ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์แห่งยุคกลาง

ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์แห่งยุคกลาง

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ดาราศาสตร์​แห่ง​ยุค​กลาง

ตลอด​ประวัติศาสตร์ มนุษย์​รู้สึก​อัศจรรย์​ใจ​เมื่อ​มอง​ดู​ดวง​อาทิตย์ ดวง​จันทร์ และ​ดวง​ดาว. มนุษย์​ศึกษา​ตำแหน่ง​และ​การ​โคจร​ของ​เทห์ฟากฟ้า​เหล่า​นี้​จน​สามารถ​นับ​วัน​เดือน​ปี​ได้.

ชาว​อาหรับ​เป็น​ชน​ชาติ​หนึ่ง​ซึ่ง​ศึกษา​ท้องฟ้า​ยาม​ค่ำ​คืน. ยุค​ทอง​ของ​วิทยาศาสตร์​ใน​ดินแดน​ตะวัน​ออก​กลาง​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่​เก้า​สากล​ศักราช และ​ถือ​กัน​ว่า​นัก​ดาราศาสตร์​ชาว​อาหรับ​ใน​ยุค​นั้น​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ดาราศาสตร์​เป็น​อย่าง​มาก. ความ​สำเร็จ​ของ​พวก​เขา​มี​ส่วน​สำคัญ​ใน​การ​พัฒนา​วิทยาศาสตร์​ด้าน​นี้​ที่​น่า​หลงใหล. ขอ​ให้​เรา​มา​พิจารณา​กัน​ว่า​เป็น​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร.

ผู้​บุกเบิก​ด้าน​ดาราศาสตร์

ใน​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​และ​แปด ส.ศ. ศาสนา​อิสลาม​ได้​แผ่​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​จาก​คาบสมุทร​อาหรับ​ผ่าน​แอฟริกา​เหนือ​เข้า​ไป​ถึง​สเปน ส่วน​ทาง​ตะวัน​ออก​ได้​แผ่​ไป​ไกล​ถึง​อัฟกานิสถาน. นัก​วิชาการ​ใน​ดินแดน​อัน​กว้าง​ใหญ่​แถบ​นี้​อาศัย​งาน​ค้นคว้า​ทาง​วิทยาศาสตร์​ที่​ตก​ทอด​มา​จาก​เปอร์เซีย​และ​กรีซ ซึ่ง​ได้​รับ​อิทธิพล​อย่าง​มาก​จาก​บาบิโลน​และ​อียิปต์.

จาก​นั้น ใน​ศตวรรษ​ที่​เก้า ตำรา​วิทยาศาสตร์​สำคัญ ๆ ได้​ถูก​แปล​เป็น​ภาษา​อาหรับ มี​ผล​งาน​ของ​ปโตเลมี นัก​ดาราศาสตร์​ชาว​กรีก​เป็น​ต้น. * ราชวงศ์​อับบาซียะห์​ซึ่ง​ครอบครอง​ตั้ง​แต่​อัฟกานิสถาน​จน​ถึง​มหาสมุทร​แอตแลนติก ได้​ตำรา​ภาษา​สันสกฤต​มา​จาก​อินเดีย​ซึ่ง​มี​ความ​รู้​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รวม​ทั้ง​วิทยาศาสตร์​แขนง​อื่น ๆ.

วัฒนธรรม​อิสลาม​ถือ​ว่า​ความ​รู้​ด้าน​ดาราศาสตร์​มี​ค่า​มาก. เพราะ​เหตุ​ใด? เหตุ​ผล​หนึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาสนา​ของ​พวก​เขา. ชาว​มุสลิม​เชื่อ​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​ละ​หมาด​โดย​หัน​ไป​ทาง​นครเมกกะ และ​นัก​ดาราศาสตร์​สามารถ​ชี้​ทิศ​ทาง​ของ​เมกกะ​ได้​ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ที่​ไหน. พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 13 มัสยิด​บาง​แห่ง​ถึง​กับ​จ้าง​นัก​ดาราศาสตร์​มือ​อาชีพ หรือ​มุวักกิต ซึ่ง​ช่วย​ผู้​นมัสการ​ให้​ละ​หมาด​ใน​วิธี​ที่​พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​ถูก​ต้อง. ด้วย​ข้อมูล​ของ​พวก​เขา นัก​ดาราศาสตร์​ยัง​คำนวณ​วัน​ที่​ของ​เหตุ​การณ์​และ​กิจกรรม​ทาง​ศาสนา​ได้​ด้วย เช่น การ​ถือ​ศีล​อด​ใน​เดือน​เราะมะฎอน. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​ยัง​ช่วย​ผู้​ปฏิบัติ​ศาสนกิจ​ซึ่ง​จะ​ไป​ยัง​เมกกะ​ให้​รู้​ระยะ​ทาง​ของ​การ​เดิน​ทาง​และ​วาง​แผน​เส้น​ทาง​ที่​ดี​ที่​สุด.

