ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณสามารถปรับปรุงความจำได้!

คุณสามารถปรับปรุงความจำได้!

คุณ​สามารถ​ปรับ​ปรุง​ความ​จำ​ได้!

“ความ​จำ​ทำ​ให้​โลก​ของ​เรา​กว้าง​ขึ้น. ถ้า​ไม่​มี​ความ​จำ เรา​ก็​คง​ขาด​ความ​รู้สึก​ถึง​ความ​ต่อ​เนื่อง และ​ทุก​เช้า​เมื่อ​ส่อง​กระจก เรา​ก็​ไม่​รู้​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​คน​ที่​เรา​มอง​เห็น​ใน​กระจก​นั้น​คือ​ตัว​เรา​เอง. เรื่อง​แต่​ละ​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​แต่​ละ​วัน​คง​จะ​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​เลย; เรา​คง​จะ​ไม่​สามารถ​เรียน​จาก​อดีต​และ​คาด​หวัง​อะไร​ใน​อนาคต​ได้.” —“ความ​ลึกลับ​ของ​จิตใจ.” (ภาษา​อังกฤษ)

ทำไม​นก​บาง​ชนิด​จึง​จำ​ที่​ที่​มัน​เก็บ​เมล็ด​พืช​ไว้​สำหรับ​ช่วง​ฤดู​หนาว​ใน​อีก​หลาย​เดือน​ต่อ​มา​ได้ และ​กระรอก​ก็​สามารถ​จำ​ที่​ที่​มัน​ฝัง​ลูก​นัท​เอา​ไว้ แต่​เรา​อาจ​จะ​ลืม​ไป​ว่า​เมื่อ​ชั่วโมง​ที่​แล้ว​เรา​วาง​กุญแจ​ไว้​ที่​ไหน. ใช่​แล้ว พวก​เรา​หลาย​คน​บ่น​เรื่อง​การ​หลง​ลืม​ของ​ตน. กระนั้น แม้​สมอง​ของ​มนุษย์​จะ​ไม่​สมบูรณ์​แต่​ก็​มี​ความ​สามารถ​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ใน​การ​เรียน​รู้​และ​จด​จำ. เคล็ดลับ​ก็​คือ การ​ใช้​สมอง​ให้​เต็ม​ประสิทธิภาพ​มาก​ที่​สุด.

ศักยภาพ​มาก​มาย

สมอง​มนุษย์​หนัก​ประมาณ 1.4 กิโลกรัม​และ​มี​ขนาด​พอ ๆ กับ​ส้ม​โอ​ผล​เล็ก ๆ กระนั้น สมอง​มี​นิวรอน​หรือ​เซลล์​ประสาท​ราว ๆ 100,000 ล้าน​เซลล์ นิวรอน​ทั้ง​หมด​นี้​ก่อ​ตัว​เป็น​โครง​ข่าย​ที่​สลับ​ซับซ้อน​มาก​มาย​อย่าง​ไม่​น่า​เชื่อ. ที่​จริง นิวรอน​แค่​เซลล์​เดียว​สามารถ​เชื่อม​ต่อ​กับ​นิวรอน​อื่น ๆ ได้​ถึง 100,000 เซลล์. เซลล์​ที่​เชื่อม​ต่อ​กัน​นี้​ทำ​ให้​สมอง​มี​ศักยภาพ​ใน​การ​ประมวล​และ​เก็บ​ข้อมูล​ได้​อย่าง​มหาศาล. แน่​ล่ะ สิ่ง​ที่​เป็น​ปัญหา​สำหรับ​คน​เรา​ก็​คือ​การ​ดึง​ข้อมูล​นั้น​มา​ใช้​ใน​คราว​ที่​จำเป็น. บาง​คน​มี​ความ​จำ​ที่​ดี​มาก รวม​ถึง​หลาย ๆ คน​ที่​แทบ​ไม่​ได้​ร่ำ​เรียน​ใน​โรง​เรียน​ด้วย​ซ้ำ.

