ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เมืองที่การนมัสการแท้กับลัทธินอกรีตขัดแย้งกัน

เมืองที่การนมัสการแท้กับลัทธินอกรีตขัดแย้งกัน

เมือง​ที่​การ​นมัสการ​แท้​กับ​ลัทธิ​นอก​รีต​ขัด​แย้ง​กัน

ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​เมือง​เอเฟโซส์​โบราณ​ริม​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​ตุรกี​เป็น​บริเวณ​ที่​มี​การ​ค้นคว้า​ทาง​โบราณคดี​อย่าง​เอา​จริง​เอา​จัง​กว่า​หนึ่ง​ศตวรรษ​มา​แล้ว. สิ่ง​ปลูก​สร้าง​หลาย​อย่าง​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใหม่ และ​เหล่า​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ศึกษา​และ​ให้​คำ​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ขุด​ค้น​พบ​มาก​มาย. ผล​ก็​คือ เมือง​เอเฟโซส์​เป็น​หนึ่ง​ใน​สถาน​ที่​ที่​นัก​ท่อง​เที่ยว​ให้​ความ​สนใจ​มาก​ที่​สุด​ใน​ตุรกี.

มี​การ​ค้น​พบ​อะไร​เกี่ยว​กับ​เมือง​เอเฟโซส์? ปัจจุบัน​มี​การ​พูด​ถึง​มหา​นคร​โบราณ​ที่​งดงาม​นี้​อย่าง​ไร? การ​เยี่ยม​ชม​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​เมือง​เอเฟโซส์​และ​พิพิธภัณฑ์​เอเฟโซส์​ใน​กรุง​เวียนนา​ประเทศ​ออสเตรีย​จะ​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​ว่า การ​นมัสการ​แท้​ขัด​แย้ง​กับ​ศาสนา​นอก​รีต​ใน​เมือง​เอเฟโซส์​อย่าง​ไร. ใน​ตอน​แรก ให้​เรา​พิจารณา​ภูมิหลัง​บาง​ประการ​เกี่ยว​กับ​เมือง​เอเฟโซส์.

เมือง​ที่​ใคร ๆ ก็​อยาก​ครอบครอง

ความ​ไม่​สงบ​และ​การ​อพยพ​ไป​อยู่​ที่​อื่น​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​ยูเรเชีย​ช่วง​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 11 ก่อน ส.ศ. ช่วง​เวลา​นั้น​ชาว​กรีก​ไอโอเนีย​เริ่ม​อพยพ​ไป​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​บริเวณ​ริม​ชายฝั่ง​ตะวัน​ตก​ของ​เอเชีย​น้อย. พวก​ที่​เข้า​มา​ตั้ง​รกราก​ใน​ช่วง​แรก ๆ ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​คน​ที่​นมัสการ​พระ​แม่​เจ้า ซึ่ง​เป็น​เทพ​ธิดา​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ว่า อาร์เตมิส​แห่ง​เมือง​เอเฟโซส์.

ช่วง​กลาง​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​ก่อน​สากล​ศักราช ชาว​ซิม​เม​เรียน​ซึ่ง​เป็น​ชน​เผ่า​เร่ร่อน​จาก​ทะเล​ดำ​ทาง​ตอน​เหนือ​ได้​เข้า​มา​ปล้น​สะดม​เอเชีย​น้อย. ต่อ​มา ประมาณ​ปี 550 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์​ลิเดีย​ที่​มี​นาม​ว่า​เครอซุส​ได้​ขึ้น​ครอง​อำนาจ​ใน​แถบ​นี้ ผู้​ปกครอง​ที่​ทรง​อำนาจ​คน​นี้​ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​ความ​ร่ำรวย​มหาศาล. เมื่อ​จักรวรรดิ​เปอร์เซีย​แผ่​ขยาย​อาณา​เขต กษัตริย์​ไซรัส​ได้​เข้า​ปราบ​ปราม​เมือง​ของ​พวก​ไอโอเนีย​รวม​ทั้ง​เมือง​เอเฟโซส์.

