทดลองความหวังของผมยังสดใส

แม้เผชิญการทดลองความหวังของผมยังสดใส

แม้​เผชิญ​การ​ทดลอง​ความ​หวัง​ของ​ผม​ยัง​สดใส

เล่า​โดย​อันเดรย์ ฮันอัก

ปี​นั้น​คือ​ปี 1943 สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 กำลัง​ดุเดือด. เนื่อง​จาก​ผม​วาง​ตัว​เป็น​กลาง ผม​จึง​ถูก​จำ​คุก​อยู่​ที่​กรุง​บูดาเปสต์ ประเทศ​ฮังการี. ที่​นั่น บาทหลวง​นิกาย​ออร์โทด็อกซ์​ที่​ไว้​เครา​คน​หนึ่ง​เสนอ​จะ​แลก​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​กับ​ขนมปัง​ที่​ผม​ได้​รับ​ปัน​ส่วน​สำหรับ​สาม​วัน. แม้​ว่า​ผม​จะ​หิว​มาก แต่​ผม​ก็​เชื่อ​ว่า​นั่น​เป็น​การ​แลก​ที่​คุ้มค่า.

ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​ที่​จะ​รักษา​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​สะอาด​แบบ​คริสเตียน​เมื่อ​พวก​นาซี​ยึด​ประเทศ​ของ​เรา​ใน​ช่วง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2. หลัง​จาก​นั้น ระหว่าง 40 กว่า​ปี​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​พวก​คอมมิวนิสต์ ก็​เป็น​เรื่อง​ยาก​เช่น​กัน​ที่​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ผู้​สร้าง​ของ​เรา​โดย​ไม่​อะลุ่มอล่วย​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล.

ก่อน​ที่​ผม​จะ​อธิบาย​ว่า การ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระเจ้า​ใน​สมัย​นั้น​เป็น​เช่น​ไร ขอ​ให้​ผม​เล่า​ภูมิ​หลัง​ของ​ผม​เอง​สัก​เล็ก​น้อย. โดย​ที่​ไม่​ต้อง​สงสัย คุณ​จะ​พบ​ว่า​เป็น​เรื่อง​น่า​สนใจ​ที่​จะ​รู้​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ต้อง​อด​ทน​กับ​อะไร​บ้าง​ใน​สมัย​แรก ๆ. ก่อน​อื่น ผม​ขอ​เล่า​สภาพการณ์​ทาง​ศาสนา​ที่​ทำ​ให้​ผม​เกิด​ความ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ที่​เด่น​ใน​แถบ​ที่​เรา​อยู่.

คำ​ถาม​ที่​น่า​ฉงน​เกี่ยว​กับ​ศาสนา

ผม​เกิด​เมื่อ​วัน​ที่ 3 ธันวาคม 1922 ที่​หมู่​บ้าน​พาตซิน​ใน​ฮังการี ใกล้​กับ​พรม​แดน​สโลวะเกีย. ตอน​นั้น​สโลวะเกีย​เป็น​ส่วน​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​ประเทศ​เชโกสโลวะเกีย. เมื่อ​สหภาพ​โซเวียต​ยึด​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​ของ​เชโกสโลวะเกีย​หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 พรม​แดน​ของ​ยูเครน​ก็​เลื่อน​เข้า​มา​อยู่​ห่าง​จาก​หมู่​บ้าน​พาตซิน​ไม่​ถึง 30 กิโลเมตร.

ผม​เป็น​ลูก​คน​ที่​สอง​ใน​บรรดา​พี่​น้อง​ห้า​คน​ซึ่ง​มี​พ่อ​แม่​เป็น​ชาว​โรมัน​คาทอลิก​ที่​เคร่ง​ศาสนา. เมื่อ​ผม​อายุ 13 ปี มี​บาง​สิ่ง​ทำ​ให้​ผม​คิด​อย่าง​จริงจัง​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​ศาสนา. ผม​ตาม​แม่​ไป​แสวง​บุญ​โดย​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง 80 กิโลเมตร​ไป​ยัง​หมู่​บ้าน​มอเรียพอช​ใน​ฮังการี. เรา​เดิน​ไป​ที่​นั่น​เพราะ​เรา​เชื่อ​ว่า​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​เป็น​การ​รับรอง​ว่า​เรา​จะ​ได้​รับ​พร​จาก​พระเจ้า​มาก​ขึ้น. ทั้ง​ชาว​โรมัน​คาทอลิก​และ​ชาว​กรีก​คาทอลิก​เดิน​ทาง​ไป​แสวง​บุญ​ที่​นั่น. ก่อน​หน้า​นั้น​ผม​คิด​ว่า​คริสตจักร​ทั้ง​สอง​ต่าง​ก็​เป็น​ส่วน​ของ​ศาสนา​คาทอลิก​ที่​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน. แต่​ไม่​นาน​ผม​ก็​รู้​ว่า​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​นั้น.

