ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การประสูติที่พึงรำลึกถึง

การประสูติที่พึงรำลึกถึง

การ​ประสูติ​ที่​พึง​รำลึก​ถึง

“ใน​วัน​นี้​พระ​ผู้​ช่วย​ให้​รอด​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​คือ​พระ​คริสต์​เจ้า​มา​บังเกิด.”—ลูกา 2:11.

ประมาณ​สอง​พัน​ปี​มา​แล้ว สตรี​คน​หนึ่ง​ใน​เมือง​เบทเลเฮม​ได้​ให้​กำเนิด​บุตร​ชาย. ประชาชน​ใน​ท้องถิ่น​เพียง​ไม่​กี่​คน​ตระหนัก​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​กำเนิด​ครั้ง​นี้. แต่​คน​เลี้ยง​แกะ​บาง​คน​ซึ่ง​อยู่​กับ​ฝูง​แกะ​ของ​ตน​ใน​ทุ่ง​นา​คืน​นั้น ได้​เห็น​ทูตสวรรค์​จำนวน​มาก​ทั้ง​ได้​ยิน​พวก​เขา​ร้อง​เพลง​ว่า “รัศมีภาพ​จง​มี​แก่​พระเจ้า​ใน​ที่​สูง​สุด, และ​บน​แผ่นดิน​โลก​จง​มี​ความ​สุข​สงบ​สำราญ​ท่ามกลาง​มนุษย์​ทั้ง​ปวง​ซึ่ง​พระองค์​ทรง​รักใคร่​นั้น.”—ลูกา 2:8-14.

ต่อ​มา คน​เลี้ยง​แกะ​ได้​พบ​มาเรีย​กับ​โยเซฟ​สามี​ของ​เธอ​ใน​คอก​สัตว์​ตาม​ที่​ทูตสวรรค์​ได้​ชี้​แจง. มาเรีย​ได้​ตั้ง​ชื่อ​บุตร​นั้น​ว่า​เยซู และ​เธอ​ได้​วาง​บุตร​ไว้​ใน​ราง​หญ้า ซึ่ง​อยู่​ใน​คอก​สัตว์. (ลูกา 1:31; 2:12) ปัจจุบัน สอง​พัน​ปี​ต่อ​มา ราว ๆ หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​มนุษยชาติ​ทั้ง​สิ้น​อ้าง​ว่า​ติด​ตาม​พระ​เยซู​คริสต์. และ​เหตุ​การณ์​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ประสูติ​ของ​พระองค์​ทำ​ให้​เกิด​พื้น​ฐาน​ของ​เรื่อง​ราว​ซึ่ง​ดู​เหมือน​จะ​มี​การ​เล่า​กัน​บ่อย​ยิ่ง​กว่า​เรื่อง​อื่น​ใด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​มนุษย์.

สเปน ซึ่ง​เป็น​ประเทศ​ที่​ยึด​ถือ​ประเพณี​คาทอลิก​อย่าง​เหนียวแน่น​และ​มี​ความ​ชำนิ​ชำนาญ​ใน​เรื่อง​การ​เฉลิม​ฉลอง​ตาม​ประเพณี ได้​พัฒนา​วิธี​ต่าง ๆ หลาย​แบบ​ใน​การ​รำลึก​ถึง​คืน​พิเศษ​สุด​นั้น​ใน​เบทเลเฮม.

คริสต์มาส​ใน​สเปน

ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 13 ภาพ​แสดง​เหตุ​การณ์​การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา​แง่​มุม​ที่​คุ้น​เคย​กัน​มาก​ที่​สุด​ใน​การ​ฉลอง​ต่าง ๆ ของ​สเปน. หลาย​ครอบครัว​จัด​ฉาก​เล็ก ๆ แสดง​ให้​เห็น​ราง​หญ้า​ที่​เขา​ได้​วาง​พระ​เยซู. รูป​ปั้น​ดิน​เหนียว​แสดง​ภาพ​คน​เลี้ยง​แกะ​และ​นัก​ปราชญ์ (หรือ “กษัตริย์​สาม​องค์”) รวม​ทั้ง​โยเซฟ, มาเรีย, และ​พระ​เยซู. บ่อย​ครั้ง ภาพ​ฉาก​เหตุ​การณ์​การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู​ที่​มี​ขนาด​เกือบ​เท่า​ของ​จริง​ตั้ง​อยู่​ใกล้​ศาลา​ประจำ​เมือง​ระหว่าง​ช่วง​เทศกาล​คริสต์มาส. ดู​เหมือน​ว่า​นัก​บุญ​ฟรานซิส​แห่ง​เมือง​อัสซิซิ​ได้​เริ่ม​นำ​ธรรมเนียม​นี้​เข้า​มา​ใน​อิตาลี​เพื่อ​ให้​ผู้​คน​มุ่ง​ความ​สนใจ​ไป​ที่​เรื่อง​ราว​ใน​กิตติคุณ​เกี่ยว​กับ​การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู. ภาย​หลัง​บาทหลวง​คณะ​ฟรานซิส​กัน​ได้​ทำ​ให้​ธรรมเนียม​ดัง​กล่าว​เป็น​ที่​นิยม​ชม​ชอบ​ใน​สเปน​และ​อีก​หลาย​ประเทศ.

