ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมพระบัญญัติ

จุดเด่นจากพระธรรมพระบัญญัติ

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ

ตอน​นั้น​เป็น​ปี 1473 ก่อน​สากล​ศักราช. เวลา​ผ่าน​ไป​แล้ว​สี่​สิบ​ปี​ตั้ง​แต่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​ลูก​หลาน​ของ​อิสราเอล​พ้น​สภาพ​ทาส​ใน​อียิปต์. ภาย​หลัง​การ​เดิน​ทาง​รอนแรม​ใน​ป่า​ทุรกันดาร​นาน​หลาย​ปี ชาติ​อิสราเอล​ยัง​หา​ได้​ครอบครอง​แผ่นดิน​ใด​ไม่. แต่​ใน​ที่​สุด พวก​เขา​ก็​มา​อยู่ ณ ชายแดน​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา. จะ​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​ขณะ​ที่​พวก​เขา​เข้า​ยึด​แผ่นดิน​นั้น? พวก​เขา​จะ​เผชิญ​ปัญหา​อะไร และ​เขา​จะ​แก้​ปัญหา​เหล่า​นั้น​อย่าง​ไร?

ก่อน​ชาว​อิสราเอล​ข้าม​แม่น้ำ​จอร์แดน (ยาระเดน) เข้า​ไป​ใน​แผ่นดิน​คะนาอัน โมเซ​เตรียม​ประชาคม​เพื่อ​งาน​ใหญ่​และ​สำคัญ​ซึ่ง​รอ​อยู่​เบื้อง​หน้า. ท่าน​ทำ​อย่าง​ไร? ท่าน​ได้​กล่าว​ปราศรัย​ซึ่ง​ชู​กำลัง, แนะ​นำ, และ​ตักเตือน. ท่าน​เตือน​ชาว​อิสราเอล​ทั้ง​ปวง​ให้​ระลึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​สม​ควร​ได้​รับ​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ และ​พวก​เขา​ต้อง​ไม่​ติด​ตาม​แนว​ทาง​ของ​ชาติ​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ล้อม​รอบ. คำ​ปราศรัย​ต่าง ๆ เหล่า​นั้น​ประกอบ​กัน​เป็น​ส่วน​ใหญ่​แห่ง​พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ. และ​คำ​แนะ​นำ​ที่​ให้​ไว้​ใน​คำ​ปราศรัย​เหล่า​นี้​เป็น​สิ่ง​ที่​พวก​เรา​สมัย​นี้​ต้องการ​อยู่​ที​เดียว เพราะ​พวก​เรา​ก็​เช่น​เดียว​กัน มี​ชีวิต​อยู่​ใน​โลก​ซึ่ง​การ​ถวาย​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ​แด่​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เรื่อง​ที่​ท้าทาย.—เฮ็บราย 4:12.

โมเซ​เป็น​ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ​ทั้ง​เล่ม​ยก​เว้น​บท​สุด​ท้าย พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ​ครอบ​คลุม​ช่วง​เวลา​สอง​เดือน​เศษ. * (พระ​บัญญัติ 1:3; ยะโฮซูอะ 4:19) ให้​เรา​ดู​ซิ​ว่า​คำ​แนะ​นำ​ใน​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร​ที่​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ด้วย​สุด​หัวใจ​ของ​เรา​และ​รับใช้​พระองค์​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์.

‘อย่า​ลืม​สิ่ง​ที่​ตา​ของ​เจ้า​ได้​เห็น​นั้น’

(พระ​บัญญัติ 1:1–4:49)

ใน​คำ​ปราศรัย​แรก โมเซ​ได้​เล่า​ประสบการณ์​บาง​เรื่อง​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร​อย่าง​ละเอียด โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เรื่อง​ที่​จะ​เป็น​ประโยชน์​แก่​ชาว​อิสราเอล​ขณะ​ที่​พวก​เขา​เตรียม​เข้า​ยึด​ครอง​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา. เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ผู้​วินิจฉัย​คง​ได้​เตือน​ใจ​พวก​เขา​ให้​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ได้​จัด​ระเบียบ​ประชาชน​ของ​พระองค์​เพื่อ​รับรอง​ว่า​พวก​เขา​จะ​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ด้วย​ความ​รัก. นอก​จาก​นั้น โมเซ​ยัง​ได้​อ้าง​รายงาน​ใน​แง่​ลบ​ที่​ได้​จาก​คน​สอดแนม​สิบ​คน ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​คน​รุ่น​ก่อน​หน้า​นี้​ไม่​ได้​เข้า​ใน​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา. ลอง​นึก​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​มี​ต่อ​ผู้​คน​ซึ่ง​ได้​ฟัง​คำ​เตือน​สติ​นี้​จาก​โมเซ ขณะ​ที่​พวก​เขา​เอง​มอง​เห็น​แผ่นดิน​นั้น​ทอด​ยาว​อยู่​เบื้อง​หน้า.

