ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงแสดงความรักและนับถือโดยควบคุมลิ้นของคุณ

จงแสดงความรักและนับถือโดยควบคุมลิ้นของคุณ

จง​แสดง​ความ​รัก​และ​นับถือ​โดย​ควบคุม​ลิ้น​ของ​คุณ

“ให้​พวก​ท่าน​ทุก​คน​ต่าง​ก็​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง; ส่วน​ภรรยา​ก็​ควร​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ต่อ​สามี.”—เอเฟโซ 5:33, ล.ม.

1, 2. คน​ที่​สมรส​แล้ว​ทุก​คน​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​สำคัญ​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

สมมุติ​ว่า​คุณ​ได้​รับ​ของ​ขวัญ​ห่อ​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ป้าย​ติด​ไว้​ว่า “โปรด​จับ​ต้อง​ด้วย​ความ​ระมัดระวัง.” คุณ​จะ​จับ​จะ​ถือ​ห่อ​ของ​ขวัญ​นั้น​อย่าง​ไร? แน่​ล่ะ คุณ​คง​จะ​ระวัง​อย่าง​ยิ่ง​เพื่อ​หลีก​เลี่ยง​ไม่​ให้​ของ​ขวัญ​นั้น​เสียหาย. จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​ของ​ประทาน​แห่ง​การ​สมรส?

2 นาอะมี แม่​ม่าย​ชาว​อิสราเอล กล่าว​กับ​อะระฟา​และ​รูธ​ซึ่ง​ยัง​สาว​ว่า “ขอ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​โปรด​แก่​เจ้า​ให้​ต่าง​คน​ต่าง​มี​ที่​อยู่​ใน​เรือน​ของ​สามี.” (ประวัตินางรูธ 1:3-9) คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​ภรรยา​ที่​ดี​ดัง​นี้: “บ้าน​เรือน​และ​ทรัพย์​สมบัติ​เป็น​มรดก​ตก​ทอด​มา​จาก​บรรพบุรุษ; แต่​ภรรยา​ที่​เฉลียวฉลาด​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา.” (สุภาษิต 19:14) หาก​คุณ​สมรส​แล้ว คุณ​ต้อง​ถือ​ว่า​คู่​ของ​คุณ​เป็น​ของ​ขวัญ​จาก​พระเจ้า. คุณ​กำลัง​ปฏิบัติ​อย่าง​ไร​ต่อ​ของ​ขวัญ​ที่​พระเจ้า​ได้​ประทาน​แก่​คุณ?

3. เปาโล​ให้​คำ​แนะ​เตือน​อะไร​ที่​สามี​และ​ภรรยา​ควร​เอา​ใจ​ใส่?

3 เมื่อ​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ว่า “ให้​พวก​ท่าน​ทุก​คน​ต่าง​ก็​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง; ส่วน​ภรรยา​ก็​ควร​แสดง​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ต่อ​สามี.” (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) ขอ​ให้​พิจารณา​ว่า​สามี​และ​ภรรยา​จะ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​แนะ​เตือน​นี้​อย่าง​ไร​ใน​ส่วน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คำ​พูด.

จง​ระวัง ‘สิ่ง​ที่​บังคับ​ไม่​อยู่​ซึ่ง​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย’

4. ลิ้น​อาจ​เป็น​พลัง​โน้ม​นำ​ที่​ดี​หรือ​ไม่​ดี​ได้​อย่าง​ไร?

4 ยาโกโบ​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า ลิ้น​เป็น “สิ่ง​ที่​บังคับ​ไม่​อยู่ ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย” ซึ่ง “เต็ม​ด้วย​พิษ​ร้าย​ที่​จะ​ทำ​ให้​ถึง​ตาย.” (ยาโกโบ 3:8, ล.ม.) ยาโกโบ​ตระหนัก​ถึง​ความ​จริง​ที่​สำคัญ​ข้อ​นี้: ลิ้น​ที่​บังคับ​ไม่​อยู่​สร้าง​ความ​เสียหาย​ได้​มาก. ไม่​ต้อง​สงสัย ท่าน​คุ้น​เคย​กับ​สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เปรียบ​คำ​พูด​แบบ​ไม่​ยั้ง​คิด​ว่า​เหมือน​กับ “การ​แทง​ของ​กระบี่.” ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม สุภาษิต​ข้อ​เดียว​กัน​นี้​กล่าว​ว่า “ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญญา​ย่อม​รักษา​แผล​ให้​หาย.” (สุภาษิต 12:18) จริง​ที​เดียว คำ​พูด​อาจ​ก่อ​ผล​กระทบ​ที่​มี​พลัง. คำ​พูด​อาจ​ทำ​ให้​เจ็บ​ปวด หรือ​อาจ​ช่วย​เยียว​ยา​รักษา​ก็​ได้. คำ​พูด​ของ​คุณ​ก่อ​ผล​เช่น​ไร​ต่อ​คู่​สมรส​ของ​คุณ? หาก​คุณ​ถาม​คู่​ของ​คุณ เขา​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

5, 6. ปัจจัย​ใด​บ้าง​ทำ​ให้​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​บาง​คน​จะ​ยับยั้ง​ลิ้น​ของ​ตน?