ตัว​อย่าง​เช่น ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ตก คน​ที่​ไม่​รู้​หนังสือ​ซึ่ง​เป็น​ผู้​เล่า​เรื่อง​ของ​ชน​เผ่า​พื้นเมือง​ต่าง ๆ ที่​เรียก​กัน​ว่า​กรีออต สามารถ​ท่อง​จำ​ชื่อ​คน​หลาย​ชั่ว​อายุ​ที่​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​ของ​ตน​ได้. กรีออต​หลาย​คน​ได้​ช่วย​อะเล็กซ์ เฮลีย์ นัก​ประพันธ์​ชาว​อเมริกัน ซึ่ง​ได้​รับ​รางวัล​พู​ลิต​เซอร์​จาก​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​ราก​เหง้า (ภาษา​อังกฤษ) ใน​การ​สืบ​หา​ผู้​ที่​อยู่​ใน​วงศ์​ตระกูล​ของ​เขา​ใน​ประเทศ​แกมเบีย​ย้อน​หลัง​ไป​ถึง​หก​ชั่ว​อายุ​คน. เขา​กล่าว​ว่า “ผม​ยอม​รับ​ว่า​ผม​เป็น​หนี้​เหล่า​กรีออต​แห่ง​แอฟริกา​มาก​มาย​เหลือ​เกิน ซึ่ง​เวลา​นี้​มี​การ​กล่าว​ไว้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ว่า เมื่อ​กรีออต​คน​หนึ่ง​เสีย​ชีวิต​ก็​เหมือน​กับ​หอ​สมุด​หลัง​หนึ่ง​ถูก​เผา​เป็น​จุณ​ไป.”

ขอ​พิจารณา​ด้วย​เกี่ยว​กับ อาร์ตูโร ตอสกานินี วาทยกร​ที่​มี​ชื่อเสียง​ชาว​อิตาลี ซึ่ง “กลาย​เป็น​ที่​รู้​จัก” ตอน​อายุ 19 ปี เมื่อ​เขา​ถูก​เรียก​ให้​ทำ​หน้า​ที่​แทน​วาทยกร​อีก​คน​หนึ่ง. แม้​ว่า​สายตา​ของ​เขา​จะ​แย่​มาก แต่​เขา​สามารถ​ควบคุม​วง​ดนตรี​ใน​การ​แสดง​โอเปรา​เรื่อง​ไอดา ทั้ง​เรื่อง​ได้​ด้วย​การ​จำ!

ความ​สามารถ​เช่น​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ทึ่ง. กระนั้น ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​มี​ศักยภาพ​ที่​จะ​จำ​ได้​มาก​กว่า​ที่​พวก​เขา​คิด​ด้วย​ซ้ำ. คุณ​อยาก​ปรับ​ปรุง​ความ​จำ​ให้​ดี​ขึ้น​ไหม?

วิธี​ปรับ​ปรุง​ความ​จำ

การ​จำ​มี​สาม​ขั้น​ตอน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​คือ การ​เข้า​รหัส, การ​เก็บ, และ​การ​กู้​ข้อมูล. สมอง​ของ​คุณ​จะ​แปลง​ข้อมูล​ที่​ได้​รับ​ให้​เป็น​รหัส​และ​บันทึก​ไว้. จาก​นั้น​ข้อมูล​ดัง​กล่าว​จะ​ถูก​เก็บ​ไว้​เพื่อ​กู้​ขึ้น​มา​ใช้​ใน​วัน​ข้าง​หน้า. การ​หลง​ลืม​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ขั้น​ตอน​ใด​ขั้น​ตอน​หนึ่ง​ใน​สาม​ขั้น​นี้​ล่ม.

