ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 11

“จงให้การสมรสเป็นที่นับถือ”

“จงให้การสมรสเป็นที่นับถือ”

“จงชื่นใจยินดีด้วยกันกับภรรยาซึ่งอยู่ด้วยกันมาแต่หนุ่มสาว.”—สุภาษิต 5:18.

1, 2. เราจะพิจารณาคำถามอะไร และเพราะเหตุใด?

คุณแต่งงานแล้วไหม? ถ้าเช่นนั้น ชีวิตสมรสทำให้คุณมีความสุขไหม หรือว่าคุณกำลังประสบปัญหาครอบครัวที่ร้ายแรง? คุณกับคู่ชีวิตห่างเหินกันไหม? คุณกำลังทนกับชีวิตสมรสที่ขัดแย้งกันและไม่ประสบความยินดีไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณคงรู้สึกเศร้าใจที่ความผูกพันอันอบอุ่นในชีวิตสมรสซึ่งคุณเคยมีนั้นได้ลดน้อยลง. เนื่องจากเป็นคริสเตียน คุณคงปรารถนาอย่างแน่นอนที่จะให้ชีวิตสมรสของคุณทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าที่คุณรักได้รับการสรรเสริญ. ดังนั้น สภาพการณ์ของคุณในปัจจุบันอาจทำให้คุณวิตกกังวลและปวดร้าวใจอย่างเห็นได้ชัด. แม้จะเป็นเช่นนั้น ขออย่าเพิ่งสรุปว่าคุณอยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง.

2 ทุกวันนี้ มีคู่สมรสคริสเตียนที่ดีหลายคู่ซึ่งเคยมีชีวิตสมรสที่เป็นเพียงการทนอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัน. กระนั้น พวกเขาได้พบวิธีที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้นขึ้น. คุณก็สามารถพบความพึงพอใจมากขึ้นในชีวิตสมรสได้เช่นกัน. โดยวิธีใด?

การเข้าใกล้พระเจ้าและคู่ชีวิตของคุณให้มากขึ้น

3, 4. เหตุใดคู่สมรสจะเข้าใกล้กันมากขึ้นหากทั้งสองพยายามจะเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.

3 คุณและคู่ชีวิตจะเข้าใกล้กันมากขึ้นหากคุณทั้งสองพยายามจะเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น. เพราะเหตุใด? ขอพิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบ. ลองนึกภาพภูเขารูปกรวยคว่ำซึ่งมีฐานกว้างและยอดแคบ. ผู้ชายยืนอยู่ตรงที่ลาดเชิงเขาด้านเหนือ ส่วนผู้หญิงยืนอยู่อีกด้านหนึ่งตรงเชิงเขาด้านใต้. ทั้งคู่เริ่มปีนเขา. เมื่อยังอยู่ใกล้เชิงเขา ทั้งสองคนอยู่ห่างจากกัน. แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างปีนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปสู่ยอดเขา ทั้งคู่ก็จะเข้าใกล้กันมากขึ้น. คุณเห็นบทเรียนที่ทำให้มั่นใจจากตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไหม?

4 การที่คุณพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรับใช้พระยะโฮวาอาจเทียบได้กับการที่คุณพยายามจะปีนเขา. เนื่องจากคุณรักพระยะโฮวา จึงกล่าวโดยนัยได้ว่า คุณได้พยายามอย่างขันแข็งอยู่แล้วที่จะปีนเขา. อย่างไรก็ดี หากคุณกับคู่ชีวิตห่างเหินกันอยู่ คุณทั้งสองอาจกำลังปีนเขากันอยู่คนละด้าน. แต่เกิดอะไรขึ้นถ้าคุณยังคงปีนต่อไป? จริงอยู่ ระยะที่ห่างมากอาจทำให้คุณทั้งสองแยกจากกันในตอนแรก. แต่ยิ่งคุณพยายามเข้าใกล้พระเจ้ามากเท่าใด เหมือนกับการปีนเขาสูงขึ้น คุณกับคู่สมรสก็ยิ่งเข้าใกล้กันมากขึ้นเท่านั้น. ที่จริง การเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณกับคู่ชีวิตเข้าใกล้กันมากขึ้น. แต่จริง ๆ แล้วคุณจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?

