ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“พวกเขาก็เรียกประชุมสภาซันเฮดริน”

“พวกเขาก็เรียกประชุมสภาซันเฮดริน”

“พวก​เขา​ก็​เรียก​ประชุม​สภา​ซันเฮดริน”

มหา​ปุโรหิต​และ​บรรดา​ผู้​ปกครอง​ชาว​ยิว​ไม่​รู้​จะ​ทำ​อย่าง​ไร. พวก​เขา​จะ​ทำ​ให้​ความ​วุ่นวาย​ที่​เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​พระ​เยซู​คริสต์​สงบ​ลง​ได้​อย่าง​ไร? พวก​เขา​ทำ​ให้​พระองค์​ถูก​ประหาร​ได้​สำเร็จ​แล้ว แต่​ตอน​นี้​สาวก​ของ​พระ​เยซู​กำลัง​ทำ​ให้​ผู้​คน​ทั่ว​ทั้ง​กรุง​เยรูซาเลม​พูด​กัน​ถึง​เรื่อง​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์. พวก​เขา​จะ​ทำ​ให้​คน​เหล่า​นั้น​เงียบ​เสียง​ได้​อย่าง​ไร? เพื่อ​จะ​หา​ข้อ​ยุติ​ใน​เรื่อง​นี้ มหา​ปุโรหิต​และ​บรรดา​ผู้​ช่วย​ของ​เขา​จึง​ได้ “เรียก​ประชุม​สภา​ซันเฮดริน” ซึ่ง​เป็น​ศาล​สูง​สุด​ของ​ชาว​ยิว.—กิจการ 5:21, ล.ม.

ใน​อิสราเอล​สมัย​ศตวรรษ​แรก ปนเตียว ปีลาต ผู้​สำเร็จ​ราชการ​ชาว​โรมัน​คือ​ผู้​มี​อำนาจ​สูง​สุด. แต่​สภา​ซันเฮดริน​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ปีลาต​อย่าง​ไร? พวก​เขา​แบ่ง​ขอบ​เขต​อำนาจ​กัน​อย่าง​ไร? สภา​ซันเฮดริน​ประกอบ​ด้วย​ใคร​บ้าง? และ​สภา​นี้​ดำเนิน​งาน​อย่าง​ไร?

ความ​เป็น​มา​ของ​สภา​ซันเฮดริน

คำ​ภาษา​กรีก​ที่​มี​การ​แปล​ว่า “ซันเฮดริน” ตาม​ตัว​อักษร​หมาย​ถึง “การ​นั่ง​ลง​กับ.” คำ​นี้​เป็น​คำ​ธรรมดา​ที่​ใช้​กับ​การ​ชุมนุม​หรือ​ประชุม​กัน. ตาม​เรื่อง​ที่​เล่า​ต่อ​กัน​มา​ของ​ชาว​ยิว คำ​นี้​โดย​ทั่ว​ไป​หมาย​ถึง​คณะ​ตัดสิน​ความ​ทาง​ศาสนา​หรือ​ศาล.

