ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทหนึ่ง

อะไรคือความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า?

อะไรคือความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า?
  •  พระเจ้าทรงสนใจคุณจริง ๆ ไหม?

  • พระเจ้าทรงเป็นเช่นไร? พระองค์มีพระนามไหม?

  • เป็นไปได้ไหมที่จะเข้าใกล้พระเจ้า?

1, 2. ทำไมบ่อยครั้งเป็นการดีที่จะถามคำถาม?

คุณเคยสังเกตวิธีที่เด็กถามคำถามไหม? เด็กหลายคนเริ่มถามทันทีที่หัดพูด. เด็กเบิกตามองคุณด้วยความอยากรู้ และถามเรื่องต่าง ๆ เช่น ทำไมท้องฟ้าเป็นสีฟ้า? ทำไมดาวมีแสง? ทำไมนกร้องเพลงได้? คุณอาจพยายามจริง ๆ ที่จะตอบ แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป. แม้แต่คำตอบที่ดีที่สุดก็อาจทำให้เด็กถามอีกว่า ทำไม?

2 ไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่ถามคำถาม. เมื่อเราโตขึ้น เราก็ยังถามอยู่เรื่อย ๆ. เราถามเพื่อรู้ทางที่จะไป, เพื่อรู้ว่ามีอันตรายอะไรที่ต้องหลีกเลี่ยง, หรือเพื่อจะสนองความอยากรู้อยากเห็นของเรา. แต่หลายคนดูเหมือนจะเลิกถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่สำคัญที่สุด หรืออย่างน้อยเขาก็เลิกค้นหาคำตอบ.

3. เหตุใดหลายคนเลิกล้มความพยายามที่จะหาคำตอบสำหรับคำถามที่สำคัญที่สุด?

3 ขอให้คิดถึงคำถามที่หน้าปกหนังสือเล่มนี้, คำถามที่ยกขึ้นมาในคำนำ, หรือ คำถามต่าง ๆ ที่อยู่ในตอนต้นของบทนี้. นี่เป็นคำถามบางข้อที่สำคัญที่สุดซึ่งคุณจะถามได้. กระนั้น หลายคนได้เลิกล้มความพยายามที่จะหาคำตอบ. เพราะเหตุใด? คัมภีร์ไบเบิลมีคำตอบไหม? บางคนรู้สึกว่า คำตอบของคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจยากเหลือเกิน. คนอื่น ๆ กลัวว่าการถามคำถามอาจทำให้เขาอับอายขายหน้า. และบางคนตัดสินว่าดีที่สุดที่จะให้ผู้นำศาสนาเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้. แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร?

4, 5. เราอาจถามคำถามสำคัญที่สุดอะไรบ้างเกี่ยวกับชีวิต และเพราะเหตุใดเราควรพยายามค้นหาคำตอบ?

4 เป็นไปได้ว่า คุณอยากรู้คำตอบสำหรับคำถามสำคัญ ๆ เกี่ยวกับชีวิต. แน่นอน บางครั้งคุณนึกสงสัยว่า ‘จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร? ชีวิตมีแค่นี้หรือ? พระเจ้าเป็นอย่างไรจริง ๆ?’ นับว่ามีเหตุผลที่จะถามคำถามดังกล่าว และที่สำคัญคือคุณต้องไม่เลิกถามจนกว่าจะพบคำตอบที่น่าพอใจและเชื่อถือได้. พระเยซูคริสต์ ครูที่มีชื่อเสียงได้ตรัสว่า “จงขอต่อ ๆ ไปแล้วจะได้รับ จงหาต่อ ๆ ไปแล้วจะพบ จงเคาะต่อ ๆ ไปแล้วจะเปิดให้.”—มัดธาย 7:7.

5 ถ้าคุณ “หาต่อ ๆ ไป” เพื่อจะได้คำตอบสำหรับคำถามที่สำคัญ คุณจะพบว่าการแสวงหาเช่นนั้นให้ผลคุ้มค่าทีเดียว. (สุภาษิต 2:1-5) ไม่ว่าคนอื่นอาจเคยบอกคุณอย่างไร แต่คำตอบมีแน่ และคุณสามารถ พบได้—ในคัมภีร์ไบเบิล. คำตอบนั้นนอกจากจะเข้าใจได้ไม่ยากแล้ว ยังเป็นประโยชน์ด้วย เพราะทำให้มีความหวังและความยินดี. และคำตอบเหล่านั้นสามารถช่วยคุณให้มีชีวิตที่น่าพอใจแม้แต่ในขณะนี้ทีเดียว. ทีแรก ขอให้เราพิจารณาคำถามที่หลายคนสงสัย.