ความ​จำ​แบ่ง​ออก​เป็น​หลาย​ชนิด มี​ทั้ง​ความ​จำ​จาก​ประสาท​สัมผัส, ความ​จำ​ระยะ​สั้น, และ​ความ​จำ​ระยะ​ยาว. ความ​จำ​จาก​ประสาท​สัมผัส​ได้​รับ​ข้อมูล​จาก​สิ่ง​เร้า​ผ่าน​ทาง​ประสาท​สัมผัส​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น การ​ดม​กลิ่น, การ​มอง​เห็น, และ​การ​จับ​ต้อง. ความ​จำ​ระยะ​สั้น หรือ​ที่​เรียก​กัน​ด้วย​ว่า​ความ​จำ​ปัจจุบัน จะ​เก็บ​ข้อมูล​ได้​เพียง​เล็ก​น้อย​และ​ใน​ช่วง​เวลา​สั้น ๆ. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​สามารถ​บวก​ตัว​เลข​ใน​สมอง, จำ​หมาย​เลข​โทรศัพท์​ได้​นาน​พอ​ที่​จะ​กด​โทรศัพท์​ได้, และ​จำ​ครึ่ง​แรก​ของ​ประโยค​ได้ ขณะ​ที่​ฟัง​หรือ​อ่าน​ครึ่ง​หลัง​ของ​ประโยค​นั้น. แต่​ดัง​ที่​เรา​ทุก​คน​ทราบ​กัน​ดี ความ​จำ​ระยะ​สั้น​มี​ขีด​จำกัด.

ถ้า​คุณ​อยาก​เก็บ​ข้อมูล​ไว้​ตลอด​ไป ข้อมูล​นั้น​ต้อง​ไป​เก็บ​ไว้​ที่​ความ​จำ​ระยะ​ยาว. คุณ​จะ​เก็บ​ไว้​ที่​นั่น​ได้​อย่าง​ไร? หลักการ​ต่อ​ไป​นี้​จะ​ช่วย​คุณ​ได้.

สนใจ สร้าง​ความ​สนใจ​ใน​เรื่อง​นั้น แล้ว​นึก​ถึง​เหตุ​ผล​ที่​คุณ​ควร​เรียน​รู้​เรื่อง​นั้น. ดัง​ที่​ประสบการณ์​ใน​ชีวิต​อาจ​จะ​บอก​คุณ​ว่า เมื่อ​เป็น​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อารมณ์​ความ​รู้สึก​แล้ว คุณ​จะ​จำ​เรื่อง​นั้น​ได้​ดี​กว่า. ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​อาจ​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ใหญ่​หลวง​สำหรับ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. เมื่อ​พวก​เขา​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​พร้อม​ด้วย​เป้าหมาย​สอง​อย่าง​คือ เพื่อ​จะ​ใกล้​ชิด​พระเจ้า​ให้​มาก​ขึ้น​และ​เพื่อ​สอน​คน​อื่น ๆ ให้​รู้​ถึง​เรื่อง​ราว​ของ​พระองค์ พวก​เขา​ก็​อาจ​จำ​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ ได้​มาก​ที​เดียว.—สุภาษิต 7:3; 2 ติโมเธียว 3:16.

เอา​ใจ​ใส่ หนังสือ​ความ​ลึกลับ​ของ​จิตใจ กล่าว​ว่า “จริง ๆ แล้ว ‘การ​หลง​ลืม’ ที่​เป็น​กัน​มาก​ที่​สุด​นั้น​เกิด​จาก​การ​ไม่​เอา​ใจ​ใส่.” อะไร​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ต่าง ๆ? จง​สนใจ และ​หาก​เป็น​ไป​ได้​ก็​ให้​จด​บันทึก. การ​จด​บันทึก​ไม่​เพียง​ช่วย​ให้​มี​สมาธิ แต่​ยัง​ช่วย​ให้​ผู้​ฟัง​สามารถ​ทบทวน​เรื่อง​นั้น​ได้​ใน​ภาย​หลัง.