เงิน​ทุน​จาก​รัฐบาล

พอ​ถึง​ต้น​ศตวรรษ​ที่​เก้า นัก​วิชาการ​ทุก​คน​ใน​กรุง​แบกแดด​ต้อง​ศึกษา​วิชา​ดาราศาสตร์. กาหลิบ​อัลมามูน​ได้​สร้าง​หอ​ดู​ดาว​ขึ้น​ที่​นั่น และ​สร้าง​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ใกล้​เมือง​ดามัสกัส. คณะ​นัก​ภูมิศาสตร์​และ​คณิตศาสตร์​ที่​ทำ​งาน​ให้​เขา​ได้​วิเคราะห์ เปรียบ​เทียบ และ​ศึกษา​ความ​แตกต่าง​ของ​ข้อมูล​ด้าน​ดาราศาสตร์​จาก​เปอร์เซีย อินเดีย และ​กรีซ. มี​การ​สร้าง​หอ​ดู​ดาว​ใน​เมือง​ต่าง ๆ แถบ​ตะวัน​ออก​กลาง​อีก​หลาย​เมือง​ด้วย. *

นัก​วิชาการ​ใน​หอ​ดู​ดาว​เหล่า​นี้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​อย่าง​น่า​ทึ่ง​สำหรับ​ยุค​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น ตั้ง​แต่​ปี 1031 แล้ว​ที่​อาบู รา​ยัน อัล-บิรูนิ​ได้​กล่าว​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​ดาว​เคราะห์​จะ​โคจร​เป็น​รูป​วง​รี ไม่​ใช่​วง​กลม.

วัด​โลก

การ​แผ่​ขยาย​ของ​อิสลาม​กระตุ้น​ให้​มี​ความ​สนใจ​เรื่อง​การ​ทำ​แผนที่​และ​การ​เดิน​เรือ. ช่าง​ทำ​แผนที่​และ​นัก​ภูมิศาสตร์​พยายาม​สร้าง​ผล​งาน​ให้​เที่ยง​ตรง​แม่นยำ​มาก​ขึ้น และ​บ่อย​ครั้ง​พวก​เขา​ทำ​ได้​สำเร็จ. กาหลิบ​อัล-มามูน​ตั้ง​เป้าหมาย​จะ​ทำ​แผนที่​โลก​ที่​แม่นยำ​และ​ระบุ​องศา​ของ​ละติจูด เขา​จึง​ส่ง​นัก​สำรวจ​สอง​คณะ​ไป​ยัง​ทะเล​ทราย​ซีเรีย. ทั้ง​สอง​คณะ​มี​เครื่องวัด​มุม​สูง​ของ​วัตถุ​ท้องฟ้า​แบบ​แอสโตรเลบ รวม​ทั้ง​ไม้​วัด​และ​สาย​วัด. พวก​เขา​เดิน​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม​จน​กระทั่ง​มุม​เงย​ของ​ดาว​เหนือ​เปลี่ยน​ไป​หนึ่ง​องศา. พวก​เขา​รู้​ว่า​ระยะ​ทาง​ที่​พวก​เขา​ได้​เดิน​ทาง​นั้น​เท่า​กับ​หนึ่ง​องศา​ละติจูด หรือ​เศษ​หนึ่ง​ส่วน 360 ของ​เส้น​รอบ​วง​โลก. พวก​เขา​คำนวณ​ว่า​เส้น​รอบ​วง​โลก​ที่​ผ่าน​ขั้ว​เหนือ​ใต้​ของ​โลก​คือ 37,369 กิโลเมตร ซึ่ง​ใกล้​เคียง​มาก​กับ​ตัว​เลข​ที่​แท้​จริง​คือ 40,008 กิโลเมตร!