การ​เล่า​เรื่อง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ประทาน​ชัย​ชนะ​แก่​พวก​อิสราเอล​ก่อน​พวก​เขา​จะ​ข้าม​แม่น้ำ​จอร์แดน​คง​ได้​ปลุก​เร้า​ความ​กล้า​หาญ​ของ​เขา​ขณะ​ที่​พร้อม​จะ​เริ่ม​พิชิต​อีก​ฟาก​หนึ่ง​ของ​แม่น้ำ. พวก​เขา​จวน​เข้า​ยึด​ครอง​แผ่นดิน​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​รูป​เคารพ. เหมาะ​สม​เพียง​ใด​ที่​โมเซ​เตือน​อย่าง​เฉียบขาด​ให้​ระวัง​การ​นมัสการ​รูป​เคารพ!

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

2:4-6, 9, 19, 24, 31-35; 3:1-6—ทำไม​พวก​อิสราเอล​ทำลาย​ล้าง​คน​บาง​กลุ่ม​และ​ไม่​ได้​ทำลาย​ล้าง​อีก​บาง​กลุ่ม​ที่​อาศัย​อยู่​ทาง​ฟาก​ตะวัน​ออก​ของ​แม่น้ำ​จอร์แดน? พระ​ยะโฮวา​ทรง​บัญชา​พวก​อิสราเอล​ไม่​ให้​ทำ​สงคราม​สู้​รบ​กับ​ลูก​หลาน​ของ​เอซาว. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​พวก​เขา​เป็น​เชื้อ​สาย​ของ​พี่​ชาย​ยาโคบ. พวก​อิสราเอล​จะ​ต้อง​ไม่​รบกวน​หรือ​ทำ​สงคราม​ต่อ​สู้​ชาว​โมอาบ​และ​อัมโมน เพราะ​เขา​เป็น​เชื้อ​สาย​ของ​โลต​หลาน​ชาย​อับราฮาม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม กษัตริย์​ซีโฮน​และ​โอฆ​แห่ง​อะโมรี​ไม่​ใช่​เชื้อ​สาย​อิสราเอล​จึง​ไม่​อาจ​อ้าง​สิทธิ์​ใน​แผ่นดิน​ที่​เขา​ครอบครอง. ดัง​นั้น เมื่อ​ซีโฮน​ไม่​ยอม​ให้​ชาว​อิสราเอล​เดิน​ทาง​ผ่าน​ประเทศ​ของ​ตน และ​โอฆ​ได้​ออก​มา​สู้​รบ​พวก​อิสราเอล พระ​ยะโฮวา​ทรง​สั่ง​ชาว​อิสราเอล​ทำลาย​เมือง​ต่าง ๆ ของ​คน​เหล่า​นั้น ไม่​ให้​มี​ผู้​ใด​เหลือ​รอด​อยู่​เลย.

