ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำ​อธิบาย​เพิ่ม​เติม

คำ​อธิบาย​เพิ่ม​เติม
  1.  บาบิโลน​ใหญ่​คือ​อะไร?

  2.  เมสสิยาห์​จะ​มา​เมื่อไหร่?

  3.  วิธี​ทาง​การ​แพทย์​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เลือด

  4.  การ​แยก​กัน​อยู่

  5.  วัน​หยุด​และ​เทศกาล​ต่าง ๆ

  6.  โรค​ติด​ต่อ

  7.  การ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ทาง​ธุรกิจ​และ​กฎหมาย

 1. บาบิโลน​ใหญ่​คือ​อะไร?

เรา​รู้​ได้​ยัง​ไง​ว่า “บาบิโลน​ใหญ่” หมาย​ถึง​ทุก​ศาสนา​ที่​นำ​คน​ไป​ผิด​ทาง (วิวรณ์ 17:5) ให้​เรา​มา​ดู​เหตุ​ผล​ด้วย​กัน

  • บาบิโลน​ใหญ่​มี​อยู่​ทั่ว​โลก คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​บาบิโลน​ใหญ่​นั่ง​อยู่​บน ‘ประชาชน​และ​ประเทศ​ต่าง ๆ’ และ “มี​อำนาจ​ปกครอง​พวก​กษัตริย์​ของ​โลก”—วิวรณ์ 17:15, 18

  • บาบิโลน​ใหญ่​ไม่​ใช่​ระบบ​ทาง​การ​เมือง​หรือ​ระบบ​การ​ค้า เพราะ​ตอน​ที่​บาบิโลน​ใหญ่​ถูก​ทำลาย “กษัตริย์​ของ​โลก” และ “พวก​พ่อค้า” ก็​ไม่​ได้​ถูก​ทำลาย—วิวรณ์ 18:9, 15

  • บาบิโลน​ใหญ่​ทำ​ให้​พระเจ้า​เสื่อม​เสีย บาบิโลน​ใหญ่​ถูก​เรียก​ว่า​โสเภณี​เพราะ​เธอ​ร่วม​มือ​กับ​รัฐบาล​ต่าง ๆ เพื่อ​จะ​กอบโกย​ผล​ประโยชน์​และ​ทรัพย์​สิน​เงิน​ทอง (วิวรณ์ 17:1, 2) เธอ​หลอก​ลวง​ผู้​คน​จาก​ประเทศ​ต่าง ๆ และ​ทำ​ให้​คน​มาก​มาย​ต้อง​ตาย—วิวรณ์ 18:23, 24

กลับ​ไป​ที่​บท 13 ข้อ 6

 2. เมสสิยาห์​จะ​มา​เมื่อไหร่?

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​เมสสิยาห์​จะ​มา​ตอน​ที่​ช่วง​เวลา 69 สัปดาห์​สิ้น​สุด​ลง—อ่าน​ดาเนียล 9:25

  • ช่วง​เวลา 69 สัปดาห์​เริ่ม​ต้น​เมื่อไหร่? ช่วง​เวลา​นี้​เริ่ม​ใน​ปี 455 ก่อน ค.ศ. ตอน​ที่​เนหะมีย์​มา​ถึง​กรุง​เยรูซาเล็ม​เพื่อ “ฟื้นฟู​และ​สร้าง” กรุง​นี้​ขึ้น​ใหม่—ดาเนียล 9:25; เนหะมีย์ 2:1, 5-8

  • ช่วง​เวลา 69 สัปดาห์​นาน​แค่​ไหน? คำ​พยากรณ์​บาง​เรื่อง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​รู้​ว่า 1 วัน​อาจ​หมาย​ถึง 1 ปี (กันดารวิถี 14:34; เอเสเคียล 4:6) หนึ่ง​สัปดาห์​หรือ 7 วัน​หมาย​ถึง 7 ปี ดัง​นั้น 69 สัปดาห์​ใน​คำ​พยากรณ์​นี้​ก็​เลย​เท่า​กับ 483 ปี (69 คูณ 7)