หอ​ดู​ดาว​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง​มี​เครื่อง​มือ​อัน​ซับซ้อน​น่า​ประทับใจ​หลาย​อย่าง เช่น แอสโตรเลบ ควอแดรนต์ เซกซ์แทนต์ นาฬิกา​แดด และ​เครื่อง​มือ​อื่น ๆ ซึ่ง​ใช้​ใน​การ​ศึกษา​และ​ติด​ตาม​เทห์ฟากฟ้า. เครื่อง​มือ​บาง​อย่าง​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก. ผู้​สร้าง​คิด​ว่า​ยิ่ง​เครื่อง​มือ​มี​ขนาด​ใหญ่​เท่า​ไร​ก็​จะ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น.

มรดก​ที่​นัก​ดาราศาสตร์​ยุค​กลาง​ได้​ละ​ไว้

ความ​สำเร็จ​ของ​เหล่า​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ดาราศาสตร์​ยุค​กลาง​นั้น​น่า​ประทับใจ​มาก. พวก​เขา​บันทึก​และ​วาด​กลุ่ม​ดาว​ต่าง ๆ ตั้ง​ชื่อ​ดาว​หลาย​ดวง คิด​ค้น​ปฏิทิน​ที่​ถูก​ต้อง​มาก​ขึ้น และ​ปรับ​ปรุง​ตาราง​ข้อมูล​การ​โคจร​ของ​เทห์ฟากฟ้า. พวก​เขา​สามารถ​ชี้​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​อาทิตย์ ดวง​จันทร์ และ​ดาว​เคราะห์​ทั้ง​ห้า​ที่​มอง​เห็น​ด้วย​ตา​เปล่า​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​เวลา​ใด​ทั้ง​กลางวัน​และ​กลางคืน ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ช่วย​ได้​มาก​ใน​การ​เดิน​เรือ. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​สามารถ​ดู​เวลา​และ​ปรับ​ปรุง​ปฏิทิน​ให้​ถูก​ต้อง​มาก​ขึ้น​โดย​อาศัย​การ​ดู​ตำแหน่ง​ของ​เทห์ฟากฟ้า​อีก​ด้วย.

ทฤษฎี​ที่​นัก​ดาราศาสตร์​ชาว​อาหรับ​คิด​ค้น​ขึ้น​เพื่อ​อธิบาย​การ​โคจร​ของ​ดาว​เคราะห์​เกือบ​จะ​อธิบาย​ความ​ผิด​ปกติ​ของ​ทฤษฎี​เอกภพ​ของ​ปโตเลมี​ได้​อยู่​แล้ว. เพียง​แต่​พวก​เขา​ไม่​เข้าใจ​ว่า​ดวง​อาทิตย์​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​วงโคจร​ดาว​เคราะห์ ไม่​ใช่​โลก. ถึง​กระนั้น พวก​เขา​ได้​บันทึก​การ​โคจร​ของ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ อย่าง​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​มาก และ​การ​ค้น​พบ​ของ​พวก​เขา​มี​ค่า​อย่าง​ยิ่ง​กับ​นัก​ดาราศาสตร์​รุ่น​หลัง​ทั่ว​โลก.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 ชาว​กรีก​รู้​แล้ว​ว่า​โลก​กลม. พวก​เขา​หา​เหตุ​ผล​ว่า ถ้า​โลก​ไม่​กลม จะ​เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร​ที่​ดาว​เหนือ​อยู่​ต่ำ​ลง​เรื่อย ๆ เมื่อ​คน​เรา​เดิน​ทาง​ไป​ทาง​ใต้?

^ วรรค 9 บ่อย​ครั้ง มี​การ​ก่อ​สร้าง​หอ​ดู​ดาว​เหล่า​นี้​เพราะ​ผู้​ครอง​เมือง​สนใจ​เรื่อง​โหราศาสตร์.

