การขอโทษวิธีที่บังเกิดผลในการสร้างสันติ

การขอโทษวิธีที่บังเกิดผลในการสร้างสันติ

การ​ขอ​โทษ​วิธี​ที่​บังเกิด​ผล​ใน​การ​สร้าง​สันติ

“การ​ขอ​โทษ​มี​พลัง. การ​ขอ​โทษ​ขจัด​ความ​ขัด​แย้ง​ให้​หมด​ไป​โดย​ปราศจาก​ความ​รุนแรง, ประสาน​ความ​แตก​ร้าว​ระหว่าง​ชาติ​ต่าง ๆ, ทำ​ให้​รัฐบาล​ต่าง ๆ รับ​รู้​ความ​ทุกข์​ของ​พลเมือง, และ​ทำ​ให้​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​บุคคล​กลับ​ราบรื่น​ตาม​เดิม.” เดโบรา แทนเนน นัก​ประพันธ์​หนังสือ​ขาย​ดี​และ​นัก​สังคม​ภาษา​ศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัย​จอร์จ​ทาวน์​ใน​กรุง​วอชิงตัน ดี.ซี. ได้​เขียน​ไว้​เช่น​นั้น.

คัมภีร์​ไบเบิล​ยืน​ยัน​ว่า​การ​ขอ​โทษ​อย่าง​จริง​ใจ​มัก​จะ​เป็น​วิธี​ที่​บังเกิด​ผล​ใน​การ​ประสาน​ความ​สัมพันธ์​ที่​แตก​ร้าว. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​อุปมา​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​บุตร​สุรุ่ยสุร่าย เมื่อ​บุตร​กลับ​บ้าน​แล้ว​ขอ​อภัย​อย่าง​จริง​ใจ บิดา​เต็ม​ใจ​จริง ๆ จะ​รับ​เขา​คืน​สู่​ครอบครัว. (ลูกา 15:17-24) ถูก​แล้ว คน​เรา​ไม่​ควร​ถือ​ตัว​เกิน​กว่า​ที่​จะ​กล้ำกลืน​ความ​รู้สึก​หยิ่ง​ของ​ตน​ไว้, ขอ​โทษ, แล้ว​แสวง​หา​การ​ให้​อภัย. แน่นอน สำหรับ​บุคคล​ที่​ถ่อม​อย่าง​จริง​ใจ​แล้ว การ​ขอ​โทษ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ยาก​เกิน​ไป.

