ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 12

พูดคำ “ดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น”

พูดคำ “ดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น”

“อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านทั้งหลาย แต่ให้เป็นคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น.”—เอเฟโซส์ 4:29.

1-3. (ก) ของประทานอย่างหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงให้เราคืออะไร และอาจมีการใช้ของประทานนั้นในทางผิดโดยวิธีใด? (ข) เพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ เราต้องใช้ของประทานในการพูดอย่างไร?

หากคุณให้ของขวัญใครสักคนที่คุณรัก คุณจะรู้สึกอย่างไรหากเขาจงใจใช้ของนั้นในทางที่ผิด? สมมุติว่าคุณให้รถยนต์เขาคันหนึ่ง แล้วมารู้ทีหลังว่าเขาขับรถนั้นด้วยความประมาท ทำให้คนอื่นได้รับบาดเจ็บ. คุณคงจะผิดหวังมิใช่หรือ?

2 ความสามารถในการพูดอย่างที่เข้าใจได้เป็นของประทานจากพระยะโฮวา ผู้ทรงให้ “ของประทานอันดีและสมบูรณ์ทุกอย่าง.” (ยาโกโบ 1:17) ของประทานนี้ซึ่งสรรพสัตว์ไม่มี ทำให้เราไม่เพียงแต่สามารถแสดงความคิดของเราออกมาเท่านั้น แต่ยังสามารถเผยความรู้สึกของเราให้คนอื่นรับรู้ด้วย. อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับรถยนต์ ของประทานในการพูดอาจถูกนำไปใช้ในทางผิด. พระยะโฮวาคงต้องรู้สึกผิดหวังสักเพียงไรเมื่อมีการใช้คำพูดแบบไม่ยั้งคิด ก่อความปวดร้าวใจและความทุกข์แก่คนอื่น ๆ!

3 เพื่อจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ เราต้องใช้ของประทานในการพูดตามที่ผู้ให้ทรงมุ่งหมายไว้. พระยะโฮวาทรงระบุอย่างชัดเจนถึงคำพูดชนิดที่ทำให้พระองค์พอพระทัย. พระคำของพระองค์กล่าวไว้ว่า “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านทั้งหลาย แต่ให้เป็นคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นตามความจำเป็นในเวลานั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง.” (เอเฟโซส์ 4:29) ขอให้เราพิจารณาเหตุผลที่เราต้องระวังคำพูดของเรา, คำพูดอะไรบ้างที่เราควรหลีกเลี่ยง, และเราจะพูด “คำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น” ได้อย่างไร.

เหตุผลที่เราต้องระวังคำพูดของเรา

4, 5. สุภาษิตบางข้อในคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาอย่างไรถึงพลังของคำพูด?

4 เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่พึงระวังคำพูดของเราคือ คำพูดมีพลัง. สุภาษิต 15:4 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “ลิ้นที่สุภาพเป็นต้นไม้แห่งชีวิต แต่ลิ้นตลบตะแลงทำน้ำใจให้แตกสลาย.” * น้ำทำให้ต้นไม้ซึ่งเหี่ยวเฉากลับสดชื่นขึ้นฉันใด คำพูดสุภาพที่ฟังแล้วสบายใจสามารถทำให้คนฟังรู้สึกชื่นใจฉันนั้น. ในทางตรงกันข้าม คำพูดที่ไม่ดี ตลบตะแลงทำให้คนฟังเจ็บช้ำน้ำใจได้. ที่จริง คำพูดของเรามีพลังในการทำให้เจ็บปวดหรือไม่ก็เยียวยารักษา.—สุภาษิต 18:21.

