ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บิดามารดา—จงอบรมสั่งสอนบุตรด้วยความรัก

บิดามารดา—จงอบรมสั่งสอนบุตรด้วยความรัก

บิดา​มารดา—จง​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร​ด้วย​ความ​รัก

“ทุก​สิ่ง​ซึ่ง​จะ​กระทำ​นั้น, จง​กระทำ​ด้วย​ความ​รัก.”—1 โกรินโธ 16:14.

1. บิดา​มารดา​รู้สึก​เช่น​ไร​เมื่อ​บุตร​เกิด​มา?

คน​ส่วน​ใหญ่​คง​เห็น​พ้อง​ต้อง​กัน​ว่า​การ​เกิด​ของ​เด็ก​คน​หนึ่ง​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​นับ​ได้​ว่า น่า​ยินดี​ที่​สุด​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​ใน​ชีวิต. มารดา​คน​หนึ่ง ซึ่ง​ชื่อ​ว่า​อาเลีย กล่าว​ว่า “ครั้ง​แรก​ที่​ดิฉัน​จ้อง​มอง​ลูก​สาว​ที่​เพิ่ง​คลอด มัน​ช่าง​เป็น​ความ​รู้สึก​ที่​น่า​พิศวง​เหลือ​เกิน. ดิฉัน​คิด​ว่า​เธอ​เป็น​เด็ก​ที่​สวย​ที่​สุด​เท่า​ที่​ดิฉัน​เคย​เห็น​มา.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม เหตุ​การณ์​อัน​น่า​ยินดี​เช่น​นี้​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​กังวล​ใจ​กับ​บิดา​มารดา​ได้​ด้วย. สามี​ของ​อาเลีย​กล่าว​ว่า “ที่​ผม​เป็น​ห่วง​ก็​คือ​ผม​จะ​สามารถ​ช่วย​ลูก​สาว​ให้​พร้อม​รับมือ​กับ​ปัญหา​ยุ่งยาก​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต​ได้​ไหม.” มี​บิดา​มารดา​จำนวน​มาก​ที่​เป็น​ห่วง​แบบ​เดียว​กัน​นี้​และ​ตระหนัก​ดี​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​การ​สอน​บุตร​ด้วย​ความ​รัก. แต่​บิดา​มารดา​คริสเตียน​ที่​ปรารถนา​จะ​อบรม​สั่ง​สอน​ด้วย​ความ​รัก​เช่น​นั้น​เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​หลาย​อย่าง. ข้อ​ท้าทาย​บาง​อย่าง​ได้​แก่​อะไร​บ้าง?

2. บิดา​มารดา​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​อะไร?

2 เวลา​นี้​เรา​อยู่​ใน​ช่วง​ท้าย​แห่ง​สมัย​สุด​ท้าย​ของ​ระบบ​นี้​แล้ว. ดัง​ที่​มี​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า เจตคติ​แบบ​ที่​ขาด​ความ​รัก​มี​อยู่​ทุก​แห่ง​หน​ใน​สังคม. แม้​แต่​ใน​ท่ามกลาง​สมาชิก​ครอบครัว ผู้​คน “ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ” และ​กลาย​เป็น​คน “อกตัญญู, ไม่​ภักดี, . . . ไม่​มี​การ​ควบคุม​ตน​เอง, ดุ​ร้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) การ​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​คน​ที่​แสดง​ลักษณะ​นิสัย​เช่น​นี้​ไม่​เว้น​ใน​แต่​ละ​วัน​อาจ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​วิธี​ที่​สมาชิก​ครอบครัว​คริสเตียน​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน​ได้. นอก​จาก​นั้น บิดา​มารดา​ต้อง​ต่อ​สู้​อย่าง​หนัก​เพื่อ​เอา​ชนะ​แนว​โน้ม​ของ​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​ตัว​เอง​ซึ่ง​ได้​รับ​ตก​ทอด​มา​ที่​ทำ​ให้​ขาด​การ​ควบคุม​ตน​เอง, พลั้ง​ปาก​พูด​สิ่ง​ที่​ไม่​ควร​พูด, และ​ไม่​ได้​ใช้​ดุลพินิจ​ที่​ดี​ใน​เรื่อง​อื่น ๆ.—โรม 3:23; ยาโกโบ 3:2, 8, 9.

3. บิดา​มารดา​จะ​สามารถ​เลี้ยง​บุตร​ให้​มี​ความ​สุข​ได้​โดย​วิธี​ใด?