พลัง​ของ​การ​ขอ​โทษ

อะบีฆายิล สตรี​ที่​ฉลาด​คน​หนึ่ง​ใน​อิสราเอล​โบราณ​ได้​ลง​มือ​ปฏิบัติ​แบบ​ที่​ใช้​เป็น​ตัว​อย่าง​แสดง​ถึง​พลัง​ของ​การ​ขอ​โทษ​ได้ ถึง​แม้​เธอ​ขอ​โทษ​เนื่อง​ด้วย​ความ​ผิด​ที่​สามี​ของ​เธอ​ได้​กระทำ. ระหว่าง​อยู่​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร ดาวิด​ผู้​ซึ่ง​ภาย​หลัง​ได้​มา​เป็น​กษัตริย์​ของ​อิสราเอล พร้อม​กับ​พรรค​พวก​ของ​ท่าน​ได้​ปก​ป้อง​ฝูง​สัตว์​ที่​เป็น​ของ​นาบาล สามี​ของ​อะบีฆายิล. กระนั้น เมื่อ​พวก​คน​หนุ่ม​ของ​ดาวิด​ได้​ขอ​ขนมปัง​และ​น้ำ นาบาล​ได้​ขับ​ไล่​ไส​ส่ง​พวก​เขา​พร้อม​กับ​ใช้​คำ​พูด​สบประมาท. เพราะ​ถูก​ยั่ว​ยุ ดาวิด​ได้​นำ​พรรค​พวก​ประมาณ 400 คน​ขึ้น​ไป​ต่อ​สู้​กับ​นาบาล​และ​ครัว​เรือน​ของ​เขา. เมื่อ​ทราบ​ถึงสถานการณ์ อะบีฆายิล​ออก​เดิน​ทาง​ไป​พบ​ดาวิด. ครั้น​เห็น​ท่าน เธอ​ได้​ซบ​หน้า​กราบ​ลง​ที่​เท้า​ของ​ท่าน แล้ว​พูด​ว่า “เจ้านาย​ของ​ดิฉัน​เจ้าข้า ความ​ผิด​นั้น​อยู่​ที่​ดิฉัน​แต่​ผู้​เดียว ขอ​ให้​ผู้​รับใช้​ของ​ท่าน​ได้​พูด​ให้​ท่าน​ฟัง ขอ​ท่าน​ได้​โปรด​ฟัง​เสียง​ผู้​รับใช้​ของ​ท่าน.” ครั้น​แล้ว อะบีฆายิล​ได้​อธิบาย​ถึง​สภาพการณ์​แล้ว​มอบ​อาหาร​และ​เครื่อง​ดื่ม​เป็น​ของ​กำนัล​แก่​ดาวิด. ดาวิด​จึง​กล่าว​ว่า “จง​กลับ​ไป​ยัง​บ้าน​เรือน​ของ​เจ้า​ด้วย​สวัสดิภาพ​เถิด ดู​ซิ เรา​ได้​ฟัง​เสียง​ของ​เจ้า​แล้ว​และ​เรา​ก็​ได้​อนุโลม​ตาม​คำ​ขอร้อง​ของ​เจ้า.”—1 ซามูเอล 25:2-35, ฉบับ​แปล​ใหม่.

เจตคติ​ที่​ถ่อม​ใจ​ของ​อะบีฆายิล​พร้อม​กับ​คำ​ขอ​โทษ​เนื่อง​ด้วย​ความ​ประพฤติ​ที่​หยาบคาย​ของ​สามี​เธอ​ทำ​ให้​ครัว​เรือน​ของ​เธอ​ได้​รับ​การ​ไว้​ชีวิต. ดาวิด​ถึง​กับ​ขอบคุณ​เธอ​ใน​การ​ป้องกัน​ท่าน​ให้​พ้น​จาก​ความ​ผิด​ที่​ทำ​ให้​โลหิต​ตก. ถึง​แม้​อะบีฆายิล​ไม่​ใช่​ผู้​ที่​ปฏิบัติ​อย่าง​เลว​ร้าย​ต่อ​ดาวิด​กับ​พรรค​พวก​ของ​ท่าน เธอ​ได้​ยอม​รับ​ความ​ผิด​ของ​ครอบครัว​ตัว​เอง​และ​สร้าง​สันติ​กับ​ดาวิด.

อีก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ของ​คน​ที่​ทราบ​ว่า​ควร​ขอ​โทษ​เมื่อ​ไร​นั้น​คือ​อัครสาวก​เปาโล. ครั้ง​หนึ่ง ท่าน​ต้อง​ปก​ป้อง​ตัว​เอง​ต่อ​หน้า​ศาล​ซันเฮดริน ซึ่ง​เป็น​ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว. คำ​พูด​ที่​ตรง​ไป​ตรง​มา​ของ​เปาโล​ทำ​ให้​มหา​ปุโรหิต​อะนาเนีย​โกรธ​เป็น​ฟืน​เป็น​ไฟ เขา​จึง​สั่ง​คน​ที่​ยืน​อยู่​ใกล้​เปาโล​ให้​ตบ​ปาก​ท่าน. เปาโล​จึง​กล่าว​แก่​เขา​ว่า “พระเจ้า​จะ​ทรง​ตบ​เจ้า, ผู้​เป็น​ฝา​สกปรก​ที่​ฉาบ​ปูน​ขาว​ไว้ (คน​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด) เจ้า​นั่ง​พิพากษา​ข้า​ตาม​กฎหมาย, และ​ยัง​สั่ง​ให้​เขา​ตบ​ข้า​ซึ่ง​เป็น​การ​ผิด​กฎหมาย​หรือ.” เมื่อ​คน​ที่​เฝ้า​ดู​ได้​กล่าว​โทษ​เปาโล​ว่า​พูด​หยาบ​ช้า​ต่อ​มหา​ปุโรหิต อัครสาวก​ยอม​รับ​ผิด​ทันที​ว่า “พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย ข้าพเจ้า​ไม่​ทราบ​ว่า​ท่าน​เป็น​มหา​ปุโรหิต, ด้วย​มี​คำ​เขียน​ไว้​แล้ว​ว่า, ‘อย่า​พูด​หยาบ​ช้า​ต่อ​ผู้​ปกครอง​พลเมือง.’”—กิจการ 23:1-5.