ใน​ปี 334 ก่อน ส.ศ. อะเล็กซานเดอร์​แห่ง​มาซิโดเนีย​เริ่ม​ทำ​สงคราม​กับ​เปอร์เซีย ดัง​นั้น​เมือง​เอเฟโซส์​จึง​มี​ผู้​ปกครอง​คน​ใหม่. หลัง​จาก​อะเล็กซานเดอร์​สิ้น​ชีวิต​ก่อน​วัย​อัน​ควร​ใน​ปี 323 ก่อน ส.ศ. เมือง​เอเฟโซส์​ก็​เข้า​ไป​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ต่อ​สู้​ช่วง​ชิง​อำนาจ​ระหว่าง​นาย​พล​ของ​เขา. ใน​ปี 133 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์​แห่ง​เมือง​เปอร์กาโมส​คือ แอททาลุส​ที่​สาม​ซึ่ง​ไม่​มี​บุตร​ได้​ยก​เมือง​เอเฟโซส์​ให้​แก่​พวก​โรมัน ทำ​ให้​เมือง​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​แคว้น​เอเชีย​ของ​โรม.

การ​นมัสการ​แท้​ขัด​แย้ง​กับ​ลัทธิ​นอก​รีต

ใน​ศตวรรษ​แรก​สากล​ศักราช เมื่อ​อัครสาวก​เปาโล​มา​ที่​เมือง​เอเฟโซส์​ใน​ช่วง​ใกล้​สิ้น​สุด​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สอง​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี มี​ผู้​อาศัย​ใน​เมือง​นี้​ประมาณ 300,000 คน. (กิจการ 18:19-21) ใน​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สาม​ฐานะ​มิชชันนารี เปาโล​กลับ​ไป​ที่​เมือง​เอเฟโซส์​และ​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​อีก​ครั้ง​ด้วย​ความ​กล้า​หาญ​ใน​ธรรมศาลา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​สาม​เดือน​ผ่าน​ไป การ​ต่อ​ต้าน​จาก​พวก​ยิว​รุนแรง​ขึ้น เปาโล​จึง​เลือก​ที่​จะ​บรรยาย​ทุก​วัน​ใน​ห้อง​ประชุม​ของ​ตุระโน. (กิจการ 19:1, 8, 9) ท่าน​ประกาศ​ตลอด​สอง​ปี​พร้อม​ทั้ง​ทำ​การ​อิทธิ​ฤทธิ์​ต่าง ๆ เช่น รักษา​คน​ป่วย​ด้วย​การ​อัศจรรย์​และ​ขับ​ผี. (กิจการ 19:10-17) ไม่​เป็น​ที่​น่า​ประหลาด​ใจ​ว่า มี​หลาย​คน​เข้า​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ! ใช่​แล้ว พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชัย​จน​ทำ​ให้​อดีต​คน​ทำ​เวทมนตร์​หลาย​คน​เต็ม​ใจ​เผา​ตำรา​อัน​มี​ค่า​ของ​พวก​เขา.—กิจการ 19:19, 20.

การ​ที่​เปาโล​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ประกาศ​ไม่​เพียง​กระตุ้น​ให้​หลาย​คน​เลิก​นมัสการ​เทพ​ธิดา​อาร์เตมิส​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทำ​ให้​คน​ที่​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แบบ​นอก​รีต​โกรธ​แค้น​ด้วย. ศาล​จำลอง​รูป​พระ​แม่​อาร์เตมิส​ซึ่ง​ทำ​ด้วย​เงิน​เป็น​ธุรกิจ​ที่​ทำ​กำไร​งาม. เมื่อ​อาชีพ​ของ​พวก​เขา​ได้​รับ​ความ​เดือดร้อน เดเมเตรียว​จึง​ยุยง​พวก​ช่าง​เงิน​ให้​ก่อ​การ​จลาจล.—กิจการ 19:23-32.

