ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ใครมาช่วยเมื่อคุณขอความช่วยเหลือ?

ใครมาช่วยเมื่อคุณขอความช่วยเหลือ?

ใคร​มา​ช่วย​เมื่อ​คุณ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ?

เพียง​กด​สวิตช์ แสง​วาบ​จาก​แผง​ไฟ​ฉุกเฉิน​บน​รถ​พยาบาล​ของ​เรา​ก็​เริ่ม​สาด​ส่อง​สะท้อน​กับ​ผิว​ยาน​พาหนะ​และ​อาคาร​ต่าง ๆ. เสียง​ไซเรน​ที่​ดัง​โหยหวน​ส่ง​ผล​ให้​รถ​และ​ผู้​คน​ที่​สัญจร​ไป​มา​หยุด​ชะงัก ทำ​ให้​เรา​สามารถ​แซง​หลีก​รถ​คัน​อื่น ๆ ไป​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย​เพื่อ​ไป​ช่วย​คน​ที่​แจ้ง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ.

มาก​กว่า 20 ปี​มา​แล้ว ที่​ผม​ทำ​งาน​ใน​ฐานะ​เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​หรือ​เวชกร​ฉุกเฉิน ให้​การ​รักษา​ฉุกเฉิน​ก่อน​ถึง​โรง​พยาบาล​แก่​ผู้​ป่วย​หรือ​ผู้​บาดเจ็บ. * ช่วง​เวลา​ทำ​งาน​แต่​ละ​ครั้ง​เปรียบ​เหมือน​กับ​การ​นำ​เรือ​เข้า​ไป​ใน​น่าน​น้ำ​ที่​ไม่​มี​แผนที่​เดิน​เรือ. สถานการณ์​ต่าง ๆ ที่​ผม​เคย​ประสบ​มี​หลาก​หลาย​ตั้ง​แต่​ธรรมดา ๆ ไป​จน​ถึง​ไม่​ธรรมดา​มาก ๆ และ​ผล​ที่​เกิด​ขึ้น​ก็​มี​ตั้ง​แต่​จบ​ลง​ด้วย​ความ​สุข​อยู่​หลาย​ครั้ง​หลาย​ครา​ไป​จน​ถึง​ความ​เศร้า​สลด​สุด​พรรณนา.

ผล​กระทบ​ต่อ​ชุมชน

เวชกร​ฉุกเฉิน​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​ระบบ​การ​รักษา​พยาบาล​ของ​ประเทศ​แคนาดา. การ​ให้​การ​รักษา​อย่าง​มี​ความ​รู้​ความ​สามารถ​ก่อน​ถึง​โรง​พยาบาล​สามารถ​ช่วย​รักษา​ชีวิต หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​ลด​ความ​รุนแรง​ที่​เกิด​จาก​อุบัติเหตุ​และ​ความ​เจ็บ​ป่วย​บาง​อย่าง​ลง​ได้. *

ใน​หลาย ๆ พื้น​ที่ มี​เวชกร​ฉุกเฉิน​อยู่​พร้อม​ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน. พวก​เขา​อาจ​เป็น​บุคลากร​ของ​หน่วย​งาน​บริการ​การ​แพทย์​ฉุกเฉิน​ภาย​ใต้​การ​ดำเนิน​งาน​ของ​องค์การ​บริหาร​ส่วน​ท้องถิ่น ศูนย์​กู้​ชีพ​เอกชน หรือ​โรง​พยาบาล. บาง​คน​ทำ​งาน​กับ​หน่วย​บริการ​รถ​พยาบาล​ฉุกเฉิน​หรือ​ไม่​ก็​หน่วย​ดับ​เพลิง.

ชาย​หญิง​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​มา​เป็น​พิเศษ​เหล่า​นี้​พร้อม​จะ​ออก​ปฏิบัติการ​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​วินาที​หลัง​จาก​ได้​รับ​แจ้ง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ฉุกเฉิน​มา ซึ่ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ทุก​เมื่อ ไม่​มี​การ​เตือน​ล่วง​หน้า. ขอ​ให้​เรา​ดู​กัน​ว่า​เวชกร​ฉุกเฉิน​ถูก​ฝึก​อบรม​มา​ให้​ทำ​อะไร​บ้าง.

