ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทบาทของคุณในฐานะบิดามารดา

บทบาทของคุณในฐานะบิดามารดา

บทบาท​ของ​คุณ​ใน​ฐานะ​บิดา​มารดา

ปีเตอร์ กอร์สกี แห่ง​วิทยาลัย​แพทย์​ฮาร์เวิร์ด​กล่าว​ว่า “หาก​คุณ​ทำ​ให้​ลูก​รู้สึก​ว่า​ได้​รับ​ความ​รัก, ความ​ผูก​พัน, มี​ความ​หมาย​และ​มี​ความ​สนใจ​ใน​ตัว​เขา พัฒนาการ​ทาง​สมอง​ก็​จะ​ตาม​มา. บทบาท​ของ​เรา​ใน​ฐานะ​พ่อ​แม่​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​สมอง​ทำ​หน้า​ที่​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ แต่​ส่ง​เสริม​พัฒนาการ​ด้าน​สุขภาพ​ร่าง​กาย, ความ​มี​เหตุ​ผล​และ​การ​คำนึง​ถึง​คน​อื่น.”

ช่าง​เป็น​บำเหน็จ​รางวัล​จริง ๆ สำหรับ​คุณ​ใน​ฐานะ​บิดา​มารดา ที่​เห็น​ลูก​เติบโต​ขึ้น​เป็น​คน​ที่​มี​ศีลธรรม​อัน​ดี​และ​คำนึง​ถึง​คน​อื่น! เพื่อ​คุณ​จะ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​เช่น​นั้น ส่วน​ใหญ่​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​คุณ​ริเริ่ม​ที่​จะ​เป็น​ตัว​อย่าง, เป็น​เพื่อน, เป็น​ผู้​สื่อ​ความ, และ​เป็น​ครู. แม้​เด็ก​ทุก​คน​เกิด​มา​พร้อม​ด้วย​ความ​สามารถ​พื้น​ฐาน​ที่​จะ​ประพฤติ​อย่าง​ถูก​ทำนอง​คลอง​ธรรม แต่​บิดา​มารดา​ก็​ต้อง​ถ่ายทอด​คุณค่า​ทาง​ศีลธรรม​เป็น​ขั้น ๆ เมื่อ​ลูก​โต​ขึ้น.

ใคร​เป็น​ผู้​นวด​ปั้น​เด็ก ๆ?

บรรดา​นัก​วิจัย​มี​ความ​เห็น​ต่าง​กัน​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า ใคร​มี​อิทธิพล​มาก​ที่​สุด​ใน​การ​นวด​ปั้น​เด็ก ๆ. บาง​คน​เชื่อ​ว่า เด็ก ๆ ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​เพื่อน​รุ่น​เดียว​กัน​เป็น​อันดับ​แรก. กระนั้น นาย​แพทย์ ที. เบอร์รี บราเซลตัน และ​สแตนลีย์ กรีนสแพน ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​พัฒนาการ​ของ​เด็ก​เชื่อ​ว่า บทบาท​ของ​บิดา​มารดา​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​แบบ​ที่​คำนึง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​ตั้ง​แต่​เป็น​ทารก​นั้น​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง.

ประสบการณ์​ชีวิต​ใน​เวลา​ต่อ​มา​และ​อิทธิพล​จาก​คน​รอบ​ข้าง​ต่าง​ก็​เสริม​พัฒนาการ​ของ​เด็ก​ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ. นับ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​บิดา​มารดา​จะ​แสดง​ให้​ลูก ๆ เห็น​ถึง​ความ​กรุณา​และ​การ​มี​ความ​เข้าใจ​ภาย​ใน​วง​ครอบครัว. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​ต้อง​ได้​รับ​การ​สอน​ให้​รู้​ถึง​วิธี​รับมือ​กับ​ความ​รู้สึก​ของ​ตน​อย่าง​สุขุม. โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว เด็ก​ที่​ได้​รับ​การ​อบรม​สั่ง​สอน​แบบ​นี้​มี​ความ​พร้อม​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​ทำ​งาน​โดย​ให้​ความ​ร่วม​มือ, กรุณา, และ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ผู้​อื่น.

