ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 16

ประชุมร่วมกันเพื่อนมัสการพระเจ้า

ประชุมร่วมกันเพื่อนมัสการพระเจ้า

จุด​สำคัญ​ใน​บท​นี้

ทบทวน​ดู​ว่า​การ​ประชุม​ของ​เรา​มี​ประวัติ​ความ​เป็น​มา​และ​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ไร

1. ตอน​ที่​สาวก​มา​รวม​ตัว​กัน พวก​เขา​ได้​รับ​อะไร และ​ทำไม​สิ่ง​นี้​จำเป็น​สำหรับ​พวก​เขา?

 ไม่​นาน​หลัง​จาก​พระ​เยซู​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย สาวก​ของ​ท่าน​มา​รวม​ตัว​เพื่อ​ให้​กำลังใจ​กัน พวก​เขา​ปิด​ประตู​ลง​กลอน​เพราะ​กลัว​พวก​ศัตรู แต่​พวก​เขา​คง​หาย​กลัว​เมื่อ​พระ​เยซู​ปรากฏ​ตัว​ขึ้น​และ​พูด​กับ​พวก​เขา​ว่า “รับ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​เถิด”! (อ่าน​โยฮัน 20:19-22) จาก​นั้น สาวก​ก็​มา​รวม​ตัว​กัน​อีก และ​พระ​ยะโฮวา​ได้​เท​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ลง​เหนือ​พวก​เขา ซึ่ง​ช่วย​ให้​พวก​เขา​มี​กำลัง​มาก​พอ​ที่​จะ​ทำ​งาน​ประกาศ​ที่​รอ​อยู่​ข้าง​หน้า!—กิจ. 2:1-7

2. (ก) ทำไม​เรา​ต้องการ​กำลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา และ​พระองค์​ให้​กำลัง​เรา​โดย​วิธี​ใด? (ข) ทำไม​การ​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว​จึง​สำคัญ​มาก? (ดู​เชิงอรรถ​และ​กรอบ “ การ​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว”)

2 พวก​เรา​ก็​เจอ​ปัญหา​แบบ​เดียว​กับ​พี่​น้อง​ใน​ศตวรรษ​แรก (1 เป. 5:9) บาง​ครั้ง เรา​ก็​กลัว​คน​อื่น​และ​เรา​ต้องการ​กำลัง​จาก​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​จะ​อด​ทน​และ​ทำ​งาน​ประกาศ​ต่อ​ไป​ได้ (เอเฟ. 6:10) ส่วน​ใหญ่​แล้ว พระ​ยะโฮวา​ให้​กำลัง​เรา​โดย​ทาง​การ​ประชุม​ต่าง ๆ ทุก​วัน​นี้​เรา​มี​โอกาส​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ที่​สอน​เรา​สัปดาห์​ละ 2 ครั้ง ครั้ง​หนึ่ง​คือ การ​ประชุม​สาธารณะ​และ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ส่วน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​เป็น​การ​ประชุม​กลาง​สัปดาห์​ที่​เรียก​ว่า​การ​ประชุม​ชีวิต​และ​งาน​รับใช้​ของ​คริสเตียน a เรา​ยัง​มี​การ​ประชุม​ประจำ​ปี​อีก 4 ครั้ง คือ การ​ประชุม​ภูมิภาค การ​ประชุม​หมวด 2 ครั้ง และ​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​คริสต์ ทำไม​การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​ทุก​รายการ​จึง​สำคัญ​มาก​สำหรับ​เรา? การ​ประชุม​ใน​ทุก​วัน​นี้​มี​ความ​เป็น​มา​อย่าง​ไร? และ​ความ​รู้สึก​ที่​เรา​มี​ต่อ​การ​ประชุม​เปิด​เผย​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา?

ทำไม​เรา​ประชุม​กัน?

3, 4. พระ​ยะโฮวา​ต้องการ​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​ทำ​อะไร? ขอ​ให้​อธิบาย

3 นาน​มา​แล้ว​ที่​พระ​ยะโฮวา​ต้องการ​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​มา​ประชุม​กัน​เพื่อ​นมัสการ​พระองค์ ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1513 ก่อน ค.ศ. พระ​ยะโฮวา​ให้​กฎหมาย​แก่​ชาติ​อิสราเอล และ​กฎหมาย​นั้น​รวม​ถึง​คำ​สั่ง​ที่​ให้​ถือ​วัน​ซะบาโต​ประจำ​สัปดาห์ เพื่อ​ทุก​ครอบครัว​จะ​ได้​นมัสการ​พระองค์​และ​เรียน​รู้​ข้อ​กฎหมาย​ของ​พระองค์​ด้วย (บัญ. 5:12; 6:4-9) เมื่อ​ชาว​อิสราเอล​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​นี้ ครอบครัว​ของ​พวก​เขา​ก็​มั่นคง ทั้ง​ชาติ​ก็​สะอาด​ใน​สายตา​ของ​พระเจ้า​และ​มี​ความ​เชื่อ​ที่​เข้มแข็ง แต่​เมื่อ​พวก​เขา​ไม่​ทำ​ตาม​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า เช่น ละเลย​คำ​สั่ง​ที่​ให้​ประชุม​ร่วม​กัน​เป็น​ประจำ​เพื่อ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา พวก​เขา​ก็​ไม่​ได้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​อีก​ต่อ​ไป—เลวี. 10:11; 26:31-35; 2 โคร. 36:20, 21

