ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทสี่

พระเยซูคริสต์คือใคร?

พระเยซูคริสต์คือใคร?
  • พระเยซูมีบทบาทพิเศษอะไร?

  • พระองค์มาจากไหน?

  • พระองค์เป็นบุคคลเช่นไร?

1, 2. (ก) ทำไมการรู้เรื่องบางคนที่มีชื่อเสียงไม่ได้หมายความว่าคุณรู้จัก เขาจริง ๆ? (ข) มีความสับสนอะไรเกี่ยวกับพระเยซู?

มีคนที่มีชื่อเสียงหลายคนในโลก. บางคนเป็นที่รู้จักกันดีในชุมชน, ในเมือง, หรือในประเทศของเขาเอง. บางคนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก. อย่างไรก็ดี เพียงแค่รู้ชื่อของคนที่มีชื่อเสียงไม่ได้หมายความว่าคุณรู้จัก คนนั้นจริง ๆ. นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณรู้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเขาและรู้ว่าเขาเป็นคนแบบไหนจริง ๆ.

2 คนทั่วโลกเคยได้ยินเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ถึงแม้พระองค์เคยมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกราว ๆ 2,000 ปีมาแล้ว. กระนั้น หลายคนรู้สึกสับสนที่ว่าจริง ๆ แล้วพระเยซูเป็นใคร. บางคนบอกว่าพระองค์เป็นเพียงคนดีคนหนึ่ง. บ้างก็อ้างว่าพระองค์เป็นเพียงผู้พยากรณ์. ส่วนคนอื่น ๆ เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าและควรได้รับการนมัสการ. เราควรนมัสการพระองค์ไหม?

3. ทำไมการรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเยซูจึงสำคัญสำหรับคุณ?

3 การรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเยซูนับว่าสำคัญสำหรับคุณ. ทำไม? เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พวกเขาจะมีชีวิตนิรันดร์ ถ้าพวกเขารับความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือเยซูคริสต์.” (โยฮัน 17:3) ใช่แล้ว การรู้ความจริงเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์จะทำให้ได้รับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (โยฮัน 14:6) นอกจากนี้ พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีที่สุดเกี่ยวกับวิธีดำเนินชีวิตและวิธีปฏิบัติต่อคนอื่น. (โยฮัน 13:34, 35) ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ เราได้พิจารณาความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า. ตอนนี้ให้เรามาพิจารณาว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์.

พระมาซีฮาตามคำสัญญา

4. ตำแหน่ง “พระมาซีฮา” และ “พระคริสต์” มีความหมายว่าอย่างไร?

4 นานก่อนที่พระเยซูมาประสูติ คัมภีร์ไบเบิลได้บอกล่วงหน้าว่าพระเจ้าจะส่งผู้หนึ่งมาเป็นพระมาซีฮา หรือพระคริสต์. ตำแหน่ง “พระมาซีฮา” (มาจากคำภาษาฮีบรู) และ “พระคริสต์” (มาจากคำภาษากรีก) ทั้งสองคำหมายถึง “ผู้ถูกเจิม.” ผู้ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้นี้จะได้รับการเจิม นั่นคือได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งพิเศษ. ในบทหลัง ๆ ของหนังสือเล่มนี้เราจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับตำแหน่งสำคัญของพระมาซีฮาในความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำสัญญาของพระเจ้า. นอกจากนี้ เราจะเรียนรู้เรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่พระเยซูสามารถนำมาให้เราแม้แต่ในขณะนี้. อย่างไรก็ดี ก่อนพระเยซูประสูติ หลายคนคงสงสัยว่า ‘ใครจะเป็นพระมาซีฮา?’

5. เหล่าสาวกของพระเยซูมั่นใจเต็มที่ในเรื่องอะไรเกี่ยวกับพระองค์?

5 ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช เหล่าสาวกของพระเยซูชาวนาซาเรทมั่นใจเต็มที่ว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮาตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. (โยฮัน 1:41) สาวกคนหนึ่งที่ชื่อซีโมนเปโตร ได้พูดกับพระเยซูตรง ๆ ว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์.” (มัดธาย 16:16) แต่สาวกเหล่านั้น รวมทั้งเราด้วยจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาตามคำสัญญาจริง ๆ?

6. จงยกตัวอย่างวิธีที่พระยะโฮวาได้ช่วยชนผู้ซื่อสัตย์ให้ระบุตัวพระมาซีฮา.

6 ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนสมัยพระเยซูได้บอกล่วงหน้าถึงรายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับพระมาซีฮา. รายละเอียดเหล่านี้จะช่วยคนอื่น ๆ ให้ระบุตัวพระองค์ได้. เราอาจยกตัวอย่างทำนองนี้: สมมุติว่ามีคนขอให้คุณไปรับใครสักคนซึ่งคุณไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟหรือสนามบินซึ่งมีคนพลุกพล่าน. ถ้ามีคนให้รายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับคนนั้นก็จะช่วยคุณได้มากใช่ไหม? คล้ายกัน โดยทางผู้พยากรณ์หลายคนในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาทรงให้คำอธิบายที่ค่อนข้างละเอียดว่าพระมาซีฮาจะทำอะไรและพระองค์จะประสบอะไร. ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เหล่านี้หลายข้อจะช่วยชนผู้ซื่อสัตย์ให้ระบุตัวพระองค์ได้อย่างชัดแจ้ง.

7. คำพยากรณ์สองเรื่องอะไรที่สำเร็จเป็นจริงกับพระเยซู?

7 ขอพิจารณาเพียงสองตัวอย่าง. ตัวอย่างแรก ผู้พยากรณ์มีคาได้บอกล่วงหน้า 700 กว่าปีว่า ผู้ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้จะมาเกิดในเมืองเบทเลเฮม ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในแผ่นดินยูดาห์. (มีคา 5:2) จริง ๆ แล้วพระเยซูประสูติที่ไหน? ก็ในเมืองนั้นแหละ! (มัดธาย 2:1, 3-9) ตัวอย่างที่สอง คำพยากรณ์ที่บันทึกไว้หลายศตวรรษล่วงหน้าในดานิเอล 9:25 ได้ชี้ถึงปีที่พระมาซีฮาจะปรากฏตัว ซึ่งก็คือปี ส.ศ. 29. * ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์เหล่านี้และคำพยากรณ์อื่น ๆ พิสูจน์ว่า พระเยซูเป็นพระมาซีฮาตามคำสัญญา.

พระเยซูเป็นพระมาซีฮาหรือพระคริสต์ตอนที่พระองค์รับบัพติสมา

8, 9. ข้อพิสูจน์ที่ว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาซึ่งปรากฏชัดตอนที่พระองค์รับบัพติสมาคืออะไร?

8 ข้อพิสูจน์เพิ่มเติมที่ว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาได้ปรากฏชัดในตอนปลายปี ส.ศ. 29. นั่นเป็นปีที่พระเยซูเสด็จไปหาโยฮันผู้ให้รับบัพติสมาเพื่อพระองค์จะรับบัพติสมาในแม่น้ำจอร์แดน. พระยะโฮวาทรงสัญญาว่าจะให้หมายสำคัญแก่โยฮันเพื่อท่านจะสามารถระบุตัวพระมาซีฮาได้. โยฮันได้เห็นหมายสำคัญนั้นตอนที่พระเยซูรับบัพติสมา. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “เมื่อทรงรับบัพติสมาแล้วพระเยซูเสด็จขึ้นจากน้ำทันที แล้วท้องฟ้าก็เปิดออก และโยฮันเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าลงมาบนพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงตรัสจากฟ้าด้วยว่า ‘นี่คือบุตรที่รักของเราซึ่งเราพอใจมาก.’ ” (มัดธาย 3:16, 17) หลังจากได้ยินและได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น โยฮันไม่สงสัยว่าพระเยซูคือผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา. (โยฮัน 1:32-34) ตอนที่พระวิญญาณ หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้าหลั่งลงเหนือพระเยซูในวันนั้น พระองค์ทรงกลายเป็นพระมาซีฮาหรือพระคริสต์ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำและกษัตริย์.—ยะซายา 55:4.

