ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 6

วิธีเลือกความบันเทิงที่ดีงาม

วิธีเลือกความบันเทิงที่ดีงาม

“จงทำทุกสิ่งอย่างที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ.”—1 โครินท์ 10:31.

1, 2. มีทางเลือกอะไรบ้างในเรื่องความบันเทิงที่เราต้องทำ?

ขอให้นึกภาพว่า คุณกำลังจะรับประทานผลไม้อร่อยชิ้นหนึ่ง แต่แล้วคุณสังเกตว่ามีส่วนหนึ่งที่เน่า. คุณจะทำประการใด? คุณอาจรับประทานผลไม้ชิ้นนั้นทั้งหมดรวมทั้งส่วนที่เสียด้วย; หรือคุณอาจโยนทั้งชิ้นทิ้งไป; หรือคุณอาจเฉือนส่วนที่เสียออกแล้วรับประทานส่วนที่ดี. คุณจะเลือกวิธีไหน?

2 ในบางแง่ ความบันเทิงเป็นเหมือนผลไม้ดังกล่าว. บางครั้ง คุณต้องการเพลิดเพลินกับนันทนาการบ้าง แต่คุณตระหนักว่าความบันเทิงส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ไม่เหมาะสม ถึงกับเสื่อมเสียทางด้านศีลธรรมด้วยซ้ำ. ดังนั้น คุณจะทำประการใด? บางคนอาจยอมให้กับสิ่งที่ไม่ดีและยอมรับเอาความบันเทิงไม่ว่าแบบใดที่โลกเสนอให้. ส่วนคนอื่นอาจหลีกเลี่ยงความบันเทิงทุกอย่างเพื่อทำให้แน่ใจว่าเขาจะไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งใด ๆ ที่ก่อความเสียหาย. ยังมีบางคนซึ่งอาจระมัดระวังที่จะหลีกเลี่ยงความบันเทิงที่ก่อผลเสียหาย แต่ก็เพลิดเพลินกับความบันเทิงที่ค่อนข้างดีงามเป็นครั้งคราว. คุณควรเลือกอย่างไหนเพื่อจะทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ?

3. ตอนนี้เราจะพิจารณาอะไร?

3 พวกเราส่วนใหญ่คงจะเลือกอย่างที่สาม. เรายอมรับว่าจำเป็นต้องมีนันทนาการบ้าง แต่เราก็ต้องการเลือกเอาเฉพาะความบันเทิงที่ดีงามทางด้านศีลธรรม. ดังนั้น เราต้องพิจารณาว่า เราจะตัดสินได้อย่างไรว่าความบันเทิงแบบไหนที่ดีงาม และแบบไหนที่ไม่เหมาะสม. แต่ก่อนอื่นให้เราพิจารณาว่าการเลือกความบันเทิงของเราอาจมีผลกระทบอย่างไรต่อการนมัสการที่เราถวายแด่พระยะโฮวา.

“จงทำทุกสิ่งอย่างที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ”

4. การอุทิศตัวของเราควรมีผลกระทบอย่างไรต่อการเลือกความบันเทิง?

4 ไม่นานมานี้ พยานสูงอายุคนหนึ่งซึ่งได้รับบัพติสมาในปี 1946 ได้กล่าวว่า “ผมถือว่าสำคัญที่จะอยู่ฟังคำบรรยายสำหรับการรับบัพติสมาทุกครั้งและตั้งใจฟังเหมือนกับเป็นการรับบัพติสมาของผมเอง.” เพราะเหตุใด? เขาอธิบายว่า “การทำให้การอุทิศตัวของผมแจ่มชัดอยู่ในความคิดเสมอเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยผมให้รักษาความซื่อสัตย์มาได้จนถึงทุกวันนี้.” ไม่ต้องสงสัยว่า คุณคงเห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว. การเตือนตัวเองให้ระลึกว่าคุณได้สัญญากับพระยะโฮวาว่า จะใช้ทั้งชีวิตของคุณเพื่อรับใช้พระองค์ย่อมกระตุ้นคุณให้อดทน. (ท่านผู้ประกาศ 5:4; ฮีบรู 10:7) ที่จริง การคิดรำพึงถึงการอุทิศตัวของคุณจะมีผลกระทบต่อทัศนะของคุณไม่เพียงในเรื่องงานรับใช้ของคริสเตียนเท่านั้น แต่ในกิจกรรมอื่นทุกอย่างในชีวิต รวมทั้งความบันเทิงด้วย. อัครสาวกเปาโลได้เน้นความจริงของเรื่องนี้เมื่อท่านเขียนถึงคริสเตียนในสมัยของท่านว่า “ไม่ว่าพวกท่านจะกินหรือดื่มหรือทำอะไรก็ตาม จงทำทุกสิ่ง อย่างที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ.”—1 โครินท์ 10:31.