4 ลอง​นึก​ถึง​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ด้วย ท่าน​มัก​จะ​ไป​ที่​ธรรมศาลา​ทุก​วัน​ซะบาโต (ลูกา 4:16) หลัง​จาก​พระ​เยซู​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย สาวก​ของ​ท่าน​ก็​ยัง​ประชุม​ร่วม​กัน​เป็น​ประจำ แม้​ว่า​ตอน​นั้น​พวก​เขา​ไม่​ได้​ถือ​กฎหมาย​เรื่อง​วัน​ซะบาโต​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว (กิจ. 1:6, 12-14; 2:1-4; โรม 14:5; โกโล. 2:13, 14) คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ไม่​เพียง​ได้​รับ​การ​สอน​และ​การ​หนุน​ใจ​จาก​การ​ประชุม แต่​พวก​เขา​ยัง​ได้​สรรเสริญ​พระเจ้า​เมื่อ​อธิษฐาน ออก​ความ​คิด​เห็น และ​ร้อง​เพลง—โกโล. 3:16; ฮีบรู 13:15

สาวก​ของ​พระ​เยซู​มา​รวม​ตัว​กัน​เพื่อ​เสริม​กำลัง​และ​ให้​กำลังใจ​กัน

5. ทำไม​เรา​เข้า​ร่วม​ประชุม​ทุก​สัปดาห์​และ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ทุก​ปี? (ดู​กรอบ “ การ​ประชุม​ประจำ​ปี​ที่​รวม​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​เป็น​หนึ่ง​เดียว”)

5 คล้าย​กัน​กับ​พวก​เขา เมื่อ​เข้า​ร่วม​ประชุม​ทุก​สัปดาห์​และ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ทุก​ปี เรา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​สนับสนุน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า เรา​ได้​รับ​กำลัง​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์ และ​คน​อื่น​ก็​ได้​รับ​กำลังใจ​เมื่อ​เห็น​ว่า​เรา​มี​ความ​เชื่อ สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​มี​โอกาส​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​เมื่อ​อธิษฐาน ออก​ความ​คิด​เห็น และ​ร้อง​เพลง แม้​การ​ประชุม​ที่​เรา​จัด​ขึ้น​อาจ​มี​รูป​แบบ​ต่าง​จาก​การ​ประชุม​ของ​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก แต่​ก็​มี​ความ​สำคัญ​เท่า​กัน ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​การ​ประชุม​ของ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้​มี​ความ​เป็น​มา​อย่าง​ไร

การ​ประชุม​ประจำ​สัปดาห์​ที่​ทำ​ให้ “เกิด​ความ​รัก​และ​การ​ดี”

6, 7. (ก) จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​การ​ประชุม​คือ​อะไร? (ข) การ​ประชุม​ของ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​แต่​ละ​กลุ่ม​แตกต่าง​กัน​อย่าง​ไร?

6 เมื่อ​พี่​น้อง​ชาลส์ เทซ รัสเซลล์​เริ่ม​ค้น​หา​ความ​จริง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล เขา​เห็น​ว่า​การ​พบ​ปะ​กับ​คน​ที่​มี​เป้าหมาย​เดียว​กัน​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น ใน​ปี ค.ศ. 1879 รัสเซลล์​เขียน​ว่า “ผม​กับ​เพื่อน ๆ ใน​เมือง​พิตส์เบิร์ก​ได้​ตั้ง​กลุ่ม​เพื่อ​ศึกษา​ค้นคว้า​พระ​คัมภีร์ ซึ่ง​ประชุม​กัน​ทุก​วัน​อาทิตย์” ผู้​อ่าน​หอสังเกตการณ์ ก็​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​มา​พบ​ปะ​กัน​ด้วย พอ​ถึง​ปี 1881 พี่​น้อง​เหล่า​นั้น​ก็​เริ่ม​จัด​การ​ประชุม​ทุก​วัน​อาทิตย์​และ​วัน​พุธ​ที่​เมือง​พิตส์เบิร์ก รัฐ​เพนซิลเวเนีย หอสังเกตการณ์ พฤศจิกายน 1895 บอก​ว่า จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​การ​ประชุม​ก็​คือ เพื่อ​ปลูกฝัง “มิตรภาพ ความ​รัก และ​ความ​สามัคคี​ระหว่าง​พี่​น้อง​คริสเตียน” และ​เพื่อ​ทุก​คน​ที่​มา​ร่วม​ประชุม​จะ​ได้​มี​โอกาส​หนุน​ใจ​กัน—อ่าน​ฮีบรู 10:24, 25