5 หาก​คำ​พูด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ค่อย ๆ กลาย​มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ คุณ​สามารถ​แก้ไข​สถานการณ์​ให้​ดี​ขึ้น​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม จำเป็น​ต้อง​อาศัย​ความ​พยายาม. เพราะ​เหตุ​ใด? เหตุ​ผล​อย่าง​หนึ่ง​คือ คุณ​ต้อง​สู้​กับ​เนื้อหนัง​ที่​ไม่​สมบูรณ์. บาป​ที่​เป็น​มรดก​ตก​ทอด​มี​อิทธิพล​ที่​ไม่​ดี​ต่อ​วิธี​ที่​เรา​คิด​และ​พูด​กับ​คน​อื่น. ยาโกโบ​เขียน​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​ไม่​พลาด​พลั้ง​ใน​วาจา ผู้​นั้น​ก็​เป็น​คน​สมบูรณ์ สามารถ​เหนี่ยว​รั้ง​ทั้ง​ร่าง​กาย​ของ​ตน​ได้​ด้วย.”—ยาโกโบ 3:2, ล.ม.

6 นอก​จาก​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​มนุษย์​เรา​แล้ว ภูมิหลัง​ด้าน​ครอบครัว​ก็​มี​ส่วน​ด้วย​ที่​ทำ​ให้​บาง​คน​ใช้​ลิ้น​อย่าง​ไม่​ถูก​ต้อง. บาง​คน​ถูก​เลี้ยง​ดู​มา​ใน​ครอบครัว​ที่​พ่อ​แม่ “ไม่​ยอม​ตก​ลง​กัน, . . . ไม่​มี​การ​ควบคุม​ตน​เอง, ดุ​ร้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1-3, ล.ม.) บ่อย​ครั้ง เด็ก ๆ ที่​เติบโต​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​เช่น​นั้น​ก็​จะ​มี​ลักษณะ​นิสัย​คล้าย ๆ กัน​นั้น​เมื่อ​โต​ขึ้น​เป็น​ผู้​ใหญ่. แน่นอน ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ความ​ไม่​สมบูรณ์​หรือ​การ​ฝึก​อบรม​ที่​บกพร่อง​ก็​ไม่​อาจ​ใช้​เป็น​ข้อ​แก้​ตัว​สำหรับ​คำ​พูด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย. แต่​การ​ตระหนัก​ถึง​ปัจจัย​เหล่า​นี้​ช่วย​เรา​ให้​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​การ​ยับยั้ง​ลิ้น​ไม่​ให้​พูด​สิ่ง​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​เป็น​เรื่อง​ยาก​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​บาง​คน.

‘จง​ถอด​ทิ้ง​การ​นินทา​ว่า​ร้าย’

7. เปโตร​หมาย​ถึง​อะไร​เมื่อ​ท่าน​แนะ​เตือน​คริสเตียน​ให้ “ถอด​ทิ้ง . . . การ​นินทา​ว่า​ร้าย​ทุก​อย่าง”?

7 ไม่​ว่า​จะ​ด้วย​เหตุ​ใด​ก็​แล้ว​แต่ การ​ใช้​คำ​พูด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ใน​ชีวิต​สมรส​อาจ​บ่ง​บอก​ว่า​คน​ที่​พูด​อย่าง​นั้น​ขาด​ความ​รัก​และ​ความ​นับถือ​ต่อ​คู่​ของ​ตน. ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ดี เปโตร​แนะ​เตือน​คริสเตียน​ให้ “ถอด​ทิ้ง . . . การ​นินทา​ว่า​ร้าย​ทุก​อย่าง.” (1 เปโตร 2:1, ล.ม.) คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “การ​นินทา​ว่า​ร้าย” หมาย​ถึง “คำ​พูด​ที่​แสดง​การ​ดูถูก.” คำ​นี้​สื่อ​ให้​คิด​ถึง ‘การ​ยิง​ด้วย​คำ​พูด.’ ช่าง​พรรณนา​ให้​เห็น​ผล​ของ​ลิ้น​ที่​บังคับ​ไม่​อยู่​ได้​ดี​จริง ๆ!