เข้าใจ สุภาษิต 4:7 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “พร้อม​กับ​สรรพสิ่ง​ที่​เจ้า​ได้​มา จง​ได้​มา​ซึ่ง​ความ​เข้าใจ.” เมื่อ​คุณ​ไม่​เข้าใจ​คำ​สอน​หรือ​แนว​คิด​เรื่อง​หนึ่ง คุณ​ก็​คง​จำ​เรื่อง​นั้น​ไม่​ค่อย​ได้ หรือ​จำ​ไม่​ได้​เลย​ด้วย​ซ้ำ. ความ​เข้าใจ​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​มอง​เห็น​อย่าง​ทะลุ​ปรุโปร่ง​ว่า​ส่วน​ต่าง ๆ นั้น​มี​ความ​สัมพันธ์​กัน​อย่าง​ไร โดย​นำ​แต่​ละ​ส่วน​มา​ร้อย​เรียง​เข้า​ด้วย​กัน​จน​เป็น​แนว​คิด​ที่​สม​เหตุ​ผล. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​นัก​เรียน​ช่าง​กล​เข้าใจ​ว่า​เครื่อง​ยนต์​ทำ​งาน​อย่าง​ไร เขา​จะ​จำ​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​เครื่อง​ยนต์​นั้น​ได้​ดี​กว่า.

จัด​ระเบียบ​ความ​คิด จัด​แนว​คิด​ที่​คล้าย​กัน​หรือ​เกี่ยว​ข้อง​กัน​ไว้​เป็น​หมวด​หมู่. ตัว​อย่าง​เช่น รายการ​ซื้อ​ของ​จะ​จำ​ได้​ง่าย​ขึ้น​ถ้า​เรา​แยก​เป็น​ประเภท​ต่าง ๆ อย่าง​เช่น เนื้อ​สัตว์, ผัก, ผลไม้, และ​อื่น ๆ. นอก​จาก​นี้ ให้​แบ่ง​รายการ​นั้น​เป็น​ส่วน ๆ ส่วน​ละ​ไม่​เกิน​ห้า​ถึง​เจ็ด​อย่าง. โดย​ปกติ​แล้ว หมาย​เลข​โทรศัพท์​มัก​จะ​แบ่ง​เป็น​สาม​ส่วน เพื่อ​จะ​จำ​หมาย​เลข​เหล่า​นั้น​ได้​ง่าย​ขึ้น. สุด​ท้าย​แล้ว การ​เรียง​ลำดับ​อาจ​จะ​เป็น​ประโยชน์​ด้วย เช่น การ​เรียง​ลำดับ​ตาม​ตัว​อักษร.

ท่อง​จำ​หรือ​พูด​ออก​มา การ​พูด​สิ่ง​ที่​คุณ​ต้องการ​จด​จำ​ออก​มา​ดัง ๆ (ตัว​อย่าง​เช่น คำ​หรือ​วลี​ที่​เป็น​ภาษา​ต่าง​ประเทศ) จะ​ทำ​ให้​จุด​เชื่อม​ต่อ​ใน​ระบบ​ประสาท​แข็งแรง​ขึ้น. เป็น​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? ประการ​แรก การ​พูด​คำ​นั้น​ทำ​ให้​คุณ​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​จริง ๆ. ประการ​ที่​สอง ครู​ของ​คุณ​อาจ​โต้​ตอบ​กลับ​มา​หรือ​แก้ไข​คุณ​ได้​ทันที. และ​ประการ​ที่​สาม การ​ฟัง แม้​กระทั่ง​เสียง​ของ​ตัว​คุณ​เอง​นั้น​จะ​ทำ​ให้​ส่วน​อื่น ๆ ของ​สมอง​ต้อง​ทำ​งาน​ด้วย.

สร้าง​จินตนาการ จง​สร้าง​ภาพ​ใน​ใจ​เมื่อ​คุณ​ต้องการ​จำ​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม. นอก​จาก​นี้ การ​วาด​ภาพ​หรือ​เขียน​แผนภูมิ​ลง​ใน​กระดาษ​ยัง​อาจ​ช่วย​คุณ​ได้​ด้วย. เช่น​เดียว​กับ​การ​พูด​ออก​มา การ​สร้าง​จินตนาการ​ทำ​ให้​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​สมอง​ได้​ใช้​งาน. ยิ่ง​คุณ​ใช้​ประสาท​สัมผัส​มาก​เท่า​ไร ข้อมูล​ก็​จะ​ยิ่ง​ถูก​ฝัง​แน่น​ขึ้น​เท่า​นั้น.