7 ตลอด​หลาย​ปี​นั้น การ​ประชุม​ยัง​ไม่​มี​รูป​แบบ​ที่​แน่นอน นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​แต่​ละ​กลุ่ม​จึง​กำหนด​เอง​ว่า​จะ​ประชุม​อย่าง​ไร​และ​บ่อย​แค่​ไหน อย่าง​เช่น จดหมาย​จาก​นัก​ศึกษา​กลุ่ม​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 1911 บอก​ว่า “เรา​จัด​การ​ประชุม​อย่าง​น้อย​สัปดาห์​ละ 5 ครั้ง” พวก​เขา​ประชุม​กัน​วัน​จันทร์ วัน​พุธ วัน​ศุกร์ และ 2 รอบ​ใน​วัน​อาทิตย์ จดหมาย​จาก​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ใน​แอฟริกา​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 1914 บอก​ว่า “เรา​ประชุม​วัน​ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เดือน​ละ 2 ครั้ง” ใน​ที่​สุด แต่​ละ​กลุ่ม​ก็​เริ่ม​มี​การ​ประชุม​ที่​คล้าย​กับ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้ ให้​เรา​มา​ดู​คร่าว ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​เป็น​มา​ของ​การ​ประชุม​แต่​ละ​รายการ

8. ใน​สมัย​ที่​เพิ่ง​เริ่ม​จัด​การ​ประชุม คำ​บรรยาย​สาธารณะ​มี​เรื่อง​อะไร​บ้าง?

8 การ​ประชุม​สาธารณะ ใน​ปี 1880 หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​ที่​พี่​น้อง​รัสเซลล์​เริ่ม​พิมพ์​วารสาร​หอสังเกตการณ์ เขา​ทำ​ตาม​ตัว​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​วาง​ไว้​โดย​ออก​เดิน​ทาง​เพื่อ​ไป​ประกาศ​ตาม​ที่​ต่าง ๆ (ลูกา 4:43) ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง พี่​น้อง​รัสเซลล์​วาง​รูป​แบบ​ของ​การ​ประชุม​อย่าง​หนึ่ง​ไว้ ซึ่ง​ตอน​นี้​เรา​เรียก​ว่า​การ​ประชุม​สาธารณะ หอสังเกตการณ์ ได้​ประกาศ​เรื่อง​การ​เดิน​ทาง​รอบ​นั้น​และ​บอก​ว่า รัสเซลล์ “ยินดี​อธิบาย​เรื่อง​ประชุม​สาธารณะ​ให้​พี่​น้อง​ฟัง​ใน​คำ​บรรยาย​เรื่อง ‘สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า’” ใน​ปี 1911 หลัง​จาก​ได้​ตั้ง​ชั้น​เรียน​หรือ​ประชาคม​ต่าง ๆ ขึ้น​ใน​หลาย​ประเทศ มี​การ​สนับสนุน​ให้​แต่​ละ​ประชาคม​ส่ง​ผู้​บรรยาย​ไป​ใน​เขต​รอบ ๆ นั้น​เพื่อ​จัด​คำ​บรรยาย​ชุด 6 เรื่อง เช่น เรื่อง​การ​พิพากษา​และ​ค่า​ไถ่ เมื่อ​บรรยาย​แต่​ละ​เรื่อง​จบ​ก็​จะ​ประกาศ​ชื่อ​ผู้​บรรยาย​และ​หัวเรื่อง​ที่​จะ​บรรยาย​ใน​สัปดาห์​ถัด​ไป

9. ตลอด​หลาย​ปี​มา​นี้ การ​ประชุม​สาธารณะ​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ไร​บ้าง และ​คุณ​จะ​สนับสนุน​การ​ประชุม​นี้​อย่าง​ไร?

9 ใน​ปี 1945 หอสังเกตการณ์ ได้​ประกาศ​เรื่อง​การ​ประชุม​สาธารณะ​ชุด​พิเศษ​ที่​จะ​เริ่ม​จัด​ขึ้น​ตาม​ที่​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก โดย​มี​คำ​บรรยาย​ชุด​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​รวม 8 เรื่อง​ที่​พูด​ถึง “ปัญหา​เร่ง​ด่วน​ของ​ยุค​นี้” เป็น​เวลา​หลาย​สิบ​ปี​ที่​ผู้​บรรยาย​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​บรรยาย​โดย​ใช้​หัวเรื่อง​ต่าง ๆ ที่​มา​จาก​ทาส​สัตย์​ซื่อ รวม​ทั้ง​เรื่อง​ที่​เขา​เขียน​ขึ้น​เอง แต่​ใน​ปี 1981 มี​คำ​แนะ​นำ​ให้​ผู้​บรรยาย​ทุก​คน​ใช้​โครง​เรื่อง​คำ​บรรยาย​ที่​ส่ง​ให้​กับ​ประชาคม b จน​กระทั่ง​ปี 1990 โครง​เรื่อง​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​บาง​เรื่อง​ก็​กำหนด​ให้​ผู้​ฟัง​มี​ส่วน​ร่วม​หรือ​สาธิต แต่​ใน​ปี​นั้น​ก็​มี​การ​ปรับ​คำ​แนะ​นำ​ใหม่​โดย​ให้​เหลือ​แต่​คำ​บรรยาย​ล้วน ๆ จาก​นั้น เดือน​มกราคม 2008 ก็​ปรับ​เปลี่ยน​อีก​ครั้ง โดย​ลด​เวลา​จาก 45 นาที​เหลือ 30 นาที ถึง​แม้​ว่า​รูป​แบบ​จะ​เปลี่ยน​แปลง​ไป​บ้าง แต่​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​ที่​เตรียม​อย่าง​ดี​ก็​ยัง​เสริม​สร้าง​ความ​เชื่อ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ให้​ความ​รู้​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​ได้​ต่อ​ไป (1 ติโม. 4:13, 16) คุณ​กระตือรือร้น​อยาก​ชวน​คน​ที่​คุณ​กลับ​เยี่ยม​และ​คน​ที่​ไม่​ได้​เป็น​พยาน​ฯ​ให้​มา​ฟัง​คำ​บรรยาย​เรื่อง​สำคัญ ๆ จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