สิ่ง​ที่​เปาโล​กล่าว​นั้น​ถูก​ต้อง​ที่​ว่า ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​พิพากษา​ไม่​ควร​ใช้​วิธี​รุนแรง. กระนั้น ท่าน​ได้​ขอ​โทษ​ที่​พูด​กับ​มหา​ปุโรหิต​ด้วย​ท่าที​ซึ่ง​อาจ​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​การ​ไม่​แสดง​ความ​นับถือ เนื่อง​จาก​ท่าน​ไม่​รู้. a การ​ขอ​โทษ​ของ​เปาโล​เปิด​ทาง​ไว้​เพื่อ​ศาล​ซันเฮดริน​จะ​รับ​ฟัง​สิ่ง​ที่​ท่าน​ต้องการ​พูด. เนื่อง​จาก​เปาโล​รู้​ถึง​ข้อ​โต้​แย้ง​ที่​มี​อยู่​ใน​ท่ามกลาง​สมาชิก​ของ​ศาล​นั้น ท่าน​จึง​บอก​พวก​เขา​ว่า​ท่าน​ถูก​พิจารณา​คดี​เนื่อง​ด้วย​ความ​เชื่อ​ใน​เรื่อง​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. เพราะ​ฉะนั้น จึง​เกิด​การ​แตก​แยก​ขึ้น​มาก​มาย โดย​ที่​พวก​ฟาริซาย​เข้า​ข้าง​เปาโล.—กิจการ 23:6-10.

เรา​สามารถ​เรียน​อะไร​จาก​ตัว​อย่าง​สอง​เรื่อง​นี้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล? ใน​ทั้ง​สอง​กรณี คำ​กล่าว​ขอ​โทษ​อย่าง​จริง​ใจ​เปิด​ทาง​ไว้​สำหรับ​การ​ติด​ต่อ​สนทนา​กัน​ต่อ​ไป. ดัง​นั้น คำ​ขอ​โทษ​อาจ​ช่วย​เรา​สร้าง​สันติ. ถูก​แล้ว โดย​การ​ยอม​รับ​ความ​ผิด​พลาด​ของ​เรา​แล้ว​ขอ​โทษ​เนื่อง​ด้วย​ความ​เสียหาย​ที่​เกิด​ขึ้น​อาจ​เปิด​โอกาส​ไว้​สำหรับ​การ​สนทนา​ที่​เสริม​สร้าง.

‘แต่​ฉัน​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​ผิด​นี่’