5. เลวีติโก 22:18-20 ช่วยเราอย่างไรให้เข้าใจคำเตือนที่แฝงอยู่ในพระธรรมโรม 12:1?

5 ทุกสิ่งที่คุณทำในชีวิตย่อมส่งผลกระทบไปถึงการนมัสการพระยะโฮวา. ในจดหมายถึงชาวโรมัน เปาโลใช้ถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้งเพื่อเน้นความจริงข้อนี้กับเพื่อนร่วมความเชื่อ. ท่านกระตุ้นเตือนพวกเขาว่า “ให้ท่านทั้งหลายถวายร่างกายเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิต ที่บริสุทธิ์ ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้ ซึ่งเป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความสามารถในการใช้เหตุผลของพวกท่าน.” (โรม 12:1) ร่างกายของคุณรวมไปถึงจิตใจ, หัวใจ, และกำลังของคุณ. คุณใช้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดในการรับใช้พระเจ้า. (มาระโก 12:30) เปาโลกล่าวถึงการรับใช้ด้วยสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดในชีวิตเช่นนั้นว่าเป็นเหมือนเครื่องบูชา. คำว่า “เครื่องบูชา” มีคำเตือนแฝงอยู่. ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ เครื่องบูชาที่ใช้สัตว์พิการถูกพระเจ้าปฏิเสธ. (เลวีติโก 22:18-20) คล้ายกัน หากการรับใช้พระเจ้าซึ่งเป็นเหมือนเครื่องบูชาของคริสเตียนมีด่างพร้อยในบางประการ พระเจ้าก็จะปฏิเสธเครื่องบูชานั้น. แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

6, 7. คริสเตียนอาจทำให้ร่างกายของเขามีมลทินได้อย่างไร และอาจเกิดผลเช่นไร?

6 เปาโลได้เตือนสติคริสเตียนในกรุงโรมว่า “อย่ามอบอวัยวะ [“ส่วนต่าง ๆ ของกาย,” ฉบับแปล นิว อินเตอร์แนชันแนล ] ของพวกท่านแก่บาป.” เปาโลยังสั่งพวกเขาให้ “ทำลายการของกายนั้น.” (โรม 6:12-14; 8:13, ฉบับแปลเก่า) ในจดหมายของท่านช่วงต้น ๆ ท่านได้ให้ตัวอย่าง “การของกาย” ดังกล่าวบางอย่าง. เราอ่านเกี่ยวกับมนุษยชาติที่ผิดบาปว่า “ปาก ของเขาเต็มด้วยคำแช่งด่า.” “เท้า ของเขารวดเร็วในการกระทำเลือดคนให้ตก.” “ในแววตา ของเขาไม่มีความเกรงกลัวพระเจ้า.” (โรม 3:13-18, ฉบับแปลเก่า) คริสเตียนจะทำให้ร่างกายของเขามีมลทินหากเขาใช้ “อวัยวะ” หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในกิจปฏิบัติที่ผิดบาปดังกล่าว. ตัวอย่างเช่น หากคริสเตียนในทุกวันนี้จงใจมองดูเรื่องที่เสื่อมทราม เช่น สื่อลามกหรือดูภาพความรุนแรงแบบวิตถาร เขาก็ “มอบ [ตาของเขา] แก่บาป” และด้วยเหตุนี้ทำให้ทั้งกายของเขามีมลทิน. การนมัสการใด ๆ ที่เขาถวายคงจะกลายเป็นเครื่องบูชาที่ไม่บริสุทธิ์อีกต่อไปและไม่เป็นที่ยอมรับของพระเจ้า. (พระบัญญัติ 15:21; 1 เปโตร 1:14-16; 2 เปโตร 3:11) การเลือกความบันเทิงที่เสื่อมทรามก่อผลเสียหายสักเพียงไร!