เชื่อม​โยง​กัน เมื่อ​คุณ​เรียน​รู้​สิ่ง​ใหม่ ให้​เชื่อม​โยง​สิ่ง​นั้น​เข้า​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​รู้​อยู่​แล้ว. การ​เชื่อม​โยง​ความ​คิด​เข้า​กับ​เรื่อง​ที่​บันทึก​ไว้​ใน​คลัง​สมอง​แล้ว ทำ​ให้​การ​เข้า​รหัส​และ​การ​กู้​ข้อมูล​ทำ​ได้​ง่าย​ขึ้น การ​ที่​ได้​เชื่อม​โยง​ข้อมูล​นี้​จึง​ช่วย​ใน​การ​กู้​ข้อมูล​คืน​มา. ตัว​อย่าง​เช่น เพื่อ​จะ​จำ​ชื่อ​ของ​ใคร​คน​หนึ่ง ให้​เชื่อม​โยง​ชื่อ​นั้น​เข้า​กับ​ลักษณะ​รูป​ร่าง​หน้า​ตา​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เขา​ต่าง​ไป​จาก​คน​อื่น ๆ หรือ​อะไร​ก็​ได้​ที่​จะ​ช่วย​ให้​คุณ​นึก​ชื่อ​เขา​ออก. ยิ่ง​เชื่อม​โยง​กับ​อะไร​ที่​ขำ ๆ หรือ​ประหลาด ๆ ก็​จะ​ยิ่ง​ทำ​ให้​นึก​ออก​ได้​ง่าย​ขึ้น. พูด​ง่าย ๆ คือ เรา​ต้อง​พยายาม​คิด​ถึง​คน​และ​สิ่ง​ของ​ที่​เรา​อยาก​จะ​จำ​ให้​มาก​ขึ้น.

หนังสือ​การ​แสวง​หา​ความ​จำ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ถ้า​เรา​ใช้​ชีวิต​อยู่​ไป​วัน ๆ เหมือน​กับ​เป็น​เครื่องจักร และ​ไม่​ได้​คิด​ใคร่ครวญ​ถึง​เรื่อง​สภาพ​แวด​ล้อม​หรือ​ประสบการณ์​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต เรา​ก็​อาจ​จะ​เสีย​เปรียบ​เพราะ​เรา​เก็บ​ความ​จำ​ได้​เพียง​คร่าว ๆ ว่า​เรา​ไป​ไหน​มา และ​เรา​ทำ​อะไร​ไป​แล้ว​บ้าง.”

ประมวล​เข้า​ด้วย​กัน ให้​เวลา​ประมวล​และ​ซึมซับ​ข้อมูล​ที่​ได้​รับ. วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​ก็​คือ ทบทวน​สิ่ง​ที่​คุณ​เรียน​ไป​แล้ว บาง​ที​คุณ​อาจ​จะ​พูด​ให้​ใคร ๆ ฟัง​อีก​ก็​ได้. ถ้า​คุณ​มี​ประสบการณ์​ที่​น่า​สนใจ​และ​อ่าน​อะไร ๆ ที่​เสริม​สร้าง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​ใน​หนังสือ​อธิบาย​พระ​คัมภีร์ ให้​เล่า​เรื่อง​นั้น​ให้​คน​อื่น​ฟัง. โดย​วิธี​นี้​คุณ​ทั้ง​สอง​ก็​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์ คือ​คุณ​จะ​จำ​ได้​แม่น​ขึ้น​และ​เพื่อน​ของ​คุณ​ก็​จะ​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ. ด้วย​เหตุ​นี้​เอง การ​กล่าว​ซ้ำ​ข้อมูล​จึง​เป็น​วิธี​ช่วย​จำ​วิธี​หนึ่ง​ที่​รู้​จัก​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย.

เทคนิค​ช่วย​จำ—เครื่อง​มือ​ที่​มี​ประโยชน์

ใน​กรีซ​และ​โรม​ยุค​โบราณ นัก​พูด​สามารถ​ถ่ายทอด​เรื่อง​ราว​ที่​เขา​พูด​ออก​มา​ยาว​เหยียด​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ดู​บันทึก​สัก​ตัว​เดียว. พวก​เขา​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? พวก​เขา​ใช้​เทคนิค​ช่วย​จำ (mnemonics). เทคนิค​นี้​เป็น​กลยุทธ์​หรือ​เครื่อง​มือ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ช่วย​ให้​เรา​เก็บ​ข้อมูล​ไว้​ใน​ความ​จำ​ระยะ​ยาว และ​ดึง​ออก​มา​ใช้​ได้​ใน​ยาม​ที่​ต้องการ.