3 แม้​ต้อง​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​เหล่า​นี้ บิดา​มารดา​สามารถ​เลี้ยง​ดู​บุตร​ให้​มี​ความ​สุข​และ​มี​สุขภาพ​ดี​ฝ่าย​วิญญาณ. โดย​วิธี​ใด? โดย​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “ทุก​สิ่ง​ซึ่ง​จะ​กระทำ​นั้น, จง​กระทำ​ด้วย​ความ​รัก.” (1 โกรินโธ 16:14) ที่​จริง ความ​รัก​เป็น “เครื่อง​ผูก​พัน​อัน​สมบูรณ์​ที่​ทำ​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว.” (โกโลซาย 3:14, ล.ม.) ให้​เรา​มา​พิจารณา​ความ​รัก​ใน​สาม​แง่​มุม​ที่​อัครสาวก​เปาโล​พรรณนา​ถึง​ใน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ถึง​ประชาคม​โครินท์ และ​วิเคราะห์​วิธี​ต่าง ๆ บาง​วิธี​ที่​บิดา​มารดา​สามารถ​ใช้​คุณลักษณะ​นี้​ขณะ​ที่​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร.—1 โกรินโธ 13:4-8.

จำเป็น​ต้อง​อด​กลั้น​ไว้​นาน

4. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​จำเป็น​ต้อง​อด​กลั้น​ไว้​นาน?

4 เปาโล​เขียน​ไว้​ว่า “ความ​รัก​อด​กลั้น​ไว้​นาน.” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.) คำ​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “อด​กลั้น​ไว้​นาน” ชี้​ถึง​ความ​อด​ทน​และ​ความ​ไม่​โกรธ​เร็ว. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​จำเป็น​ต้อง​อด​กลั้น​ไว้​นาน? ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​บิดา​มารดา​ส่วน​ใหญ่​คง​จะ​คิด​ถึง​เหตุ​ผล​ได้​หลาย​ประการ. ขอ​พิจารณา​สัก​สอง​สาม​เหตุ​ผล. มี​น้อย​ครั้ง​ที่​เด็ก​ขอ​สิ่ง​ที่​เขา​ต้องการ​จะ​ได้​จาก​พ่อ​แม่​เพียง​ครั้ง​เดียว. แม้​แต่​เมื่อ​บิดา​มารดา​ตอบ​อย่าง​หนักแน่น​ว่า​ไม่​ได้ เด็ก​ก็​อาจ​ขอ​อีก​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า โดย​หวัง​ว่า​ใน​ที่​สุด​บิดา​มารดา​จะ​ยอม​ให้. เด็ก​วัยรุ่น​อาจ​พยายาม​อ้าง​เหตุ​ผล​สารพัด​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เขา​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​บิดา​มารดา​รู้​ว่า​เป็น​เรื่อง​ไม่​ฉลาด. (สุภาษิต 22:15) และ​เช่น​เดียว​กับ​เรา​ทุก​คน เด็ก​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ทำ​ผิด​พลาด​ซ้ำ.—บทเพลง​สรรเสริญ 130:3.

5. อะไร​อาจ​ช่วย​บิดา​มารดา​ได้​ให้​อด​กลั้น​ไว้​นาน?