ฝึก​อบรม​เพื่อ​ช่วย​ชีวิต

ถึง​แม้​การ​ฝึก​อบรม​เวชกร​ฉุกเฉิน​และ​ชื่อ​ที่​ใช้​เรียก​พวก​เขา​อาจ​ต่าง​กัน​ไป​ใน​แต่​ละ​มณฑล​ของ​แคนาดา แต่​โดย​ทั่ว​ไป​ก็​แบ่ง​ออก​ได้​เป็น​สี่​ระดับ คือ เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​ด่าน​หน้า เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​ขั้น​ต้น เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​ขั้น​สูง และ​เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​ขั้น​วิกฤติ. รัฐบาล​และ​องค์กร​รัฐ​ที่​ควบคุม​การ​ประกอบ​วิชา​ชีพ​ด้าน​การ​แพทย์​ของ​มณฑล​ต่าง ๆ กำหนด​ให้​ผู้​ปฏิบัติ​งาน​ฐานะ​เวชกร​ฉุกเฉิน​ต้อง​มี​ประกาศนียบัตร​รับรอง​คุณวุฒิ.

ใน​กรณี​ของ​ผม​เอง​ใน​แคนาดา​นี้ การ​ฝึก​อบรม​ขั้น​ต้น​หมาย​ถึง​การ​เรียน​รู้​หลาย​ชั่วโมง​ภาย​ใน​ชั้น​เรียน ใน​โรง​พยาบาล และ​รถ​พยาบาล​ฉุกเฉิน. เรา​เรียน​วิธี​วัด​สัญญาณ​ชีพ วิธี​ใช้​อุปกรณ์​ให้​ออกซิเจน​และ​อุปกรณ์​ช่วย​หายใจ วิธี​นวด​หัวใจ​ผาย​ปอด รวม​ไป​ถึง​วิธี​ใช้​ผ้า​พัน​แผล อุปกรณ์​ยึด​ดาม และ​ชุด​แผ่น​กระดาน​รอง​หลัง.

การ​ฝึก​อบรม​ที่​มี​คุณค่า​มาก​อีก 300 ชั่วโมง​ต่อ​มา คือ​การ​ฝึก​อบรม​ทาง​คลินิก​ใน​ห้อง​ฉุกเฉิน ไอซียู และ​ห้อง​คลอด​ของ​โรง​พยาบาล​ต่าง ๆ. การ​ช่วย​ทำ​คลอด​ราย​แรก​ของ​ผม​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​จด​จำ​อย่าง​ยิ่ง เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​น่า​อัศจรรย์​จริง ๆ! เหตุ​การณ์​นี้​และ​เหตุ​การณ์​อื่น ๆ ที่​ประสบ​ช่วย​เตรียม​ผม​ให้​พร้อม​ก้าว​สู่​การ​ฝึก​อบรม​ขั้น​ถัด​มา คือ​การ​ออก​ปฏิบัติการ​จริง​มาก​กว่า 300 ชั่วโมง​พร้อม​กับ​รถ​พยาบาล​ฉุกเฉิน​ภาย​ใต้​คำ​แนะ​นำ​และ​การ​ช่วยเหลือ​ของ​เวชกร​ฉุกเฉิน​ที่​มี​ประสบการณ์​สอง​คน. หลัง​จาก​ผ่าน​การ​สอบ​ข้อ​เขียน​และ​การ​สอบ​ภาค​ปฏิบัติ ผม​ก็​ได้​รับ​ใบ​รับรอง​ว่า​ผ่าน​การ​ฝึก​อบรม​เป็น​ผู้​ช่วย​เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ ซึ่ง​ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​เป็น​เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​ขั้น​ต้น.

เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ที่​ผม​ปฏิบัติ​งาน​ทั้ง​ใน​เมือง​และ​ชนบท. ผม​เรียน​รู้​ใน​เวลา​ไม่​นาน​ว่า​ทักษะ​ใหม่​ของ​ผม​ใน​การ​ช่วย​ชีวิต​มี​ค่า​มาก​เมื่อ​คน​งาน​ก่อ​สร้าง​คน​หนึ่ง​ที่​เจ็บ​หน้า​อก​เดิน​เข้า​มา​ใน​แผนก​ฉุกเฉิน​ของ​โรง​พยาบาล. ไม่​นาน​หลัง​จาก​มา​ถึง หัวใจ​ของ​เขา​ก็​หยุด​เต้น. ผม​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​แพทย์​และ​พยาบาล​ที่​ทำ​การ​นวด​หัวใจ​ผาย​ปอด ช็อก​ไฟฟ้า​หัวใจ และ​ให้​ยา​แก่​เขา. หลัง​จาก​นั้น​ไม่​กี่​นาที หัวใจ​ของ​ผู้​ป่วย​ก็​กลับ​มา​เต้น​เป็น​ปกติ​และ​เขา​เริ่ม​หายใจ​ได้​ด้วย​ตัว​เอง. ผู้​ป่วย​ถูก​ย้าย​ไป​ที่​หอ​ผู้​ป่วย​วิกฤติ (ซีซียู) หลัง​จาก​นั้น. วัน​ต่อ​มา ผม​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ที่​ซีซียู แพทย์​แนะ​นำ​ตัว​ผม​แก่​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​นั่ง​คุย​อยู่​กับ​ภรรยา​บน​เตียง. ผม​จำ​เขา​ไม่​ได้​จน​เมื่อ​เขา​พูด​ขึ้น​มา​ว่า “จำ​ผม​ได้​ไหม? คุณ​ช่วย​ชีวิต​ผม​ไว้​เมื่อ​วาน​นี้​ไง!” นั่น​ก่อ​ความ​รู้สึก​ที่​วิเศษ​จริง ๆ.

การ​ฝึก​อบรม​ขั้น​สุด​ท้าย​ของ​ผม​คือ การ​ทำ​งาน​ใกล้​ชิด​ร่วม​กับ​แพทย์​ที่​อยู่​กับ​ผม​ตลอด​กะ​งาน 12 ชั่วโมง​เพื่อ​คอย​เฝ้า​ดู​ผม​รักษา​ผู้​เจ็บ​ป่วย. ใน​ที่​สุด ผม​ก็​ผ่าน​การ​สอบ​ข้อ​เขียน​และ​การ​สอบ​ภาค​ปฏิบัติ และ​ได้​ใบ​รับรอง​ให้​ปฏิบัติ​งาน​เป็น​เจ้าหน้าที่​กู้​ชีพ​ขั้น​สูง.

เวชกร​ฉุกเฉิน​ปฏิบัติการ​โดย​รับ​การ​มอบหมาย​จาก​แพทย์​ที่​กำกับ​ดู​แล​ซึ่ง​ปกติ​จะ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​คณะ​กรรมการ​แพทย์​ที่​ปรึกษา​เพื่อ​จัด​ทำ​แผนภูมิ​หรือ​แนว​ทาง​ปฏิบัติ​ใน​การ​รักษา​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร​ไว้. การ​รักษา​ที่​เวชกร​ฉุกเฉิน​กระทำ​นั้น​จะ​ดำเนิน​ตาม​แนว​ทาง​ที่​กำหนด​ไว้​ใน​เอกสาร​เหล่า​นี้ หรือ​ไม่​ก็​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​ที่​ได้​รับ​โดย​ตรง​จาก​แพทย์​ผ่าน​ทาง​โทรศัพท์​หรือ​วิทยุ​สื่อสาร. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​มี​การ​กล่าว​ถึง​เวชกร​ฉุกเฉิน​ว่า​เป็น​ตา หู และ​มือ​ให้​กับ​แพทย์. การ​รักษา​ที่​ให้​ใน​บ้าน​ส่วน​ตัว ใน​อาคาร​สาธารณะ หรือ​ใน​ท้องถนน​ที่​เกิด​อุบัติเหตุ อาจ​มี​ตั้ง​แต่​การ​ให้​ออกซิเจน ให้​ยา และ​ช็อก​ไฟฟ้า​หัวใจ ไป​จน​ถึง​การ​ใส่​ท่อ​ช่วย​หายใจ​และ​การ​ผ่าตัด​เล็ก.—ดู​กรอบ “ ทักษะ​ทาง​การ​แพทย์​ของ​เวชกร​ฉุกเฉิน” หน้า 15