การ​เผชิญ​หน้า​มา​ถึง​จุด​สุด​ยอด​เมื่อ​ฝูง​ชน​ตะโกน​อย่าง​บ้า​คลั่ง​เป็น​เวลา​สอง​ชั่วโมง​ว่า “พระ​อะระเตมี​ของ​ชาว​เอเฟโซ​เป็น​ใหญ่.” (กิจการ 19:34) หลัง​จาก​ความ​โกลาหล​สงบ​ลง​แล้ว เปาโล​หนุน​ใจ​เพื่อน​คริสเตียน​อีก​ครั้ง​แล้ว​ก็​จาก​ไป. (กิจการ 20:1) แม้​เปาโล​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​มาซิโดเนีย​แล้ว แต่​การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​ก็​ยัง​ตก​ต่ำ​ลง​เรื่อย ๆ จน​เสื่อม​สูญ​ไป.

วิหาร​แห่ง​อาร์เตมิส​สั่น​คลอน

การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​ฝัง​ราก​ลึก​ใน​เมือง​เอเฟโซส์. ก่อน​สมัย​กษัตริย์​เครอซุส พระ​แม่​ซีเบเล​เป็น​ศูนย์กลาง​ทาง​ศาสนา​ใน​แถบ​นั้น. เครอซุส​หวัง​จะ​สร้าง​เทพเจ้า​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ทั้ง​ชาว​กรีก​และ​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​กรีก จึง​แต่ง​เทพนิยาย​เรื่อง​เชื้อ​สาย​ที่​เชื่อม​โยง​กัน​ระหว่าง​ซีเบเล​กับ​บรรดา​เทพเจ้า​ของ​กรีก. ช่วง​กลาง​ศตวรรษ​ที่​หก​ก่อน ส.ศ. ด้วย​การ​สนับสนุน​จาก​เครอซุส จึง​เริ่ม​มี​การ​สร้าง​วิหาร​อาร์เตมิส​ขึ้น​โดย​ให้​เป็น​เทพเจ้า​ที่​สืบ​ตำแหน่ง​ต่อ​จาก​พระ​แม่​ซีเบเล.

วิหาร​นี้​เป็น​ความ​สำเร็จ​อัน​โดด​เด่น​ของ​สถาปัตยกรรม​กรีก. ไม่​เคย​มี​การ​ใช้​หิน​อ่อน​ก้อน​ใหญ่​สร้าง​อาคาร​ที่​มี​รูป​แบบ​และ​ขนาด​เช่น​นี้​มา​ก่อน. ใน​ปี 356 ก่อน ส.ศ. วิหาร​ถูก​ไฟ​เผา. การ​สร้าง​วิหาร​ใหม่​ที่​มี​ความ​งดงาม​พอ ๆ กัน​ทำ​ให้​หลาย​คน​มี​งาน​ทำ​และ​ทำ​ให้​เหล่า​นัก​จาริก​แสวง​บุญ​พา​กัน​หลั่งไหล​ไป​ที่​นั่น. วิหาร​ใหม่​นี้​สร้าง​ขึ้น​บน​ฐาน​ที่​ยก​พื้น​กว้าง​ประมาณ 73 เมตร​และ​ยาว 127 เมตร ส่วน​ของ​วิหาร​มี​ความ​กว้าง​ประมาณ 50 เมตร​และ​ยาว 105 เมตร. วิหาร​นี้​ถือ​เป็น​หนึ่ง​ใน​เจ็ด​สิ่ง​มหัศจรรย์​ของ​โลก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ใช่​ทุก​คน​ชอบ​วิหาร​นี้. เฮราเคลทุส นัก​ปราชญ์​แห่ง​เอเฟโซส์​เปรียบ​ทาง​เดิน​อัน​มืด​สลัว​ไป​ยัง​แท่น​บูชา​ประจำ​วิหาร​เสมือน​ความ​มืด​ทึบ​แห่ง​ความ​ชั่ว และ​เขา​ให้​ความ​เห็น​ว่า การ​ประพฤติ​ด้าน​ศีลธรรม​ใน​วิหาร​นี้​เลว​ร้าย​ยิ่ง​กว่า​เดรัจฉาน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สำหรับ​คน​ส่วน​ใหญ่​แล้ว วิหาร​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​อาร์เตมิส​แห่ง​เมือง​เอเฟโซส์​ดู​เหมือน​ไม่​มี​วัน​ล่ม​สลาย. แต่​ประวัติศาสตร์​พิสูจน์​ว่า​ไม่​ได้​เป็น​เช่น​นั้น. หนังสือ​เอเฟโซส—แดร์ นอยเอ ฟือเรอร์ (เอเฟโซส์—หนังสือ​ท่อง​เที่ยว​ฉบับ​ใหม่, ภาษา​เยอรมัน) กล่าว​ว่า “การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​และ​เทพเจ้า​อื่น ๆ เสื่อม​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​สอง.”

ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม​สากล​ศักราช เกิด​แผ่นดิน​ไหว​อย่าง​รุนแรง​ที่​เมือง​เอเฟโซส์. ยิ่ง​กว่า​นั้น พวก​กอท​ซึ่ง​เป็น​นัก​เดิน​ทะเล​ที่​มา​จาก​ทะเล​ดำ​ก็​ปล้น​วิหาร​อาร์เตมิส​อัน​มั่งคั่ง​และ​ก็​เผา. หนังสือ​ที่​เพิ่ง​อ้าง​ถึง​กล่าว​ว่า “เมื่อ​พ่าย​แพ้​และ​ไม่​สามารถ​ปก​ป้อง​ที่​อยู่​ของ​ตน​เอา​ไว้​ได้ จะ​ถือ​ว่า​อาร์เตมิส​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​เมือง​อีก​ต่อ​ไป​ได้​อย่าง​ไร?”—บทเพลง​สรรเสริญ 135:15-18.

ใน​ที่​สุด พอ​ถึง​ช่วง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​สี่​สากล​ศักราช จักรพรรดิ​ทีโอโดซิอุส​ที่ 1 ได้​รับรอง “ศาสนา​คริสเตียน” เป็น​ศาสนา​ประจำ​ชาติ. ไม่​ช้า วิหาร​อาร์เตมิส​ที่​ก่อ​สร้าง​ด้วย​หิน​ซึ่ง​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​มี​ชื่อเสียง​ก็​กลาย​เป็น​เพียง​แหล่ง​ที่​ผู้​คน​พา​กัน​มา​เอา​หิน​ไป​ใช้​ใน​การ​ก่อ​สร้าง. การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​สาบสูญ​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง. ผู้​สังเกตการณ์​ที่​ไม่​ได้​ระบุ​ชื่อ​พูด​ถึง​คำ​ยก​ยอ​ที่​มอบ​ให้​วิหาร​นี้​ใน​ฐานะ​สิ่ง​มหัศจรรย์​ของ​โลก​โบราณ​ว่า “ตอน​นี้​ก็​เป็น​แค่​สถาน​ที่​ที่​ร้าง​เปล่า​และ​น่า​สังเวช​มาก​ที่​สุด.”

จาก​อาร์เตมิส​สู่ “แม่​พระ”

เปาโล​เตือน​พวก​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​แห่ง​ประชาคม​เมือง​เอเฟโซส์​ว่า หลัง​จาก​ที่​ท่าน​จาก​ไป พวก “สุนัข​ป่า​อัน​ร้าย” จะ​ปรากฏ​ตัว​และ​เกิด​มี​บาง​คน​ใน​ท่ามกลาง​พวก​เขา “กล่าว​เลี่ยง​ความ​จริง.” (กิจการ 20:17, 29, 30) เรื่อง​นี้​ได้​เกิด​ขึ้น​จริง ๆ. เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ เผย​ให้​เห็น​ว่า การ​นมัสการ​เท็จ​ได้​แพร่​หลาย​ใน​เมือง​เอเฟโซส์​ใน​รูป​แบบ​ของ​ศาสนา​คริสเตียน​ที่​ออก​หาก.

