ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วัยรุ่น—เตรียมตัวเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่

วัยรุ่น—เตรียมตัวเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่

วัยรุ่น—เตรียม​ตัว​เพื่อ​จะ​เป็น​ผู้​ใหญ่

ลอง​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​เพิ่ง​เดิน​ทาง​จาก​เกาะ​เขต​ร้อน​สู่​เขต​ขั้ว​โลก​เหนือ. ทันที​ที่​คุณ​ก้าว​ออก​มา​จาก​เครื่องบิน คุณ​ก็​รู้​ตัว​ว่า​อยู่​ใน​เขต​ที่​หนาว​จัด. คุณ​จะ​อยู่​ได้​ไหม? ได้​สิ แต่​คุณ​ต้อง​ปรับ​ตัว.

เรื่อง​นี้​คล้าย​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​ประสบ​เมื่อ​ลูก​ของ​คุณ​โต​เป็น​วัยรุ่น. ราว​กับ​ว่า​สภาพ​อากาศ​เปลี่ยน​ไป​เพียง​ชั่ว​ข้าม​คืน. เด็ก​ชาย​ที่​ไม่​ยอม​อยู่​ห่าง​จาก​คุณ​ตอน​นี้​กลับ​ชอบ​อยู่​กับ​เพื่อน ๆ มาก​กว่า. เด็ก​หญิง​ที่​กระตือรือร้น​อยาก​เล่า​เรื่อง​ต่าง ๆ ให้​คุณ​ฟัง​ตอน​นี้​กลับ​ตอบ​คุณ​เพียง​ไม่​กี่​คำ.

“ที่​โรง​เรียน​เป็น​อย่าง​ไร​บ้าง?” คุณ​ถาม.

“ก็​ดี​ค่ะ” ลูก​ของ​คุณ​ตอบ.

เงียบ.

“ลูก​คิด​อะไร​อยู่?” คุณ​ถาม.

“เปล่า​นี่​คะ” ลูก​ตอบ.

แล้ว​ก็​เงียบ​อีก.

เกิด​อะไร​ขึ้น? หนังสือ​ถอด​รหัส (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ไม่​นาน​ก่อน​หน้า​นี้ “ลูก​จะ​เล่า​ทุก​สิ่ง​ใน​ชีวิต​เขา​ให้​คุณ​ฟัง เปรียบ​เหมือน​กับ​คุณ​มี​บัตร​ผ่าน​เข้า​ไป​หลัง​เวที​การ​แสดง​คอนเสิร์ต. แต่​ตอน​นี้​คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​ได้​แต่​ดู​ลูก​วัยรุ่น​เติบโต​ขึ้น​และ​ไม่​มี​โอกาส​ช่วย​เขา​ได้ เหมือน​กับ​คุณ​ต้อง​ไป​นั่ง​ใน​หมู่​ผู้​ชม ทั้ง​ยัง​เป็น​ที่​นั่ง​ที่​ไม่​ค่อย​ดี​นัก.”

คุณ​จำ​ต้อง​ยอม​รับ​สภาพ​ว่า​ลูก​ห่าง​เหิน​จาก​คุณ​ไป​แล้ว​อย่าง​นั้น​ไหม? ไม่​เลย. คุณ​ยัง​สนิทสนม​กับ​ลูก​ของ​คุณ​ได้​ขณะ​ที่​เขา​เป็น​วัยรุ่น. แต่​ก่อน​อื่น คุณ​ต้อง​เข้าใจ​ว่า​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​บ้าง​ใน​ช่วง​วัย​ที่​น่า​ทึ่ง​แต่​บาง​ครั้ง​ก็​สับสน​นี้.

จาก​วัย​เด็ก​สู่​วัย​ผู้​ใหญ่

นัก​วิจัย​เคย​คิด​กัน​ว่า​สมอง​ของ​เด็ก​พัฒนา​เกือบ​เต็ม​ที่​แล้ว​ตั้ง​แต่​อายุ​ห้า​ขวบ. ปัจจุบัน พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​แม้​ขนาด ของ​สมอง​แทบ​ไม่​เปลี่ยน​ไป​เลย​ตั้ง​แต่​ห้า​ขวบ แต่​การ​ทำ​งาน ของ​สมอง​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​นั้น. เมื่อ​เด็ก​เข้า​สู่​วัย​แรก​รุ่น จะ​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ขนาน​ใหญ่​กับ​ระดับ​ฮอร์โมน​ซึ่ง​ทำ​ให้​วิธี​คิด​ของ​เด็ก​เปลี่ยน​ไป. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขณะ​ที่​เด็ก​เล็ก​มอง​ทุก​สิ่ง​เป็น​รูปธรรม​หรือ​แบบ​แคบ ๆ แต่​วัยรุ่น​มัก​จะ​มี​แนว​คิด​เชิง​นามธรรม​และ​มอง​ลึก​ไป​ถึง​แก่น​ของ​เรื่อง. (1 โครินท์ 13:11) วัยรุ่น​มี​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง และ​พวก​เขา​ไม่​กลัว​ที่​จะ​แสดง​ความ​เห็น​ออก​มา.

ปาโอโล​ซึ่ง​อยู่​ที่​อิตาลี​เห็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​เหล่า​นี้​ใน​ตัว​ลูก​วัยรุ่น​ของ​เขา. เขา​พูด​ว่า “เมื่อ​ผม​มอง​ลูก​ชาย​ของ​ผม ผม​รู้สึก​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว ไม่​ใช่​เด็ก​อีก​ต่อ​ไป. ไม่​ใช่​เพราะ​ร่าง​กาย​ของ​เขา​เปลี่ยน​ไป​เท่า​นั้น. สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ผม​ทึ่ง​ที่​สุด​คือ​ความ​คิด​ความ​อ่าน​ของ​เขา. เขา​ไม่​กลัว​ที่​จะ​แสดง​ความ​เห็น​ของ​ตัว​เอง​และ​ชี้​แจง​เหตุ​ผล​สำหรับ​ความ​เห็น​นั้น!”

คุณ​เห็น​ว่า​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​เป็น​อย่าง​นี้​ด้วย​ไหม? ตอน​เป็น​เด็ก เขา​อาจ​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​อย่าง​เดียว. เพียง​แค่​คุณ​บอก​ว่า “เพราะ​พ่อ​แม่​บอก​อย่าง​นั้น” เขา​ก็​จะ​ทำ​ตาม. ตอน​นี้​พอ​เป็น​วัยรุ่น เขา​ต้องการ​เหตุ​ผล และ​บาง​ที​ถึง​กับ​สงสัย​ใน​มาตรฐาน​ด้าน​ศีลธรรม​ของ​ครอบครัว. บาง​ครั้ง การ​ที่​เขา​ยืนกราน​ทำ​ให้​เขา​ดู​เหมือน​กับ​คน​ขืน​อำนาจ.

แต่​อย่า​เพิ่ง​คิด​ว่า​ลูก​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​มาตรฐาน​ด้าน​ศีลธรรม​ของ​คุณ. เขา​อาจ​กำลัง​ต่อ​สู้​กับ​ตัว​เอง​เพื่อ​จะ​ยอม​รับ​มาตรฐาน​นั้น. ยก​ตัว​อย่าง สมมุติ​ว่า​คุณ​กำลัง​ย้าย​บ้าน​และ​เอา​เครื่อง​เรือน​ไป​ด้วย. เป็น​เรื่อง​ง่าย​ไหม​ที่​จะ​หา​มุม​เหมาะ ๆ สำหรับ​เครื่อง​เรือน​แต่​ละ​ชิ้น? คง​ไม่​ง่าย. แต่​ที่​แน่นอน​ก็​คือ คุณ​จะ​ไม่​ทิ้ง​ของ​ที่​คุณ​ถือ​ว่า​มี​ค่า.

ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​เผชิญ​สถานการณ์​คล้าย ๆ กัน​ขณะ​ที่​เตรียม​ตัว​สำหรับ​เวลา​ที่​เขา​ต้อง “ละ​บิดา​มารดา​ของ​ตน.” (เยเนซิศ 2:24) จริง​อยู่ อาจ​ยัง​อีก​นาน​กว่า​จะ​ถึง​วัน​นั้น เพราะ​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​ยัง​ไม่ เป็น​ผู้​ใหญ่. แต่​ใน​บาง​แง่ เขา​กำลัง​เตรียม​ตัว​ตั้ง​แต่​ตอน​นี้. ตลอด​ช่วง​วัยรุ่น เขา​ตรวจ​สอบ​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​ที่​เขา​ถูก​สอน​มา และ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เรื่อง​ใด​ที่​เขา​จะ​ยอม​รับ​เมื่อ​เขา​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่. *

คุณ​อาจ​กังวล​เมื่อ​คิด​ว่า​ลูก​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้. แต่​คุณ​แน่​ใจ​ได้​ว่า เมื่อ​เขา​เป็น​ผู้​ใหญ่ เขา​จะ​ยึด​ถือ​แต่​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​ที่​ตัว​เขา​เอง ถือ​ว่า​มี​ค่า. ฉะนั้น ตอน​ที่​ลูก​วัยรุ่น​ยัง​อยู่​กับ​คุณ​ที่​บ้าน​นี่​แหละ​เป็น​เวลา​ที่​เขา​ต้อง​ตรวจ​สอบ​ให้​ดี​ว่า​เขา​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​แบบ​ใด.—กิจการ 17:11

ที่​จริง นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น. เพราะ​ถ้า​ตอน​นี้​เขา​ยอม​รับ​มาตรฐาน​ของ​คุณ โดย​ไม่​สงสัย ต่อ​ไป​เขา​อาจ​ยอม​รับ​มาตรฐาน​ของ​คน​อื่น โดย​ไม่​สงสัย​เหมือน​กัน. (เอ็กโซโด 23:2) คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​คน​หนุ่ม​สาว​เช่น​นั้น​ว่า​เป็น​คน​ถูก​ล่อ​ลวง​ได้​ง่าย เพราะ “ไร้​ความ​เข้าใจ.” (สุภาษิต 7:7) วัยรุ่น​ที่​จิตใจ​ไม่​หนักแน่น​อาจ “ถูก​ซัด​ไป​ซัด​มา​เหมือน​โดน​คลื่น​และ​ถูก​พา​ไป​ทาง​นั้น​บ้าง​ทาง​นี้​บ้าง​โดย​ลม​แห่ง​คำ​สอน​ทุก​อย่าง​ด้วย​กล​อุบาย​ของ​มนุษย์.”—เอเฟโซส์ 4:14

คุณ​จะ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​เรื่อง​นี้​กับ​ลูก​ได้​อย่าง​ไร? จง​ช่วย​ให้​เขา​มี​สาม​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ต่อ​ไป​นี้:

1 วิจารณญาณ

อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “คน​ที่​เป็น​ผู้​ใหญ่ . . . ฝึก​ใช้​วิจารณญาณ​เพื่อ​จะ​แยก​ออก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด.” (ฮีบรู 5:14) คุณ​อาจ​พูด​ว่า ‘แต่​ฉัน​สอน​ลูก​ให้​แยก​ออก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด​มา​หลาย​ปี​แล้ว.’ แน่นอน การ​ฝึกฝน​นั้น​เป็น​ประโยชน์​กับ​เขา​ใน​ขณะ​นั้น​และ​เตรียม​เขา​ให้​พร้อม​สำหรับ​วัยรุ่น. (2 ติโมเธียว 3:14) แต่​กระนั้น เปาโล​กล่าว​ว่า​คน​เรา​ต้อง​ฝึก​ใช้​วิจารณญาณ. แม้​เด็ก​เล็ก ๆ อาจ​รู้​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด แต่​วัยรุ่น​ต้อง “มี​ความ​คิด​ความ​เข้าใจ อย่าง​ผู้​ซึ่ง​เติบโต​เต็ม​ที่.” (1 โครินท์ 14:20; สุภาษิต 1:4; 2:11) คุณ​คง​ต้องการ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​ใช้​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​ถี่ถ้วน ไม่​ใช่​เชื่อ​ฟัง​โดย​ไม่​คิด. (โรม 12:1, 2) คุณ​จะ​ช่วย​เขา​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

วิธี​หนึ่ง​คือ​ให้​เขา​พูด​ออก​มา​ว่า​เขา​รู้สึก​อย่าง​ไร. อย่า​ขัด​จังหวะ และ​พยายาม​อย่า​ตี​โพย​ตี​พาย แม้​เขา​จะ​พูด​อะไร​ที่​คุณ​ไม่​อยาก​ได้​ยิน. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ทุก​คน​ต้อง​ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด ช้า​ใน​การ​โกรธ.” (ยาโกโบ 1:19; สุภาษิต 18:13) ยิ่ง​กว่า​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ใจ​เต็ม​ไป​ด้วย​สิ่ง​ใด ปาก​ก็​พูด​ตาม​นั้น.” (มัดธาย 12:34) ถ้า​คุณ​ฟัง คุณ​จะ​เข้าใจ​ว่า​ที่​แท้​แล้ว​ลูก​วัยรุ่น​กังวล​เรื่อง​อะไร.

เมื่อ​คุณ​พูด พยายาม​ใช้​คำ​ถาม​แทน​ที่​จะ​พูด​เชิง​บังคับ. บาง​ครั้ง​พระ​เยซู​ถาม​ว่า “เจ้า​ทั้ง​หลาย​คิด​อย่าง​ไร?” เพื่อ​ให้​ทั้ง​สาวก​ของ​พระองค์​และ​คน​ที่​ดื้อดึง​พูด​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​ออก​มา. (มัดธาย 21:23, 28) คุณ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​กับ​ลูก​วัยรุ่น​ได้ แม้​แต่​เมื่อ​เขา​แสดง​ทัศนะ​ที่​ขัด​แย้ง​กับ​ความ​คิด​ของ​คุณ. ตัว​อย่าง​เช่น:

ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​พูด​ว่า: “ผม​ไม่​รู้​ว่า​ผม​เชื่อ​พระเจ้า​หรือ​เปล่า.”

แทน​ที่​จะ​พูด​ว่า: “ลูก​ลืม​ที่​พ่อ​แม่​สอน​ได้​อย่าง​ไร ลูก​ก็​เชื่อ​พระเจ้า​อยู่​แล้ว!”

คุณ​อาจ​พูด​ว่า: “อะไร​ทำ​ให้​ลูก​รู้สึก​อย่าง​นั้น?”

ทำไม​คุณ​ควร​พยายาม​ให้​ลูก​เล่า​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​ออก​มา? เพราะ​แม้​คุณ​จะ​ได้​ยิน​แล้ว​ว่า​เขา​พูด อะไร แต่​คุณ​ต้อง​พยายาม​รู้​ว่า​เขา​คิด อะไร. (สุภาษิต 20:5) ลูก​อาจ​ไม่​ได้​สงสัย​ว่า​พระเจ้า​มี​จริง​ไหม แต่​อาจ​สงสัย​เรื่อง​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​ก็​ได้.

ตัว​อย่าง​เช่น วัยรุ่น​ที่​ถูก​กดดัน​ให้​ฝ่าฝืน​กฎหมาย​ด้าน​ศีลธรรม​ของ​พระเจ้า​อาจ​พยายาม​ทำ​ให้​ความ​ประพฤติ​เช่น​นั้น​ไม่​ผิด​โดย​จงใจ​ไม่​เชื่อ​พระเจ้า. (บทเพลง​สรรเสริญ 14:1) เขา​อาจ​หา​เหตุ​ผล​ว่า ‘ถ้า​พระเจ้า​ไม่​มี​จริง ฉัน​ก็​ไม่​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม​มาตรฐาน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.’

ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​ดู​เหมือน​คิด​แบบ​นั้น อาจ​จำเป็น​ต้อง​หา​เหตุ​ผล​กับ​เขา​เกี่ยว​กับ​คำ​ถาม​ที่​ว่า ฉัน​เชื่อ​ไหม​ว่า​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประโยชน์​กับ​ฉัน​จริง ๆ? (ยะซายา 48:17, 18) ถ้า​เขา​เชื่อ​ว่า​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประโยชน์​กับ​เขา​อยู่​แล้ว ก็​ช่วย​เขา​ให้​เห็น​ว่า​สวัสดิภาพ​ของ​เขา​มี​ค่า​คู่​ควร​ที่​จะ​ปก​ป้อง​ไว้.—กาลาเทีย 5:1

ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​พูด​ว่า: “นี่​เป็น​ศาสนา​ของ​พ่อ​กับ​แม่ แต่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​เป็น​ศาสนา​ของ​ผม ด้วย.”

แทน​ที่​จะ​พูด​ว่า: “นี่​เป็น​ศาสนา​ของ​ลูก​ด้วย. ลูก​เป็น​ลูก​ของ​พ่อ​แม่ และ​ลูก​ต้อง​เชื่อ​อย่าง​ที่​พ่อ​แม่​บอก​ให้​ลูก​เชื่อ.”

คุณ​อาจ​พูด​ว่า: “ลูก​คิด​ขนาด​นั้น​เลย​หรือ? ถ้า​ลูก​ไม่​ยอม​รับ​สิ่ง​ที่​พ่อ​แม่​เชื่อ ลูก​ก็​ต้อง​มี​ความ​เชื่อ​แบบ​อื่น. แล้ว​ลูก​เชื่อ​อะไร​ล่ะ? ลูก​คิด​ว่า​เรา​ควร​ปฏิบัติ​ตาม​หลักการ​แบบ​ไหน?”

ทำไม​คุณ​ควร​พยายาม​ให้​ลูก​เล่า​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​ออก​มา? เพราะ​การ​หา​เหตุ​ผล​กับ​เขา​เช่น​นี้​อาจ​ช่วย​เขา​ให้​ตรวจ​สอบ​ความ​คิด​ของ​ตน. เขา​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​พบ​ว่า​สิ่ง​ที่​เขา​เชื่อ​ก็​เหมือน​กับ​ที่​คุณ​เชื่อ แต่​ที่​แท้​แล้ว​เขา​กังวล​กับ​เรื่อง​อื่น​มาก​กว่า.

เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ลูก​วัยรุ่น​อาจ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​อธิบาย​ความ​เชื่อ​ของ​เขา​กับ​คน​อื่น​อย่าง​ไร. (โกโลซาย 4:6; 1 เปโตร 3:15) หรือ​เขา​อาจ​รู้สึก​ชอบ​เพศ​ตรง​ข้าม​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​ไป​จาก​เขา. จง​พยายาม​เข้าใจ​สาเหตุ​ที่​แท้​จริง และ​ช่วย​ลูก​ให้​ทำ​อย่าง​นั้น​ด้วย. ยิ่ง​เขา​ใช้​วิจารณญาณ​มาก​เท่า​ไร เขา​ก็​ยิ่ง​พร้อม​สำหรับ​การ​เป็น​ผู้​ใหญ่​มาก​เท่า​นั้น.

2 การ​ชี้​แนะ​จาก​ผู้​ใหญ่

ใน​บาง​วัฒนธรรม​สมัย​ปัจจุบัน เรา​แทบ​ไม่​พบ “ปัญหา​และ​ความ​วุ่นวาย” ใน​วัยรุ่น​ซึ่ง​นัก​จิตวิทยา​บาง​คน​อ้าง​ว่า​เป็น​เรื่อง​ปกติ. นัก​วิจัย​พบ​ว่า​วัยรุ่น​ใน​สังคม​เช่น​นั้น​ใช้​ชีวิต​แบบ​ผู้​ใหญ่​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย. พวก​เขา​ทำ​งาน​กับ​ผู้​ใหญ่ คบหา​กับ​ผู้​ใหญ่ และ​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​แบบ​ผู้​ใหญ่. สังคม​เหล่า​นั้น​ไม่​มี​คำ​ว่า “การ​กระทำ​ผิด​ทาง​อาญา​ของ​เยาวชน” ใน​ภาษา​ของ​เขา และ​ไม่​มี​แม้​แต่​คำ​ว่า “วัยรุ่น.”

ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม ขอ​ให้​คิด​ถึง​สภาพการณ์​ของ​วัยรุ่น​ใน​หลาย​ดินแดน. พวก​เขา​ต้อง​เข้า​โรง​เรียน​ที่​มี​นัก​เรียน​มาก​เกิน​ไป และ​คน​ที่​พวก​เขา​จะ​คบหา​ได้​ก็​มี​แต่​วัยรุ่น​ด้วย​กัน. เมื่อ​กลับ​ถึง​บ้าน ก็​ไม่​มี​ใคร​อยู่. ทั้ง​พ่อ​และ​แม่​ไป​ทำ​งาน. ญาติ ๆ ก็​อยู่​ไกล. กลุ่ม​คน​ที่​พวก​เขา​จะ​คบหา​ได้​ง่าย​ที่​สุด​ก็​คือ​คน​รุ่น​เดียว​กัน. * คุณ​มอง​เห็น​อันตราย​ไหม? ปัญหา​ไม่​ได้​เกิด​จาก​การ​คบ​เพื่อน​ที่​ไม่​ดี​เท่า​นั้น. นัก​วิจัย​พบ​ว่า​แม้​แต่​เยาวชน​ที่​เป็น​แบบ​อย่าง​ที่​ดี​ก็​อาจ​ประพฤติ​ตัว​เหลวไหล​ได้ ถ้า​พวก​เขา​ไม่​ได้​ใช้​ชีวิต​ร่วม​กับ​ผู้​ใหญ่.

สังคม​หนึ่ง​ที่​ไม่​ได้​แบ่ง​แยก​ระหว่าง​หนุ่ม​สาว​กับ​ผู้​ใหญ่​คือ​สังคม​ของ​ชาว​อิสราเอล​โบราณ. * ยก​ตัว​อย่าง คัมภีร์​ไบเบิล​เล่า​เรื่อง​ของ​อูซียาห์​ซึ่ง​เป็น​กษัตริย์​ของ​ยูดาห์​ตั้ง​แต่​ยัง​เป็น​วัยรุ่น. อะไร​ช่วย​อูซียาห์​แบก​รับ​หน้า​ที่​อัน​หนัก​หน่วง​นี้? ดู​เหมือน​ว่า ส่วน​หนึ่ง​เป็น​เพราะ​ท่าน​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​ผู้​ใหญ่​ที่​ชื่อ​เซคาระยาห์ ซึ่ง​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​ว่า​เป็น “ผู้​สอน​ให้​รู้​จัก​เกรง​กลัว​พระเจ้า​องค์​เที่ยง​แท้.”—2 โครนิกา 26:5, ล.ม.

ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​มี​ผู้​ใหญ่​ที่​คอย​ให้​คำ​ปรึกษา​ไหม ซึ่ง​เป็น​คน​ที่​ยึด​ถือ​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​อย่าง​เดียว​กับ​คุณ? อย่า​อิจฉา​ที่​คน​นั้น​คอย​ช่วยเหลือ​ลูก​ของ​คุณ. เขา​อาจ​ช่วย​ลูก​วัยรุ่น​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ได้. สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “คน​ที่​เดิน​กับ​คน​มี​ปัญญา​จะ​กลาย​เป็น​คน​มี​ปัญญา.”—สุภาษิต 13:20, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ​มาตรฐาน

3 การ​รู้​จัก​รับผิดชอบ

ใน​บาง​ดินแดน กฎหมาย​ห้าม​ไม่​ให้​เยาวชน​ทำ​งาน​เกิน​กว่า​จำนวน​ชั่วโมง​ที่​กำหนด​ไว้​ต่อ​สัปดาห์​หรือ​ไม่​ให้​ทำ​งาน​บาง​ประเภท. มี​การ​วาง​ข้อ​จำกัด​ดัง​กล่าว​เพื่อ​ปก​ป้อง​เด็ก​ไว้​จาก​สภาพ​การ​ทำ​งาน​ที่​เป็น​อันตราย ซึ่ง​เป็น​ผล​จาก​การ​ปฏิวัติ​อุตสาหกรรม​ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 และ 19.

แม้​กฎหมาย​แรงงาน​เด็ก​จะ​ปก​ป้อง​เยาวชน​ไว้​จาก​อันตราย​และ​การ​ถูก​ทำ​ร้าย แต่​ผู้​เชี่ยวชาญ​บาง​คน​อ้าง​ว่า​ข้อ​จำกัด​เหล่า​นี้​ยัง​ทำ​ให้​วัยรุ่น​ไม่​รู้​จัก​ความ​รับผิดชอบ​อีก​ด้วย. หนังสือ​การ​หลุด​พ้น​จาก​วัยรุ่น​ที่​ไม่​รู้​จัก​โต (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า ผล​ที่​ตาม​มา​ก็​คือ วัยรุ่น​หลาย​คน​กลาย​เป็น “คน​เอา​แต่​ใจ และ​คิด​ว่า​ถ้า​อยาก​ได้​อะไร​คน​อื่น​ต้อง​เอา​มา​ให้​โดย​ที่​ตัว​เอง​ไม่​ต้อง​ดิ้นรน​หา​มา.” ผู้​เขียน​กล่าว​ว่า ดู​เหมือน​ไม่​แปลก​ที่​วัยรุ่น​จะ​เกิด​ความ​คิด​แบบ​นี้ เนื่อง​จาก​พวก​เขา “อยู่​ใน​สังคม​ที่​มุ่ง​เน้น​ให้​วัยรุ่น​หา​ความ​สนุกสนาน โดย​แทบ​ไม่​ได้​คาด​หมาย​ให้​เขา​มี​ความ​รับผิดชอบ​ใด ๆ เลย.”

ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม คัมภีร์​ไบเบิล​มี​เรื่อง​ราว​ของ​หนุ่ม​สาว​ซึ่ง​รับ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​สำคัญ​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย. ขอ​พิจารณา​ติโมเธียว ซึ่ง​คง​เป็น​วัยรุ่น​เมื่อ​พบ​กับ​อัครสาวก​เปาโล บุรุษ​ผู้​ก่อ​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​ต่อ​ชีวิต​ของ​ติโมเธียว. ครั้ง​หนึ่ง เปาโล​บอก​ติโมเธียว​ให้ “กระตุ้น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า​ซึ่ง​ท่าน​ได้​รับ . . . ให้​ลุก​โพลง​ดัง​ไฟ.” (2 ติโมเธียว 1:6) เมื่อ​ติโมเธียว​อายุ​ราว ๆ 20 ปี ท่าน​จาก​บ้าน​เพื่อ​เดิน​ทาง​ร่วม​กับ​อัครสาวก​เปาโล ช่วย​ก่อ​ตั้ง​ประชาคม​ต่าง ๆ และ​เสริม​กำลัง​พี่​น้อง. พอ​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ติโมเธียว​มา​ได้​ราว ๆ สิบ​ปี เปาโล​ก็​พูด​กับ​คริสเตียน​ใน​เมือง​ฟิลิปปอย​ได้​ว่า “ข้าพเจ้า​ไม่​มี​ใคร​ที่​มี​น้ำใจ​เหมือน​เขา​ซึ่ง​จะ​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ของ​พวก​ท่าน​อย่าง​แท้​จริง.”—ฟิลิปปอย 2:20

บ่อย​ครั้ง วัยรุ่น​กระตือรือร้น​จะ​รับ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​พวก​เขา​รู้สึก​ว่า​นั่น​เป็น​งาน​ที่​สำคัญ​และ​มี​ประโยชน์. การ​ทำ​เช่น​นี้​ไม่​เพียง​ฝึก​ให้​เขา​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ​ใน​อนาคต แต่​ยัง​เปิด​โอกาส​ให้​เขา​แสดง​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ใน​ตอน​นี้​ด้วย.

ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ “สภาพ​อากาศ” ใหม่

ดัง​ที่​กล่าว​ใน​ตอน​ต้น​ของ​บทความ ถ้า​คุณ​มี​ลูก​วัยรุ่น คุณ​อาจ​รู้สึก​ราว​กับ​ว่า “สภาพ​อากาศ” ใน​ตอน​นี้​ต่าง​ไป​จาก​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​ก่อน. ขอ​ให้​วางใจ​ว่า​คุณ​สามารถ​ปรับ​ตัว​ได้ เหมือน​ที่​คุณ​เคย​ปรับ​ตัว​มา​แล้ว​ระหว่าง​การ​เติบโต​ของ​ลูก​ใน​แต่​ละ​ช่วง.

ให้​มอง​ช่วง​วัยรุ่น​ของ​ลูก​ว่า​เป็น​โอกาส​ที่​คุณ​จะ (1) ช่วย​เขา​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​วิจารณญาณ (2) ช่วย​ให้​เขา​ได้​รับ​การ​ชี้​แนะ​จาก​ผู้​ใหญ่ และ (3) สอน​ให้​ลูก​รู้​จัก​รับผิดชอบ. โดย​การ​ทำ​เช่น​นี้ คุณ​จะ​เตรียม​ลูก​วัยรุ่น​ให้​พร้อม​สำหรับ​การ​เป็น​ผู้​ใหญ่.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 17 หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​เปรียบ​ช่วง​วัยรุ่น​เหมือน​กับ “วัน​แห่ง​การ​ลา​จาก.” สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤษภาคม 2009 หน้า 10-12 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

^ วรรค 38 ความ​บันเทิง​สำหรับ​วัยรุ่น​มัก​จะ​ใช้​ประโยชน์​จาก​แนว​โน้ม​ของ​วัยรุ่น​ที่​ชอบ​อยู่​กับ​เพื่อน ๆ และ​ส่ง​เสริม​แนว​คิด​ที่​ว่า​หนุ่ม​สาว​มี​สังคม​ของ​ตัว​เอง​ซึ่ง​ผู้​ใหญ่​ไม่​เข้าใจ​หรือ​เข้า​ไม่​ถึง.

^ วรรค 39 คำ​ว่า “วัยรุ่น” ไม่​มี​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ดู​เหมือน​ว่า ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ที่​เป็น​หนุ่ม​สาว​ทั้ง​ก่อน​ยุค​คริสเตียน​และ​ใน​ยุค​คริสเตียน​เริ่ม​ใช้​ชีวิต​แบบ​ผู้​ใหญ่​ตั้ง​แต่​ตอน​ที่​อายุ​ยัง​น้อย​เมื่อ​เทียบ​กับ​หนุ่ม​สาว​ใน​หลาย​วัฒนธรรม​ใน​ปัจจุบัน.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 20]

“ฉัน​มี​พ่อ​แม่​ที่​ดี​ที่​สุด”

โดย​การ​สอน​และ​การ​วาง​ตัว​อย่าง พ่อ​แม่​ที่​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สอน​ลูก ๆ ให้​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. (เอเฟโซส์ 6:4) อย่าง​ไร​ก็​ดี พวก​เขา​ไม่​บังคับ​ลูก​ให้​ทำ​ตาม​หลักการ​นั้น. พ่อ​แม่​ที่​เป็น​พยาน​ฯ รู้​ดี​ว่า​เมื่อ​ลูก​แต่​ละ​คน​โต​พอ เขา​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เอง​ว่า​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​แบบ​ใด.

แอช​ลิน อายุ 18 ปี ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​ที่​พ่อ​แม่​สอน. เธอ​บอก​ว่า “ฉัน​ไม่​ได้​นับถือ​ศาสนา​แค่​วัน​เดียว​ใน​สัปดาห์. ศาสนา​เป็น​วิถี​ชีวิต​ของ​ฉัน. ศาสนา​มี​ผล​ต่อ​ทุก​สิ่ง​ที่​ฉัน​ทำ​และ​การ​ตัดสิน​ใจ​ทุก​อย่าง​ของ​ฉัน ตั้ง​แต่​เรื่อง​เพื่อน เรื่อง​การ​เรียน​ไป​จน​ถึง​หนังสือ​ที่​ฉัน​จะ​อ่าน.”

แอช​ลิน​เห็น​คุณค่า​การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​ของ​พ่อ​แม่​เธอ​ที่​เป็น​คริสเตียน. เธอ​พูด​ว่า “ฉัน​มี​พ่อ​แม่​ที่​ดี​ที่​สุด และ​น่า​ดีใจ​ที่​ท่าน​ปลูกฝัง​ให้​ฉัน​อยาก​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา. พ่อ​แม่​จะ​คอย​ชี้​แนะ​ฉัน​ต่อ​ไป​ตราบ​เท่า​ที่​ฉัน​จะ​มี​ชีวิต​อยู่.”

[ภาพ​หน้า 17]

เปิด​โอกาส​ให้​ลูก​วัยรุ่น​พูด​ออก​มา

[ภาพ​หน้า 18]

ผู้​ใหญ่​ที่​ให้​คำ​ปรึกษา​ก่อ​ผล​กระทบ​ที่​ดี​ต่อ​ลูก​ได้

[ภาพ​หน้า 19]

งาน​ที่​มี​ประโยชน์​ช่วย​วัยรุ่น​ให้​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