ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 17

“จงเสริมกำลังตัวเองด้วยความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง”

“จงเสริมกำลังตัวเองด้วยความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง”

“จงเสริมกำลังตัวเองด้วยความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง . . . เพื่อจะทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.”—ยูดา 20, 21.

1, 2. โครงการก่อสร้างอะไรที่คุณมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และเหตุใดคุณภาพงานของคุณจึงสำคัญทีเดียว?

คุณทำงานอย่างขยันขันแข็งในโครงการก่อสร้างอย่างหนึ่ง. การสร้างดำเนินมาชั่วระยะหนึ่งแล้ว และจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต. จนถึงตอนนี้ งานนั้นนับว่ายากลำบาก แต่ก็น่าพอใจ. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณตั้งใจว่าจะไม่เลิกราหรือเฉื่อยชา เพราะคุณภาพงานของคุณจะส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณ กระทั่งอนาคตของคุณด้วยซ้ำ. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะสิ่งที่กำลังสร้างอยู่ก็คือตัวคุณนั่นเอง!

2 สาวกยูดาเน้นว่างานก่อสร้างที่เราทำนั้นคือการเสริมกำลังตัวเอง. เมื่อท่านกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ “ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ” ในข้อความตอนเดียวกันของพระคัมภีร์ ท่านยังเผยให้เห็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเราให้ทำเช่นนั้นโดยกล่าวว่า “จงเสริมกำลังตัวเองด้วยความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง.” (ยูดา 20, 21) มีวิธีใดบ้างที่คุณสามารถเสริมกำลังตัวเอง ทำให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้นเพื่อคุณจะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ? ขอให้เราพิจารณาสามแง่มุมของโครงการก่อสร้างซึ่งจะช่วยทำให้ความเชื่อของคุณเข้มแข็งขึ้นได้.

เสริมความเชื่อในข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป

3-5. (ก) ซาตานอยากล่อลวงคุณให้มีทัศนะเช่นไรเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของพระยะโฮวา? (ข) เราควรมองข้อเรียกร้องของพระเจ้าอย่างไร และการมองเช่นนั้นจะมีผลกระทบเช่นไรต่อความรู้สึกของเรา? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.

3 ก่อนอื่น เราต้องเสริมความเชื่อที่มีต่อกฎหมายของพระเจ้าให้เข้มแข็งขึ้น. ขณะที่คุณศึกษาหนังสือเล่มนี้ คุณได้พิจารณาข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับความประพฤติมาแล้วหลายข้อ. คุณมีทัศนะเช่นไรต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น? ซาตานอยากจะล่อลวงคุณให้มองว่ากฎหมาย, หลักการ, และมาตรฐานของพระยะโฮวานั้นกีดกันไม่ให้คุณได้รับบางสิ่งที่ดี ถึงกับเป็นการกดขี่ด้วยซ้ำ. มันได้ใช้วิธีนี้นับตั้งแต่ที่มันใช้ได้ผลย้อนหลังไปในสวนเอเดน. (เยเนซิศ 3:1-6) วิธีของมันจะใช้ได้ผลกับคุณไหม? ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับทัศนะของคุณ.

4 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขณะที่คุณเดินเล่นในสวนธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่ง คุณสังเกตเห็นรั้วสูงที่แน่นหนาซึ่งกั้นบริเวณหนึ่งของสวนไว้. ทัศนียภาพเบื้องหลังรั้วนั้นดูน่าชม. ทีแรก คุณอาจมองว่ารั้วนั้นไม่ควรจะมีเลยเพราะมันจำกัดเสรีภาพของคุณ แต่ขณะที่มองผ่านรั้วไป คุณสังเกตเห็นสิงโตที่ดุร้ายกำลังเดินหาเหยื่ออยู่อีกด้านหนึ่ง! ตอนนี้คุณเห็นแล้วว่ารั้วเป็นเครื่องป้องกันจริง ๆ. มีสัตว์ล่าเหยื่อที่อันตรายตามคุณอยู่ในขณะนี้ไหม? พระคำของพระเจ้าเตือนว่า “ท่านทั้งหลายจงมีสติอยู่เสมอและจงเฝ้าระวัง. พญามาร ปรปักษ์ของพวกท่านเดินไปมาเหมือนสิงโตคำราม เสาะหาคนที่มันจะขม้ำกินเสีย.”—1 เปโตร 5:8.

