ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พวกฮัสโมเนียนและมรดกของเขา

พวกฮัสโมเนียนและมรดกของเขา

พวก​ฮัสโมเนียน​และ​มรดก​ของ​เขา

ตอน​พระ​เยซู​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก ลัทธิ​ยูดาย​แตก​เป็น​กลุ่ม​เล็ก​กลุ่ม​น้อย​ซึ่ง​ล้วน​แต่​แข่ง​กัน​สร้าง​อิทธิพล​เหนือ​ประชาชน. นั่น​คือ​สภาพการณ์​ที่​มี​บอก​ไว้​ใน​บันทึก​กิตติคุณ​และ​ใน​หนังสือ​ของ​โยเซฟุส นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ยิว​แห่ง​ศตวรรษ​แรก.

พวก​ฟาริซาย​กับ​พวก​ซาดูกาย​ปรากฏ​ใน​ฉาก​เหตุ​การณ์​นี้​ใน​ฐานะ​ผู้​ทรง​อิทธิพล สามารถ​ครอบ​งำ​ความ​คิด​ประชาชน​จน​ถึง​ขนาด​ที่​ไม่​ยอม​รับ​พระ​เยซู​ว่า​เป็น​พระ​มาซีฮา. (มัดธาย 15:1, 2; 16:1; โยฮัน 11:47, 48; 12:42, 43) แต่​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ไม่​มี​กล่าว​ถึง​กลุ่ม​อิทธิพล​สอง​กลุ่ม​นี้​เลย.

โยเซฟุส​กล่าว​ถึง​พวก​ซาดูกาย​กับ​พวก​ฟาริซาย​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ฉาก​เหตุ​การณ์​สมัย​ศตวรรษ​ที่​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช. ใน​ช่วง​นั้น​ชาว​ยิว​มาก​มาย​ถูก​โน้ม​น้าว​ไป​ตาม​แรง​จูง​ใจ​ของ​คติ​นิยม​กรีก ซึ่ง​ก็​คือ​วัฒนธรรม​และ​ปรัชญา​กรีก. ความ​ตึงเครียด​ระหว่าง​คติ​นิยม​กรีก​กับ​ลัทธิ​ยูดาย​ถึง​ขีด​สุด​เมื่อ​ผู้​ปกครอง​จาก​ราชวงศ์​เซเลอคิด​ได้​ทำ​ให้​พระ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​เป็น​มลทิน​โดย​อุทิศ​แก่​พระ​ซูส. ยูดาห์ แมกคาบี ผู้​นำ​ที่​เข้มแข็ง​คน​หนึ่ง​ของ​ชาว​ยิว จาก​ตระกูล​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​ฮัสโมเนียน ได้​นำ​กองทัพ​กบฏ​ซึ่ง​ทำ​ให้​พระ​วิหาร​หลุด​พ้น​จาก​เงื้อม​มือ​ชาว​กรีก. *

ช่วง​หลาย​ปี​ต่อ​จาก​การ​กบฏ​และ​ชัย​ชนะ​ของ​พวก​แมกคาบี​เป็น​ช่วง​ที่​มี​ลักษณะ​เด่น​ด้าน​แนว​โน้ม​ใน​การ​ตั้ง​นิกาย​ต่าง ๆ ซึ่ง​แข่ง​กัน​ด้าน​คติ​นิยม แต่​ละ​นิกาย​แข่งขัน​กับ​นิกาย​อื่น ๆ เพื่อ​จะ​ได้​ผู้​เลื่อมใส​ใน​ชุมชน​ชาว​ยิว​มาก​กว่า. แต่​แนว​โน้ม​นี้​เกิด​ขึ้น​เพราะ​เหตุ​ใด? ทำไม​ลัทธิ​ยูดาย​จึง​แตก​แยก​อย่าง​นั้น? ให้​เรา​ตรวจ​ดู​ประวัติศาสตร์​ของ​พวก​ฮัสโมเนียน​เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ.

