ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 3

รักคนที่พระเจ้ารัก

รักคนที่พระเจ้ารัก

“บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา.”—สุภาษิต 13:20, ล.ม.

1-3. (ก) คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นความจริงอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้? (ข) เราจะเลือกเพื่อนซึ่งจะเป็นอิทธิพลต่อเราในทางดีได้อย่างไร?

ในแง่หนึ่ง ผู้คนเป็นเหมือนฟองน้ำที่มักจะซึมซับไม่ว่าอะไรก็ตามที่อยู่รอบตัวเขา. เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะรับเอาเจตคติ, มาตรฐาน, และบุคลิกลักษณะของคนที่เราคบหาใกล้ชิด โดยที่เราไม่ตั้งใจด้วยซ้ำ.

2 คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เมื่อกล่าวว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภาษิต 13:20, ล.ม.) สุภาษิตข้อนี้ไม่ได้กล่าวถึงการคบหาแต่เพียงผิวเผิน. ถ้อยคำที่ว่า “ดำเนินกับ” บ่งชี้ถึงการคบหากันอย่างต่อเนื่อง. * หนังสืออ้างอิงด้านคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายข้อนี้ว่า “การดำเนินกับใครสักคนแสดงนัยถึงความรักและความผูกพัน.” คุณคงจะเห็นด้วยมิใช่หรือว่าเรามักจะเลียนแบบคนที่เรารัก? ที่จริง เพราะเราเองมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับคนที่เรารัก เขาจึงสามารถมีอิทธิพลอย่างมากในการหล่อหลอมเรา—ทั้งในทางดีหรือไม่ดี.

3 เพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าอยู่ต่อไป นับว่าสำคัญที่เราแสวงหาเพื่อนซึ่งจะเป็นอิทธิพลต่อเราในทางดี. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? พูดง่าย ๆ ก็คือ เราจะทำได้โดยรักคนที่พระเจ้ารัก เป็นเพื่อนกับคนที่เป็นมิตรของพระองค์. ขอให้คิดถึงเรื่องนี้. จะมีการคบหาใดหรือที่ดีไปกว่าการคบกับคนซึ่งมีคุณลักษณะที่พระยะโฮวาทรงมองหาในตัวผู้ที่เป็นมิตรของพระองค์? ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาว่าคนชนิดใดที่พระเจ้าทรงรัก. โดยให้ทัศนะของพระยะโฮวาแจ่มชัดอยู่ในความคิด เราก็จะพร้อมมากขึ้นที่จะเลือกเพื่อนที่ดี.

คนที่พระเจ้ารัก

4. เหตุใดพระยะโฮวามีสิทธิ์เลือกเฟ้นผู้ที่มีคุณสมบัติจะเป็นมิตรของพระองค์ และเหตุใดพระยะโฮวาตรัสถึงอับราฮามว่าเป็น ‘มิตรสหายของพระองค์’?

4 พระยะโฮวาทรงเลือกเฟ้นผู้ที่จะมาเป็นมิตรของพระองค์. พระองค์มีสิทธิ์เลือกมิใช่หรือ? ที่แท้แล้ว พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งแห่งเอกภพ และการเป็นมิตรกับพระองค์นับว่าเป็นสิทธิพิเศษอันใหญ่ยิ่งที่สุด. ถ้าเช่นนั้น พระองค์ทรงเลือกใครเป็นมิตรของพระองค์? พระยะโฮวาทรงเข้าใกล้คนที่วางใจและมีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมในพระองค์. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ ชายซึ่งเป็นที่รู้จักเนื่องด้วยความเชื่อที่โดดเด่น. ไม่มีการทดสอบความเชื่อครั้งใดสำหรับบิดาที่เป็นมนุษย์จะใหญ่ยิ่งไปกว่าการถูกขอให้ถวายบุตรชายของท่านเป็นเครื่องบูชา. * กระนั้น อับราฮามซึ่ง ‘เสมือนว่าได้ถวายยิศฮาคเป็นเครื่องบูชาไปแล้ว’ ก็มีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยม “ว่าพระเจ้าจะทรงปลุกยิศฮาคให้เป็นขึ้นจากตายได้.” (ฮีบรู 11:17-19) เนื่องจากอับราฮามแสดงความเชื่อและการเชื่อฟังเช่นนั้น พระยะโฮวาจึงตรัสถึงท่านด้วยความรักว่าเป็น “มิตรสหายของเรา.”—ยะซายา 41:8; ยาโกโบ 2:21-23.

5. พระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์ด้วยความภักดี?

5 พระยะโฮวาทรงถือว่าการเชื่อฟังด้วยความภักดีเป็นเรื่องสำคัญมาก. พระองค์ทรงรักคนเหล่านั้นที่เต็มใจแสดงความภักดีต่อพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด. (2 ซามูเอล 22:26) ดังที่เราได้เห็นในบท 1 ของหนังสือนี้ พระยะโฮวาทรงยินดีอย่างยิ่งในคนเหล่านั้นที่เลือกจะเชื่อฟังพระองค์เนื่องด้วยความรัก. สุภาษิต 3:32 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระองค์สนิทสนมกับคนซื่อตรง.” คนเหล่านั้นที่ทำตามข้อเรียกร้องของพระเจ้าด้วยความภักดีได้รับคำเชิญด้วยความกรุณาจากพระยะโฮวาว่า พวกเขาอาจเป็นแขกใน “พลับพลา” ของพระองค์—ได้รับการต้อนรับให้มานมัสการพระองค์และสามารถอธิษฐานถึงพระองค์ไม่ว่าเวลาใดก็ได้.—บทเพลงสรรเสริญ 15:1-5.

6. เราจะแสดงโดยวิธีใดว่าเรารักพระเยซู และพระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรกับคนที่รักพระบุตรของพระองค์?

6 พระยะโฮวาทรงรักคนที่รักพระเยซู พระบุตรองค์เดียวของพระองค์. พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดรักเรา เขาจะทำตามคำของเราและพระบิดาของเราจะทรงรักเขา แล้วเรากับพระบิดาจะมาหาเขาและจะอยู่กับเขา.” (โยฮัน 14:23) เราจะแสดงความรักต่อพระเยซูได้โดยวิธีใด? แน่นอน โดยการทำตามพระบัญญัติของพระองค์ รวมทั้งทำงานมอบหมายให้ประกาศข่าวดีและการทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 28:19, 20; โยฮัน 14:15, 21) เรายังแสดงความรักต่อพระเยซูเมื่อเรา “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด” เลียนแบบพระองค์ในคำพูดและการกระทำสุดความสามารถของเราที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (1 เปโตร 2:21) พระยะโฮวามีพระทัยยินดีเมื่อคนที่รักพระบุตรของพระองค์ได้รับการกระตุ้นให้พยายามดำเนินตามรอยพระบาทของพระคริสต์.

7. เหตุใดจึงนับว่าฉลาดที่จะเป็นเพื่อนกับคนที่เป็นมิตรของพระยะโฮวา?

7 ความเชื่อ, ความภักดี, การเชื่อฟัง, และความรักที่มีต่อพระเยซูและต่อแนวทางต่าง ๆ ของพระองค์ สิ่งเหล่านี้อยู่ในบรรดาคุณลักษณะที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายจากมิตรของพระองค์. เราแต่ละคนควรถามตัวเองว่า ‘คุณลักษณะและแนวทางดังกล่าวปรากฏชัดในตัวเพื่อนสนิทของฉันไหม? ฉันเป็นเพื่อนกับคนที่เป็นมิตรของพระยะโฮวาไหม?’ นับว่าฉลาดที่จะทำเช่นนั้น. บุคคลที่ปลูกฝังคุณลักษณะแบบพระเจ้าและประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้าอาจมีผลกระทบต่อเราในทางที่เป็นประโยชน์ ชักจูงเราให้ดำเนินชีวิตสมตามความตั้งใจของเราที่จะกระทำให้พระเจ้าพอพระทัย.—ดูกรอบ “ เพื่อนที่ดีเป็นอย่างไร?

เรียนจากตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล

8. อะไรทำให้คุณประทับใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง (ก) นางนาอะมีกับรูธ? (ข) หนุ่มชาวฮีบรูสามคน? (ค) เปาโลกับติโมเธียว?

8 พระคัมภีร์มีตัวอย่างหลายเรื่องเกี่ยวกับคนที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกเพื่อนที่ดี. คุณอาจอ่านเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนางนาอะมีกับรูธลูกสะใภ้ของเธอ, ระหว่างหนุ่มชาวฮีบรูสามคนซึ่งผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นขณะอยู่ในบาบิโลน, รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเปาโลกับติโมเธียว. (ประวัตินางรูธ 1:16; ดานิเอล 3:17, 18; 1 โครินท์ 4:17; ฟิลิปปอย 2:20-22) แต่ขอให้เราเอาใจใส่อีกตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่น นั่นคือ มิตรภาพระหว่างดาวิดกับโยนาธาน.

9, 10. อะไรเป็นพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างดาวิดกับโยนาธาน?

9 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าหลังจากดาวิดฆ่าฆาละยัธแล้ว “ดวงจิตต์โยนาธานก็ผูกสมัครรักใคร่กับดวงจิตต์ดาวิด, โยนาธานมีความรักดาวิดเสมอตนเอง.” (1 ซามูเอล 18:1) ด้วยเหตุนี้ มิตรภาพที่ยั่งยืนได้เริ่มต้นขึ้นแม้จะอยู่ในวัยที่ต่างกันมาก และมิตรภาพเช่นนั้นยังคงมีอยู่ต่อไปจนกระทั่งโยนาธานเสียชีวิตในสนามรบ. * (2 ซามูเอล 1:26) อะไรเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองคนนี้ที่เป็นเพื่อนกัน?

10 ดาวิดกับโยนาธานผูกพันกันเนื่องด้วยความรักที่มีต่อพระเจ้า อีกทั้งความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะรักษาตัวซื่อสัตย์ต่อพระองค์. ชายสองคนนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเนื่องจากมีความปรารถนาจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย. แต่ละคนต่างก็แสดงคุณลักษณะซึ่งทำให้ตนเป็นที่รักของอีกฝ่ายหนึ่ง. ไม่ต้องสงสัยว่าโยนาธานรู้สึกประทับใจในความกล้าหาญและใจแรงกล้าของชายหนุ่มที่ได้ปกป้องพระนามของพระยะโฮวาอย่างไม่หวั่นกลัว. ไม่มีข้อกังขาว่าดาวิดนับถือชายผู้สูงวัยกว่าที่ได้สนับสนุนการจัดเตรียมของพระยะโฮวาด้วยความภักดีและให้ผลประโยชน์ของดาวิดมาก่อนผลประโยชน์ของตนเองอย่างไม่เห็นแก่ตัว. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นตอนที่ดาวิดรู้สึกหดหู่ใจมาก ขณะเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารเพื่อเอาตัวรอดจากพระพิโรธของกษัตริย์ซาอูล ราชบิดาของโยนาธาน. โยนาธานเป็นฝ่ายริเริ่มในการแสดงความภักดีที่โดดเด่น และ “ไปหาดาวิด . . . ชักชวนให้กล้าหาญขึ้นโดยพึ่งอาศัยในพระเจ้า.” (1 ซามูเอล 23:16) ลองนึกภาพดูว่าดาวิดคงต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อเพื่อนรักมาหาและให้กำลังใจท่าน! *

11. คุณเรียนอะไรเกี่ยวกับมิตรภาพจากตัวอย่างของโยนาธานกับดาวิด?