5 ซาตานเป็นนักล่าที่ชั่วร้าย. เนื่องจากพระยะโฮวาไม่ประสงค์ให้เรากลายเป็นเหยื่อของซาตาน พระองค์ได้ทรงตั้งกฎหมายไว้เพื่อปกป้องเราจาก “กลอุบาย” หลายอย่างของตัวชั่วร้ายนั้น. (เอเฟโซส์ 6:11) ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราคิดใคร่ครวญกฎหมายของพระเจ้า เราควรมองว่ากฎหมายเหล่านั้นเป็นการแสดงถึงความรักของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์. เมื่อเรามองเช่นนั้น กฎหมายของพระเจ้าก็เป็นแหล่งที่ให้ความปลอดภัยและความยินดี. สาวกยาโกโบได้เขียนว่า “ผู้ที่พินิจพิจารณากฎหมายอันสมบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพและยึดมั่นกับกฎหมายนั้น เขาจะมีความสุขที่ทำเช่นนั้น.”—ยาโกโบ 1:25.

6. อะไรคือวิธีดีที่สุดที่จะเสริมความเชื่อในกฎหมายและหลักการอันชอบธรรมของพระเจ้า? จงยกตัวอย่าง.

6 การดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของพระเจ้าเป็นวิธีดีที่สุดที่จะทำให้เรามีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นในผู้ประทานกฎหมายและสติปัญญาแห่งกฎหมายของพระองค์. ตัวอย่างเช่น “บัญญัติของพระคริสต์” รวมไปถึงพระบัญชาของพระเยซูที่ให้สอน ‘ทุกสิ่งที่ [พระองค์] สั่งไว้’ แก่คนอื่น. (กาลาเทีย 6:2; มัดธาย 28:19, 20) คริสเตียนยังเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อพระบัญชาที่ให้ประชุมร่วมกันเป็นประจำเพื่อนมัสการและมีการคบหาที่เสริมสร้างด้วย. (ฮีบรู 10:24, 25) พระบัญญัติของพระเจ้ารวมถึงคำกระตุ้นเตือนที่ให้อธิษฐานจากใจจริงถึงพระยะโฮวาเป็นประจำด้วย. (มัดธาย 6:5-8; 1 เทสซาโลนิเก 5:17) ขณะที่เราดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติดังกล่าว เราเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า พระบัญญัตินั้นให้การชี้นำด้วยความรักอย่างแท้จริง. การเชื่อฟังพระบัญญัติเหล่านั้นทำให้เรามีความยินดีและความพึงพอใจชนิดที่เราจะไม่มีวันพบได้จากแหล่งอื่นในโลกที่ยุ่งยากนี้. ขณะที่คุณคิดรำพึงว่าคุณได้รับประโยชน์เป็นส่วนตัวอย่างไรจากการดำเนินชีวิตตามกฎหมายของพระเจ้า คุณก็มีความเชื่อมั่นยิ่งขึ้นในกฎหมายนั้นมิใช่หรือ?

7, 8. พระคำของพระเจ้าให้กำลังใจอย่างไรแก่คนที่กังวลว่าเขาจะไม่สามารถรักษาแนวทางที่ชอบธรรมไว้ได้ขณะที่เวลาผ่านไปหลายปี?

7 บางครั้งบางคนกังวลว่าขณะที่เวลาผ่านไปหลายปี การเชื่อฟังกฎหมายของพระยะโฮวาคงจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไป. พวกเขากลัวว่าตัวเองอาจล้มเหลวด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง. หากคุณเคยรู้สึกเช่นนั้น ขอให้คิดถึงถ้อยคำต่อไปนี้: “เราคือยะโฮวา, พระเจ้าของเจ้าผู้สั่งสอนเจ้า, เพื่อประโยชน์แก่ตัวของเจ้าเอง, และผู้นำเจ้าให้ดำเนินในทางที่เจ้าควรดำเนิน. โอ้ถ้าเจ้าได้เชื่อฟังคำสั่งของเราแล้ว, ความเจริญ [“สันติสุข,” ล.ม.] ของเจ้าก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล, และความชอบธรรมของเจ้าก็จะมีบริบูรณ์ดังคลื่นในมหาสมุทร.” (ยะซายา 48:17, 18) คุณเคยหยุดคิดไหมว่าถ้อยคำดังกล่าวให้กำลังใจสักเพียงไร?