การ​ฝึก​สอน​เด็ก​ตั้ง​แต่​วัย​ทารก​เป็น​งาน​หนัก. เพื่อ​ที่​คุณ​จะ​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ได้ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​คุณ​เป็น​พ่อ​แม่​มือ​ใหม่ นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​แสวง​หา​การ​ชี้​แนะ​จาก​คน​ที่​มี​ประสบการณ์​มาก​กว่า และ​ครั้น​แล้ว​ก็​ปฏิบัติ​ตาม​แนว​ทาง​นั้น​อย่าง​เคร่งครัด. ผู้​เชี่ยวชาญ​ต่าง​ก็​เขียน​หนังสือ​เกี่ยว​กับ​พัฒนาการ​ของ​เด็ก​ไว้​นับ​ไม่​ถ้วน. บ่อย​ครั้ง​ที​เดียว คำ​กล่าว​ของ​พวก​เขา​มัก​จะ​สะท้อน​ถึง​คำ​แนะ​นำ​ที่​ไว้​ใจ​ได้​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เมื่อ​นำ​หลักการ​ที่​ดี​จาก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไป​ใช้ ทำ​ให้​บิดา​มารดา​เลี้ยง​ดู​ลูก​ของ​ตน​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ. ขอ​พิจารณา​คำ​ชี้​แนะ​ที่​ใช้​ได้​จริง​ดัง​ต่อ​ไป​นี้.

จง​แสดง​ความ​รัก​อย่าง​ไม่​อั้น

เด็ก ๆ เป็น​เหมือน​ต้น​อ่อน​ที่​เจริญ​เติบโต​และ​งอกงาม​เมื่อ​มี​การ​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ด้วย​ความ​รัก​เป็น​ประจำ. น้ำ​และ​แสง​แดด​หล่อ​เลี้ยง​ต้น​อ่อน​และ​กระตุ้น​ให้​มัน​เติบโต​ขึ้น​อย่าง​สมบูรณ์​แข็งแรง. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน บิดา​มารดา​ที่​พูด​และ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ลูก​จะ​ช่วย​หล่อ​เลี้ยง​จิตใจ​และ​อารมณ์​ของ​เขา​ให้​เติบโต​ขึ้น​และ​มั่นคง.

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ตรง ๆ ว่า “ความ​รัก​เสริม​สร้าง​ขึ้น.” (1 โกรินโธ 8:1, ฉบับ​แปล​ใหม่) บิดา​มารดา​ที่​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​บุตร​อย่าง​ไม่​อั้น ที่​แท้​แล้ว กำลัง​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เขา. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า ใน​คราว​ที่​พระ​เยซู​รับ​บัพติสมา พระองค์​ได้​ยิน​พระ​สุรเสียง​ของ​พระ​บิดา​ตรัส​ด้วย​ความ​พอ​พระทัย​และ​ความ​รัก​ต่อ​พระองค์​ฐานะ​พระ​บุตร. ช่าง​เป็น​การ​รับรอง​ที่​ทำ​ให้​อบอุ่น​ใจ​สัก​เพียง​ไร แม้​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว!—ลูกา 3:22.

ความ​รักใคร่​ที่​คุณ​แสดง​ออก, เรื่อง​ที่​คุณ​อ่าน​ให้​ลูก​ฟัง​ก่อน​นอน, และ​แม้​แต่​เกมส์​ที่​คุณ​เล่น ล้วน​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ต่อ​พัฒนาการ​ของ​ลูก. ดร. เจ. เฟรเซอร์ มัสตาร์ด กล่าว​ว่า ‘ทุก​อย่าง​ที่​เด็ก ๆ ทำ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​เพิ่ม​เข้า​มา​ใน​ชีวิต​ของ​เขา. ใน​ขณะ​ที่​เด็ก​กำลัง​หัด​คลาน วิธี​ที่​คุณ​สนับสนุน​และ​ตอบ​สนอง​เป็น​สิ่ง​สำคัญ.’ ความ​รัก​และ​การ​เอา​ใจ​ใส่​ของ​บิดา​มารดา​เป็น​การ​วาง​รากฐาน​ที่​มั่นคง​สำหรับ​บุตร เพื่อ​เขา​จะ​พัฒนา​ขึ้น​และ​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​สำนึก​ถึง​ความ​รับผิดชอบ​และ​มี​ความ​สุขุม​รอบคอบ.