ความรู้ในคัมภีร์ไบเบิล เมื่อนำมาใช้ย่อมมีพลังที่จะเสริมสร้างชีวิตสมรสของคุณให้มั่นคง

5. (ก) วิธีหนึ่งที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวาและคู่สมรสให้มากขึ้นคืออย่างไร? (ข) พระยะโฮวาทรงมองการสมรสอย่างไร?

5 วิธีสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเสมือนการปีนเขาสำหรับคุณกับคู่สมรสคือ เอาใจใส่คำแนะนำในเรื่องชีวิตสมรสดังที่พบในพระคำของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 25:4; ยะซายา 48:17, 18) ดังนั้น ขอพิจารณาจุดสำคัญจุดหนึ่งโดยเฉพาะในคำแนะนำที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้. ท่านบอกว่า “จงให้การสมรสเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง.” (ฮีบรู 13:4) ข้อนี้หมายความอย่างไร? “เป็นที่นับถือ” เป็นคำที่บอกเป็นนัยถึงอะไรบางอย่างที่ได้รับการยกย่องและถือว่ามีค่า. และพระยะโฮวาทรงมองการสมรสเช่นนี้แหละ—พระองค์ทรงถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่า.

ความรักอย่างจริงใจต่อพระยะโฮวาเป็นแรงกระตุ้น

6. บริบทคำแนะนำของเปาโลในเรื่องการสมรสแสดงให้เห็นอะไร และเหตุใดจึงสำคัญที่จะคิดถึงเรื่องนั้น?

6 แน่นอน ฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า คุณและคู่สมรสทราบ อยู่แล้วว่าการสมรสเป็นสิ่งที่มีค่า ถึงกับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยซ้ำ. พระยะโฮวาเองทรงริเริ่มการจัดเตรียมเรื่องการสมรสขึ้น. (มัดธาย 19:4-6) อย่างไรก็ดี หากตอนนี้คุณกำลังประสบปัญหาในชีวิตสมรสอยู่ แค่การรู้ว่าชีวิตสมรสเป็นที่น่านับถืออาจยังไม่พอที่จะกระตุ้นคุณกับคู่สมรสให้ปฏิบัติต่อกันด้วยความรักและความนับถือ. ถ้าเช่นนั้น อะไรจะกระตุ้นคุณให้ปฏิบัติดังกล่าว? ขอสังเกตอย่างถี่ถ้วนว่าเปาโลกล่าวอย่างไรในเรื่องการแสดงความนับถือ. บริบทแสดงว่าคำแนะนำของเปาโลในเรื่องการสมรสเป็นส่วนหนึ่งของคำกระตุ้นเตือนหลาย ๆ เรื่อง. (ฮีบรู 13:1-5) ท่านไม่ได้กล่าวว่า “การสมรสเป็น ที่นับถือ” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านกล่าวว่า “จงให้การสมรสเป็น ที่นับถือ.” เปาโลไม่เพียงให้ข้อสังเกต แต่ท่านให้คำกระตุ้นเตือน. การคิดถึงความแตกต่างดังกล่าวอาจช่วยคุณพบแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นในการฟื้นความนับถือต่อคู่สมรสขึ้นมาใหม่. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

7. (ก) เราปฏิบัติตามพระบัญชาอะไรในพระคัมภีร์ และเพราะเหตุใด? (ข) การเชื่อฟังก่อผลดีอะไรบ้าง?

7 ขอพิจารณาสักครู่ว่าคุณมองพระบัญชาตามหลักพระคัมภีร์ข้ออื่น ๆ อย่างไร เช่น งานมอบหมายที่ให้สอนคนเป็นสาวกหรือคำกระตุ้นเตือนที่ให้ประชุมกันเพื่อนมัสการ. (มัดธาย 28:19; ฮีบรู 10:24, 25) เป็นที่ยอมรับว่า บางครั้งการปฏิบัติตามพระบัญชาเหล่านี้อาจเป็นเรื่องท้าทาย. คนที่คุณประกาศให้ฟังอาจไม่ได้ตอบรับอย่างน่าพอใจ หรืองานอาชีพอาจทำให้คุณรู้สึกหมดแรงจนการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นเรื่องยากทีเดียว. แม้จะเป็นเช่นนั้น คุณก็ยังประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรอยู่เรื่อยไป และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเสมอ. ไม่มีใครหยุดยั้งคุณได้—แม้แต่ซาตานก็หยุดคุณไม่ได้! เพราะเหตุใด? เพราะความรักอย่างจริงใจที่คุณมีต่อพระยะโฮวากระตุ้นคุณให้เชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์. (1 โยฮัน 5:3) แล้วเกิดผลดีอะไรบ้าง? การมีส่วนร่วมในงานประกาศและเข้าร่วมการประชุมทำให้คุณมีความสงบใจและความยินดีอย่างแท้จริงเนื่องจากคุณรู้ว่าตัวเองกำลังทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. และผลก็คือ ความรู้สึกดังกล่าวฟื้นกำลังของคุณขึ้นมาใหม่. (นะเฮมยา 8:10) มีบทเรียนอะไรในที่นี้?