  • ช่วง​เวลา 69 สัปดาห์​จบ​ลง​เมื่อไหร่? ถ้า​เริ่ม​นับ​จาก​ปี 455 ก่อน ค.ศ. ไป​อีก 483 ปี เรา​ก็​จะ​รู้​ว่า​ช่วง​เวลา​นี้​จบ​ลง​ใน​ปี ค.ศ. 29 a ซึ่ง​ปี​นั้น​เป็น​ปี​ที่​พระ​เยซู​รับ​บัพติศมา​และ​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​ให้​เป็น​เมสสิยาห์—ลูกา 3:1, 2, 21, 22

กลับ​ไป​ที่​บท 15 ข้อ 5

 3. วิธี​ทาง​การ​แพทย์​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เลือด

มี​วิธี​ทาง​การ​แพทย์​บาง​อย่าง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ใช้​เลือด​ของ​ผู้​ป่วย​เอง เช่น ให้​ผู้​ป่วย​บริจาค​เลือด​หรือ​เก็บ​เลือด​ของ​เขา​ไว้​ล่วง​หน้า​หลาย​สัปดาห์​ก่อน​การ​ผ่าตัด​เพื่อ​จะ​เอา​มา​ใช้​กับ​ตัว​เขา​เอง วิธี​แบบ​นี้​คริสเตียน​ไม่​สามารถ​รับ​ได้—เฉลย​ธรรมบัญญัติ 15:23

แต่​ก็​มี​วิธี​ทาง​การ​แพทย์​บาง​อย่าง​ที่​คริสเตียน​อาจ​รับ​ได้ เช่น การ​ตรวจ​เลือด (blood tests) การ​ฟอก​เลือด​ด้วย​เครื่อง​ไต​เทียม (hemodialysis) การ​ลด​ความ​เข้มข้น​ของ​เลือด (hemodilution) การ​ใช้​เครื่อง​เก็บ​รวบ​รวม​เลือด​ระหว่าง​ผ่าตัด​เพื่อ​ทำ​ความ​สะอาด​และ​นำ​กลับ​เข้า​สู่​ร่าง​กาย (cell-salvage) การ​ใช้​เครื่อง​หัวใจ​และ​ปอด​เทียม (heart-lung bypass machine) คริสเตียน​แต่​ละ​คน​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เอง​ว่า​จะ​ให้​ทำ​ยัง​ไง​กับ​เลือด​ของ​เขา​ใน​ขั้น​ตอน​การ​รักษา การ​ตรวจ​ทาง​การ​แพทย์ หรือ​การ​บำบัด​รักษา​ที่​ได้​รับ​อยู่ แพทย์​แต่​ละ​คน​อาจ​ใช้​วิธี​การ​รักษา​เหล่า​นี้​ต่าง​กัน​เล็ก​น้อย ดัง​นั้น ก่อน​จะ​ยอม​รับ​วิธี​ผ่าตัด การ​ตรวจ​ทาง​การ​แพทย์ หรือ​การ​รักษา​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง คริสเตียน​ต้อง​ตรวจ​สอบ​ให้​ดี​ว่า​จะ​มี​การ​ใช้​เลือด​ของ​ตัว​เอง​ยัง​ไง โดย​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้

  • ถ้า​เลือด​บาง​ส่วน​ของ​ฉัน​ไหล​ออก​จาก​ร่าง​กาย​ชั่ว​คราว​เพื่อ​เข้า​ไป​สู่​อุปกรณ์​บาง​อย่าง โดย​ขั้น​ตอน​เหล่า​นี้​อาจ​มี​การ​หยุด​เป็น​บาง​ช่วง จาก​นั้น​เลือด​ก็​จะ​ไหล​กลับ​เข้า​ร่าง​กาย​ของ​ฉัน​อีก​ครั้ง ถ้า​อย่าง​นั้น ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ของ​ฉัน​จะ​ถือ​ว่า​เลือด​นั้น​ยัง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ตัว​ฉัน​ไหม หรือ​ฉัน​ถือ​ว่า​ต้อง “เท​เลือด​ให้​ไหล​ลง​ดิน”?—เฉลย​ธรรมบัญญัติ 12:23, 24

  • ถ้า​มี​การ​นำ​เลือด​บาง​ส่วน​ของ​ฉัน​ออก​จาก​ร่าง​กาย​ไป​ดัด​แปลง​โดย​ผ่าน​ขั้น​ตอน​บาง​อย่าง​แล้ว​นำ​กลับ​เข้า​ร่าง​กาย​อีก​ครั้ง ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ของ​ฉัน​ที่​เป็น​ไป​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​ยอม​รับ​ได้​ไหม?