เป็น​เพื่อน​และ​คน​ที่​พูด​คุย​ได้​อย่าง​อิสระ

การ​ใช้​เวลา​กับ​ลูก​ของ​คุณ​ย่อม​สร้าง​ความ​ผูก​พัน. ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ทำ​เช่น​นี้​ยัง​เสริม​ทักษะ​ใน​การ​พูด. ความ​ใกล้​ชิด​เช่น​นี้ ทั้ง​ที่​บ้าน​และ​ที่​อื่น ๆ รวม​ทั้ง​เวลา​อื่น ๆ ที่​เหมาะ​สม เป็น​สิ่ง​ที่​พระ​คัมภีร์​สนับสนุน​ให้​ทำ.—พระ​บัญญัติ 6:6, 7; 11:18-21.

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​พัฒนาการ​ของ​เด็ก​ต่าง​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า เวลา​ที่​บิดา​มารดา​ให้​กับ​ลูก​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​ของ​เล่น​ราคา​แพง​หรือ​กิจกรรม​พิเศษ​ใด ๆ. กิจกรรม​ที่​ใช้​เงิน​ไม่​มาก​และ​ทำ​เป็น​ประจำ​ทุก​วัน​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​มี​โอกาส​พูด​คุย​กับ​ลูก ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น การ​ออก​ไป​สวน​สาธารณะ​กับ​เขา​เพื่อ​ชม​ธรรมชาติ​อาจ​เป็น​โอกาส​อัน​ดี​เยี่ยม​ที่​บิดา​มารดา​จะ​ถาม​คำ​ถาม​ที่​มี​ความ​หมาย​และ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​พูด​คุย​กัน.

พระ​คัมภีร์​กล่าว​ว่า มี “วาร​เต้น​รำ [“โลด​เต้น,” ล.ม.].” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:1, 4, ฉบับ​แปล​ใหม่) ใช่​แล้ว การ​เล่น​แบบ​ที่​ไม่​ต้อง​กังวล​อะไร​จำเป็น​ต่อ​การ​พัฒนา​ทักษะ​ทาง​สติ​ปัญญา, อารมณ์, และ​สังคม​ของ​เด็ก. ตาม​ที่ ดร. มัสตาร์ด​กล่าว​ไว้ การ​เล่น​นอก​จาก​จะ​มี​คุณค่า​แล้ว ยัง​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง. เขา​กล่าว​ว่า “การ​เล่น​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​เด็ก ๆ พัฒนา​เครือข่าย​ระบบ​ประสาท​ใน​สมอง​ของ​เขา​เพื่อ​ทำ​หน้า​ที่​ต่าง ๆ ได้​อย่าง​เต็ม​ที่.” ของ​เล่น​ที่​เด็ก​เล่น​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​เขา​อาจ​เป็น​ของ​ธรรมดา ๆ อย่าง​เช่น กล่อง​กระดาษ​เปล่า ๆ สัก​กล่อง​หนึ่ง. ของ​ใช้​ใน​บ้าน​ที่​ปลอด​ภัย​อาจ​น่า​สนใจ​สำหรับ​ทารก​พอ ๆ กับ​ของ​เล่น​ทัน​สมัย​ที่​มี​ราคา​แพง. *