8, 9. การ​ใช้​คำ​พูด​ดูถูก​อาจ​ก่อ​ผล​เช่น​ไร และ​เหตุ​ใด​คู่​สมรส​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​พูด​อย่าง​นั้น?

8 คำ​พูด​ที่​แสดง​การ​ดูถูก​อาจ​ดู​เหมือน​ไม่​ร้ายแรง​อะไร​นัก แต่​ขอ​ให้​พิจารณา​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​เมื่อ​สามี​หรือ​ภรรยา​ใช้​คำ​พูด​เช่น​นั้น. การ​เรียก​คู่​ของ​ตน​ว่า​โง่, ขี้​เกียจ, หรือ​เห็น​แก่​ตัว​เป็น​การ​พูด​เป็น​นัย ๆ ว่า​ลักษณะ​ทั้ง​หมด​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​อาจ​สรุป​ได้​ด้วย​คำ​คำ​นั้น—คำ​ที่​ทำ​ให้​เสื่อม​เสีย​เกียรติ! นั่น​เป็น​การ​กระทำ​ที่​โหด​ร้าย​อย่าง​แน่นอน. และ​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​คำ​พูด​แบบ​เกิน​จริง​ที่​เน้น​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คู่​สมรส? คำ​พูด​แบบ​นั้น​อย่าง​เช่น “คุณ​น่ะ​สาย​เป็น​ประจำ เลย” หรือ “คุณ​ไม่​เคย ฟัง​ฉัน​เลย” จริง ๆ แล้ว​เป็น​คำ​พูด​ที่​เกิน​จริง​มิ​ใช่​หรือ? คำ​พูด​เช่น​นี้​มัก​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​ตอบ​โต้​เพื่อ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง. และ​ผล​ที่​ตาม​มา​ก็​อาจ​ได้​แก่​การ​ทะเลาะ​ถกเถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน.—ยาโกโบ 3:5.

9 การ​สนทนา​ที่​สอด​แซม​ด้วย​ถ้อย​คำ​ดูถูก​ดูแคลน​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ตึงเครียด และ​นั่น​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​เสียหาย​ร้ายแรง​ได้​เช่น​กัน. สุภาษิต 25:24 (ฉบับ​แปล​ใหม่) กล่าว​ว่า “อยู่​ที่​มุม​บน​หลังคา​เรือน​ดี​กว่า​อยู่​ใน​เรือน​ร่วม​กับ​หญิง​ขี้​ทะเลาะ.” แน่นอน อาจ​พูด​ได้​อย่าง​เดียว​กัน​สำหรับ​สามี​ที่​ชอบ​ทะเลาะ. นาน​เข้า คำ​พูด​ที่​เชือด​เฉือน​จาก​คู่​สมรส​ไม่​ว่า​จะ​ฝ่าย​ไหน​ย่อม​จะ​เซาะกร่อน​สาย​สัมพันธ์ อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​สามี​หรือ​ภรรยา​รู้สึก​ว่า​อีก​ฝ่าย​ไม่​รัก​หรือ​ตัว​เอง​ไม่​คู่​ควร​ที่​เขา​จะ​รัก. เห็น​ได้​ชัด สำคัญ​ที่​จะ​ยับยั้ง​ลิ้น. แต่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร?

‘เหนี่ยว​รั้ง​ลิ้น​ไว้’

10. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​ควบคุม​ลิ้น?

10 ยาโกโบ 3:8 กล่าว​ว่า “ลิ้น​นั้น​ไม่​มี​ผู้​ใด​อาจ​ทำ​ให้​เชื่อง​ได้.” ถึง​กระนั้น เช่น​เดียว​กับ​ผู้​ขี่​ม้า​ใช้​บังเหียน​บังคับ​การ​เคลื่อน​ไหว​ของ​ม้า เรา​ควร​พยายาม​ให้​ดี​ที่​สุด​ใน​การ​ควบคุม​ลิ้น​ของ​เรา. “ถ้า​ผู้​ใด​ถือ​ว่า​ตน​เป็น​ผู้​นมัสการ​ตาม​แบบ​แผน และ​กระนั้น​มิ​ได้​เหนี่ยว​รั้ง​ลิ้น​ของ​ตน แต่​ยัง​คง​หลอก​ลวง​หัวใจ​ของ​ตัว​เอง​อยู่​ต่อ​ไป การ​นมัสการ​แบบ​ที่​ผู้​นี้​ได้​กระทำ​ก็​ไร้​ประโยชน์.” (ยาโกโบ 1:26, ล.ม.; 3:2, 3) ถ้อย​คำ​ดัง​กล่าว​แสดง​ว่า​วิธี​ที่​คุณ​ใช้​ลิ้น​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. เรื่อง​นี้​มี​ผล​กระทบ​ไม่​เพียง​ต่อ​สาย​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​คู่​สมรส แต่​ยัง​ส่ง​ผล​กระทบ​ไป​ถึง​สาย​สัมพันธ์​ของ​คุณ​กับ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เลย​ที​เดียว.—1 เปโตร 3:7.