5 อะไร​อาจ​ช่วย​บิดา​มารดา​ได้​ให้​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​อด​ทน​กับ​บุตร? กษัตริย์​ซะโลโม​เขียน​ไว้​ว่า “คน​ที่​เข้าใจ​เรื่อง​ราว​อย่าง​ลึกซึ้ง​ย่อม​ไม่​โกรธ​เร็ว.” (สุภาษิต 19:11, ล.ม.) บิดา​มารดา​จะ​มี​ความ​เข้าใจ​ลึกซึ้ง​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ของ​บุตร​ได้​โดย​ที่​หวน​ระลึก​ว่า​ตัว​เขา​เอง​ก็​เคย “พูด​อย่าง​เด็ก คิด​อย่าง​เด็ก หา​เหตุ​ผล​อย่าง​เด็ก.” (1 โกรินโธ 13:11, ฉบับ​แปล 2002) บิดา​มารดา​ทั้ง​หลาย คุณ​จำ​ได้​ไหม​ถึง​ตอน​ที่​คุณ​กวน​ใจ​บิดา​มารดา​ให้​ยอม​ตาม​คำ​ขอ​แบบ​เด็ก ๆ ของ​คุณ? ตอน​เป็น​วัยรุ่น คุณ​เคย​คิด​ไหม​ว่า​บิดา​มารดา​ไม่​ยอม​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​หรือ​ปัญหา​ของ​คุณ? ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​น่า​จะ​เข้าใจ​ว่า​ทำไม​ลูก​จึง​ทำ​ตัว​อย่าง​นั้น​และ​ทำไม​คุณ​จำเป็น​ต้อง​คอย​ย้ำ​เตือน​พวก​เขา​อยู่​เสมอ​อย่าง​อด​ทน​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​ตัดสิน​ใจ​ไป​แล้ว. (โกโลซาย 4:​6) น่า​สังเกต​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​บอก​บิดา​มารดา​ชาว​อิสราเอล​ให้ “พร่ำ​สอน” กฎหมาย​ของ​พระองค์​แก่​บุตร​น้อย​ของ​ตน. (พระ​บัญญัติ 6:​6, 7, ล.ม.) คำ​ภาษา​ฮีบรู​ซึ่ง​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “พร่ำ​สอน” หมาย​ถึง “พูด​ซ้ำ,” “พูด​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า,” “ย้ำ​เตือน.” นี่​แสดง​นัย​ว่า​บิดา​มารดา​อาจ​ต้อง​พูด​เรื่อง​หนึ่ง ๆ ซ้ำ​หลาย​ครั้ง​กว่า​บุตร​จะ​เรียน​รู้​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า. การ​กล่าว​ซ้ำ​คล้าย ๆ กัน​นั้น​มัก​จะ​จำเป็น​ใน​การ​สอน​บทเรียน​อื่น ๆ ใน​ชีวิต.

6. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​ที่​อด​กลั้น​ไว้​นาน​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​บิดา​มารดา​ที่​ปล่อยปละ​ละเลย?

6 อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เป็น​บิดา​มารดา​ที่​อด​กลั้น​ไว้​นาน​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​เป็น​บิดา​มารดา​ที่​ปล่อยปละ​ละเลย. พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เตือน​ดัง​นี้: “เด็ก​ที่​ถูก​ปล่อย​ตาม​ใจ​จะ​เป็น​เหตุ​ให้​มารดา​ของ​ตน​อับอาย.” เพื่อ​ผล​จะ​ไม่​ออก​มา​อย่าง​นั้น สุภาษิต​ข้อ​เดียว​กัน​นี้​กล่าว​ว่า “ไม้เรียว​และ​การ​ว่า​กล่าว​เป็น​ที่​ให้​เกิด​ปัญญา.” (สุภาษิต 29:15, ล.ม.) บาง​ครั้ง เด็ก​อาจ​คิด​ว่า​บิดา​มารดา​ไม่​มี​สิทธิ์​จะ​ว่า​กล่าว​สั่ง​สอน​เขา. แต่​ครอบครัว​คริสเตียน​ไม่​ควร​ปกครอง​แบบ​ประชาธิปไตย ซึ่ง​หาก​เป็น​อย่าง​นั้น​สิทธิ​ของ​บิดา​มารดา​ใน​การ​ตั้ง​กฎ​ต่าง ๆ ก็​ต้อง​ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​เห็น​ชอบ​ของ​บุตร​ด้วย. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระ​ยะโฮวา​ใน​ฐานะ​ประมุข​ครอบครัว​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​สูง​สุด​ได้​ประทาน​อำนาจ​แก่​บิดา​มารดา​ให้​อบรม​สั่ง​สอน​และ​ตี​สอน​บุตร​ด้วย​ความ​รัก. (1 โกรินโธ 11:3; เอเฟโซ 3:15; 6:1-4) ที่​จริง การ​ตี​สอน​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​แง่​มุม​ถัด​ไป​ของ​ความ​รัก​ที่​เปาโล​กล่าว​ถึง.

วิธี​ตี​สอน​ด้วย​ความ​รัก

7. เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​ที่​กรุณา​จึง​ตี​สอน​บุตร และ​การ​ตี​สอน​เช่น​นั้น​หมาย​รวม​ถึง​อะไร​บ้าง?