ผู้​เชี่ยวชาญ​เชื่อ​ว่า เด็ก ๆ ที่​มี​กิจกรรม​เต็ม​แน่น​ซึ่ง​ผู้​ใหญ่​สรร​หา​มา​ให้​จน​นับ​ไม่​ถ้วน​นั้น​อาจ​สกัด​กั้น​จินตนาการ​และ​ความ​คิด​สร้าง​สรรค์​ของ​เด็ก. มี​การ​แนะ​ให้​ทำ​อย่าง​พอ​เหมาะ​พอ​ควร. จง​ปล่อย​ให้​ลูก​ของ​คุณ​สำรวจ​โลก​ใบ​เล็ก ๆ ของ​เขา​และ​ทดสอบ​ปฏิภาณ​ไหว​พริบ​ของ​เขา​เอง​บ้าง. เด็ก ๆ มัก​ทำ​อะไร​สัก​อย่าง​เพื่อ​ให้​ตน​เอง​สนุก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นี่​ไม่​ได้​ปลด​เปลื้อง​ความ​รับผิดชอบ​ของ​คุณ​ที่​จะ​รู้​ว่า ลูก​ของ​คุณ​กำลัง​ทำ​อะไร​และ​เล่น​อยู่​ที่​ไหน เพื่อ​เขา​จะ​ไม่​ได้​รับ​อันตราย.

จัด​เวลา​สอน​ลูก

การ​สอน​เป็น​ส่วน​ที่​รวม​อยู่​ใน​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​เพื่อ​ให้​เด็ก​มี​นิสัย​ดี. บิดา​มารดา​หลาย​คน​จัด​เวลา​อ่าน​ออก​เสียง​ให้​ลูก ๆ ฟัง​ทุก​วัน. นี่​ทำ​ให้​มี​โอกาส​ที่​จะ​สอน​บทเรียน​เกี่ยว​กับ​ความ​ประพฤติ​อัน​ดี​งาม ทั้ง​ยัง​มี​โอกาส​ถ่ายทอด​ค่า​นิยม​ทาง​ศีลธรรม​ให้​เด็ก​โดย​อาศัย​สิ่ง​ที่​พระ​ผู้​สร้าง​ตรัส​ไว้. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า ติโมเธียว ซึ่ง​เป็น​ครู​และ​มิชชันนารี​ที่​ซื่อ​สัตย์ ‘รู้​จัก​คำ​จารึก​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ตั้ง​แต่​เป็น​เด็ก ๆ.’—2 ติโมเธียว 3:15.

การ​อ่าน​ให้​ลูก​น้อย​ของ​คุณ​ฟัง​อาจ​กระตุ้น​จุด​เชื่อม​ต่อ​ซินแนปส์. ปัจจัย​สำคัญ​ก็​คือ​ว่า การ​อ่าน​นั้น​ต้อง​ทำ​โดย​ผู้​ที่​มี​ความ​สนใจ​และ​ห่วงใย​เด็ก. ลินดา ซีเกล ศาสตราจารย์​ด้าน​การ​ศึกษา​เตือน​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​จะ​อ่าน​ว่า “ควร​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​เด็ก ๆ รู้สึก​สนุก.” นอก​จาก​นี้ จง​อ่าน​เป็น​ประจำ​และ​ใน​เวลา​เดียว​กัน​ทุก​วัน. โดย​วิธี​นี้ เด็ก​ก็​จะ​เริ่ม​ตั้ง​ตา​คอย​เวลา​นั้น.

การ​สอน​รวม​ถึง​การ​ตี​สอน. เด็ก​เล็ก ๆ จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​รัก. สุภาษิต 13:1 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “บุตร​จะ​มี​ปัญญา​เมื่อ​มี​การ​ตี​สอน​จาก​บิดา.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม จำ​ไว้​ว่า การ​ตี​สอน​มี​หลาย​รูป​แบบ. ตัว​อย่าง​เช่น การ​ตี​สอน​อาจ​เป็น​ลักษณะ​ของ​การ​ว่า​กล่าว​แก้​ไข​หรือ​การ​จำกัด​สิทธิ์​หรือ​การ​ทำ​โทษ​แบบ​อื่น ๆ. นาย​แพทย์​บรา​เซล​ตัน​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ตอน​ต้น​กล่าว​ว่า การ​ตี​สอน​เป็น “การ​สอน​เด็ก​ให้​รู้​วิธี​ควบคุม​ความ​รู้สึก​และ​ละ​เว้น​พฤติกรรม​ที่​ขาด​การ​ควบคุม. เด็ก​ทุก​คน​ต้องการ​และ​คาด​หวัง​ให้​มี​การ​วาง​ข้อ​จำกัด. รอง​จาก​ความ​รัก​แล้ว การ​ตี​สอน​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ที่​คุณ​จะ​ให้​ได้.”