ปรากฏ​ว่า​พิธี​มิสซา​ของ​นิกาย​กรีก​คาทอลิก​มี​ขึ้น​ก่อน. ผม​จึง​ตัดสิน​ใจ​เข้า​ร่วม​พิธี​มิสซา​นั้น. ภาย​หลัง​เมื่อ​แม่​รู้​ว่า​ผม​ร่วม​พิธี​มิสซา​นั้น ท่าน​ไม่​พอ​ใจ​มาก. ด้วย​ความ​สับสน ผม​จึง​ถาม​ว่า “เรา​เข้า​พิธี​มิสซา​ไหน​นั้น​มัน​ต่าง​กัน​อย่าง​ไร? ที่​เรา​ทุก​คน​รับประทาน​นั้น​ไม่​ใช่​เป็น​พระ​กาย​เดียว​ของ​พระ​คริสต์​หรอก​หรือ​ครับ?”

แม่​ผม​ตอบ​ไม่​ได้ จึง​เพียง​แต่​พูด​ว่า “ลูก​เอ๋ย เป็น​บาป​ที่​จะ​ถาม​อย่าง​นั้น.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ​ถาม​นั้น​ยัง​ค้าง​คา​ใจ​ผม​อยู่.

คำ​ถาม​ของ​ผม​ได้​รับ​คำ​ตอบ

ตอน​ผม​อายุ 17 ปี ไม่​นาน​หลัง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 เริ่ม​ขึ้น​ใน​ปี 1939 ผม​ย้าย​ไป​เมือง​เล็ก ๆ ชื่อ​สเตรดา นัด บอดรอกอม ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​ไม่​กี่​กิโลเมตร. ปัจจุบัน​เมือง​นี้​ตั้ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​ประเทศ​สโลวะเกีย. ผม​ย้าย​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​ฝึก​งาน​กับ​ช่าง​ตี​เหล็ก​ท้องถิ่น​คน​หนึ่ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ที่​บ้าน​ของ​เขา ผม​ได้​เรียน​รู้​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​มาก​กว่า​การ​ทำ​เกือก​ม้า​และ​ทำ​สิ่ง​ของ​อื่น ๆ จาก​โลหะ​หลอม​เหลว.

มาเรีย ปันโกวิช ภรรยา​ของ​ช่าง​ตี​เหล็ก เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ด้วย​เหตุ​นี้ ผม​ฝึก​อาชีพ​ช่าง​ตี​เหล็ก​จาก​สามี​ของ​เธอ​ตอน​กลางวัน แต่​ตอน​กลางคืน​ผม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​กับ​พยาน​ฯ ใน​ท้องถิ่น. เนื่อง​จาก​เป็น​ช่าง​ตี​เหล็ก​ฝึก​งาน ผม​จึง​เข้าใจ​ถ้อย​คำ​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 12:6 ได้​ดี​ขึ้น​ที่​ว่า “คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​คำ​บริสุทธิ์; ดุจ​เงิน​ที่​เผา​ชำระ​ใน​เบ้า​ถึง​เจ็ด​ครั้ง​แล้ว.” ค่ำ​คืน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​มี​การ​พิจารณา​คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ได้​รับ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​ของ​ผม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่าง​น่า​เพลิดเพลิน​สัก​เพียง​ไร!

ผม​ไม่​รู้​เลย​ว่า อีก​ไม่​นาน ขณะ​ที่​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 รุนแรง​ยิ่ง​ขึ้น ความ​เชื่อ​ที่​ผม​เพิ่ง​พบ​นี้​จะ​ถูก​ทดสอบ.

ถูก​จำ​คุก​เนื่อง​จาก​ความ​เชื่อ​ของ​ผม

ผม​เริ่ม​เป็น​ช่าง​ตี​เหล็ก​ฝึก​งาน​ได้​ไม่​นาน ก็​มี​คำ​สั่ง​ให้​คน​หนุ่ม​ใน​ฮังการี​เข้า​ร่วม​การ​ฝึก​ทหาร. แต่​ผม​ตัดสิน​ใจ​ทำ​ตาม​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ยะซายา 2:4 ที่​จะ “ไม่​ศึกษา​ยุทธศาสตร์​อีก​ต่อ​ไป.” ผม​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​สิบ​วัน​เนื่อง​จาก​ความ​ตั้งใจ​ของ​ผม. พอ​ผม​ถูก​ปล่อย​ตัว ผม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ต่อ. ใน​วัน​ที่ 15 กรกฎาคม 1941 ผม​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ถึง​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา.

ใน​ตอน​นั้น นาซี​เยอรมนี​รุกราน​สหภาพ​โซเวียต และ​สงคราม​ก็​แผ่​ไป​ทั่ว​ยุโรป​ตะวัน​ออก. การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​ใน​ยาม​สงคราม​ก็​เข้มข้น​ขึ้น​และ​ความ​รู้สึก​แบบ​ชาติ​นิยม​ก็​รุนแรง​มาก. แต่​สอดคล้อง​กับ​ความ​เชื่อ​มั่น​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก พยาน​พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​วาง​ตัว​เป็น​กลาง.