9 ความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลและการที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงให้คำพยานด้วยพระองค์เองนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาตามคำสัญญา. แต่คัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามสำคัญอีกสองข้อเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ว่า พระองค์มาจากไหน? และพระองค์เป็นบุคคลเช่นไร?

พระเยซูมาจากไหน?

10. คัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูก่อนพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก?

10 คัมภีร์ไบเบิลสอนว่า พระเยซูเคยมีชีวิตอยู่ในสวรรค์ก่อนพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก. มีคาได้พยากรณ์ว่า พระมาซีฮาจะประสูติในเมืองเบทเลเฮมและบอกด้วยว่า พระองค์มีต้นกำเนิด “มาแต่กาลดึกดำบรรพ์.” (มีคา 5:2) ในหลายโอกาส พระเยซูเองตรัสว่าพระองค์มีชีวิตอยู่ในสวรรค์ก่อนมาเกิดเป็นมนุษย์. (โยฮัน 3:13; 6:38, 62; 17:4, 5) ในฐานะเป็นกายวิญญาณที่อยู่ในสวรรค์ พระเยซูมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระยะโฮวา.

11. คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระเยซูเป็นพระบุตรที่พระยะโฮวาทรงรักมากที่สุด?

11 พระเยซูเป็นพระบุตรที่พระยะโฮวาทรงรักมากที่สุด และนับว่ามีเหตุผลทีเดียว. พระองค์ถูกเรียกว่า “ผู้ที่เกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” เพราะพระองค์เป็นผู้แรกที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น. * (โกโลซาย 1:15) มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พระบุตรองค์นี้พิเศษไม่มีใครเหมือน. พระองค์ทรงเป็น “พระบุตรองค์เดียว.” (โยฮัน 3:16) นี่หมายความว่าพระเยซูเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่พระเจ้าได้ทรงสร้างขึ้นโดยตรง. พระเยซูยังเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่พระเจ้าทรงใช้เมื่อพระองค์สร้างสรรพสิ่งอื่น ๆ. (โกโลซาย 1:16) นอกจากนี้ พระเยซูถูกเรียกว่า “พระวาทะ” ด้วย. (โยฮัน 1:14) เรื่องนี้บอกเราว่า พระองค์เป็นผู้พูดแทนพระเจ้า ไม่ต้องสงสัยว่า พระองค์เป็นผู้ที่ถ่ายทอดข่าวสารและคำสั่งต่าง ๆ ของพระบิดาแก่บุตรทั้งหลายทั้งบุตรที่เป็นกายวิญญาณและเป็นมนุษย์.

12. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระบุตรหัวปีไม่เท่าเทียมกับพระเจ้า?

12 พระบุตรหัวปีเท่าเทียมกับพระเจ้าอย่างที่บางคนเชื่อไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สอนอย่างนั้น. ดังที่เราสังเกตในวรรคก่อน พระบุตรถูกสร้างขึ้น. ดังนั้นแล้ว เห็นได้ชัดว่า พระองค์มีการเริ่มต้น ในขณะที่พระยะโฮวาพระเจ้าไม่มีการเริ่มต้นหรือการสิ้นสุด. (บทเพลงสรรเสริญ 90:2) พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวไม่เคยแม้แต่คิดที่จะพยายามทำตัวให้เท่าเทียมกับพระบิดาของพระองค์ด้วยซ้ำ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างชัดเจนว่าพระบิดาเป็นใหญ่กว่าพระบุตร. (โยฮัน 14:28; 1 โครินท์ 11:3) พระยะโฮวาผู้เดียวเป็น “พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ยิ่งที่สุด.” (เยเนซิศ 17:1) เพราะฉะนั้น ไม่มีใครเท่าเทียมพระเจ้า. *

13. คัมภีร์ไบเบิลหมายความอย่างไรเมื่อกล่าวถึงพระบุตรว่าเป็น “ภาพสะท้อนของพระเจ้าผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา”?