11 เราเรียนอะไรจากตัวอย่างของโยนาธานกับดาวิด? บทเรียนเด่นที่สุดคือ เราเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งเพื่อนควรจะมีเหมือนกันคือการถือว่าสัมพันธภาพของเขากับพระเจ้าเป็นสิ่งที่มีค่า. เมื่อเราเข้าใกล้คนเหล่านั้นที่มีความเชื่อ มีค่านิยมทางด้านศีลธรรมเหมือนเรา อีกทั้งเป็นผู้ที่ปรารถนาจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแล้ว จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด, ความรู้สึก, และประสบการณ์ซึ่งสนับสนุนและเสริมเราให้เข้มแข็งขึ้น. (โรม 1:11, 12) เพื่อนซึ่งสนใจในสิ่งฝ่ายวิญญาณดังกล่าวมีอยู่ท่ามกลางเพื่อนร่วมนมัสการ. แต่นี่หมายความว่าทุกคนที่เข้าร่วมการประชุม ณ หอประชุมเป็นเพื่อนที่ดีไหม? ไม่เสมอไป.

วิธีเลือกเพื่อนสนิท

12, 13. (ก) ทำไมเราต้องเลือกเฟ้นคนที่เราคบหาด้วยแม้แต่ในท่ามกลางเพื่อนคริสเตียน? (ข) บางประชาคมในศตวรรษแรกเผชิญปัญหาอะไร และเปาโลต้องให้คำเตือนที่หนักแน่นเช่นไร?

12 แม้แต่ในประชาคม เราก็ยังต้องรู้จักเลือกเพื่อนเพื่อเขาจะเป็นผู้ที่ช่วยให้สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าวัฒนาขึ้น. เรื่องนี้ควรทำให้เราแปลกใจไหม? ไม่เลย. คริสเตียนบางคนในประชาคมอาจต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่นเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกับผลไม้บางลูกที่อยู่บนต้นกว่าจะสุกก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าลูกอื่น. ด้วยเหตุนี้ ในทุกประชาคม เราพบคริสเตียนที่เติบโตฝ่ายวิญญาณในระดับที่ต่างกัน. (ฮีบรู 5:12–6:3) แน่นอน เราแสดงความอดทนและความรักต่อคนใหม่ ๆ หรือผู้ที่อ่อนแอกว่า เพราะเราต้องการช่วยเขาให้พัฒนาขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ.—โรม 14:1; 15:1.

13 บางครั้ง อาจเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งในประชาคมซึ่งทำให้เราต้องระวังการคบหาสมาคม. บางคนอาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความประพฤติที่น่าสงสัย. บางคนอาจพัฒนาน้ำใจที่ขุ่นเคืองหรือชอบบ่น. บางประชาคมในศตวรรษแรกเผชิญปัญหาคล้ายกัน. ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ซื่อสัตย์ บางคนไม่ได้ประพฤติตัวอย่างเหมาะสม. เนื่องจากบางคนในประชาคมโครินท์ไม่ได้สนับสนุนคำสอนคริสเตียนบางอย่าง อัครสาวกเปาโลจึงเตือนประชาคมว่า “อย่าให้ใครชักนำให้หลง. การคบหาที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.” (1 โครินท์ 15:12, 33) เปาโลเตือนติโมเธียวว่าแม้แต่ในท่ามกลางเพื่อนคริสเตียน อาจมีบางคนที่ไม่ได้ประพฤติอย่างซื่อตรง. ติโมเธียวได้รับคำสั่งให้หลีกห่างจากคนเช่นนั้น ไม่เป็นเพื่อนสนิทกับเขา.—2 ติโมเธียว 2:20-22.

14. เราจะนำหลักการที่อยู่เบื้องหลังคำเตือนของเปาโลเกี่ยวกับการคบหามาใช้ได้อย่างไร?