4:15-20, 23, 24—การ​ห้าม​ทำ​รูป​แกะ​สลัก​จะ​หมายความ​ว่า​เป็น​การ​ผิด​หรือ​ไม่ หาก​ทำ​วัตถุ​จำลอง​ใน​เชิง​ศิลปะ​แทน​สิ่ง​หนึ่ง​สิ่ง​ใด? ไม่. การ​ห้าม​ใน​ที่​นี้​หมาย​ถึง​ห้าม​ทำ​รูป​บูชา​เพื่อ​การ​นมัสการ ห้าม ‘นมัสการ​และ​ปฏิบัติ​รูป​เหล่า​นั้น.’ พระ​คัมภีร์​ไม่​ห้าม​การ​แกะ​สลัก​หรือ​การ​วาด​ภาพ​สิ่ง​ใด​เพื่อ​จุด​ประสงค์​ทำ​เป็น​งาน​ศิลปะ.—1 กษัตริย์ 7:18, 25.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:2, 19. พวก​อิสราเอล​เดิน​ทาง​รอนแรม​ใน​ถิ่น​ทุรกันดาร​ประมาณ 38 ปี ทั้ง ๆ ที่​คาเดช-บาร์เนีย​อยู่​ห่าง​โฮเรบ (แถบ​เทือก​เขา​รอบ ๆ ภูเขา​ไซนาย อัน​เป็น​สถาน​ที่​ที่​พระเจ้า​ประทาน​พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ) เพียง “สิบ​เอ็ด​วัน​ตาม​ทาง​ภูเขา​เซอีร.” การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ยัง​ผล​ที่​ร้ายแรง​เสีย​จริง ๆ!—อาฤธโม 14:26-34.

1:16, 17. มาตรการ​การ​พิพากษา​ของ​พระเจ้า​ใน​ปัจจุบัน​ก็​เป็น​แบบ​เดียว​กัน. บรรดา​ผู้​ได้​รับ​มอบ​หน้า​ที่​เป็น​กรรมการ​ตัดสิน​ความ​จะ​ต้อง​ไม่​ยอม​ให้​ความ​รู้สึก​แบบ​เลือก​ที่​รัก​มัก​ที่​ชัง​หรือ​การ​กลัว​หน้า​มนุษย์​เข้า​มา​บิดเบือน​การ​ตัดสิน​ของ​เขา.

4:9. การ ‘ไม่​ลืม​สิ่ง​ทั้ง​หลาย​ที่​ตา​ของ​พวก​เขา​ได้​เห็น’ เป็น​สิ่ง​สำคัญ​สำหรับ​ชาว​อิสราเอล​เพื่อ​ประสบ​ความ​สำเร็จ. ขณะ​โลก​ใหม่​ตาม​คำ​สัญญา​คืบ​ใกล้​เข้า​มา นับ​ว่า​สำคัญ​เช่น​กัน​ที่​เรา​พึง​จด​จ้อง​ดู​การ​กระทำ​อัน​น่า​พิศวง​ของ​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​เป็น​คน​ขยัน​หมั่น​เพียร​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระองค์.

รัก​พระ​ยะโฮวา และ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์

(พระ​บัญญัติ 5:1–26:19)

ใน​คำ​ปราศรัย​ที่​สอง​ของ​โมเซ ท่าน​กล่าว​ถึง​การ​ประทาน​กฎหมาย ณ ภูเขา​ไซนาย​และ​กล่าว​ซ้ำ​พระ​บัญญัติ​สิบ​ประการ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. มี​การ​ระบุ​ชื่อ​เจ็ด​ชาติ​ที่​จะ​ต้อง​ถูก​ทำลาย​อย่าง​สิ้นเชิง. ชาว​อิสราเอล​ได้​รับ​การ​เตือน​ให้​ระลึก​ถึง​บทเรียน​สำคัญ​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​ใน​ป่า​ทุรกันดาร​ที่​ว่า “มนุษย์​จะ​จำเริญ​ชีวิต​ด้วย​อาหาร​สิ่ง​เดียว​หา​มิ​ได้, แต่​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​เพราะ​บรรดา​พระ​วจนะ​ซึ่ง​ออก​มา​จาก​พระ​โอษฐ์​พระ​ยะโฮวา.” เมื่อ​อยู่​ภาย​ใต้​สภาพ​แวด​ล้อม​ใหม่ เขา​ต้อง “รักษา​บัญญัติ​ทั้ง​ปวง.”—พระ​บัญญัติ 8:3; 11:8.