10-12. (ก) มี​การ​เปลี่ยน​รูป​แบบ​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ อย่าง​ไร​บ้าง? (ข) มี​คำ​ถาม​อะไร​ที่​เรา​น่า​จะ​ถาม​ตัว​เอง?

10 การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ สมาคม​ว็อชเทาเวอร์​ได้​ส่ง​ผู้​รับใช้​ที่​เรียก​กัน​ว่า​พิลกริม (ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง) ไป​บรรยาย​ตาม​ประชาคม​ต่าง ๆ และ​นำ​หน้า​ใน​งาน​ประกาศ ใน​ปี 1922 พวก​เขา​เสนอ​ให้​จัด​การ​ประชุม​หนึ่ง​เป็น​ประจำ​เพื่อ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ สมาคม​ฯ​เห็น​ด้วย​กับ​ข้อ​เสนอ​นี้ และ​ใน​ช่วง​แรก​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ได้​จัด​ขึ้น​กลาง​สัปดาห์​หรือ​ไม่​ก็​วัน​อาทิตย์

11 หอสังเกตการณ์ 15 มิถุนายน 1932 แนะ​นำ​เพิ่ม​เติม​ว่า​ควร​จัด​การ​ประชุม​นี้​แบบ​เดียว​กับ​ที่​ทำ​ใน​ครอบครัว​เบเธล คือ​ให้​พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​เป็น​ผู้​นำ​การ​ประชุม และ​ให้​พี่​น้อง​ชาย​อีก 3 คน​มา​นั่ง​ข้าง​หน้า​แล้ว​ผลัด​กัน​อ่าน​คน​ละ​วรรค เนื่อง​จาก​บทความ​ต่าง ๆ ใน​สมัย​นั้น​ไม่​ได้​พิมพ์​คำ​ถาม​ไว้ ผู้​นำ​จึง​เชิญ​ให้​ผู้​ฟัง​ตั้ง​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​บทความ​ที่​กำลัง​เรียน​อยู่ แล้ว​ขอ​ให้​ผู้​ฟัง​คน​อื่น ๆ ช่วย​กัน​ตอบ​คำ​ถาม​นั้น ถ้า​มี​จุด​ไหน​ที่​ต้อง​อธิบาย​เพิ่ม​เติม ผู้​นำ​ก็​ควร​อธิบาย​แบบ “สั้น ๆ และ​ตรง​จุด”

การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ใน​กานา ปี 1931

12 ใน​ตอน​แรก แต่​ละ​ประชาคม​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เลือก​เอง​ว่า​จะ​ศึกษา​วารสาร​ฉบับ​ไหน ซึ่ง​ก็​มัก​จะ​เป็น​ฉบับ​ที่​พี่​น้อง​ส่วน​ใหญ่​อยาก​ศึกษา แต่​หอสังเกตการณ์ 15 เมษายน 1933 แนะ​นำ​ให้​ทุก​ประชาคม​ศึกษา​วารสาร​ฉบับ​ล่า​สุด​เสมอ ใน​ปี 1937 มี​คำ​แนะ​นำ​ให้​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ ใน​วัน​อาทิตย์ และ​หอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 1942 ก็​มี​คำ​แนะ​นำ​ให้​ปรับ​วิธี​ศึกษา​อีก​ครั้ง ซึ่ง​เป็น​แบบ​ที่​เรา​ใช้​มา​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้ เช่น ผู้​นำ​ควร​ใช้​คำ​ถาม​ที่​อยู่​ท้าย​หน้า​แต่​ละ​หน้า​ของ​บทความ​ศึกษา การ​ประชุม​ก็​ไม่​ควร​เกิน 1 ชั่วโมง และ​ผู้​ฟัง​ควร​ตอบ​คำ​ถาม “เป็น​คำ​พูด​ของ​ตัว​เอง” แทน​ที่​จะ​อ่าน​จาก​วรรค​นั้น ๆ การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ เป็น​การ​ประชุม​สำคัญ​ที่​ทาส​สัตย์​ซื่อ​ได้​จัด​เตรียม​ความ​รู้​จาก​พระเจ้า​ซึ่ง​เป็น​เหมือน​อาหาร​ที่​เหมาะ​กับ​เวลา​ให้​เรา​มา​โดย​ตลอด (มัด. 24:45) เรา​แต่​ละ​คน​น่า​จะ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​เตรียม​การ​ศึกษา​หอสังเกตการณ์ แต่​ละ​สัปดาห์​ไหม? ฉัน​พยายาม​ออก​ความ​เห็น​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ไหม?’