เหล่า​ผู้​เขียน​ทัลมุด ซึ่ง​เป็น​หนังสือ​ที่​รวบ​รวม​ขึ้น​หลัง​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี​สากล​ศักราช 70 ได้​พรรณนา​ถึง​ซันเฮดริน​ว่า​เป็น​คณะ​บุคคล​ที่​เก่า​แก่. พวก​เขา​คิด​ว่า​คณะ​ดัง​กล่าว​ประกอบ​ด้วย​ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​มา​ประชุม​กัน​เพื่อ​ถก​ประเด็น​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​ของ​ชาว​ยิว และ​เชื่อ​กัน​ว่า​คณะ​บุคคล​เช่น​นี้​มี​มา​ตั้ง​แต่​สมัย​ที่​โมเซ​ได้​เรียก​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่ 70 คน​มา​เพื่อ​ช่วย​นำ​ชาติ​อิสราเอล. (อาฤธโม 11:16, 17) นัก​ประวัติศาสตร์​หลาย​คน​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​ความ​คิด​นี้. พวก​เขา​บอก​ว่า​อิสราเอล​ไม่​เคย​มี​คณะ​ที่​คล้าย​กับ​ซันเฮดริน​ใน​ศตวรรษ​แรก จน​กระทั่ง​เมื่อ​ตก​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​เปอร์เซีย​แล้ว. นัก​ประวัติศาสตร์​ยัง​เชื่อ​ด้วย​ว่า​ลักษณะ​ของ​คณะ​ดัง​กล่าว​ตาม​แง่​คิด​ของ​เหล่า​นัก​ศึกษา​ทัลมุด​นั้น​มี​ความ​คล้ายคลึง​กับ​การ​ประชุม​ของ​พวก​รับบี​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​และ​สาม​มาก​กว่า​สภา​ซันเฮดริน​ใน​ศตวรรษ​แรก. ถ้า​เช่น​นั้น สภา​ซันเฮดริน​เริ่ม​มี​ขึ้น​เมื่อ​ไร?

คัมภีร์​ไบเบิล​เปิด​เผย​ว่า​เชลย​จาก​บาบิโลน​ที่​กลับ​ไป​ยัง​ยูดาห์​ใน​ปี 537 ก่อน​สากล​ศักราช​มี​องค์การ​แห่ง​ชาติ​ของ​ตน​เอง. นะเฮมยา​และ​เอษรา​กล่าว​ถึง​พวก​เจ้านาย, ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่, ขุนนาง, และ​เจ้าหน้าที่ ซึ่ง​อาจ​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ซันเฮดริน​ใน​เวลา​ต่อ​มา.—เอษรา 10:8; นะเฮมยา 5:7, ฉบับ​แปล​ใหม่.

ช่วง​เวลา​ตั้ง​แต่​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เขียน​เสร็จ​ไป​จน​ถึง​การ​เขียน​กิตติคุณ​มัดธาย​เป็น​ช่วง​หนึ่ง​ที่​วุ่นวาย​สำหรับ​ชาว​ยิว. ใน​ปี 332 ก่อน ส.ศ. อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​เข้า​ครอบครอง​ยูเดีย. เมื่อ​อะเล็กซานเดอร์​สิ้น​พระ​ชนม์ ยูเดีย​ก็​ตก​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​อาณาจักร​กรีก​สอง​อาณาจักร​ที่​อยู่​ใน​เขต​อำนาจ​ของ​อะเล็กซานเดอร์ ตอน​แรก​คือ​ปโตเลมี และ​ต่อ​มา​ก็​เซเลอคิด. ใน​บันทึก​การ​ครอบครอง​ของ​เซเลอคิด​ซึ่ง​เริ่ม​ใน​ปี 198 ก่อน ส.ศ. เรา​พบ​ว่า​มี​การ​อ้าง​ถึง​สภา​สูง​ของ​ชาว​ยิว​เป็น​ครั้ง​แรก. สภา​นี้​ดู​เหมือน​ว่า​มี​อำนาจ​จำกัด แต่​ก็​ทำ​ให้​พวก​ยิว​มี​สิ่ง​ซึ่ง​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ปกครอง​ตน​เอง.

ใน​ปี 167 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์​อันทิโอกุส​ที่​สี่ (เอพิฟาเนส) แห่ง​ราชวงศ์​เซเลอคิด​พยายาม​จะ​ทำ​ให้​พวก​ยิว​รับ​เอา​วัฒนธรรม​กรีก​ให้​ได้. เขา​ดูหมิ่น​พระ​วิหาร​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​โดย​ถวาย​หมู​ตัว​หนึ่ง​เป็น​เครื่อง​บูชา​แก่​พระ​ซูส​บน​แท่น​ที่​พระ​วิหาร. สิ่ง​นี้​เร้า​ให้​เกิด​การ​กบฏ​ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ให้​พวก​แมกคาบี​แยก​ตัว​ออก​จาก​การ​ปกครอง​ของ​เซเลอคิด​และ​ตั้ง​ราชวงศ์​ฮัสโมเนียน​ขึ้น. * ใน​เวลา​เดียว​กัน พวก​อาลักษณ์​และ​ฟาริซาย​ซึ่ง​เป็น​ผู้​นำ​ประชาชน​และ​เป็น​ผู้​สนับสนุน​ให้​มี​การ​ก่อ​กบฏ​ก็​ได้​รับ​อำนาจ​ใน​การ​บริหาร ยัง​ผล​ให้​ชน​ชั้น​ปุโรหิต​สูญ​เสีย​อำนาจ.