7 เปาโล​เขียน​ว่า “ความ​รัก . . . แสดง​ความ​กรุณา.” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.) บิดา​มารดา​ที่​มี​ความ​กรุณา​อย่าง​แท้​จริง​จะ​ตี​สอน​บุตร​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย. โดย​ทำ​อย่าง​นั้น พวก​เขา​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา. เปาโล​เขียน​ว่า “พระ​ยะโฮวา​รัก​ผู้​ใด พระองค์​ทรง​ตี​สอน​ผู้​นั้น.” โปรด​สังเกต​ว่า​การ​ตี​สอน​แบบ​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​เพียง​แค่​การ​ลง​โทษ. แต่​คำ​นี้​สื่อ​แนว​คิด​เกี่ยว​กับ​การ​ฝึก​อบรม​และ​ให้​การ​ศึกษา. จุด​ประสงค์​ของ​การ​ตี​สอน​เช่น​นั้น​คือ​อะไร? เปาโล​กล่าว​ว่า “ผู้​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึก​โดย​การ​ตี​สอน​ก็​ได้​ผล​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​สันติ​สุข คือ​ความ​ชอบธรรม.” (เฮ็บราย 12:6, 11, ล.ม.) เมื่อ​บิดา​มารดา​สอน​บุตร​อย่าง​กรุณา​และ​สอดคล้อง​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า เขา​ก็​ได้​ให้​โอกาส​แก่​บุตร​ที่​จะ​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​รัก​สันติ​และ​ซื่อ​ตรง. หาก​บุตร​ยอม​รับ “บท​วินัย​ของ​พระ​ยะโฮวา” พวก​เขา​ก็​จะ​ได้​รับ​สติ​ปัญญา, ความ​รู้, และ​ความ​สังเกต​เข้าใจ—คุณสมบัติ​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​เงิน​หรือ​ทองคำ.—สุภาษิต 3:11-18.

8. มัก​เกิด​ผล​เช่น​ไร​เมื่อ​บิดา​มารดา​ไม่​ตี​สอน​บุตร?

8 ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม เมื่อ​บิดา​มารดา​ไม่​ตี​สอน​บุตร​นั่น​ไม่​ใช่​ความ​กรุณา. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดล​ใจ​ซะโลโม​ให้​เขียน​ว่า “บุคคล​ผู้​ไม่​ยอม​ใช้​ไม้เรียว​ก็​เป็น​ผู้​ที่​ชัง​บุตร​ของ​ตน; แต่​บุคคล​ผู้​รัก​บุตร​ย่อม​เฆี่ยน​ตี​สั่ง​สอน.” (สุภาษิต 13:24) บุตร​ที่​ถูก​เลี้ยง​ดู​โดย​ไม่​ได้​รับ​การ​ตี​สอน​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​มี​แนว​โน้ม​จะ​กลาย​เป็น​คน​ที่​คิด​ถึง​แต่​ตัว​เอง​และ​ไม่​มี​ความ​สุข. เมื่อ​เทียบ​กัน เด็ก​ที่​บิดา​มารดา​เป็น​คน​เห็น​อก​เห็น​ใจ​แต่​รักษา​ข้อ​กำหนด​ต่าง ๆ อย่าง​เคร่งครัด​จะ​เป็น​เด็ก​ที่​เรียน​เก่ง, มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​เข้า​กับ​ผู้​อื่น​ได้​ดี​กว่า, และ​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​จะ​เป็น​เด็ก​ที่​มี​ความ​สุข. ใน​เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น การ​ที่​บิดา​มารดา​ตี​สอน​บุตร​ย่อม​เป็น​การ​แสดง​ความ​กรุณา​ต่อ​บุตร​อย่าง​แน่นอน.

9. บิดา​มารดา​คริสเตียน​สอน​อะไร​แก่​บุตร และ​บุตร​ควร​มี​ทัศนะ​อย่าง​ไร​ต่อ​ข้อ​เรียก​ร้อง​เหล่า​นี้?

9 มี​อะไร​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย​ใน​การ​ตี​สอน​บุตร​ด้วย​ความ​กรุณา​และ​ความ​รัก? บิดา​มารดา​จำเป็น​ต้อง​บอก​บุตร​ให้​ชัดเจน​ว่า​ตน​คาด​หมาย​ให้​เขา​ประพฤติ​ตัว​เช่น​ไร. ตัว​อย่าง​เช่น เด็ก​ที่​มี​บิดา​มารดา​เป็น​คริสเตียน​ได้​รับ​การ​สอน​ตั้ง​แต่​เป็น​ทารก​ใน​เรื่อง​หลักการ​พื้น​ฐาน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​รวม​ถึง​ความ​จำเป็น​ต้อง​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​นมัสการ​แท้​แง่​ต่าง ๆ. (เอ็กโซโด 20:12-17; มัดธาย 22:37-40; 28:19; เฮ็บราย 10:24, 25) บุตร​จำเป็น​ต้อง​ทราบ​ว่า​ข้อ​เรียก​ร้อง​เหล่า​นี้​ไม่​อาจ​ต่อ​รอง​หรือ​ขอ​เปลี่ยน​แปลง.