ใน​ปี 431 สากล​ศักราช เมือง​เอเฟโซส์​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​สภา​ที่​สาม​แห่ง​คริสตจักร​ศาสนา​ทั้ง​มวล ซึ่ง​มี​การ​พิจารณา​ประเด็น​เรื่อง​ลักษณะ​ของ​พระ​คริสต์. หนังสือ​เอเฟโซส—แดร์ นอยเอ ฟือเรอร์ อธิบาย​ว่า “พวก​อะเล็กซานเดรีย ซึ่ง​เป็น​พวก​ที่​ถือ​ว่า พระ​คริสต์​มี​ลักษณะ​อย่าง​เดียว นั่น​คือ​เป็น​อย่าง​พระเจ้า . . . ได้​ชัย​ชนะ​อย่าง​เด็ดขาด.” ผล​ที่​ตาม​มา​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​กว้างขวาง. “การ​ตัดสิน​ที่​เอเฟโซส์​ทำ​ให้​มาเรีย​ถูก​ยก​ระดับ​จาก​ผู้​ให้​กำเนิด​พระ​คริสต์ เป็น​ผู้​ให้​กำเนิด​พระเจ้า เรื่อง​นี้​ไม่​เพียง​ทำ​ให้​เกิด​พื้น​ฐาน​การ​นมัสการ​มาเรีย​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทำ​ให้​เกิด​การ​แตก​แยก​ครั้ง​ใหญ่​เป็น​ครั้ง​แรก​ภาย​ใน​คริสตจักร​ด้วย. . . . ความ​ขัด​แย้ง​นี้​ยืดเยื้อ​มา​จน​ทุก​วัน​นี้.”

ด้วย​เหตุ​นี้ การ​นมัสการ​ซีเบเล​และ​อาร์เตมิส​จึง​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​การ​นมัสการ​มาเรีย​ซึ่ง​เป็น “ผู้​ให้​กำเนิด​พระเจ้า” หรือ “แม่​พระ.” ดัง​ที่​หนังสือ​นี้​กล่าว​ไว้ “การ​นมัสการ​มาเรีย​ใน​เมือง​เอเฟโซส์ . . . ยัง​คง​เป็น​ธรรมเนียม​ที่​ถือ​ปฏิบัติ​กัน​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้ ซึ่ง​เกี่ยว​โยง​กับ​การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​อย่าง​แยก​ไม่​ออก.”

เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์​ที่​ถูก​ลืม

หลัง​ความ​ตก​ต่ำ​ของ​การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​ก็​ถึง​คราว​การ​ล่ม​สลาย​ของ​เมือง​เอเฟโซส์. แผ่นดิน​ไหว, มาลาเรีย, และ​ท่า​เรือ​ที่​ค่อย ๆ ตื้น​เขิน​ทำ​ให้​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ใน​เมือง​ยาก​ลำบาก​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​สากล​ศักราช ศาสนา​อิสลาม​ได้​เริ่ม​แผ่​ขยาย​ออก​ไป. ศาสนา​อิสลาม​ไม่​เพียง​รวม​อาหรับ​เผ่า​ต่าง ๆ ให้​มี​อุดมการณ์​เดียว​กัน. แต่​กอง​เรือ​อาหรับ​ยัง​ปล้น​เมือง​เอเฟโซส์​ตลอด​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​และ​แปด​สากล​ศักราช. เมือง​เอเฟโซส์​ล่ม​สลาย​อย่าง​สิ้นเชิง​เมื่อ​ท่า​เรือ​ตื้น​เขิน​เต็ม​ที่​และ​เมือง​ก็​กลาย​เป็น​กอง​ซาก​ปรัก​หัก​พัง. มหา​นคร​ที่​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​รุ่งเรือง​กลับ​เหลือ​เพียง​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ที่​ชื่อ​ว่า อายา​โซ​ลัก (ปัจจุบัน​เซล​ชุก).