ใน​ฐานะ​ที่​คุณ​เป็น​บิดา​มารดา คุณ​จะ​แน่​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​การ​ตี​สอน​ของ​คุณ​ได้​ผล? ประการ​หนึ่ง​ก็​คือ บุตร​ของ​คุณ​ควร​เข้าใจ​ว่า​เหตุ​ใด​เขา​จึง​ถูก​ตี​สอน. เมื่อ​คุณ​ว่า​กล่าว​แก้ไข จง​ทำ​ใน​แบบ​ที่​บุตร​ของ​คุณ​เข้าใจ​ว่า คุณ​เป็น​พ่อ​แม่​ที่​รัก​และ​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​เขา.

ความ​พยายาม​ที่​เกิด​ผล

เฟรด​เป็น​บิดา​คน​หนึ่ง​ที่​อ่าน​หนังสือ​ให้​บุตร​สาว​ฟัง​จน​เป็น​กิจวัตร​ก่อน​เข้า​นอน​ตั้ง​แต่​บุตร​สาว​ยัง​เป็น​ทารก. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป เขา​สังเกต​ว่า เธอ​จำ​ได้​หลาย​เรื่อง​และ​สามารถ​ชี้​ตาม, จำ​คำ​และ​เสียง​ของ​คำ​ต่าง ๆ ได้. คริส​เป็น​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​ถือ​เป็น​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​จะ​อ่าน​ให้​ลูก​ฟัง. เขา​พยายาม​อ่าน​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ หลาก​หลาย​แบบ. เมื่อ​ลูก​ยัง​เล็ก​มาก เขา​ใช้​ภาพ​ประกอบ​ใน​หนังสือ อย่าง​เช่น หนังสือ​ของ​ฉัน​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​ราว​ใน​พระ​คัมภีร์​ไบเบิ้ล เพื่อ​สอน​เรื่อง​ศีลธรรม​และ​บทเรียน​ที่​สอน​เรื่อง​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า. *

บิดา​มารดา​คน​อื่น ๆ พยายาม​ทำ​ให้​การ​อ่าน​สมดุล​กับ​กิจกรรม​อื่น ๆ ที่​หลาก​หลาย เช่น การ​วาด​ภาพ, การ​ระบาย​สี, การ​เล่น​ดนตรี, การ​ตั้ง​ค่าย​พัก​แรม, หรือ​การ​ไป​เที่ยว​กัน​เป็น​ครอบครัว เช่น ไป​เที่ยว​สวน​สัตว์. อาจ​มี​การ​ใช้​โอกาส​เหล่า​นี้​เพื่อ​สอน​บทเรียน​ต่าง ๆ รวม​ทั้ง​ปลูกฝัง​ค่า​นิยม​ทาง​ศีลธรรม​และ​ความ​ประพฤติ​ที่​ดี​ไว้​ใน​หัวใจ​และ​จิตใจ​ที่​ซึมซับ​ได้​ง่าย​ของ​เด็ก.

ทุก​อย่าง​ที่​ทำ​ลง​ไป​คุ้มค่า​กับ​ความ​พยายาม​ไหม? บิดา​มารดา​ที่​พยายาม​สุด​ความ​สามารถ​ใน​การ​นำ​คำ​ชี้​แนะ​ที่​เป็น​ประโยชน์​นี้​ไป​ใช้​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มี​สันติ​สุข​และ​ปลอด​ภัย มัก​จะ​เห็น​ลูก ๆ พัฒนา​ทัศนะ​คติ​ใน​แง่​บวก. หาก​คุณ​เลี้ยง​ดู​ลูก​ใน​แบบ​ที่​เสริม​ทักษะ​ทาง​ปัญญา​และ​ใน​การ​พูด​คุย​ตั้ง​แต่​เขา​ยัง​เล็ก​อยู่ คุณ​จะ​ส่ง​เสริม​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ทาง​ศีลธรรม​และ​ฝ่าย​วิญญาณ​แก่​เขา​อย่าง​มาก.