8 ในที่นี้พระยะโฮวาทรงเตือนเราให้ระลึกว่าโดยการเชื่อฟังพระองค์ เราทำให้ตัวเองได้รับประโยชน์. พระองค์ทรงสัญญาจะให้ประโยชน์สองอย่างหากเราเชื่อฟัง. ประการแรก สันติสุขของเราจะเป็นดังแม่น้ำ—สงบเงียบ, มีอยู่อย่างเหลือล้น, ไม่ขาดสาย. ประการที่สอง ความชอบธรรมของเราจะเป็นเหมือนคลื่นในมหาสมุทร. หากคุณยืนอยู่ที่ชายหาดและสังเกตดูลูกคลื่นม้วนตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ต้องสงสัย คุณคงสำนึกว่าคลื่นก็เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดมา โหมซัดหาดทรายอยู่ชั่วนาตาปี. พระยะโฮวาตรัสว่าความชอบธรรมของคุณก็จะมีอยู่ตลอดไปหากคุณเชื่อฟังพระองค์. ตราบใดที่คุณพยายามจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระองค์จะไม่มีวันยอมให้คุณล้มเหลว! (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) คำสัญญาที่ทำให้อุ่นใจเช่นนั้นทำให้คุณมีความเชื่อมากขึ้นในพระยะโฮวาและข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของพระองค์มิใช่หรือ?

“พยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่”

9, 10. (ก) เหตุใดความเป็นผู้ใหญ่จึงเป็นเป้าหมายที่ยอดเยี่ยมสำหรับคริสเตียน? (ข) ทัศนะที่ได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณช่วยเราให้มีความยินดีได้อย่างไร?

9 มีการเปิดเผยแง่มุมที่สองของโครงการก่อสร้างที่คุณทำในถ้อยคำที่มีขึ้นโดยการดลใจต่อไปนี้: “ให้เราพยายามก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่.” (ฮีบรู 6:1) ความเป็นผู้ใหญ่คือเป้าหมายที่ยอดเยี่ยมสำหรับคริสเตียน. ต่างจากความสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้เป็นเป้าหมายที่มนุษย์เอื้อมไม่ถึง ความเป็นผู้ใหญ่เป็นเป้าหมายที่บรรลุได้. นอกจากนี้ คริสเตียนประสบความยินดีมากขึ้นในการรับใช้พระยะโฮวาขณะที่เขามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

10 คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่เป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ. เขามองสิ่งต่าง ๆ จากทัศนะของพระยะโฮวา. (โยฮัน 4:23) เปาโลเขียนว่า “คนที่ดำเนินชีวิตตามความปรารถนาทางกายก็สนใจแต่สิ่งที่สนองความปรารถนาทางกาย แต่คนที่ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณก็สนใจแต่สิ่งที่เป็นของพระวิญญาณ.” (โรม 8:5) ทัศนะแบบมนุษย์ทำให้เกิดความยินดีไม่มากเท่าไรนัก เพราะมีแนวโน้มจะคิดถึงแต่ตัวเอง, มองตื้น ๆ, และมุ่งอยู่กับสิ่งฝ่ายวัตถุ. ทัศนะที่ได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้าก่อความยินดี เพราะมุ่งอยู่ที่พระยะโฮวา “พระเจ้าผู้มีความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11) มนุษย์ฝ่ายวิญญาณกระตือรือร้นจะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและชื่นชมยินดีแม้แต่เมื่ออยู่ภายใต้การทดสอบ. เพราะเหตุใด? การทดสอบต่าง ๆ ทำให้เรามีโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสาและที่จะพัฒนาความซื่อสัตย์มั่นคง ทำให้พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์มีความยินดี.—สุภาษิต 27:11; ยาโกโบ 1:2, 3.