เมื่อ​เขา​ตั้ง​หลัก​แหล่ง​ใน​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา ชาว​อิสราเอล​จำ​ต้อง​มี​กฎหมาย ไม่​เฉพาะ​กฎหมาย​ที่​ใช้​สำหรับ​การ​นมัสการ แต่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ตัดสิน​คดีความ, การ​ปกครอง, สงคราม, และ​วิถี​ชีวิต​ประจำ​วัน​ของ​ชุมชน​และ​ชีวิต​ส่วน​ตัว. โมเซ​ได้​กล่าว​ทบทวน​ข้อ​กฎหมาย​เหล่า​นี้​และ​ตอก​ย้ำ​ความ​จำเป็น​ที่​ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา​และ​เชื่อ​ฟัง​บัญญัติ​ทั้ง​ปวง​ของ​พระองค์.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

8:3, 4—เป็น​ไป​ได้​อย่าง​ไร​ที่​ว่า​เสื้อ​ผ้า​ของ​ชาว​อิสราเอล​มิ​ได้​เก่า​ไป​และ​เท้า​ของ​เขา​ก็​ไม่​บวม​ใน​ช่วง​เดิน​ทาง​ผ่าน​ถิ่น​ทุรกันดาร? ทั้ง​นี้​เป็น​การ​จัด​เตรียม​อย่าง​น่า​อัศจรรย์​จาก​พระเจ้า เช่น​เดียว​กับ​การ​จัด​เตรียม​มานา​ให้​พวก​เขา​เป็น​ประจำ. ชาว​อิสราเอล​ใช้​เสื้อ​ผ้า​ชุด​เดิม​และ​รอง​เท้า​คู่​เดิม​ที่​เขา​มี​อยู่​แล้ว​ก่อน​รอนแรม​ใน​ป่า เป็น​ไป​ได้​ที่​มี​การ​ให้​เสื้อ​ผ้า​และ​รอง​เท้า​แก่​คน​อื่น​เพราะ​เด็ก​โต​ขึ้น​และ​ผู้​ใหญ่​ก็​เสีย​ชีวิต​ไป. เมื่อ​คำนึง​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​ด้วย​การ​สำรวจ​สำมะโนประชากร​ทั้ง​ตอน​เริ่ม​ต้น​และ​ภาย​หลัง​สิ้น​สุด​การ​เดิน​ทาง​ใน​ป่า​ก็​เห็น​ว่า​จำนวน​ผู้​คน​ของ​อิสราเอล​ไม่​ได้​เพิ่ม​ขึ้น สิ่ง​ของ​เครื่อง​นุ่ง​ห่ม​ซึ่ง​มี​อยู่​เดิม​ก็​น่า​จะ​พอ.—อาฤธโม 2:32; 26:51.

14:21—ทำไม​เป็น​สิ่ง​ที่​ชาว​อิสราเอล​ทำ​ได้ ใน​การ​ที่​เขา​ให้​เนื้อ​สัตว์​ที่​ตาย​โดย​ไม่​มี​การ​เอา​เลือด​ออก​แก่​คน​แขก​เมือง​หรือ​ขาย​ให้​ชาว​ประเทศ​อื่น ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​เอง​จะ​ไม่​กิน? ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​คำ “คน​แขก​เมือง” อาจ​พาด​พิง​ถึง​ชาว​ประเทศ​อื่น​ที่​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว หรือ​เป็น​คน​ตั้ง​หลัก​แหล่ง​ใน​แผ่นดิน​ซึ่ง​ยินยอม​เชื่อ​ฟัง​กฎหมาย​ของ​ประเทศ แต่​ไม่​ได้​เปลี่ยน​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. ชาว​ประเทศ​อื่น​และ​แขก​เมือง​ที่​ไม่​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว​จึง​ไม่​อยู่​ใต้​พระ​บัญญัติ และ​สามารถ​จะ​เอา​สัตว์​ที่​ตาย​โดย​ไม่​มี​การ​เอา​เลือด​ออก​นั้น​ไป​ใช้​ได้​หลาย ๆ ทาง. ชาว​อิสราเอล​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ยก​หรือ​ขาย​สัตว์​ดัง​กล่าว​ให้​เขา. ใน​ทาง​กลับ​กัน พวก​ที่​เปลี่ยน​ศาสนา​มี​ข้อ​ผูก​มัด​โดย​สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ. ตาม​ที่​ระบุ​ใน​เลวีติโก 17:10 ห้าม​คน​จำพวก​ดัง​กล่าว​รับประทาน​เลือด​สัตว์.