13 พระยะโฮวากับพระบุตรหัวปีของพระองค์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาเป็นเวลาหลายพันล้านปี—นานก่อนท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวและแผ่นดินโลกถูกสร้างขึ้น. พระองค์ทั้งสองคงต้องรักกันสักเพียงไร! (โยฮัน 3:35; 14:31) พระบุตรที่รักองค์นี้เหมือนพระบิดาทีเดียว. นั่นเป็นเหตุที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระบุตรว่าเป็น “ภาพสะท้อนของพระเจ้าผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (โกโลซาย 1:15) ใช่แล้ว บุตรที่เป็นมนุษย์อาจมีหลายสิ่งที่คล้ายกับบิดาของเขาฉันใด พระบุตรที่อยู่บนสวรรค์องค์นี้ก็สะท้อนคุณลักษณะและบุคลิกภาพของพระบิดาฉันนั้น.

14. พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวามาเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร?

14 พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระยะโฮวาเต็มพระทัยเสด็จจากสวรรค์ลงมายังแผ่นดินโลกเพื่อมีชีวิตอย่างมนุษย์. แต่คุณอาจสงสัยว่า ‘เป็นไปได้อย่างไรที่กายวิญญาณจะมาเกิดเป็นมนุษย์?’ เพื่อทำให้เรื่องนี้สำเร็จ พระยะโฮวาทรงทำการอัศจรรย์. พระองค์ทรงโยกย้ายชีวิตพระบุตรหัวปีของพระองค์จากสวรรค์มาไว้ในครรภ์ของสาวพรหมจารีชาวยิวชื่อมาเรีย. ไม่มีบิดาที่เป็นมนุษย์คนใดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย. โดยวิธีนี้ มาเรียได้ให้กำเนิดบุตรที่สมบูรณ์และตั้งชื่อบุตรว่าเยซู.—ลูกา 1:30-35.

พระเยซูเป็นบุคคลเช่นไร?

15. ทำไมจึงพูดได้ว่าเรารู้จักพระยะโฮวาดีขึ้นโดยทางพระเยซู?

15 สิ่งที่พระเยซูพูดและทำขณะอยู่บนแผ่นดินโลกช่วยเราให้รู้จักพระองค์อย่างดี. ยิ่งกว่านั้น โดยทางพระเยซูเราได้มารู้จักพระยะโฮวาดีขึ้นด้วย. ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น? จำไว้ว่าพระบุตรองค์นี้เป็นแบบพระฉายที่สมบูรณ์พร้อมของพระบิดา. นี่เป็นเหตุที่ทำให้พระเยซูตรัสแก่สาวกคนหนึ่งของพระองค์ว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดาด้วย.” (โยฮัน 14:9) หนังสือสี่เล่มในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นที่รู้จักว่ากิตติคุณทั้งสี่ คือมัดธาย, มาระโก, ลูกา, และโยฮันบอกเรามากทีเดียวเกี่ยวกับชีวิต, กิจการงาน, และคุณลักษณะเฉพาะตัวของพระเยซูคริสต์.

16. ข่าวสารสำคัญอันดับแรกของพระเยซูคืออะไร และคำสอนของพระองค์มาจากไหน?

16 พระเยซูเป็นที่รู้จักดีฐานะ “อาจารย์.” (โยฮัน 1:38; 13:13) พระองค์สอนอะไร? ข่าวสารสำคัญอันดับแรกของพระองค์คือ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” ซึ่งเป็นราชอาณาจักรของพระเจ้า รัฐบาลทางภาคสวรรค์ที่จะปกครองทั่วทั้งแผ่นดินโลกและจะนำพระพรไม่สิ้นสุดมาสู่มนุษย์ที่เชื่อฟัง. (มัดธาย 4:23) นี่เป็นข่าวสารของใคร? พระเยซูเองตรัสว่า “สิ่งที่เราสอนไม่ใช่คำสอนของเราเอง แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา” นั่นคือพระยะโฮวา. (โยฮัน 7:16) พระเยซูทราบว่า พระบิดาของพระองค์ทรงต้องการให้มนุษย์ได้ยินข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. ในบท 8 เราจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าและสิ่งที่ราชอาณาจักรนี้จะทำให้บรรลุผลสำเร็จ.