ใน​เดือน​สิงหาคม 1942 มี​การ​โจมตี​พวก​เรา​อย่าง​รุนแรง. พวก​เจ้าหน้าที่​ตั้ง​จุด​รวบ​รวม​สิบ​จุด​ซึ่ง​พวก​พยาน​ฯ ทั้ง​หนุ่ม​สาว​และ​ผู้​สูง​อายุ​ต่าง​ก็​ถูก​พา​มา​รวม​กัน. แม้​แต่​คน​ที่​ยัง​ไม่​ได้​รับ​บัพติสมา​แต่​เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​เคย​ติด​ต่อ​กับ​พวก​เรา​ก็​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ยัง​จุด​รวบ​รวม​เหล่า​นี้. ผม​อยู่​ใน​กลุ่ม​ที่​ถูก​พา​ไป​ยัง​เรือน​จำ​แห่ง​หนึ่ง​ใน​เมือง​ซารอสปาตัก ห่าง​จาก​หมู่​บ้าน​พาตซิน​ของ​ผม​ประมาณ 20 กิโลเมตร.

ผู้​ที่​อยู่​ใน​เรือน​จำ​ซึ่ง​อายุ​น้อย​ที่​สุด​มี​อายุ​แค่​สาม​เดือน. เด็ก​น้อย​คน​นั้น​ถูก​ขัง​พร้อม​กับ​แม่​ที่​เป็น​พยาน​ฯ. เมื่อ​เรา​ขอ​อาหาร​บ้าง อย่าง​น้อย​ก็​ให้​เด็ก ผู้​คุม​ตอบ​กลับ​ว่า “ให้​เด็ก​นั่น​ร้อง​ไป​เถอะ. เขา​จะ​ได้​โต​ขึ้น​เป็น​พยาน​ฯ ที่​เข้มแข็ง.” เรา​รู้สึก​สงสาร​เด็ก​น้อย แต่​ก็​เศร้า​ใจ​ที่​ผู้​คุม​หนุ่ม​คน​นั้น​หัวใจ​ด้าน​ชา​ไป​ถึง​ขนาด​นั้น​เนื่อง​จาก​การ​โฆษณา​ชวน​เชื่อ​แบบ​ชาติ​นิยม.

เมื่อ​มี​การ​พิจารณา​คดี​ของ​ผม ผม​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก​สอง​ปี. ผม​ถูก​ย้าย​ไป​เรือน​จำ​เลข​ที่ 85 ถนน​มอร์กิต เคอรุต ใน​กรุง​บูดาเปสต์. ห้อง​ขัง​ของ​ผม​มี​ขนาด​กว้าง 4 เมตร​ยาว 6 เมตร และ​มี​คน​อัด​แน่น​อยู่​ประมาณ 50 ถึง 60 คน. เรา​อยู่​ที่​นั่น​โดย​ไม่​มี​ห้อง​อาบ​น้ำ​หรือ​ห้อง​ส้วม​เป็น​เวลา​แปด​เดือน. เรา​จึง​อาบ​น้ำ​ไม่​ได้ ไม่​ต้อง​พูด​ถึง​เรื่อง​ซัก​เสื้อ​ผ้า. เรา​ทุก​คน​มี​เหา​เต็ม​ไป​หมด และ​ตอน​กลางคืน แมลง​ก็​ไต่​ตาม​ตัว​ที่​สกปรก​ของ​เรา.

เรา​ต้อง​ตื่น​ตอน​ตี​สี่. อาหาร​เช้า​ของ​เรา​มี​แค่​กาแฟ​ถ้วย​เล็ก ๆ ถ้วย​หนึ่ง. ตอน​กลางวัน​เรา​ได้​ซุป​ถ้วย​เล็ก​พอ ๆ กัน​และ​ได้​ขนมปัง​ราว ๆ หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ปอนด์​และ​ข้าว​บด​เล็ก​น้อย. ไม่​มี​อาหาร​เย็น. แม้​ว่า​ผม​อายุ 20 ปี​และ​เคย​มี​สุขภาพ​ดี ใน​ที่​สุด​ผม​ก็​อ่อนแอ​จน​เดิน​ไม่​ไหว. เริ่ม​มี​นัก​โทษ​เสีย​ชีวิต​จาก​การ​ขาด​อาหาร​และ​การ​ติด​เชื้อ.

ใน​ช่วง​นั้น​เอง​มี​นัก​โทษ​คน​ใหม่​เข้า​มา​ใน​ห้อง​ขัง​ของ​เรา. เขา​คือ​บาทหลวง​นิกาย​ออร์โทด็อกซ์​ที่​ไว้​เครา​ซึ่ง​ผม​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น. เขา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เก็บ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​ไว้​ได้. ผม​อยาก​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​นั้น​จริง ๆ! แต่​พอ​ผม​ขอ​เขา​อ่าน เขา​ไม่​ยอม. แต่​ต่อ​มา เขา​เข้า​มา​พูด​กับ​ผม​ว่า “นี่​พ่อ​หนุ่ม. เธอ​จะ​เอา​พระ​คัมภีร์​ก็​ได้. ฉัน​จะ​ขาย​ให้​เธอ.”