24:6 (ล.ม.)—ทำไม​การ​ยึด​เอา “เครื่อง​โม่​หรือ​หิน​โม่​ชั้น​บน​เป็น​สิ่ง​ค้ำ​ประกัน” จึง​เทียบ​ได้​กับ​การ​ยึด “จิตวิญญาณ” ที​เดียว? เครื่อง​โม่​และ​หิน​โม่​ชั้น​บน​ถูก​นำ​มา​ใช้​แทน “จิตวิญญาณ” ของ​คน​เรา​หรือ​เป็น​เครื่อง​ประกอบ​การ​เลี้ยง​ชีพ. การ​ยึด​เอา​สิ่ง​เหล่า​นี้​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ย่อม​ทำ​ให้​ทั้ง​ครอบครัว​เดือดร้อน​เนื่อง​จาก​ขาด​ขนมปัง​อาหาร​ประจำ​วัน.

25:9—อะไร​คือ​ความหมาย​ของ​การ​ถอด​รอง​เท้า​ออก และ​ถ่ม​น้ำลาย​รด​หน้า​ผู้​ชาย​ซึ่ง​ไม่​ยอม​แต่งงาน​กับ​ภรรยา​ม่าย​ของ​พี่​น้อง​ของ​ตน? ตาม “ธรรมเนียม​โบราณ​ใน​พวก​ยิศราเอล​เมื่อ​มี​การ​ไถ่ [“ว่า​ด้วย​สิทธิ​การ​ซื้อ​คืน,” ล.ม.] . . . . คน​หนึ่ง​ต้อง​ถอด​รอง​เท้า​ของ​ตน​ให้​แก่​เพื่อน.” (ประวัตินางรูธ 4:7) การ​ถอด​รอง​เท้า​ของ​ชาย​ผู้​หนึ่ง​ที่​ไม่​ยอม​รับ​ภาระ​หน้า​ที่​เป็น​เขย​แทน จึง​เป็น​การ​ยืน​ยัน​ว่า​เขา​ถอน​ตัว​และ​สละ​สิทธิ​ที่​จะ​ให้​กำเนิด​ทายาท​แก่​พี่​หรือ​น้อง​ชาย​ของ​เขา​ที่​ล่วง​ลับ​ไป​แล้ว. นี่​คือ​ความ​อัปยศ. (พระ​บัญญัติ 25:10) การ​ถ่ม​น้ำลาย​รด​หน้า​เป็น​การ​แสดง​อาการ​ดูถูก.—อาฤธโม 12:14.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

6:6-9. มี​บัญชา​แก่​ชาว​อิสราเอล​ให้​รู้​จัก​ข้อ​กฎหมาย​ฉัน​ใด พวก​เรา​จะ​ต้อง​รู้​บทบัญญัติ​ต่าง ๆ ของ​พระเจ้า​จน​ขึ้น​ใจ, จด​จำ​ใส่​ใจ​ไว้​เสมอ, และ​พร่ำ​สอน​บุตร​หลาน​ของ​เรา​ฉัน​นั้น. เรา​ต้อง ‘เอา​ถ้อย​คำ​เหล่า​นั้น​พัน​ไว้​ที่​มือ​ของ​เรา​เป็น​ของ​สำคัญ’ เพื่อ​ว่า​การ​กระทำ​ของ​เรา—ซึ่ง​มือ​เป็น​เครื่องหมาย​แสดง​ถึง—ต้อง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา. และ​เหมือน “จารึก​ไว้​ที่​หว่าง​คิ้ว” การ​เชื่อ​ฟัง​ของ​เรา​ต้อง​ประจักษ์​แจ้ง​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.

6:16. ขอ​อย่า​ให้​เรา​ทดลอง​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ที่​ชาว​อิสราเอล​ที่​ขาด​ความ​เชื่อ​ได้​กระทำ​ที่​ตำบล​มาซา ซึ่ง​ที่​นั่น​เขา​บ่น​ติเตียน​เรื่อง​การ​ขาด​แคลน​น้ำ.—เอ็กโซโด 17:1-7.

8:11-18. การ​นิยม​วัตถุ​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ลืม​พระ​ยะโฮวา​ได้.

9:4-6. เรา​ต้อง​ระวัง​การ​ถือ​ตัว​เป็น​คน​ชอบธรรม.

13:6. เรา​ต้อง​ไม่​ยอม​ให้​ใคร​ทำ​ให้​เรา​หันเห​ไป​จาก​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา.