พวก​นัก​ปราชญ์​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​ฉลอง​คริสต์มาส​ของ​สเปน เท่า ๆ กับ​ซานตาคลอส​ใน​ประเทศ​อื่น. เชื่อ​กัน​ว่า​เด็ก ๆ ใน​สเปน​ได้​รับ​ของ​ขวัญ​จาก​พวก​นัก​ปราชญ์​ใน​วัน​ที่ 6 มกราคม​ที่​เรียก​ว่า ดี​อา เด เรเอส (วัน​ของ​กษัตริย์) เช่น​เดียว​กับ​ที่​พวก​นัก​ปราชญ์​ได้​นำ​ของ​ขวัญ​ไป​ให้​พระ​เยซู​ที่​เพิ่ง​ประสูติ ตาม​ที่​เชื่อ​กัน​โดย​ทั่ว​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ดี มี​น้อย​คน​ที่​ทราบ​ว่า​เรื่อง​ราว​ใน​กิตติคุณ​ไม่​ได้​กล่าว​ว่า​มี​นัก​ปราชญ์​สัก​กี่​คน​ที่​ไป​เยี่ยม​พระ​เยซู. แทน​ที่​จะ​เป็น​กษัตริย์ มี​การ​ระบุ​ตัว​พวก​เขา​อย่าง​ถูก​ต้อง​มาก​กว่า​ใน​ฐานะ​เป็น​โหราจารย์. * นอก​จาก​นี้ หลัง​จาก​การ​มา​เยี่ยม​ของ​พวก​นัก​ปราชญ์​แล้ว ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​ฆ่า​พระ​เยซู เฮโรด​จึง​ได้​สังหาร​เด็ก​ผู้​ชาย​ทั้ง​หมด​ใน​เบทเลเฮม “ตั้ง​แต่​อายุ​สอง​ขวบ​ลง​มา.” นั่น​บ่ง​ชี้​ว่า​พวก​เขา​มา​เยี่ยม​หลัง​จาก​การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู​นาน​พอ​สม​ควร.—มัดธาย 2:11, 16.

ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 12 บาง​เมือง​ของ​สเปน​ได้​จัด​การ​แสดง​ละคร​เรื่อง​การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู รวม​ทั้ง​การ​ที่​คน​เลี้ยง​แกะ​มา​ที่​เมือง​เบทเลเฮม และ​ภาย​หลัง​พวก​นัก​ปราชญ์​ก็​มา​ด้วย. ปัจจุบัน เมือง​ส่วน​ใหญ่​ใน​สเปน​เป็น​เจ้าภาพ​จัด​คาบาลกาตา หรือ​ขบวน​แห่ ทุก​วัน​ที่ 5 มกราคม ระหว่าง​ช่วง​นั้น “กษัตริย์​สาม​องค์” อยู่​บน​รถยนต์​ที่​ประดับ​ตกแต่ง​อย่าง​วิจิตร​บรรจง​ซึ่ง​มี​การ​แสดง​ใน​ขบวน​แห่​ผ่าน​ศูนย์กลาง​ของ​เมือง แจก​ลูก​กวาด​ให้​ผู้​ที่​เฝ้า​ดู​อยู่. การ​ประดับ​ตกแต่ง​ตาม​ธรรมเนียม​คริสต์มาส​และ​วี​เยน​ซี​โคส (การ​ร้อง​เพลง​คริสต์มาส) ช่วย​ทำ​ให้​วาระ​การ​เฉลิม​ฉลอง​นี้​คึกคัก.

ครอบครัว​ชาว​สเปน​ส่วน​ใหญ่​ชอบ​รับประทาน​อาหาร​เย็น​มื้อ​พิเศษ​ใน​คืน​ก่อน​วัน​คริสต์มาส (วัน​ที่ 24 ธันวาคม). อาหาร​ที่​รับประทาน​ตาม​ประเพณี​ก็​มี​ทั้ง​ทู​รอน (ของ​หวาน​ทำ​จาก​เม็ด​อัลมอนด์​กับ​น้ำ​ผึ้ง), ขนม​มาร์ซิพาน, ผลไม้​แห้ง, ลูก​แกะ​ย่าง, และ​อาหาร​ทะเล. สมาชิก​ใน​ครอบครัว แม้​แต่​คน​เหล่า​นั้น​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​ก็​อาจ​พยายาม​เป็น​พิเศษ​ที่​จะ​มา​อยู่​พร้อม​หน้า​กัน​ใน​โอกาส​นี้. ระหว่าง​การ​รับประทาน​อาหาร​ตาม​ประเพณี​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​วัน​ที่ 6 มกราคม ครอบครัว​รับประทาน​รอส​กอน เด เรเยส ขนม​เค้ก​รูป​วง​แหวน​ของ “กษัตริย์” ซึ่ง​มี​ซอร์เพรซา (ของ​เล็ก ๆ) ซ่อน​อยู่​ข้าง​ใน. ธรรมเนียม​ที่​คล้าย​กัน​นี้​ใน​ยุค​โรมัน​ทำ​ให้​ทาส​ซึ่ง​มี​ของ​ซ่อน​อยู่​ใน​ขนม​ส่วน​แบ่ง​ของ​เขา​สามารถ​เป็น “กษัตริย์” หนึ่ง​วัน.

“ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข​ที่​สุด​และ​มี​ธุระ​ยุ่ง​ที่​สุด​ของ​ปี”

ไม่​ว่า​จะ​มี​การ​เปลี่ยน​รูป​แบบ​ไป​ตาม​ธรรมเนียม​ท้องถิ่น​แบบ​ใด​ก็​ตาม ปัจจุบัน​คริสต์มาส​กลาย​เป็น​วาระ​แห่ง​การ​เฉลิม​ฉลอง​ที่​สำคัญ​ของ​โลก. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก พรรณนา​ว่า​คริสต์มาส​เป็น “ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข​ที่​สุด​และ​มี​ธุระ​ยุ่ง​ที่​สุด​ของ​ปี​สำหรับ​คริสเตียน​นับ​ล้าน​และ​บาง​คน​ที่​ไม่​ใช่​คริสเตียน​ตลอด​ทั่ว​โลก.” การ​ฉลอง​ดัง​กล่าว​เป็น​สิ่ง​ที่​ดี​ไหม?

ปรากฏ​ชัด การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู​เป็น​เหตุ​การณ์​สำคัญ​ทาง​ประวัติศาสตร์. ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​พวก​ทูตสวรรค์​ป่าว​ประกาศ​เรื่อง​นี้​ว่า​เป็น​การ​บอก​ล่วง​หน้า​ถึง “ความ​สุข​สงบ​สำราญ​ท่ามกลาง​มนุษย์​ทั้ง​ปวง​ซึ่ง​พระองค์​ทรง​รักใคร่​นั้น” ยืน​ยัน​อย่าง​ชัด​แจ้ง​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​เหตุ​การณ์​นี้.

ถึง​กระนั้น ควน อารยา​ส นัก​หนังสือ​พิมพ์​ชาว​สเปน​ชี้​แจง​ว่า “ใน​สมัย​แรก ๆ ของ​ศาสนา​คริสเตียน ฉาก​เหตุ​การณ์​การ​ประสูติ​ของ​พระ​เยซู​ไม่​ได้​มี​การ​ฉลอง​กัน​อย่าง​เอิกเกริก.” หาก​เป็น​เช่น​นี้​แล้ว การ​ฉลอง​คริสต์มาส​มา​จาก​ไหน? วิธี​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​รำลึก​ถึง​การ​ประสูติ​และ​ชีวิต​ของ​พระ​เยซู​คือ​อย่าง​ไร? ใน​บทความ​ต่อ​ไป คุณ​จะ​พบ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 8 ลา ซาก​รา​ดา เอส​ค​ริ​ทู​รา เท็กซ์โท อี โค​เมน​ทา​ริ​โอ พอร์ โพรเฟสโซเรส เด ลา คอมปาเนีย เด เคซูส (ข้อ​คัมภีร์​และ​การ​อธิบาย​ศัพท์​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​โดย​คณะ​ศาสตราจารย์​นิกาย​เยซูอิต) อธิบาย​ว่า “ใน​ท่ามกลาง​ชาว​เปอร์เซีย, มีเดีย, และ​แคลเดีย พวก​นัก​ปราชญ์​ประกอบ​กัน​เป็น​ชน​ชั้น​นัก​บวช​ซึ่ง​ส่ง​เสริม​ศาสตร์​ลี้​ลับ, โหราศาสตร์, และ​แพทยศาสตร์.” กระนั้น​ก็​ตาม พอ​ถึง​ยุค​กลาง กลุ่ม​พวก​นัก​ปราชญ์​ซึ่ง​ได้​ไป​หา​พระ​เยซู​ผู้​เยาว์​วัย​ได้​รับ​การ​ประกาศ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​นัก​บุญ​และ​ได้​ชื่อ​ว่า​เมลก์ยอร์, กาสปาร์, และ​บาลทาซาร์. มี​การ​อ้าง​กัน​ว่า ศพ​ของ​พวก​เขา​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​โบสถ์​ใหญ่​แห่ง​เมือง​โคโลญ ประเทศ​เยอรมนี.