ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ห้องสมุด—ประตูสู่ความรู้

ห้องสมุด—ประตูสู่ความรู้

ห้อง​สมุด—ประตู​สู่​ความ​รู้

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

ห้อง​สมุด​ถูก​เรียก​ว่า “เสา​หลัก​แห่ง​อารยธรรม.” สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าว​ว่า ห้อง​สมุด​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​สิ่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​ช่วย​ทำ​ให้​วัฒนธรรม​และ​เทคโนโลยี​ของ​มนุษย์​ก้าว​หน้า​ไป. เกอเท กวี​ชาว​เยอรมัน เรียก​ห้อง​สมุด​ว่า​ความ​ทรง​จำ​ของ​มนุษยชาติ.

ห้อง​สมุด​แห่ง​ใด​บ้าง​ที่​เคย​เป็น “เสา​หลัก​แห่ง​อารยธรรม”? หนังสือ​เล่ม​ใด​ที่​มี​อิทธิพล​มาก​ที่​สุด​ต่อ​ห้อง​สมุด​และ​การ​รู้​หนังสือ​ของ​ประชาชน? และ​ห้อง​สมุด​ใหญ่ ๆ ใน​สมัย​นี้​มี​หนังสือ​สัก​กี่​เล่ม? เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​แรก ขอ​ให้​เรา​ย้อน​กลับ​ไป​ใน​อดีต และ​ไป​เยือน​ห้อง​สมุด​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โลก.

“สารานุกรม​ความ​รู้​ของ​มนุษย์” แห่ง​ยุค​โบราณ

ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​ตัว​คุณ​อยู่​ใน​ประเทศ​แถบ​ตะวัน​ออก​กลาง​ซึ่ง​ปัจจุบัน​คือ​อิรัก. ปี​นั้น​เป็น​ปี 650 ก่อน​สากล​ศักราช คุณ​อยู่​ข้าง​ใน​กำแพง​อัน​สูง​ตระหง่าน​ของ​เมือง​นีเนเวห์ (ใกล้​เมือง​โมซุล​ใน​ปัจจุบัน). ที่​ตั้ง​ตระหง่าน​อยู่​ข้าง​หน้า​คุณ​คือ​พระ​ราชวัง​ของ​กษัตริย์​อะเชอร์บานิปาล ผู้​ครอบครอง​อัสซีเรีย, อียิปต์, และ​บาบิโลเนีย. * ขณะ​ที่​ยืน​อยู่​ใกล้​ประตู​พระ​ราชวัง​นั้น คุณ​เห็น​ผู้​ชาย​หลาย​คน​เข็น​รถ​ที่​บรรทุก​โถ​ดิน​เผา​หนัก ๆ เข้า​ไป​ข้าง​ใน. คน​เหล่า​นี้​เพิ่ง​กลับ​มา​จาก​สุด​เขต​แดน​ของ​อาณาจักร​อัสซีเรีย และ​กำลัง​พยายาม​รวบ​รวม​เอกสาร​ทุก​ชิ้น​เท่า​ที่​รู้​จัก​กัน​เกี่ยว​กับ​สังคม, วัฒนธรรม, และ​ประเพณี​ทาง​ศาสนา​ของ​ผู้​คน​ที่​อยู่​ใน​อาณา​เขต​ของ​อะเชอร์บานิปาล. เมื่อ​เปิด​โถ​ดิน​เผา​ใบ​หนึ่ง คุณ​ก็​เห็น​ว่า​ใน​โถ​นั้น​เต็ม​ไป​ด้วย​แผ่นดิน​เหนียว​ทรง​สี่​เหลี่ยม​ผืน​ผ้า​กว้าง​ประมาณ​สาม​นิ้ว​ยาว​สี่​นิ้ว.