7 เห็นได้ชัดว่า การเลือกความบันเทิงของคริสเตียนสามารถก่อผลที่ร้ายแรง. ดังนั้น เราต้องการจริง ๆ ที่จะเลือกความบันเทิงซึ่งจะเพิ่มคุณค่าเครื่องบูชาที่เราถวายแด่พระเจ้า ไม่ใช่ทำให้เครื่องบูชานั้นมีมลทิน. ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาว่าเราจะตัดสินได้อย่างไรว่าความบันเทิงแบบใดที่ดีงามและแบบใดที่เสื่อมทราม.

“จงเกลียดสิ่งที่ชั่ว”

8, 9. (ก) ความบันเทิงอาจแบ่งได้กว้าง ๆ เป็นสองประเภทอะไรบ้าง? (ข) เราปฏิเสธความบันเทิงรูปแบบใดบ้าง และเพราะเหตุใด?

8 ความบันเทิงอาจแบ่งได้กว้าง ๆ เป็นสองประเภท. ประเภทหนึ่งคือความบันเทิงที่คริสเตียนหลีกเลี่ยงอย่างแน่นอน; อีกประเภทหนึ่งประกอบด้วยความบันเทิงที่คริสเตียนอาจรู้สึกว่ายอมรับได้หรืออาจยอมรับไม่ได้. ขอให้เราเริ่มต้นโดยการพิจารณาประเภทแรกก่อน ซึ่งเป็นความบันเทิงที่คริสเตียนหลีกเลี่ยง.

9 ดังที่กล่าวไว้ในบท 1 ความบันเทิงบางรูปแบบเน้นการกระทำที่คัมภีร์ไบเบิลตำหนิอย่างชัดเจน. ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงเว็บไซต์ รวมถึงภาพยนตร์, รายการทีวี, และดนตรีที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความโหดร้ายรุนแรงหรือผีปิศาจ หรือที่มีภาพลามก หรือการกระทำที่ส่งเสริมการทำผิดศีลธรรมอันน่ารังเกียจ. เนื่องจากมีการให้ภาพว่าความบันเทิงที่ต่ำทรามรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ยอมรับได้ ซึ่งละเมิดหลักการของคัมภีร์ไบเบิลหรือขัดกับกฎหมายของพระคัมภีร์ คริสเตียนควรหลีกเลี่ยงความบันเทิงดังกล่าว. (กิจการ 15:28, 29; 1 โครินท์ 6:9, 10; วิวรณ์ 21:8) โดยการปฏิเสธความบันเทิงที่เสื่อมทรามเช่นนั้น คุณพิสูจน์ต่อพระยะโฮวาว่าคุณ “เกลียดสิ่งชั่ว” อย่างแท้จริงและ “ทิ้งการชั่ว” เสมอ. โดยวิธีนั้น คุณมี “ความเชื่อที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด.”—โรม 12:9; บทเพลงสรรเสริญ 34:14; 1 ติโมเธียว 1:5.

10. การอ้างเหตุผลเช่นไรเกี่ยวกับความบันเทิงที่นับว่าเป็นอันตราย และเพราะเหตุใด?

10 แต่บางคนอาจรู้สึกว่า การดูสื่อบันเทิงที่แสดงภาพพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมอย่างชัดแจ้งนั้นไม่มีพิษภัย. พวกเขาให้เหตุผลว่า ‘ฉันอาจดูเรื่องนั้นในภาพยนตร์หรือทีวี แต่ตัวฉันจะไม่มีวันทำแบบนั้นหรอก.’ การอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นการหลอกลวงและเป็นอันตราย. (ยิระมะยา 17:9) หากเรารู้สึกเพลิดเพลินกับการดูสิ่งที่พระยะโฮวาทรงตำหนิแล้ว เรา “เกลียดสิ่งที่ชั่ว” จริง ๆ ไหม? การปล่อยตัวให้ดู, อ่าน, หรือฟังเรื่องความประพฤติที่ชั่วอยู่ร่ำไปจะทำให้ความรู้สึกของเราด้านชา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:70; 1 ติโมเธียว 4:1, 2) การทำเช่นนั้นอาจมีผลกระทบต่อสิ่งที่เราทำหรือทัศนะของเราต่อการประพฤติผิดของคนอื่น.

11. กาลาเทีย 6:7 ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไรในเรื่องความบันเทิง?