13, 14. การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ประจำ​ประชาคม​มี​ความ​เป็น​มา​อย่าง​ไร และ​คุณ​จะ​มี​ส่วน​ร่วม​ได้​อย่าง​ไร?

13 การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ประจำ​ประชาคม กลาง​ทศวรรษ 1890 มี​การ​ออก​หนังสือ​หลาย​เล่ม​ใน​ชุด​รุ่ง​อรุณ​แห่ง​รัชสมัย​พัน​ปี (ภาษา​อังกฤษ) พี่​น้อง เอช. เอ็น. ราห์น นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใน​เมือง​บัลติมอร์ รัฐ​แมรีแลนด์ สหรัฐ​อเมริกา ได้​เสนอ​ให้​จัด “กลุ่ม​รุ่ง​อรุณ” เพื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ตอน​แรก กลุ่ม​เหล่า​นี้​ลอง​จัด​การ​ประชุม​ที่​บ้าน​ของ​พี่​น้อง​ก่อน แต่​พอ​ถึง​เดือน​กันยายน 1895 กลุ่ม​รุ่ง​อรุณ​ตาม​เมือง​ต่าง ๆ ใน​สหรัฐ​ก็​มี​ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​มาก​ขึ้น​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด หอสังเกตการณ์ ใน​เดือน​นั้น​จึง​แนะ​ให้​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​คน​ที่​เรียน​ความ​จริง​จัด​การ​ประชุม​แบบ​นี้​ด้วย วารสาร​ฉบับ​นั้น​ยัง​แนะ​นำ​ว่า ผู้​นำ​การ​ประชุม​ควร​เป็น​คน​ที่​อ่าน​คล่อง เมื่อ​อ่าน​แต่​ละ​ประโยค​จบ​แล้ว​ควร​รอ​ให้​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​ออก​ความ​เห็น เมื่อ​จบ​แต่​ละ​วรรค​ให้​อ่าน​ข้อ​คัมภีร์​ที่​อ้าง​ถึง​ใน​วรรค​ด้วย เมื่อ​พิจารณา​จบ​ทั้ง​บท​แล้ว ควร​ให้​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​แต่​ละ​คน​สรุป​สั้น ๆ เกี่ยว​กับ​เนื้อหา​ที่​ได้​เรียน​ด้วย​กัน

14 มี​การ​เปลี่ยน​ชื่อ​การ​ประชุม​นี้​หลาย​ครั้ง ชื่อ​หนึ่ง​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​คือ​กลุ่ม​เบอเรียน​เพื่อ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​ทำ​ให้​นึก​ถึง​ชาว​เบโรยา​ใน​ศตวรรษ​แรก​ที่​ขยัน​ค้นคว้า​และ​ตรวจ​สอบ​พระ​คัมภีร์ (กิจ. 17:11) ต่อ​มา​ได้​เปลี่ยน​ชื่อ​อีก​เป็น การ​ศึกษา​หนังสือ​ประจำ​ประชาคม ปัจจุบัน​เรียก​ว่า​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ประจำ​ประชาคม และ​พี่​น้อง​ทั้ง​หมด​ก็​ไป​ประชุม​ร่วม​กัน​ที่​หอ​ประชุม​แทน​ที่​จะ​พบ​กัน​เป็น​กลุ่ม ๆ ตาม​บ้าน ตลอด​หลาย​สิบ​ปี มี​การ​ศึกษา​หนังสือ​หลาย​เล่ม จุลสาร และ​แม้​แต่​บทความ​ใน​หอสังเกตการณ์ ด้วย ตั้ง​แต่​สมัย​แรก ๆ ทุก​คน​ที่​เข้า​ร่วม​ประชุม​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​ออก​ความ​คิด​เห็น การ​ประชุม​เหล่า​นี้​ช่วย​เรา​ให้​มี​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น คุณ​เตรียม​ส่วน​การ​ประชุม​และ​ออก​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ไหม?

15. จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​คือ​อะไร?