สภา​ซันเฮดริน​ที่​พรรณนา​ไว้​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​กำลัง​เป็น​รูป​เป็น​ร่าง​ขึ้น​มา. สภา​นี้​กำลัง​จะ​กลาย​เป็น​สภา​บริหาร​แห่ง​ชาติ​และ​เป็น​คณะ​ตัดสิน​ความ​สูง​สุด​ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​ตี​ความ​กฎหมาย​ของ​ยิว.

การ​ถ่วง​ดุล​อำนาจ

เมื่อ​ถึง​ศตวรรษ​แรก โรม​เป็น​เจ้าของ​ยูเดีย. แต่​ชาว​ยิว​ก็​มี​เสรีภาพ​ใน​ระดับ​หนึ่ง. เป็น​นโยบาย​ของ​โรม​ที่​จะ​ให้​ชาติ​ใน​อาณัติ​มี​สิทธิ​ปกครอง​ตน​เอง​มาก​พอ​สม​ควร. ดัง​นั้น เจ้าหน้าที่​ของ​โรม​จึง​ไม่​มา​ยุ่ง​เกี่ยว​กับ​งาน​ต่าง ๆ ของ​ศาล​ท้องถิ่น และ​พวก​เขา​หลีก​เลี่ยง​ปัญหา​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​เนื่อง​จาก​ความ​แตกต่าง​ทาง​วัฒนธรรม. โรม​ต้องการ​จะ​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​และ​ความ​ภักดี​ของ​พลเมือง​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​ปกครอง​ของ​ตน โดย​ยอม​ให้​ประชาชน​ปฏิบัติ​ตาม​ธรรมเนียม​ของ​ตน​เอง​และ​ปกครอง​ตน​เอง​ใน​ระดับ​พื้น​ฐาน. นอก​เหนือ​จาก​การ​แต่ง​ตั้ง​และ​ถอด​ถอน​มหา​ปุโรหิต​ผู้​เป็น​ประธาน​ของ​สภา​ซันเฮดริน​และ​การ​เก็บ​ภาษี​แล้ว ชาว​โรมัน​จะ​เข้า​แทรกแซง​กิจการ​ของ​ชาว​ยิว​ก็​ต่อ​เมื่อ​เรื่อง​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อำนาจ​อธิปไตย​และ​ผล​ประโยชน์​ของ​โรม​เอง​เท่า​นั้น. ดัง​ที่​เห็น​จาก​กรณี​ของ​พระ​เยซู โรม​ดู​เหมือน​จะ​สงวน​อำนาจ​ของ​ตน​ใน​การ​เป็น​ผู้​สั่ง​ลง​โทษ​ประหาร​ชีวิต.—โยฮัน 18:31.

ด้วย​เหตุ​นี้ สภา​ซันเฮดริน​จึง​ดู​แล​กิจการ​ภาย​ใน​ของ​ชาว​ยิว​เกือบ​ทุก​เรื่อง. พวก​เขา​มี​เจ้าหน้าที่​สำหรับ​จับ​กุม. (โยฮัน 7:32) ศาล​ชั้น​ต้น​ทั่ว​ไป​พิจารณา​คดี​อาญา​และ​คดี​แพ่ง​ที่​ไม่​รุนแรง​โดย​ที่​โรม​ไม่​เข้า​มา​แทรกแซง. เมื่อ​ศาล​ชั้น​ต้น​ไม่​สามารถ​จะ​ตัดสิน​คดี​ใด​คดี​หนึ่ง​ได้​ก็​จะ​ส่ง​ต่อ​ไป​ยัง​ซันเฮดริน ซึ่ง​คำ​วินิจฉัย​ชี้ขาด​ของ​สภา​นี้​ถือ​เป็น​ที่​สุด.