10, 11. เพราะ​เหตุ​ใด​บิดา​มารดา​อาจ​คำนึง​ถึง​คำ​ขอ​ของ​บุตร​ด้วย​เมื่อ​ตั้ง​กฎ​ของ​ครอบครัว?

10 แต่​บาง​ครั้ง บิดา​มารดา​อาจ​ต้องการ​ให้​บุตร​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ตั้ง​กฎ​ประจำ​บ้าน. ถ้า​เยาวชน​สามารถ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ตั้ง​กฎ​เหล่า​นั้น พวก​เขา​อาจ​มี​แนว​โน้ม​มาก​กว่า​ที่​จะ​เชื่อ​ฟัง​กฎ​เหล่า​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​กรณี​ที่​บิดา​มารดา​ตัดสิน​ใจ​จะ​กำหนด​ว่า​ห้าม​บุตร​กลับ​บ้าน​เกิน​เวลา เขา​อาจ​เลือก​กำหนด​เวลา​ใด​เวลา​หนึ่ง​ที่​บุตร​ต้อง​กลับ​ถึง​บ้าน. หรือ​เขา​อาจ​เลือก​ทำ​อีก​วิธี​หนึ่ง​ด้วย​การ​ให้​บุตร​เสนอ​เวลา​ที่​ต้อง​กลับ​ถึง​บ้าน และ​ให้​เหตุ​ผล​ด้วย​ว่า​ทำไม​จึง​อยาก​ให้​เป็น​เวลา​นั้น. แล้ว​บิดา​มารดา​ก็​อาจ​บอก​เวลา​ที่​ตน​ได้​เลือก​ไว้ และ​อธิบาย​ว่า​ทำไม​ตัว​เขา​จึง​คิด​ว่า​เป็น​เวลา​ที่​เหมาะ​สม. ถ้า​มี​ความ​เห็น​แตกต่าง​กัน​ล่ะ ซึ่ง​ก็​คง​จะ​มี​เป็น​ธรรมดา จะ​ทำ​อย่าง​ไร? ใน​บาง​กรณี บิดา​มารดา​อาจ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​สามารถ​ยอม​ตาม​ความ​ปรารถนา​ของ​บุตร​เมื่อ​นั่น​ไม่​ขัด​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. นี่​หมาย​ความ​ไหม​ว่า​บิดา​มารดา​ละ​เว้น​การ​ใช้​อำนาจ​ของ​ตน?

11 เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​นั้น ขอ​ให้​พิจารณา​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​ด้วย​ความ​รัก​เมื่อ​ทรง​ติด​ต่อ​กับ​โลต​และ​ครอบครัว. หลัง​จาก​ที่​พา​โลต, ภรรยา, และ​ลูก​สาว​ออก​จาก​เมือง​โซโดม ทูตสวรรค์​กล่าว​กับ​พวก​เขา​ว่า “จง​หนี​ไป​ที่​ภูเขา, เกลือก​ว่า​เจ้า​จะ​ถึง​พินาศ!” แต่​โลต​ตอบ​ว่า “โอ้​ท่าน​เจ้าข้า, ขอ​อย่า​ให้​เป็น​อย่าง​นั้น​เลย!” แล้ว​โลต​ก็​ขอ​จะ​ทำ​อีก​อย่าง​หนึ่ง: “นี่​แน่ะ, บ้าน [เมือง] นี้​อยู่​ใกล้​เป็น​บ้าน [เมือง] เล็ก ๆ พอ​หนี​ไป​อาศัย​อยู่​ได้; ขอ​ให้​ข้าพเจ้า​หนี​ไป​อยู่​ที่​นั่น​เถิด.” พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​อย่าง​ไร? พระองค์​ตรัส​ว่า “นี่​แน่ะ, เรา​โปรด​ให้​เจ้า​ตาม​คำ​ของ​เจ้า.” (เยเนซิศ 19:17-22) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ละ​เว้น​การ​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​ไหม? ไม่​ใช่​อย่าง​นั้น​แน่! ทว่า พระองค์​ทรง​พิจารณา​คำ​ขอ​ของ​โลต​และ​ทรง​เลือก​จะ​แสดง​ความ​กรุณา​เป็น​พิเศษ​ต่อ​โลต​ใน​เรื่อง​ดัง​กล่าว. หาก​คุณ​เป็น​บิดา​มารดา คุณ​คำนึง​ถึง​คำ​ขอ​ของ​บุตร​บ้าง​ไหม​เมื่อ​ตั้ง​กฎ​ของ​ครอบครัว?