17. พระเยซูทรงสั่งสอนที่ไหน และทำไมพระองค์ทุ่มเทตัวมากขนาดนั้นเพื่อสอนคนอื่น?

17 พระเยซูสั่งสอนที่ไหน? ทุกแห่งที่พระองค์พบประชาชน เช่น ในแถบชนบท, ในเมือง, ตามหมู่บ้านต่าง ๆ, ในตลาด, และในบ้านของพวกเขา. พระเยซูมิได้คาดหมายให้ผู้คนมาหาพระองค์. พระองค์เสด็จไปหาพวกเขา. (มาระโก 6:56; ลูกา 19:5, 6) ทำไมพระเยซูทุ่มเทตัวขนาดนั้นและใช้เวลามากจริง ๆ ในการประกาศและการสั่งสอน? เพราะพระเจ้าทรงประสงค์ให้พระเยซูทำเช่นนั้น. พระเยซูทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดาเสมอ. (โยฮัน 8:28, 29) แต่มีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์ประกาศ. พระองค์รู้สึกสงสารฝูงชนที่มาหาพระองค์. (มัดธาย 9:35, 36) ผู้นำศาสนาของพวกเขาซึ่งน่าจะสอนความจริงเรื่องพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ได้ปล่อยปละละเลยพวกเขา. พระเยซูทราบว่าผู้คนจำเป็นต้องได้ยินข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรมากสักเพียงไร.

18. คุณลักษณะอะไรของพระเยซูที่ดึงดูดใจคุณมากที่สุด?

18 พระเยซูเป็นคนที่อบอุ่นเห็นอกเห็นใจและอ่อนโยนอย่างยิ่ง. ด้วยเหตุนี้ คนอื่น ๆ จึงรู้สึกว่าพระองค์เป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายและมีใจกรุณา. แม้แต่เด็ก ๆ ก็รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระองค์. (มาระโก 10:13-16) พระเยซูไม่ลำเอียง. พระองค์เกลียดชังการทุจริตและความไม่ยุติธรรม. (มัดธาย 21:12, 13) ในสมัยที่ผู้หญิงแทบจะไม่ได้รับความนับถือและมีสิทธิพิเศษน้อยมาก พระองค์ปฏิบัติกับพวกเธออย่างที่คำนึงถึงศักดิ์ศรี. (โยฮัน 4:9, 27) พระเยซูเป็นคนที่มีความถ่อมใจอย่างแท้จริง. ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงล้างเท้าให้พวกอัครสาวก ซึ่งตามปกติแล้วเป็นงานของคนรับใช้ที่ต่ำต้อย.

พระเยซูประกาศสั่งสอนทุกแห่งที่พระองค์พบผู้คน

19. ตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าพระเยซูทรงไวต่อความจำเป็นของคนอื่น?

19 พระเยซูทรงไวต่อความจำเป็นของคนอื่น. เรื่องนี้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่พระองค์ทรงทำการอัศจรรย์ในการรักษาโรคด้วยฤทธิ์อำนาจแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. (มัดธาย 14:14) ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อนมาหาพระเยซูและพูดว่า “เพียงพระองค์ต้องการ พระองค์จะทรงทำให้ข้าพเจ้าหายได้.” พระเยซูเองรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของชายคนนี้. ด้วยความรู้สึกสงสาร พระเยซูจึงเหยียดพระหัตถ์ออกแตะต้องชายคนนั้นแล้วตรัสว่า “เราต้องการ. จงหายโรคเถิด.” และชายที่เจ็บป่วยคนนี้ได้รับการรักษาให้หาย! (มาระโก 1:40-42) คุณนึกภาพออกไหมว่าชายคนนั้นคงต้องรู้สึกอย่างไร?

ซื่อสัตย์จนถึงที่สุด

20, 21. พระเยซูวางตัวอย่างไว้เช่นไรในการเชื่อฟังพระเจ้าอย่างภักดี?