11. อาจ​ป้องกัน​อย่าง​ไร​เพื่อ​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​จะ​ไม่​ลุก​ลาม​มาก​ขึ้น​จน​กลาย​เป็น​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน?

11 นับ​ว่า​ฉลาด​ที่​จะ​เอา​ใจ​ใส่​วิธี​ที่​คุณ​พูด​กับ​คู่​ของ​คุณ. หาก​สถานการณ์​เริ่ม​ตึงเครียด​ขึ้น​เรื่อย ๆ จง​พยายาม​ผ่อน​คลาย​ความ​ตึงเครียด. ขอ​ให้​พิจารณา​สถานการณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ชีวิต​ของ​ยิศฮาค​กับ​ภรรยา คือ​ริบะคา ดัง​บันทึก​ที่​เยเนซิศ 27:46–28:4. “นาง​ริบะคา​จึง​บอก​ยิศฮาค​ว่า, ‘ฉัน​เบื่อ​หน่าย​ด้วย​บุตร​สาว​ชาติ​เฮธ​นั้น. ถ้า​แม้น​ยาโคบ​จะ​รับ​บุตร​สาว​ชาติ​เฮธ​คือ​หญิง​ชาว​เมือง​นี้​เป็น​ภรรยา​แล้ว, ฉัน​จะ​มี​ชีวิต​ต่อ​ไป​เป็น​ประโยชน์​อะไร​เล่า?’ ” ไม่​มี​อะไร​ที่​ชี้​ว่า​ยิศฮาค​ตอบ​ด้วย​คำ​พูด​รุนแรง. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น ท่าน​ส่ง​ยาโคบ​บุตร​ชาย​ไป​เพื่อ​จะ​ได้​พบ​กับ​ภรรยา​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า​ซึ่ง​คง​จะ​ไม่​ทำ​ให้​ริบะคา​ทุกข์​ใจ. สมมุติ​ว่า​เกิด​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​ระหว่าง​สามี​กับ​ภรรยา. การ​เปลี่ยน​คำ​พูด​อย่าง​นุ่มนวล​จาก​ที่​พุ่ง​เป้า​ไป​ยัง “คุณ” เปลี่ยน​มา​เป็น “ฉัน” อาจ​ช่วย​ป้องกัน​ไม่​ให้​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​ลุก​ลาม​มาก​ขึ้น​จน​กลาย​เป็น​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน. ตัว​อย่าง​เช่น แทน​ที่​จะ​พูด​ว่า “คุณ​ไม่​เคย​ให้​เวลา​ฉัน​เลย!” ลอง​เปลี่ยน​มา​พูด​ว่า “ฉัน​อยาก​ให้​เรา​มี​เวลา​ทำ​อะไร ๆ ด้วย​กัน​จัง​เลย” ก็​น่า​จะ​ดี​กว่า​มิ​ใช่​หรือ? จง​มุ่ง​สนใจ​ปัญหา อย่า​สนใจ​เพียง​แค่​บุคคล. จง​ต้านทาน​แนว​โน้ม​ที่​จะ​วิเคราะห์​ว่า​ใคร​ผิด​ใคร​ถูก. โรม 14:​19 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “ให้​เรา​มุ่ง​ทำ​สิ่ง​ที่​สร้าง​สันติ​สุข​และ​สิ่ง​ที่​เสริม​สร้าง​กัน.”