14:1. การ​ทำ​ร้าย​ร่าง​กาย​ตัว​เอง​ให้​บาดเจ็บ​หรือ​พิการ​แสดง​ถึง​การ​ไม่​นับถือ​ร่าง​กาย บาง​ที​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาสนา​เท็จ จึง​ต้อง​หลีก​เลี่ยง. (1 กษัตริย์ 18:25-28) การ​แสดง​ความ​โศก​เศร้า​อาลัย​คน​ตาย​มาก​เกิน​ไป​ย่อม​ไม่​เหมาะ​สม เนื่อง​จาก​เรา​มี​ความ​หวัง​ใน​เรื่อง​การ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย.

20:5-7; 24:5. สม​ควร​แสดง​การ​คำนึง​ถึง​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​อยู่​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​เฉพาะ​อย่าง แม้​ว่า​สิ่ง​ที่​คุณ​กำลัง​ทำ​อยู่​นั้น​สำคัญ.

22:23-27. ผู้​หญิง​มี​วิธี​หนึ่ง​ที่​ใช้​ป้องกัน​ตัว​ได้​ดี​ที่​สุด​เมื่อ​เธอ​ถูก​คุกคาม​ข่มขืน คือ​การ​ส่ง​เสียง​กรีด​ร้อง​ให้​ดัง.

“เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​เลือก​เอา​ข้าง​ชีวิต”

(พระ​บัญญัติ 27:1–34:12)

ใน​คำ​ปราศรัย​ที่​สาม โมเซ​กล่าว​ว่า ภาย​หลัง​การ​ข้าม​แม่น้ำ​จอร์แดน ชาว​อิสราเอล​ต้อง​จารึก​ข้อ​บัญญัติ​บน​ศิลา​ใหญ่​และ​กล่าว​คำ​แช่ง​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​และ​อวย​พร​ผู้​เชื่อ​ฟัง. คำ​ปราศรัย​ที่​สี่​เริ่ม​ด้วย​การ​ทบทวน​สัญญา​ไมตรี​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​กับ​ชาติ​อิสราเอล. อีก​ครั้ง​หนึ่ง​โมเซ​ได้​กล่าว​เตือน​ให้​ระวัง​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง​และ​กระตุ้น​เตือน​ผู้​คน​ให้ “เลือก​เอา​ข้าง​ชีวิต.”—พระ​บัญญัติ 30:19.

นอก​จาก​การ​ปราศรัย​สี่​ครั้ง​แล้ว โมเซ​พิจารณา​การ​เปลี่ยน​สถานะ​ผู้​นำ​และ​สอน​บทเพลง​อัน​ไพเราะ​แก่​ชาว​อิสราเอล​ซึ่ง​ยกย่อง​พระ​ยะโฮวา ทั้ง​เตือน​ถึง​ภัย​พิบัติ​ที่​จะ​มี​มา​เนื่อง​ด้วย​การ​ไม่​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์. หลัง​จาก​ได้​อวย​พร​ตระกูล​ต่าง ๆ แล้ว โมเซ​ก็​สิ้น​ชีพ​เมื่อ​อายุ 120 ปี และ​ศพ​ท่าน​ถูก​ฝัง​ไว้. ประชาชน​อาลัย​ไว้​ทุกข์​ให้​ท่าน 30 วัน เกือบ​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ช่วง​เวลา​ที่​มี​กล่าว​ถึง​ใน​พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

32:13, 14—เนื่อง​จาก​การ​สั่ง​ห้าม​ชาว​อิสราเอล​รับประทาน​มัน​ใด ๆ ของ​สัตว์ การ​ที่​พวก​เขา​รับประทาน “มัน​ลูก​แกะ” นั้น​จะ​หมายความ​อย่าง​ไร? การ​ใช้​คำ​ว่า​มัน​สัตว์ ณ ที่​นี้​เป็น​อุปมา และ​หมาย​ถึง​ตัว​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​ฝูง. การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​อุปมา​เชิง​กวี​แสดง​ให้​เห็น​โดย​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​ข้อ​เดียว​กัน​นี้​ก็​ได้​พูด​ถึง “เลือด​ของ​องุ่น” (ฉบับ​แปล​ใหม่).