กลับ​ไป​ที่​บท 39 ข้อ 3

 4. การ​แยก​กัน​อยู่

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​สามี​ภรรยา​ไม่​ควร​แยก​กัน​อยู่​และ​บอก​ชัด​ว่า​การ​แยก​กัน​อยู่​ไม่​ได้​ทำ​ให้​แต่​ละ​ฝ่าย​มี​สิทธิ์​ที่​จะ​แต่งงาน​ใหม่ (1 โครินธ์ 7:10, 11) อาจ​มี​บาง​สถานการณ์​ที่​คริสเตียน​บาง​คน​ตัดสิน​ใจ​แยก​กัน​อยู่​กับ​คู่​ของ​เขา

  • ตั้งใจ​ไม่​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว สามี​ไม่​ยอม​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​จน​ถึง​ขั้น​ที่​คน​ใน​ครอบครัว​ไม่​มี​จะ​กิน—1 ทิโมธี 5:8

  • ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​หลาย​ครั้ง มี​การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​อีก​ฝ่าย​จน​บาดเจ็บ​หรือ​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ​และ​ชีวิต—กาลาเทีย 5:19-21

  • ขัด​ขวาง​ไม่​ยอม​ให้​อีก​ฝ่าย​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​เด็ดขาด สามี​หรือ​ภรรยา​ขัด​ขวาง​จน​ทำ​ให้​อีก​ฝ่าย​ไม่​สามารถ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​และ​ทำ​ตาม​กฎหมาย​ของ​พระองค์​ได้—กิจการ 5:29

กลับ​ไป​ที่​บท 42 ข้อ 3

 5. วัน​หยุด​และ​เทศกาล​ต่าง ๆ

คริสเตียน​ไม่​เข้า​ร่วม​เทศกาล​หรือ​การ​ฉลอง​ที่​พระเจ้า​ไม่​พอ​ใจ แต่​คริสเตียน​แต่​ละ​คน​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ด้วย​ตัว​เอง​โดย​ใช้​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ที่​ตรง​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ว่า​จะ​ทำ​ยัง​ไง​ใน​สถานการณ์​ต่าง ๆ ให้​เรา​มา​ดู​บาง​ตัว​อย่าง​ด้วย​กัน

  • ถ้า​มี​คน​ทักทาย​คุณ​ด้วย​คำ​พูด​ที่​นิยม​พูด​กัน​ใน​ช่วง​เทศกาล คุณ​อาจ​แค่​ตอบ​ไป​ว่า “ขอบคุณ” และ​ถ้า​เขา​อยาก​รู้​ว่า​ทำไม​คุณ​ถึง​ไม่​ฉลอง​เทศกาล​นั้น คุณ​ก็​อธิบาย​ให้​เขา​ฟัง​ได้

  • ถ้า​คู่​ของ​คุณ​ไม่​ใช่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​และ​เขา​ชวน​คุณ​ไป​กิน​ข้าว​กับ​ญาติ ๆ ใน​ช่วง​วัน​หยุด​เทศกาล ถ้า​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ของ​คุณ​ยอม​ให้​ไป คุณ​อาจ​บอก​กับ​คู่​ของ​คุณ​ล่วง​หน้า​ว่า ถ้า​ใน​งาน​นั้น​มี​การ​ทำ​บาง​อย่าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ไม่​พอ​ใจ คุณ​ก็​จะ​ไม่​มี​ส่วน​ร่วม​ทำ​สิ่ง​นั้น​ด้วย

  • ถ้า​นาย​จ้าง​อยาก​ให้​โบนัส​คุณ​ใน​ช่วง​เทศกาล คุณ​ควร​ทำ​ยัง​ไง? คุณ​จะ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​รับ​หรือ​ไม่​รับ อาจ​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​นาย​จ้าง​ให้​โบนัส​ด้วย​เจตนา​อะไร นาย​จ้าง​ถือ​ว่า​โบนัส​นั้น​เป็น​ของ​ขวัญ​สำหรับ​เทศกาล​นั้น​ไหม? หรือ​เขา​แค่​อยาก​จะ​ให้​โบนัส​เพราะ​คุณ​ทำ​งาน​ได้​ดี?