เมื่อ​เรา​ทราบ​ว่า​มี​คน​ขุ่นเคือง​ใจ​เนื่อง​จาก​สิ่ง​ที่​เรา​พูด​หรือ​ทำ เรา​อาจ​รู้สึก​ว่า​คน​นั้น​ไม่​มี​เหตุ​ผล​หรือ​มี​ความ​รู้สึกไว​เกิน​ไป. กระนั้น พระ​เยซู​คริสต์​ได้​แนะ​นำ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ว่า “ฉะนั้น หาก​เจ้า​กำลัง​นำ​ของ​ถวาย​มา​ยัง​แท่น​บูชา และ ณ ที่​นั่น​เจ้า​ระลึก​ขึ้น​ได้​ว่า​พี่​น้อง​ของ​เจ้า​มี​เรื่อง​ขัด​เคือง​ต่อ​เจ้า จง​ละ​ของ​ถวาย​ของ​เจ้า​ไว้​หน้า​แท่น​บูชา แล้ว​ไป; จง​คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง​ของ​เจ้า​ก่อน, ครั้น​แล้ว เมื่อ​เจ้า​กลับ​มา จึง​ถวาย​ของ​ถวาย​ของ​เจ้า.”—มัดธาย 5:23, 24, ล.ม.

ตัว​อย่าง​เช่น พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​อาจ​รู้สึก​ว่า​คุณ​ได้​ทำ​ผิด​ต่อ​เขา. ใน​สถานการณ์​เช่น​นั้น พระ​เยซู​ตรัส​ว่า คุณ​ต้อง​ไป ‘คืน​ดี​กับ​พี่​น้อง​ของ​คุณ’ ไม่​ว่า​คุณ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ได้​ทำ​ผิด​ต่อ​เขา​หรือ​ไม่. ตาม​ต้น​ฉบับ​ภาษา​กรีก คำ​ที่​พระ​เยซู​ใช้​ใน​ข้อ​นี้ ‘หมาย​ถึง​การ​ยินยอม​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​หลัง​จาก​การ​เป็น​ปรปักษ์​ต่อ​กัน.’ (พจนานุกรม​อธิบาย​ศัพท์​พันธสัญญา​เดิม​และ​ใหม่​ของ​ไวน์) ที่​จริง เมื่อ​คน​สอง​คน​เกิด​ขัด​แย้ง​กัน ทั้ง​สอง​ฝ่าย​อาจ​มี​ความ​ผิด​อยู่​บ้าง เนื่อง​จาก​ทั้ง​คู่​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์​และ​มี​แนว​โน้ม​จะ​ทำ​ผิด. ตาม​ปกติ​สภาพ​เช่น​นี้​เรียก​ร้อง​ให้​มี​การ​ยินยอม​ทั้ง​สอง​ฝ่าย.

ประเด็น​คือ ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ว่า​ใคร​ถูก​ใคร​ผิด แต่​ใคร​จะ​เป็น​ฝ่าย​ริเริ่ม​สร้าง​สันติ. เมื่อ​อัครสาวก​เปาโล​ได้​สังเกต​ว่า​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์ (โกรินโธ) เอา​ตัว​เพื่อน​ผู้​รับใช้​พระเจ้า​ไป​ขึ้น​ศาล​ทาง​โลก​เนื่อง​ด้วย​ข้อ​บาดหมาง​ส่วน​ตัว เช่น ความ​ขัด​แย้ง​กัน​ทาง​ด้าน​การ​เงิน ท่าน​ได้​ว่า​กล่าว​พวก​เขา​ว่า “ทำไม​ท่าน​จึง​ไม่​ทน​ต่อ​การ​ร้าย​ซึ่ง​เขา​ทำ​แก่​ท่าน ทำไม​ท่าน​จึง​ไม่​ยอม​ให้​เขา​โกง?” (1 โกรินโธ 6:7, ฉบับ​แปล​ใหม่) ถึง​แม้​เปาโล​กล่าว​เช่น​นี้​เพื่อ​ห้าม​ปราม​เพื่อน​คริสเตียน​มิ​ให้​เปิด​เผย​ข้อ​บาดหมาง​ส่วน​ตัว​ของ​พวก​เขา​ใน​ศาล​ทาง​โลก แต่​หลักการ​เห็น​ได้​ชัดเจน นั่น​คือ สันติ​สุข​ใน​ระหว่าง​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​การ​พิสูจน์​ว่า​ใคร​ถูก​ใคร​ผิด. การ​คำนึง​ถึง​หลักการ​นี้​ทำ​ให้​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​ขอ​โทษ​สำหรับ​ความ​ผิด​ที่​คน​อื่น​คิด​ว่า​เรา​ได้​ทำ​ต่อ​เขา.

จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​จริง​ใจ

แต่​บาง​คน​เอา​คำ​ที่​หมาย​ถึง​การ​ขอ​โทษ​มา​ใช้​มาก​เกิน​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ญี่ปุ่น คำ​ว่า​ซู​มิ​มา​เซน ซึ่ง​เป็น​ถ้อย​คำ​ทั่ว​ไป​ที่​ใช้​ใน​การ​ขอ​โทษ เป็น​คำ​ที่​ได้​ยิน​กัน​นับ​ครั้ง​ไม่​ถ้วน. อาจ​ถึง​กับ​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​แสดง​ความ​ขอบคุณ​ซึ่ง​บอก​เป็น​นัย​ถึง​ความ​รู้สึก​อึดอัด​ใจ​ที่​ไม่​สามารถ​ตอบ​แทน​ความ​กรุณา​ที่​ได้​รับ​นั้น. เนื่อง​จาก​คำ​นี้​ใช้​ได้​ใน​สถานการณ์​ที่​หลาก​หลาย บาง​คน​อาจ​รู้สึก​ว่า​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​บ่อย​เกิน​ไป​และ​อาจ​สงสัย​ว่า​คน​ที่​พูด​คำ​นี้​มี​ความ​จริง​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​หรือ​ไม่. การ​ขอ​โทษ​ใน​รูป​แบบ​ต่าง ๆ ดู​เหมือน​ว่า​อาจ​มี​พร่ำ​เพรื่อ​เกิน​ไป​ใน​วัฒนธรรม​อื่น​ด้วย.

ไม่​ว่า​ภาษา​ใด ๆ นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​จะ​เป็น​คน​จริง​ใจ​เมื่อ​แสดง​การ​ขอ​โทษ. คำ​พูด​ที่​ใช้​และ​น้ำ​เสียง​ควร​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​เสียใจ​อย่าง​จริง​ใจ. พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​สอน​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ว่า “เพียง​ให้​คำ​ของ​เจ้า​ที่​ว่า​ใช่ หมาย​ความ​ว่า​ใช่ ที่​ว่า​ไม่ ก็​หมาย​ความ​ว่า​ไม่; เพราะ​สิ่ง​ที่​เกิน​นั้น​ก็​มา​จาก​ตัว​ชั่ว​ร้าย.” (มัดธาย 5:37, ล.ม.) หาก​คุณ​ขอ​โทษ ขอ​ให้​หมาย​ความ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ! เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ชาย​คน​หนึ่ง​เข้า​แถว​รอ​อยู่​ตรง​เคาน์เตอร์​เช็ค​อิน​ของ​สนามบิน​ได้​กล่าว​ขอ​โทษ​เมื่อ​กระเป๋า​เดิน​ทาง​ของ​เขา​ไป​โดน​ผู้​หญิง​ที่​ยืน​รอ​อยู่​ข้าง​หลัง​เขา. ไม่​กี่​นาที​ต่อ​มา เมื่อ​คน​ใน​แถว​ขยับ​ไป กระเป๋า​ก็​ไป​โดน​ผู้​หญิง​คน​นั้น​อีก. ชาย​คน​นั้น​ขอ​โทษ​อย่าง​สุภาพ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. เมื่อ​สิ่ง​เดียว​กัน​นี้​ยัง​เกิด​ขึ้น​อีก​ครั้ง​หนึ่ง เพื่อน​ร่วม​เดิน​ทาง​ของ​ผู้​หญิง​ได้​บอก​ชาย​ผู้​นั้น​ว่า หาก​เขา​หมาย​ความ​อย่าง​ที่​พูด​จริง ๆ แล้ว ก็​น่า​จะ​ระวัง​ไม่​ให้​กระเป๋า​ไป​โดน​ผู้​หญิง​คน​นี้​อีก. ถูก​แล้ว การ​ขอ​โทษ​อย่าง​จริง​ใจ​ควร​ควบ​คู่​ไป​กับ​ความ​ตั้งใจ​ที่​จะ​ไม่​ทำ​ผิด​ซ้ำ​อีก.