11, 12. (ก) เปาโลกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับ “วิจารณญาณ” ของคริสเตียน และคำที่ได้รับการแปลว่า “ฝึก” มีความหมายอย่างไร? (ข) ร่างกายต้องได้รับการฝึกเช่นไรเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่และใช้อวัยวะต่าง ๆ อย่างชำนาญ?

11 การเป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณและความเป็นผู้ใหญ่พัฒนาขึ้นโดยการฝึกฝน. ขอพิจารณาข้อนี้: “อาหารแข็งมีไว้สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งได้ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” (ฮีบรู 5:14) เมื่อเปาโลพูดถึงการ “ฝึกใช้” วิจารณญาณของเรา ท่านใช้คำภาษากรีกที่น่าสนใจ. น่าจะเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในโรงพลศึกษาของกรีซศตวรรษแรก เพราะคำนี้อาจแปลได้ว่า ‘ได้รับการฝึกฝนอย่างนักยิมนาสติก.’ ตอนนี้ขอให้คิดว่าการฝึกฝนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?

นักยิมนาสติกต้องฝึกฝนร่างกาย

12 เมื่อเราเกิดมา ร่างกายของเรายังไม่ได้รับการฝึก. ตัวอย่างเช่น ทารกแทบไม่รู้ว่าจะขยับแขนขาไปทิศทางไหน ดังนั้น จึงแกว่งแขนอย่างสะเปะสะปะ ถึงกับตีหน้าตัวเองด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ทารกสะดุ้งตกใจทีเดียว. โดยการขยับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทารกได้รับการฝึกฝนทีละน้อย. ทารกคลาน, เดินเตาะแตะ, แล้วในที่สุดก็วิ่ง. * ถ้าเช่นนั้น จะว่าอย่างไรกับนักยิมนาสติก? เมื่อคุณเห็นนักกีฬาดังกล่าวกระโดดและหมุนตัวอยู่กลางอากาศด้วยลีลาที่งดงามและแม่นยำ ไม่มีข้อสงสัยว่าร่างกายเขาเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ปรับตั้งไว้อย่างเที่ยงตรง. ความชำนาญของนักยิมนาสติกไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ จำเป็นต้องมีการฝึกนับครั้งไม่ถ้วน. คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่าการฝึกทางกายเช่นนั้น “มีประโยชน์เล็กน้อย.” การฝึกใช้วิจารณญาณทางฝ่ายวิญญาณของเรามีคุณค่ายิ่งกว่านั้นสักเพียงไร!—1 ติโมเธียว 4:8

13. เราจะฝึกวิจารณญาณของเราได้โดยวิธีใด?

13 ในหนังสือเล่มนี้ เราได้พิจารณาหลายเรื่องซึ่งจะช่วยคุณให้ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อคุณจะคงซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเสมอฐานะมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ. จงใคร่ครวญหลักการและกฎหมายของพระเจ้าอย่างลึกซึ้งพร้อมด้วยการอธิษฐานขณะที่คุณทำการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน. ทุกครั้งที่คุณเผชิญการตัดสินใจ จงถามตัวเองว่า ‘กฎหมายและหลักการอะไรในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้? ฉันจะนำกฎหมายและหลักการเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างไร? แนวทางชีวิตเช่นไรจะทำให้พระบิดาในสวรรค์พอพระทัย?’ (สุภาษิต 3:5, 6; ยาโกโบ 1:5) แต่ละครั้งที่คุณตัดสินใจโดยวิธีดังกล่าว คุณก็จะฝึกใช้วิจารณญาณมากขึ้นเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด. การฝึกดังกล่าวจะช่วยคุณให้เป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริงและคงเป็นเช่นนั้นต่อไป.

14. เราต้องมีความกระหายจะได้อะไรเพื่อจะเติบโตทางฝ่ายวิญญาณ แต่เราต้องคิดถึงคำเตือนอะไรเสมอ?

