ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากพระธรรมโอบัดยา, โยนา, และมีคา

จุดเด่นจากพระธรรมโอบัดยา, โยนา, และมีคา

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​พระ​ธรรม​โอบัดยา, โยนา, และ​มีคา

“เรื่อง​นิมิต​ของ​โอบัดยา.” (โอบัดยา 1) นี่​เป็น​ถ้อย​คำ​เริ่ม​ต้น​ของ​พระ​ธรรม​โอบัดยา. ผู้​พยากรณ์​ไม่​ได้​เปิด​เผย​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตน​เอง​เว้น​แต่​ชื่อ​ของ​ท่าน​ใน​พระ​ธรรม​ที่​ท่าน​เขียน​เมื่อ​ปี 607 ก่อน​สากล​ศักราช. สำหรับ​พระ​ธรรม​ที่​เขียน​เสร็จ​มาก​กว่า​สอง​ศตวรรษ​ก่อน​หน้า​นี้ ผู้​พยากรณ์​โยนา​ได้​กล่าว​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ท่าน​ประสบ​ด้วย​ตน​เอง​ใน​งาน​มอบหมาย​ฐานะ​ผู้​เผยแพร่​ใน​ต่าง​แดน. มีคา​ทำ​งาน​รับใช้​ฐานะ​ผู้​พยากรณ์​นาน 60 ปี ตั้ง​แต่​ปี 777 ก่อน ส.ศ. ถึง​ปี 717 ก่อน ส.ศ. ระหว่าง​สมัย​ของ​โอบัดยา​และ​โยนา. เรื่อง​ที่​ท่าน​บอก​เกี่ยว​กับ​ตน​เอง​มี​แค่​ว่า​ท่าน​เป็น “ชาว​เมือง​โมเรเซ็ธ” และ​พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มา​ถึง​ท่าน “ใน​รัชกาล​แห่ง​โยธาม, อาฮาศ, และ​ฮิศคียา, กษัตริย์​แห่ง​ประเทศ​ยะฮูดา.” (มีคา 1:1) ความ​คุ้น​เคย​ของ​ท่าน​ผู้​พยากรณ์​กับ​ชีวิต​ใน​ชนบท​เห็น​ได้​จาก​วิธี​ที่​ท่าน​ใช้​คำ​เปรียบ​เพื่อ​เน้น​จุด​สำคัญ​ของ​ข่าวสาร​ที่​ท่าน​ประกาศ.

เอโดม “จะ​ถูก​ทำลาย​เสีย​ตลอด​กาล”

(โอบัดยา 1-21)

โอบัดยา​กล่าว​เกี่ยว​กับ​เอโดม​ว่า “เนื่อง​ด้วย​การ​ร้าย​ที่​เจ้า​ได้​กระทำ​แก่​ยาโคบ​น้อง​ชาย​ของ​เจ้า, การ​น่า​บัดสี​จะ​หุ้ม​ห่อ​เจ้า​ไว้, และ​เจ้า​จะ​ถูก​ทำลาย​เสีย​ตลอด​กาล.” ผู้​พยากรณ์​จำ​ได้​อย่าง​แม่นยำ​ว่า​ก่อน​หน้า​นี้​ชาว​เอโดม​กระทำ​ทารุณ​ต่อ​เหล่า​บุตร​ชาย​ของ​ยาโคบ​ซึ่ง​ก็​คือ​ชาว​อิสราเอล. ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. เมื่อ​ชาว​บาบิโลน​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม ชาว​เอโดม “ยืน​ดู​เหตุ​การณ์​อยู่​ข้าง ๆ” และ​เข้า​เป็น​พันธมิตร​กับ​พวก “คน​ต่าง​ด้าว” ที่​บุกรุก.—โอบัดยา 10, 11.

ใน​ทาง​กลับ​กัน วงศ์วาน​ของ​ยาโคบ​จะ​ได้​รับ​การ​ฟื้นฟู. คำ​พยากรณ์​ของ​โอบัดยา​กล่าว​ว่า “ส่วน ณ ภูเขา​ซีโอน​นั้น​จะ​มี​ผู้​ที่​หนี​รอด​มา​อยู่​บ้าง, และ​ที่​นั้น​จะ​เป็น​ที่​สำหรับ​พวก​เขา​โดย​เฉพาะ.”—โอบัดยา 17.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

ข้อ 5-8การ​เปรียบ​เทียบ​พินาศกรรม​ของ​เอโดม​กับ​พวก​ปล้น​ชิง​ที่​มา​ตอน​กลางคืน​และ​คน​เก็บ​ผล​องุ่น​มี​ความ​หมาย​อย่าง​ไร? ถ้า​พวก​โจร​มา​ปล้น​เอโดม พวก​เขา​ก็​จะ​เอา​แต่​สิ่ง​ที่​ตน​ต้องการ. ถ้า​คน​เก็บ​เกี่ยว​มา พวก​เขา​ก็​จะ​เหลือ​พืช​ผล​ไว้​บ้าง. แต่​เมื่อ​เอโดม​ล่ม​จม ทรัพย์​ของ​พวก​เขา​ก็​จะ​ถูก​กวาด​ไป​จน​เกลี้ยง​และ​จะ​ถูก “คน​ที่​เป็น​มิตร​ไมตรี​กับ [พวก​เขา]” ซึ่ง​ก็​คือ​ชาว​บาบิโลน​พันธมิตร​เอโดม ปล้น​ไป​จน​หมด​ไม่​มี​เหลือ.—ยิระมะยา 49:9, 10.