การ​เสี่ยง​อันตราย​และ​ความ​ยาก​ลำบาก

การ​เสี่ยง​อันตราย​และ​ความ​ยาก​ลำบาก​เป็น​ลักษณะ​ของ​งาน​ที่​เวชกร​ฉุกเฉิน​ประสบ​อยู่​ทุก​วัน​เป็น​ประจำ. มี​การ​ปฏิบัติ​งาน​ใน​ทุก​สภาพ​อากาศ และ​บาง​ครั้ง​ใน​สถาน​ที่​หรือ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ไม่​ปลอด​ภัย. แม้​แต่​การ​ขับ​รถ​ไป​ช่วย​ผู้​ที่​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​มา​ก็​อาจ​เกิด​อันตราย​ได้.

โอกาส​สัมผัส​เลือด สาร​คัด​หลั่ง และ​ติด​โรค ก็​เป็น​ความ​เสี่ยง​ที่​มี​อยู่​เป็น​ประจำ. เพื่อ​ป้องกัน​ตัว​เอง เรา​จะ​สวม​อุปกรณ์​ป้องกัน เช่น ถุง​มือ หน้ากาก​ปิด​จมูก แว่น​ครอบ​ตา​หรือ​กะบังหน้า​นิรภัย เสื้อ​กาวน์​หรือ​เสื้อ​คลุม​พิเศษ ตาม​ความ​จำเป็น.

การ​ดู​แล​ผู้​เจ็บ​ป่วย​รวม​ไป​ถึง​การ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สมาชิก​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ ของ​พวก​เขา แม้​แต่​คน​ที่​ไม่​รู้​ว่า​เป็น​ใคร ซึ่ง​ปฏิกิริยา​ทาง​อารมณ์​ของ​คน​เหล่า​นี้​อาจ​รุนแรง​มาก​หรือ​แปร​เปลี่ยน​อย่าง​กะทันหัน​จน​สุด​จะ​คาด​เดา​ได้. การ​ที่​สามี​ภรรยา​ซึ่ง​อยู่​ด้วย​กัน​มา​หลาย​สิบ​ปี​ต้อง​พราก​จาก​กัน​ไป​เพราะ​ความ​ตาย​นั้น​เป็น​เรื่อง​น่า​เศร้า​จริง ๆ. ไม่​ง่าย​เลย​ที่​จะ​แจ้ง​ข่าว​การ​ตาย​แก่​ฝ่าย​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่. มี​อยู่​ครั้ง​หนึ่ง ผม​แจ้ง​แก่​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ว่า​สามี​ของ​เธอ​ได้​เสีย​ชีวิต​แล้ว. เธอ​แสดง​ปฏิกิริยา​ด้วย​การ​ชก​ผม แล้ว​วิ่ง​ออก​จาก​บ้าน​ไป​ที่​ถนน​พร้อม​กับ​กรีด​ร้อง​ออก​มา​และ​ร้องไห้. ผม​ตาม​เธอ​ไป​ทัน เธอ​หัน​หน้า​กลับ​มา​ฉวย​ตัว​ผม​ไว้ กอด​ผม แล้ว​ซบ​ไหล่​ผม​ร่ำไห้​สะอึกสะอื้น.

การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​ที่​จิตใจ​ถูก​กระทบ​กระเทือน​หรือ​อยู่​ใต้​ฤทธิ์​ของ​แอลกอฮอล์​หรือ​ยา​ต้อง​อาศัย​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ การ​รู้​จัก​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา และ​ความ​กรุณา​สงสาร. ปฏิกิริยา​ของ​คน​ที่​อยู่​ใน​ภาวะ​เช่น​นั้น​สุด​ที่​จะ​คาด​เดา​ได้. ใน​ช่วง​ที่​ผม​ปฏิบัติ​งาน เคย​ทั้ง​ถูก​กัด ถูก​ถ่ม​น้ำลาย​รด และ​ถูก​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​ด้วย​วิธี​ต่าง ๆ จาก​ผู้​ป่วย​ที่​ควบคุม​ตัว​เอง​ไม่​ได้.