12. อะไร​จะ​ช่วย​เด็ก​ให้​รู้สึก​ปลอด​ภัย?

12 แน่นอน เด็ก ๆ จำเป็น​ต้อง​ทราบ​ไม่​เพียง​แค่​กฎ​แต่​ต้อง​ทราบ​ด้วย​ว่า​ถ้า​ฝ่าฝืน​กฎ​จะ​ถูก​ลง​โทษ​อย่าง​ไร. เมื่อ​พิจารณา​เรื่อง​บท​ลง​โทษ​กัน​จน​เข้าใจ​ดี​แล้ว จำเป็น​ต้อง​ทำ​ตาม​กฎ​นั้น​จริง ๆ. บิดา​มารดา​ไม่​ได้​แสดง​ความ​กรุณา​หาก​เขา​ขู่​ลูก​อยู่​ตลอด​ว่า​จะ​ถูก​ลง​โทษ​แต่​ไม่​ได้​ลง​มือ​ทำ​จริง ๆ ตาม​ที่​ได้​พูด. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “เพราะ​การ​ตัดสิน​การ​กระทำ​ชั่ว​นั้น​เขา​ไม่​ได้​ลง​โทษ​โดย​เร็ว เหตุ​ฉะนั้น ใจ​บรรดา​บุตร​ของ​มนุษย์​จึง​เจตนา​มุ่ง​ที่​จะ​กระทำ​ความ​อธรรม.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 8:11, ฉบับ​แปล​ใหม่) จริง​อยู่ บิดา​มารดา​อาจ​ไม่​ลง​โทษ​บุตร​ใน​ที่​สาธารณะ​หรือ​ต่อ​หน้า​เพื่อน ๆ เพื่อ​เด็ก​จะ​ไม่​รู้สึก​อับอาย. แต่​เด็ก​จะ​รู้สึก​ปลอด​ภัย​กว่า​และ​พัฒนา​ความ​นับถือ​และ​ความ​รัก​ต่อ​บิดา​มารดา​มาก​ยิ่ง​ขึ้น​เมื่อ​เขา​รู้​ว่า​คำ​ว่า “ใช่” ของ​พ่อ​แม่​หมาย​ความ​ว่า​ใช่​และ​คำ​ว่า “ไม่” หมาย​ความ​ว่า​ไม่—แม้​ว่า​นั่น​หมาย​รวม​ถึง​การ​ลง​โทษ.—มัดธาย 5:37, ล.ม.

13, 14. บิดา​มารดา​จะ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​ไร​เมื่อ​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร?

13 เพื่อ​จะ​เป็น​การ​แสดง​ความ​กรุณา จำเป็น​ต้อง​ปรับ​การ​ลง​โทษ​และ​วิธี​ลง​โทษ​ให้​เหมาะ​กับ​เด็ก. แพม​จำ​ได้​ว่า “ลูก​ของ​เรา​สอง​คน​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ตี​สอน​คน​ละ​แบบ. วิธี​หนึ่ง​ที่​ใช้​ได้​ผล​กับ​ลูก​คน​หนึ่ง​ใช้​ไม่​ได้​กับ​อีก​คน​หนึ่ง.” แลร์รี​สามี​ของ​เธอ​อธิบาย​ว่า “ลูก​สาว​คน​โต​ของ​เรา​เป็น​คน​หัวแข็ง​และ​ดู​เหมือน​ว่า​จะ​ตอบรับ​เฉพาะ​การ​ตี​สอน​ที่​เข้มงวด​เท่า​นั้น. แต่​ลูก​สาว​คน​เล็ก​ตอบรับ​เร็ว​มาก​ต่อ​คำ​พูด​ที่​หนักแน่น​และ​แม้​แต่​แค่​มอง​อย่าง​ไม่​พอ​ใจ.” จริง​ที​เดียว บิดา​มารดา​ที่​กรุณา​พยายาม​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ทราบ​ว่า​การ​ตี​สอน​แบบ​ไหน​ที่​ก่อ​ผล​ดี​ที่​สุด​ต่อ​บุตร​แต่​ละ​คน.