อิสรภาพ​มาก​ขึ้น​และ​ความ​แตก​แยก​เพิ่ม​ขึ้น

หลัง​จาก​บรรลุ​จุด​มุ่ง​หมาย​ด้าน​ศาสนา​ด้วย​การ​ฟื้นฟู​การ​นมัสการ​ขึ้น ณ พระ​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา ยูดาห์ แมกคาบี ก็​หัน​ไป​มุ่ง​ด้าน​การ​เมือง. ผล​ก็​คือ ชาว​ยิว​จำนวน​มาก​เลิก​ติด​ตาม​เขา. ถึง​กระนั้น เขา​ก็​ยัง​ต่อ​สู้​กับ​ผู้​ปกครอง​จาก​ราชวงศ์​เซเลอคิด​ต่อ​ไป, ทำ​สนธิสัญญา​กับ​โรม, และ​พยายาม​ก่อ​ตั้ง​รัฐ​อิสระ​ของ​ชาว​ยิว. หลัง​จาก​ยูดาห์​ตาย​ใน​การ​รบ โจนาทาน​น้อง​ชาย​กับ​ไซมอน​พี่​ชาย​ของ​เขา​ต่อ​สู้​ต่อ​ไป. ใน​ตอน​แรก​พวก​ผู้​ปกครอง​จาก​ราชวงศ์​เซเลอคิด​ต่อ​ต้าน​พวก​แมกคาบี​อย่าง​แข็งขัน. แต่​ต่อ​มา ผู้​ปกครอง​เหล่า​นั้น​ก็​ตก​ลง​ประนีประนอม​ทาง​การ​เมือง โดย​ให้​พี่​น้อง​ตระกูล​ฮัสโมเนียน​มี​อิสระ​ใน​การ​ปกครอง​ตน​เอง​ใน​ระดับ​หนึ่ง.

ถึง​แม้​เป็น​เชื้อ​สาย​ปุโรหิต แต่​ไม่​มี​ใคร​ใน​ตระกูล​ฮัสโมเนียน​เคย​ทำ​หน้า​ที่​ใน​ตำแหน่ง​มหา​ปุโรหิต. ชาว​ยิว​หลาย​คน​คิด​ว่า​ผู้​ที่​จะ​ดำรง​ตำแหน่ง​นี้​ควร​เป็น​ปุโรหิต​ที่​มา​จาก​เชื้อ​สาย​ของ​ซาโดค​ซึ่ง​โซโลมอน​ได้​แต่ง​ตั้ง​เป็น​มหา​ปุโรหิต. (1 กษัตริย์ 2:35; ยะเอศเคล 43:19) โจนาทาน​ใช้​สงคราม​และ​การ​ทูต​ชักจูง​พวก​เซเลอคิด​ให้​แต่ง​ตั้ง​เขา​เป็น​มหา​ปุโรหิต. แต่​หลัง​จากโจนาทาน​สิ้น​ชีวิต ไซมอน​พี่​ชาย​เขา​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ยิ่ง​กว่า​เขา​เสีย​อีก. ใน​เดือน​กันยายน​ปี 140 ก่อน ส.ศ. มี​ราชโองการ​สำคัญ​ฉบับ​หนึ่ง​ออก​มา​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม จารึก​บน​แผ่น​ทอง​สัมฤทธิ์​ตาม​แบบ​กรีก ความ​ว่า “กษัตริย์​เดเมตริอุส [ผู้​ปกครอง​ใน​ราชวงศ์​เซเลอคิด​ของ​ชาว​กรีก] แต่ง​ตั้ง​ท่าน [ไซมอน] ให้​ดำรง​ตำแหน่ง​มหา​ปุโรหิต, ให้​ท่าน​เป็น​มิตร​ผู้​หนึ่ง​ของ​กษัตริย์, และ​ให้​เกียรติยศ​อัน​สูง​ส่ง​แก่​ท่าน. . . . ชาว​ยิว​กับ​พวก​ปุโรหิต​ของ​ตน​ได้​มี​มติ​ว่า ไซมอน​ควร​เป็น​ผู้​นำ​และ​มหา​ปุโรหิต​ของ​เขา​ตลอด​ไป จน​กว่า​ผู้​พยากรณ์​ที่​คู่​ควร​จะ​มา.”— 1 แมกคาบี 14:38-41 (หนังสือ​ประวัติศาสตร์​พบ​ใน​อธิกธรรม).