จง​ทิ้ง ‘ความ​ขุ่น​แค้น, ความ​โกรธ, และ​ความ​เกรี้ยวกราด’

12. เพื่อ​ควบคุม​ลิ้น เรา​ควร​อธิษฐาน​ขอ​อะไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

12 การ​ยับยั้ง​ลิ้น​ต้อง​ทำ​ไม่​เพียง​แค่​คอย​ระวัง​คำ​พูด​ของ​เรา. ที่​จริง คำ​พูด​ของ​เรา​เป็น​ผลิตผล​ที่​มา​จาก​หัวใจ​มาก​กว่า​ปาก. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “คน​ดี​ก็​ย่อม​เอา​ของ​ดี​ออก​จาก​คลัง​ดี​แห่ง​ใจ​ของ​ตน, และ​คน​ชั่ว​ก็​ย่อม​เอา​ของ​ชั่ว​ออก​จาก​คลัง​ชั่ว​แห่ง​ใจ​ของ​ตน เพราะ​ว่า​ใจ​เต็ม​บริบูรณ์​อย่าง​ไร​ปาก​ก็​พูด​ออก​อย่าง​นั้น.” (ลูกา 6:45) ฉะนั้น เพื่อ​ควบคุม​ลิ้น คุณ​อาจ​จำเป็น​ต้อง​อธิษฐาน​เหมือน​ดาวิด ดัง​นี้: “ข้า​แต่​พระเจ้า ขอ​ทรง​สร้าง​ใจ​สะอาด​ภาย​ใน​ข้า​พระองค์​และ​ฟื้น​น้ำใจ​ที่​หนักแน่น​ขึ้น​ใหม่​ภาย​ใน​ข้า​พระองค์.”—บทเพลง​สรรเสริญ 51:10, ฉบับ​แปล​ใหม่.

13. ความ​ขุ่น​แค้น, ความ​โกรธ, และ​ความ​เกรี้ยวกราด​อาจ​นำ​ไป​สู่​การ​พูด​ไม่​ดี​ได้​อย่าง​ไร?

13 เปาโล​กระตุ้น​ชาว​เอเฟโซส์​ให้​ทำ​ไม่​เพียง​แต่​หลีก​เลี่ยง​คำ​พูด​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย แต่​ให้​หัก​ห้าม​ความ​รู้สึก​ที่​เป็น​แรง​กระตุ้น​อยู่​เบื้อง​หลัง​ด้วย. ท่าน​เขียน​ดัง​นี้: “จง​ให้​สิ่ง​เหล่า​นี้ คือ ความ​ขุ่น​แค้น ความ​โกรธ ความ​เกรี้ยวกราด การ​ตวาด คำ​พูด​หยาบ​หยาม รวม​ทั้ง​ความ​ชั่ว​ทุก​อย่าง อยู่​ห่าง​จาก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เถิด.” (เอเฟโซ 4:31, ล.ม.) โปรด​สังเกต​ว่า ก่อน​จะ​กล่าว​ถึง “การ​ตวาด” และ “คำ​พูด​หยาบ​หยาม” เปาโล​กล่าว​ถึง ‘ความ​ขุ่น​แค้น, ความ​โกรธ, และ​ความ​เกรี้ยวกราด.’ ความ​เดือดดาล​ที่​เดือด​ปุด ๆ อยู่​ภาย​ใน​นั่น​แหละ​ซึ่ง​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ระเบิด​ออก​มา​เป็น​คำ​พูด​ที่​ก่อ​ผล​เสียหาย​ใน​ที่​สุด. ดัง​นั้น จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​เก็บ​ความ​ขมขื่น​และ​ความ​เกรี้ยวกราด​ไว้​ใน​ใจ​ไหม? ฉัน​เป็น​คน “เจ้า​โทโส” ไหม?’ (สุภาษิต 29:22) หาก​คุณ​เป็น​อย่าง​นั้น จง​อธิษฐาน​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระเจ้า​ให้​เอา​ชนะ​แนว​โน้ม​ดัง​กล่าว และ​ให้​มี​การ​บังคับ​ตน​เพื่อ​จะ​ได้​ไม่​ปล่อย​ให้​ความ​โกรธ​ของ​คุณ​ปะทุ​ขึ้น​มา. บทเพลง​สรรเสริญ 4:4 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “ขุ่นเคือง​ไป​เถิด แต่​อย่า​ทำ​บาป. พูด​ใน​ใจ เมื่อ​อยู่​บน​เตียง และ​เงียบ​เสีย.” หาก​มี​ท่า​ว่า​อารมณ์​จะ​รุนแรง​ขึ้น​มา​และ​คุณ​กลัว​ว่า​จะ​บังคับ​ตัว​เอง​ไม่​ได้ จง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​สุภาษิต 17:14 (ล.ม.) ที่​ว่า “ก่อน​ที่​จะ​เกิด​การ​ทะเลาะ​กัน จง​หลบ​ไป​เสีย.” จง​หลบ​ไป​จาก​สถานการณ์​นั้น​สัก​ครู่​หนึ่ง​ก่อน​จน​กว่า​อันตราย​จะ​ผ่าน​ไป.