ผม​ถาม​ว่า “ขาย​หรือ? ผม​จะ​เอา​อะไร​มา​ซื้อ? ผม​ไม่​มี​เงิน​เลย.”

แล้ว​เขา​ก็​ขอ​แลก​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา​กับ​ขนมปัง​ที่​ผม​ได้​รับ​ปัน​ส่วน​สำหรับ​สาม​วัน. การ​แลก​ครั้ง​นั้น​คุ้มค่า​สัก​เพียง​ไร! แม้​ร่าง​กาย​ผม​จะ​หิว แต่​ผม​ก็​ได้​รับ​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ช่วย​ค้ำจุน​ผม​รวม​ทั้ง​คน​อื่น ๆ ใน​การ​ทดลอง​ระหว่าง​ช่วง​เวลา​อัน​ยาก​ลำบาก​นั้น. ผม​ยัง​เก็บ​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​นั้น​ไว้​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้.—มัดธาย 4:4.

ความ​เป็น​กลาง​ของ​เรา​ถูก​ทดสอบ

ใน​เดือน​มิถุนายน 1943 ชาย​หนุ่ม​ที่​เป็น​พยาน​ฯ จาก​ทั่ว​ประเทศ​ฮังการี—นั่น​คือ​พวก​เรา​ประมาณ 160 คน—ถูก​นำ​ตัว​ไป​ที่​เมือง​ยาซเบเรนย์ ใกล้ ๆ กรุง​บูดาเปสต์. เมื่อ​เรา​ไม่​ยอม​สวม​หมวก​ทหาร​และ​สวม​ปลอก​แขน​สาม​สี พวก​เขา​ก็​จับ​เรา​ใส่​รถไฟ​ขน​สินค้า​และ​พา​ไป​ที่​สถานี​รถไฟ​บูดาเปสต์-เคอบานยา. ที่​นั่น ทหาร​เรียก​เรา​ออก​จาก​ตู้​สินค้า​ที​ละ​คน​ตาม​ชื่อ และ​สั่ง​ให้​เรา​รายงาน​ตัว​เป็น​ทหาร.

พวก​เขา​สั่ง​ให้​เรา​พูด​ว่า “ไฮล์ ฮิตเลอร์” ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “ฮิตเลอร์​จง​เจริญ.” เมื่อ​พยาน​ฯ แต่​ละ​คน​ไม่​ยอม​ทำ​เช่น​นั้น เขา​ก็​ถูก​ทุบ​ตี​อย่าง​หนัก. ใน​ที่​สุด พวก​ผู้​ทรมาน​ก็​เหนื่อย คน​หนึ่ง​ใน​พวก​นั้น​จึง​พูด​ว่า “เอา​ละ เรา​จะ​ซ้อม​อีก​คน แต่​รับรอง​ว่า​คน​นั้น​จะ​ไม่​รอด.”

ทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์ ผู้​ที่​เป็น​พยาน​ฯ มา​นาน​และ​มี​อายุ​มาก​กว่า​ผม มี​บัญชี​ราย​ชื่อ​ของ​พยาน​ฯ ที่​อยู่​บน​ตู้​สินค้า. เขา​กระซิบ​กับ​ผม​ว่า “บราเดอร์ คุณ​เป็น​คน​ต่อ​ไป. กล้า​เข้า​ไว้! วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา.” ตอน​นั้น​เอง​ผม​ถูก​เรียก​ชื่อ. พอ​ผม​ยืน​ที่​ประตู​ตู้​สินค้า พวก​เขา​ก็​สั่ง​ให้​ผม​ลง​มา. ทหาร​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “คน​นี้​ผอม​จน​แทบ​ไม่​มี​อะไร​ให้​เรา​ซ้อม​แล้ว.” แล้ว​เขา​ก็​พูด​กับ​ผม​ว่า “ถ้า​แก​รายงาน​ตัว​ตาม​ที่​บอก เรา​จะ​จัด​การ​ให้​แก​ไป​ทำ​อาหาร​ใน​ครัว. ไม่​อย่าง​นั้น แก​ตาย​แน่.”

ผม​ตอบ​ว่า “ผม​จะ​ไม่​รายงาน​ตัว​เป็น​ทหาร. ผม​ต้องการ​กลับ​ไป​ที่​ตู้​สินค้า​ไป​อยู่​กับ​พี่​น้อง​ของ​ผม.”

เพราะ​รู้สึก​สมเพช ทหาร​คน​หนึ่ง​จับ​ตัว​ผม​แล้ว​ก็​โยน​กลับ​เข้า​ไป​ใน​ตู้​สินค้า. เนื่อง​จาก​ผม​หนัก​ไม่​ถึง 40 กิโลกรัม เขา​จึง​โยน​ผม​ได้​โดย​ไม่​ยากเย็น​อะไร. บราเดอร์​ฮาฟฟ์เนอร์​เข้า​มา​โอบ​ไหล่​ผม, ลูบ​ใบ​หน้า​ผม, และ​ยก​บทเพลง​สรรเสริญ 20:1 ขึ้น​มา​ว่า “ขอ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​โปรด​ตอบ​คำ​ทูล​ของ​ท่าน​ใน​วัน​ที่​ต้อง​ทุกข์​ยาก​นั้น; ขอ​ให้​พระ​นาม​พระเจ้า​แห่ง​ยาโคบ​ยก​ชู​ท่าน​ไว้.”

