ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำอย่างไรจึงจะเป็นควาญช้างได้?

ทำอย่างไรจึงจะเป็นควาญช้างได้?

ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​เป็น​ควาญ​ช้าง​ได้?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​อินเดีย

ควาญ​ช้าง​คน​หนึ่ง​กำลัง​ทำ​อาหาร​ริม​แม่น้ำ​นรมทา เขา​วาง​ลูก​ชาย​ของ​เขา​ไว้​ระหว่าง​งวง​กับ​ขา​หน้า​ของ​ช้าง​ที่​กำลัง​พักผ่อน​อยู่. เด็ก​น้อย​คน​นั้น​พยายาม​จะ​ปีน​ออก​ไป แต่ “เจ้า​ช้าง​ที่​กำลัง​นอน​เล่น​อย่าง​อารมณ์​ดี​ก็​ยื่น​งวง​ออก​ไป​โอบ​ตัว​เด็ก​คน​นั้น​อย่าง​นุ่มนวล​แล้ว​ดึง​กลับ​มา​วาง​ตรง​ที่​ที่​พ่อ​ได้​วาง​เขา​ไว้. ผู้​เป็น​พ่อ​ยัง​คง​ทำ​อาหาร​ต่อ​ไป​และ​ดู​เหมือน​เขา​จะ​มั่น​ใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​ว่า​ลูก​ชาย​ของ​ตน​อยู่​ใน​ที่​ที่​มี​การ​อารักขา​อย่าง​ปลอด​ภัย” จาก​หนังสือ​โครงการ​ช้าง (ภาษา​อังกฤษ).

ช้าง​ถูก​มนุษย์​นำ​มา​ใช้​งาน​ตั้ง​แต่ 2,000 ปี​ก่อน​สากล​ศักราช​แล้ว. ใน​ยุค​โบราณ ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ช้าง​ถูก​ฝึก​ไว้​เพื่อ​การ​สู้​รบ. ปัจจุบัน​นี้​ใน​ประเทศ​อินเดีย ช้าง​ถูก​ฝึก​เพื่อ​ทำ​งาน. มี​การ​ใช้​ช้าง​ใน​อุตสาหกรรม​การ​ทำ​ไม้, ใน​เทศกาล​ทาง​ศาสนา​และ​การ​สมรส, ใน​การ​โฆษณา, ใน​คณะ​ละคร​สัตว์, และ​กระทั่ง​เพื่อ​ขอ​ทาน. ช้าง​เหล่า​นี้​ถูก​เลี้ยง​ให้​เชื่อง​ได้​อย่าง​ไร? และ​มี​การ​ฝึก​พวก​มัน​อย่าง​ไร?

วิธี​ฝึก​ช้าง

มี​ศูนย์​ฝึก​ช้าง​จำนวน​มาก​ใน​อินเดีย​ที่​พร้อม​จะ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ลูก​ช้าง ซึ่ง​ถูก​จับ​มา, ถูก​ทอดทิ้ง, หรือ​ได้​รับ​บาดเจ็บ​อยู่​ใน​ป่า. ศูนย์​ฝึก​เช่น​ว่า​นั้น​แห่ง​หนึ่ง​อยู่​ที่​หมู่​บ้าน​โกนี ใน​รัฐ​เกรละ. ณ ศูนย์​นี้ ลูก​ช้าง​จะ​ถูก​ฝึก​ให้​เป็น​ช้าง​งาน. ก่อน​อื่น​ควาญ​ต้อง​ทำ​ให้​ลูก​ช้าง​ไว้​วางใจ​เขา​ให้​ได้. การ​ให้​อาหาร​เป็น​วิธี​สำคัญ​วิธี​หนึ่ง​ใน​การ​สร้าง​ความ​ไว้​วางใจ. ลูก​ช้าง​จำ​เสียง​ของ​ควาญ​ได้ และ​เมื่อ​เขา​เรียก​ช้าง​มา​กิน​อาหาร มัน​จะ​รีบ​วิ่ง​มา​กิน​นม​และ​ข้าว​ฟ่าง​ที่​ต้ม​จน​เหนียว​ข้น. ตาม​ปกติ​ช้าง​มัก​จะ​ถูก​ฝึก​ให้​ทำ​งาน​ตั้ง​แต่​ตอน​ที่​อายุ​ราว ๆ 13 ปี. แล้ว​พวก​มัน​จะ​ถูก​นำ​ไป​ทำ​งาน​ตอน​อายุ 25 ปี. ใน​เกรละ กฎเกณฑ์​ของ​รัฐบาล​กำหนด​ไว้​ว่า​ช้าง​จะ​ทำ​งาน​ได้​จน​ถึง​อายุ​ไม่​เกิน 65 ปี.

เพื่อ​จะ​บังคับ​ช้าง​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย ควาญ​ต้อง​ฝึก​ช้าง​เป็น​อย่าง​ดี. สมาคม​เพื่อ​สวัสดิภาพ​ของ​ช้าง​เมือง​ตรีฉุร์ รัฐ​เกรละ กล่าว​ว่า ควาญ​มือ​ใหม่​ต้อง​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​อย่าง​หนัก​อย่าง​น้อย​สาม​เดือน. การ​ฝึก​อบรม​นี้​ไม่​ได้​จำกัด​อยู่​แค่​เรื่อง​การ​เรียน​รู้​วิธี​ออก​คำ​สั่ง​เท่า​นั้น. ทว่า รวม​ถึง​การ​รู้​จัก​ทุก​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชีวิต​ของ​ช้าง.

ช้าง​ที่​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ใช้​เวลา​ฝึก​นาน​กว่า. ช้าง​จะ​อยู่​ใน​คอก ส่วน​ผู้​ฝึก​จะ​อยู่​ด้าน​นอก​คอก​ช้าง โดย​ตอน​แรก​ผู้​ฝึก​จะ​สอน​มัน​ให้​เข้าใจ​คำ​สั่ง​ด้วย​เสียง​ของ​เขา. ใน​เกรละ ควาญ​ใช้​คำ​สั่ง​ราว ๆ 20 คำ​และ​สัญญาณ​ต่าง ๆ เพื่อ​ให้​ช้าง​ทำ​ตาม​ที่​เขา​สั่ง. ควาญ​ออก​คำ​สั่ง​ด้วย​เสียง​ดัง​ฟัง​ชัด พร้อม​กับ​เอา​ไม้​กระทุ้ง​เบา ๆ และ​แสดง​ให้​ช้าง​ดู​ว่า​เขา​ต้องการ​ให้​มัน​ทำ​อะไร. เมื่อ​ช้าง​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง มัน​จะ​ได้​ของ​กิน​เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็น​รางวัล. เมื่อ​ควาญ​แน่​ใจ​ว่า​ช้าง​คุ้น​เคย​กับ​ตน​แล้ว เขา​จะ​เข้า​ไป​ใน​คอก​ช้าง​และ​ลูบ​ไล้​ตัว​มัน​ด้วย​ความ​รัก. การ​ปฏิสัมพันธ์​กัน​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ทั้ง​ควาญ​และ​ช้าง​ต่าง​ก็​ไว้​วางใจ​กัน. ใน​ที่​สุด ควาญ​ก็​สามารถ​นำ​มัน​ออก​ไป​นอก​คอก​ช้าง​ได้ แต่​ก็​ต้อง​ไม่​ประมาท เนื่อง​จาก​ช้าง​ยัง​มี​ความ​เป็น​สัตว์​ป่า​อยู่​ใน​ตัว. ก่อน​จะ​เห็น​ได้​ชัดเจน​ว่า​ช้าง​เชือก​นั้น​เชื่อง​จริง ๆ ควาญ​จะ​ล่าม​โซ่​มัน​ติด​กับ​ช้าง​สอง​เชือก​ที่​ถูก​ฝึก​จน​เชื่อง​แล้ว​ตอน​ที่​พา​มัน​ไป​อาบ​น้ำ​และ​พา​มัน​ไป​เดิน​เที่ยว​ที่​อื่น.

หลัง​จาก​ช้าง​เข้าใจ​คำ​สั่ง​ต่าง ๆ เป็น​อย่าง​ดี ควาญ​จะ​ขึ้น​ไป​ขี่​หลัง​มัน และ​สอน​ให้​มัน​รู้​วิธี​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​ที่​ใช้​ภาษา​กาย โดย​ใช้​นิ้ว​เท้า​หรือ​ส้น​เท้า​กระทุ้ง​ที่​ตัว​มัน. เมื่อ​จะ​สั่ง​ให้​ช้าง​เดิน​ไป​ข้าง​หน้า ควาญ​จะ​จิก​นิ้ว​หัวแม่เท้า​ทั้ง​สอง​ข้าง​ที่​ด้าน​หลัง​หู​ช้าง. เมื่อ​จะ​สั่ง​ให้​ถอย​หลัง เขา​ก็​กด​ส้น​เท้า​ทั้ง​สอง​ลง​ที่​ไหล่​ของ​มัน. เพื่อ​ป้องกัน​ความ​สับสน จะ​มี​ควาญ​เพียง​คน​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ออก​คำ​สั่ง​ด้วย​เสียง. ช้าง​จะ​เข้าใจ​คำ​สั่ง​ทั้ง​หมด​ได้​ภาย​ใน​เวลา​สาม​ถึง​สี่​ปี. หลัง​จาก​นั้น​แล้ว​ช้าง​จะ​ไม่​มี​วัน​ลืม​คำ​สั่ง​เหล่า​นั้น​เลย. แม้​ว่า​ช้าง​จะ​มี​สมอง​เล็ก​เมื่อ​เทียบ​กับ​รูป​ร่าง​ของ​มัน แต่​ช้าง​ก็​เป็น​สัตว์​ที่​ฉลาด​มาก.

การ​ดู​แล​ช้าง

ช้าง​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ให้​มี​สุขภาพ​แข็งแรง​อยู่​เสมอ​และ​มี​ความ​สุข. การ​อาบ​น้ำ​ทุก​วัน​เป็น​สิ่ง​สำคัญ. ตอน​อาบ​น้ำ ควาญ​จะ​ใช้​ก้อน​หิน​และ​กาบ​มะพร้าว​ที่​ตัด​แต่ง​อย่าง​ดี​ขัด​ถู​ผิว​ช้าง​ที่​หนา ทว่า​อ่อน​นุ่ม​และ​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก.

แล้ว​ก็​มา​ถึง​อาหาร​เช้า. ควาญ​ต้ม​ข้าว​สาลี, ข้าว​ฟ่าง, และ​พืช​ที่​ใช้​เป็น​อาหาร​สัตว์​จน​เหนียว​ข้น. อาหาร​หลัก​ยัง​รวม​ถึง​ไม้​ไผ่, ใบ​ปาล์ม, และ​หญ้า. ช้าง​จะ​ดี​อก​ดีใจ​ถ้า​มี​แครอท​ดิบ​และ​อ้อย​ให้​กิน​ด้วย. ช้าง​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​ใน​ชีวิต​ของ​มัน​ไป​กับ​การ​กิน​อาหาร. พวก​มัน​กิน​อาหาร​ประมาณ 140 กิโลกรัม​และ​น้ำ​ประมาณ 150 ลิตร​ทุก​วัน! เพื่อ​จะ​เป็น​มิตร​ที่​ดี​ต่อ​กัน​ตลอด​ไป ควาญ​ต้อง​ตอบ​สนอง​ความ​ต้องการ​ดัง​กล่าว​นี้.

ผล​ของ​การ​ใช้​ช้าง​อย่าง​ทารุณ

ควาญ​ไม่​อาจ​บังคับ​หรือ​ใช้​งาน​ช้าง​อินเดีย​ที่​อ่อนโยน​จน​เกิน​จุด​ที่​มัน​สามารถ​รับ​ได้. ช้าง​อาจ​หัน​ไป​ทำ​ร้าย​ควาญ​ที่​ลง​โทษ​หรือ​เอ็ดตะโร​ใส่​มัน. หนังสือ​พิมพ์​ซันเดย์ เฮรัลด์ ของ​อินเดีย พูด​ถึง​เจ้า​ช้าง​ที่​มี​งา​เชือก​หนึ่ง​ว่า มัน​เป็น​ช้าง​พลาย​ซึ่ง “เกิด​อาการ​คลุ้มคลั่ง . . . หลัง​จาก​ที่​ถูก​พวก​ควาญ​ช้าง​ทารุณ. เจ้า​ช้าง​ซึ่ง​ตอบ​โต้​ที่​มัน​ถูก​ควาญ​ทุบ​ตี​ก็​อาละวาด​จน​ควบคุม​มัน​ไม่​อยู่ . . . และ​ต้อง​ถูก​ยิง​ด้วย​ยา​สลบ.” ใน​เดือน​เมษายน 2007 วารสาร​อินเดีย ทูเดย์ อินเตอร์​แนชันแนล รายงาน​ว่า “แค่​ช่วง​สอง​เดือน​ที่​ผ่าน​มา​เท่า​นั้น มี​ช้าง​พลาย​กว่า 10 เชือก​อาละวาด​ใน​เทศกาล​ต่าง ๆ และ​ตั้ง​แต่​มกราคม​ปี​ที่​ผ่าน​มา มี​ควาญ 48 คน​ถูก​ช้าง​ที่​เกิด​อาการ​คลุ้มคลั่ง​ฆ่า​ตาย.” อาการ​คลุ้มคลั่ง​เช่น​ว่า​นั้น​มัก​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ช่วง​ที่​เรียก​ว่า ช่วง​ตก​มัน. นี่​เป็น​ปรากฏการณ์​ทาง​สรีระ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​เป็น​ประจำ​ทุก​ปี​ซึ่ง​เกี่ยว​เนื่อง​กับ​ฤดู​ผสม​พันธุ์ คือ​ระหว่าง​ช่วง​ที่​ช้าง​พลาย​ที่​โต​เต็ม​วัย​และ​มี​สุขภาพ​แข็งแรง​มี​ระดับ​ฮอร์โมน​เทสทอสเทอโรน​สูง​มาก. ผล​ก็​คือ ช้าง​เชือก​นั้น​จะ​แสดง​พฤติกรรม​ที่​ก้าวร้าว​และ​ไม่​อาจ​คาด​เดา​ได้​ต่อ​ช้าง​พลาย​เชือก​อื่น ๆ และ​มนุษย์. ช้าง​อาจ​มี​อาการ​ตก​มัน​ตั้ง​แต่ 15 วัน​ไป​จน​ถึง​สาม​เดือน.

อีก​สถานการณ์​หนึ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ให้​ช้าง​ก้าวร้าว​ก็​คือ เมื่อ​มัน​ถูก​ขาย​ไป​หรือ​เมื่อ​ควาญ​คน​ใหม่​เอา​มัน​ไป​เลี้ยง. ความ​ผูก​พัน​ที่​มี​ต่อ​ควาญ​คน​เก่า​เป็น​สิ่ง​ที่​เห็น​ได้​ชัด. เพื่อ​ช้าง​จะ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ใหม่​ได้​ง่าย​ขึ้น ควาญ​คน​เก่า​มัก​จะ​ร่วม​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​บ้าน​ใหม่​ของ​มัน. ที่​บ้าน​ใหม่​นั้น ทั้ง​ควาญ​คน​เก่า​และ​คน​ใหม่​จะ​ทำ​งาน​ร่วม​กัน จน​กระทั่ง​ควาญ​คน​ใหม่​คุ้น​เคย​กับ​อารมณ์​ของ​ช้าง​เชือก​นั้น. เมื่อ​ควาญ​เสีย​ชีวิต​และ​ควาญ​คน​ใหม่​มา​พา​มัน​ไป​เลี้ยง ปัญหา​อาจ​จะ​ยิ่ง​หนัก​ขึ้น​ด้วย​ซ้ำ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ที่​สุด​ช้าง​ก็​จะ​รับ​รู้​และ​ยอม​รับ​สภาพการณ์​ใหม่​นั้น.

แม้​ว่า​บาง​คน​อาจ​รู้สึก​กลัว​เจ้า​สัตว์​จอม​พลัง​นี้ แต่​ช้าง​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​เป็น​อย่าง​ดี​จะ​เชื่อ​ฟัง​เจ้านาย​ที่​มี​ใจ​เมตตา​กรุณา. เมื่อ​ควาญ​ปฏิบัติ​ต่อ​ช้าง​ด้วย​ความ​กรุณา ควาญ​ก็​สามารถ​ปล่อย​มัน​ไว้​ตาม​ลำพัง​สัก​ครู่​หนึ่ง​ได้​โดย​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ล่าม​โซ่​เลย​ด้วย​ซ้ำ. สิ่ง​ที่​ควาญ​ต้อง​ทำ​ก็​คือ วาง​ไม้เท้า​พิง​ไว้​ที่​ขา​ช้าง​แล้ว​ก็​สั่ง​มัน​ว่า​อย่า​เดิน​ไป​ไหน. ช้าง​ที่​เชื่อ​ฟัง​จะ​ยืน​นิ่ง​อยู่​ตรง​นั้น โดย​ที่​ไม้เท้า​ก็​ยัง​พิง​อยู่​อย่าง​นั้น. ดัง​ตัว​อย่าง​ที่​เห็น​ได้​ใน​ช่วง​คำนำ การ​ร่วม​มือ​กัน​ระหว่าง​ช้าง​กับ​ควาญ​อาจ​ทำ​ให้​รู้สึก​ทั้ง​น่า​ประหลาด​ใจ​และ​น่า​ประทับใจ. ใช่​แล้ว ควาญ​ช้าง​ที่​ใจ​ดี​สามารถ​ไว้​วางใจ​ช้าง​ของ​ตน​ได้.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 18]

คน​กับ​ช้าง—ประวัติศาสตร์​อัน​ยาว​นาน

การ​ที่​มนุษย์​เลี้ยง​ช้าง​นั้น​มี​ประวัติ​มา​ยาว​นาน. บาง​ที​ตัว​อย่าง​ที่​ลือ​ชื่อ​ที่​สุด​ใน​ยุค​โบราณ​ก็​คือ​ตัว​อย่าง​ของ​แม่ทัพ​ชาว​คาร์เทจ​ที่​ชื่อ​ฮันนิบาล. ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม​ก่อน ส.ศ. เมือง​คาร์เทจ​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​แอฟริกา​กำลัง​สู้​รบ​กับ​โรม​ใน​การ​ต่อ​สู้​ที่​ยืดเยื้อ​ยาว​นาน​ถึง​หนึ่ง​ศตวรรษ ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​สงคราม​พิวนิก. ฮันนิบาล​ระดม​พล​กองทัพ​หนึ่ง​ขึ้น​ใน​เมือง​การ์ตาเกนา ประเทศ​สเปน พร้อม​กับ​วาง​แผน​เคลื่อน​ทัพ​เข้า​ไป​ใน​โรม. ที​แรก เขา​ข้าม​เทือก​เขา​พีเรนีส​เพื่อ​เข้า​ไป​ใน​อาณา​เขต​ที่​เป็น​ประเทศ​ฝรั่งเศส​ใน​ปัจจุบัน. จาก​นั้น ใน​สิ่ง​ที่​วารสาร​โบราณคดี (ภาษา​อังกฤษ) เรียก​ว่า “การ​เดิน​ทัพ​ที่​ห้าว​หาญ​ที่​สุด​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์” นั้น กองทัพ​ของ​เขา​ซึ่ง​มี​พล​ทหาร 25,000 นาย พร้อม​กับ​ช้าง​แอฟริกา​อีก 37 เชือก​และ​สัตว์​ต่าง ๆ อีก​เป็น​จำนวน​มาก​ที่​ใช้​บรรทุก​สัมภาระ​และ​เสบียง​อาหาร ได้​ข้าม​เทือก​เขา​แอลป์​เข้า​สู่​อิตาลี. พวก​เขา​ต้อง​สู้​ทน​กับ​ความ​หนาว​เหน็บ, พายุ​หิมะ, หิน​ถล่ม, และ​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​ของ​ชน​เผ่า​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ตาม​ภูเขา. การ​เดิน​ทาง​ครั้ง​นั้น​หฤโหด​มาก​สำหรับ​ช้าง. ไม่​มี​ช้าง​สัก​เชือก​เดียว​รอด​ชีวิต​ผ่าน​ปี​แรก​ของ​การ​บุก​โจมตี​อิตาลี.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Look and Learn Magazine Ltd/The Bridgeman Art Library

[ภาพ​หน้า 17]

ควาญ​ขัด​ถู​ผิว​ของ​ช้าง​ที่​หนา ทว่า​อ่อน​นุ่ม​และ​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Vidler/mauritius images/age fotostock

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

© PhotosIndia/age fotostock