11 นี่เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ. คริสเตียนบางคนได้ทำผิดศีลธรรมเพราะได้รับอิทธิพลจากความบันเทิงที่เขาดูเป็นประจำ. เฉพาะเมื่อเขาได้รับประสบการณ์อันเจ็บปวดนั่นแหละที่เขาได้เรียนรู้ว่า “ใครหว่านอะไรก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น.” (กาลาเทีย 6:7) แต่ผลที่น่าเศร้าเช่นนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้. หากคุณเอาใจใส่อย่างดีในการหว่านสิ่งที่สะอาดทางด้านศีลธรรมในจิตใจของคุณ คุณก็จะเก็บเกี่ยวผลที่ดีงามในชีวิตของคุณด้วยความยินดี.—ดูกรอบ “ ฉันควรเลือกความบันเทิงแบบไหน?

การตัดสินใจส่วนตัวโดยอาศัยหลักการในคัมภีร์ไบเบิล

12. กาลาเทีย 6:5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับความบันเทิง และเรามีการชี้นำอะไรในการตัดสินใจเป็นส่วนตัว?

12 ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาประเภทที่สอง—ความบันเทิงซึ่งมีรูปแบบหรือเนื้อหาที่พระคำของพระเจ้าไม่ได้ตำหนิโดยตรงหรือไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นที่ยอมรับ. เมื่อเลือกความบันเทิงดังกล่าว คริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจเองว่าอะไรที่เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งดีงาม. (กาลาเทีย 6:5) อย่างไรก็ดี เมื่อเผชิญการเลือกเช่นนี้ ก็ใช่ว่าเราไม่มีการชี้นำ. คัมภีร์ไบเบิลมีหลักการ หรือความจริงพื้นฐานซึ่งช่วยเราให้เข้าใจแนวความคิดของพระยะโฮวา. โดยเอาใจใส่หลักการดังกล่าว เราจะสามารถเข้าใจว่า “พระประสงค์ของพระยะโฮวาคืออะไร” ในทุกเรื่อง รวมทั้งในเรื่องการเลือกความบันเทิงของเราด้วย.—เอเฟโซส์ 5:17.

13. อะไรจะกระตุ้นเราให้หลีกเลี่ยงความบันเทิงที่อาจทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย?

13 เป็นเรื่องเข้าใจได้ ไม่ใช่คริสเตียนทุกคนพัฒนาการรับรู้หรือความเข้าใจทางด้านศีลธรรมในระดับเดียวกัน. (ฟิลิปปอย 1:9) ยิ่งกว่านั้น คริสเตียนตระหนักว่าในเรื่องเกี่ยวกับความบันเทิงนั้น รสนิยมย่อมมีหลากหลายต่างกันไป. ดังนั้น เราไม่อาจคาดหมายว่าคริสเตียนทุกคนจะตัดสินใจเหมือนกันทุกอย่าง. ถึงกระนั้น ยิ่งเรายอมให้หลักการของพระเจ้ามีอิทธิพลต่อจิตใจและหัวใจของเรามากเท่าไร เราก็จะยิ่งกระตือรือร้นมากเท่านั้นที่จะหลีกเลี่ยงความบันเทิงใด ๆ ที่อาจทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย.—บทเพลงสรรเสริญ 119:11, 129; 1 เปโตร 2:16.

14. (ก) เราควรพิจารณาปัจจัยอะไรบ้างเมื่อเลือกความบันเทิง? (ข) เราจะให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่อันดับแรกในชีวิตเสมอได้โดยวิธีใด?

14 เมื่อเลือกความบันเทิง มีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พึงพิจารณาคือ เวลาของคุณ. ขณะที่เนื้อหาของความบันเทิงที่คุณเลือกเผยให้เห็นสิ่งที่คุณถือว่ายอมรับได้ แต่เวลาที่คุณใช้ไปในการบันเทิงนั้นเผยให้เห็นว่าอะไรสำคัญสำหรับคุณ. แน่นอน สำหรับคริสเตียนแล้ว เรื่องทางฝ่ายวิญญาณนับว่าสำคัญที่สุด. (มัดธาย 6:33) ถ้าเช่นนั้น คุณจะทำประการใดเพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรยังคงอยู่อันดับแรกในชีวิตคุณ? อัครสาวกเปาโลได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงเฝ้าระวังให้ดี จะได้ไม่ประพฤติอย่างคนไร้ปัญญา แต่ประพฤติอย่างคนมีปัญญา โดยใช้ทุกโอกาสให้เกิดประโยชน์มากที่สุด.” (เอเฟโซส์ 5:15, 16) ที่จริง การกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจนสำหรับความบันเทิงจะช่วยคุณให้มีเวลาที่จำเป็นสำหรับ ‘สิ่งที่สำคัญกว่า’ ซึ่งก็คือกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของคุณ.—ฟิลิปปอย 1:10.