ดัง​นั้น ตำแหน่ง​ของ​ไซมอน​ใน​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​และ​มหา​ปุโรหิต—สำหรับ​เขา​และ​ผู้​สืบ​ตระกูล—จึง​ได้​รับ​ความ​เห็น​ชอบ​ไม่​เพียง​จาก​เซเลอคิด​ผู้​ทรง​อำนาจ​ของ​ต่าง​ประเทศ​เท่า​นั้น แต่​จาก “ที่​ประชุม​ใหญ่” แห่ง​ประชาชน​ของ​เขา​เอง​ด้วย. นี่​เป็น​ช่วง​หัวเลี้ยว​หัวต่อ. ดัง​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​เอมีล ชือเรอร์​เขียน​ไว้ เมื่อ​พวก​ฮัสโมเนียน​ตั้ง​ราชวงศ์​ทาง​การ​เมือง​ขึ้น​มา “จุด​รวม​ความ​สนใจ​ของ​พวก​เขา​ไม่​ได้​อยู่​ที่​ความ​สำเร็จ​ของ​โทราห์ [พระ​บัญญัติ​ของ​ชาว​ยิว] อีก​ต่อ​ไป แต่​อยู่​ที่​การ​รักษา​และ​การ​แผ่​อำนาจ​ทาง​การ​เมือง.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ด้วย​ความ​ระมัดระวัง​ที่​จะ​ไม่​ทำ​ให้​ระคาย​ความ​รู้สึก​ของ​ชาว​ยิว ไซมอน​จึง​ใช้​ชื่อ​ตำแหน่ง​ว่า “ผู้​นำ​ประชาชน” แทน​ที่​จะ​ใช้​ว่า “กษัตริย์.”

ไม่​ใช่​ทุก​คน​เห็น​ดี​ด้วย​กับ​การ​ที่​คน​ใน​ตระกูล​ฮัสโมเนียน​ยึด​เอา​อำนาจ​ทั้ง​ทาง​ศาสนา​และ​ทาง​การ​เมือง​โดย​มิ​ชอบ. ตาม​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​หลาย​คน​กล่าว ใน​ช่วง​นี้​เอง​ที่​มี​การ​ตั้ง​ชุมชน​คุมราน​ขึ้น. ปุโรหิต​คน​หนึ่ง​ใน​เชื้อ​สาย​ของ​ซาโดค​ซึ่ง​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ผู้​ซึ่ง​มี​กล่าว​ถึง​ใน​ข้อ​ความ​ที่​พบ​ที่​คุมราน​ว่า​เป็น “ผู้​สอน​ความ​ชอบธรรม” ได้​ออก​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​และ​นำ​กลุ่ม​ต่อ​ต้าน​เข้า​ไป​ใน​ทะเล​ทราย​ยูเดีย​ใกล้​กับ​ทะเล​เดดซี. ม้วน​หนังสือ​ทะเล​ตาย​ม้วน​หนึ่ง​ซึ่ง​อธิบาย​พระ​ธรรม​ฮะบาฆูค​มี​คำ​กล่าว​โทษ​ว่า “ปุโรหิต​ผู้​ชั่ว​ช้า​ซึ่ง​ถูก​เรียก​ด้วย​นาม​แห่ง​ความ​จริง​ใน​ตอน​ต้น แต่​พอ​เขา​ปกครอง​เหนือ​อิสราเอล​แล้ว หัวใจ​เขา​ก็​เกิด​หยิ่ง​ยโส.” ผู้​คง​แก่​เรียน​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า ทั้ง​โจนาทาน​และ​ไซมอน​ต่าง​ก็​เหมาะ​กับ​คำ​พรรณนา​ของ​ม้วน​หนังสือ​ตอน​นั้น​เกี่ยว​กับ “ปุโรหิต​ผู้​ชั่ว​ช้า” ที่​ปกครอง​อยู่.