14 พระ​ยะโฮวา​ทรง​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​สำหรับ​บิดา​มารดา​ใน​ข้อ​ที่​ว่า​พระองค์​ทรง​ทราบ​จุด​แข็ง​และ​จุด​อ่อน​ของ​ผู้​รับใช้​แต่​ละ​คน​ของ​พระองค์. (เฮ็บราย 4:13) นอก​จาก​นั้น เมื่อ​ทรง​ลง​โทษ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เข้มงวด​เกิน​ไป​หรือ​ผ่อนปรน​เกิน​ไป. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​ตี​สอน​ประชาชน​ของ​พระองค์ “แต่​พอ​ดี” เสมอ. (ยิระมะยา 30:11) บิดา​มารดา​ทั้ง​หลาย คุณ​รู้​จุด​แข็ง​และ​จุด​อ่อน​ของ​บุตร​ไหม? คุณ​สามารถ​ใช้​ความ​รู้​นั้น​ใน​วิธี​ที่​กรุณา​และ​ได้​ผล​เพื่อ​อบรม​สั่ง​สอน​พวก​เขา​ไหม? ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​ก็​กำลัง​พิสูจน์​ว่า​คุณ​รัก​บุตร.

จง​สนับสนุน​ให้​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา

15, 16. บิดา​มารดา​จะ​สามารถ​สนับสนุน​บุตร​ให้​พูด​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ได้​อย่าง​ไร และ​บิดา​มารดา​คริสเตียน​พบ​ว่า​วิธี​การ​ใด​ใช้​ได้​ผล​ใน​เรื่อง​นี้?

15 อีก​แง่​หนึ่ง​ของ​ความ​รัก​คือ “ไม่​ยินดี​ใน​การ​อธรรม, แต่​ยินดี​กับ​ความ​จริง.” (1 โกรินโธ 13:6, ล.ม.) บิดา​มารดา​จะ​อบรม​สั่ง​สอน​บุตร​ให้​รัก​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​และ​จริง​ได้​โดย​วิธี​ใด? ขั้น​ตอน​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​คือ​สนับสนุน​บุตร​ให้​แสดง​ความ​รู้สึก​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา แม้​แต่​เมื่อ​สิ่ง​ที่​บุตร​พูด​นั้น​เป็น​เรื่อง​ที่​รับ​ได้​ยาก​สำหรับ​บิดา​มารดา. เป็น​เรื่อง​เข้าใจ​ได้​ที่​บิดา​มารดา​รู้สึก​ชื่น​ใจ​เมื่อ​บุตร​แสดง​ความ​คิด​และ​ความ​รู้สึก​สอดคล้อง​กับ​มาตรฐาน​อัน​ชอบธรรม. แต่​ใน​โอกาส​อื่น ๆ ความ​เห็น​ที่​ออก​มา​จาก​หัวใจ​ของ​เด็ก​อาจ​เผย​ให้​เห็น​แนว​โน้ม​เอียง​ไป​ใน​ทาง​ที่​ไม่​ชอบธรรม. (เยเนซิศ 8:21) บิดา​มารดา​ควร​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? พวก​เขา​อาจ​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​แสดง​ปฏิกิริยา​ใน​ตอน​แรก​โดย​ดุ​หรือ​ว่า​กล่าว​แก้ไข​บุตร​ใน​ทันที​ว่า​ทำไม​จึง​แสดง​ความ​คิด​ออก​มา​อย่าง​นั้น. ถ้า​บิดา​มารดา​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​นั้น ไม่​ช้า​เด็ก​ก็​จะ​เรียน​รู้​ที่​จะ​พูด​เฉพาะ​สิ่ง​ที่​เขา​คิด​ว่า​บิดา​มารดา​อยาก​ได้​ยิน. แน่​ล่ะ คำ​พูด​ที่​ไม่​แสดง​ความ​นับถือ​ควร​ถูก​แก้ไข​ทันที แต่​มี​ข้อ​แตกต่าง​กัน​อยู่​ระหว่าง​การ​สอน​บุตร​ให้​รู้​วิธี​สื่อ​ความ​อย่าง​สุภาพ​กับ​การ​กำหนด​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​พูด​อะไร.