8, 9. (ก) อะไรอาจกระตุ้นเราให้เชื่อฟังคำแนะนำที่ว่า จงให้การสมรสเป็นที่นับถือ และเพราะเหตุใด? (ข) ตอนนี้เราจะพิจารณาจุดสำคัญสองประการอะไร?

8 เช่นเดียวกับความรักอันลึกซึ้งที่คุณมีต่อพระเจ้ากระตุ้นคุณให้เชื่อฟังพระบัญชาที่ให้ประกาศและประชุมด้วยกันแม้จะมีอุปสรรคต่าง ๆ ดังนั้น ความรักที่มีต่อพระยะโฮวาก็อาจกระตุ้นคุณให้เชื่อฟังคำเตือนตามหลักพระคัมภีร์ที่ว่า “จงให้การสมรส [ของคุณ] เป็นที่นับถือ” เช่นกัน แม้จะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องยาก. (ฮีบรู 13:4; บทเพลงสรรเสริญ 18:29; ท่านผู้ประกาศ 5:4) นอกจากนั้น เช่นเดียวกับความพยายามของคุณที่จะมีส่วนร่วมในการประกาศและในการประชุมทำให้ได้รับพระพรหลายอย่างจากพระเจ้า พระยะโฮวาก็จะสังเกตเห็นความพยายามของคุณที่จะทำให้การสมรสของคุณเป็นที่นับถือและจะทรงประทานบำเหน็จให้คุณเช่นกัน.—1 เทสซาโลนิเก 1:3; ฮีบรู 6:10.

9 ดังนั้น คุณจะทำให้การสมรสเป็นที่นับถือได้อย่างไร? คุณต้องหลีกเลี่ยงความประพฤติที่จะก่อความเสียหายแก่การสมรสของคุณ. นอกจากนี้ คุณต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะเสริมความผูกพันในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.

หลีกเลี่ยงคำพูดและการกระทำที่ทำให้การสมรสไม่น่านับถือ

10, 11. (ก) ความประพฤติเช่นไรที่ทำให้การสมรสไม่น่านับถือ? (ข) เราควรพิจารณาคำถามอะไรกับคู่สมรสของเรา?

10 ภรรยาคริสเตียนคนหนึ่งได้กล่าวไม่นานมานี้ว่า “ดิฉันอธิษฐานขอกำลังจากพระยะโฮวาเพื่อช่วยดิฉันให้อดทน.” อดทนกับอะไรหรือ? เธอชี้แจงว่า “สามีด่าทอดิฉัน. ดิฉันอาจไม่มีรอยฟกช้ำดำเขียวให้เห็น แต่คำพูดถากถางอย่างไม่ละลดของเขาทำให้ดิฉันมีแผลที่ใจ เช่น คำพูดที่ว่า ‘เธอมันตัวถ่วง!’ และ ‘เธอน่ะไม่มีอะไรดีสักอย่าง!’ ” ภรรยาคนนี้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั่นคือการพูดหยาบหยามในชีวิตสมรส.

11 เป็นเรื่องน่าเศร้าสักเพียงไรเมื่อคู่สมรสในครอบครัวคริสเตียนด่าว่ากัน ทำให้เกิดบาดแผลทางใจซึ่งรักษาไม่หายง่าย ๆ! เห็นได้ชัดว่า ชีวิตคู่ที่ต่างฝ่ายต่างใช้คำพูดที่ก่อผลเสียหายต่อกันนั้นไม่ใช่การสมรสที่น่านับถือ. ชีวิตสมรสของคุณเป็นอย่างไรในเรื่องนี้? วิธีหนึ่งที่จะรู้ได้คือโดยการถามคู่ของคุณด้วยความถ่อมใจว่า “คำพูดของผม (ฉัน) มีผลกระทบอย่างไรต่อคุณ?” หากคู่ของคุณรู้สึกว่าบ่อยทีเดียวที่คำพูดของคุณทำให้เกิดบาดแผลทางใจ คุณก็ต้องเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงความประพฤติเพื่อจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น.—กาลาเทีย 5:15; เอเฟโซส์ 4:31.