15 โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า พี่​น้อง​แครีย์ บาร์เบอร์​ซึ่ง​เคย​ทำ​งาน​รับใช้​ใน​สำนักงาน​ใหญ่​ที่​บรุกลิน นิวยอร์ก เล่า​ว่า “ใน​คืน​วัน​จันทร์​ที่ 16 กุมภาพันธ์ 1942 สมาชิก​ครอบครัว​เบเธล​ทุก​คน​ใน​บรุกลิน​ได้​รับ​เชิญ​ให้​สมัคร​เป็น​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน​หนึ่ง ซึ่ง​ตอน​หลัง​เรียก​ว่า​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า” พี่​น้อง​บาร์เบอร์​ซึ่ง​ต่อ​มา​ได้​เป็น​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง พูด​ถึง​โรง​เรียน​นี้​ว่า “นี่​เป็น​สิ่ง​ที่​โดด​เด่น​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​เตรียม​ให้​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ใน​ปัจจุบัน” หลัก​สูตร​ของ​โรง​เรียน​นี้​เยี่ยม​จริง ๆ เพราะ​สามารถ​ช่วย​พี่​น้อง​ให้​สอน​และ​ประกาศ​ได้​ดี​ขึ้น ดัง​นั้น ใน​ปี 1943 องค์การ​จึง​ค่อย ๆ เริ่ม​ส่ง​จุลสาร​หลัก​สูตร​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า (ภาษา​อังกฤษ) ให้​แก่​ประชาคม​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก หอสังเกตการณ์ 1 มิถุนายน 1943 บอก​ว่า โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า​มี​จุด​มุ่ง​หมาย​เพื่อ​ช่วย​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ให้ “ฝึกฝน​ตน​เอง​เพื่อ​จะ​ประกาศ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ได้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น”—2 ติโม. 2:15

16, 17. โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า สอน​ให้​มี​ศิลปะ​ใน​การ​พูด​เท่า​นั้น​ไหม? ขอ​ให้​อธิบาย

16 ตอน​แรก หลาย​คน​รู้สึก​เครียด​มาก​ที่​ต้อง​ยืน​พูด​ต่อ​หน้า​ผู้​ฟัง​กลุ่ม​ใหญ่ พี่​น้อง​เคลย์ตัน วูดเวิร์ท จูเนียร์ ซึ่ง​พ่อ​ของ​เขา​เคย​ถูก​จำ​คุก​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​พร้อม​กับ​พี่​น้อง​รัทเทอร์ฟอร์ด​และ​อีก​หลาย​คน​ใน​ปี 1918 เล่า​ถึง​ความ​รู้สึก​ตอน​ที่​เป็น​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน​นี้​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1943 ว่า “การ​บรรยาย​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก​สำหรับ​ผม ผม​คอ​แห้ง​ผาก ลิ้น​พัน​กัน แถม​เสียง​ก็​เพี้ยน​อีก​ต่าง​หาก” แต่​เมื่อ​บรรยาย​เก่ง​ขึ้น เคลย์ตัน​ก็​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​บรรยาย​สาธารณะ​อีก​หลาย​ครั้ง โรง​เรียน​นี้​ไม่​ได้​สอน​แค่​ศิลปะ​ใน​การ​พูด​เท่า​นั้น แต่​ยัง​สอน​ให้​เป็น​คน​ถ่อม​ตัว​ด้วย และ​ที่​สำคัญ​คือ​สอน​ให้​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา เขา​พูด​ว่า “สุด​ท้าย​ผม​ก็​เข้าใจ​ว่า​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ไม่​ใช่​ตัว​ผู้​บรรยาย แต่​ถ้า​เขา​เตรียม​ตัว​มา​ดี และ​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​ที่ เขา​ก็​จะ​ดึงดูด​ใจ​ผู้​ฟัง​ได้ แล้ว​ผู้​ฟัง​ก็​จะ​ได้​เรียน​รู้​อะไร ๆ หลาย​อย่าง”

17 ใน​ปี 1959 พี่​น้อง​หญิง​ได้​รับ​เชิญ​ให้​สมัคร​ใน​โรง​เรียน​นี้​ด้วย พี่​น้อง​เอ็ด​นา เบา​เออร์ เล่า​ถึง​ตอน​ที่​เธอ​ได้​ยิน​คำ​ประกาศ​นี้​ที่​การ​ประชุม​ใหญ่​ว่า “ฉัน​ยัง​จำ​ได้​ว่า​พวก​พี่​น้อง​หญิง​ดีใจ​กัน​ใหญ่ ตอน​นี้​เป็น​โอกาส​ของ​พวก​เธอ​แล้ว” หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา พี่​น้อง​ชาย​หญิง​สมัคร​เป็น​นัก​เรียน​ใน​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า พวก​เขา​ให้​พระ​ยะโฮวา​สอน​พวก​เขา ใน​ทุก​วัน​นี้ พวก​เรา​ก็​ยัง​ได้​รับ​การ​สอน​แบบ​นั้น​ทาง​การ​ประชุม​กลาง​สัปดาห์—อ่าน​ยะซายา 54:13 c

18, 19. (ก) เรา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​ที่​ใช้​ได้​จริง​อย่าง​ไร​ใน​งาน​รับใช้? (ข) ทำไม​การ​ประชุม​ของ​เรา​มี​การ​ร้อง​เพลง​ด้วย? (ดู​กรอบ “ การ​ร้อง​เพลง​แห่ง​ความ​จริง”)