5 สุภาษิตอีกข้อหนึ่งพรรณนาอย่างชัดเจนถึงพลังของคำพูดว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่.” (สุภาษิต 12:18) การด่วนพูดพล่อย ๆ อาจทำให้เกิดแผลลึกทางใจและทำลายความสัมพันธ์. คุณเคยรู้สึกเจ็บใจเนื่องจากคำพูดที่ทิ่มแทงเหมือนกระบี่ไหม? สุภาษิตข้อเดียวกันกล่าวในด้านดีว่า “ลิ้นของคนมีปัญญาย่อมรักษาแผลให้หาย.” คำพูดที่เห็นอกเห็นใจจากคนที่แสดงสติปัญญาของพระเจ้าสามารถเยียวยาหัวใจที่เจ็บปวดและทำให้ความสัมพันธ์กลับดีดังเดิม. คุณจำได้ไหมที่ครั้งหนึ่งมีคนพูดถ้อยคำที่กรุณาซึ่งมีพลังในการเยียวยารักษากับคุณ? (สุภาษิต 16:24) เมื่อตระหนักว่าสิ่งที่เราพูดมีผลกระทบต่อคนอื่น เราจึงต้องการที่จะใช้คำพูดเพื่อเยียวยารักษาอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพื่อทำให้คนอื่นเจ็บปวด.

คำพูดที่สุภาพทำให้สดชื่น

6. เหตุใดการควบคุมลิ้นของเราจึงต้องใช้ความพยายามจริง ๆ?

6 ไม่ว่าเราพยายามอย่างเต็มที่ขนาดไหนก็ตาม เราก็ไม่สามารถควบคุมลิ้นของเราได้อย่างครบถ้วน. ดังนั้น เหตุผลประการที่สองที่เราต้องระวังเกี่ยวกับคำพูดของเราก็คือ บาปและความไม่สมบูรณ์ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะใช้ลิ้นในทางที่ผิด. คำพูดเป็นผลที่เกิดจากหัวใจของเรา และ “ความคิดในใจของมนุษย์นั้น . . . ชั่ว.” (เยเนซิศ 8:21; ลูกา 6:45) ดังนั้น การควบคุมลิ้นต้องใช้ความพยายามจริง ๆ. (ยาโกโบ 3:2-4) แม้เราไม่อาจจะควบคุมลิ้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถพยายามปรับปรุงวิธีที่เราใช้ลิ้นได้. นักว่ายน้ำที่พยายามว่ายทวนน้ำต้องออกแรงสู้กับกระแสน้ำอยู่ตลอดเวลาฉันใด เราก็ต้องต้านทานแนวโน้มที่ผิดบาปอยู่เรื่อยไปเพื่อจะไม่ใช้ลิ้นของเราในทางที่ผิดฉันนั้น.

7, 8. พระยะโฮวาทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบคำพูดของเราถึงขีดไหน?

7 เหตุผลประการที่สามที่พึงระวังคำพูดของเราคือ พระยะโฮวาทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบคำพูดของเรา. วิธีที่เราใช้ลิ้นมีผลกระทบไม่เพียงต่อความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อฐานะของเรากับพระยะโฮวาด้วย. ยาโกโบ 1:26 กล่าวว่า “ถ้าใครคิดว่าเขานมัสการพระเจ้าอย่างถูกวิธี แต่ไม่ได้บังคับลิ้นของตนทั้งยังลวงตนเอง การนมัสการของเขาก็ไร้ประโยชน์.” ดังที่เราเห็นในบทก่อน คำพูดและการนมัสการของเราเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก. หากเราไม่ควบคุมลิ้น หากคำพูดที่ทำให้เจ็บใจซึ่งก่อความเสียหายพรั่งพรูออกจากปากของเรา ทุกสิ่งที่เราทำเพื่อรับใช้พระเจ้าก็อาจไร้ประโยชน์ในทัศนะของพระองค์. เราน่าจะคิดอย่างจริงจังถึงคำพูดของเรามิใช่หรือ?—ยาโกโบ 3:8-10.

8 เห็นได้ชัดว่าเรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะระวังไม่ใช้ของประทานในการพูดในทางที่ผิด. ก่อนเราจะพิจารณาคำพูดชนิดที่ดีงามซึ่งเสริมสร้าง ขอให้เราพิจารณาคำพูดที่คริสเตียนแท้ไม่ควรพูดเลย.

คำพูดที่ก่อผลในทางทำลาย

9, 10. (ก) คำพูดชนิดใดที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำพูดในชีวิตประจำวันในโลกทุกวันนี้? (ข) เหตุใดเราต้องปฏิเสธคำพูดหยาบโลน? (ดูเชิงอรรถด้วย.)

9 คำพูดหยาบโลน. คำแช่งด่า, คำพูดสบประมาท, และคำพูดหยาบโลนแบบอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของคำพูดในชีวิตประจำวันในโลกทุกวันนี้. หลายคนใช้คำอุทานที่หยาบคายเพื่อเน้นคำพูดของตน หรือใช้เป็นคำพูดแทรกเมื่อนึกคำเหมาะ ๆ ไม่ออก. บ่อยครั้งนักแสดงตลกใช้คำพูดหยาบคายที่เน้นเรื่องเพศเพื่อทำให้คนหัวเราะ. อย่างไรก็ดี คำพูดหยาบโลนไม่ใช่เรื่องตลกขบขัน. ราว ๆ 2,000 ปีมาแล้ว โดยการดลใจ อัครสาวกเปาโลได้แนะนำประชาคมโกโลซายให้ละทิ้ง “คำพูดหยาบโลน.” (โกโลซาย 3:8) เปาโลได้บอกประชาคมเอเฟโซส์ว่า ในบรรดาสิ่งที่ไม่ควร “เอ่ยถึง . . . ท่ามกลาง” คริสเตียนแท้ คือ “เรื่องตลกลามก.”—เอเฟโซส์ 5:3, 4.

10 คำพูดหยาบโลนเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับพระยะโฮวา ทั้งยังน่ารังเกียจสำหรับคนที่รักพระองค์ด้วย. ที่จริง ความรักที่มีต่อพระยะโฮวากระตุ้นเราให้ปฏิเสธคำพูดหยาบโลน. เมื่อพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น “การกระทำที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาป” เปาโลกล่าวถึง “การประพฤติที่ไม่สะอาด” ซึ่งเป็นไปได้ที่จะหมายรวมถึงความไม่สะอาดทางคำพูด. (กาลาเทีย 5:19-21) นี่เป็นเรื่องสำคัญ. บุคคลหนึ่งอาจถูกตัดสัมพันธ์จากประชาคมหากเขาพูดถึงหรือส่งเสริมสิ่งที่ผิดศีลธรรม สิ่งที่ต่ำช้าและเสื่อมทรามอย่างโจ่งครึ่มเป็นอาจิณโดยไม่กลับใจทั้ง ๆ ที่ได้รับคำแนะนำหลายครั้งแล้ว. *

11, 12. (ก) เมื่อไรที่การพูดถึงคนอื่นอาจก่อความเสียหาย? (ข) เพราะเหตุใดผู้นมัสการพระยะโฮวาต้องหลีกเลี่ยงคำพูดใส่ร้าย?

11 การซุบซิบนินทาที่ก่อความเสียหาย การพูดใส่ร้าย. ผู้คนมักชอบพูดเรื่องคนอื่นและชีวิตของเขา. การพูดถึงคนอื่นก่อความเสียหายเสมอไปไหม? ไม่ หากการสนทนาที่เรามีส่วนร่วมนั้นให้ความรู้หรือข่าวที่เป็นประโยชน์ เช่น ใครที่เพิ่งรับบัพติสมาหรือใครที่เราต้องพูดให้กำลังใจ. คริสเตียนในศตวรรษแรกมีความสนใจอย่างแรงกล้าในสวัสดิภาพของกันและกันและแบ่งปันข้อมูลที่เหมาะสมเกี่ยวกับเพื่อนร่วมความเชื่อแก่กัน. (เอเฟโซส์ 6:21, 22; โกโลซาย 4:8, 9) อย่างไรก็ดี การพูดถึงคนอื่นอาจก่อความเสียหายได้หากเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือเปิดเผยเรื่องส่วนตัว. สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก นั่นอาจนำไปสู่การพูดใส่ร้ายซึ่งมักก่อความเสียหายเสมอ. การพูดใส่ร้ายคือ “คำพูดกล่าวหาที่ไม่จริง . . . ซึ่งทำลายชื่อเสียงของคนอื่นหรือทำให้ได้รับความเสียหาย.” ตัวอย่างเช่น พวกฟาริซายที่มีเจตนาร้ายได้ใช้คำพูดใส่ร้ายเพื่อทำให้พระเยซูเสื่อมเสียชื่อเสียง. (มัดธาย 9:32-34; 12:22-24) บ่อยครั้ง คำพูดใส่ร้ายก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท.—สุภาษิต 26:20.

12 คนที่ใช้ของประทานในการพูดเพื่อทำลายชื่อเสียงคนอื่นหรือก่อความแตกแยกนั้นพระยะโฮวาไม่ทรงถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเลย. พระองค์ทรงเกลียดชังคนที่ทำให้เกิด “การแตกสามัคคีในหมู่พี่น้อง.” (สุภาษิต 6:16-19) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ผู้ใส่ร้าย” คือ ดิอาโบโลส ซึ่งใช้เป็นชื่อเรียกซาตานด้วย. มันคือ “พญามาร” ตัวชั่วที่ใส่ร้ายพระเจ้า. (วิวรณ์ 12:9, 10) แน่นอน เราต้องการหลีกเลี่ยงคำพูดซึ่งที่แท้แล้วคงจะทำให้เราเป็นเหมือนพญามาร. คำพูดใส่ร้ายซึ่งปลุกเร้าการของเนื้อหนัง เช่น “การชิงดีชิงเด่นกัน” และ “การแตกแยกกัน” ไม่ควรมีอยู่เลยในประชาคม. (กาลาเทีย 5:19-21) ดังนั้น ก่อนจะเล่าต่อบางเรื่องเกี่ยวกับใครบางคน จงถามตัวเองว่า ‘เรื่องนี้เป็นความจริงไหม? จะเป็นการแสดงความกรุณาไหมที่จะเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง? จำเป็นไหมหรือเหมาะไหมที่จะแพร่เรื่องนี้ออกไป?’—1 เทสซาโลนิเก 4:11.

13, 14. (ก) การพูดหยาบหยามอาจก่อผลเช่นไรต่อผู้ฟัง? (ข) การด่าคืออะไร และทำไมคนปากร้ายทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย?

13 การพูดหยาบหยาม. ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ คำพูดมีพลังในการก่อความเสียหาย. เป็นที่ยอมรับว่า เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ บางครั้งเราทุกคนพูดอะไรบางอย่างที่ตัวเองรู้สึกเสียใจในภายหลัง. อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลเตือนเกี่ยวกับคำพูดชนิดที่ไม่ควรมีเลยในบ้านคริสเตียนหรือในประชาคม. เปาโลได้กระตุ้นเตือนคริสเตียนว่า “ให้ท่านทั้งหลายขจัดความขุ่นแค้น ความโกรธ การเดือดดาล การตวาด และการพูดหยาบหยามออกไปเสียให้หมด.” (เอเฟโซส์ 4:31) พระคัมภีร์ฉบับแปลอื่นแปลวลี “การพูดหยาบหยาม” ว่า “คำพูดที่ชั่วช้า,” “คำพูดที่ทำร้ายจิตใจ,” และ “คำพูดที่แสดงการดูถูก.” การพูดหยาบหยาม รวมถึงการตั้งฉายาเชิงดูหมิ่น, การพูดอย่างเกรี้ยวกราด, การติเตียนไม่หยุดหย่อน อาจทำลายศักดิ์ศรีของคนอื่นและทำให้เขารู้สึกไร้ค่า. หัวใจเด็กที่อ่อนโยนและชอบไว้ใจผู้อื่นเปราะบางเป็นพิเศษต่อการพูดหยาบหยามที่ทำให้ชอกช้ำใจ.—โกโลซาย 3:21.

14 โดยใช้คำที่หนักแน่น คัมภีร์ไบเบิลตำหนิการด่า—การประณามคนอื่นด้วยคำพูดที่แสดงการดูถูก, ทำให้เสื่อมเสีย, หรือคำพูดหยาบหยาม. บุคคลที่ใช้คำพูดดังกล่าวจนเป็นนิสัยทำให้ตัวเองอยู่ในอันตราย เพราะคนปากร้ายอาจถูกไล่ออกจากประชาคมหากเขาไม่ใส่ใจความพยายามของผู้ปกครองครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะช่วยเขาให้เปลี่ยนแปลง. หากเขาไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เขาก็อาจพลาดพระพรที่จะได้อยู่ในโลกใหม่ด้วย. (1 โครินท์ 5:11-13; 6:9, 10) ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าหากเรามีนิสัยชอบใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม, คำพูดที่ไม่จริง, หรือไม่แสดงความกรุณา เราคงจะไม่เป็นที่รักของพระเจ้าต่อไป. คำพูดดังกล่าวก่อผลในทางทำลาย.

คำพูด “ดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น”

15. คำพูดชนิดใดบ้างที่เป็น “คำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น”?

15 เราจะใช้ของประทานในการพูดตามที่ผู้ให้ทรงมุ่งหมายไว้ได้อย่างไร? จำไว้ว่าพระคำของพระเจ้ากระตุ้นเตือนเราให้พูด “คำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น.” (เอเฟโซส์ 4:29) พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเมื่อเราใช้คำพูดที่เสริมสร้างและให้กำลังใจคนอื่น. เพื่อจะใช้คำพูดดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบ. คัมภีร์ไบเบิลมิได้วางกฎต่าง ๆ ที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับ “คำพูดที่ก่อประโยชน์” ทั้งไม่มีรายการคำพูดที่ถูกต้องตามแบบแผน. (ทิทุส 2:8) เพื่อจะพูดคำ “ดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้น” เราควรคำนึงถึงสามลักษณะพื้น ๆ แต่ก็สำคัญซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคำพูดที่เสริมสร้าง นั่นคือ ก่อประโยชน์, เป็นความจริง, และเป็นคำพูดที่กรุณา. โดยคิดถึงลักษณะเหล่านี้ ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างบางประการที่เจาะจงลงไปเกี่ยวกับคำพูดที่เสริมสร้าง.—ดูกรอบ “ คำพูดของฉันเสริมสร้างไหม?

16, 17. (ก) ทำไมเราควรชมเชยคนอื่น? (ข) มีโอกาสใดบ้างที่จะชมเชยคนอื่นในประชาคม? ในครอบครัว?

16 คำชมเชยจากใจจริง. ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะให้คำชมเชยและตรัสแสดงความพอพระทัย. (มัดธาย 3:17; 25:19-23; โยฮัน 1:47) เนื่องจากเราเป็นคริสเตียน เราควรให้คำชมเชยคนอื่นอย่างจริงใจเช่นกัน. เพราะเหตุใด? สุภาษิต 15:23 กล่าวว่า “ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะก็ประเสริฐนัก!” ขอให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับคำชมเชยอย่างจริงใจ? นั่นทำให้ฉันรู้สึกดีและมีกำลังใจมิใช่หรือ?’ ที่จริง คำพูดชมเชยที่จริงใจทำให้คุณรู้ว่ามีคนสังเกตคุณ, สนใจในตัวคุณ, และความพยายามของคุณมีค่าทีเดียว. คำรับรองดังกล่าวสร้างความมั่นใจและกระตุ้นคุณให้พยายามอย่างขันแข็งมากยิ่งขึ้นอีกในโอกาสต่อไป. เนื่องจากคุณรู้สึกขอบคุณเมื่อได้รับ คำชมเชย คุณก็น่าจะพยายามสุดความสามารถที่จะให้ คำชมเชยแก่คนอื่นมิใช่หรือ?—มัดธาย 7:12.