  • ถ้า​มี​คน​ให้​ของ​ขวัญ​คุณ​ใน​ช่วง​เทศกาล เขา​อาจ​บอก​ว่า “ฉัน​รู้​ว่า​คุณ​ไม่​ฉลอง​เทศกาล แต่​ฉัน​ก็​อยาก​ให้​ของ​ขวัญ​นี้​กับ​คุณ​นะ” อาจ​เป็น​ได้​ว่า​คน​ที่​ให้​ของ​ขวัญ​แค่​อยาก​แสดง​น้ำใจ​กับ​คุณ แต่​คุณ​ต้อง​คิด​ให้​ดี​ว่า จริง ๆ แล้ว เขา​อยาก​ทดสอบ​ความ​เชื่อ​ของ​คุณ​ไหม? เขา​กำลัง​พยายาม​ชักชวน​ให้​คุณ​ร่วม​ฉลอง​เทศกาล​หรือ​เปล่า? เมื่อ​คิด​อย่าง​รอบคอบ​แล้ว คุณ​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​จะ​รับ​ของ​ขวัญ​นั้น​หรือ​ไม่ เรา​ไม่​อยาก​ให้​การ​ตัดสิน​ใจ​รบกวน​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ของ​เรา และ​เรา​อยาก​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระ​ยะโฮวา—กิจการ 23:1

กลับ​ไป​ที่​บท 44 ข้อ 1

 6. โรค​ติด​ต่อ

ถ้า​เรา​รู้​ตัว​ว่า​เรา​เป็น​โรค​ติด​ต่อ​หรือ​แค่​สงสัย​ว่า​เรา​อาจ​จะ​เป็น เรา​ต้อง​ระวัง​เป็น​พิเศษ เรา​รัก​คน​อื่น​เรา​เลย​ไม่​อยาก​ให้​คน​อื่น​ติด​โรค​จาก​เรา เรา​ทำ​แบบ​นี้​ก็​เพราะ​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “ให้​รัก​คน​อื่น​เหมือน​รัก​ตัว​เอง”—โรม 13:8-10

คน​ที่​เป็น​โรค​ติด​ต่อ​จะ​ทำ​ตาม​ข้อ​คัมภีร์​นี้​ได้​ยัง​ไง? เขา​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​สัมผัส​ผู้​อื่น​โดย​การ​จับ​มือ โอบ​กอด หรือ​จูบ เขา​ไม่​ควร​รู้สึก​ไม่​ดี​ถ้า​บาง​คน​ไม่​ชวน​เขา​ไป​บ้าน​เพราะ​อยาก​จะ​ป้องกัน​ไม่​ให้​คน​ใน​บ้าน​ติด​เชื้อ และ​ถ้า​คน​ที่​เป็น​โรค​ติด​ต่อ​อยาก​จะ​รับ​บัพติศมา​เขา​ควร​บอก​กับ​ผู้​ประสาน​งาน​คณะ​ผู้​ดู​แล​ล่วง​หน้า​ว่า​เขา​เป็น​โรค​ติด​ต่อ เพื่อ​จะ​หา​วิธี​ป้องกัน​ไม่​ให้​ผู้​รับ​บัพติศมา​คน​อื่น​ติด​โรค​จาก​เขา นอก​จาก​นั้น ก่อน​ที่​จะ​เริ่ม​คบหา​เป็น​แฟน​กับ​ใคร​สัก​คน คน​ที่​คิด​ว่า​ตัว​เอง​อาจ​เป็น​โรค​ติด​ต่อ​ควร​เต็ม​ใจ​ไป​ตรวจ​เลือด การ​ทำ​อย่าง​นี้​แสดง​ว่า​เขา​ห่วงใย​คน​อื่น และ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​บอก​ว่า “อย่า​เห็น​แก่​ประโยชน์​ส่วน​ตัว​เท่า​นั้น ให้​เห็น​แก่​ประโยชน์​ของ​คน​อื่น​ด้วย”—ฟีลิปปี 2:4

