ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

20 วิธีเพื่อจะมีเวลามากขึ้น

20 วิธีเพื่อจะมีเวลามากขึ้น

ตัด​และ​เก็บ​ไว้

20 วิธี​เพื่อ​จะ​มี​เวลา​มาก​ขึ้น

“จง​ปฏิบัติ . . . โดย​ใช้​สติ​ปัญญา​ต่อ ๆ ไป​โดย​ใช้​ทุก​โอกาส​ให้​เกิด​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด.”—โกโลซาย 4:5

เมื่อ​ระบุ​กิจกรรม​ที่​คุณ​ต้องการ​ทำ​ใน​แต่​ละ​วัน​ได้​แล้ว สิ่ง​ที่​ยาก​ก็​คือ​การ​นำ​ทฤษฎี​ใน​แง่​ดี​มา​ใช้​ใน​ภาค​ปฏิบัติ. ข้อ​แนะ​ต่อ​ไป​นี้​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​ทำ​อย่าง​นั้น.

1 เขียน​รายการ​ที่​ต้อง​ทำ​ใน​แต่​ละ​วัน. ใส่​หมาย​เลข​สิ่ง​ที่​คุณ​จะ​ทำ​ตาม​ลำดับ. ระบุ​สิ่ง​ที่​ควร​ใช้​เวลา​อย่าง​คุ้มค่า​มาก​กว่า​สิ่ง​อื่น. กา​เครื่องหมาย​บน​สิ่ง​ที่​ทำ​เสร็จ​แล้ว. ยก​ยอด​งาน​ที่​ยัง​ทำ​ไม่​เสร็จ​ไป​ไว้​ใน​รายการ​วัน​รุ่ง​ขึ้น.

2 ปรับ​ปฏิทิน​ของ​คุณ​ให้​ตรง​กัน. อย่า​เสี่ยง​ที่​จะ​พลาด​การ​นัด​หมาย​เนื่อง​จาก​คุณ​จด​ไว้​ใน​ปฏิทิน​อีก​เล่ม​หนึ่ง. ถ้า​คุณ​มี​ปฏิทิน​ทั้ง​ใน​คอมพิวเตอร์​และ​ใน​อุปกรณ์​พก​พา ก็​ปรับ​ปฏิทิน​ทั้ง​สอง​ให้​ตรง​กัน.

3 เขียน “แผน​ปฏิบัติ” ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ใน​โครงการ​หนึ่ง แล้ว​เรียง​ลำดับ​ขั้น​ตอน​เหล่า​นี้​ให้​เหมาะ​สม.

4 โดย​ทั่ว​ไป กำหนด​งาน​สำคัญ​ที่​สุด​ไว้​เป็น​อันดับ​แรก. มัน​จะ​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​หา​เวลา​ทำ​สิ่ง​ที่​มี​ความ​สำคัญ​น้อย​กว่า.

5 ตั้ง​เป้าหมาย​ที่​คุณ​เอง​สามารถ​บรรลุ​ได้​จริง. การ​ตั้ง​เป้า​จะ​เพิ่ม​ทักษะ​ใน​งาน​บาง​อย่าง​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​เป็น​ไป​ได้​มาก​กว่า​การ​ตั้ง​เป้า​จะ​เป็น​ประธาน​บริษัท.

6 ยอม​รับ​ว่า​คุณ​ไม่​มี​เวลา​จะ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง. จดจ่อ​กับ​งาน​ที่​ให้​ผล​มาก​ที่​สุด. ส่วน​งาน​อื่น​ที่​เร่ง​ด่วน​หรือ​จำเป็น​ล่ะ? ถ้า​คุณ​ไม่​สามารถ​ขจัด​งาน​ออก​ไป​หรือ​มอบ​ให้​คน​อื่น​ทำ ก็​ให้​คิด​ดู​ว่า​จะ​ลด​เวลา​ทำ​งาน​เหล่า​นั้น​ให้​น้อย​ลง​ได้​หรือ​ไม่. งาน​ที่​ไม่​สำคัญ​บาง​อย่าง​อาจ​รอ​ได้​เป็น​เดือน ๆ หาก​จำเป็น หรือ​จริง ๆ แล้ว​อาจ​ไม่​ต้อง​ทำ​เลย​ก็​ได้. แบ่ง​เวลา​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​เพื่อ​ทำ​งาน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​ถือ​ว่า​มี​ค่า​เมื่อ​คำนึง​ถึง​เป้าหมาย​ของ​คุณ.

7 บันทึก​การ​ใช้​เวลา. เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​คุณ​ใช้​เวลา​ทำ​อะไร​ไป​บ้าง ให้​บันทึก​การ​ใช้​เวลา​สัก​หนึ่ง​หรือ​สอง​สัปดาห์. คุณ​เสีย​เวลา​ไป​มาก​เท่า​ไร​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ไม่​สำคัญ? ส่วน​ใหญ่​แล้ว คุณ​ถูก​ขัด​จังหวะ​จาก​คน​หนึ่ง​หรือ​สอง​คน​เท่า​นั้น​ไหม? คุณ​ถูก​ขัด​จังหวะ​มาก​ที่​สุด​ใน​ช่วง​ไหน​ของ​วัน​หรือ​ของ​สัปดาห์? ตัด​กิจกรรม​ที่​ทำ​ให้​เสีย​เวลา​ไป​เปล่า ๆ.

8 ไม่​กำหนด​งาน​ไว้​มาก​เกิน​ไป. ถ้า​คุณ​วาง​แผน​จะ​ไป​จ่าย​กับ​ข้าว, ซ่อม​รถ, เชิญ​เพื่อน​มา​กิน​อาหาร, ดู​หนัง, และ​อ่าน​หนังสือ​ให้​ทัน—ทั้ง​หมด​ใน​วัน​เดียว—คุณ​ก็​จะ​รู้สึก​ว่า​ต้อง​รีบ​เร่ง​และ​ดู​เหมือน​ไม่​ชื่นชม​กับ​สิ่ง​ใด​เลย.

9 จำกัด​การ​ถูก​ขัด​จังหวะ​ให้​น้อย​ที่​สุด. กัน​เวลา​ไว้​ช่วง​หนึ่ง​ทุก​วัน​เพื่อ​คุณ​จะ​ไม่​ถูก​ขัด​จังหวะ​นอก​จาก​จำเป็น​จริง ๆ. ถ้า​เป็น​ไป​ได้ ปิด​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ใน​ช่วง​นั้น. และ​ปิด​ระบบ​เตือน​ของ​คอมพิวเตอร์​ถ้า​มัน​ขัด​จังหวะ​เวลา​ทำ​งาน​ของ​คุณ.

10 กำหนด​จะ​ทำ​งาน​ที่​ต้อง​ใช้​ความ​พยายาม​มาก​ใน​เวลา​ที่​คุณ​กระฉับกระเฉง​และ​ตื่น​ตัว​มาก​ที่​สุด​ของ​วัน.

11 ทำ​งาน​ที่​น่า​เบื่อ​หรือ​ยาก​ทันที​ที่​เป็น​ไป​ได้. เมื่อ​งาน​นั้น​เสร็จ​แล้ว คุณ​จะ​รู้สึก​มี​พละกำลัง​จะ​ทำ​งาน​อื่น​ที่​ง่าย​กว่า.

12 เผื่อ​เวลา​ไว้​สำหรับ​สิ่ง​ที่​ไม่​คาด​หมาย. ถ้า​คุณ​คิด​ว่า​จะ​ไป​ถึง​ที่​นัด​หมาย​ภาย​ใน 15 นาที ให้​สัญญา​ว่า​อีก 25 นาที​คุณ​จะ​ไป​ถึง. ถ้า​คุณ​เชื่อ​ว่า​การ​นัด​หมาย​จะ​ใช้​เวลา​หนึ่ง​ชั่วโมง ให้​เผื่อ​เวลา​ไว้​หนึ่ง​ชั่วโมง 20 นาที. ใน​แต่​ละ​วัน จัด​ให้​มี​เวลา​ว่าง​ไว้​สัก​ช่วง​หนึ่ง.

13 ใช้​เวลา​ระหว่าง​ทำ​กิจกรรม​ให้​เป็น​ประโยชน์. ฟัง​ข่าว​หรือ​ฟัง​สื่อ​บันทึก​เสียง​ขณะ​ที่​คุณ​โกน​หนวด. อ่าน​หนังสือ​ระหว่าง​รอ​รถไฟ​หรือ​นั่ง​ใน​รถไฟ. แน่นอน คุณ​อาจ​ใช้​เวลา​นั้น​พักผ่อน​ก็​ได้. แต่​อย่า​ให้​เวลา​นั้น​เสีย​ไป​เปล่า ๆ แล้ว​รู้สึก​เสียดาย​ใน​ภาย​หลัง.

14 ใช้​กฎ 80/20. * ใน​รายการ 10 อย่าง​ที่​ต้อง​ทำ​นั้น ราว ๆ 2 อย่าง​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ไหม? งาน​ชิ้น​หนึ่ง​อาจ​ถือ​ว่า​จวน​จะ​เสร็จ​แล้ว​ไหม​ถ้า​คุณ​เอา​ใจ​ใส่​ส่วน​ที่​สำคัญ​ที่​สุด?

15 เมื่อ​คุณ​รู้สึก​ว่า​ทำ​งาน​ไม่​ไหว​แล้ว ให้​เขียน​งาน​แต่​ละ​อย่าง​ลง​บน​กระดาษ​แผ่น​เล็ก ๆ. แล้ว​แบ่ง​เป็น​สอง​กอง: “ทำ​วัน​นี้” และ “ทำ​พรุ่ง​นี้.” พอ​วัน​รุ่ง​ขึ้น​ให้​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน.

16 ลา​งาน​เพื่อ ‘เติม​พลัง’ เป็น​ระยะ ๆ. การ​กลับ​ไป​ทำ​งาน​ด้วย​จิตใจ​และ​ร่าง​กาย​ที่​สดชื่น​อาจ​ให้​ผล​ผลิต​ได้​มาก​กว่า​การ​ทำ​งาน​ล่วง​เวลา​หลาย ๆ ชั่วโมง.

17 คิด​บน​กระดาษ. เขียน​ปัญหา​ลง​บน​กระดาษ แจง​สาเหตุ​ที่​รบกวน​ใจ​คุณ แล้ว​เขียน​วิธี​แก้​หลาย ๆ วิธี​เท่า​ที่​คุณ​นึก​ได้.

18 อย่า​พยายาม​มุ่ง​จะ​เป็น​คน​สมบูรณ์​แบบ. จง​รู้​ว่า​เมื่อ​ไร​ควร​จะ​เลิก​และ​เริ่ม​ทำ​งาน​ที่​สำคัญ​งาน​ถัด​ไป.

19 ทำ​งาน​อย่าง​มือ​อาชีพ. อย่า​รอ​จน​กว่า​นึก​อยาก​จะ​ทำ​งาน. จง​ลง​มือ​ทำ​ทันที.

20 ยืดหยุ่น. ที่​กล่าว​มา​เป็น​เพียง​ข้อ​แนะ ไม่​ใช่​กฎ​ตาย​ตัว. ทดลอง​ทำ, หา​วิธี​ที่​ใช้​ได้​ผล, และ​ปรับ​แนว​คิด​ให้​เข้า​กับ​สภาพการณ์​และ​ความ​จำเป็น​ของ​คุณ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 18 แนว​คิด​นี้​อาศัย​ผล​งาน​ของ​นัก​เศรษฐศาสตร์​ชาว​อิตาลี​ชื่อ​วิลเฟรโด ปาเร​โต และ​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​หลักการ​ของ​ปาเร​โต. หลักการ​นี้​อาศัย​ข้อ​สังเกต​ที่​ว่า บ่อย​ครั้ง 80 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผล​งาน​มา​จาก​ความ​พยายาม​ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์. มี​การ​นำ​หลักการ​นี้​มา​ใช้​กับ​หลาย​อย่าง แต่​ตัว​อย่าง​ง่าย ๆ ก็​คือ: เมื่อ​ดูด​ฝุ่น​พรม ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์​ของ​ฝุ่น​ที่​ถูก​ดูด​ขึ้น​มา​นั้น​คง​จะ​ได้​จาก​พื้น​ที่​พรม 20 เปอร์เซ็นต์ นั่น​คือ​บน​พื้น​ที่​ซึ่ง​มี​คน​เดิน​ผ่าน​บ่อย.