17 จงฝึกฝนตัวเองให้มองหาความดีในตัวคนอื่น แล้วให้คำชมเชยเขา. ในประชาคม คุณอาจได้ฟังคำบรรยายที่มีการเตรียมเรื่องเป็นอย่างดี ณ การประชุม, สังเกตเห็นเยาวชนกำลังก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณ, หรือผู้สูงอายุซึ่งเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำทั้ง ๆ ที่มีขีดจำกัด. คำพูดชมเชยที่จริงใจอาจทำให้คนเช่นนั้นซาบซึ้งใจและเสริมความตั้งใจของเขาที่จะรับใช้พระยะโฮวา. ในครอบครัว สามีและภรรยาต่างก็ต้องการได้ยินคำชมเชยอย่างจริงใจและการแสดงความขอบคุณจากกันและกัน. (สุภาษิต 31:10, 28) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ วัฒนาขึ้นเมื่อรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่และคนในครอบครัวเห็นคุณค่า. คำชมเชยและการเป็นที่พอใจของคนอื่น ให้ความสดชื่นและเกื้อหนุนเด็กเช่นเดียวกับแสงตะวันและน้ำที่ยังความสดชื่นและค้ำจุนต้นไม้. บิดามารดาทั้งหลาย จงมองหาโอกาสต่าง ๆ ที่จะชมเชยบุตรเนื่องด้วยคุณลักษณะและความพยายามที่น่าชมเชยของพวกเขา. คำชมเชยดังกล่าวอาจสร้างความกล้าหาญและความมั่นใจขึ้นในตัวเด็กและกระตุ้นเขาให้พยายามอย่างเต็มที่มากขึ้นด้วยซ้ำที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง.

18, 19. เหตุใดเราควรพยายามสุดความสามารถที่จะชูใจและปลอบโยนเพื่อนร่วมความเชื่อ และเราจะทำเช่นนี้ได้โดยวิธีใด?

18 คำพูดที่ชูใจและคำปลอบโยน. พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยอย่างลึกซึ้งใน “ผู้ที่หดหู่” และ “ผู้ที่ชอกช้ำ.” (ยะซายา 57:15, ล.ม.) พระคำของพระองค์กระตุ้นเราให้ “ชูใจกัน . . . เรื่อยไป” และ “พูดปลอบโยนคนทุกข์ใจ.” (1 เทสซาโลนิเก 5:11, 14) เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าทรงสังเกตและพอพระทัยในความพยายามของเราที่จะชูใจและปลอบโยนเพื่อนร่วมความเชื่อที่ทุกข์ระทมใจ.

พระยะโฮวาทรงพอพระทัยเมื่อคำพูดของเราเสริมสร้างคนอื่น

19 แต่คุณอาจจะพูดอะไรเพื่อเสริมสร้างเพื่อนคริสเตียนที่ท้อแท้หรือทุกข์ใจ? อย่ารู้สึกว่าคุณต้องแก้ปัญหาให้เขา. ในหลายกรณี คำพูดง่าย ๆ มักเป็นประโยชน์มากที่สุด. จงทำให้คนที่ท้อแท้มั่นใจในความสนใจและความห่วงใยของคุณ. โดยเสนอตัวที่จะอธิษฐานกับคนที่ท้อใจ คุณอาจอ้อนวอนพระยะโฮวาให้ช่วยคนนั้นรู้ว่าพระเจ้าและคนอื่นรักเขามากเพียงไร. (ยาโกโบ 5:14, 15) จงรับรองกับเขาว่า การที่เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของประชาคม เขาเป็นที่ต้องการและมีคุณค่า. (1 โครินท์ 12:12-26) จงอ่านข้อพระคัมภีร์ที่ให้กำลังใจเพื่อทำให้เขามั่นใจว่าพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยจริง ๆ ในตัวเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 34:18; มัดธาย 10:29-31) การใช้เวลามากพอเพื่อจะพูด “ถ้อยคำที่ดี” กับคนที่ท้อแท้และการพูดจากใจคุณจะช่วยเขาอย่างแน่นอนให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รักและมีคนเห็นคุณค่า.—สุภาษิต 12:25.

20, 21. มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คำแนะนำได้ผล?

20 คำแนะนำที่ได้ผล. ฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเป็นครั้งคราว. คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราว่า “จงฟังคำแนะนำและรับคำเตือนสติเพื่อเจ้าจะได้ปัญญาสำหรับอนาคต.” (สุภาษิต 19:20, ฉบับแปลใหม่) การให้คำแนะนำแก่คนอื่นไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะแต่ผู้ปกครอง. บิดามารดาให้คำแนะนำบุตร. (เอเฟโซส์ 6:4) พี่น้องหญิงที่อาวุโสอาจต้องให้คำแนะนำผู้หญิงที่อ่อนวัยกว่า. (ทิทุส 2:3-5) ความรักที่มีต่อคนอื่นกระตุ้นเราให้ปรารถนาจะให้คำแนะนำอย่างที่ผู้รับจะยอมรับได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ. อะไรจะช่วยเราให้คำแนะนำเช่นนั้นได้? ขอพิจารณาปัจจัยสามประการที่ทำให้คำแนะนำได้ผลมากกว่าซึ่งได้แก่ เจตคติและแรงจูงใจของผู้ให้คำแนะนำ, พื้นฐานสำหรับคำแนะนำ, และท่าทีตอนที่ให้คำแนะนำ.

21 คำแนะนำที่ได้ผลขึ้นอยู่กับผู้ให้คำแนะนำเป็นประการแรก. จงถามตัวเองว่า ‘ฉันยอมรับคำแนะนำได้ง่ายในสภาพการณ์เช่นไร?’ เมื่อคุณรู้ว่าผู้ที่ให้คำแนะนำห่วงใยคุณ, ไม่ได้พูดจากความข้องขัดใจที่มีต่อกัน, และไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่ คำแนะนำนั้นก็เป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น. ดังนั้น เมื่อคุณแนะนำคนอื่น เจตคติและท่าทีของคุณก็ควรเป็นอย่างเดียวกันนั้นมิใช่หรือ? นอกจากนี้ คำแนะนำที่ก่อผลดีต้องอาศัยพระคำของพระเจ้าด้วย. (2 ติโมเธียว 3:16) ไม่ว่าจะยกมาจากคัมภีร์ไบเบิลโดยตรงหรือไม่ เราควรให้คำแนะนำที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก. ดังนั้น ผู้ปกครองระวังที่จะไม่ยัดเยียดความเห็นของตนแก่คนอื่น ทั้งไม่บิดเบือนพระคัมภีร์ ทำให้ดูเหมือนว่าคัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนความเห็นส่วนตัวบางอย่าง. คำแนะนำยังได้ผลมากกว่าหากมีการให้คำแนะนำนั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม. การให้คำแนะนำด้วยความกรุณาเหมือนอาหารที่ปรุงด้วยเกลือทำให้คนที่ได้รับคำแนะนำนั้นยอมรับได้ง่ายขึ้น ทั้งยังไม่ทำให้เขาเสียศักดิ์ศรีด้วย.—โกโลซาย 4:6.

22. คุณตั้งใจเช่นไรเกี่ยวกับการใช้ของประทานในการพูด?

22 แน่นอน คำพูดเป็นของประทานอันล้ำค่าจากพระเจ้า. ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาควรกระตุ้นเราให้ใช้ของประทานนี้ในทางที่ถูก—ไม่ใช่ในทางที่ผิด. ขอเราจำไว้ว่าถ้อยคำที่เราพูดกับคนอื่นมีพลัง—พลังที่จะเสริมสร้างหรือไม่ก็ก่อผลในทางทำลาย. ดังนั้น ขอให้เราพยายามจะใช้ของประทานนี้ตามที่ผู้ให้ทรงมุ่งหมาย คือ “[เพื่อ] ทำให้เจริญขึ้น.” โดยวิธีนี้ คำพูดของเราจะยังความสดชื่นและให้กำลังใจแก่คนที่อยู่รอบข้างเรา และจะช่วยเราให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.

^ วรรค 4 คำภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ตลบตะแลง” ในสุภาษิต 15:4 มีความหมายว่า “คดเคี้ยว บิดเบือน” ด้วย.

^ วรรค 10 ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์ “การประพฤติที่ไม่สะอาด” เป็นคำที่มีความหมายกว้างซึ่งอาจครอบคลุมการประพฤติผิดหลายประเภท. แม้ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตัดสินความสำหรับการประพฤติที่ไม่สะอาดทุกอย่าง แต่ก็อาจขับไล่คนหนึ่งออกจากประชาคมได้หากเขาประพฤติไม่สะอาดอย่างยิ่ง โดยไม่ยอมกลับใจ.—2 โครินท์ 12:21; เอเฟโซส์ 4:19; ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 2006.