16 บิดา​มารดา​จะ​สนับสนุน​ให้​บุตร​สื่อ​ความ​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ได้​อย่าง​ไร? อา​เลีย​ซึ่ง​อ้าง​ถึง​แล้ว​ก่อน​หน้า​นี้​กล่าว​ว่า “เรา​สร้าง​บรรยากาศ​ใน​การ​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​เปิด​เผย​โดย​พยายาม​ไม่​แสดง​ปฏิกิริยา​มาก​เกิน​ไป​เมื่อ​ลูก ๆ บอก​เรา​ใน​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​เรา​ไม่​สบาย​ใจ.” บิดา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ชื่อ​ว่า​ทอม​กล่าว​ว่า “เรา​สนับสนุน​ลูก​สาว​ให้​เปิด​เผย​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง​กับ​เรา แม้​แต่​เมื่อ​ลูก​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​แนว​คิด​ของ​เรา. เรา​คิด​ว่า​ถ้า​เรา​ตัดบท​เมื่อ​ลูก​พูด​และ​ยัดเยียด​ความ​คิด​ให้​ลูก​ทำ​ตาม​ความ​ปรารถนา​ของ​เรา​เสมอ ลูก​คง​จะ​หงุดหงิด​และ​ใน​ที่​สุด​ลูก​ก็​จะ​ไม่​บอก​เรา​ให้​ทราบ​สิ่ง​ที่​อยู่​ใน​หัวใจ​จริง ๆ. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม การ​ฟัง​ลูก​เป็น​การ​สนับสนุน​ลูก​ให้​ฟัง​เรา.” แน่นอน บุตร​ควร​เชื่อ​ฟัง​บิดา​มารดา. (สุภาษิต 6:20) แต่​การ​สื่อ​ความ​อย่าง​เปิด​เผย​ทำ​ให้​บิดา​มารดา​มี​โอกาส​จะ​ช่วย​บุตร​ให้​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​หา​เหตุ​ผล. วินเซนต์ บิดา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​บุตร​สี่​คน กล่าว​ว่า “บ่อย​ครั้ง เรา​จะ​ถก​กัน​ถึง​ข้อ​ดี​ข้อ​เสีย​ของ​สถานการณ์​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​เพื่อ​ลูก ๆ จะ​สามารถ​เห็น​ได้​ว่า​อะไร​ดี​ที่​สุด​สำหรับ​ตัว​เขา​เอง. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ช่วย​พวก​เขา​ให้​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด.”—สุภาษิต 1:1-4.

17. บิดา​มารดา​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​ใน​เรื่อง​ใด?

17 แน่นอน ไม่​มี​บิดา​มารดา​คน​ใด​สามารถ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​การ​เลี้ยง​ดู​บุตร​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ. แม้​กระนั้น คุณ​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​บุตร​จะ​ซาบซึ้ง​ใน​ความ​พยายาม​ของ​คุณ​ที่​จะ​อบรม​สั่ง​สอน​เขา​ใน​วิธี​ที่​อด​กลั้น​ไว้​นาน, กรุณา, และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก. พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​อวย​พร​ความ​พยายาม​ของ​คุณ​ที่​ทำ​เช่น​นั้น​อย่าง​แน่นอน. (สุภาษิต 3:33) โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว บิดา​มารดา​คริสเตียน​ทุก​คน​ต้องการ​ให้​บุตร​เรียน​รู้​ที่​จะ​รัก​พระ​ยะโฮวา​มาก ๆ เหมือน​กับ​ตน. บิดา​มารดา​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​ที่​ดี​เยี่ยม​นี้​ได้​อย่าง​ไร? บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​วิธี​การ​บาง​อย่าง.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• การ​แสดง​ความ​เข้าใจ​อย่าง​ลึกซึ้ง​สามารถ​ช่วย​บิดา​มารดา​ให้​อด​กลั้น​ไว้​นาน​ได้​อย่าง​ไร?

• ความ​กรุณา​กับ​การ​ตี​สอน​เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​การ​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ระหว่าง​บิดา​มารดา​กับ​บุตร​จึง​สำคัญ​มาก?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 23]

บิดา​มารดา​ทั้ง​หลาย คุณ​จำ​ได้​ไหม​ว่า​ตอน​ที่​คุณ​เป็น​เด็ก​นั้น​เป็น​เช่น​ไร?

[ภาพ​หน้า 24]

คุณ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​สื่อ​ความ​กัน​อย่าง​เปิด​เผย​ตรง​ไป​ตรง​มา​กับ​บุตร​ไหม?