คุณ​เดิน​ตาม​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​นั้น​เข้า​ไป​ใน​พระ​ราชวัง แล้ว​คุณ​ก็​เห็น​อาลักษณ์​ถือ​กระดูก​แหลม ๆ ที่​ใช้​สำหรับ​จารึก​กำลัง​ทำ​อักษร​รูป​ลิ่ม​ลง​บน​แผ่นดิน​เหนียว​เปียก ๆ แผ่น​เล็ก. พวก​เขา​กำลัง​แปล​เอกสาร​ภาษา​ต่าง​ประเทศ​ให้​เป็น​ภาษา​อัสซีเรีย. จาก​นั้น แผ่นดิน​เหนียว​เหล่า​นี้​จะ​ถูก​เผา​ใน​เตา ทำ​ให้​มัน​คงทน​ถาวร​จน​แทบ​จะ​ไม่​มี​ทาง​ทำลาย​ได้. แผ่นดิน​เหนียว​เหล่า​นี้​จะ​ถูก​เก็บ​ใน​ห้อง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ชั้น​วาง​ซึ่ง​มี​โถ​วาง​ซ้อน​กัน​นับ​ร้อย ๆ ใบ. ที่​เสา​ประตู​ของ​แต่​ละ​ห้อง​มี​ป้าย​โลหะ​ติด​อยู่​เพื่อ​บอก​ว่า​แผ่นดิน​เหนียว​ใน​โถ​ที่​ตั้ง​อยู่​ใน​ห้อง​นั้น​มี​เรื่อง​อะไร​บ้าง. แผ่นดิน​เหนียว​มาก​กว่า 20,000 แผ่น​ใน​ห้อง​สมุด​นี้​มี​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​การ​ติด​ต่อ​ค้า​ขาย, ธรรมเนียม​ทาง​ศาสนา, กฎหมาย, ประวัติศาสตร์, ยา, และ​สรีรวิทยา​ของ​มนุษย์​และ​สัตว์ ซึ่ง​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​เรียก​ว่า “สารานุกรม​ความ​รู้​ของ​มนุษย์.”

ห้อง​สมุด​ก่อน​และ​หลัง​ห้อง​สมุด​แห่ง​เมือง​นีเนเวห์

มี​ห้อง​สมุด​ขนาด​ใหญ่​อื่น ๆ ที่​เก่า​แก่​กว่า​ห้อง​สมุด​ของ​อะเชอร์บานิปาล​ที่​เมือง​นีเนเวห์. กษัตริย์​ฮัมมูราบิ​สร้าง​ห้อง​สมุด​ใน​เมือง​บอร์​ซิป​ปะ​แห่ง​บาบิโลเนีย ประมาณ​หนึ่ง​พัน​ปี​ก่อน​อะเชอร์บานิปาล. ราเมเซส​ที่ 2 สร้าง​ห้อง​สมุด​ที่​มี​ชื่อเสียง​ขึ้น​ใน​เมือง​ทีบส์​แห่ง​อียิปต์​กว่า 700 ปี​ก่อน​อะเชอร์บานิปาล. แต่​ห้อง​สมุด​ของ​อะเชอร์บานิปาล​มี​ข้อมูล​ที่​หลาก​หลาย​และ​มี​ปริมาณ​ที่​มาก​มหาศาล​จน​ทำ​ให้​ห้อง​สมุด​นี้​มี​ชื่อเสียง​ว่า “ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก​ยุค​โบราณ.” ต้อง​ใช้​เวลา​อีก 350 ปี​จึง​จะ​มี​ห้อง​สมุด​ที่​ใหญ่​กว่า​ห้อง​สมุด​แห่ง​นี้.

ห้อง​สมุด​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​โดย​ปโตเลมี​ที่ 1 โซเทอร์ ซึ่ง​เป็น​แม่ทัพ​คน​หนึ่ง​ของ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช เมื่อ​ราว ๆ ปี 300 ก่อน ส.ศ. ห้อง​สมุด​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ที่​เมือง​ท่า​ของ​อียิปต์​ชื่อ​อะเล็กซานเดรีย และ​บรรณารักษ์​ของ​ห้อง​สมุด​นี้​พยายาม​จะ​รวบ​รวม​สำเนา​ข้อ​เขียน​ส่วน​ใหญ่​ที่​มี​อยู่​ใน​โลก​ตอน​นั้น. * ตาม​คำ​เล่า​สืบ​ต่อ​กัน​มา ห้อง​สมุด​ที่​อะเล็กซานเดรีย​นี้​คือ​ที่​ที่​ผู้​คง​แก่​เรียน​ประมาณ 70 คน​เริ่ม​แปล​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ให้​เป็น​ภาษา​กรีก. ฉบับ​แปล​นี้​ต่อ​มา​เรียก​กัน​ว่า​ฉบับ​แปล​กรีก​เซปตัวจินต์ ซึ่ง​เป็น​ฉบับ​แปล​ที่​คริสเตียน​สมัย​แรก​ใช้​กัน​มาก.