15. เหตุใดนับว่าฉลาดที่จะอยู่ในระยะที่ปลอดภัยไว้ก่อนเมื่อเลือกความบันเทิง?

15 นอกจากนี้ นับว่าฉลาดที่จะอยู่ในระยะที่ปลอดภัยไว้ก่อนเมื่อเลือกความบันเทิง. นี่หมายความอย่างไร? ขอพิจารณาตัวอย่างเรื่องผลไม้อีกครั้งหนึ่ง. เพื่อจะหลีกเลี่ยงการกินผลไม้ส่วนที่เน่าเสียโดยไม่ตั้งใจ คุณจะเฉือนทิ้งไม่เฉพาะตรงที่เสียเท่านั้น แต่ยังเฉือนรอบ ๆ ส่วนที่เสียออกด้วย. คล้ายกัน นับว่าฉลาดที่จะกำหนดระยะที่ปลอดภัยไว้ก่อนในการเลือกความบันเทิง. คริสเตียนที่ฉลาดหลีกเลี่ยงไม่เพียงความบันเทิงที่ละเมิดหลักการในคัมภีร์ไบเบิลอย่างชัดแจ้ง แต่หลีกเลี่ยงความบันเทิงชนิดที่น่าสงสัยหรือที่อาจก่อผลเสียหายต่อสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวาด้วย. (สุภาษิต 4:25-27) การปฏิบัติตามคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าอย่างเคร่งครัดจะช่วยคุณให้หลีกเลี่ยงความบันเทิงดังกล่าวได้.

“สิ่งใดที่บริสุทธิ์”

การใช้หลักการของพระเจ้าเมื่อเลือกความบันเทิงป้องกันมิให้สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าเสียหาย

16. (ก) เราจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าเรามีทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องศีลธรรม? (ข) การใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะกลายเป็นแนวทางชีวิตของคุณได้อย่างไร?

16 เมื่อเลือกความบันเทิง คริสเตียนแท้คำนึงถึงทัศนะของพระยะโฮวาเป็นอันดับแรก. คัมภีร์ไบเบิลเผยให้เห็นความรู้สึกและมาตรฐานของพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น กษัตริย์ซะโลโมให้รายการสิ่งต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงเกลียดชัง เช่น “ลิ้นพูดปด; มือที่ประหารคนที่ไม่มีผิดให้โลหิตตก; ใจที่คิดกะการชั่วร้ายนานา, เท้าที่วิ่งปราดไปกระทำผิด.” (สุภาษิต 6:16-19) ทัศนะของพระยะโฮวาควรมีผลกระทบอย่างไรต่อทัศนะของคุณ? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกระตุ้นเตือนว่า “ท่านทั้งหลายที่รักพระยะโฮวา, จงเกลียดการชั่ว.” (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) การเลือกความบันเทิงของคุณต้องแสดงว่าคุณเกลียดสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเกลียดอย่างแท้จริง. (กาลาเทีย 5:19-21) ขอจำไว้ด้วยว่า สิ่งที่คุณทำในที่ลับตาคนจะเผยให้เห็นว่าคุณเป็นคนชนิดใดจริง ๆ ยิ่งกว่าสิ่งที่คุณทำต่อหน้าคนอื่น. (บทเพลงสรรเสริญ 11:4; 16:8) ดังนั้น หากคุณมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะสะท้อนความรู้สึกของพระยะโฮวาในเรื่องศีลธรรมในทุกแง่มุมของชีวิตคุณ คุณก็จะเลือกอย่างที่สอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเสมอ. การทำเช่นนั้นจะกลายเป็นแนวทางชีวิตของคุณ.—2 โครินท์ 3:18.

17. ก่อนเลือกความบันเทิง เราควรถามตัวเองเช่นไร?

17 คุณอาจทำอะไรได้อีกเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะปฏิบัติสอดคล้องกับแนวความคิดของพระยะโฮวาเมื่อเลือกความบันเทิง? ขอไตร่ตรองคำถามที่ว่า ‘เรื่องนี้จะมีผลกระทบอย่างไรต่อตัวฉันและสัมพันธภาพของฉันกับพระเจ้า?’ ตัวอย่างเช่น ก่อนตัดสินใจจะดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง จงถามตัวเองว่า ‘เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีผลกระทบอย่างไรต่อสติรู้สึกผิดชอบของฉัน?’ ขอให้เราพิจารณาว่าจะนำหลักการอะไรมาใช้ได้กับเรื่องนี้.