เที่ยว​ชม​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​เมือง​เอเฟโซส์

เพื่อ​จะ​รู้สึก​ถึง​ความ​รุ่งเรือง​ของ​เมือง​เอเฟโซส์​ใน​อดีต คุณ​อาจ​ไป​เที่ยว​ชม​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​เมือง​นั้น. หาก​คุณ​ตั้ง​ต้น​ที่​ทาง​เข้า​ด้าน​บน คุณ​จะ​รู้สึก​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​กับ​ทัศนียภาพ​อัน​งดงาม​ของ​ถนน​คูเรเทส​ที่​ทอด​ยาว​ไป​จน​ถึง​ห้อง​สมุด​ของ​เซลซุส. โอเดียม—โรง​มหรสพ​ขนาด​เล็ก​ที่​สร้าง​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช—ซึ่ง​อยู่​ฝั่ง​ขวา​ของ​ถนน​คง​เป็น​สถาน​ที่​ที่​น่า​สนใจ​สำหรับ​คุณ. โรง​มหรสพ​นี้​จุ​คน​ได้​ประมาณ 1,500 ที่​นั่ง จึง​ไม่​ได้​มี​ไว้​เพื่อ​การ​ประชุม​สภา​เพียง​อย่าง​เดียว แต่​เป็น​สถาน​ที่​ให้​ความ​บันเทิง​แก่​ผู้​คน​ด้วย. ถนน​คูเรเทส​มี​สิ่ง​ปลูก​สร้าง​เรียง​ราย​อยู่​สอง​ฟาก อย่าง​เช่น สเตต อะกอรา​ซึ่ง​เป็น​สถาน​ที่​ที่​มี​การ​พิจารณา​เรื่อง​ราว​ต่าง ๆ ของ​เมือง, วิหาร​เฮเดรียน, น้ำพุ​สาธารณะ​บาง​แห่ง, และ​บ้าน​ที่​ปลูก​เรียง​ราย​อยู่​ข้าง​เนิน​เขา—ซึ่ง​เป็น​บ้าน​ของ​ชาว​เอเฟโซส์​ที่​มี​ชื่อเสียง.

คุณ​จะ​ประทับใจ​ใน​ความ​งดงาม​ของ​ห้อง​สมุด​ของ​เซลซุส​อัน​หรูหรา​ซึ่ง​สร้าง​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​สากล​ศักราช. มี​การ​เก็บ​ม้วน​หนังสือ​จำนวน​มาก​ไว้​ที่​ช่อง​ผนัง​ของ​ห้อง​อ่าน​หนังสือ​ขนาด​ใหญ่. รูป​แกะ​สลัก​อัน​งดงาม​ทั้ง​สี่​ที่​อยู่​ด้าน​หน้า​ห้อง​สมุด​พรรณนา​คุณลักษณะ​อัน​เป็น​แบบ​ฉบับ​ซึ่ง​คาด​หมาย​จาก​ข้าราชการ​โรมัน​ระดับ​สูง​อย่าง​เช่น เซลซุส โดย​รูป​แกะ​สลัก​ทั้ง​สี่​มี​ชื่อ​ว่า โซเฟีย (สติ​ปัญญา), อาเรเต (คุณธรรม), เอเนีย (ความ​เลื่อมใส), และ​เอพิส​ตี​มี (ความ​รู้​หรือ​ความ​เข้าใจ). รูป​แกะ​สลัก​ต้น​แบบ​อยู่​ที่​พิพิธภัณฑ์​เอเฟโซส์​ใน​กรุง​เวียนนา. ส่วน​ที่​อยู่​ถัด​จาก​ลาน​หน้า​ห้อง​สมุด​คือ ประตู​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​จะ​นำ​คุณ​ไป​สู่​เตตราโกโนส อะกอรา​ซึ่ง​ก็​คือ​ตลาด. จัตุรัส​ใหญ่​นี้​ล้อม​รอบ​ด้วย​ทาง​เดิน​ที่​มี​หลังคา เป็น​ที่​ที่​ผู้​คน​ทำ​การ​ค้า​ขาย​กัน​ตาม​ปกติ.

ถัด​มา​คือ​ถนน​หิน​อ่อน​ซึ่ง​จะ​นำ​คุณ​สู่​โรง​มหรสพ​ขนาด​ใหญ่. การ​ต่อ​เติม​ครั้ง​สุด​ท้าย​ที่​ทำ​ใน​สมัย​จักรวรรดิ​โรมัน​ทำ​ให้​โรง​มหรสพ​นี้​จุ​ผู้​ชม​ได้​ประมาณ 25,000 คน. ด้าน​หน้า​ของ​โรง​มหรสพ​นี้​ได้​รับ​การ​ตกแต่ง​อย่าง​อลังการ​ด้วย​เสา​หิน, ภาพ​นูน, และ​รูป​แกะ​สลัก. คุณ​คง​นึก​ภาพ​ได้​อย่าง​แจ่ม​ชัด​ถึง​ความ​โกลาหล​วุ่นวาย​ซึ่ง​เกิด​จาก​ช่าง​เงิน​เดเมเตรียว​ปลุกปั่น​ฝูง​ชน​ที่​มา​รวม​ตัว​กัน​ที่​นั่น.