การ​ทำ​งาน​นี้​อาศัย​ความ​แข็งแรง​ของ​ร่าง​กาย​ด้วย จะ​ต้อง​ยก​ของ​หนัก ๆ อยู่​เป็น​ประจำ และ​บาง​ครั้ง​ใน​ท่า​ทาง​ที่​ไม่​สะดวก. มี​การ​คุกเข่า​และ​ก้ม​ตัว​เป็น​เวลา​นาน ๆ เพื่อ​ดู​แล​ผู้​ป่วย. การ​บาดเจ็บ​เนื่อง​จาก​งาน​เป็น​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​จริง​กับ​พวก​เรา. การ​บาดเจ็บ​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​หลัง หัว​ไหล่ และ​หัวเข่า พบ​ได้​บ่อย​มาก​ที่​สุด. การ​บาดเจ็บ​บาง​อย่าง​รุนแรง​ถึง​ขั้น​ไม่​สามารถ​จะ​ทำ​งาน​นี้​ได้​อีก​ต่อ​ไป. การ​ที่​ต้อง​ทำ​งาน​เข้า​เวร​เป็น​กะ​ก็​อาจ​ทำ​ให้​หมด​เรี่ยว​แรง​ได้​เช่น​กัน.

การ​ดู​แล​รักษา​ผู้​ที่​เจ็บ​ป่วย​หรือ​บาดเจ็บ​หนัก​ถึง​ขั้น​อันตราย​แก่​ชีวิต​นั้น​ก่อ​ความ​เครียด​ต่อ​สภาพ​จิตใจ​และ​อารมณ์. เวชกร​ฉุกเฉิน​ต้อง​ควบคุม​สติ ใช้​ดุลยพินิจ​ที่​ดี และ​ทำ​การ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​สม​เหตุ​สม​ผล​ใน​สถานการณ์​ที่​บีบคั้น. เวชกร​ฉุกเฉิน​เป็น​ประจักษ์​พยาน​รู้​เห็น​ถึง​ความ​ทุกข์​สาหัส​และ​เหตุ​การณ์​น่า​เศร้า​สลด​ที่​มนุษย์​ประสบ. พวก​เขา​พบ​เห็น​และ​ช่วยเหลือ​ผู้​คน​ที่​บาดเจ็บ​อย่าง​น่า​สยดสยอง​อยู่​บ่อย ๆ. ภาพ​ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ที่​ประสบ​อุบัติเหตุ​ใน​งาน​อุตสาหกรรม​จน​ร่าง​แหลก​ยัง​แจ่ม​ชัด​อยู่​ใน​ความ​ทรง​จำ​ของ​ผม. ขณะ​ที่​ส่วน​ตั้ง​แต่​ใต้​อก​ของ​เขา​ลง​ไป​แหลก​จน​แทบ​จำ​สภาพ​เดิม​ไม่​ได้ เขา​วิงวอน​ขอ​ต่อ​ผม​และ​คู่​ปฏิบัติ​งาน​ของ​ผม​ว่า​อย่า​ปล่อย​ให้​เขา​ตาย. น่า​เศร้า ทั้ง​ที่​เรา​ร่วม​กับ​ทีม​แพทย์​และ​พยาบาล​พยายาม​ช่วย​อย่าง​สุด​ความ​สามารถ เขา​เสีย​ชีวิต​ใน​อีก​ไม่​ถึง​ชั่วโมง​ต่อ​มา.

บาง​เหตุ​การณ์​ก่อ​ความ​รู้สึก​สะเทือน​อารมณ์​อย่าง​ยิ่ง. เรา​ได้​รับ​คำ​ขอ​ให้​ไป​ยัง​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​ที่​เกิด​เพลิง​ไหม้​ใน​ช่วง​เช้า​ตรู่. สามี​เพิ่ง​กลับ​จาก​ที่​ทำ​งาน​ถึง​บ้าน ขณะ​ที่​ภรรยา​พร้อม​กับ​ลูก​สาว​วัย​สาม​ขวบ​กำลัง​หนี​ออก​จาก​บ้าน​ที่​ไฟ​ลุก​ไหม้. ลูก ๆ อีก​สาม​คน​อายุ​สี่​เดือน​ถึง​ห้า​ขวบ​รวม​ถึง​คุณ​ตา​ติด​อยู่​ใน​บ้าน​จน​กระทั่ง​นัก​ดับ​เพลิง​สามารถ​นำ​ตัว​พวก​เขา​ออก​มา​ได้. ผม​เป็น​เวชกร​ฉุกเฉิน​คน​หนึ่ง​ใน​ทีม​กู้​ชีพ​หลาย​ทีม​ที่​พยายาม​ช่วย​ชีวิต​พวก​เขา​ไว้​แต่​ไม่​มี​ใคร​รอด​ชีวิต​ใน​คราว​นั้น.