33:1-29—เหตุ​ใด​ไม่​ได้​เจาะจง​เอ่ย​ชื่อ​ซิมโอน​ใน​คำ​อวย​พร​ของ​โมเซ​เมื่อ​ท่าน​ให้​พร​ลูก​หลาน​อิสราเอล? ที่​เป็น​เช่น​นั้น​เพราะ​ซิมโอน​และ​เลวี​ได้​ประพฤติ “ดุ​ร้าย” และ​ความ​โกรธ​ของ​เขา “รุนแรง.” (เยเนซิศ 34:13-31; 49:5-7) มรดก​ของ​พวก​เขา​ก็​ได้​ไม่​เท่า​กัน​กับ​ตระกูล​อื่น. ตระกูล​เลวี​ได้​รับ 48 หัวเมือง และ​ซิมโอน (ซีโมน) ได้​รับ​ส่วน​ของ​เขา​ภาย​ใน​เขต​แดน​ของ​ตระกูล​ยูดาห์. (ยะโฮซูอะ 19:9; 21:41, 42) ดัง​นั้น โมเซ​จึง​ไม่​ได้​อวย​พร​ซิมโอน​อย่าง​เจาะจง. อย่าง​ไร​ก็​ดี พร​ที่​ซิมโอน​ได้​รับ​ก็​รวม​อยู่​ใน​คำ​อวย​พร​แก่​ชาว​อิสราเอล​ทั้ง​ชาติ.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

31:12. พวก​เด็ก​เล็ก​ทั้ง​หลาย​ควร​นั่ง​กับ​ผู้​ใหญ่ ณ การ​ประชุม​ประชาคม และ​ตั้งใจ​ฟัง​ตั้งใจ​เรียน.

32:4. บรรดา​กิจการ​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระ​ยะโฮวา​สมบูรณ์​พร้อม พระองค์​ทรง​สำแดง​คุณลักษณะ​ได้​อย่าง​สมดุล ทั้ง​ใน​ด้าน​ความ​ยุติธรรม, สติ​ปัญญา, ความ​รัก, และ​อำนาจ.

มี​คุณค่า​มาก​ยิ่ง​สำหรับ​พวก​เรา

พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ​พรรณนา​พระ​ยะโฮวา​ว่า​เป็น “เอก​พระ​ยะโฮวา.” (พระ​บัญญัติ 6:4) พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​พูด​ถึง​ชน​ชาติ​หนึ่ง​ที่​มี​สัมพันธภาพ​เป็น​พิเศษ​กับ​พระเจ้า. อนึ่ง พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ​เตือน​ให้​ระวัง​การ​บูชา​รูป​เคารพ​และ​มุ่ง​เน้น​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ต้อง​ถวาย​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ​แด่​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว.

แน่นอน พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ​มี​คุณค่า​มาก​ยิ่ง​สำหรับ​พวก​เรา! ถึง​แม้​ไม่​จำเป็น​ที่​เรา​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​อีก​ต่อ​ไป แต่​เรา​สามารถ​เรียน​ได้​มาก​จาก​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​ซึ่ง​ช่วย​เสริม​เรา​ให้ ‘รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เรา​สุด​หัวใจ, สุด​ชีวิต, และ​สุด​กำลัง​วังชา​ของ​เรา.’—พระ​บัญญัติ 6:5, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 บท​สุด​ท้าย​ซึ่ง​เป็น​บันทึก​การ​สิ้น​ชีวิต​ของ​โมเซ อาจ​เป็น​ยะโฮซูอะ​หรือ​ไม่​ก็​เอลิอาเซอร์​มหา​ปุโรหิต​ที่​เขียน​เพิ่ม​เข้า​ไป.

[แผนที่​หน้า 24]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เซอีร์

คาเดช-บาร์เนีย

ภูเขา​ไซนาย (โฮเรบ)

ทะเล​แดง

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Based on maps copyrighted by Pictorial Archive (Near Eastern History) Est. and Survey of Israel

[ภาพ​หน้า 24]

คำ​ปราศรัย​ต่าง ๆ ของ​โมเซ​รวม​กัน​เป็น​ส่วน​ใหญ่​ของ​พระ​ธรรม​พระ​บัญญัติ

[ภาพ​หน้า 26]

เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​มานา?

[ภาพ​หน้า 26]

การ​ยึด​เอา​เครื่อง​โม่​หรือ​หิน​โม่​ชั้น​บน​เป็น​สิ่ง​ค้ำ​ประกัน​เปรียบ​ได้​กับ​การ​ยึด​เอา “จิตวิญญาณ” ไว้