เทคนิค​ช่วย​จำ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​นัก​พูด​ชาว​กรีก​ใน​ยุค​โบราณ​ใช้​ก็​คือ วิธี​โลไซ (loci) หรือ​การ​กำหนด​ตำแหน่ง​ช่วย​จำ. กวี​ชาว​กรีก​ชื่อ​ซีมอนิดีส​แห่ง​ซีออส ได้​อธิบาย​ถึง​วิธี​การ​ดัง​กล่าว​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 477 ก่อน​สากล​ศักราช. เทคนิค​การ​จำ​แบบ​นี้​เป็น​การ​นำ​หลัก​ของ​การ​จัด​ระเบียบ​ความ​คิด, การ​สร้าง​จินตนาการ, และ​การ​เชื่อม​โยง​สิ่ง​ที่​คุ้น​เคย​อยู่​แล้ว​มา​รวม​เข้า​ด้วย​กัน อย่าง​เช่น ที่​ที่​เป็น​จุด​สังเกต​บน​ถนน หรือ​วัตถุ​สิ่ง​ของ​ที่​วาง​อยู่​ใน​ห้อง​หรือ​ใน​บ้าน​ของ​เขา. คน​ที่​ใช้​วิธี​กำหนด​ตำแหน่ง​ช่วย​จำ​จะ​นึก​ภาพ​ใน​ใจ​ว่า​เขา​กำลัง​เดิน​ไป​ไหน​สัก​แห่ง แล้ว​เชื่อม​โยง​ข้อมูล​แต่​ละ​ส่วน​ที่​เขา​ต้องการ​จด​จำ​เข้า​กับ​สิ่ง​ที่​เป็น​จุด​สังเกต​หรือ​วัตถุ​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ ที่​เขา​จะ​เจอ​เมื่อ​เดิน​ไป. เมื่อ​เขา​ต้องการ​ดึง​ข้อมูล​นั้น​มา​ใช้ เขา​ก็​นึก​ภาพ​การ​เดิน​นั้น​ใน​ใจ​อีก.—ดู​กรอบ “เดิน​ใน​จินตนาการ.”

การ​ศึกษา​วิจัย​ที่​ทำ​กับ​ผู้​ที่​ได้​คะแนน​อันดับ​ต้น ๆ ใน​การ​แข่งขัน​ชิง​แชมป์​ความ​จำ​ระดับ​โลก ที่​จัด​ขึ้น​เป็น​ประจำ​ทุก​ปี​พบ​ว่า ความ​จำ​ที่​ดี​เยี่ยม​กว่า​ของ​พวก​เขา​ไม่​ได้​เป็น​เพราะ​พวก​เขา​มี​สติ​ปัญญา​ล้ำ​เลิศ​กว่า​คน​อื่น. นอก​จาก​นี้ ผู้​เข้า​ร่วม​ใน​การ​แข่งขัน​ส่วน​ใหญ่​มี​อายุ​ระหว่าง 40-50 ปี. เคล็ดลับ​ของ​พวก​เขา​คือ​อะไร? หลาย​คน​เชื่อ​ว่า ทักษะ​ของ​พวก​เขา​เกิด​จาก​การ​ใช้​เทคนิค​ช่วย​จำ (mnemonics) อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ.