พระเจ้าไม่สนใจไยดีและไม่เห็นอกเห็นใจไหม?

6. เพราะเหตุใดหลายคนคิดว่าพระเจ้าไม่สนใจความทุกข์ร้อนของมนุษย์?

6 หลายคนคิดว่าคำตอบสำหรับคำถามนี้คือ ใช่. พวกเขาให้เหตุผลว่า ‘ถ้าพระเจ้าสนใจเรา โลกก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้หรอก?’ เมื่อมองไปรอบ ๆ เราเห็นโลกที่เต็มด้วยสงคราม, ความเกลียดชัง, และความทุกข์. และเราแต่ละคนมักจะเจ็บป่วย, เป็นทุกข์, และสูญเสียคนที่เรารักไปเนื่องจากความตาย. ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงบอกว่า ‘ถ้าพระเจ้าสนใจเราและปัญหาของเรา พระองค์คงจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมิใช่หรือ?’

7. (ก) ผู้สอนศาสนาทำให้หลายคนคิดว่าพระเจ้าไม่เห็นอกเห็นใจอย่างไร? (ข) คัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรจริง ๆ เกี่ยวกับการทดลองที่อาจเกิดขึ้นกับเรา?

7 แย่ยิ่งกว่านั้นคือ บางครั้งผู้สอนศาสนาทำให้ผู้คนคิดว่าพระเจ้าไม่เห็นอกเห็นใจ. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? เมื่อมีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเกิดขึ้น พวกเขาบอกว่า นั่นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า. ที่แท้แล้ว ผู้สอนเช่นนั้นกล่าวโทษพระเจ้าสำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น. นี่เป็นความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าไหม? คัมภีร์ไบเบิลสอนอย่างไรจริง ๆ? ยาโกโบ 1:13 ให้คำตอบว่า “เมื่อถูกทดสอบ อย่าให้ใครบอกว่า ‘พระเจ้าทรงลองใจข้าพเจ้า’ เพราะไม่มีใครลองใจพระเจ้าด้วยสิ่งชั่วได้และพระองค์ไม่ทรงลองใจผู้ใดด้วยสิ่งชั่วเลย.” ดังนั้น พระเจ้าไม่เคย เป็นต้นเหตุของความชั่วที่คุณเห็นอยู่ในโลกรอบ ๆ ตัวคุณ. (โยบ 34:10-12) จริงอยู่ พระองค์ทรงยอมให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น. แต่การยอมให้ อะไรบางอย่างเกิดขึ้นนั้นต่างกันมากกับการเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น.

8, 9. (ก) คุณจะอธิบายอย่างไรถึงความแตกต่างระหว่างการยอมให้ความชั่วมีอยู่กับการเป็นต้นเหตุของความชั่วนั้น? (ข) ทำไมจึงไม่ยุติธรรมที่เราจะตำหนิพระเจ้าที่พระองค์ทรงตัดสินใจยอมให้มนุษย์ดำเนินชีวิตในแนวทางที่ดื้อรั้น?

8 ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงพ่อคนหนึ่งที่ฉลาดสุขุมและเปี่ยมด้วยความรักซึ่งมีลูกชายที่โตแล้วแต่ยังคงอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่. เมื่อลูกชายกลายเป็นคนดื้อรั้นขัดขืนและตัดสินใจที่จะออกจากบ้านไป พ่อก็ไม่ได้ห้ามเขา. ลูกชายใช้ชีวิตไปในทางที่ไม่ดีแล้วก็ตกเข้าสู่ความลำบาก. พ่อเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้ลูกชายประสบปัญหาไหม? ไม่. (ลูกา 15:11-13) คล้ายกัน พระเจ้าไม่ได้ห้ามเมื่อมนุษย์ได้เลือกดำเนินชีวิตในทางที่ไม่ดี แต่พระองค์ไม่ใช่เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดปัญหา. ถ้าเช่นนั้น คงจะไม่ยุติธรรมแน่ ๆ ที่จะโทษพระเจ้าสำหรับความทุกข์ยากทั้งหมดของมนุษย์.