14 เราจะนำหลักการที่อยู่เบื้องหลังคำเตือนของเปาโลมาใช้ได้อย่างไร? โดยหลีกเลี่ยงการคบหาอย่างใกล้ชิดกับใคร ๆ—ไม่ว่าภายในหรือภายนอกประชาคม—ซึ่งอาจก่ออิทธิพลที่ไม่ดี. (2 เทสซาโลนิเก 3:6, 7, 14) เราต้องปกป้องสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวาไว้. ขอจำไว้ว่า เช่นเดียวกับฟองน้ำ เราซึมซับเจตคติและแนวทางของเพื่อนที่เราคบหาอย่างใกล้ชิด. เหมือนกับที่เราเอาฟองน้ำจุ่มลงในน้ำส้มสายชูแล้วจะคาดหมายให้มันชุ่มด้วยน้ำย่อมไม่ได้ ดังนั้น เราจะคบหากับคนที่ก่ออิทธิพลอันเสื่อมทรามแล้วคาดว่าจะซึมซับสิ่งที่ดีงามจากเขาย่อมไม่ได้เช่นกัน.—1 โครินท์ 5:6.

คุณจะมีการคบหาที่ดีได้ในท่ามกลางเพื่อนร่วมนมัสการ

15. คุณจะทำประการใดเพื่อหาเพื่อนในประชาคมผู้ซึ่งใฝ่ใจในทางของพระเจ้า?

15 น่ายินดี เรามีโอกาสมากจริง ๆ ที่จะพบเพื่อนที่ดีในท่ามกลางผู้นมัสการพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1) คุณจะหาเพื่อนในประชาคมผู้ซึ่งใฝ่ใจในทางของพระเจ้าได้อย่างไร? ขณะที่คุณปลูกฝังคุณลักษณะแบบพระเจ้าและดำเนินในแนวทางที่พระเจ้าพอพระทัย คนอื่นที่มีความคิดอย่างเดียวกันนั้นก็จะได้รับการกระตุ้นให้มาคบหากับคุณ. เวลาเดียวกัน คุณอาจต้องทำตามขั้นตอนบางอย่างที่ใช้ได้จริงเพื่อเป็นฝ่ายริเริ่มหาเพื่อนใหม่. (โปรดดูกรอบ “ เราจะหาเพื่อนที่ดีได้อย่างไร?”) จงมองหาคนที่แสดงคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งคุณเองก็ต้องการสะท้อนออกมา. จงเอาใจใส่คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ “เปิดใจให้กว้าง” แสวงหามิตรภาพกับเพื่อนร่วมความเชื่อโดยไม่คำนึงถึงเผ่าพันธุ์, เชื้อชาติ, หรือวัฒนธรรม. (2 โครินท์ 6:13; 1 เปโตร 2:17) อย่าคบหาเฉพาะคนกลุ่มที่อยู่ในวัยเดียวกับคุณ. จำไว้ว่าโยนาธานมีอายุมากกว่าดาวิดหลายปี. ประสบการณ์และสติปัญญาของผู้สูงวัยหลายคนสามารถส่งเสริมให้มิตรภาพมีค่ามากขึ้นได้.

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น

16, 17. หากเพื่อนร่วมนมัสการทำให้เราเจ็บใจในบางประการ ทำไมเราไม่ควรถอนตัวจากประชาคม?

16 เนื่องจากมีบุคลิกภาพและภูมิหลังที่หลากหลายต่างกันในประชาคม ปัญหาอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว. เพื่อนร่วมความเชื่ออาจพูดหรือทำอะไรบางอย่างซึ่งทำให้เรารู้สึกเจ็บใจ. (สุภาษิต 12:18) บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างกันทางบุคลิกภาพ, ความเข้าใจผิด, หรือความคิดเห็นที่แตกต่างกัน. เราจะขุ่นเคืองเพราะปัญหาดังกล่าวแล้วถอนตัวจากประชาคมไหม? คงจะไม่ถ้าเรามีความรักแท้ต่อพระยะโฮวาและต่อคนที่พระองค์ทรงรัก.

17 ในฐานะพระผู้สร้างและผู้ค้ำจุนชีวิตของเรา พระยะโฮวาสมควรได้รับความรักและความเลื่อมใสอย่างเต็มที่จากเรา. (วิวรณ์ 4:11) นอกจากนี้ ประชาคมที่พระองค์พอพระทัยจะใช้ก็สมควรได้รับการสนับสนุนด้วยความภักดีจากเรา. (ฮีบรู 13:17) ดังนั้น หากเพื่อนร่วมนมัสการทำให้เราเจ็บใจหรือผิดหวังในบางประการ เราจะไม่ถอนตัวจากประชาคมเพื่อเป็นการประท้วง. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? พระยะโฮวามิใช่ผู้ที่ทำให้เราขุ่นเคือง. ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาจะไม่มีวันยอมให้เราปฏิเสธพระองค์และประชาชนของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 119:165.