ใน​ค่าย​แรงงาน

หลัง​จาก​นั้น พวก​เขา​ให้​เรา​ลง​เรือ​ลำ​หนึ่ง​แล่น​ไป​ตาม​แม่น้ำ​ดานูบ​จน​ถึง​ยูโกสลาเวีย. ใน​เดือน​กรกฎาคม 1943 เรา​มา​ถึง​ค่าย​แรงงาน​ใกล้​เมือง​บอร์ ซึ่ง​มี​เหมือง​ทองแดง​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ยุโรป. ใน​เวลา​ต่อ​มา ใน​ค่าย​ก็​มี​คน​ประมาณ 60,000 คน​จาก​หลาย​เชื้อชาติ มี​คน​ยิว 6,000 คน​และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ประมาณ 160 คน.

พวก​พยาน​ฯ ถูก​ขัง​รวม​กัน​ใน​เรือน​นอน​ใหญ่​หลัง​หนึ่ง. กลาง​เรือน​นั้น​มี​โต๊ะ​และ​ม้า​นั่ง ซึ่ง​เรา​จัด​การ​ประชุม​สัปดาห์​ละ​สอง​ครั้ง​ที่​นั่น. เรา​ศึกษา​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ที่​มี​การ​ลักลอบ​นำ​เข้า​มา​ใน​ค่าย และ​เรา​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ผม​แลก​มา​ด้วย​ขนมปัง​ที่​ผม​ได้​รับ​ปัน​ส่วน. เรา​ยัง​ร้อง​เพลง​และ​อธิษฐาน​ร่วม​กัน​อีก​ด้วย.

เรา​พยายาม​รักษา​สัมพันธภาพ​ที่​ดี​กับ​ผู้​ถูก​กัก​กัน​คน​อื่น ๆ และ​การ​ทำ​เช่น​นี้​ก็​มี​ประโยชน์. พี่​น้อง​ชาย​ของ​เรา​คน​หนึ่ง​ปวด​ลำไส้​อย่าง​รุนแรง และ​พวก​ผู้​คุม​ก็​ไม่​เต็ม​ใจ​จะ​ช่วยเหลือ. ขณะ​ที่​อาการ​ของ​เขา​ทรุด​หนัก ผู้​ถูก​กัก​กัน​ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​หมอ​ยอม​ผ่าตัด​ให้. เขา​ให้​ยา​ชา​แบบ​ง่าย ๆ แล้ว​ผ่าตัด​ด้วย​ด้าม​ช้อน​ที่​ลับ​จน​คม. พี่​น้อง​คน​นั้น​ฟื้น​ตัว​และ​กลับ​บ้าน​หลัง​จาก​ที่​สงคราม​สงบ​ลง.

งาน​ใน​เหมือง​หนัก​มาก​และ​อาหาร​ก็​ขาด​แคลน. พี่​น้อง​ชาย​สอง​คน​เสีย​ชีวิต​จาก​อุบัติเหตุ​ใน​การ​ทำ​งาน และ​อีก​คน​หนึ่ง​ป่วย​จน​เสีย​ชีวิต. ใน​เดือน​กันยายน 1944 ขณะ​ที่​กองทัพ​รัสเซีย​คืบ​ใกล้​เข้า​มา มี​การ​ตัดสิน​ใจ​จะ​อพยพ​คน​ออก​จาก​ค่าย. สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​เหลือเชื่อ​ถ้า​ผม​ไม่​ได้​เห็น​ด้วย​ตา​ของ​ตัว​เอง.

การ​เดิน​ทาง​ที่​เต็ม​ด้วย​ความ​หวาด​กลัว

หลัง​จาก​ที่​เดิน​อย่าง​เหน็ด​เหนื่อย​มา​ทั้ง​สัปดาห์ พวก​เรา​กับ​เชลย​ชาว​ยิว​มา​ถึง​กรุง​เบลเกรด. แล้ว​เรา​ก็​เดิน​ต่อ​อีก​สอง​สาม​วัน​จน​ถึง​หมู่​บ้าน​เชอร์เวงกอ.

เมื่อ​เรา​มา​ถึง​หมู่​บ้าน​เชอร์เวงกอ พยาน​พระ​ยะโฮวา​ถูก​สั่ง​ให้​ยืน​เรียง​แถว แถว​ละ​ห้า​คน. จาก​นั้น​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​จาก​ทุก ๆ สอง​แถว​ก็​ถูก​นำ​ตัว​ไป. เรา​มอง​คน​ที่​ถูก​นำ​ตัว​ไป​ด้วย​น้ำตา​นอง​หน้า โดย​คิด​ว่า​พวก​เขา​คง​จะ​ถูก​ประหาร. แต่​หลัง​จาก​นั้น​สัก​พัก​หนึ่ง​พวก​เขา​ก็​กลับ​มา. เกิด​อะไร​ขึ้น? พวก​ทหาร​เยอรมัน​ต้องการ​ให้​พวก​เขา​ขุด​หลุม​ฝัง​ศพ แต่​ผู้​บังคับ​บัญชา​ชาว​ฮังการี​อธิบาย​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​กิน​อะไร​มา​หนึ่ง​สัปดาห์​แล้ว​และ​อ่อนแอ​จน​ทำ​งาน​ไม่​ไหว.