หาก​เรา​จริง​ใจ การ​ขอ​โทษ​ของ​เรา​จะ​รวม​ไป​ถึง​การ​ยอม​รับ​ความ​ผิด, แสวง​หา​การ​ให้​อภัย, และ​พยายาม​ที่​จะ​แก้ไข​ความ​เสียหาย​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. ฝ่าย​ผู้​ที่​รู้สึก​ขุ่นเคือง​ใจ​ก็​ควร​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​ผู้​ทำ​ผิด​ที่​กลับ​ใจ. (มัดธาย 18:21, 22; มาระโก 11:25; เอเฟโซ 4:32; โกโลซาย 3:13) เนื่อง​จาก​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์ การ​คืน​ดี​กัน​อาจ​ไม่​ได้​ดำเนิน​ไป​อย่าง​ราบรื่น​เสมอ. ถึง​กระนั้น คำ​ขอ​โทษ​มี​ผล​กระทบ​อัน​ทรง​พลัง​ใน​การ​สร้าง​สันติ.

เมื่อ​การ​ขอ​โทษ​เป็น​สิ่ง​ไม่​สม​ควร

ถึง​แม้​ถ้อย​คำ​แสดง​การ​ขอ​อภัย​และ​เสียใจ​มี​ผล​ที่​ให้​การ​ปลอบโยน​และ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข บุคคล​ที่​ฉลาด​ย่อม​หลีก​เลี่ยง​การ​ใช้​ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​เมื่อ​ไม่​สม​ควร​ทำ​เช่น​นั้น. ตัว​อย่างเช่น สมมุติ​ว่า เรื่อง​ที่​เป็น​ประเด็น​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระเจ้า. ขณะ​ที่​พระ​เยซู​คริสต์​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก “พระองค์​ทรง​ถ่อม​พระองค์ และ​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มรณา คือ​ความ​มรณา​บน​หลัก​ทรมาน.” (ฟิลิปปอย 2:8, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระองค์​ไม่​ได้​ขอ​ขมา​ใน​เรื่อง​ความ​เชื่อ​เพื่อ​จะ​บรรเทา​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ของ​พระองค์. และ​พระ​เยซู​มิ​ได้​ขอ​ขมา​เมื่อ​มหา​ปุโรหิต​สั่ง​ว่า “เรา​ให้​เจ้า​สาบาน​ต่อ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่, ให้​บอก​เรา​ว่า, เจ้า​เป็น​พระ​คริสต์​บุตร​ของ​พระเจ้า​หรือ​ไม่?” แทน​ที่​จะ​ขอ​ขมา​อย่าง​ขลาด​กลัว พระ​เยซู​ตรัส​ตอบ​อย่าง​กล้า​หาญ​ว่า “ท่าน​ว่า​ถูก​แล้ว และ​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​เรา​บอก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า, ใน​เวลา​เบื้อง​หน้า​นั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​เห็น​บุตร​มนุษย์​นั่ง​อยู่​เบื้อง​ขวา​พระ​หัตถ์​ของ​ผู้​ทรง​ฤทธานุภาพ, และ​เสด็จ​มา​บน​เมฆ​ฟ้า.” (มัดธาย 26:63, 64) พระ​เยซู​ไม่​เคย​คิด​เลย​ที่​จะ​รักษา​สันติ​สุข​กับ​มหา​ปุโรหิต​โดย​ยอม​สูญ​เสีย​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า พระ​บิดา​ของ​พระองค์.