เพื่อ​จะ​คง​ไว้​ซึ่ง​อำนาจ​ดัง​กล่าว ซันเฮดริน​จะ​ต้อง​รักษา​สันติ​สุข​และ​สนับสนุน​การ​ปกครอง​ของ​โรม. แต่​หาก​พวก​โรมัน​เกิด​สงสัย​ว่า​มี​การ​ต่อ​ต้าน​ทาง​การ​เมือง พวก​เขา​ก็​จะ​เข้า​แทรกแซง​และ​ดำเนิน​การ​ตาม​ที่​เห็น​สม​ควร. กรณี​หนึ่ง​ใน​ลักษณะ​นี้​ได้​แก่​การ​จับ​กุม​อัครสาวก​เปาโล.—กิจการ 21:31-40.

สมาชิก​ของ​ศาล

สภา​ซันเฮดริน​มี​สมาชิก 71 คน คือ​มี​มหา​ปุโรหิต​กับ​คน​สำคัญ​ของ​ชาติ​อีก 70 คน. ใน​ยุค​โรมัน สภา​นี้​ประกอบ​ด้วย​ขุนนาง​เชื้อ​สาย​ปุโรหิต (ส่วน​ใหญ่​เป็น​พวก​ซาดูกาย), ชน​ชั้น​สูง​ที่​ไม่​มี​เชื้อ​สาย​ปุโรหิต, และ​อาลักษณ์​ที่​ชำนาญ​ฝ่าย​ฟาริซาย. กลุ่ม​ขุนนาง​เชื้อ​สาย​ปุโรหิต​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​สามัญ​ชน​ผู้​มี​ชื่อเสียง​เป็น​ผู้​กุม​อำนาจ​ใน​สภา​แห่ง​นี้. * พวก​ซาดูกาย​เป็น​พวก​อนุรักษ์​นิยม ส่วน​พวก​ฟาริซาย​นั้น​เป็น​เสรี​นิยม​และ​โดย​มาก​เป็น​สามัญ​ชน​ที่​มี​อิทธิพล​ใน​หมู่​ประชาชน. ตาม​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​โยเซฟุส​กล่าว​ไว้ พวก​ซาดูกาย​ไม่​เห็น​พ้อง​กับ​พวก​ฟาริซาย​เท่า​ไร​นัก. เปาโล​ฉวย​ประโยชน์​จาก​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​และ​ความ​แตกต่าง​ด้าน​ความ​เชื่อ​ของ​สอง​กลุ่ม​นี้​เมื่อ​ท่าน​ให้​การ​เพื่อ​สู้​คดี​ต่อ​หน้า​ซันเฮดริน.—กิจการ 23:6-9.

เนื่อง​จาก​สมาชิก​ส่วน​ใหญ่​ของ​สภา​ซันเฮดริน​เป็น​ชน​ชั้น​สูง​จึง​เป็น​ไป​ได้​ว่า​ทั้ง​หมด​จะ​เป็น​สมาชิก​ถาวร​และ​หาก​มี​ตำแหน่ง​ว่าง​ลง​สมาชิก​ที่​เหลือ​อยู่​ก็​จะ​แต่ง​ตั้ง​คน​ใหม่​เข้า​มา​ทำ​หน้า​ที่​แทน. ตาม​ที่​เขียน​ใน​มิชนาห์ สมาชิก​ใหม่​จะ​ต้อง​เป็น “ปุโรหิต, คน​ใน​ตระกูล​เลวี, และ​ชาว​อิสราเอล​ที่​บุตร​สาว​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​สมรส​กับ​ปุโรหิต” นั่น​คือ ชาว​ยิว​ที่​สามารถ​แสดง​บันทึก​ลำดับ​วงศ์​ตระกูล​ของ​ตน​ที่​ยืน​ยัน​ว่า​พวก​เขา​เป็น​ยิว​แท้. เนื่อง​จาก​ศาล​สูง​จะ​ดู​แล​งาน​ฝ่าย​ตุลาการ​ทั่ว​ทั้ง​ประเทศ จึง​ดู​เหมือน​ว่า​สม​เหตุ​สม​ผล​ที่​ชาย​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ใน​ศาล​ระดับ​ล่าง​จะ​ได้​รับ​การ​เลื่อน​ขั้น​ให้​มา​รับ​ตำแหน่ง​ใน​สภา​ซันเฮดริน.