14. ความ​ขุ่นเคือง​ใจ​อาจ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​สาย​สมรส​ได้​อย่าง​ไร?

14 ไม่​ง่าย​ที่​จะ​จัด​การ​กับ​ความ​โกรธ​จัด​และ​ความ​โกรธ โดย​เฉพาะ​เมื่อ​ความ​โกรธ​นั้น​มี​ราก​มา​จาก​สิ่ง​ที่​เปาโล​เรียก​ว่า “ความ​ขุ่น​แค้น.” มี​การ​นิยาม​ความ​หมาย​ของ​คำ​ภาษา​กรีก​นี้​ที่​เปาโล​ใช้​ว่า​เป็น “น้ำใจ​ขุ่นเคือง​แบบ​ที่​ไม่​ยอม​คืน​ดี” และ ‘ความ​เคียดแค้น​ที่​เก็บ​บันทึก​ความ​ผิด​เอา​ไว้.’ บาง​ครั้ง ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​เป็น​เหมือน​หมอก​หนา​ที่​ขวาง​กั้น​ระหว่าง​สามี​กับ​ภรรยา และ​สภาพ​แบบ​นี้​อาจ​คง​อยู่​เป็น​เวลา​นาน. เมื่อ​ไม่​ได้​แก้​ความ​ไม่​พอ​ใจ​ให้​หมด​ไป​อย่าง​แท้​จริง ก็​อาจ​ยัง​ผล​ให้​เกิด​การ​ดูถูก​ดูหมิ่น​กัน​อย่าง​เย็นชา. แต่​การ​เก็บ​ความ​ขุ่นเคือง​เนื่อง​ด้วย​ความ​ผิด​ที่​ผ่าน​ไป​แล้ว​ให้​คุ​กรุ่น​อยู่​ใน​ใจ​เป็น​เรื่อง​ไร้​ประโยชน์. สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​แล้ว​ไม่​อาจ​ย้อน​กลับ​ไป​แก้ไข​ได้. ความ​ผิด​ที่​ได้​ให้​อภัย​ไป​แล้ว​ควร​ลืม​เสีย. ความ​รัก “ไม่​ช่าง​จด​จำ​ความ​ผิด.”—1 โกรินโธ 13:4, 5.

15. อะไร​จะ​ช่วย​คน​ที่​ใช้​คำ​พูด​หยาบคาย​จน​เคย​ปาก​ให้​เปลี่ยน​วิธี​พูด?

15 จะ​ว่า​อย่าง​ไร​หาก​คุณ​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​ครอบครัว​ที่​ใช้​คำ​พูด​หยาบคาย​และ​การ​ใช้​ภาษา​แบบ​นี้​ได้​กลาย​เป็น​เรื่อง​ปกติ​ธรรมดา​สำหรับ​คุณ? คุณ​สามารถ​เปลี่ยน​แปลง​ตัว​เอง​ได้​ใน​เรื่อง​นี้. คุณ​ได้​วาง​ข้อ​จำกัด​สำหรับ​ตัว​เอง​มา​แล้ว​ใน​หลาย​ขอบ​เขต​ของ​ชีวิต​ที่​คุณ​จะ​ไม่​ยอม​ให้​ตัว​เอง​ทำ​แบบ​ใด​แบบ​หนึ่ง. คุณ​จะ​เลือก​วาง​ขอบ​เขต​ไว้​ตรง​ไหน​ใน​เรื่อง​คำ​พูด? คุณ​จะ​หยุด​พูด​ก่อน​ที่​คำ​พูด​ของ​คุณ​จะ​กลาย​เป็น​แบบ​ที่​ไม่​น่า​ฟัง​ไหม? คุณ​คง​ปรารถนา​จะ​ใช้​ข้อ​จำกัด​ที่​พรรณนา​ไว้​ที่​เอเฟโซ 4:29 (ฉบับ​แปล 2002) ที่​ว่า “อย่า​ให้​คำ​เลว​ร้าย​ออก​จาก​ปาก​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​คุณ​ต้อง “ถอด​ทิ้ง​บุคลิกภาพ​เก่า​กับ​กิจ​ปฏิบัติ​ต่าง ๆ ของ​มัน​เสีย​และ​สวม​บุคลิกภาพ​ใหม่​ที่​กำลัง​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​ด้วย​ความ​รู้​ถ่องแท้​ตาม​แบบ​ของ​พระองค์​ผู้​ได้​ทรง​สร้าง​บุคลิกภาพ​ใหม่​นั้น.”—โกโลซาย 3:9, 10, ล.ม.