18, 19. (ก) หลักการที่พบในฟิลิปปอย 4:8 จะช่วยเราให้ตัดสินใจได้อย่างไรว่าความบันเทิงของเราเป็นสิ่งที่ดีงามหรือไม่? (ข) มีหลักการอะไรอีกที่จะช่วยคุณให้เลือกความบันเทิงที่ดีงาม? (ดูเชิงอรรถ.)

18 หลักการสำคัญข้อหนึ่งพบได้ที่ฟิลิปปอย 4:8 ซึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดที่จริง สิ่งใดที่ควรเอาใจใส่อย่างจริงจัง สิ่งใดที่ชอบธรรม สิ่งใดที่บริสุทธิ์ สิ่งใดที่น่ารัก สิ่งใดที่มีการกล่าวถึงในทางดี ถ้ามีคุณความดีประการใดและถ้ามีสิ่งใดที่น่าสรรเสริญ จงใคร่ครวญสิ่งเหล่านั้นต่อ ๆ ไป.” จริงอยู่ เปาโลไม่ได้พิจารณาเรื่องความบันเทิง แต่กำลังพิจารณาการไตร่ตรองในหัวใจซึ่งควรจะเพ่งเล็งอยู่ในสิ่งที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย. (บทเพลงสรรเสริญ 19:14) กระนั้น หลักการในถ้อยคำของเปาโลสามารถนำมาใช้ได้กับเรื่องความบันเทิง. โดยวิธีใด?

19 จงถามตัวเองว่า ‘การเลือกของฉันในเรื่องภาพยนตร์, วิดีโอเกม, ดนตรี, หรือความบันเทิงแบบอื่น ๆ ทำให้จิตใจของฉันเต็มด้วย “สิ่งที่บริสุทธิ์” ไหม?’ ตัวอย่างเช่น หลังจากชมภาพยนตร์แล้ว ภาพอะไรที่ยังคงครอบงำความคิดของคุณอยู่? หากเป็นภาพที่น่าดู, บริสุทธิ์สะอาด, และทำให้สดชื่นแล้ว คุณก็รู้ว่าความบันเทิงของคุณเป็นสิ่งที่ดีงาม. อย่างไรก็ดี หากภาพยนตร์ที่คุณดูทำให้คุณคิดถึงสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ ความบันเทิงนั้นก็ไม่เหมาะสม ถึงกับก่อผลเสียหายด้วยซ้ำ. (มัดธาย 12:33; มาระโก 7:20-23) เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะการคิดถึงสิ่งที่ไม่สะอาดทางด้านศีลธรรมย่อมรบกวนความสงบในใจคุณ ทำให้สติรู้สึกผิดชอบของคุณที่ได้รับการฝึกฝนจากคัมภีร์ไบเบิลนั้นเกิดรอยแผลเป็นที่ด้านชา และอาจทำลายสัมพันธภาพของคุณกับพระเจ้า. (เอเฟโซส์ 5:5; 1 ติโมเธียว 1:5, 19) เนื่องจากความบันเทิงดังกล่าวก่อผลเสียหายต่อคุณเป็นส่วนตัว จงตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงความบันเทิงนั้น. * (โรม 12:2) จงเป็นเหมือนผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งได้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาว่า “ขอให้ลูกตาของข้าพเจ้าเมินไปเสียจากของอนิจจัง.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:37.

คำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่น

20, 21. หนึ่งโครินท์ 10:23, 24 เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเลือกความบันเทิงที่ดีงาม?

20 เปาโลได้กล่าวถึงหลักการสำคัญในคัมภีร์ไบเบิลที่ต้องคำนึงถึงเมื่อตัดสินใจในเรื่องส่วนตัว. ท่านกล่าวว่า “ทุกสิ่งทำได้ไม่มีข้อห้าม แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งทำให้เจริญ. อย่าให้ใครทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้ทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นด้วย.” (1 โครินท์ 10:23, 24) หลักการนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเลือกความบันเทิงที่ดีงาม? คุณต้องถามตัวเองว่า ‘ความบันเทิงที่ฉันเลือกจะมีผลกระทบอย่างไรต่อคนอื่น?’