ไซมอน​ดำเนิน​การ​ทาง​ทหาร​ต่อ​ไป​เพื่อ​แผ่​อาณา​เขต​ใน​การ​ปกครอง​ของ​เขา. แต่​การ​ปกครอง​ของ​เขา​ชะงัก​ลง​อย่าง​กะทันหัน​เมื่อ​ปโตเลมี​บุตร​เขย​ของ​เขา​ลอบ​สังหาร​เขา​พร้อม​กับ​บุตร​ชาย​สอง​คน​ขณะ​กิน​เลี้ยง​อยู่​ใกล้​เมือง​เยริโค. ความ​พยายาม​คราว​นี้​ของ​ปโตเลมี​เพื่อ​ให้​ได้​มา​ซึ่ง​อำนาจ​ก็​ล้มเหลว. จอห์น ฮีร์คานุส บุตร​ชาย​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่​ของ​ไซมอน ได้​รับ​การ​เตือน​เรื่อง​ที่​มี​การ​พยายาม​ฆ่า​เขา. จอห์น​จึง​จับ​ตัว​เหล่า​ผู้​ซึ่ง​อาจ​ลอบ​ฆ่า​เขา​และ​ขึ้น​ดำรง​ตำแหน่ง​ผู้​นำ​และ​ตำแหน่ง​มหา​ปุโรหิต​แทน​บิดา.

การ​แผ่​อำนาจ​และ​การ​กดขี่

ใน​ตอน​แรก จอห์น ฮีร์คานุส​เผชิญ​การ​คุกคาม​อย่าง​หนัก​จาก​กอง​กำลัง​ซีเรีย แต่​แล้ว​ใน​ปี 129 ก่อน ส.ศ. ราชวงศ์​เซเลอคิด​ก็​พ่าย​การ​รบ​ครั้ง​สำคัญ​กับ​พวก​ปาร์เทีย. เมนาเฮม สเติร์น นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ยิว​เขียน​เกี่ยว​กับ​ผล​กระทบ​ที่​สงคราม​ครั้ง​นั้น​มี​ต่อ​ราชวงศ์​เซเลอคิด​ดัง​นี้: “โครง​สร้าง​ทั้ง​มวล​ของ​อาณาจักร​นี้​พัง​ทลาย​แทบ​ไม่​เหลือ.” ด้วย​เหตุ​นั้น ฮีร์คานุส​จึง “สามารถ​ได้​เอกราช​ด้าน​การ​เมือง​ของ​ยูเดีย​คืน​มา​อย่าง​ครบ​ถ้วน​และ​เริ่ม​ขยาย​อาณาจักร​ออก​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ต่าง ๆ.” และ​เขา​ก็​ได้​ขยาย​อาณาจักร​จริง ๆ.

เมื่อ​ไม่​มี​อุปสรรค​เนื่อง​ด้วย​การ​คุกคาม​ใด ๆ จาก​ซีเรีย ฮีร์คานุส​จึง​เริ่ม​รุกราน​ดินแดน​ภาย​นอก​ยูเดีย ทำ​ให้​ดินแดน​เหล่า​นั้น​มา​อยู่​ใต้​อำนาจ. ราษฎร​ใน​ดินแดน​เหล่า​นั้น​จำ​ต้อง​เปลี่ยน​ศาสนา​มา​เข้า​ลัทธิ​ยูดาย มิ​ฉะนั้น​เมือง​ของ​พวก​เขา​จะ​ถูก​ทำลาย​จน​ย่อยยับ. การ​รณรงค์​นั้น​ครั้ง​หนึ่ง​มี​ต่อ​ชาว​อิดูเมีย (เอโดม). สเติร์น​กล่าว​ถึง​การ​รณรงค์​ครั้ง​นั้น​ว่า “การ​เปลี่ยน​ศาสนา​ของ​ชาว​อิดูเมีย​เป็น​การ​เปลี่ยน​ครั้ง​สำคัญ​ยิ่ง ราว​กับ​เป็น​การ​เปลี่ยน​ทั้ง​ชาติ​พันธุ์​แทน​ที่​จะ​เป็น​ไม่​กี่​คน.” ซะมาเรีย​เป็น​หนึ่ง​ใน​ดินแดน​ต่าง ๆ ที่​ถูก​พิชิต​ซึ่ง​ฮีร์คานุส​ได้​ทำลาย​วิหาร​ของ​ชาว​ซะมาเรีย​ที่​ตั้ง​อยู่​บน​ภูเขา​เก​ริ​ซิม​จน​ย่อยยับ. เมื่อ​กล่าว​ถึง​ความ​น่า​สมเพช​ของ​นโยบาย​บังคับ​ให้​เปลี่ยน​ศาสนา​โดย​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน นัก​ประวัติศาสตร์​โซโลมอน เกรย์​เซล เขียน​ว่า “นี่​คือ​หลาน​ของ​มัตตาเทียส [บิดา​ของ​ยูดาห์ แมกคาบี] ซึ่ง​ฝ่าฝืน​หลักการ​นั้น—คือ​หลัก​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา—ซึ่ง​คน​รุ่น​ก่อน​ได้​ปก​ป้อง​ไว้​อย่าง​สูง​ส่ง.”