20 พระเยซูทรงวางตัวอย่างอันดีเยี่ยมในเรื่องการเชื่อฟังพระเจ้าอย่างภักดี. พระองค์ยังคงซื่อสัตย์ต่อพระบิดาของพระองค์ซึ่งสถิตในสวรรค์ภายใต้สภาพการณ์ทุกอย่างและทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านและความทุกข์ทุกรูปแบบ. พระเยซูต้านทานการล่อใจของซาตานได้อย่างมั่นคงและเป็นผลสำเร็จ. (มัดธาย 4:1-11) คราวหนึ่ง ญาติบางคนของพระเยซูเองซึ่งไม่มีความเชื่อในพระองค์ ถึงกับพูดว่าพระองค์ “เสียสติไปแล้ว.” (มาระโก 3:21) แต่พระเยซูไม่ยอมให้พวกเขามายับยั้งพระองค์; พระองค์ยังคงทำงานของพระเจ้าต่อไป. ทั้ง ๆ ที่ถูกเหยียดหยามและทารุณ พระเยซูก็ยังคงควบคุมตัวเอง ไม่เคยพยายามจะทำร้ายผู้ต่อต้านพระองค์.—1 เปโตร 2:21-23.

21 พระเยซูรักษาความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ นั่นเป็นการตายอย่างโหดเหี้ยมและเจ็บปวดโดยน้ำมือศัตรูของพระองค์. (ฟิลิปปอย 2:8) ขอพิจารณาว่าพระองค์ได้อดทนกับอะไรบ้างในวันสุดท้ายที่พระองค์มีชีวิตเป็นมนุษย์. พระองค์ถูกจับ, ถูกกล่าวหาโดยพยานเท็จ, ถูกตัดสินลงโทษโดยผู้พิพากษาที่ทุจริต, ถูกฝูงชนเยาะเย้ย, และถูกพวกทหารทรมาน. ตอนที่ถูกตอกอยู่บนหลัก พระองค์ทรงสูดลมหายใจเฮือกสุดท้ายขณะร้องว่า “สำเร็จแล้ว!” (โยฮัน 19:30) อย่างไรก็ดี ในวันที่สามหลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ พระบิดาของพระองค์ผู้สถิตในสวรรค์ได้ปลุกพระองค์ให้คืนสู่ชีวิตที่เป็นกายวิญญาณ. (1 เปโตร 3:18) ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา พระองค์เสด็จกลับสู่สวรรค์. ที่นั่น พระองค์ “ทรงนั่งด้านขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า” และคอยอยู่เพื่อจะได้รับอำนาจฐานะเป็นกษัตริย์.—ฮีบรู 10:12, 13.

22. พระเยซูทำให้อะไรบรรลุผลสำเร็จโดยการรักษาความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์?

22 พระเยซูทรงทำให้อะไรบรรลุผลสำเร็จโดยการรักษาความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์? จริง ๆ แล้วการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเปิดโอกาสให้เรามีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน สอดคล้องกับพระประสงค์เดิมของพระยะโฮวา. ในบทถัดไปจะพิจารณาว่าความตายของพระเยซูทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร.

^ วรรค 7 สำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของดานิเอลซึ่งได้สำเร็จเป็นจริงกับพระเยซู โปรดดูภาคผนวกเรื่อง “คำพยากรณ์ของดานิเอลบอกล่วงหน้าอย่างไรเรื่องการเสด็จมาของพระมาซีฮา?”

^ วรรค 11 พระยะโฮวาถูกเรียกว่าพระบิดาเพราะพระองค์เป็นพระผู้สร้าง. (ยะซายา 64:8) เนื่องจากพระเจ้าสร้างพระเยซู พระเยซูจึงถูกเรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า. ด้วยเหตุผลคล้ายกัน กายวิญญาณองค์อื่น ๆ และแม้แต่อาดามที่เป็นมนุษย์ก็ถูกเรียกว่าบุตรของพระเจ้า.—โยบ 1:6, ฉบับ R73; ลูกา 3:38.

^ วรรค 12 สำหรับข้อพิสูจน์เพิ่มเติมที่ว่าพระบุตรหัวปีไม่เท่าเทียมกับพระเจ้า โปรดดูภาคผนวกเรื่อง “ความจริงเกี่ยวกับพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์.”