ถนน​ที่​ทอด​ยาว​จาก​โรง​มหรสพ​ขนาด​ใหญ่​ไป​ยัง​ท่า​เรือ​ของ​เมือง​ก็​เป็น​ถนน​ที่​สวย​งาม. ถนน​นี้​มี​ความ​ยาว​ประมาณ 500 เมตร​และ​กว้าง 11 เมตร เรียง​ราย​ไป​ด้วย​เสา​หิน​ทั้ง​สอง​ด้าน. ตาม​เส้น​ทาง​นี้​มี​การ​สร้าง​โรง​พลศึกษา​บริเวณ​โรง​มหรสพ​และ​ท่า​เรือ​เพื่อ​ใช้​ใน​การ​ออก​กำลัง​กาย​ด้วย. ประตู​ท่า​เรือ​ที่​น่า​ประทับใจ​ซึ่ง​อยู่​สุด​ถนน​สาย​นี้​เป็น​ประตู​สู่​โลก​กว้าง และ​การ​เยี่ยม​ชม​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ที่​น่า​สนใจ​ที่​สุด​ใน​โลก​ก็​สิ้น​สุด​ลง​ที่​นี่. พิพิธภัณฑ์​เอเฟโซส์​ใน​กรุง​เวียนนา​มี​แบบ​จำลอง​มหา​นคร​ทาง​ประวัติศาสตร์​แห่ง​นี้​ซึ่ง​ทำ​จาก​ไม้ รวม​ทั้ง​สิ่ง​ปลูก​สร้าง​อื่น ๆ มาก​มาย​ด้วย.

การ​ไป​เที่ยว​พิพิธภัณฑ์​และ​เยี่ยม​ชม​รูป​แกะ​สลัก​อาร์เตมิส​แห่ง​เมือง​เอเฟโซส์​คง​ทำ​ให้​เรา​อด​ไม่​ได้​ที่​จะ​นึก​ถึง​ความ​อด​ทน​ของ​คริสเตียน​รุ่น​แรก​ใน​เมือง​นั้น. พวก​เขา​ต้อง​อาศัย​อยู่​ใน​เมือง​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ลัทธิ​ภูติ​ผี​ปิศาจ​และ​ความ​งมงาย​เนื่อง​จาก​อคติ​ทาง​ศาสนา. ข่าวสาร​ราชอาณาจักร​ถูก​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง​จาก​ผู้​นมัสการ​อาร์เตมิส. (กิจการ 19:19; เอเฟโซ 6:12; วิวรณ์ 2:1-3) ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ไม่​เอื้ออำนวย​แบบ​นี้ การ​นมัสการ​แท้​ก็​ยัง​ตั้ง​มั่นคง​ขึ้น​ได้. การ​นมัสการ​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​จะ​มี​ชัย​เช่น​กัน เมื่อ​ศาสนา​เท็จ​ใน​สมัย​ของ​เรา​จะ​พบ​จุด​จบ​เช่น​เดียว​กับ​การ​นมัสการ​อาร์เตมิส​ใน​สมัย​โบราณ.—วิวรณ์ 18:4-8.

[แผนที่/ภาพ​หน้า 26]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

มาซิโดเนีย

ทะเล​ดำ

เอเชีย​น้อย

เอเฟโซส์

ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน

อียิปต์

[ภาพ​หน้า 27]

ส่วน​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่​ของ​วิหาร​อาร์เตมิส

[ภาพ​หน้า 29]

1. ห้อง​สมุด​ของ​เซลซุส

2. ภาพ​ขยาย​ของ​อาเรเต

3. ถนน​หิน​อ่อน​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​โรง​มหรสพ​ขนาด​ใหญ่