พวก​ฟาริซาย​และ พวก​ซาดูกาย​ปรากฏ​ตัว

ใน​ตอน​ที่​เขียน​เกี่ยว​กับ​รัชกาล​ของ​ฮีร์คานุส โยเซฟุส​กล่าว​ถึง​อิทธิพล​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​ของ​พวก​ฟาริซาย​กับ​พวก​ซาดูกาย​เป็น​ครั้ง​แรก. (โยเซฟุส​เคย​กล่าว​ถึง​พวก​ฟาริซาย​ซึ่ง​มี​อยู่​ใน​รัชกาล​ของ​โจนาทาน​มา​แล้ว.) เขา​ไม่​เล่า​เรื่อง​ความ​เป็น​มา​ของ​พวก​นี้. นัก​ประวัติศาสตร์​บาง​คน​มอง​ว่า​พวก​ฟาริซาย​เป็น​กลุ่ม​ที่​ออก​มา​จาก​พวก​ฮาซิดิม คือ​นิกาย​ศาสนา​ที่​สนับสนุน​ยูดาห์ แมกคาบี​ใน​ด้าน​จุด​มุ่ง​หมาย​ทาง​ศาสนา แต่​ละ​ทิ้ง​เขา​ไป​เมื่อ​เขา​หัน​ไป​ทะเยอทะยาน​ทาง​การ​เมือง.

โดย​ทั่ว​ไป​ถือ​กัน​ว่า​ชื่อ​ฟาริซาย​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มี​ความหมาย​ดั้งเดิม​ว่า “พวก​ที่​แยก​ต่าง​หาก” แม้​ว่า​บาง​คน​คิด​ว่า​คำ​นี้​เกี่ยว​พัน​กับ​คำ​ที่​หมาย​ถึง “ผู้​ตี​ความ.” พวก​ฟาริซาย​คือ​พวก​ผู้​คง​แก่​เรียน​จาก​เหล่า​สามัญ​ชน​ซึ่ง​ไม่​ได้​มี​เชื้อ​สาย​มา​จาก​บุคคล​พิเศษ​ใด ๆ. พวก​เขา​แยก​ตัว​ออก​มา​จาก​พิธี​ทาง​ศาสนา​ที่​ไม่​บริสุทธิ์​โดย​ยึด​หลัก​ปรัชญา​ที่​ให้​ถือ​เคร่ง​เป็น​พิเศษ ด้วย​การ​นำ​พระ​บัญญัติ​เกี่ยว​กับ​พระ​วิหาร​ใน​เรื่อง​ความ​บริสุทธิ์​ของ​คณะ​ปุโรหิต​มา​ใช้​กับ​สภาพการณ์​ธรรมดา​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน. พวก​ฟาริซาย​สร้าง​แบบ​แผน​ใหม่​ใน​การ​ตี​ความ​พระ​คัมภีร์​และ​สร้าง​แนว​คิด​ใหม่​ซึ่ง​ต่อ​มา​รู้​จัก​กัน​ว่า​กฎหมาย​สืบ​ปาก. ระหว่าง​รัชกาล​ของ​ไซมอน พวก​เขา​มี​อิทธิพล​มาก​ขึ้น​เมื่อ​บาง​คน​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เข้า​สู่​เยโรเซีย (สภา​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่) ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า ซันเฮดริน.