18 การ​ประชุม​การ​รับใช้ เริ่ม​มี​การ​ประชุม​เพื่อ​การ​ประกาศ​ตั้ง​แต่​ปี 1919 ตอน​นั้น​ผู้​เข้า​ร่วม​ประชุม​คือ​คน​ที่​จะ​ออก​ไป​แจก​จ่าย​หนังสือ​เท่า​นั้น ไม่​ใช่​ทั้ง​ประชาคม ใน​ปี 1923 เกือบ​ทั้ง​ปี​นั้น การ​ประชุม​การ​รับใช้​มี​เพียง​เดือน​ละ​ครั้ง และ​ทุก​คน​ใน​ประชาคม​ก็​ควร​เข้า​ร่วม แต่​พอ​ถึง​ปี 1928 ประชาคม​ต่าง ๆ ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​จัด​การ​ประชุม​นี้​สัปดาห์​ละ​ครั้ง และ​ใน​ปี 1935 หอสังเกตการณ์ ได้​สนับสนุน​ให้​ทุก​ประชาคม​จัด​การ​ประชุม​นี้​โดย​ใช้​เนื้อหา​ที่​ลง​ใน​ผู้​อำนวย​การ (ต่อ​มา​เรียก​ว่า ใบ​แจ้ง​ข่าว, พระ​ราชกิจ​ของ​เรา และ​หลัง​จาก​นั้น​เรียก​ว่า งาน​รับใช้​พระเจ้า ) ไม่​นาน​ทุก​ประชาคม​ก็​จัด​การ​ประชุม​นี้

19 ใน​ทุก​วัน​นี้​เรา​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​ที่​ใช้​ได้​จริง​ใน​งาน​รับใช้​ผ่าน​ทาง​การ​ประชุม​กลาง​สัปดาห์ (มัด. 10:5-13) ถ้า​คุณ​ได้​รับ​คู่มือ​ประชุม คุณ​อ่าน​และ​เอา​คำ​แนะ​นำ​เหล่า​นั้น​ไป​ใช้​ใน​งาน​ประกาศ​ไหม?

การ​ประชุม​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​รอบ​ปี

ตั้ง​แต่​สมัย​ศตวรรษ​แรก คริสเตียน​จะ​มา​ประชุม​กัน​ทุก​ปี​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู​คริสต์ (ดู​วรรค 20)

20-22. (ก) ทำไม​เรา​จัด​การ​ประชุม​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู? (ข) คุณ​ได้​ประโยชน์​อะไร​จาก​การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ทุก​ปี?

20 พระ​เยซู​บอก​สาวก​ให้​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ท่าน​จน​กว่า​ท่าน​จะ​มา​ปกครอง​แผ่นดิน​โลก การ​ประชุม​อนุสรณ์​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​คริสต์​ก็​จัด​ปี​ละ​ครั้ง​เหมือน​กับ​การ​ฉลอง​ปัศคา (1 โค. 11:23-26) มี​หลาย​ล้าน​คน​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​นี้​ทุก​ปี การ​ประชุม​อนุสรณ์​ช่วย​เตือน​ใจ​ผู้​ถูก​เจิม​ให้​นึก​ถึง​เกียรติ​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ คือ​เป็น​ผู้​รับ​มรดก​ร่วม​กับ​พระ​เยซู​ใน​ราชอาณาจักร (โรม 8:17) การ​ประชุม​นี้​ช่วย​แกะ​อื่น​ให้​มี​ความ​นับถือ​และ​ความ​ภักดี​ต่อ​กษัตริย์​ของ​ราชอาณาจักร​พระเจ้า—โย. 10:16

21 พี่​น้อง​รัสเซลล์​และ​เพื่อน ๆ รู้​ว่า​การ​ฉลอง​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​เป็น​เรื่อง​สำคัญ และ​ควร​จัด​ปี​ละ​หนึ่ง​ครั้ง​เท่า​นั้น หอสังเกตการณ์ เมษายน 1880 กล่าว​ว่า “ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา พวก​เรา​หลาย​คน​ใน​เมือง​พิตส์เบิร์ก . . . ได้​จัด​การ​ประชุม​เพื่อ​ระลึก​ถึง​ปัศคา [การ​ประชุม​อนุสรณ์] และ​ได้​กิน​สิ่ง​ที่​ใช้​เป็น​เครื่องหมาย​แทน​ร่าง​กาย​และ​เลือด​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” จาก​นั้น​ไม่​นาน​ก็​มี​การ​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​พร้อม​กับ​การ​ประชุม​อนุสรณ์ ครั้ง​แรก​ที่​มี​การ​จด​บันทึก​จำนวน​ผู้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​แบบ​นี้​ก็​คือ​ปี 1889 ตอน​นั้น​มี​ผู้​เข้า​ร่วม 225 คน​และ​มี 22 คน​รับ​บัพติสมา