14 ถึงแม้คนเราอาจบรรลุความเป็นผู้ใหญ่ได้ ก็ยังมีโอกาสเสมอที่จะพัฒนาต่อไปทางฝ่ายวิญญาณ. การเจริญเติบโตต้องอาศัยอาหาร. ดังนั้น เปาโลให้ข้อสังเกตว่า “อาหารแข็งมีไว้สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่.” ปัจจัยสำคัญที่จะเสริมความเชื่อของคุณให้เข้มแข็งคือการรับเอาอาหารแข็งฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ. ขณะที่คุณนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้อย่างถูกต้อง นั่นแหละคือปัญญา และคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ปัญญาเป็นหลักเอก.” ดังนั้น เราต้องพัฒนาความกระหายจริง ๆ ที่จะได้รับความจริงอันล้ำค่าที่พระบิดาทรงประทานให้เรา. (สุภาษิต 4:5-7; 1 เปโตร 2:2) แน่นอน การมีความรู้และปัญญาจากพระเจ้ามากขึ้นไม่เป็นเหตุให้เราลำพองและทะนงตัว. เราต้องตรวจสอบตัวเองเป็นประจำเพื่อจะไม่เปิดช่องให้ความหยิ่งหรือความอ่อนแออื่น ๆ บางอย่างงอกรากและเติบโตขึ้นในหัวใจเรา. เปาโลเขียนว่า “จงหมั่นทดสอบว่าท่านทั้งหลายยึดมั่นกับหลักความเชื่อหรือไม่ จงหมั่นพิสูจน์ยืนยันตัวท่าน.”—2 โครินท์ 13:5.

15. เพราะเหตุใดความรักจึงจำเป็นสำหรับการเติบโตทางฝ่ายวิญญาณ?

15 การสร้างบ้านอาจแล้วเสร็จ แต่งานยังคงดำเนินต่อไป. การบำรุงรักษาและการซ่อมแซมนับว่าสำคัญ และอาจจำเป็นต้องมีการต่อเติมขณะที่สภาพการณ์เปลี่ยนไป. เราต้องทำอะไรเพื่อจะมีความเป็นผู้ใหญ่และคงสภาพฝ่ายวิญญาณไว้ต่อไป? สำคัญที่สุด ต้องมีความรัก. เราต้องพัฒนาความรักที่มีต่อพระยะโฮวาและเพื่อนร่วมความเชื่อเสมอ. หากเราไม่มีความรัก ความรู้ทั้งหมดที่เรามีรวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำก็จะไร้ค่า—เป็นเหมือนเสียงมากมายที่ก่อความรำคาญ. (1 โครินท์ 13:1-3) ด้วยความรัก เราสามารถบรรลุความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายคริสเตียนและเติบโตต่อไปทางฝ่ายวิญญาณ.

เอาใจจดจ่ออยู่กับความหวังที่พระยะโฮวาจัดเตรียมให้

16. ซาตานส่งเสริมความคิดชนิดใด และพระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอะไรให้เราเพื่อให้การปกป้อง?

16 ขอให้เราพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่งจากโครงการก่อสร้างของคุณ. เพื่อจะเสริมกำลังตัวเองฐานะสาวกแท้ของพระคริสต์ คุณต้องระวังวิธีคิดของคุณ. ซาตานผู้ปกครองโลกนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อการคิดในแง่ลบ, การมองในแง่ร้าย, ความไม่ไว้วางใจ, และความสิ้นหวัง. (เอเฟโซส์ 2:2) การคิดดังกล่าวเป็นอันตรายสำหรับคริสเตียนพอ ๆ กับสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้ที่แห้งผุ. น่ายินดี พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมเครื่องปกป้องที่สำคัญแก่เรา ซึ่งก็คือความหวัง.

17. พระคำของพระเจ้าแสดงให้เห็นความสำคัญของความหวังอย่างไร?

17 คัมภีร์ไบเบิลมีรายการส่วนต่าง ๆ ของยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณที่เราต้องใช้ในการต่อสู้กับซาตานและโลกนี้. ยุทธภัณฑ์สำคัญชิ้นหนึ่งคือหมวกเกราะ ซึ่งก็คือ “ความหวังเรื่องความรอด.” (1 เทสซาโลนิเก 5:8) ทหารในสมัยคัมภีร์ไบเบิลรู้ว่าเขาคงจะไม่รอดชีวิตในการสู้รบหากไม่มีหมวกเกราะ. เนื่องจากทำด้วยโลหะและบุด้านในด้วยสักหลาดหรือหนัง หมวกเกราะจึงทำให้การฟาดฟันที่ศีรษะส่วนใหญ่แฉลบไปและไม่บาดเจ็บมากนัก. เช่นเดียวกับหมวกเกราะปกป้องศีรษะ ความหวังก็สามารถปกป้องความคิดจิตใจของคุณได้.