โยเซฟุส​เล่า​ว่า ที​แรก​จอห์น ฮีร์คานุส​เป็น​ศิษย์​และ​ผู้​สนับสนุน​ของ​พวก​ฟาริซาย. แต่​มา​วัน​หนึ่ง พวก​ฟาริซาย​ว่า​กล่าว​เขา​ที่​ไม่​ยอม​ออก​จาก​ตำแหน่ง​มหา​ปุโรหิต. เรื่อง​นี้​นำ​ไป​สู่​การ​แตก​แยก​อัน​น่า​ตื่น​ตระหนก. ฮีร์คานุส​ประกาศ​ให้​พิธี​ทาง​ศาสนา​ของ​พวก​ฟาริซาย​เป็น​สิ่ง​ผิด​กฎหมาย. เพื่อ​เป็น​การ​เพิ่ม​โทษ เขา​ไป​เข้า​กับ​ฝ่าย​ปรปักษ์​ทาง​ศาสนา​ของ​พวก​ฟาริซาย คือ​พวก​ซาดูกาย.

ชื่อ​ซาดูกาย​ดู​เหมือน​เกี่ยว​พัน​กับ​มหา​ปุโรหิต​ซาโดค ซึ่ง​บุตร​หลาน​ของ​เขา​ได้​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ปุโรหิต​มา​ตั้ง​แต่​สมัย​โซโลมอน. แต่​ไม่​ใช่​พวก​ซาดูกาย​ทั้ง​หมด​เป็น​คน​ใน​ตระกูล​นี้. ตาม​ที่​โยเซฟุส​กล่าว พวก​ซาดูกาย​เป็น​คน​ตระกูล​สูง​และ​คน​ร่ำรวย​ใน​ชาติ และ​พวก​นี้​ไม่​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​มวลชน. ศาสตราจารย์​ชิฟฟ์มัน​ให้​ความ​เห็น​ดัง​นี้: “ดู​เหมือน​พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ปุโรหิต​หรือ​ไม่​ก็​เป็น​ผู้​ที่​ได้​แต่งงาน​กับ​คน​ใน​ตระกูล​มหา​ปุโรหิต​ด้วย​กัน.” พวก​เขา​จึง​เกี่ยว​พัน​ใกล้​ชิด​กับ​ผู้​มี​อำนาจ​เหล่า​นั้น​มา​นาน. ฉะนั้น จึง​ถือ​กัน​ว่า​การ​ที่​พวก​ฟาริซาย​มี​บทบาท​มาก​ขึ้น​ใน​ชีวิต​ของ​สาธารณชน​และ​การ​ที่​แนว​คิด​ของ​พวก​ฟาริซาย​ใน​การ​แผ่​ขยาย​เรื่อง​ความ​บริสุทธิ์​แบบ​ปุโรหิต​ไป​สู่​ทุก​คน​นั้น​เป็น​สิ่ง​คุกคาม​ซึ่ง​อาจ​บั่น​ทอน​อำนาจ​ของ​พวก​ซาดูกาย. ดัง​นั้น ใน​ช่วง​ท้าย ๆ รัชกาล​ของ​ฮีร์คานุส พวก​ซาดูกาย​จึง​ได้​อำนาจ​คืน​มา​อีก​ครั้ง.

มุ่ง​การ​เมือง​มาก​ขึ้น ฝักใฝ่​ศาสนา​น้อย​ลง

อะริสโตบิวลุส บุตร​ชาย​คน​โต​ของ​ฮีร์คานุส ครอง​ราชย์​เพียง​ปี​เดียว​ก็​สิ้น​ชีพ. เขา​ดำเนิน​นโยบาย​บังคับ​ให้​เปลี่ยน​ศาสนา​ต่อ​ไป​กับ​ชาว​อิตูเรีย​และ​ยึด​แกลิลี​ตอน​บน​มา​อยู่​ใต้​อำนาจ​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน. แต่​กลับ​เป็น​ใน​รัชกาล​ของ​อะเล็กซานเดอร์ ยานเนอุส น้อง​ชาย​เขา​ซึ่ง​ปกครอง​ตั้ง​แต่​ปี 103-76 ก่อน ส.ศ. ที่​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน​บรรลุ​อำนาจ​สูง​สุด.