บาง​ที​ถึง​จุด​นี้ คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า​แล้ว​ทำไม​ใคร ๆ จึง​อยาก​ทำ​งาน​กู้​ชีพ. เป็น​ครั้ง​เป็น​คราว ผม​ก็​ถาม​ตัว​เอง​อย่าง​นั้น​เหมือน​กัน. ผม​นึก​ถึง​อุปมา​โวหาร​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​เพื่อน​บ้าน​ชาว​ซะมาเรีย​ที่​เต็ม​ใจ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​เพื่อ​ช่วย​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​รับ​บาดเจ็บ. (ลูกา 10:30-37) การ​เป็น​เวชกร​ฉุกเฉิน​รวม​ถึง​การ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​อารมณ์​เพื่อ​ไป​ช่วย​คน​ที่​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​มา. สำหรับ​ผม​เอง​แล้ว เวชกร​ฉุกเฉิน​เป็น​อาชีพ​ที่​ให้​ความ​อิ่ม​อก​อิ่ม​ใจ แต่​ผม​ก็​ยัง​รอ​คอย​วัน​ที่​ผม​จะ​ไม่​ต้อง​ทำ​งาน​นี้​อีก. เพราะ​อะไร? ก็​เพราะ​พระเจ้า​ทรง​สัญญา​ไว้​ว่า​ใน​อีก​ไม่​ช้า จะ​ไม่​มี​ใคร​พูด​ว่า “ข้าพเจ้า​ป่วย​อยู่.” ยิ่ง​ไป​กว่า​นั้น ‘ความ​ตาย​และ​ความ​เจ็บ​ปวด​จะ​ไม่​มี​อีก​เลย.’ (ยะซายา 33:24; วิวรณ์ 21:4)—เล่า​โดย​เวชกร​ฉุกเฉิน​คน​หนึ่ง​ใน​แคนาดา

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 เกี่ยว​กับ​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​การ​ทำ​งาน​ฐานะ​เวชกร​ฉุกเฉิน​จะ​ขัด​กับ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​คริสเตียน ดู​ข้อมูล​ใน​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1999 หน้า 29 และ​ฉบับ 1 ตุลาคม 1975 หน้า 597-599.

^ วรรค 5 ใน​บาง​ประเทศ ไม่​มี​เวชกร​ฉุกเฉิน​ไป​ด้วย​ใน​รถ​พยาบาล​ฉุกเฉิน เป็น​หน้า​ที่​ของ​พนักงาน​ขับ​รถ​พยาบาล​ที่​จะ​นำ​ผู้​ป่วย​ส่ง​ถึง​โรง​พยาบาล​ให้​เร็ว​ที่​สุด​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้.

[คำ​โปรย​หน้า 13]

ผม​จำ​เขา​ไม่​ได้​จน​เมื่อ​เขา​พูด​ขึ้น​มา​ว่า “จำ​ผม​ได้​ไหม? คุณ​ช่วย​ชีวิต​ผม​ไว้​เมื่อ​วาน​นี้​ไง!” นั่น​ก่อ​ความ​รู้สึก​ที่​วิเศษ​จริง ๆ

[คำ​โปรย​หน้า 14]

ใน​ช่วง​ที่​ผม​ปฏิบัติ​งาน เคย​ทั้ง​ถูก​กัด ถูก​ถ่ม​น้ำลาย​รด และ​ถูก​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​ด้วย​วิธี​ต่าง ๆ จาก​ผู้​ป่วย​ที่​ควบคุม​ตัว​เอง​ไม่​ได้

[กรอบ/ภาพ​หน้า 15]