คุณ​จำเป็น​ต้อง​จำ​คำ​หลาย ๆ คำ​ไหม? การ​ใช้​คำ​หรือ​วลี​ช่วย​จำ​ที่​ใช้​การ​ได้​ดี​ที​เดียว​สำหรับ​กรณี​นี้​คือ แอครอนิม (acronym) หรือ​คำ​ย่อ ซึ่ง​ก็​คือ​การ​นำ​ตัว​อักษร​ตัว​แรก​หรือ​ตัว​อักษร​ที่​อยู่​ใน​กลุ่ม​คำ​มา​ประกอบ​กัน​เป็น​คำ​ใหม่. ชาว​อเมริกา​เหนือ​หลาย​คน​จำ​ชื่อ​ทะเลสาบ​เกรตเลกส์​ทั้ง​ห้า​แห่ง​คือ​ฮู​รอน, ออนแทรีโอ, มิชิแกน, อีรี, และ​ซู​พีเรีย​ได้​โดย​ใช้​คำ​ย่อ​ว่า “HOMES” (โฮมส์). เครื่อง​ช่วย​จำ​ที่​คล้าย​กัน​กับ​วิธี​นี้​คือ อะครอสติก (acrostic) หรือ​โคลง​กระทู้ ซึ่ง​ชาว​ฮีบรู​โบราณ​ใช้​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​บทเพลง​สรรเสริญ​หลาย​บท คำ​แรก​ของ​แต่​ละ​บาท​หรือ​หลาย ๆ บาท​เริ่ม​ด้วย​อักษร​ฮีบรู​ที่​เรียง​ไป​ตาม​ลำดับ​ตัว​อักษร. (โปรด​ดู​บทเพลง​สรรเสริญ 25, 34, 37, 111, 112, และ 119.) เครื่อง​ช่วย​จำ​ที่​เป็น​ประโยชน์​นี้​ช่วย​ให้​นัก​ร้อง​ใน​สมัย​นั้น​สามารถ​จำ​บทเพลง​สรรเสริญ​บท 119 ที่​มี​ถึง 176 บาท​ได้​ทั้ง​หมด!

ใช่​แล้ว คุณ​สามารถ ฝึกฝน​และ​ปรับ​ปรุง​ความ​จำ​ของ​คุณ​ได้. ดัง​ที่​การ​ศึกษา​วิจัย​แสดง​ให้​เห็น ความ​จำ​ของ​เรา​คล้าย​กัน​มาก​กับ​กล้ามเนื้อ. ยิ่ง​เรา​ใช้​มาก ความ​จำ​ก็​ยิ่ง​ดี​ขึ้น แม้​ว่า​จะ​อยู่​ใน​วัย​ชรา​แล้ว​ก็​ตาม.

[กรอบ​หน้า 27]

ข้อ​แนะ​เพิ่ม​เติม

▪ กระตุ้น​ความ​จำ​ของ​คุณ​โดย​เรียน​รู้​ทักษะ​ใหม่, ภาษา​ใหม่, หรือ​ฝึก​เล่น​เครื่อง​ดนตรี.

▪ มุ่ง​ความ​สนใจ​ไป​ยัง​จุด​ที่​สำคัญ​ที่​สุด.

▪ เรียน​รู้​เทคนิค​ช่วย​จำ (mnemonics).

▪ ดื่ม​น้ำ​ให้​เพียง​พอ. การ​ขาด​น้ำ​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​จิตใจ​สับสน.

▪ นอน​หลับ​ให้​เพียง​พอ. ระหว่าง​ที่​นอน​หลับ​สมอง​จะ​เก็บ​เรื่อง​ต่าง ๆ ไว้​ใน​ความ​ทรง​จำ.

▪ ทำ​ตัว​ให้​ผ่อน​คลาย​ขณะ​ศึกษา. ความ​เครียด​กระตุ้น​ให้​ร่าง​กาย​หลั่ง​ฮอร์โมน​คอร์ติซอล​ออก​มา ซึ่ง​อาจ​ไป​ขัด​ขวาง​การ​ทำ​งาน​ของ​ระบบ​ประสาท​ได้.