ต้อง​มี “การ​พูด​คุย​แบบ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน”

16. เหตุ​ใด​การ​ใช้​วิธี​นิ่ง​เงียบ​ก่อ​ความ​เสียหาย​แก่​ชีวิต​สมรส?

16 เมื่อ​สามี​หรือ​ภรรยา​หัน​ไป​ใช้​วิธี​นิ่ง​เงียบ​ไม่​พูด​ด้วย ก็​ย่อม​จะ​ทำ​อะไร​ให้​สำเร็จ​ได้​ยาก​และ​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย. การ​นิ่ง​เงียบ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​ลง​โทษ​คู่​ของ​ตน​เสมอ​ไป เพราะ​อาจ​เกิด​มา​จาก​ความ​คับข้อง​ใจ​หรือ​ความ​ท้อ​แท้​ก็​ได้. ถึง​กระนั้น การ​ไม่​ยอม​คุย​กัน​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​ความ​ตึงเครียด​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​ไป​อีก และ​ไม่​ได้​ช่วย​แก้​ปัญหา​ที่​มี​อยู่. ดัง​ที่​ภรรยา​คน​หนึ่ง​ได้​กล่าว​ว่า “พอ​เรา​เริ่ม​คุย​กัน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​เมื่อ​ไร เรา​ไม่​เคย​คุย​กัน​เกี่ยว​กับ​การ​แก้​ปัญหา​เลย.”

17. คริสเตียน​ควร​ทำ​อะไร​เมื่อ​ประสบ​ความ​ตึงเครียด​ใน​ชีวิต​สมรส?

17 เมื่อ​ความ​ตึงเครียด​ใน​ชีวิต​สมรส​ยืดเยื้อ​เป็น​เวลา​นาน ก็​ไม่​มี​ทาง​จะ​แก้​ได้​ง่าย ๆ. สุภาษิต 15:22 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “แผนการ​ล้มเหลว​เมื่อ​ไม่​มี​การ​พูด​คุย​แบบ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน แต่​เมื่อ​มี​ที่​ปรึกษา​จำนวน​มาก​ก็​มี​ความ​สำเร็จ.” คุณ​จำเป็น​ต้อง​นั่ง​ลง​ด้วย​กัน​กับ​คู่​ของ​คุณ​และ​พูด​คุย​กัน​ใน​เรื่อง​นั้น. ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม จง​ฟัง​คู่​ของ​คุณ​โดย​ปราศจาก​อคติ. หาก​ดู​เหมือน​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​น่า​จะ​ใช้​ประโยชน์​จาก​การ​จัด​เตรียม​ที่​ให้​มี​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​มิ​ใช่​หรือ? พวก​เขา​มี​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​และ​มี​ประสบการณ์​ใน​การ​ใช้​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ชาย​เหล่า​นี้​เป็น “เหมือน​ที่​หลบ​ซ่อน​ให้​พ้น​ลม​และ​ที่​กำบัง​จาก​พายุ​ฝน.”—ยะซายา 32:2, ล.ม.

คุณ​สามารถ​เอา​ชนะ​ได้

18. โรม 7:18-23 พรรณนา​ถึง​การ​ต่อ​สู้​อะไร?

18 การ​ควบคุม​ลิ้น​ของ​เรา​เป็น​การ​ต่อ​สู้​อย่าง​หนึ่ง. การ​ควบคุม​การ​กระทำ​ของ​เรา​ก็​เป็น​การ​ต่อ​สู้​ด้วย​เช่น​กัน. เปาโล​เขียน​พรรณนา​ข้อ​ท้าทาย​ที่​ท่าน​เผชิญ​ว่า “ใน​ตัว​ของ​ข้าพเจ้า​ไม่​มี​ความ​ดี​ประการ​ใด​อยู่​เลย เพราะ​ว่า​เจตนา​ดี​ข้าพเจ้า​ก็​มี​อยู่​แต่​ซึ่ง​จะ​กระทำ​การ​ดี​นั้น​ข้าพเจ้า​หา​ได้​กระทำ​ไม่ ด้วย​ว่า​การ​ดี​นั้น​ซึ่ง​ข้าพเจ้า​ปรารถนา​ทำ​ข้าพเจ้า​ไม่​ได้​กระทำ แต่​การ​ชั่ว​ซึ่ง​ข้าพเจ้า​มิ​ได้​ปรารถนา​ทำ​ข้าพเจ้า​ยัง​ทำ​อยู่ ถ้า​แม้​ข้าพเจ้า​ยัง​ทำ​สิ่ง​ซึ่ง​ข้าพเจ้า​ไม่​ปรารถนา​จะ​ทำ​ก็​ไม่​ใช่​ตัว​ข้าพเจ้า​เป็น​ผู้​กระทำ แต่​บาป​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตัว​ข้าพเจ้า​นั่น​เอง​เป็น​ผู้​กระทำ.” เพราะ “กฎ​แห่ง​บาป​ซึ่ง​อยู่​ใน​กาย​ของ [เรา]” เรา​จึง​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ใช้​ลิ้น​และ​ส่วน​อื่น ๆ ของ​ร่าง​กาย​เรา​อย่าง​ผิด ๆ. (โรม 7:18-23, ฉบับ​แปล​ใหม่) อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรา​จำเป็น​ต้อง​สู้ และ​เรา​จะ​ชนะ​ได้​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระเจ้า.