12. การนมัสการของคนเราอาจไร้ประโยชน์ในทัศนะของพระเจ้าได้อย่างไร?

12 จงจำไว้เสมอว่าในชีวิตสมรส วิธีที่คุณใช้ลิ้นมีผลกระทบต่อสัมพันธภาพของคุณกับพระยะโฮวา. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถ้าใครคิดว่าเขานมัสการพระเจ้าอย่างถูกวิธี แต่ไม่ได้บังคับลิ้นของตนทั้งยังลวงตนเอง การนมัสการของเขาก็ไร้ประโยชน์.” (ยาโกโบ 1:26) คำพูดและการนมัสการของคุณเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก. คัมภีร์ไบเบิลไม่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ตราบใดที่เราอ้างว่ารับใช้พระเจ้า เราจะทำอย่างไรที่บ้านก็ไม่สำคัญ. โปรดอย่าลวงตัวเอง. นี่เป็นเรื่องสำคัญ. (1 เปโตร 3:7) คุณอาจมีความสามารถหลายอย่างและมีใจแรงกล้า แต่หากคุณจงใจทำร้ายคู่ของคุณด้วยคำพูดถากถาง คุณก็ทำให้ชีวิตสมรสไม่น่านับถือและพระเจ้าอาจมองว่าการนมัสการของคุณไร้ประโยชน์.

13. คนที่สมรสแล้วอาจทำให้คู่ของตนรู้สึกเจ็บปวดได้อย่างไร?

13 คู่สมรสจำเป็นต้องตื่นตัวด้วยเพื่อจะไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทางอ้อม. ขอพิจารณาตัวอย่างสองเรื่องนี้: มารดาไร้คู่โทรศัพท์คุยกันบ่อย ๆ กับชายคริสเตียนในประชาคมที่สมรสแล้วเพื่อขอคำแนะนำ และทั้งสองคนคุยกันอย่างยืดยาว; พี่น้องชายคริสเตียนที่เป็นโสดใช้เวลามากแต่ละสัปดาห์ไปประกาศด้วยกันกับพี่น้องหญิงคริสเตียนที่สมรสแล้ว. คนที่สมรสแล้วในสองตัวอย่างดังกล่าวอาจมีเจตนาที่ถูกต้อง; กระนั้น ความประพฤติของเขามีผลกระทบอย่างไรต่อคู่สมรสของตน? ภรรยาที่เผชิญสถานการณ์เช่นนั้นกล่าวว่า “การสังเกตเห็นสามีของดิฉันให้เวลาและความสนใจมากจริง ๆ กับพี่น้องหญิงอีกคนหนึ่งในประชาคมทำให้ดิฉันเจ็บปวด. นั่นทำให้ดิฉันรู้สึกว่าตนด้อยค่า.”

14. (ก) เยเนซิศ 2:24 เน้นพันธะหน้าที่อะไรในชีวิตสมรส? (ข) เราควรถามตัวเองอย่างไร?

14 เป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ที่สมรสแล้วดังที่กล่าวมานี้และคนอื่นที่เผชิญสภาพการณ์คล้ายกันในชีวิตสมรสรู้สึกเจ็บปวด. คู่ของเขาละเลยพระบัญชาพื้นฐานของพระเจ้าในเรื่องการสมรสที่ว่า “ผู้ชายจึงจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา.” (เยเนซิศ 2:24) แน่นอน คนที่สมรสแล้วยังคงนับถือบิดามารดาของตนอยู่ อย่างไรก็ดี การจัดเตรียมของพระเจ้าคือว่า เขามีพันธะหน้าที่ต่อคู่ของตนเป็นอันดับแรก. คล้ายกัน คริสเตียนรักเพื่อนร่วมความเชื่ออย่างยิ่ง แต่เขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อคู่ของตนเป็นอันดับแรก. ดังนั้น เมื่อคริสเตียนที่สมรสแล้วใช้เวลาอย่างไม่สมควรกับเพื่อนร่วมความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เป็นเพศตรงข้ามและสนิทสนมกันเกินไป เขาทำให้สายสมรสตึงเครียด. เรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์ในชีวิตสมรสของคุณตึงเครียดไหม? จงถามตัวเองว่า ‘ฉันให้เวลา, ความเอาใจใส่, และความรักใคร่แก่คู่ของฉันอย่างแท้จริงซึ่งเป็นสิทธิ์ที่เขาพึงได้รับไหม?’

15. ตามมัดธาย 5:28 เหตุใดคริสเตียนที่สมรสแล้วควรหลีกเลี่ยงการให้ความเอาใจใส่อย่างไม่เหมาะสมต่อคนที่เป็นเพศตรงข้าม?

15 ยิ่งกว่านั้น คริสเตียนที่สมรสแล้วซึ่งให้ความเอาใจใส่อย่างไม่เหมาะสมต่อเพศตรงข้ามซึ่งไม่ใช่คู่ของตนทำให้ตัวเองเสี่ยงอันตรายอย่างไม่สุขุม. น่าเศร้าที่คริสเตียนซึ่งสมรสแล้วบางคนได้พัฒนาความรู้สึกรักใคร่ต่อคนที่เขาสนิทสนมมากเกินไป. (มัดธาย 5:28) ผลก็คือ ความรู้สึกผูกพันดังกล่าวได้นำไปสู่การประพฤติที่ทำให้ชีวิตสมรสไม่น่านับถือยิ่งขึ้นไปอีก. ขอพิจารณาสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้.

“ให้เตียงสมรสปราศจากมลทิน”

16. เปาโลให้คำสั่งอะไรเกี่ยวกับการสมรส?

16 ทันทีหลังจากเปาโลให้คำกระตุ้นเตือนที่ว่า “จงให้การสมรสเป็นที่นับถือ” ท่านได้ให้คำเตือนเพิ่มอีกว่า “จงให้เตียงสมรสปราศจากมลทิน เพราะพระเจ้าจะทรงพิพากษาคนผิดประเวณีและคนเล่นชู้.” (ฮีบรู 13:4) เปาโลใช้คำ “เตียงสมรส” เพื่อพาดพิงถึงความสัมพันธ์ทางเพศ. ความสัมพันธ์ดังกล่าว “ปราศจากมลทิน” หรือสะอาดทางด้านศีลธรรม หากจำกัดไว้เฉพาะคนที่สมรสกันแล้วเท่านั้น. ฉะนั้น คริสเตียนเอาใจใส่ถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “จงชื่นใจยินดีด้วยกันกับภรรยาซึ่งอยู่ด้วยกันมาแต่หนุ่มสาว.”—สุภาษิต 5:18.

17. (ก) เพราะเหตุใดทัศนะของโลกเรื่องการเล่นชู้จึงไม่ควรมีอิทธิพลต่อคริสเตียน? (ข) เราจะติดตามตัวอย่างที่โยบวางไว้ได้อย่างไร?

17 ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นนอกเหนือจากคู่สมรสของตน แสดงให้เห็นว่าเขาไม่นับถือกฎทางศีลธรรมของพระเจ้าเลย. จริงอยู่ หลายคนในทุกวันนี้มองว่าการเล่นชู้เป็นพฤติกรรมปกติ. กระนั้น ไม่ว่าคนอื่น อาจมองการเล่นชู้อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรมีอิทธิพลต่อทัศนะของคริสเตียนในเรื่องนี้. พวกเขาตระหนักว่าในที่สุด ไม่ใช่มนุษย์ แต่ “พระเจ้า จะทรงพิพากษาคนผิดประเวณีและคนเล่นชู้.” (ฮีบรู 10:31; 12:29) ดังนั้น คริสเตียนแท้ยึดมั่นกับทัศนะของพระเจ้าในเรื่องนี้. (โรม 12:9) ขอจำไว้ว่าโยบปฐมบรรพบุรุษได้กล่าวว่า “ข้าได้ตั้งคำมั่นสัญญากับตาของข้าไว้.” (โยบ 31:1) ใช่แล้ว เพื่อจะหลีกเลี่ยงแม้แต่ขั้นแรกที่อาจนำไปสู่การเล่นชู้ คริสเตียนแท้ควบคุมตาของตัวเองและไม่มองเพศตรงข้ามซึ่งไม่ใช่คู่ของตนด้วยความปรารถนาในตัวคนนั้น.—ดูภาคผนวก “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการหย่าร้างและการแยกกันอยู่.”

18. (ก) ตามทัศนะของพระยะโฮวา การเล่นชู้เป็นเรื่องร้ายแรงขนาดไหน? (ข) มีความคล้ายคลึงกันเช่นไรระหว่างการเล่นชู้กับการไหว้รูปเคารพ?

18 ตามทัศนะของพระยะโฮวา การเล่นชู้เป็นเรื่องร้ายแรงขนาดไหน? พระบัญญัติของโมเซช่วยเราเข้าใจความรู้สึกของพระยะโฮวาในเรื่องนี้. ในอิสราเอล การเล่นชู้กับการไหว้รูปเคารพอยู่ในบรรดาความผิดที่มีโทษถึงตาย. (เลวีติโก 20:2, 10) คุณเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างการกระทำสองอย่างนี้ไหม? ขอพิจารณากรณีต่อไปนี้ หากชาวอิสราเอลนมัสการรูปเคารพ เขาก็ละเมิดสัญญาที่ได้ทำกับพระยะโฮวา. ทำนองเดียวกัน ชาวอิสราเอลที่เล่นชู้ก็ละเมิดสัญญาที่ทำกับคู่สมรสของตน. การกระทำทั้งสองอย่างเป็นการทรยศ. (เอ็กโซโด 19:5, 6; พระบัญญัติ 5:9; มาลาคี 2:14) ดังนั้น ทั้งสองคนน่าตำหนิจำเพาะพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ซื่อสัตย์และไว้วางใจได้.—บทเพลงสรรเสริญ 33:4.

19. อะไรอาจเสริมความตั้งใจของคนเราที่จะปฏิเสธการเล่นชู้ และเพราะเหตุใด?

19 แน่นอน คริสเตียนไม่ได้อยู่ใต้พระบัญญัติของโมเซ. กระนั้น การจดจำไว้ว่าในอิสราเอลโบราณถือว่าการเล่นชู้เป็นบาปร้ายแรงอาจเสริมความตั้งใจของคริสเตียนที่จะไม่ทำบาปดังกล่าว. เพราะเหตุใด? ขอพิจารณาการเปรียบเทียบดังนี้: คุณจะเข้าไปในโบสถ์ แล้วคุกเข่าลงอธิษฐานต่อหน้ารูปปั้นไหม? คุณคงจะพูดว่า ‘ไม่มีวันเสียหรอก!’ แต่หากมีการเสนอเงินก้อนโตให้ คุณจะทำไหม? คุณจะตอบว่า ‘ไม่มีทาง!’ ที่จริง แค่คิดถึงการทรยศต่อพระยะโฮวาโดยนมัสการรูปเคารพก็เป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับคริสเตียนแท้อยู่แล้ว. ในลักษณะคล้ายกัน คริสเตียนน่าจะรู้สึกรังเกียจความคิดเกี่ยวกับการทรยศต่อพระยะโฮวา พระเจ้าของเขา อีกทั้งการทรยศต่อคู่สมรสโดยการเล่นชู้ ไม่ว่าแรงกระตุ้นให้ทำบาปเช่นนั้นอาจเป็นอะไรก็ตาม. (บทเพลงสรรเสริญ 51:1, 4; โกโลซาย 3:5) เราไม่ต้องการทำสิ่งใดที่จะเป็นเหตุให้ซาตานยินดี แต่จะนำความเสื่อมเสียอย่างมากมาสู่พระยะโฮวาและการจัดเตรียมอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับการสมรส.

วิธีเสริมความผูกพันในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้น

20. เกิดอะไรขึ้นในชีวิตสมรสบางราย? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.

20 นอกจากหลีกเลี่ยงความประพฤติที่ทำให้การสมรสไม่น่านับถือแล้ว มีขั้นตอนอะไรบ้างที่คุณจะทำได้เพื่อฟื้นฟูความนับถือต่อคู่ของคุณ? เพื่อตอบคำถามนี้ ขอให้คิดถึงการสมรสว่าเป็นเหมือนบ้าน. ต่อจากนั้น ก็ให้คิดถึงคำพูดที่แสดงความกรุณา, การกระทำที่คำนึงถึงคนอื่น, รวมทั้งคำพูดด้วยความนับถือระหว่างคู่สมรสว่าเป็นเหมือนเครื่องเรือนที่ตกแต่งบ้านให้สวยงามขึ้น. หากคุณรู้สึกใกล้ชิดกันและกัน ชีวิตสมรสของคุณก็เหมือนกับบ้านที่ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนซึ่งทำให้มีสีสันและน่าอยู่. หากความรักของคุณลดน้อยลง เครื่องตกแต่งดังกล่าวค่อย ๆ หายไป ทำให้ชีวิตสมรสของคุณไม่สดใสเหมือนบ้านที่ไม่มีเครื่องตกแต่งใด ๆ. เนื่องจากคุณปรารถนาจะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าที่ว่า “จงให้การสมรสเป็นที่นับถือ” คุณคงได้รับการกระตุ้นที่จะปรับปรุงสภาพการณ์ให้ดีขึ้น. ที่จริง สิ่งที่มีค่าและน่านับถือย่อมคู่ควรแก่การซ่อมแซม หรือทำให้กลับดีดังเดิม. คุณจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร? พระคำของพระเจ้ากล่าวว่า “เมื่อจะก่อตึกต้องอาศัยปัญญา, และเมื่อจะสร้างบ้านก็ต้องอาศัยความเข้าใจ; และอาศัยความรู้ ห้องทั้งหลายนั้นจะเต็มไปด้วยของมีค่าและที่ชื่นตา.” (สุภาษิต 24:3, 4) ขอพิจารณาว่าถ้อยคำดังกล่าวนี้จะนำมาใช้กับชีวิตสมรสได้อย่างไร.

21. เราจะค่อย ๆ เสริมสร้างชีวิตสมรสของเราให้มั่นคงได้โดยวิธีใด? (ดูกรอบ “ ฉันจะทำให้ชีวิตสมรสดีขึ้นได้อย่างไร?”)

21 ในบรรดา ‘ของมีค่า’ ซึ่งทำให้ครอบครัวมีความสุขได้แก่คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความรัก, ความเกรงกลัวพระเจ้า, และความเชื่อที่มั่นคง. (สุภาษิต 15:16, 17; 1 เปโตร 1:7) คุณลักษณะดังกล่าวสร้างสายสมรสให้มั่นคง. แต่คุณสังเกตว่าห้องทั้งหลายในสุภาษิตที่กล่าวข้างต้นเต็มไปด้วยของมีค่าโดยวิธีใด? โดย “อาศัยความรู้.” ใช่แล้ว ความรู้ในคัมภีร์ไบเบิล เมื่อนำมาใช้ย่อมมีพลังที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงความคิดและกระตุ้นเขาให้ฟื้นฟูความรักที่มีต่อกัน. (โรม 12:2; ฟิลิปปอย 1:9) ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่คุณกับคู่สมรสใช้เวลาพูดคุยกันอย่างใจเย็น ๆ พิจารณาข้อความตอนหนึ่งจากพระคัมภีร์ เช่น ข้อคัมภีร์ประจำวัน หรือบทความที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักในหอสังเกตการณ์ หรือตื่นเถิด! ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตสมรส ก็เป็นประหนึ่งว่าคุณกำลังพิจารณาดูเครื่องตกแต่งที่งดงามซึ่งอาจทำให้บ้านคุณสวยได้. เมื่อความรักที่มีต่อพระยะโฮวากระตุ้นคุณให้เอาคำแนะนำที่คุณเพิ่งพิจารณาไปใช้ในชีวิตสมรส ก็เสมือนว่าคุณกำลังนำเครื่องตกแต่งนั้นเข้ามาใน “ห้องทั้งหลาย.” ผลก็คือ ความเบิกบานยินดีและความอบอุ่นที่คุณเคยประสบในชีวิตสมรสของคุณอาจกลับคืนมา.

22. เราจะมีความพอใจเช่นไรหากเราพยายามทำส่วนของตัวเองในการเสริมสร้างชีวิตสมรส?

22 จริงอยู่ อาจต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากเพื่อจะนำเครื่องตกแต่งดังกล่าวกลับมาอีกทีละอย่าง. กระนั้น หากคุณพยายามทำส่วนของคุณ คุณจะมีความพอใจอย่างยิ่งที่รู้ว่าตัวเองกำลังเชื่อฟังคำสั่งในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงนำหน้าในการให้เกียรติกัน.” (โรม 12:10; บทเพลงสรรเสริญ 147:11) เหนือสิ่งอื่นใด การที่คุณพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้ชีวิตสมรสเป็นที่นับถือจะทำให้คุณเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.