▪ หลีก​เลี่ยง​การ​ใช้​เครื่อง​ดื่ม​ประเภท​แอลกอฮอล์​มาก​เกิน​ไป​และ​การ​สูบ​บุหรี่. แอลกอฮอล์​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ความ​จำ​ระยะ​สั้น และ​โรค​พิษ​สุรา​เรื้อรัง​ก็​อาจ​ทำ​ให้​ขาด​ไท​อา​มีน วิตามิน​บี​ชนิด​หนึ่ง​ที่​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​การ​มี​ความ​จำ​ที่​แม่นยำ. การ​สูบ​บุหรี่​ทำ​ให้​ออกซิเจน​ใน​สมอง​ลด​ลง. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 36 อาศัย​ข้อมูล​ใน​วารสาร​รูป​แบบ​อิเล็กทรอนิกส์​ชื่อ​สมอง​และ​จิตใจ (ภาษา​อังกฤษ).

[กรอบ/ภาพ​หน้า 28, 29]

เดิน​ใน​จินตนาการ

คุณ​จะ​จำ​รายการ​จ่าย​กับ​ข้าว​ที่​มี​หลาย​รายการ​อย่าง​เช่น ขนมปัง, ไข่, นม, และ​เนย​ได้​อย่าง​ไร? โดย​ใช้​วิธี​กำหนด​ตำแหน่ง​ช่วย​จำ คุณ​อาจ “นึก​ภาพ” ของ​เหล่า​นั้น​เมื่อ​คุณ​สร้าง​จินตนาการ​ว่า​คุณ​กำลัง​เดิน​อยู่​ใน​ห้อง​นั่ง​เล่น.

นึก​ภาพ​ขนมปัง​นุ่ม ๆ เป็น​เบาะ​ของ​เก้าอี้

ไข่​กำลัง​ถูก​ฟัก​อยู่​ใต้​โคม​ไฟ

ปลา​ทอง​กำลัง​แหวก​ว่าย​ใน​ถัง​นม

เนย​ที่​ถูก​ละเลง​ไป​ทั่ว​หน้า​จอ​ทีวี

ยิ่ง​ขำ ๆ หรือ​ยิ่ง​ประหลาด ก็​ยิ่ง​ดี! เมื่อ​คุณ​ไป​ที่​ร้าน ก็​ให้​คุณ​ย้อน​คิด​ถึง​ภาพ​ที่​คุณ​จินตนาการ​ไว้.

[กรอบ​หน้า 29]

จง​ดีใจ​ที่​คุณ​ลืม​ได้!

ลอง​นึก​ภาพ​ดู​สิ​ว่า​ชีวิต​คุณ​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ถ้า​คุณ​จำ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​ได้ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เรื่อง​ใหญ่​หรือ​เรื่อง​เล็ก​ก็​ตาม. สมอง​ของ​คุณ​คง​จะ​มี​เรื่อง​ยุ่งเหยิง​เต็ม​ไป​หมด​มิ​ใช่​หรือ? วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ว่า ที่​จริง ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​สามารถ​จด​จำ​เรื่อง​ราว​แทบ​ทุก​เรื่อง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ชีวิต​ของ​เธอ​ได้​อย่าง​แม่นยำ ได้ “พรรณนา​ถึง​ความ​ทรง​จำ​ที่​ผุด​ขึ้น​มา​อยู่​เรื่อย ๆ ว่า ‘มัน​หยุด​ไม่​ได้, ควบคุม​ไม่​ได้, ทำ​ให้​รู้สึก​หมด​เรี่ยว​หมด​แรง’ และ​เป็น ‘ภาระ.’” น่า​ยินดี​ที่​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​ไม่​มี​ปัญหา​ดัง​กล่าว​เนื่อง​จาก​เหล่า​นัก​วิจัย​เชื่อ​ว่า สมอง​ของ​เรา​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​ขจัด​ข้อมูล​ที่​ไม่​สลัก​สำคัญ​หรือ​ข้อมูล​เก่า ๆ ออก​ไป​ได้. วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ว่า “การ​ลืม​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​คือ​ส่วน​ที่​สำคัญ​มาก​ของ​ความ​ทรง​จำ​ที่​ทำ​งาน​ได้​อย่าง​เต็ม​ที่. เมื่อ​เรา​ลืม​อะไร​บาง​สิ่ง​ที่​เป็น​ประโยชน์ . . . นี่​ก็​เพียง​แต่​แสดง​ว่า​ระบบ​ตัด​ข้อมูล​ทำ​งาน​ดี​ไป​หน่อย.”