18, 19. พระเยซูทรงวางตัวอย่างเช่นไรในการรักษาความหวัง และเราจะเลียนแบบพระองค์ได้โดยวิธีใด?

18 พระเยซูทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมในการรักษาความหวัง. ขอระลึกว่าพระองค์ได้ทรงทนทุกข์อย่างไรบ้างในคืนสุดท้ายของชีวิตบนแผ่นดินโลก. เพื่อนสนิทคนหนึ่งได้ทรยศพระองค์เพื่อแลกกับเงิน. อีกคนหนึ่งถึงกับปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระองค์. คนอื่น ๆ ละทิ้งพระองค์แล้วหนีไป. เพื่อนร่วมชาติได้ปฏิเสธพระองค์ ร้องตะโกนให้ทหารโรมันประหารชีวิตพระองค์บนเสาทรมาน. ดูเหมือนคนส่วนใหญ่คงจะเห็นด้วยแน่ ๆ ถ้าจะพูดว่าพระองค์เผชิญการทดสอบที่หนักหนายิ่งกว่าที่พวกเราจะมีวันได้ประสบ. อะไรได้ช่วยพระองค์? ฮีบรู 12:2 ให้คำตอบว่า “พระองค์ทรงทนทุกข์จนสิ้นพระชนม์บนเสาทรมานโดยไม่ทรงคำนึงถึงความอับอายเพราะเห็นแก่ความยินดีที่อยู่ตรงหน้า และทรงนั่งด้านขวาราชบัลลังก์ของพระเจ้าแล้ว.” พระเยซูมองไปยัง “ความยินดีที่อยู่ตรงหน้า” เสมอ.

19 ความยินดีอะไรที่อยู่ตรงหน้าพระเยซู? พระองค์ทรงทราบว่าโดยการอดทนความทุกข์ลำบาก พระองค์จะมีส่วนในการทำให้พระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. พระองค์จะให้ข้อพิสูจน์ใหญ่ยิ่งที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสา. ไม่มีความหวังอื่นใดที่จะทำให้พระเยซูมีความยินดีมากไปกว่านี้! พระองค์ทรงทราบด้วยว่า พระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จอย่างบริบูรณ์สำหรับแนวทางชีวิตที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ นั่นคือช่วงเวลาอันวิเศษที่อยู่ข้างหน้าคราวที่พระองค์จะกลับมาอยู่ร่วมกับพระบิดาอีก. พระองค์ทรงจดจ่ออยู่กับความหวังที่น่ายินดีดังกล่าวตลอดช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด. เราต้องทำอย่างเดียวกัน. เรามีความยินดีอยู่ตรงหน้าด้วยเช่นกัน. พระยะโฮวาทรงให้เกียรติเราแต่ละคนโดยให้มีสิทธิพิเศษช่วยทำให้พระนามอันใหญ่ยิ่งของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. เราสามารถพิสูจน์ว่าซาตานเป็นผู้พูดมุสาโดยเลือกพระยะโฮวาเป็นองค์บรมมหิศรของเราและทำให้ตัวเองปลอดภัยอยู่ในความรักของพระบิดาเสมอ ไม่ว่าเราอาจเผชิญการทดสอบและการล่อใจใด ๆ ก็ตาม.

20. อะไรจะช่วยคุณให้คิดในแง่บวกและมีความหวังเสมอ?