ห้อง​สมุด​ใน​ประเทศ​ทาง​ตะวัน​ออก

ใน​เวลา​เดียว​กับ​ที่​อะเชอร์บานิปาล​กำลัง​ปรับ​ปรุง​ห้อง​สมุด​ของ​เขา​อยู่ ราชวงศ์​โจว​ก็​กำลัง​ครอบครอง​แผ่นดิน​จีน. ใน​ระหว่าง​สมัย​ของ​ราชวงศ์​นี้ คือ​ตั้ง​แต่​ปี 1122 ก่อน ส.ศ. ถึง 256 ก่อน ส.ศ. มี​การ​ผลิต​หนังสือ​ชุด​หนึ่ง​ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​คัมภีร์​ทั้ง​ห้า. หนังสือ​ชุด​นี้​มี​คู่มือ​สำหรับ​การ​ทำนาย​อนาคต, บันทึก​คำ​กล่าว​ของ​ผู้​ปกครอง​ใน​สมัย​ก่อน, บท​กวี, คำ​สั่ง​สอน​เรื่อง​พิธีกรรม​ทาง​ศาสนา, และ​ประวัติศาสตร์​ของ​แคว้น​หลู่​ตั้ง​แต่​ประมาณ​ปี 722 ก่อน ส.ศ. ถึง​ปี 481 ก่อน ส.ศ. คัมภีร์​เล่ม​สุด​ท้าย​เชื่อ​กัน​ว่า​เขียน​โดย​นัก​ปรัชญา​ชาว​จีน​ที่​ชื่อ​ขงจื๊อ. คัมภีร์​ทั้ง​ห้า​และ​อรรถาธิบาย​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ชุด​นี้​มี​อิทธิพล​ต่อ​ความ​คิด​ของ​ชาว​จีน​และ​เป็น​พื้น​ฐาน​ของ​ห้อง​สมุด​ของ​จักรพรรดิ​และ​ของ​คน​ทั่ว​ไป​เป็น​เวลา​นาน​กว่า​สอง​พัน​ปี.

ใน​ญี่ปุ่น โฮโจ ซาเนโทกิ สมาชิก​คน​หนึ่ง​ใน​ครอบครัว​ซามูไร​ที่​เป็น​ชน​ชั้น​ปกครอง ได้​สร้าง​ห้อง​สมุด​ขึ้น​ที่​บ้าน​ของ​ตระกูล​เขา​ใน​เมือง​คะ​นาซา​วะ (ปัจจุบัน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เมือง​โยโกฮามา) ใน​ปี 1275. เขา​พยายาม​จะ​รวบ​รวม​หนังสือ​ทุก​เล่ม​ที่​มี​ใน​ภาษา​จีน​และ​ญี่ปุ่น. แม้​ว่า​หนังสือ​จะ​ลด​จำนวน​ลง แต่​ห้อง​สมุด​นี้​ก็​ยัง​คง​มี​อยู่​ใน​ทุก​วัน​นี้.

คัมภีร์​ไบเบิล, ห้อง​สมุด​ใน​อาราม, และ​วัฒนธรรม​ตะวัน​ตก

หนังสือ​ประวัติศาสตร์​ของ​ห้อง​สมุด​ใน​โลก​ตะวัน​ตก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “พลัง​ของ​หนังสือ​และ​คุณค่า​ของ​ห้อง​สมุด​ปรากฏ​ชัดเจน​ที่​สุด​ใน​การ​กำเนิด, การ​แพร่​หลาย​และ​ความ​ยั่งยืน​ของ​ศาสนา​คริสต์.” มี​ความ​เกี่ยว​พัน​กัน​อย่าง​ไร​ระหว่าง​พัฒนาการ​ของ​ห้อง​สมุด​และ​การ​แพร่​ขยาย​ของ​ศาสนา​คริสต์?

หลัง​จาก​จักรวรรดิ​โรมัน​แตก​สลาย และ​หนังสือ​ใน​ห้อง​สมุด​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ได้​ถูก​ทำลาย​หรือ​กระจัด​กระจาย​ไป อาราม​ของ​คริสต์​ศาสนจักร​ก็​ผุด​ขึ้น​ทั่ว​ยุโรป​และ​ได้​รวบ​รวม​หนังสือ​ส่วน​ที่​หลง​เหลือ​อยู่​จาก​ห้อง​สมุด​โบราณ​เหล่า​นี้. งาน​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ทำ​กัน​ใน​อาราม​เหล่า​นั้น​หลาย​แห่ง​คือ​การ​คัด​ลอก​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​รวม​ทั้ง​สำเนา​หนังสือ​อื่น ๆ ด้วย​มือ. ตัว​อย่าง​คือ อาราม​นิกาย​เบเนดิกติน ซึ่ง​ยึด​มั่น​กับ “ข้อ​ปฏิบัติ​ของ​นัก​บุญ​เบเนดิกต์” ที่​สั่ง​ให้​อ่าน​และ​คัด​ลอก​หนังสือ.

ห้อง​สมุด​ใน​เมือง​คอนสแตนติโนเปิล​ได้​เก็บ​และ​คัด​ลอก​สำเนา​ของ​เอกสาร​โบราณ​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ก็​ได้​มา​ปรากฏ​อีก​ครั้ง​ที่​ประเทศ​อิตาลี. เชื่อ​กัน​ว่า​สำเนา​ที่​คัด​ลอก​ด้วย​มือ​เหล่า​นี้​มี​บทบาท​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ยุค​ฟื้นฟู​ศิลปวิทยา. นัก​ประวัติศาสตร์​ชื่อ​เอลเมอร์ ดี. จอห์นสัน กล่าว​ว่า “บทบาท​ของ​ห้อง​สมุด​ใน​อาราม​ใน​การ​อนุรักษ์​วัฒนธรรม​ตะวัน​ตก​นั้น​ไม่​อาจ​จะ​ปฏิเสธ​ได้. เป็น​เวลา​ราว ๆ หนึ่ง​พัน​ปี​ที่​ห้อง​สมุด​เหล่า​นี้​เป็น​ศูนย์​รวม​ความ​รู้​ของ​ยุโรป และ​ถ้า​ไม่​มี​ห้อง​สมุด​เหล่า​นี้ อารยธรรม​ตะวัน​ตก​คง​จะ​ไม่​เป็น​เหมือน​อย่าง​ที่​เป็น​อยู่​นี้​เลย.”

งาน​คัด​ลอก​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​รักษา “ศูนย์​รวม​ความ​รู้​ของ​ยุโรป” ตลอด​ช่วง​เวลา​นั้น. และ​เมื่อ​การ​ปฏิรูป​ศาสนา​เริ่ม​แพร่​ไป​ทั่ว​ยุโรป ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​กระตุ้น​สามัญ​ชน​ให้​สลัด​ความ​ไม่​รู้​หนังสือ​ออก​ไป. หนังสือ​เรื่อง​ราว​ของ​ห้อง​สมุด กล่าว​ว่า “เรา​เห็น​ว่า​เมื่อ​มี​การ​ปฏิรูป​ของ​ฝ่าย​โปรเตสแตนต์ ก็​เริ่ม​มี​แนว​คิด​ที่​ว่า​สมาชิก​ทุก​คน​ใน​สังคม​ต้อง​มี​การ​ศึกษา​อย่าง​น้อย​เพียง​พอ​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้. ขณะ​ที่​มี​การ​ถกเถียง​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​กัน​มาก​ขึ้น ก็​มี​ความ​สำคัญ​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​สามารถ​อ่าน​ข้อ​เขียน​ทาง​ศาสนา​อัน​หลาก​หลาย. ที่​จำเป็น​ไม่​ใช่​แค่​อ่าน​หนังสือ​ได้​เท่า​นั้น แต่​ต้อง​มี​แหล่ง​ที่​จะ​ค้น​ดู​หนังสือ​ต่าง ๆ ด้วย.”

ดัง​นั้น คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​มี​บทบาท​สำคัญ​มาก​ที่​ทำ​ให้​ห้อง​สมุด​รวม​ทั้ง​การ​รู้​หนังสือ​แพร่​หลาย​ไป​ทั่ว​โลก​ตะวัน​ตก. จาก​นั้น เมื่อ​มี​การ​ประดิษฐ์​แท่น​พิมพ์ ห้อง​สมุด​ส่วน​ตัว​และ​หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​ขนาด​ใหญ่​ที่​มี​หนังสือ​ใน​เรื่อง​ที่​หลาก​หลาย​ก็​ผุด​ขึ้น​ตลอด​ทั่ว​ยุโรป​และ​ใน​ที่​สุด​ก็​มี​ใน​ส่วน​อื่น ๆ ของ​โลก​ด้วย.

ห้อง​สมุด​ใน​ศตวรรษ​ที่ 21

ปัจจุบัน ห้อง​สมุด​บาง​แห่ง​ขยาย​ใหญ่​ขึ้น​จน​น่า​ทึ่ง. ขอ​นึก​ภาพ​ว่า​เรา​ยืน​อยู่​หน้า​ชั้น​หนังสือ​ที่​มี​ความ​ยาว 850 กิโลเมตร​และ​มี​หนังสือ​กว่า 29 ล้าน​เล่ม. นั่น​คือ​ขนาด​โดย​ประมาณ​ของ​ห้อง​สมุด​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก ซึ่ง​ก็​คือ​หอ​สมุด​รัฐสภา​ของ​สหรัฐ. นอก​จาก​หนังสือ​แล้ว ห้อง​สมุด​นี้​ยัง​มี​สื่อ​บันทึก​เสียง​และ​ภาพ​ประมาณ 2.7 ล้าน​ชิ้น, รูป​ภาพ 12 ล้าน​ภาพ, แผนที่ 4.8 ล้าน​แผ่น, และ​สำเนา​คัด​ลอก​ด้วย​มือ 57 ล้าน​ฉบับ. ห้อง​สมุด​แห่ง​นี้​เพิ่ม​สิ่ง​เหล่า​นี้​เข้า​ไป​อีก​วัน​ละ 7,000 ชิ้น!

ห้อง​สมุด​แห่ง​บริเตน​ที่​กรุง​ลอนดอน​มี​หนังสือ​มาก​เป็น​อันดับ​สอง คือ​มาก​กว่า 18 ล้าน​เล่ม. ห้อง​สมุด​แห่ง​รัฐ​ของ​รัสเซีย​ใน​กรุง​มอสโก​มี​หนังสือ 17 ล้าน​เล่ม และ​มี​หนังสือ​พิมพ์​ที่​รวบ​รวม​ทั้ง​ปี​ประมาณ 632,000 ชุด. หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​ของ​ฝรั่งเศส ซึ่ง​เป็น​หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​ใน​ยุโรป มี​หนังสือ 13 ล้าน​เล่ม. นอก​จาก​นั้น หนังสือ​สถิติ​ห้อง​สมุด​โลก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ​ของ​ฝรั่งเศส​เป็น​ห้อง​สมุด​แห่ง​แรก​ที่​ให้​บริการ​ค้น​หา​ข้อ​ความ​ใน​หนังสือ​จำนวน​มาก​ของ​ตน​ผ่าน​ทาง​อินเทอร์เน็ต.” สำหรับ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​มี​คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต​ก็​ทำ​ให้​พวก​เขา​สามารถ​ค้น​หา​คลัง​ความ​รู้​ของ​มนุษยชาติ​ได้​ง่าย​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน.

ปริมาณ​ข้อมูล​ที่​มี​ไว้​ให้​สาธารณชน​ค้น​ดู​ได้​นั้น​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน. มี​การ​ประมาณ​ว่า​ความ​รู้​ทั้ง​หมด​ของ​มนุษย์​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​สอง​เท่า​ใน​ทุก ๆ สี่​ปี​ครึ่ง. ใน​สหรัฐ​ประเทศ​เดียว มี​หนังสือ​ใหม่​พิมพ์​ออก​มาก​กว่า 150,000 เล่ม​ใน​แต่​ละ​ปี.