19, 20. ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ช่วย​สามี​และ​ภรรยา​ได้​อย่าง​ไร​ให้​ควบคุม​ลิ้น​ของ​ตน?

19 ใน​ความ​สัมพันธ์​ที่​มี​ความ​รัก​และ​นับถือ​กัน​อย่าง​เด่น​ชัด ต้อง​ไม่​มี​การ​ใช้​คำ​พูด​หยาบคาย​และ​ไม่​ยั้ง​คิด. ขอ​ให้​นึก​ถึง​ตัว​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​วาง​ไว้​ใน​เรื่อง​นี้. พระ​เยซู​ไม่​เคย​ใช้​คำ​พูด​ดูถูก​เหล่า​สาวก. แม้​แต่​ใน​คืน​สุด​ท้าย​ที่​ทรง​มี​พระ​ชนม์​ชีพ​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก​เมื่อ​เหล่า​อัครสาวก​กำลัง​เถียง​กัน​ว่า​ใคร​ใน​หมู่​พวก​เขา​ที่​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ไม่​ได้​ดุ​ด่า​พวก​เขา. (ลูกา 22:24-27) คัมภีร์​ไบเบิล​แนะ​เตือน​ว่า “สามี​ทั้ง​หลาย จง​รัก​ภรรยา​ของ​ตน​ต่อ ๆ ไป​เช่น​เดียว​กับ​พระ​คริสต์​ได้​ทรง​รัก​ประชาคม​และ​ได้​สละ​พระองค์​เอง​เพื่อ​ประชาคม.”—เอเฟโซ 5:25, ล.ม.

20 แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​ภรรยา? เธอ ‘ควร​นับถือ​สามี​อย่าง​สุด​ซึ้ง.’ (เอเฟโซ 5:33, ล.ม.) ภรรยา​ที่​นับถือ​สามี​จะ​กรีด​ร้อง​ใส่​เขา​และ​ใช้​คำ​พูด​ที่​ไม่​ดี​ไหม? เปาโล​เขียน​ว่า “ข้าพเจ้า​ใคร่​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เข้าใจ​ว่า, พระ​คริสต์​เป็น​ศีรษะ​ของ​ชาย​ทุก​คน, และ​ชาย​เป็น​ศีรษะ​ของ​หญิง, และ​พระเจ้า​เป็น​ศีรษะ​ของ​พระ​คริสต์.” (1 โกรินโธ 11:3) ภรรยา​ควร​อยู่​ใต้​อำนาจ​ประมุข​ของ​ตน​เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​อยู่​ใต้​อำนาจ​ประมุข​ของ​พระองค์. (โกโลซาย 3:18) แม้​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​ไม่​สามารถ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ แต่​การ​พยายาม “ดำเนิน​ตาม​รอย​พระ​บาท​ของ​พระองค์​อย่าง​ใกล้​ชิด” จะ​ช่วย​สามี​และ​ภรรยา​ให้​ชนะ​ใน​การ​ต่อ​สู้​เพื่อ​จะ​ไม่​ใช้​ลิ้น​อย่าง​ผิด ๆ.—1 เปโตร 2:21, ล.ม.

คุณ​ได้​เรียน​รู้​อะไร​บ้าง?

• ลิ้น​ที่​บังคับ​ไม่​อยู่​อาจ​สร้าง​ความ​เสียหาย​ต่อ​ชีวิต​สมรส​ได้​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​จึง​ยาก​ที่​จะ​ควบคุม​ลิ้น?

• อะไร​ช่วย​เรา​ให้​ควบคุม​คำ​พูด​ของ​เรา?

• คุณ​ควร​ทำ​อะไร​เมื่อ​ประสบ​ความ​ตึงเครียด​ใน​ชีวิต​สมรส?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 24]

ผู้​ปกครอง​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล