ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วิธีเลี้ยงลูกระหว่างวัยทารกจนถึงวัยรุ่น

วิธีเลี้ยงลูกระหว่างวัยทารกจนถึงวัยรุ่น

วิธี​เลี้ยง​ลูก​ระหว่าง​วัย​ทารก​จน​ถึง​วัยรุ่น

“จวบ​จน​กระทั่ง​ลูก​อายุ​ห้า​ขวบ เขา​อยู่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ปลอด​ภัย​ของ​ครอบครัว และ​การ​ปลูกฝัง​ให้​เขา​มี​คุณลักษณะ​ที่​ดี​จึง​ทำ​ได้​ง่าย​กว่า. แต่​พอ​เด็ก​เริ่ม​ไป​โรง​เรียน เขา​จะ​เห็น​ว่า​คน​อื่น​ทำ​หรือ​พูด​ต่าง​ไป​จาก​ที่​พ่อ​แม่​สอน​ไว้.”—วัลเตอร์ อิตาลี

เมื่อ​เด็ก​โต​ขึ้น โลก​ของ​เขา​ก็​กว้าง​ขึ้น. เขา​มี​ปฏิสัมพันธ์​กับ​คน​อื่น​มาก​ขึ้น ทั้ง​เพื่อน​เล่น เพื่อน​นัก​เรียน และ​สมาชิก​คน​อื่น ๆ ใน​ครอบครัว. ดัง​ที่​วัลเตอร์​กล่าว​ไว้​ข้าง​ต้น คุณ​ไม่​ใช่​คน​เดียว​ที่​หล่อ​หลอม​ชีวิต​ลูก​อีก​ต่อ​ไป​เหมือน​สมัย​ที่​ลูก​ยัง​เป็น​ทารก. นั่น​คือ​เหตุ​ผล​ที่​ถือ​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก​ที่​จะ​ใช้​ช่วง​เวลา​สาม​ปี​แรก​นั้น​เพื่อ​สอน​ลูก​ให้​เชื่อ​ฟัง​และ​มี​มารยาท. นับ​ว่า​สำคัญ​ด้วย​ที่​จะ​ชี้​แนะ​ลูก​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ถูก​และ​ผิด.

คุณลักษณะ​เหล่า​นี้​ไม่​ได้​สอน​กัน​ง่าย ๆ และ​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​เอง​ใน​ตัว​ลูก. คุณ​จำเป็น​ต้อง “ว่า​กล่าว ตักเตือน​แรง ๆ กระตุ้น​เตือน​ด้วย​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​ด้วย​ศิลปะ​ใน​การ​สอน.” (2 ติโมเธียว 4:2) ใน​เรื่อง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า พ่อ​แม่​ชาว​อิสราเอล​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ว่า “จง​อุตส่าห์​สั่ง​สอน​บุตร​ทั้ง​หลาย​ของ​เจ้า​ด้วย​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้, และ​เมื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​นั่ง​อยู่​ใน​เรือน หรือ​เดิน​ใน​หน​ทาง, หรือ​นอน​ลง, และ​ตื่น​ขึ้น.” (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) ดัง​ที่​ข้อ​คัมภีร์​นั้น​บอก​ไว้ การ​สอน​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก.

หน้า​ที่​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​มี​ข้อ​ท้าทาย​หลาย​อย่าง. ให้​เรา​พิจารณา​บาง​อย่าง.

เวลา​ที่​จะ​รับ​ฟัง

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า แม้​จะ​มี “เวลา​พูด” แต่​ก็​มี​เวลา​สำหรับ​การ​รับ​ฟัง​ด้วย. (ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:7) คุณ​จะ​สอน​ลูก​ให้​ตั้งใจ​ฟัง​ขณะ​ที่​คน​อื่น​หรือ​ตัว​คุณ​เอง​กำลัง​พูด​ได้​อย่าง​ไร? วิธี​หนึ่ง​คือ​ทำ​ให้​ลูก​ดู​เป็น​ตัว​อย่าง. คุณ​เอง​ตั้งใจ​ฟัง​เมื่อ​คน​อื่น​หรือ​ลูก​ของ​คุณ​พูด​ไหม?

เด็ก​วอกแวก​ได้​ง่าย และ​แน่นอน บาง​ที​พ่อ​แม่​ต้อง​ข่ม​ห้าม​อารมณ์​เมื่อ​พยายาม​จะ​พูด​กับ​ลูก. เด็ก​แต่​ละ​คน​ไม่​เหมือน​กัน ดัง​นั้น คุณ​ต้อง​เป็น​คน​ช่าง​สังเกต​และ​คิด​ว่า​จะ​ใช้​วิธี​ไหน​ดี​ที่​สุด​เพื่อ​พูด​กับ​ลูก​ของ​คุณ. ตัว​อย่าง​เช่น พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​บริเตน​ชื่อ​เดวิด​กล่าว​ว่า “ผม​จะ​ให้​ลูก​สาว​ของ​เรา​พูด​ทวน​สิ่ง​ที่​ผม​เพิ่ง​บอก​ไป​เป็น​คำ​พูด​ของ​ลูก​เอง. ผล​ก็​คือ​เมื่อ​ลูก​โต​ขึ้น ลูก​ตั้งใจ​ฟัง​คน​อื่น​มาก​ขึ้น.”

เมื่อ​พระ​เยซู​สอน​เหล่า​สาวก พระองค์​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า “จง​พิจารณา​ว่า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ฟัง​อย่าง​ไร.” (ลูกา 8:18) ถ้า​ผู้​ใหญ่​ต้อง​ตั้งใจ​ฟัง เด็ก​ยิ่ง​ต้อง​ตั้งใจ​ฟัง​มาก​กว่า!

“ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง”

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “จง​ทน​กัน​และ​กัน​เรื่อย​ไป​และ​ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​ถ้า​ใคร​มี​เหตุ​จะ​บ่น​ว่า​ผู้​อื่น.” (โกโลซาย 3:13) พ่อ​แม่​สามารถ​สอน​เด็ก​ให้​รู้​จัก​การ​ให้​อภัย​ได้. โดย​วิธี​ใด?

เช่น​เดียว​กับ​ที่​เรา​กล่าว​ข้าง​ต้น​เกี่ยว​กับ​ศิลปะ​การ​ฟัง คุณ​ต้อง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี. แสดง​ให้​ลูก​เห็น​ว่า​คุณ​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​คน​อื่น. มารีนา แม่​คน​หนึ่ง​ใน​รัสเซีย​พยายาม​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น. เธอ​บอก​ว่า “เรา​พยายาม​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​สำหรับ​ลูก​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​การ​ให้​อภัย​ผู้​อื่น การ​ยินยอม และ​ไม่​โกรธ​ง่าย. เมื่อ​ดิฉัน​ทำ​ผิด ดิฉัน​ขอ​โทษ​ลูก ๆ. ดิฉัน​อยาก​ให้​ลูก​ทำ​เช่น​นั้น​กับ​คน​อื่น.”

การ​รู้​วิธี​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง​และ​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​สำหรับ​ลูก​ของ​คุณ​เมื่อ​เขา​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่. จง​ฝึก​ลูก​ตั้ง​แต่​ตอน​นี้​ให้​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​และ​รู้​จัก​ยอม​รับ​ผิด. ถ้า​คุณ​ทำ​อย่าง​นั้น นั่น​จะ​เป็น​ของ​ขวัญ​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​เป็น​ประโยชน์​กับ​เขา​มาก​ขณะ​ที่​เขา​เติบโต​ขึ้น.

“จง​แสดง​ความ​ขอบพระคุณ”

ใน “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​จะ​รับมือ​ได้” นี้ หลาย​คน​เป็น​คน “รัก​ตัว​เอง.” (2 ติโมเธียว 3:1, 2) คุณ​ควร​ปลูกฝัง​ให้​ลูก​รู้​จัก​ขอบคุณ​ผู้​อื่น​ตั้ง​แต่​ลูก​ยัง​เด็ก. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “จง​แสดง​ความ​ขอบพระคุณ.”—โกโลซาย 3:15

แม้​ว่า​เขา​ยัง​อายุ​ไม่​มาก เด็ก ๆ ก็​เรียน​รู้​ที่​จะ​มี​มารยาท​และ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​ได้. โดย​วิธี​ใด? นาย​แพทย์​ไคล์ พรูเอตต์​กล่าว​ใน​วารสาร​แพเรนตส์ ว่า “วิธี​ที่​จะ​ปลูกฝัง​เด็ก​ให้​รู้​จัก​ขอบคุณ​ผู้​อื่น​ได้​ดี​ที่​สุด​ก็​คือ​การ​แสดง​ให้​ลูก​เห็น​ว่า​คุณ​กล่าว​ขอบคุณ​คน​ใน​บ้าน​เป็น​ประจำ.” เขา​กล่าว​เสริม​ว่า “นี่​หมาย​ความ​ว่า​คุณ​ควร​ทำ​เป็น​นิสัย​ที่​จะ​กล่าว​ขอบคุณ​เมื่อ​คน​อื่น​ทำ​อะไร​ให้​คุณ​หรือ​แสดง​น้ำใจ​แก่​คุณ . . . เรื่อง​นี้​ต้อง​มี​การ​ฝึกฝน​อย่าง​มาก.”

ริชาร์ด พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​บริเตน​พยายาม​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น เขา​กล่าว​ว่า “ผม​กับ​ภรรยา​แสดง​ให้​ลูก​เห็น​วิธี​ที่​เรา​ขอบคุณ​คน​อื่น​ที่​ช่วยเหลือ​เรา เช่น ครู​ที่​โรง​เรียน​หรือ​ปู่​ย่า​ตา​ยาย. ทุก​ครั้ง​ที่​เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​รับประทาน​อาหาร​ร่วม​กับ​ครอบครัว​หนึ่ง เรา​จะ​เขียน​การ์ด​ขอบคุณ และ​เด็ก​ทุก​คน​จะ​ลง​ชื่อ​หรือ​วาด​รูป​ใน​การ์ด​ใบ​นั้น.” การ​เป็น​คน​สุภาพ​และ​รู้​จัก​ขอบคุณ​จะ​ช่วย​ลูก​ของ​คุณ​ให้​มี​สัมพันธภาพ​ที่​ใกล้​ชิด​และ​ยั่งยืน​กับ​ผู้​อื่น​เมื่อ​เขา​โต​ขึ้น.

“อย่า​ละเลย​การ​ตี​สอน​เด็ก”

ขณะ​ที่​ลูก​โต​ขึ้น เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ยิ่ง​ที่​เขา​จะ​เรียน​รู้​ว่า​การ​กระทำ​ของ​เขา​ย่อม​มี​ผล​ตาม​มา. แม้​ว่า​เขา​อายุ​ยัง​น้อย เด็ก​ก็​ต้อง​รับผิดชอบ​การ​กระทำ​ของ​ตน​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ ไม่​เฉพาะ​พ่อ​แม่​เท่า​นั้น แต่​รวม​ถึง​ครู​และ​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง​ด้วย. คุณ​สามารถ​สอน​ลูก​ให้​เข้าใจ​ได้​ว่า​เรา​ต้อง​รับ​ผล​จาก​การ​กระทำ​ของ​เรา. (กาลาเทีย 6:7) โดย​วิธี​ใด?

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “อย่า​ละเลย​การ​ตี​สอน​เด็ก.” (สุภาษิต 23:13, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ​มาตรฐาน) ถ้า​คุณ​อธิบาย​ชัดเจน​แล้ว​ว่า​เขา​จะ​ได้​รับ​ผล​เช่น​ไร​ถ้า​เขา​ทำ​ผิด​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง ก็​อย่า​กลัว​ที่​จะ​ทำ​ตาม​ที่​คุณ​พูด. นอร์​มา แม่​คน​หนึ่ง​ใน​อาร์เจนตินา​กล่าว​ว่า “ความ​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​มาก. ถ้า​ไม่​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย เด็ก​จะ​ควบคุม​สถานการณ์​ให้​เป็น​ไป​อย่าง​ที่​เขา​ต้องการ.”

ถ้า​พ่อ​แม่​บอก​ให้​ลูก​เข้าใจ​ชัดเจน​ก่อน​ว่า​ผล​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ถ้า​เขา​ไม่​เชื่อ​ฟัง พ่อ​แม่​ก็​จะ​เลี่ยง​การ​โต้​เถียง​กับ​ลูก​บ่อย ๆ หลัง​จาก​ลูก​ทำ​ผิด. เด็ก​มัก​จะ​ไม่​ต่อ​ต้าน​ถ้า​เขา​รู้​กฎ​และ​รู้​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ถ้า​เขา​ฝ่าฝืน​กฎ รวม​ทั้ง​เข้าใจ​ด้วย​ว่า​บท​ลง​โทษ​นั้น​ไม่​อาจ​ต่อ​รอง​ได้.

แน่นอน การ​ลง​โทษ​จะ​ได้​ผล​ก็​ต้อง​ไม่​ทำ​ด้วย​ความ​โมโห. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ขจัด​ความ​ขุ่น​แค้น ความ​โกรธ การ​เดือดดาล การ​ตวาด และ​การ​พูด​หยาบ​หยาม​ออก​ไป​เสีย​ให้​หมด.” (เอเฟโซส์ 4:31) การ​ลง​โทษ​ไม่​ควร​เป็น​แบบ​โหด​ร้าย​และ​ไม่​ควร​รุนแรง​เกิน​เหตุ​ทั้ง​ต่อ​ร่าง​กาย​หรือ​จิตใจ​ของ​ลูก.

แต่​คุณ​จะ​คุม​อารมณ์​ได้​อย่าง​ไร​ถ้า​ลูก​ทำ​ให้​คุณ​โมโห​จริง ๆ? ปีเตอร์ พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​นิวซีแลนด์​ยอม​รับ​ว่า “บาง​ครั้ง​ก็​ไม่​ง่าย แต่​เด็ก​จำเป็น​ต้อง​เรียน​รู้​ว่า​ที่​เขา​ถูก​ลง​โทษ​นั้น​เป็น​เพราะ​การ​กระทำ​ของ​เขา ไม่​ใช่​เพราะ​พ่อ​แม่​ควบคุม​อารมณ์​ไม่​อยู่.”

ปีเตอร์​และ​ภรรยา​พยายาม​ช่วย​ลูก​ให้​เข้าใจ​ประโยชน์​ระยะ​ยาว​ของ​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข. เขา​บอก​ว่า “ถึง​แม้​ลูก​จะ​ทำ​อะไร​ที่​แย่​มาก ๆ เรา​ก็​ยัง​เน้น​กับ​เขา​ว่า​เขา​ควร​เป็น​คน​อย่าง​ไร​แทน​ที่​จะ​พูด​ถึง​แต่​ความ​ผิด​ที่​เขา​เพิ่ง​ทำ.”

“ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล”

พระเจ้า​ตรัส​ถึง​การ​แก้ไข​ที่​พระองค์​ทำ​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ว่า “เรา​จะ​ตี​สอน​เจ้า​ตาม​ขนาด.” (ยิระมะยา 46:28, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ​มาตรฐาน) คุณ​จะ​ได้​รับ​ผล​ดี​ที่​สุด​ถ้า​คุณ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​อย่าง​ยุติธรรม​และ​ใน​ระดับ​ที่​เหมาะ​สม​กับ​ความ​ผิด. เปาโล​เขียน​ไป​ยัง​คริสเตียน​ว่า “ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล.”—ฟิลิปปอย 4:5

การ​มี​เหตุ​ผล​หมาย​รวม​ถึง​การ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​ใน​วิธี​ที่​ไม่​ทำ​ให้​เด็ก​รู้สึก​เสีย​หน้า. ซาน​ติ พ่อ​คน​หนึ่ง​ใน​อิตาลี​กล่าว​ว่า “ผม​ไม่​เคย​ดูถูก​ลูก​ชาย​หรือ​ลูก​สาว. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น ผม​พยายาม​หา​สาเหตุ​ของ​ปัญหา​และ​แก้ไข​เรื่อง​นั้น. ผม​จะ​ไม่​ทำ​โทษ​ลูก ๆ ต่อ​หน้า​คน​อื่น แม้​แต่​ต่อ​หน้า​ลูก​อีก​คน​หนึ่ง ถ้า​เป็น​ไป​ได้. และ​ผม​จะ​ไม่​เอา​เรื่อง​ที่​ลูก​ทำ​ผิด​พลาด​ไป​เล่า​เป็น​เรื่อง​ตลก​ให้​คน​อื่น​ฟัง​หรือ​ล้อ​เขา​เล่น​เมื่อ​อยู่​ด้วย​กัน​ตาม​ลำพัง.”

ริชาร์ด​ที่​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​เห็น​ด้วย​ว่า​เป็น​เรื่อง​สุขุม​ที่​จะ​มี​เหตุ​ผล. เขา​กล่าว​ว่า “การ​ลง​โทษ​ไม่​ควร​เป็น​แบบ​สะสม. หมาย​ความ​ว่า​ถ้า​เด็ก​ทำ​ผิด​เรื่อง​ใหม่​ก็​ไม่​ควร​ลง​โทษ​หนัก​ขึ้น. หลัง​จาก​ที่​คุณ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​แล้ว สำคัญ​ที่​คุณ​จะ​ไม่​พูด​ย้ำ​ความ​ผิด​ของ​ลูก​อีก​เรื่อย ๆ.”

การ​เลี้ยง​ดู​ลูก​เป็น​งาน​ที่​ยาก​ซึ่ง​ต้อง​เสีย​สละ​ตัว​เอง แต่​ก็​นำ​มา​ซึ่ง​บำเหน็จ​อัน​อุดม. เยเลนา แม่​คน​หนึ่ง​ใน​รัสเซีย​รู้สึก​อย่าง​นั้น. เธอ​พูด​ว่า “ดิฉัน​เลือก​ทำ​งาน​ไม่​เต็ม​เวลา​เพื่อ​จะ​มี​เวลา​อยู่​กับ​ลูก​ชาย​มาก​ขึ้น. นั่น​ต้อง​ใช้​ความ​พยายาม​และ​ทำ​ให้​เสีย​ราย​ได้​ไป​บ้าง แต่​ก็​คุ้ม​ที่​จะ​เสีย​สละ​เช่น​นั้น​เพราะ​ดิฉัน​ได้​เห็น​ลูก​ชาย​มี​ความ​สุข​และ​ทำ​ให้​เรา​ใกล้​ชิด​กัน​มาก​ขึ้น.”

[ภาพ​หน้า 11]

เด็ก​เรียน​รู้​ที่​จะ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​ได้

[ภาพ​หน้า 12]

จง​ว่า​กล่าว​แก้ไข​เด็ก​ใน​วิธี​ที่​ไม่​ทำ​ให้​เด็ก​รู้สึก​เสีย​หน้า