ดัง​นั้น ข้อ​สังเกต​ของ​ซะโลโม ซึ่ง​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน, นัก​เขียน, และ​กษัตริย์​ใน​สมัย​โบราณ จึง​มี​ความ​หมาย​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​สมัย​นี้​คือ. ท่าน​เขียน​ว่า “การ​จะ​ทำ​หนังสือ​มาก​นั้น​ไม่​มี​ที่​สิ้น​สุด และ​การ​ทุ่มเท​กับ​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้​เนื้อหนัง​อิดโรย​ไป.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:12, ล.ม.) แต่​เมื่อ​ใช้​อย่าง​สุขุม ห้อง​สมุด​ก็​ยัง​คง​เป็น​อย่าง​ที่​องค์การ​ศึกษา​วิทยาศาสตร์​และ​วัฒนธรรม​แห่ง​สหประชาชาติ​เรียก​คือ “ประตู​สู่​ความ​รู้​ที่​อยู่​ใกล้​ตัว.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 เชื่อ​กัน​ว่า​อะเชอร์บานิปาล​คือ​อัศนาฟัร​ที่​มี​การ​กล่าว​ถึง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เอษรา 4:10 ซึ่ง​อยู่​ใน​สมัย​เดียว​กับ​กษัตริย์​มะนาเซ​แห่ง​ยูดาห์.

^ วรรค 10 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​ห้อง​สมุด​แห่ง​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​ทั้ง​ใน​สมัย​โบราณ​และ​ใน​ปัจจุบัน โปรด​ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 8 มกราคม 2005.

[กรอบ​หน้า 20]

หน้า​ที่​ของ​บรรณารักษ์

ถ้า​คุณ​หา​หนังสือ​ที่​คุณ​ต้องการ​ใน​บัญชี​ราย​ชื่อ​ไม่​พบ อย่า​เพิ่ง​หมด​หวัง จง​ถาม​บรรณารักษ์. ความ​เชี่ยวชาญ​ของ​บรรณารักษ์​มัก​จะ​มี​ประโยชน์​มาก. รอ​เดอริก ซึ่ง​ทำ​งาน​เป็น​บรรณารักษ์​มา​กว่า 20 ปี​กล่าว​ว่า “ผู้​คน​มัก​จะ​รู้สึก​กลัว​ห้อง​สมุด​และ​บรรณารักษ์. พวก​เขา​มัก​จะ​เริ่ม​โดย​พูด​ว่า ‘ผม​อาจ​จะ​ถาม​อะไร​ที่​ฟัง​ดู​โง่​ไป​สัก​หน่อย​นะ​ครับ แต่​ว่า . . . ’ แต่​จริง ๆ แล้ว​ไม่​มี​คำ​ถาม​ที่​ฟัง​ดู​โง่​หรอก. ความ​สามารถ​ของ​บรรณารักษ์​ที่​ดี​คือ​ที่​จะ​หา​สิ่ง​ที่​คุณ​ต้องการ แม้​คุณ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​เรียก​สิ่ง​นั้น​อย่าง​ไร.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

ตัว​เลข​เหล่า​นั้น​หมาย​ถึง​อะไร? 225.7

ระบบ​การ​จัด​หมวด​หมู่​ทศ​นิยม​ดิวอี

ห้อง​สมุด​หลาย​แห่ง​ใช้​ระบบ​การ​จัด​หมวด​หมู่​ทศ​นิยม​ดิวอี (Dewey decimal classification system) ซึ่ง​จะ​เห็น​ว่า​เป็น​ชุด​ตัว​เลข​ที่​ปรากฏ​ใน​บัญชี​ราย​ชื่อ​และ​ที่​สัน​หนังสือ. เมลวิล ดิวอี บรรณารักษ์​ที่​มี​อิทธิพล​ชาว​อเมริกัน ได้​พิมพ์​เผยแพร่​ระบบ​ที่​เขา​คิด​ขึ้น​ใน​ปี 1876. ระบบ​นี้​ใช้​ตัว​เลข​จาก 000 ถึง 999 เพื่อ​จัด​หมวด​หมู่​หนังสือ​ตาม​หัวเรื่อง และ​แบ่ง​ไว้​เป็น​สิบ​หมวด​หลัก ๆ ดัง​นี้:

000-099 ความ​รู้​ทั่ว​ไป

100-199 ปรัชญา​และ​จิตวิทยา

200-299 ศาสนา

300-399 สังคมศาสตร์

400-499 ภาษา

500-599 วิทยาศาสตร์​ธรรมชาติ​และ​คณิตศาสตร์

600-699 เทคโนโลยี (วิทยาศาสตร์​ประยุกต์)

700-799 ศิลปะ

800-899 วรรณคดี​และ​วาทศาสตร์

900-999 ภูมิศาสตร์​และ​ประวัติศาสตร์

จาก​นั้น​หมวด​หลัก​แต่​ละ​หมวด​ก็​ถูก​แบ่ง​เป็น​สิบ​กลุ่ม​ย่อย และ​มี​การ​กำหนด​ว่า​ใน​แต่​ละ​กลุ่ม​นั้น​จะ​มี​เรื่อง​อะไร​โดย​เฉพาะ. ตัว​อย่าง​เช่น คัมภีร์​ไบเบิล​มี​หมาย​เลข​ประจำ​อยู่​ภาย​ใน​หมวด 200 (ศาสนา) นั่น​ก็​คือ 220. เรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ถูก​แบ่ง​ย่อย​ออก​ไป​อีก. ตัว​เลข 225 คือ “คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” (พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก). มี​การ​ใส่​ตัว​เลข​ทศ​นิยม​เพิ่ม​เข้า​ไป​เพื่อ​ระบุ​ประเภท​ของ​หนังสือ เช่น:

01 ปรัชญา​และ​ทฤษฎี

02 เบ็ดเตล็ด

03 พจนานุกรม, สารานุกรม, ศัพท์​สัมพันธ์

04 หัวข้อ​พิเศษ

05 สิ่ง​พิมพ์​ต่อ​เนื่อง

06 องค์การ​ต่าง ๆ และ​การ​จัด​การ

07 การ​ศึกษา, การ​วิจัย, หัวข้อ​ที่​เกี่ยว​ข้อง

08 สิ่ง​สะสม

09 ความ​เป็น​มา​ของ

ดัง​นั้น สารานุกรม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​จะ​มี​หมาย​เลข 220.3 ส่วน​อรรถาธิบาย​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​จะ​มี​หมาย​เลข 225.7.

ระบบ​จัด​หมวด​หมู่​หอ​สมุด​รัฐสภา​สหรัฐ​ก็​คล้าย ๆ กัน แต่​ใช้​ทั้ง​ตัว​อักษร​และ​ตัว​เลข. หนังสือ​ส่วน​ใหญ่​ยัง​มี​รหัส​ทั้ง​ตัว​อักษร​และ​ตัว​เลข​เพื่อ​ระบุ​ชื่อ​ผู้​เขียน. ใน​บาง​ประเทศ​มี​การ​ใช้​ระบบ​อื่น​อีก.

[ภาพ​หน้า 18]

กษัตริย์​อะเชอร์บานิปาล​แห่ง​อัสซีเรีย. ห้อง​สมุด​ของ​กษัตริย์​องค์​นี้​มี​แผ่นดิน​เหนียว​ที่​มี​ข้อ​ความ​จารึก​เป็น​อักษร​รูป​ลิ่ม 650 ปี​ก่อน ส.ศ.

[ภาพ​หน้า 18]

ห้อง​สมุด​แห่ง​บริเตน กรุง​ลอนดอน ประเทศ​อังกฤษ

[ภาพ​หน้า 18]

ห้อง​สมุด​ใน​อาราม ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์ ปี 1761

[ภาพ​หน้า 19]

ห้อง​สมุด​แห่ง​เมือง​อะเล็กซานเดรีย ประเทศ​อียิปต์ ประมาณ 300 ปี​ก่อน ส.ศ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Ridpath’s History of the World (Vol. II)

[ภาพ​หน้า 20, 21]

หอ​สมุด​รัฐสภา​สหรัฐ ซึ่ง​เป็น​ห้อง​สมุด​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

From the book Ridpath’s History of the World (Vol. IX)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

Top left and bottom photos: Erich Lessing/ Art Resource, NY; tablet: Photograph taken by courtesy of the British Museum