เมื่อ​หลาย​ศตวรรษ​มา​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​อย่าง​ชัดเจน​ใน​สุภาษิต 22:6 ว่า “จง​ฝึก​สอน​เด็ก​ให้​ประพฤติ​ตาม​ทาง​ที่​ควร​จะ​ประพฤติ​นั้น: และ​เมื่อ​แก่​ชรา​แล้ว​เขา​จะ​ไม่​เดิน​ห่าง​จาก​ทาง​นั้น.” แน่นอน​ว่า บิดา​มารดา​มี​บทบาท​สำคัญ​ที่​ขาด​ไม่​ได้​อย่าง​แท้​จริง​ใน​การ​ฝึก​สอน​บุตร. จง​แสดง​ความ​รัก​อย่าง​ไม่​อั้น​ต่อ​ลูก​ของ​คุณ. ให้​เวลา​กับ​เขา, เลี้ยง​ดู​เขา, และ​สอน​เขา. การ​ทำ​เช่น​นี้​จะ​ทำ​ให้​ทั้ง​คุณ​และ​ลูก​มี​ความ​สุข.—สุภาษิต 15:20.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 ดู​บทความ​เรื่อง “เด็ก​ใน​แอฟริกา​มี​ของ​เล่น​ที่​ไม่​ต้อง​ซื้อ” ใน​วารสาร​เดียว​กัน​นี้​ฉบับ 8 เมษายน 1993.

^ วรรค 23 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา. นอก​จาก​นี้​ยัง​มี​หนังสือ​อีก​เล่ม​คือ จง​เรียน​จาก​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่ จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เช่น​เดียว​กัน เป็น​หนังสือ​ที่​ใช้​ใน​การ​สอน​เด็ก​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ.

[กรอบ​หน้า 7]

การ​เล่น​กับ​ลูก​น้อย​ของ​คุณ

▪ เด็ก​ทารก​สนใจ​อะไร​ได้​ไม่​นาน ดัง​นั้น ให้​เล่น​กับ​เขา​เมื่อ​ดู​เหมือน​ว่า​เขา​ยัง​รู้สึก​สนุก​อยู่.

▪ หาก​ใช้​ของ​เล่น ควร​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ของ​เล่น​นั้น​ปลอด​ภัย​และ​กระตุ้น​ความ​คิด​ของ​เด็ก.

▪ เล่น​เกมส์​ที่​ทำ​ให้​เกิด​การ​เคลื่อน​ไหว. เด็ก​ทารก​ชอบ​ให้​คุณ​ทำ​อะไร​ซ้ำ ๆ อย่าง​เช่น เก็บ​ของ​เล่น​ที่​เขา​ทิ้ง​ลง​พื้น.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

แหล่ง​ที่​มา: ระบบ​อ้างอิง​ทาง​การ​แพทย์ (ภาษา​อังกฤษ)

[ภาพ/กรอบ​หน้า 10]

เคล็ดลับ​ใน​การ​อ่าน​ให้​ลูก​ฟัง

▪ พูด​และ​ออก​เสียง​คำ​ให้​ชัดเจน. เด็ก​เรียน​ภาษา​โดย​การ​ฟัง​พ่อ​แม่​พูด.

▪ ถ้า​เด็ก​ยัง​เล็ก​มาก ให้​ชี้​และ​บอก​ชื่อ​คน​และ​สิ่ง​ของ​ใน​หนังสือ​ที่​มี​ภาพ​ประกอบ.

▪ เมื่อ​เด็ก​โต​ขึ้น เลือก​หนังสือ​ที่​มี​เรื่อง​ที่​ตรง​กับ​ความ​สนใจ​ของ​เขา​ใน​ช่วง​วัย​นั้น.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

แหล่ง​ที่​มา: กุมารเวชศาสตร์​สำหรับ​บิดา​มารดา (ภาษา​อังกฤษ)

[คำ​โปรย​หน้า 8, 9]

จง​ใช้​เวลา​ทำ​กิจกรรม​ที่​น่า​เพลิดเพลิน​กับ​ลูก​ของ​คุณ