เขต​อำนาจ​และ​อำนาจ​ปกครอง

ชาว​ยิว​ให้​ความ​นับถือ​สภา​ซันเฮดริน​อย่าง​สูง และ​ผู้​พิพากษา​ใน​ศาล​ระดับ​ล่าง​จะ​ต้อง​ยอม​รับ​คำ​วินิจฉัย​ชี้ขาด​ของ​ซันเฮดริน ไม่​เช่น​นั้น​พวก​เขา​จะ​มี​โทษ​ถึง​ตาย. ศาล​ซันเฮดริน​ให้​ความ​สำคัญ​เป็น​พิเศษ​ใน​เรื่อง​คุณสมบัติ​ของ​ปุโรหิต​และ​เรื่อง​อื่น ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เยรูซาเลม, พระ​วิหาร, และ​การ​นมัสการ​ที่​พระ​วิหาร. ที่​จริง​แล้ว เขต​อำนาจ​ตาม​กฎหมาย​ของ​ซันเฮดริน​ครอบ​คลุม​เฉพาะ​แคว้น​ยูเดีย​เท่า​นั้น. แต่​เนื่อง​จาก​ถือ​กัน​ว่า​ซันเฮดริน​มี​อำนาจ​สูง​สุด​ใน​การ​ตี​ความ​พระ​บัญญัติ สภา​นี้​จึง​มี​อิทธิพล​ใน​การ​กำหนด​มาตรฐาน​ทาง​ศีลธรรม​ใน​ชุมชน​ชาว​ยิว​ทั่ว​โลก. ตัว​อย่าง​เช่น มหา​ปุโรหิต​กับ​สภา​ที่​ปรึกษา​ได้​สั่ง​พวก​ผู้​นำ​ใน​ธรรมศาลา​ต่าง ๆ ที่​เมือง​ดามัสกัส​ให้​ความ​ร่วม​มือ​ใน​การ​จับ​กุม​สาวก​ของ​พระ​คริสต์. (กิจการ 9:1, 2; 22:4, 5; 26:12) ทำนอง​เดียว​กัน ชาว​ยิว​ที่​มา​เยือน​เยรูซาเลม​ใน​ช่วง​เทศกาล​อาจ​นำ​ข่าว​เกี่ยว​กับ​คำ​ประกาศ​ของ​สภา​ซันเฮดริน​กลับ​ไป​ยัง​เมือง​ของ​ตน.

ตาม​ที่​เขียน​ไว้​ใน​มิชนาห์ ซันเฮดริน​มี​อำนาจ​ตัดสิน​เพียง​ผู้​เดียว​ใน​เรื่อง​สำคัญ ๆ ระดับ​ชาติ, ใน​การ​จัด​การ​กับ​ผู้​พิพากษา​ที่​ไม่​ยอม​รับ​การ​ตัดสิน​ของ​สภา, และ​ใน​การ​พิพากษา​ผู้​พยากรณ์​เท็จ. พระ​เยซู​และ​ซะเตฟาโน​ต้อง​ไป​ขึ้น​ศาล​เนื่อง​จาก​ถูก​ตั้ง​ข้อ​หา​ว่า​เป็น​ผู้​หมิ่น​ประมาท, เปโตร​กับ​โยฮัน​ถูก​ตั้ง​ข้อ​หา​ว่า​เป็น​ผู้​ทำลาย​ชาติ, และ​เปาโล​ถูก​ตั้ง​ข้อ​หา​ว่า​เป็น​ผู้​ทำ​ให้​พระ​วิหาร​เป็น​มลทิน.—มาระโก 14:64; กิจการ 4:15-17; 6:11; 23:1; 24:6.