กลับ​ไป​ที่​บท 56 ข้อ 2

 7. การ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ทาง​ธุรกิจ​และ​กฎหมาย

เรา​จะ​ป้องกัน​ไม่​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​ใน​เรื่อง​ธุรกิจ​และ​เรื่อง​เงิน​ได้​โดย​การ​ทำ​สัญญา​ทุก​อย่าง​เป็น​ลายลักษณ์​อักษร เรา​ควร​ทำ​แบบ​นี้​เสมอ​แม้​จะ​เป็น​พี่​น้อง​คริสเตียน​ด้วย​กัน​ก็​ตาม (เยเรมีย์ 32:9-12) บาง​ครั้ง​คริสเตียน​อาจ​มี​ปัญหา​กัน​บ้าง​ใน​เรื่อง​เงิน​หรือ​เรื่อง​อื่น ๆ แต่​พวก​เขา​ควร​จะ​จัด​การ​กับ​ปัญหา​นั้น​ให้​เร็ว​ที่​สุด​โดย​คุย​กัน​เป็น​ส่วน​ตัว​และ​แก้​ปัญหา​อย่าง​สันติ

แต่​จะ​ทำ​ยัง​ไง​ถ้า​เกิด​ปัญหา​ร้ายแรง? เช่น การ​ฉ้อ​โกง​หรือ​การ​ใส่​ร้าย​ให้​เสื่อม​เสีย​ชื่อเสียง (อ่าน​มัทธิว 18:15-17) พระ​เยซู​บอก 3 ขั้น​ตอน​ที่​เรา​ต้อง​ทำ

  1. พยายาม​ไป​คุย​กับ​เขา​เป็น​ส่วน​ตัว​ก่อน—ดู​ข้อ 15

  2. ถ้า​ยัง​แก้​ปัญหา​ไม่​ได้ ให้​พา​อีก​หนึ่ง​หรือ​สอง​คน​ไป​ด้วย คน​ที่​พา​ไป​ควร​เป็น​พี่​น้อง​คริสเตียน​ใน​ประชาคม​ที่​มี​ความ​เป็น​ผู้​ใหญ่—ดู​ข้อ 16

  3. ถ้า​ปัญหา​ยัง​ไม่​จบ ให้​บอก​กับ​ผู้​ดู​แล​ใน​ประชาคม—ดู​ข้อ 17

ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เรา​ไม่​ควร​ฟ้องร้อง​พี่​น้อง​และ​ไม่​ควร​สู้​คดี​กัน​ใน​ศาล เพราะ​การ​ทำ​แบบ​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​และ​ประชาคม​เสีย​ชื่อเสียง (1 โครินธ์ 6:1-8) แต่​ก็​อาจ​มี​บาง​เรื่อง​ที่​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​ดำเนิน​การ​ทาง​กฎหมาย เช่น การ​หย่าร้าง สิทธิ์​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​ลูก การ​ขอ​รับ​ค่า​เลี้ยง​ดู การ​ขอ​รับ​เงิน​ประกัน การ​ฟ้อง​ล้ม​ละลาย หรือ​พินัยกรรม แต่​คริสเตียน​ก็​ควร​จัด​การ​เรื่อง​ต่าง ๆ อย่าง​สันติ​และ​ไม่​ขัด​แย้ง​กับ​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

แต่​ถ้า​มี​อาชญากรรม​ร้ายแรง​เกิด​ขึ้น เช่น การ​ข่มขืน การ​ทำ​ร้าย​เด็ก​ทาง​เพศ การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย การ​โจรกรรม หรือ​การ​ฆาตกรรม คริสเตียน​สามารถ​แจ้ง​ความ​ต่อ​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง​ได้ การ​แจ้ง​ความ​ใน​กรณี​แบบ​นี้​ไม่​ขัด​แย้ง​กับ​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

กลับ​ไป​ที่​บท 56 ข้อ 3

a ตั้ง​แต่​ปี 455 ก่อน ค.ศ ถึง​ปี 1 ก่อน ค.ศ เป็น​เวลา 454 ปี ตั้ง​แต่​ปี 1 ก่อน ค.ศ. ถึง​ปี ค.ศ. 1 เป็น​เวลา 1 ปี (ไม่​มี​ปี ค.ศ. 0) และ​ตั้ง​แต่​ปี ค.ศ. 1 ถึง​ปี ค.ศ. 29 เป็น​เวลา 28 ปี เมื่อ​เอา​เวลา​ทั้ง​หมด​มา​รวม​กัน​จะ​เท่า​กับ 483 ปี