22 ทุก​วัน​นี้ เรา​ไม่​ได้​จัด​การ​ประชุม​อนุสรณ์​พร้อม​กับ​การ​ประชุม​ใหญ่​แล้ว แต่​เรา​ก็​เชิญ​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใน​เขต​หรือ​ใน​ชุมชน​ให้​มา​ร่วม​การ​ประชุม​อนุสรณ์​กับ​เรา​ได้​ที่​หอ​ประชุม หรือ​ใน​ห้อง​ประชุม​ที่​เช่า​เพื่อ​จัด​งาน​นี้ ใน​ปี 2013 มี​มาก​กว่า 19 ล้าน​คน​ร่วม​การ​ประชุม​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู เรา​รู้สึก​เป็น​เกียรติ​ที่​ได้​ร่วม​การ​ประชุม​อนุสรณ์​และ​เชิญ​คน​อื่น ๆ ให้​มา​ประชุม​กับ​เรา​ใน​คืน​ที่​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​สุด​ด้วย! คุณ​กระตือรือร้น​ที่​จะ​ชวน​คน​อื่น ๆ มา​ร่วม​การ​ประชุม​นี้​ให้​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​มาก​ได้​ไหม?

ความ​รู้สึก​ที่​เรา​มี​ต่อ​การ​ประชุม​เปิด​เผย​อะไร?

23. คุณ​คิด​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​การ​ไป​ประชุม​ร่วม​กัน?

23 ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​คิด​ว่า​คำ​สั่ง​ที่​ให้​ไป​ประชุม​ร่วม​กัน​เป็น​ภาระ (ฮีบรู 10:24, 25; 1 โย. 5:3) อย่าง​เช่น กษัตริย์​ดาวิด​มี​ความ​สุข​ที่​ได้​ไป​ยัง​สถาน​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา (เพลง. 27:4) เขา​ยัง​มี​ความ​สุข​มาก​เป็น​พิเศษ​ที่​ได้​นมัสการ​ร่วม​กับ​คน​ที่​รัก​พระเจ้า​เหมือน​กับ​เขา (เพลง. 35:18) และ​ขอ​ให้​คิด​ถึง​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ด้วย แม้​แต่​ตอน​เป็น​เด็ก ท่าน​ก็​อยาก​จะ​อยู่​ใน​สถาน​นมัสการ​พระเจ้า​ผู้​เป็น​พ่อ​ของ​ท่าน—ลูกา 2:41-49

ยิ่ง​เรา​อยาก​ไป​ประชุม​มาก​เท่า​ไร ก็​แสดง​ว่า​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​เป็น​จริง​สำหรับ​เรา​มาก​เท่า​นั้น

24. การ​ไป​ประชุม​เป็น​โอกาส​ที่​ดี​อย่าง​ไร?

24 เมื่อ​เรา​ไป​ประชุม นั่น​แสดง​ว่า​เรา​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​อยาก​หนุน​ใจ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ และ​ยัง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​อยาก​เรียน​รู้​วิธี​ที่​จะ​เป็น​ประชาชน​ที่​ดี​ของ​ราชอาณาจักร เพราะ​การ​ประชุม​ต่าง ๆ รวม​ถึง​การ​ประชุม​ใหญ่​เป็น​วิธี​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​ฝึก​สอน​อย่าง​นั้น การ​ประชุม​ยัง​ช่วย​ให้​เรา​มี​ทักษะ​และ​มี​กำลัง​พอ​ที่​จะ​ทำ​งาน​สำคัญ​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ราชอาณาจักร​ใน​ทุก​วัน​นี้​ได้​ต่อ ๆ ไป ซึ่ง​ก็​คือ​งาน​สอน​และ​ช่วย​คน​ให้​มา​เป็น​สาวก​ของ​กษัตริย์​เยซู​คริสต์ (อ่าน​มัดธาย 28:19, 20) แน่นอน​ว่า ยิ่ง​เรา​อยาก​ไป​ประชุม​มาก​เท่า​ไร ก็​แสดง​ว่า​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​เป็น​จริง​สำหรับ​เรา​มาก​เท่า​นั้น ขอ​ให้​เรา​มอง​ว่า​การ​ประชุม​ร่วม​กัน​มี​ค่า​มาก​เสมอ!

a นอก​จาก​จะ​มี​การ​ประชุม​ใน​ประชาคม​เป็น​ประจำ​ทุก​สัปดาห์​แล้ว ยัง​มี​การ​สนับสนุน​ให้​ทุก​คน​จัด​เวลา​ไว้​ต่าง​หาก​เพื่อ​นมัสการ​ประจำ​ครอบครัว​หรือ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ด้วย

b พอ​ถึง​ปี 2013 โครง​เรื่อง​คำ​บรรยาย​สาธารณะ​ที่​เตรียม​ไว้​สำหรับ​ผู้​บรรยาย​ก็​มี​มาก​กว่า 180 เรื่อง

c ยะซายา 54:13 ฉบับ​คิงเจมส์ อ่าน​ว่า “บุตร​ทั้ง​สิ้น​ของ​เจ้า​นั้น​จะ​เรียน​รู้​จาก​พระ​เยโฮวาห์ และ​บุตร​ของ​เจ้า​จะ​มี​ความ​ปลอด​ภัย​อย่าง​ยิ่ง”