การ​พิพากษา​พระ​เยซู​และ​สาวก

ยก​เว้น​วัน​ซะบาโต​และ​วัน​บริสุทธิ์ สภา​ซันเฮดริน​มี​การ​ประชุม​ตัดสิน​ความ​ทุก​วัน ตั้ง​แต่​เวลา​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ตอน​เช้า​จน​ถึง​การ​ถวาย​ของ​ถวาย​ตอน​เย็น. มี​การ​พิจารณา​คดี​เฉพาะ​ใน​เวลา​กลางวัน​เท่า​นั้น. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​การ​ประกาศ​โทษ​ประหาร​ชีวิต​จน​กว่า​จะ​ถึง​วัน​ถัด​จาก​วัน​พิจารณา​คดี จึง​ไม่​มี​การ​พิจารณา​คดี​ที่​มี​โทษ​เช่น​นั้น​ใน​วัน​ก่อน​วัน​ซะบาโต​หรือ​ก่อน​เทศกาล. ผู้​เป็น​พยาน​ใน​คดี​ต่าง ๆ ได้​รับ​การ​เตือน​อย่าง​จริงจัง​ถึง​ความ​ร้ายแรง​ของ​การ​ทำ​ให้​โลหิต​ของ​ผู้​ไม่​มี​ความ​ผิด​ไหล​ออก. เพราะ​ฉะนั้น การ​พิจารณา​คดี​ใน​เวลา​กลางคืน​และ​การ​ตัดสิน​ลง​โทษ​พระ​เยซู​ซึ่ง​มี​ขึ้น​ที่​บ้าน​ของ​กายะฟา​ใน​คืน​ก่อน​เทศกาล​จึง​เป็น​เรื่อง​ที่​ผิด​กฎหมาย. ที่​แย่​ยิ่ง​กว่า​นั้น​คือ ผู้​พิพากษา​เอง​ได้​ไป​หา​พยาน​เท็จ​มา​และ​เกลี้ยกล่อม​ปีลาต​ให้​สั่ง​ประหาร​พระ​เยซู.—มัดธาย 26:57-59; โยฮัน 11:47-53; 19:31.

ตาม​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​ทัลมุด ผู้​พิพากษา​ใน​คดี​ที่​มี​โทษ​ประหาร​ชีวิต​จะ​พยายาม​รักษา​ชีวิต​จำเลย​ไว้​ใน​ระหว่าง​ที่​การ​ตรวจ​สอบ​หลักฐาน​ต่าง ๆ อย่าง​ละเอียด​ยัง​ดำเนิน​อยู่. อย่าง​ไร​ก็​ดี เช่น​เดียว​กับ​กรณี​ของ​พระ​เยซู​ก่อน​หน้า​นั้น ซะเตฟาโน​ไม่​ได้​รับ​การ​พิจารณา​คดี​ใน​ลักษณะ​นั้น. คำ​ให้​การ​ของ​เขา​ต่อ​หน้า​สภา​ซันเฮดริน​ทำ​ให้​เขา​ถูก​ฝูง​ชน​เอา​หิน​ขว้าง​ตาย. ถ้า​รัฐบาล​โรมัน​ไม่​เข้า​มา​แทรกแซง อัครสาวก​เปาโล​ก็​คง​จะ​ถูก​ฆ่า​ตาย​ใน​สถานการณ์​คล้าย ๆ กัน. ที่​จริง ผู้​พิพากษา​ของ​ซันเฮดริน​คบ​คิด​กัน​จะ​สังหาร​ท่าน.—กิจการ 6:12; 7:58; 23:6-15.