[คำ​โปรย​หน้า 17]

นัก​ดาราศาสตร์​บันทึก​การ​โคจร​ของ​ดาว​เคราะห์​ไว้​ใน​ปูม​หลาย​เล่ม​ซึ่ง​มี​การ​เขียน​ขึ้น​ทั่ว​ดินแดน​ของ​อิสลาม

[กรอบ/ภาพ​หน้า 19]

“คอมพิวเตอร์​พก​พา” แห่ง​ยุค​โบราณ

แอสโตรเลบ ซึ่ง​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​จะ​ถูก​พัฒนา​ต่อ​ไป​เป็น​เซกซ์แทนต์ ถูก​เรียก​ว่า “เครื่อง​มือ​ดาราศาสตร์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ก่อน​จะ​มี​การ​ประดิษฐ์​กล้อง​โทรทรรศน์.” นัก​วิทยาศาสตร์​ยุค​กลาง​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง​ใช้​เครื่อง​มือ​นี้​ใน​การ​แก้​ปัญหา​เรื่อง​เวลา​และ​ตำแหน่ง​ของ เทห์ฟากฟ้า.

แอสโตรเลบ​ประกอบ​ด้วย​แผนที่​ดาว​อัน​ประณีต​บรรจง​สลัก​บน​แผ่น​โลหะ​ขัด​เงา. แผ่น​โลหะ​นี้​ยึด​อยู่​กับ​แผ่น​รอง​ด้าน​ล่าง​ซึ่ง​มี​การ​สลัก​องศา​หรือ​เวลา​ใน​รอบ​วัน​ไว้​ที่​ขอบ​ด้าน​นอก. เข็ม​ชี้​ที่​เลื่อน​ไป​มา​ได้ (อะลิเดด) มี​ไว้​เพื่อ​ระบุ​ค่า​มุม​เงย​ของ​ดาว​เมื่อ​มี​การ​ชู​แอสโตรเลบ​ขึ้น​และ​ห้อย​ไว้​ใน​ระยะ​หนึ่ง​ช่วง​แขน. จาก​นั้น​ก็​มี​การ​อ่าน​ค่า​จาก​สเกล​ที่​สลัก​ไว้ คล้าย​บรรทัด​คำนวณ.

แอสโตรเลบ​ที่​ใช้​ประโยชน์​ได้​หลาย​อย่าง​ช่วย​ให้​ผู้​ใช้​รู้จัก​ดาว​ฤกษ์ คำนวณ​เวลา​อาทิตย์​ขึ้น​และ​ตก รู้​ทิศ​ทาง​ของ​เมกกะ สำรวจ​ภูมิ​ประเทศ คำนวณ​ความ​สูง​ของ​วัตถุ และ​ช่วย​นำ​ทาง. มัน​เป็น “คอมพิวเตอร์​พก​พา” แห่ง​ยุค​นั้น.

[รูป​ภาพ]

แอสโตรเลบ​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 13

ควอดแรนต์​ของ​แอสโตรเลบ​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 14

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Astrolabe: Erich Lessing/Art Resource NY; astrolabe quadrant: © New York Public Library/Photo Researchers Inc.

[ภาพ​หน้า 16]

ภาพ​เขียน​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 16 รูป​นัก​ดาราศาสตร์ ชาว​ออตโตมาน​ซึ่ง​กำลัง​ใช้​วิธี​การ​ที่​นัก​วิชาการ​ชาว​อาหรับ​ได้​คิด​ค้น​ขึ้น

[ภาพ​หน้า 18]

ทรง​กลม​ท้องฟ้า ส.ศ. 1285

[ภาพ​หน้า 18]

หนังสือ​กลุ่ม​ดาว​ภาษา​อาหรับ​ที่​เขียน​โดย​นัก​ดาราศาสตร์​อับดุลราฮ์มาน อัล-ซูฟี ประมาณ ส.ศ. 965

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 17]

Pages 16 and 17: Art Resource NY

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

Manuscript: By permission of the British Library; globe: © The Bridgeman Art Library