เย็น​วัน​นั้น​พยาน​ฯ ถูก​พา​ขึ้น​ไป​บน​ห้อง​ใต้​หลังคา​ใน​โรง​อบ​อิฐ. ทหาร​เยอรมัน​บอก​เรา​ว่า “อยู่​เงียบ ๆ ตรง​นี้. คืน​นี้​จะ​เป็น​คืน​ที่​เลว​ร้าย​ที่​สุด.” จาก​นั้น​เขา​ก็​ปิด​ประตู​ใส่​กุญแจ. ไม่​กี่​นาที​จาก​นั้น เรา​ได้​ยิน​เสียง​ทหาร​ตะโกน “เร็ว​เข้า! เร็ว​เข้า!” แล้ว​ก็​มี​เสียง​ปืน​กล ตาม​มา​ด้วย​ความ​เงียบ​อัน​น่า​กลัว. แล้ว​เรา​ก็​ได้​ยิน​เสียง​ตะโกน “เร็ว​เข้า! เร็ว​เข้า!” และ​ได้​ยิน​เสียง​ปืน​อีก.

จาก​หลังคา​นั้น เรา​มอง​เห็น​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น. ทหาร​นำ​กลุ่ม​ผู้​ถูก​กัก​กัน​ชาว​ยิว​มา​กลุ่ม​ละ​หลาย​สิบ​คน ให้​พวก​เขา​ยืน​ที่​ปาก​หลุม แล้ว​ก็​ยิง​พวก​เขา. หลัง​จาก​นั้น พวก​ทหาร​ก็​โยน​ระเบิด​มือ​ไป​ที่​กอง​ศพ. ก่อน​รุ่ง​สาง ผู้​ถูก​กัก​กัน​ชาว​ยิว​เสีย​ชีวิต​เกือบ​ทั้ง​หมด เหลือ​อยู่​เพียง​แปด​คน และ​ทหาร​เยอรมัน​ก็​หนี​ไป. เรา​ทั้ง​ห่อเหี่ยว​ใจ​และ​หมด​เรี่ยว​แรง. ยานอช เทอเริก และ​ยาน บอลี ซึ่ง​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ ก็​อยู่​ใน​กลุ่ม​พยาน​ฯ ที่​เห็น​การ​สังหาร​หมู่​ครั้ง​นั้น.

ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​รอด​ชีวิต

เรา​เดิน​ต่อ​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​และ​ทาง​เหนือ​โดย​มี​ทหาร​ฮังการี​คุม​ไป. พวก​เขา​เรียก​ร้อง​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ให้​เข้า​ส่วน​ร่วม​ใน​กิจกรรม​ทาง​ทหาร แต่​เรา​ก็​รักษา​ความ​เป็น​กลาง​และ​รอด​ชีวิต​มา​ได้.

ใน​เดือน​เมษายน 1945 เรา​อยู่​ระหว่าง​กองทัพ​เยอรมัน​และ​กองทัพ​รัสเซีย​ที่​เมือง​ชอมบาเทลี ใกล้​กับ​พรม​แดน​ระหว่าง​ฮังการี​และ​ออสเตรีย. เมื่อ​สัญญาณ​เตือน​การ​โจมตี​ทาง​อากาศ​ดัง​ขึ้น นาย​ร้อย​ชาว​ฮังการี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ผู้​คุม​ของ​เรา​บอก​ว่า “ผม​ขอ​หลบ​กับ​พวก​คุณ​ได้​ไหม? ผม​เห็น​ว่า​พระเจ้า​อยู่​กับ​พวก​คุณ.” หลัง​จาก​การ​ทิ้ง​ระเบิด​สิ้น​สุด​ลง เรา​ออก​จาก​เมือง​นั้น เดิน​ผ่าน​ซาก​ศพ​คน​ตาย​และ​ซาก​สัตว์.

เมื่อ​เห็น​ว่า​สงคราม​ใกล้​จะ​ยุติ​แล้ว นาย​ร้อย​คน​นั้น​เรียก​เรา​มา​รวม​กลุ่ม​กัน​และ​กล่าว​ว่า “ขอบคุณ​ที่​แสดง​ความ​นับถือ​ผม. ผม​มี​ชา​กับ​น้ำตาล​ให้​ทุก​คน. อย่าง​น้อย​ก็​เป็น​อะไร​บาง​อย่าง.” เรา​ขอบคุณ​เขา​ที่​ได้​ปฏิบัติ​กับ​เรา​อย่าง​มี​มนุษยธรรม​เช่น​นั้น.