18. (ก) เราจะทำอะไรได้เพื่อส่งเสริมสันติสุขในประชาคม? (ข) เราจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้างหากเราเลือกที่จะให้อภัยเมื่อมีเหตุผลสมควร?

18 ความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมนมัสการกระตุ้นเราให้ส่งเสริมสันติสุขในประชาคม. พระยะโฮวามิได้คาดหมายความสมบูรณ์จากคนที่พระองค์ทรงรัก และเราก็ไม่ควรคาดหมายด้วยเช่นกัน. ความรักทำให้เราสามารถมองข้ามความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยระลึกว่าเราทุกคนล้วนไม่สมบูรณ์และทำผิดพลาด. (สุภาษิต 17:9; 1 เปโตร 4:8) ความรักช่วยเรา “ให้อภัยกันอย่างใจกว้าง” อยู่เรื่อยไป. (โกโลซาย 3:13) ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะเอาคำแนะนำนี้มาใช้. หากเรายอมให้ความรู้สึกในแง่ลบครอบงำเรา เราอาจมีแนวโน้มที่จะขุ่นเคืองอยู่ต่อไป บางทีเนื่องจากรู้สึกว่าความโกรธของเราเป็นการลงโทษผู้ทำผิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. แต่ที่จริงแล้ว การเก็บความขุ่นเคืองเป็นผลเสียต่อเรา. การเลือกที่จะให้อภัยเมื่อมีเหตุผลสมควร ทำให้เราได้รับผลประโยชน์มากมาย. (ลูกา 17:3, 4) การให้อภัยทำให้เรามีความสงบสุขในจิตใจและหัวใจ รักษาสันติสุขในประชาคม และเหนือสิ่งอื่นใด รักษาไว้ซึ่งสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวา.—มัดธาย 6:14, 15; โรม 14:19.

เมื่อไรที่จะเลิกคบหา?

19. อาจเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่ทำให้เราต้องเลิกคบหากับบางคน?

19 บางครั้งเราต้องเลิกคบหากับบางคนที่เคยเป็นสมาชิกของประชาคม. เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อใครสักคนละเมิดกฎหมายของพระเจ้าโดยไม่ยอมกลับใจได้ถูกตัดสัมพันธ์ หรือเมื่อคนหนึ่งปฏิเสธความเชื่อโดยสอนหลักคำสอนเท็จหรือโดยตัดตัวเองจากประชาคม. พระคำของพระเจ้าสั่งเราอย่างชัดเจนว่า ‘อย่ากินอะไรด้วยกันกับคนเช่นนั้นเลย.’ * (1 โครินท์ 5:11-13; 2 โยฮัน 9-11) อาจเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่จะหลีกเลี่ยงคนที่เคยเป็นเพื่อนหรือเป็นญาติของเรา. เราจะยืนหยัดมั่นคง และโดยวิธีนี้แสดงว่าเราภักดีต่อพระยะโฮวาและกฎหมายอันชอบธรรมของพระองค์เหนือสิ่งอื่นใดไหม? อย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรงถือว่าความภักดีและการเชื่อฟังมีค่ามาก.

20, 21. (ก) ทำไมการตัดสัมพันธ์จึงเป็นวิธีดำเนินการที่แสดงถึงความรัก? (ข) เหตุใดนับว่าสำคัญที่เราจะเลือกเพื่อนอย่างฉลาดสุขุม?