มี​สมาชิก​ของ​ซันเฮดริน​อย่าง​น้อย​สอง​สาม​คน​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​คน​มี​หลักการ. ขุนนาง​หนุ่ม​ชาว​ยิว​ซึ่ง​เคย​สนทนา​กับ​พระ​เยซู​อาจ​เป็น​สมาชิก​คน​หนึ่ง​ของ​ซันเฮดริน. ถึง​แม้​ว่า​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​ของ​ชาย​คน​นี้​จะ​เป็น​อุปสรรค แต่​เขา​คง​ต้อง​เป็น​คน​ดี​มี​คุณธรรม เพราะ​พระ​เยซู​ทรง​เชิญ​เขา​มา​เป็น​ผู้​ติด​ตาม​พระองค์.—มัดธาย 19:16-22; ลูกา 18:18, 22.

ความ​กลัว​ว่า​ผู้​พิพากษา​คน​อื่น ๆ จะ​ไม่​พอ​ใจ​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​นิโกเดโม ซึ่ง​เป็น “ขุนนาง​ใน​พวก​ยูดาย” มา​หา​พระ​เยซู​ใน​ตอน​กลางคืน. กระนั้น นิโกเดโม​ได้​ปก​ป้อง​พระ​เยซู​ต่อ​หน้า​ซันเฮดริน​โดย​กล่าว​ว่า “กฎหมาย​ของ​เรา​ย่อม​พิพากษา​คน​ใด​หรือ, เมื่อ​ยัง​ไม่​ได้​ฟัง​เขา​ก่อน​และ​รู้​ว่า​เขา​ได้​ทำ​อะไร​บ้าง?” ต่อ​มา​ภาย​หลัง​นิโกเดโม​ได้​เอา “มดยอบ​กับ​อาโลเอ” มา​เพื่อ​เตรียม​พระ​ศพ​พระ​เยซู​สำหรับ​ฝัง.—โยฮัน 3:1, 2; 7:51, 52; 19:39.

โยเซฟ​ชาว​อาริมาธาย สมาชิก​อีก​คน​หนึ่ง​ของ​สภา​ซันเฮดริน ได้​แสดง​ความ​กล้า​เข้า​ไป​ขอ​พระ​ศพ​ของ​พระ​เยซู​จาก​ปีลาต​และ​นำ​ไป​ไว้​ใน​อุโมงค์​ของ​ตน​ที่​ยัง​ไม่​ได้​ใช้. โยเซฟ “แสวง​หา​แผ่นดิน​ของ​พระเจ้า” แต่​เพราะ​กลัว​พวก​ยิว เขา​จึง​ไม่​แสดง​ตัว​ว่า​เป็น​สาวก​คน​หนึ่ง​ของ​พระ​เยซู. อย่าง​ไร​ก็​ตาม โยเซฟ​สม​ควร​ได้​รับ​คำ​ชม เพราะ​เขา​ไม่​ได้​ลง​คะแนน​เสียง​สนับสนุน​แผนการ​ของ​ซันเฮดริน​ที่​ทำ​ให้​พระ​เยซู​ถูก​ประหาร.—มาระโก 15:43-46; มัดธาย 27:57-60; ลูกา 23:50-53; โยฮัน 19:38.