ไม่​กี่​วัน​ต่อ​มา พวก​รัสเซีย​ก็​มา​ถึง และ​เรา​ก็​เริ่ม​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน​เป็น​กลุ่ม​เล็ก ๆ. แต่​ปัญหา​ของ​เรา​ยัง​ไม่​จบ​สิ้น. หลัง​จาก​มา​ถึง​กรุง​บูดาเปสต์ เรา​ถูก​พวก​รัสเซีย​คุม​ตัว​ไว้​และ​ถูก​เกณฑ์​เป็น​ทหาร​อีก​ครั้ง คราว​นี้​โดย​กองทัพ​โซเวียต.

คน​ที่​ควบคุม​เรื่อง​นี้​เป็น​หมอ และ​เป็น​เจ้าหน้าที่​ระดับ​สูง​ของ​รัสเซีย. ขณะ​ที่​เรา​เข้า​ไป​ใน​ห้อง เรา​จำ​เขา​ไม่​ได้ แต่​เขา​จำ​เรา​ได้. เขา​เคย​อยู่​กับ​เรา​ใน​ค่าย​แรงงาน​ที่​เมือง​บอร์ และ​เขา​ก็​เป็น​คน​ยิว​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​รอด​ชีวิต​จาก​การ​สังหาร​หมู่​โดย​พวก​นาซี. เมื่อ​เห็น​เรา เขา​สั่ง​ผู้​คุม​ว่า “ปล่อย​ชาย​แปด​คน​นี้​กลับ​บ้าน.” เรา​ขอบคุณ​เขา แต่​เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด เรา​ขอบพระคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ทรง​คุ้มครอง​เรา.

ความ​หวัง​ของ​ผม​ยัง​คง​สดใส

ใน​ที่​สุด วัน​ที่ 30 เมษายน 1945 ผม​ก็​กลับ​ถึง​บ้าน​ที่​หมู่​บ้าน​พาตซิน. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ผม​กลับ​ไป​ที่​บ้าน​ของ​ช่าง​ตี​เหล็กใน​เมือง​สเตรดา นัด บอดรอกอม เพื่อ​ฝึก​งาน​เป็น​ช่าง​ตี​เหล็ก​ให้​สำเร็จ. ครอบครัว​ปันโกวิช​ได้​ให้​อะไร​หลาย​อย่าง​กับ​ผม ไม่​เพียง​อาชีพ​ที่​ผม​จะ​เลี้ยง​ตัว​ได้​เท่า​นั้น แต่​ที่​สำคัญ​มาก​กว่า​นั้น​ก็​คือ​ความ​จริง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เปลี่ยน​ชีวิต​ผม. ตอน​นี้​พวก​เขา​ให้​อีก​สิ่ง​หนึ่ง​แก่​ผม. ใน​วัน​ที่ 23 กันยายน 1946 โยลานา ลูก​สาว​แสน​สวย​ของ​พวก​เขา​ได้​มา​เป็น​ภรรยา​ของ​ผม.

ผม​กับ​โยลานา​ดำเนิน​กิจกรรม​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​ประกาศ​เป็น​ประจำ​ต่อ​ไป. จาก​นั้น​ใน​ปี 1948 เรา​ได้​รับ​พระ​พร​เพิ่ม​ขึ้น​เมื่อ​อันเดรย์ ลูก​ชาย​ของ​เรา​เกิด​มา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ยินดี​ใน​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​ของ​เรา​มี​อยู่​เพียง​ชั่ว​คราว. ไม่​นาน พวก​คอมมิวนิสต์​ก็​ยึด​ประเทศ​เรา และ​การ​กดขี่​ข่มเหง​ระลอก​ใหม่​ก็​เริ่ม​ขึ้น. ผม​ถูก​เกณฑ์​ใน​ปี 1951 คราว​นี้​จาก​พวก​เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​คอมมิวนิสต์​แห่ง​เชโกสโลวะเกีย. เหตุ​การณ์​ก็​เป็น​แบบ​เดิม ๆ คือ การ​พิจารณา​คดี, การ​ตัดสิน​จำ​คุก, การ​คุม​ขัง, การ​ใช้​แรงงาน​ทาส, และ​ความ​อดอยาก. แต่​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระเจ้า ผม​รอด​มา​ได้​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. เนื่อง​จาก​การ​นิรโทษกรรม ผม​ถูก​ปล่อย​ตัว​ใน​ปี 1952 และ​กลับ​มา​อยู่​ร่วม​กับ​ครอบครัว​ของ​ผม​ใน​เมือง​ลาดมอฟเซ ประเทศ​สโลวะเกีย