20 การตัดสัมพันธ์เป็นวิธีดำเนินการที่แสดงถึงความรักของพระยะโฮวาอย่างแท้จริง. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? การขับไล่คนที่ทำบาปโดยไม่กลับใจแสดงให้เห็นความรักที่มีต่อพระนามอันบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาและต่อมาตรฐานของพระเจ้าและต่อพระองค์เอง. (1 เปโตร 1:15, 16) การตัดสัมพันธ์ทำให้ประชาคมคงอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย. สมาชิกที่ซื่อสัตย์ได้รับการปกป้องไว้จากอิทธิพลที่ไม่ดีของคนที่จงใจทำบาป และสามารถดำเนินการนมัสการต่อไปโดยรู้อยู่ว่าประชาคมเป็นที่พักพิงอันปลอดภัยห่างจากโลกชั่วนี้. (1 โครินท์ 5:7; ฮีบรู 12:15, 16) การตีสอนที่หนักแน่นเป็นการแสดงความรักต่อผู้กระทำผิด. การตีสอนเช่นนั้นอาจเป็นการเขย่าที่จำเป็นเพื่อเขาจะสำนึกตัวและทำตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อจะกลับมาหาพระยะโฮวา.—ฮีบรู 12:11.

21 ความเป็นจริงคือว่า เพื่อนสนิทของเราอาจมีผลกระทบอย่างมากในการหล่อหลอมตัวเรา. ดังนั้น นับว่าสำคัญที่เราเลือกเพื่อนอย่างฉลาดสุขุม. โดยเป็นเพื่อนกับคนที่เป็นมิตรของพระยะโฮวา โดยรักคนที่พระเจ้าทรงรัก เราก็จะมีเพื่อนที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้อยู่รอบตัวเรา. สิ่งที่เราซึมซับจากเขาจะช่วยเราให้ปฏิบัติตามความตั้งใจของเราที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย.

^ วรรค 2 คำฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “คบ” ยังมีการแปลด้วยว่า “เป็นมิตรสหายกัน” และ “เป็นมิตร.”—วินิจฉัย 14:20; สุภาษิต 22:24, ฉบับแปลใหม่.

^ วรรค 4 โดยขออับราฮามให้ทำเช่นนี้ พระยะโฮวาทรงเผยให้เห็นภาพล่วงหน้าเกี่ยวกับการที่พระองค์เองจะสละพระบุตรที่รักองค์เดียวของพระองค์เป็นเครื่องบูชา. (โยฮัน 3:16) ในกรณีของอับราฮาม พระยะโฮวาทรงเข้าแทรกแซงโดยจัดเตรียมแกะตัวผู้มาแทนยิศฮาค.—เยเนซิศ 22:1, 2, 9-13.

^ วรรค 9 ดาวิด “เป็นแต่เด็กหนุ่ม” ตอนที่ฆ่าฆาละยัธ และมีอายุราว ๆ 30 ปีตอนที่โยนาธานเสียชีวิต. (1 ซามูเอล 17:33; 31:2; 2 ซามูเอล 5:4) โยนาธานซึ่งเสียชีวิตตอนอายุประมาณ 60 ปีดูเหมือนจะแก่กว่าดาวิดราว ๆ 30 ปี.

^ วรรค 10 ตามที่บันทึกใน 1 ซามูเอล 23:17 โยนาธานได้กล่าวคำหนุนใจห้าประการแก่ดาวิด คือ (1) ท่านกระตุ้นดาวิดว่าอย่ากลัวเลย. (2) ท่านรับรองกับดาวิดว่าความพยายามของซาอูลจะล้มเหลว. (3) ท่านเตือนดาวิดให้ระลึกว่า ดาวิดจะได้รับตำแหน่งกษัตริย์ตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้. (4) ท่านปฏิญาณว่าจะภักดีต่อดาวิด. (5) ท่านบอกดาวิดว่าแม้แต่ซาอูลก็ทราบด้วยซ้ำว่าท่านมีความภักดีต่อดาวิด.

^ วรรค 19 เพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องวิธีปฏิบัติต่อคนที่ถูกตัดสัมพันธ์หรือตัดตัวเอง โปรดดูภาคผนวกเรื่อง “เราควรปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์.”