21 สติรู้สึกผิดชอบอาจยอมให้คุณเข้าร่วมในความบันเทิงบางอย่างที่คุณถือว่า “ทำได้ไม่มีข้อห้าม” หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้. อย่างไรก็ดี หากคุณสังเกตว่าพี่น้องบางคนซึ่งมีสติรู้สึกผิดชอบที่เคร่งครัดมากกว่าคุณอาจรู้สึกว่าความบันเทิงดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ คุณก็อาจตัดสินใจไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความบันเทิงนั้น. เพราะเหตุใด? เพราะคุณไม่ต้องการ “ทำบาปต่อพี่น้อง”—หรือถึงกับ “ทำบาปต่อพระคริสต์” ดังที่เปาโลกล่าว—เนื่องจากการทำเช่นนั้นทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นที่เพื่อนร่วมความเชื่อของคุณจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า. คุณใส่ใจคำตักเตือนที่ว่า “อย่าเป็นเหตุให้ . . . หลงผิด.” (1 โครินท์ 8:12; 10:32) คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้เอาใจใส่คำแนะนำของเปาโลที่แสดงการคำนึงถึงผู้อื่นและเห็นอกเห็นใจโดยหลีกเลี่ยงความบันเทิงที่อาจ “ทำได้ไม่มีข้อห้าม” แต่ก็ไม่ “ทำให้เจริญ.”—โรม 14:1; 15:1.

22. เหตุใดคริสเตียนจึงยอมให้กับทัศนะที่ต่างกันในเรื่องส่วนตัว?

22 แต่มีอีกแง่หนึ่งเกี่ยวกับการคำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่น. คริสเตียนซึ่งมีสติรู้สึกผิดชอบที่เคร่งครัดมากกว่าไม่ควรยืนกรานให้ทุกคนในประชาคมคริสเตียนทำตามทัศนะที่แคบของตนในเรื่องที่ว่าอะไรเป็นความบันเทิงที่เหมาะสม. หากเขาทำเช่นนั้น เขาคงจะเป็นเหมือนคนขับรถบนทางหลวงคนหนึ่งซึ่งยืนกรานให้ผู้ขับรถคนอื่น ๆ ทั้งหมดที่ใช้ถนนเส้นเดียวกันนั้นขับด้วยความเร็วเท่ากันกับที่เขาชอบ. การยืนกรานดังกล่าวคงจะไม่มีเหตุผล. เนื่องด้วยความรักแบบคริสเตียน บางคนที่มีสติรู้สึกผิดชอบซึ่งเข้มงวดมากกว่า ต้องนับถือเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งมีทัศนะต่อความบันเทิงค่อนข้างแตกต่างไปจากตน แต่ก็ยังคงอยู่ภายในขอบเขตของหลักการคริสเตียน. โดยวิธีนี้ เขาให้ ‘คนทั้งปวงเห็นว่าเขาเป็นคนมีเหตุผล.’—ฟิลิปปอย 4:5; ท่านผู้ประกาศ 7:16.

23. คุณจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าคุณเลือกความบันเทิงที่ดีงาม?

23 สรุปแล้ว คุณจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่า คุณเลือกความบันเทิงที่ดีงาม? จงปฏิเสธความบันเทิงใด ๆ ที่แสดงภาพอย่างโจ่งแจ้งเกี่ยวกับการกระทำที่ต่ำทราม ผิดศีลธรรม ซึ่งพระคำของพระเจ้าตำหนิชัด ๆ. จงปฏิบัติตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งนำมาใช้ได้กับความบันเทิงชนิดที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงอย่างเจาะจงในพระคัมภีร์. จงหลีกเลี่ยงความบันเทิงที่ก่อความเสียหายต่อสติรู้สึกผิดชอบของคุณ และเต็มใจยอมสละความบันเทิงซึ่งอาจทำให้คนอื่นไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนร่วมความเชื่อ. ขอให้การที่คุณตัดสินใจแน่วแน่ที่จะทำเช่นนั้นนำคำสรรเสริญมาสู่พระเจ้าและทำให้ตัวคุณกับครอบครัวเป็นที่รักของพระองค์เสมอ.

^ วรรค 19 หลักการอีกบางข้อซึ่งใช้ได้กับความบันเทิงจะพบได้ที่สุภาษิต 3:31; 13:20; เอเฟโซส์ 5:3, 4; และโกโลซาย 3:5, 8, 20.