คริสเตียน​แสดง​ความ​นับถือ​และ​ให้​เกียรติ​แก่​คน​ที่​มี​อำนาจ. กระนั้น พวก​เขา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ขอ​ขมา​เนื่อง​ด้วย​การ​ที่​พวก​เขา​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​และ​มี​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​บ้าน.—มัดธาย 28:19, 20; โรม 13:5-7.

ไม่​มี​อุปสรรค​ขัด​ขวาง​สันติ​สุข

ทุก​วัน​นี้ เรา​ทำ​ผิด​เพราะ​เรา​ได้​สืบ​ทอด​ความ​ไม่​สมบูรณ์​และ​บาป​มา​จาก​อาดาม​บรรพบุรุษ​ของ​เรา. (โรม 5:12; 1 โยฮัน 1:10) สภาพ​ผิด​บาป​ของ​อาดาม​เป็น​ผล​มา​จาก​การ​ที่​เขา​กบฏ​ขัด​ขืน​ต่อ​พระ​ผู้​สร้าง. แต่​เดิม​ที อาดาม​และ​ฮาวา​เป็น​คน​สมบูรณ์​และ​ไม่​มี​บาป และ​พระเจ้า​ได้​ทรง​สัญญา​ว่า​จะ​นำ​มนุษย์​กลับ​คืน​สู่​สภาพ​สมบูรณ์​นี้​อีก. พระองค์​จะ​ทรง​กำจัด​บาป​และ​ผล​กระทบ​ทั้ง​สิ้น​ของ​บาป​ให้​หมด​ไป.—1 โกรินโธ 15:56, 57.

คิด​ดู​ก็​แล้ว​กัน​ว่า​นั่น​จะ​หมาย​ถึง​อะไร! ใน​คำ​แนะ​นำ​เรื่อง​การ​ใช้​ลิ้น ยาโกโบ​น้อง​ชาย​ร่วม​มารดา​ของ​พระ​เยซู​กล่าว​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​ไม่​พลาด​พลั้ง​ใน​วาจา ผู้​นั้น​ก็​เป็น​คน​สมบูรณ์ สามารถ​เหนี่ยว​รั้ง​ทั้ง​ร่าง​กาย​ของ​ตน​ได้​ด้วย.” (ยาโกโบ 3:2, ล.ม.) คน​สมบูรณ์​สามารถ​ควบคุม​ลิ้น​ได้​จน​เขา​ไม่​ต้อง​ขอ​โทษ​เนื่อง​ด้วย​การ​ใช้​ลิ้น​ใน​ทาง​ผิด. เขา “สามารถ​เหนี่ยว​รั้ง​ทั้ง​ร่าง​กาย​ของ​ตน​ได้.” จะ​วิเศษ​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​เรา​กลาย​เป็น​คน​สมบูรณ์! ใน​ตอน​นั้น จะ​ไม่​มี​อุปสรรค​ขัด​ขวาง​สันติ​สุข​ระหว่าง​ปัจเจกบุคคล​อีก​ต่อ​ไป. แต่​ใน​ระหว่าง​นี้ การ​กล่าว​ขอ​โทษ​ที่​สม​ควร​อย่าง​จริง​ใจ​เนื่อง​ด้วย​ความ​ผิด​ที่​ได้​ทำ​ไป​นั้น​จะ​มี​ส่วน​ช่วย​ได้​มาก​มาย​ใน​การ​สร้าง​สันติ.

[เชิงอรรถ]

a อาจ​เป็น​ได้​ว่า​เนื่อง​จาก​สายตา​ของ​เปาโล​ไม่​ดี จึง​จำ​มหา​ปุโรหิต​คน​นี้​ไม่​ได้.

[ภาพ​หน้า 5]

เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​เปาโล?

[ภาพ​หน้า 7]

เมื่อ​ทุก​คน​อยู่​ใน​สภาพ​สมบูรณ์ จะ​ไม่​มี​อุปสรรค​ขัด​ขวาง​สันติ​สุข