9 พระเจ้ามีเหตุผลที่ดีในการยอมให้มนุษย์ดำเนินชีวิตในทางที่ไม่ดี. ในฐานะพระผู้สร้างผู้ทรงไว้ซึ่งสติปัญญาและอำนาจ พระองค์ไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลแก่เรา. แต่เนื่องด้วยความรัก พระเจ้าทรงอธิบาย. คุณจะทราบเหตุผลเหล่านี้มากขึ้นในบท 11. แต่ขอให้มั่นใจว่าพระเจ้าไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาที่เราประสบอยู่. ตรงกันข้าม พระองค์ทรงโปรดให้เรามีความหวังที่ว่าปัญหาเหล่านั้นจะมีทางแก้ไข!—ยะซายา 33:2.

10. เหตุใดเราวางใจได้ว่าพระเจ้าจะกำจัดผลพวงของความชั่วทั้งหมด?

10 นอกจากนี้ พระเจ้าทรงเป็นองค์บริสุทธิ์. (ยะซายา 6:3) นี่หมายความว่าพระองค์สะอาดหมดจด. พระองค์ไม่มีความชั่วร้ายแม้แต่น้อย. ดังนั้น เราจึงไว้ใจพระองค์ได้อย่างเต็มที่. เราไม่อาจวางใจมนุษย์ได้อย่างนั้น เพราะบางครั้งมนุษย์ก็กลายเป็นคนคดโกง. แม้แต่ผู้มีอำนาจที่เป็นคนซื่อสัตย์ที่สุด บ่อยครั้งก็ยังไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขความเสียหายที่คนเลวก่อขึ้น. แต่พระเจ้าทรงไว้ซึ่งอำนาจบริบูรณ์. พระองค์ทำได้และจะกำจัดผลพวงของความชั่วทั้งหมดที่มีต่อมนุษย์เรา. เมื่อพระเจ้าลงมือจัดการ พระองค์จะทำให้ความชั่วร้ายสูญสิ้นไปตลอดกาล!—บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11.

พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับความไม่ยุติธรรมที่เราเผชิญอยู่?

11. (ก) พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับความไม่ยุติธรรม? (ข) พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับความทุกข์ของคุณ?

11 ในระหว่างนี้ พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกและในชีวิตคุณ? อันดับแรก คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าพระเจ้า “ทรงรักความยุติธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:28) ดังนั้น พระองค์ทรงสนใจจริง ๆ ในเรื่องที่ว่าอะไรถูกและอะไรผิด. พระองค์ทรงเกลียดชังความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า พระเจ้า “ทรงกลับหวนพระทัยโทมนัส [“รู้สึกปวดร้าวพระทัย,” ล.ม.]” เมื่อโลกในอดีตเต็มไปด้วยความชั่ว. (เยเนซิศ 6:5, 6) พระเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนไป. (มาลาคี 3:6) พระองค์ยังคงไม่ชอบพระทัยที่เห็นความทุกข์เกิดขึ้นทั่วโลก. และพระเจ้าไม่อยากเห็นผู้คนทนทุกข์. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระองค์ทรงใฝ่พระทัยท่านทั้งหลาย.”—1 เปโตร 5:7.

คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าพระยะโฮวาเป็นพระผู้สร้างเอกภพ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก

12, 13. (ก) ทำไมเราจึงมีคุณลักษณะที่ดี เช่น ความรัก และความรักมีผลกระทบต่อทัศนะที่เรามีต่อโลกนี้อย่างไร? (ข) เหตุใดคุณแน่ใจได้ว่าพระเจ้าจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับปัญหาของโลกนี้อย่างแน่นอน?

12 เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระเจ้าไม่ชอบพระทัยที่เห็นความทุกข์? มีข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่ง. คัมภีร์ไบเบิลสอนว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามแบบพระเจ้า. (เยเนซิศ 1:26, ล.ม.) ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีคุณลักษณะที่ดีเพราะพระเจ้าทรงมีคุณลักษณะที่ดี. ตัวอย่างเช่น คุณรู้สึกไม่สบายใจไหมเมื่อเห็นคนที่ไม่มีความผิดต้องทนทุกข์? หากคุณเป็นห่วงเรื่องความไม่ยุติธรรมเช่นนั้น ขอให้มั่นใจได้ว่าพระเจ้าทรงมีความรู้สึกต่อเรื่องนั้นแรงกล้ายิ่งกว่าคุณอีก.

13 สิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ ความสามารถที่จะรัก. นั่นสะท้อนถึงพระเจ้าด้วย. คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8) เรามีความรักก็เพราะพระเจ้ามีความรัก. ความรักจะกระตุ้นคุณให้ลงมือขจัดความทุกข์และความไม่ยุติธรรมที่คุณเห็นอยู่นี้ให้หมดสิ้นไปจากโลกไหม? หากคุณมีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น คุณจะทำไหม? คุณคงจะทำแน่ ๆ! คุณมั่นใจได้เช่นกันว่าพระเจ้าจะขจัดความทุกข์และความไม่ยุติธรรมให้หมดสิ้นไป. คำสัญญาที่กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือนี้ไม่ได้เป็นเพียงความฝันหรือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ. คำสัญญาของพระเจ้าจะต้องเป็นจริงอย่างแน่นอน! แต่เพื่อจะมีความเชื่อในคำสัญญาเช่นนั้น คุณต้องรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้าผู้ให้คำสัญญาเหล่านั้น.

พระเจ้าประสงค์ให้คุณรู้ว่าพระองค์คือใคร

เมื่อคุณอยากให้ใครรู้จักคุณ คุณจะบอกชื่อคุณมิใช่หรือ? พระเจ้าทรงเปิดเผยพระนามของพระองค์ไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

14. พระนามของพระเจ้าคืออะไร และทำไมเราควรใช้พระนามนั้น?

14 ถ้าคุณอยากให้ใครสักคนรู้จักคุณ คุณจะทำอย่างไร? คุณคงจะบอกชื่อของคุณมิใช่หรือ? พระเจ้ามีพระนามไหม? หลายศาสนาตอบว่าพระนามของพระองค์คือ “พระเจ้า” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แต่นี่ไม่ใช่นามเฉพาะ. คำเหล่านี้เป็นเพียงคำระบุตำแหน่ง เช่นเดียวกับคำ “กษัตริย์” และ “ประธานาธิบดี” เป็นคำระบุตำแหน่ง. คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าพระเจ้ามีหลายตำแหน่ง. คำว่า “พระเจ้า” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ก็รวมอยู่ในตำแหน่งเหล่านั้น. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลยังสอนด้วยว่า พระเจ้ามีพระนามว่า ยะโฮวา. บทเพลงสรรเสริญ 83:18 บอกว่า “เพื่อให้เขารู้ว่าพระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” หากคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลที่คุณใช้ไม่มีพระนามนี้ คุณอาจต้องการค้นดูที่ภาคผนวกเรื่อง “พระนามของพระเจ้า—การใช้และความหมายของพระนาม” เพื่อจะรู้เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น. ความจริงคือว่า มีพระนามของพระเจ้าปรากฏอยู่หลายพันครั้งในต้นฉบับเก่าแก่ของคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น พระยะโฮวาประสงค์ให้คุณรู้จักพระนามของพระองค์และใช้พระนามนั้น. ในแง่หนึ่ง พระองค์ทรงใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อแนะนำให้คุณรู้จักพระองค์.

15. พระนามยะโฮวามีความหมายอย่างไร?

15 พระเจ้าตั้งพระนามที่เต็มไปด้วยความหมายให้พระองค์เอง. ยะโฮวา พระนามของพระองค์หมายความว่า พระองค์สามารถทำได้ทุกอย่างตามที่ทรงสัญญาไว้ และสามารถดำเนินการจนบรรลุผลสำเร็จดังที่ตั้งพระทัยไว้. * พระนามของพระเจ้าเลิศล้ำ ไม่มีนามใดเสมอเหมือนจริง ๆ. นามนี้เป็นของพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น. ในหลายทาง พระยะโฮวาไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน. เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?

16, 17. เราอาจเรียนอะไรได้เกี่ยวกับพระยะโฮวาจากตำแหน่งต่อไปนี้: (ก) “ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง”? (ข) “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล”? (ค) “พระผู้สร้าง”?

16 เราพบว่าบทเพลงสรรเสริญ 83:18 ได้กล่าวถึงพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์ผู้เดียว . . . เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่ง.” ในทำนองเดียวกัน มีการกล่าวถึงพระยะโฮวาผู้เดียวว่า “ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง.” วิวรณ์ 15:3 กล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง พระราชกิจของพระองค์ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์. ข้าแต่พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล ทางของพระองค์ชอบธรรมและเป็นทางแห่งความจริง.” ตำแหน่ง “ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง” สอนเราว่า พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุด. อำนาจของพระองค์ไม่มีผู้ใดจะเทียบได้ เป็นอำนาจสูงสุด. และตำแหน่ง “พระมหากษัตริย์แห่งนิรันดรกาล” เตือนเราให้ระลึกว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนในอีกแง่หนึ่ง. พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ดำรงอยู่เสมอมา. บทเพลงสรรเสริญ 90:2 กล่าวว่า “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าอยู่ตั้งแต่อดีตกาลจนตลอดอนาคตกาล.” ความคิดเช่นนี้คงทำให้คุณรู้สึกเกรงขามมิใช่หรือ?

17 นอกจากนี้ พระยะโฮวาเป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนในข้อที่ว่าพระองค์ผู้เดียวทรงเป็นพระผู้สร้าง. วิวรณ์ 4:11 อ่านว่า “พระยะโฮวา พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า พระองค์ทรงคู่ควรจะได้รับเกียรติยศ ความนับถือ และอำนาจ เพราะพระองค์ทรงสร้างทุกสิ่ง สิ่งเหล่านั้นดำรงอยู่และถูกสร้างขึ้นตามที่พระองค์ทรงประสงค์.” ทุกสิ่งที่คุณสามารถนึกได้ ตั้งแต่พวกกายวิญญาณที่เรามองไม่เห็นซึ่งอยู่ในสวรรค์ไปจนถึงดวงดาวที่มีอยู่เต็มท้องฟ้ายามค่ำคืนอีกทั้งผลไม้ที่เห็นอยู่ตามต้นไม้ รวมถึงปลาที่แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรและแม่น้ำต่าง ๆ สรรพสิ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ก็เพราะพระยะโฮวาเป็นผู้ทรงสร้าง!

คุณจะใกล้ชิดกับพระยะโฮวาได้ไหม?

18. เหตุใดบางคนจึงรู้สึกว่าเขาไม่มีวันจะเข้าใกล้พระเจ้าได้เลย แต่คัมภีร์ไบเบิลสอนเช่นไร?

18 บางคนเกิดความหวั่นกลัวอยู่บ้างเมื่อได้อ่านเกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ ที่น่าเกรงขามของพระยะโฮวา. เขาเกรงว่าพระเจ้าสูงส่งเกินไปสำหรับเขา จึงไม่มีวันที่เขาจะเข้าใกล้พระองค์ได้ หรือเขาคงไม่มีทางที่จะเป็นคนสำคัญสำหรับพระเจ้าที่สูงส่งเช่นนั้นได้. แต่นี่เป็นความคิดที่ถูกต้องไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สอนอย่างนั้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระยะโฮวาว่า “พระองค์ไม่ได้อยู่ไกลจากเราทุกคนเลย.” (กิจการ 17:27) คัมภีร์ไบเบิลถึงกับกระตุ้นเราว่า “จงเข้าไปใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้ามาใกล้พวกท่าน.”—ยาโกโบ 4:8.

19. (ก) เราจะเริ่มเข้าใกล้พระเจ้าได้อย่างไร และจะได้ประโยชน์อะไร? (ข) คุณลักษณะอะไรบ้างของพระเจ้าที่ดึงดูดใจคุณมากที่สุด?

19 คุณจะเข้าใกล้พระเจ้าได้อย่างไร? ทีแรก คุณควรทำสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ต่อ ๆ ไป นั่นคือเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้า. พระเยซูตรัสว่า “พวกเขาจะมีชีวิตนิรันดร์ ถ้าพวกเขารับความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือเยซูคริสต์.” (โยฮัน 17:3) ถูกแล้ว คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระเยซูนำไปสู่ “ชีวิตนิรันดร์”! ดังที่กล่าวมาแล้ว “พระเจ้าทรงเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:16) พระยะโฮวายังมีคุณลักษณะที่ดีเลิศและน่าดึงดูดใจอีกหลายประการ. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา, ผู้ทรงอดพระทัยได้นาน, และบริบูรณ์ด้วยความดีและความจริง.” (เอ็กโซโด 34:6) พระองค์ “ทรงประกอบไปด้วยพระคุณ พร้อมที่จะทรงยกความผิด [“ให้อภัย,” ล.ม.].” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5) พระเจ้าทรงอดทน. (2 เปโตร 3:9) พระองค์ทรงภักดี. (วิวรณ์ 15:4) เมื่อคุณอ่านคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น คุณก็จะพบวิธีที่พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีคุณลักษณะเหล่านี้และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่น่าดึงดูดใจอีกหลายประการ.

20-22. (ก) การที่เราไม่สามารถมองเห็นพระเจ้าได้นั้นจะเป็นอุปสรรคขัดขวางเราไม่ให้เข้าใกล้พระองค์ไหม? จงอธิบาย. (ข) บางคนที่มีเจตนาดีอาจบอกคุณให้ทำอะไร แต่คุณควรทำอย่างไร?

20 จริงอยู่ คุณไม่สามารถเห็นพระเจ้า เพราะพระองค์เป็นองค์วิญญาณที่เราเห็นไม่ได้. (โยฮัน 1:18; 4:24; 1 ติโมเธียว 1:17) แต่โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ผ่านทางหน้าหนังสือในคัมภีร์ไบเบิล คุณสามารถมารู้จักพระองค์ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีอยู่จริง. ดังที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวไว้ คุณสามารถ “เห็นความสง่างามของพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:4; โรม 1:20) ยิ่งคุณเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวามากเท่าไร พระองค์ก็จะเป็นจริงสำหรับคุณมากเท่านั้น และคุณจะมีเหตุผลมากขึ้นที่จะรักพระองค์และรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์.

ความรักซึ่งบิดาที่ดีมีต่อบุตรของตนสะท้อนถึงความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงมีต่อเรา

21 คุณจะค่อย ๆ เข้าใจว่าทำไมคัมภีร์ไบเบิลจึงสอนเราให้คิดถึงพระยะโฮวาในฐานะเป็นพระบิดาของเรา. (มัดธาย 6:9) พระองค์ไม่เพียงให้เรามีชีวิตเท่านั้น แต่ทรงต้องการให้เรามีชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย เช่นเดียวกับบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักอยากให้บุตรของตนมีชีวิตที่ดี. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) คัมภีร์ไบเบิลยังสอนด้วยว่า มนุษย์สามารถเป็นมิตรของพระยะโฮวาได้. (ยาโกโบ 2:23) คิดดูสิ—คุณสามารถเป็นมิตรของพระผู้สร้างเอกภพ!

22 ขณะที่คุณเรียนรู้มากขึ้นจากคัมภีร์ไบเบิล คุณอาจพบว่าบางคนที่มีเจตนาดีจะบอกคุณให้เลิกศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. พวกเขาอาจกลัวว่าคุณจะเปลี่ยนศาสนา. แต่ขออย่าให้ใครมาหยุดยั้งคุณไว้จากการสร้างมิตรภาพที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะมีได้.

23, 24. (ก) เหตุใดคุณควรถามต่อไปเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังเรียนรู้? (ข) บทต่อไปจะพิจารณาเรื่องอะไร?

23 แน่นอน คงจะมีบางเรื่องที่คุณไม่เข้าใจในตอนแรก. ต้องมีความถ่อมใจที่จะขอความช่วยเหลือ แต่อย่าลังเลที่จะถามเนื่องจากความกระดากอาย. พระเยซูตรัสว่า การเป็นคนใจถ่อมเหมือนเด็กเล็ก ๆ นั้นเป็นเรื่องน่าชมเชย. (มัดธาย 18:2-4) และตามที่เรารู้ เด็ก ๆ ชอบถามคำถามมากมาย. พระเจ้าทรงปรารถนาให้คุณพบคำตอบ. คัมภีร์ไบเบิลชมเชยบางคนซึ่งกระตือรือร้นอยากเรียนรู้เรื่องพระเจ้า. พวกเขาค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาเรียนนั้นเป็นความจริง.—กิจการ 17:11.

24 วิธีดีที่สุดที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาคือ การตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิล. คัมภีร์ไบเบิลแตกต่างจากหนังสือเล่มอื่น ๆ. ในทางใดบ้าง? บทต่อไปจะพิจารณาเรื่องนี้.

^ วรรค 15 มีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องความหมายและการออกเสียงพระนามของพระเจ้าในภาคผนวกเรื่อง “พระนามของพระเจ้า—การใช้และความหมายของพระนาม.”