ฆามาลิเอล สมาชิก​อีก​คน​หนึ่ง​ของ​สภา​ซันเฮดริน​ได้​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​สุขุม​แก่​เพื่อน​ผู้​พิพากษา​ให้​เลิก​ยุ่ง​กับ​สาวก​ของ​พระ​เยซู. เขา​กล่าว​ว่า “เกรง​ว่า​พวก​ท่าน​กลับ​จะ​เป็น​ฝ่าย​สู้​รบ​กับ​พระเจ้า.” (กิจการ 5:34-39, ฉบับ​แปล 2002) อะไร​ทำ​ให้​ศาล​สูง​ไม่​สังเกต​ว่า​พระ​เยซู​และ​สาวก​ของ​พระองค์​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​พระเจ้า? แทน​ที่​พวก​เขา​จะ​ยอม​รับ​การ​อัศจรรย์​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ทำ สภา​ซันเฮดริน​กลับ​คิด​กัน​ว่า “เรา​จะ​ทำ​อย่าง​ไร, ด้วย​ว่า​คน​นั้น​ทำ​การ​เป็น​ศุภนิมิต​หลาย​ประการ. ถ้า​เรา​ปล่อย​เขา​ไว้​เช่น​นี้, คน​ทั้ง​ปวง​จะ​เชื่อถือ​เขา, แล้ว​พวก​โรม​จะ​มา​ริบ​เอา​ทั้ง​ที่​และ​พลเมือง​ของ​เรา​ไป.” (โยฮัน 11:47, 48) ความ​กระหาย​ใน​อำนาจ​ได้​บิดเบือน​ความ​ยุติธรรม​ใน​ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว. นอก​จาก​นั้น แทน​ที่​จะ​ยินดี​เมื่อ​สาวก​ของ​พระ​เยซู​รักษา​ผู้​คน พวก​หัวหน้า​ศาสนา “เกิด​มี​ความ​อิจฉา.” (กิจการ 5:17) ใน​ฐานะ​ผู้​พิพากษา พวก​เขา​ควร​เกรง​กลัว​พระเจ้า​และ​มี​ความ​ยุติธรรม แต่​สมาชิก​ส่วน​ใหญ่​กลับ​ทุจริต​และ​ไม่​ซื่อ​สัตย์.—เอ็กโซโด 18:21; พระ​บัญญัติ 16:18-20.

การ​พิพากษา​ของ​พระเจ้า

เนื่อง​จาก​พวก​อิสราเอล​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​และ​ปฏิเสธ​พระ​มาซีฮา ใน​ที่​สุด​พระ​ยะโฮวา​ก็​ไม่​ทรง​ยอม​รับ​ชาติ​นี้​เป็น​ประชาชน​ที่​ทรง​เลือก​สรร. ใน​ปี​สากล​ศักราช 70 ชาว​โรมัน​ได้​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม​กับ​พระ​วิหาร​ใน​กรุง​นี้ และ​ทำ​ให้​ระบบ​ยิว​ทั้ง​หมด​จบ​สิ้น และ​ใน​ที่​สุด​สภา​ซันเฮดริน​เอง​ก็​สิ้น​สุด​ลง​เช่น​กัน.

พระ​เยซู​คริสต์ ผู้​พิพากษา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​พระ​ยะโฮวา จะ​เป็น​ผู้​ตัดสิน​ชี้ขาด​ว่า​สมาชิก​คน​ใด​ของ​สภา​ซันเฮดริน​ใน​ศตวรรษ​แรก​สม​ควร​จะ​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย และ​คน​ใด​ที่​ได้​ทำ​บาป​ต่อ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์. (มาระโก 3:29; โยฮัน 5:22) เรา​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​พระ​เยซู​จะ​ทรง​ตัดสิน​เรื่อง​นี้​อย่าง​ยุติธรรม​ที่​สุด.—ยะซายา 11:3-5.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 9 สำหรับ​เรื่อง​ของ​แมกคาบี​และ​ฮัสโมเนียน โปรด​ดู​วารสาร​หอสังเกตการณ์​ฉบับ 15 พฤศจิกายน 1998 หน้า 21-24 และ​ฉบับ 15 มิถุนายน 2001 หน้า 27-30.

^ วรรค 16 เมื่อ​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง “พวก​ปุโรหิต​ใหญ่” นั่น​หมาย​ถึง​มหา​ปุโรหิต​ที่​ยัง​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​และ​อดีต​มหา​ปุโรหิต รวม​ทั้ง​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​สิทธิ​จะ​ได้​รับ​ตำแหน่ง​ที่​สูง​ขึ้น​ใน​คณะ​ปุโรหิต​ใน​อนาคต.—มัดธาย 21:23.