อะเล็กซานเดอร์ ยานเนอุส​ปฏิเสธ​นโยบาย​เดิม​และ​ประกาศ​ตัว​เป็น​ทั้ง​มหา​ปุโรหิต​และ​กษัตริย์​อย่าง​เปิด​เผย. ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​พวก​ฮัสโมเนียน​กับ​พวก​ฟาริซาย​รุนแรง​ขึ้น ถึง​ขนาด​ทำ​ให้​เกิด​สงคราม​กลาง​เมือง​ขึ้น​ซึ่ง​มี​ชาว​ยิว 50,000 คน​เสีย​ชีวิต. หลัง​จาก​ปราบ​กบฏ ยานเนอุส​สั่ง​ให้​ตรึง​พวก​กบฏ 800 คน​บน​หลัก ซึ่ง​เป็น​การ​กระทำ​ที่​ทำ​ให้​นึก​ถึง​กษัตริย์​นอก​รีต. ตอน​ที่​พวก​กบฏ​ใกล้​ตาย ภรรยา​และ​ลูก ๆ ของ​พวก​เขา​ถูก​สังหาร​ต่อ​หน้า​ต่อ​ตา ขณะ​ที่​ยานเนอุส​กิน​เลี้ยง​อย่าง​เปิด​เผย​กับ​เหล่า​นาง​ห้าม. *

ถึง​แม้​เป็น​ปฏิปักษ์​กับ​พวก​ฟาริซาย แต่​ยานเนอุส​ก็​เป็น​นัก​การ​เมือง​ที่​ยอม​รับ​ความ​เป็น​จริง. เขา​เห็น​ว่า​พวก​ฟาริซาย​ได้​รับ​การ​หนุน​หลัง​จาก​เหล่า​ผู้​นิยม​ชม​ชอบ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. คำ​แนะ​นำ​ก่อน​สิ้น​ชีพ​ที่​เขา​ให้​แก่​ซาโลเม อะเล็กซานดรา ภรรยา​ของ​เขา​คือ ให้​ครอง​อำนาจ​ร่วม​กับ​พวก​ฟาริซาย. ยานเนอุส​เลือก​นาง​เป็น​ผู้​ครอง​ราชย์​ต่อ​จาก​เขา​แทน​ที่​จะ​เป็น​บุตร​ชาย​ทั้ง​หลาย. นาง​ได้​พิสูจน์​ตัว​เป็น​ผู้​ปกครอง​ที่​สามารถ โดย​ทำ​ให้​ชาติ​มี​ความ​สงบ​สุข​อีก​ช่วง​หนึ่ง​หรือ​นาน​กว่า​นั้น​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน (76-67 ก่อน ส.ศ.). พวก​ฟาริซาย​ได้​คืน​สู่​ตำแหน่ง​ทรง​อำนาจ​อีก และ​กฎหมาย​ต่าง ๆ ที่​ห้าม​พิธี​ทาง​ศาสนา​ของ​พวก​เขา​ถูก​ยก​เลิก.

เมื่อ​ซาโลเม​สิ้น​ชีพ บุตร​ชาย​ของ​นาง​คือ​ฮีร์คานุส​ที่ 2 ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​มหา​ปุโรหิต กับ​อะริสโตบิวลุส​ที่ 2 ก็​เริ่ม​พยายาม​ช่วง​ชิง​อำนาจ​กัน. ทั้ง​สอง​ต่าง​ขาด​ความ​หยั่ง​รู้​ทาง​การ​เมือง​และ​ทาง​การ​ทหาร​ที่​เหล่า​บรรพบุรุษ​เคย​มี และ​ดู​เหมือน​ว่า​ทั้ง​สอง​คน​ขาด​ความ​เข้าใจ​นัย​อัน​ครบ​ถ้วน​ของ​การ​ที่​มี​พวก​โรมัน​อยู่​ใน​เขต​นั้น​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ หลัง​จาก​อาณาจักร​เซเลอคิด​พัง​ทลาย​อย่าง​สิ้นเชิง. ใน​ปี 63 ก่อน ส.ศ. สอง​พี่​น้อง​ได้​หัน​ไป​พึ่ง​ปอมปีย์ ผู้​ปกครอง​ชาว​โรมัน​ขณะ​ที่​อยู่​ใน​ดามัสกัส​และ​ขอ​ให้​ปอมปีย์​เป็น​ผู้​ไกล่เกลี่ย​ข้อ​พิพาท​ของ​ตน. ปี​เดียว​กัน​นั้น ปอมปีย์​กับ​กอง​ทหาร​ได้​ยาตรา​เข้า​สู่​กรุง​เยรูซาเลม​และ​ยึด​อำนาจ. นั่น​เป็น​ตอน​เริ่ม​ต้น​จุด​จบ​ของ​อาณาจักร​ฮัสโมเนียน. ใน​ปี 37 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์​เฮโรด​มหาราช​ชาว​อิดูเมีย​ยึด​ครอง​กรุง​เยรูซาเลม​หลัง​จาก​สภา​สูง​ของ​โรม​แต่ง​ตั้ง​เขา​เป็น “กษัตริย์​แห่ง​ยูเดีย” “พันธมิตร​และ​สหาย​ของ​ชาว​โรมัน.” อาณาจักร​ฮัสโมเนียน​สิ้น​แล้ว.