แม้​ว่า​การ​สั่ง​ห้าม​งาน​เผยแพร่​ของ​คริสเตียน​ดำเนิน​อยู่​ประมาณ 40 ปี แต่​เรา​ก็​ยัง​ทำ​งาน​รับใช้​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ต่อ​ไป. ตั้ง​แต่​ปี 1954 ถึง 1988 ผม​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง. ผม​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​วัน​สุด​สัปดาห์ และ​หนุน​กำลังใจ​พี่​น้อง​ให้​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ ๆ ไป. จาก​นั้น ใน​ช่วง​กลาง​สัปดาห์ ผม​อยู่​กับ​ครอบครัว​และ​ทำ​งาน​หา​เลี้ยง​ชีพ. ตลอด​ช่วง​เวลา​นี้​เรา​รู้สึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชี้​นำ​เรา​ด้วย​ความ​รัก. ผม​พบ​ว่า​ถ้อย​คำ​ของ​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ความ​จริง​ที่​ว่า “ถ้า​แม้น​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​สถิต​อยู่​ฝ่าย​พวก​เรา​แล้ว, ขณะ​เมื่อ​คน​ทั้ง​ปวง​ได้​ลุก​ขึ้น​ต่อ​สู้​พวก​เรา; ใน​เวลา​ที่​เขา​ทั้ง​หลาย​เกิด​โกรธ​พวก​เรา​แล้ว, เขา​คง​ได้​กลืน​พวก​เรา​เสีย​แล้ว​ทั้ง​เป็น.”—บทเพลง​สรรเสริญ 124:2, 3.

ต่อ​มา ผม​กับ​โยลานา​มี​ความ​ยินดี​ที่​เห็น​อันเดรย์​แต่งงาน​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​เป็น​คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ที่​อาวุโส. ภรรยา​ของ​เขา เอลิชกา กับ​ลูก​ชาย​ทั้ง​สอง ราดิม​กับ​ดานิเอล ก็​เป็น​คริสเตียน​ผู้​รับใช้​ที่​กระตือรือร้น​ด้วย. จาก​นั้น​ใน​ปี 1998 ผม​ประสบ​ความ​สูญ​เสีย​ครั้ง​ใหญ่​เมื่อ​โยลานา ภรรยา​ที่​รัก​ของ​ผม​เสีย​ชีวิต. ใน​บรรดา​การ​ทดลอง​ทั้ง​หมด​ที่​ผม​เคย​ประสบ​มา ครั้ง​นี้​เป็น​ครั้ง​ที่​รับมือ​ได้​ยาก​ที่​สุด. ผม​คิด​ถึง​เธอ​ทุก​วัน แต่​ผม​ก็​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​จาก​ความ​หวัง​อัน​ล้ำ​ค่า​เรื่อง​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย.—โยฮัน 5:28, 29.

ตอน​นี้​ผม​อายุ 79 ปี​แล้ว และ​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ผู้​ปกครอง​ใน​หมู่​บ้าน​สลอเวนสเก นอเว เมสโต ประเทศ​สโลวะเกีย. ที่​นี่​ผม​มี​ความ​ยินดี​มาก​ที่​สุด​จาก​การ​แบ่ง​ปัน​ความ​หวัง​อัน​ล้ำ​ค่า​ซึ่ง​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​เพื่อน​บ้าน. เมื่อ​คิด​รำพึง​ถึง​อดีต และ​คิด​ถึง 60 กว่า​ปี​ที่​รับใช้​พระ​ยะโฮวา ผม​เชื่อ​มั่น​ว่า ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​สามารถ​ทน​ต่อ​อุปสรรค​และ​การ​ทดลอง​ได้​ทุก​อย่าง. ความ​ปรารถนา​และ​ความ​หวัง​ของ​ผม​สอดคล้อง​กับ​ถ้อย​คำ​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ 86:12 ที่​ว่า “ข้า​แต่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​พระเจ้า​ของ​ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้า​จะ​ยกย่อง​สรรเสริญ​พระองค์​ด้วย​สุด​ใจ: และ​จะ​ถวาย​เกียรติยศ​แก่​พระ​นาม​ของ​พระองค์​เป็น​นิตย์.”

[ภาพ​หน้า 20]

คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​ที่​ผม​แลก​กับ​ขนมปัง​ที่​ได้​รับ​ปัน​ส่วน

[ภาพ​หน้า 21]

ทีบอร์ ฮาฟฟ์เนอร์ หนุน​กำลังใจ​ผม​เมื่อ​ผม​ประสบ​การ​ทดลอง

[ภาพ​หน้า 22]

พยาน​ฯ ใน​ค่าย​แรงงาน​บอร์

[ภาพ​หน้า 22]

งาน​ศพ​ของ​พยาน​ฯ ที่​ค่าย​แรงงาน​บอร์​ซึ่ง​มี​ทหาร​เยอรมัน​เข้า​ร่วม​ด้วย

[ภาพ​หน้า 23]

โยลานา​ได้​มา​เป็น​ภรรยา​ของ​ผม​ใน​เดือน​กันยายน​ปี 1946

[ภาพ​หน้า 23]

ยานอช เทอเริก และ​ยาน บอลี (ภาพ​เล็ก) ซึ่ง​เป็น​ผู้​เห็น​การ​สังหาร​หมู่​ด้วย

[ภาพ​หน้า 24]

กับ​ลูก​ชาย, ลูก​สะใภ้, และ​หลาน ๆ