 ทักษะ​ทาง​การ​แพทย์​ของ​เวชกร​ฉุกเฉิน

เวชกร​ฉุกเฉิน​ถูก​ฝึก​เพื่อ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​ไม่​มี​อะไร​อุด​กั้น​ทาง​เดิน​หายใจ​ของ​ผู้​ป่วย เพื่อ​อากาศ​จะ​สามารถ​ผ่าน​เข้า​สู่​ปอด​ได้. นี่​อาจ​หมาย​ถึง​การ​ที่​จะ​ต้อง​ใส่​ท่อ​ช่วย​หายใจ คือ​สอด​ท่อ​พลาสติก​อ่อน​เข้า​ทาง​ปาก​ผ่าน​สาย​เสียง​เข้า​ไป​ใน​หลอด​ลม​คอ โดย​ใช้​กล้อง​ส่อง​ตรวจ​กล่อง​เสียง​เป็น​อุปกรณ์​ช่วย. หรือ​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ทำ​การ​เจาะ​หลอด​ลม​คอ โดย​อาศัย​เข็ม​เจาะ หลอด​สอด​ลวด​ร้อย ลวด​ร้อย และ​มีด​ผ่าตัด เพื่อ​สอด​ท่อ​ผ่าน​คอ​เข้า​ไป​ยัง​หลอด​ลม​ของ​ผู้​ป่วย​โดย​ตรง. การ​แทง​เข็ม​และ​ใส่​ท่อ​ระบาย​เข้า​ไป​ใน​ปอด​ผ่าน​ผนัง​ทรวง​อก​ก็​มี​การ​ทำ​กัน​เพื่อ​รักษา​ภาวะ​แทรก​ซ้อน​ที่​เป็น​อันตราย​ถึง​ชีวิต​เนื่อง​จาก​เนื้อ​ปอด​ถูก​ดัน​จน​แฟบ.

ทักษะ​อีก​อย่าง​คือ​การ​ให้​สาร​น้ำ​ทาง​เส้น​เลือด​ดำ. มี​การ​ใช้​เข็ม​แทง​เพื่อ​สอด​หลอด​ไว้​ที่​เส้น​เลือด​ดำ เพื่อ​จะ​สามารถ​ให้​ยา​และ​สาร​น้ำ​ต่าง ๆ เช่น น้ำ​เกลือ ผ่าน​หลอด​นี้​เข้า​สู่​เส้น​เลือด. อีก​ทาง​เลือก​หนึ่ง​คือ ใช้​อุปกรณ์​แทง​เข้า​โพรง​ไขกระดูก​เพื่อ​ผ่าน​สาร​น้ำ​ตรง​ไป​ยัง​ไขกระดูก.

เวชกร​ฉุกเฉิน​อาจ​ใช้​เครื่อง​ช็อก​หัวใจ​ด้วย​ไฟฟ้า​ที่​มี​ภาค​เฝ้า​ติด​ตาม​การ​ทำ​งาน​ของ​หัวใจ​ใน​ตัว​เพื่อ​ดู​ลักษณะ​คลื่น​ไฟฟ้า​หัวใจ​ของ​ผู้​ป่วย. และ​อาจ​ใช้​เครื่อง​ช็อก​หัวใจ​ด้วย​ไฟฟ้า​นี้​ปล่อย​พลัง​งาน​ไฟฟ้า​ไป​กระตุก​หัวใจ​เพื่อ​แก้ไข​จังหวะ​การ​เต้น​ของ​หัวใจ​ที่​แผ่ว​ระรัว​หรือ​เร็ว​ผิด​ปกติ​ให้​กลับ​มา​สู่​ภาวะ​ปกติ. นอก​จาก​นี้ ยัง​อาจ​ใช้​เครื่อง​ดัง​กล่าว​เป็น​ตัว​คุม​จังหวะ​หัวใจ​แบบ​ติด​ตั้ง​ภาย​นอก​ร่าง​กาย​ชั่ว​คราว​เพื่อ​กระตุ้น​จังหวะ​การ​เต้น​ที่​ช้า​เกิน​ไป​ให้​เร็ว​ขึ้น​ได้​ด้วย.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

All photos: Taken by courtesy of City of Toronto EMS

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 12]

Taken by courtesy of City of Toronto EMS