20 พระยะโฮวาไม่เพียงเต็มพระทัยประทานบำเหน็จให้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เท่านั้น แต่พระองค์ทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำเช่นนั้นด้วย. (ยะซายา 30:18; มาลาคี 3:10) พระองค์ทรงปีติยินดีที่จะประทานให้ผู้รับใช้ของพระองค์ได้รับสมตามความปรารถนาอันเหมาะสม. (บทเพลงสรรเสริญ 37:4) ดังนั้น ให้ความคิดของคุณมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับความหวังที่อยู่ตรงหน้าเสมอ. อย่ายอมแพ้ต่อความคิดในแง่ลบที่เสื่อมทรามและบิดเบือนของโลกเก่าของซาตาน. หากคุณสำนึกว่าน้ำใจของโลกนี้ค่อย ๆ รุกล้ำเข้ามาในจิตใจและหัวใจของคุณแล้ว จงอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าต่อพระยะโฮวาเพื่อจะมี “สันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่าง.” สันติสุขที่พระเจ้าประทานให้นี้จะปกป้องหัวใจและความสามารถในการคิดของคุณ.—ฟิลิปปอย 4:6, 7.

21, 22. (ก) “ชนฝูงใหญ่” ทะนุถนอมความหวังอันยอดเยี่ยมอะไร? (ข) ความหวังของคริสเตียนในเรื่องใดที่มีความหมายสำหรับคุณมากที่สุด และคุณตั้งใจเช่นไร?

21 คุณมีความหวังที่น่าตื่นเต้นเสียจริง ๆ ที่จะใคร่ครวญถึง! หากคุณเป็นส่วนหนึ่งของ “ชนฝูงใหญ่” ผู้ซึ่งจะ “ผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ขอให้คิดถึงสภาพชีวิตที่คุณจะได้รับในไม่ช้า. (วิวรณ์ 7:9, 14) การที่ซาตานและเหล่าปิศาจพรรคพวกของมันไม่ดำรงอยู่ต่อไป จะทำให้คุณรู้สึกโล่งอกอย่างเหลือที่จะเข้าใจได้ในขณะนี้. ที่จริง มีใครในพวกเราหรือเคยประสบชีวิตที่ปราศจากความกดดันจากอิทธิพลที่เสื่อมทรามของซาตาน? โดยที่ความกดดันเช่นนั้นผ่านพ้นไป จะมีความยินดีสักเพียงไรที่จะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงแผ่นดินโลกให้เป็นอุทยานภายใต้การชี้นำของพระเยซูและผู้ร่วมปกครองกับพระองค์ในสวรรค์ 144,000 คน! เรารู้สึกตื่นเต้นสักเพียงไรกับความคาดหวังที่จะเห็นความเจ็บป่วยและความทุพพลภาพทั้งสิ้นถูกขจัดออกไป, จะได้ต้อนรับผู้เป็นที่รักของเราซึ่งออกมาจากหลุมศพ, จะดำเนินชีวิตอย่างที่พระเจ้าทรงมุ่งหมายให้เราดำเนิน! ขณะที่เติบโตสู่ความสมบูรณ์ เราก็จะยิ่งเข้ามาใกล้รางวัลอันล้ำเลิศกว่าตามคำสัญญาที่เปิดเผยในโรม 8:21 นั่นคือ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งเหล่าบุตรของพระเจ้า.”

22 พระยะโฮวาประสงค์ให้คุณมีเสรีภาพมากยิ่งกว่าที่คุณจะนึกภาพได้. ทางสู่เสรีภาพนั้นขึ้นอยู่กับการเชื่อฟัง. นับว่าคุ้มค่ามิใช่หรือที่คุณจะทุ่มเทความพยายามทุกอย่างในตอนนี้เพื่อจะเชื่อฟังพระยะโฮวาวันแล้ววันเล่า? ดังนั้น ในทุกวิถีทาง จงเสริมกำลังตัวเองด้วยความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง เพื่อคุณจะเป็นที่รักของพระเจ้าตลอดชั่วนิรันดร์!

^ วรรค 12 นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเราพัฒนาประสาทสัมผัสพิเศษที่เรียกว่าการรับรู้อากัปกิริยา ซึ่งประสาทสัมผัสนี้จะกำหนดทิศทางของร่างกายเราเองรวมทั้งตำแหน่งของแขนขาเรา. ตัวอย่างเช่น ประสาทสัมผัสนี้ทำให้คุณสามารถปรบมือพร้อมกับหลับตาได้. คนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่รายหนึ่งซึ่งสูญเสียประสาทสัมผัสพิเศษนี้ไม่สามารถยืน, เดิน, หรือแม้แต่นั่งด้วยซ้ำ.