มรดก​ของ​พวก​ฮัสโมเนียน

ระยะ​เวลา​ที่​พวก​ฮัสโมเนียน​ปกครอง ตั้ง​แต่​ยูดาห์ แมกคาบี จน​ถึง​อะริสโตบิวลุส​ที่ 2 ได้​วาง​รากฐาน​ไว้​แล้ว​สำหรับ​การ​แบ่ง​แยก​ทาง​ศาสนา​ซึ่ง​ยัง​คง​มี​อยู่​ใน​ขณะ​ที่​พระ​เยซู​อยู่​บน​โลก. พวก​ฮัสโมเนียน​เริ่ม​ต้น​ด้วย​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​การ​นมัสการ​พระเจ้า แต่​เสื่อม​ถอย​ลง​สู่​ความ​เห็น​แก่​ตัว​อย่าง​ผิด ๆ. พวก​ปุโรหิต​ของ​เขา​ซึ่ง​มี​โอกาส​จะ​ทำ​ให้​ประชาชน​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ใน​การ​ทำ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า ได้​นำ​ชาติ​นี้​เข้า​สู่​ปลัก​แห่ง​การ​ต่อ​สู้​กัน​ทาง​การ​เมือง. ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​เช่น​นี้ ทัศนะ​ที่​แบ่ง​แยก​ทาง​ศาสนา​จึง​แพร่​หลาย. พวก​ฮัสโมเนียน​ไม่​มี​อีก​แล้ว แต่​การ​ต่อ​สู้​ช่วง​ชิง​อำนาจ​ทาง​ศาสนา​ระหว่าง​พวก​ซาดูกาย, พวก​ฟาริซาย, และ​พวก​อื่น ๆ เป็น​ลักษณะ​เฉพาะ​ของ​ชาติ​นี้​ซึ่ง​ตอน​นั้น​อยู่​ใน​การ​ปกครอง​ของ​เฮโรด​และ​โรม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ดู​บทความ “พวก​แมกคาบี​คือ​ใคร?” ใน​หอสังเกตการณ์ 15 พฤศจิกายน 1998.

^ วรรค 22 “อรรถาธิบาย​พระ​ธรรม​นาฮูม” ใน​ม้วน​หนังสือ​ทะเล​ตาย​กล่าว​ถึง “สิงโต​ที่​โกรธ​เกรี้ยว” ที่ “แขวน​คน​ทั้ง​เป็น” ซึ่ง​อาจ​หมาย​ถึง​เหตุ​การณ์​ดัง​กล่าว.

[แผนภูมิ​หน้า 30]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน

ยูดาห์ แมกคาบี

โจนาทาน แมกคาบี

ไซมอน แมกคาบี

จอห์น ฮีร์คานุส

↓ ↓

อะริสโตบิวลุส

ซาโลเม อะเล็กซานดรา — สมรส — อะเล็กซานเดอร์ ยานเนอุส

↓ ↓

ฮีร์คานุส​ที่ 2

อะริสโตบิวลุส​ที่ 2

[ภาพ​หน้า 27]

ยูดาห์ แมกคาบี​พยายาม​ให้​ได้​มา​ซึ่ง​เอกราช​ของ​ชาว​ยิว

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

The Doré Bible Illustrations/Dover Publications, Inc.

[ภาพ​หน้า 29]

พวก​ฮัสโมเนียน​ต่อ​สู้​เพื่อ​ขยาย​อำนาจ​ปกครอง​เหนือ​เมือง​ต่าง ๆ ที่​ไม่​ใช่​ของ​ชาว​ยิว

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

The Doré Bible Illustrations/Dover Publications, Inc.