ข้อ 10เอโดม​ถูก “ทำลาย​เสีย​ตลอด​กาล” อย่าง​ไร? ดัง​ที่​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า ชาติ​เอโดม​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​รัฐบาล​และ​ประชาชน​ชาว​เอโดม​ที่​อาศัย​ใน​ดินแดน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​แผ่นดิน​โลก​ไม่​มี​เหลือ​แล้ว. เนโบ​ไน​ดัส​กษัตริย์​บาบิโลน​พิชิต​เอโดม​ประมาณ​กลาง​ศตวรรษ​ที่​หก​ก่อน ส.ศ. พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สี่​ก่อน ส.ศ. ดินแดน​เอโดม​ถูก​ครอบครอง​โดย​ชาว​นาบาเทีย และ​ชาว​เอโดม​ก็​ต้อง​ไป​อาศัย​อยู่​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​ยูเดีย​ใน​เนเกบ​ซึ่ง​ต่อ​มา​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ​อิดูเมีย. หลัง​จาก​ชาว​โรมัน​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ปี ส.ศ. 70 ชาว​เอโดม​ก็​สาบสูญ​ไป.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

ข้อ 3, 4. เนื่อง​จาก​ชาว​เอโดม​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​พื้น​ที่​ขรุขระ มี​ภูเขา​สูง​และ​ช่อง​เขา​ลึก​ซึ่ง​เป็น​ข้อ​ได้​เปรียบ​อย่าง​ยิ่ง​ทาง​ยุทธศาสตร์ พวก​เขา​จึง​อาจ​หลอก​ตน​เอง​ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​มาก​เกิน​ไป​ว่า​มี​ความ​มั่นคง​และ​ปลอด​ภัย. แต่​ไม่​อาจ​หนี​พ้น​การ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้.

ข้อ 8, 9, 15 (ฉบับ​แปล​ใหม่). สติ​ปัญญา​และ​กำลัง​ของ​มนุษย์​ไม่​อาจ​ให้​การ​ปก​ป้อง​ได้​ใน “วัน​แห่ง​พระเจ้า.”—ยิระมะยา 49:7, 22.

ข้อ 12-14. ชาว​เอโดม​เป็น​ตัว​อย่าง​เตือน​ใจ​สำหรับ​คน​ที่​รู้สึก​ยินดี​ที่​เห็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก. พระ​ยะโฮวา​ไม่​ทรง​มอง​ว่า​การ​ที่​ประชาชน​ของ​พระองค์​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​นั้น​เป็น​เรื่อง​เล็ก​น้อย.

ข้อ 17-20. คำ​พยากรณ์​เรื่อง​การ​ฟื้นฟู​วงศ์วาน​ของ​ยาโคบ​เริ่ม​สำเร็จ​เป็น​จริง​เมื่อ​ชาว​ยิว​ที่​เหลือ​ออก​จาก​บาบิโลน​กลับ​สู่​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ปี 537 ก่อน ส.ศ. พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​จริง​เสมอ. เรา​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​เต็ม​ที่​ใน​คำ​สัญญา​ของ​พระองค์.

“กรุง​นีนะเว​จะ​ถูก​ทำลาย​ให้​พินาศ​ไป”

(โยนา 1:1–4:11)

แทน​ที่​โยนา​จะ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​ที่​ให้ “ไป​ยัง​นีนะเว​กรุง​ใหญ่​นั้น, และ​ร้อง​ประกาศ” ข่าวสาร​การ​พิพากษา แต่​โยนา​กลับ​หนี​ไป​ใน​ทิศ​ตรง​กัน​ข้าม. โดย​ทำ​ให้​เกิด ‘กระแส​ลม​ใหญ่​พัด​ผ่าน​ทะเล’ และ​ใช้ “ปลา​ใหญ่” พระ​ยะโฮวา​ทรง​เปลี่ยน​เส้น​ทาง​ของ​โยนา​และ​มอบหมาย​งาน​ให้​ท่าน​อีก​เป็น​ครั้ง​ที่​สอง​ให้​ไป​ยัง​เมือง​หลวง​ของ​อัสซีเรีย.—โยนา 1:2, 4, 17; 3:1, 2.

โยนา​เข้า​ไป​ใน​กรุง​นีเนเวห์​และ​ประกาศ​ข่าวสาร​ที่​ตรง​ไป​ตรง​มา​ว่า “อีก​สี่​สิบ​วัน​กรุง​นีนะเว​จะ​ถูก​ทำลาย​ให้​พินาศ​ไป.” (โยนา 3:4) การ​ประกาศ​ของ​โยนา​ส่ง​ผล​ที่​ไม่​คาด​คิด​ซึ่ง​ทำ​ให้​ท่าน “โกรธ​มาก.” พระ​ยะโฮวา​ใช้ “ต้น​ละหุ่ง” เพื่อ​สอน​บทเรียน​แก่​โยนา​ใน​เรื่อง​ความ​เมตตา.—โยนา 4:1, 6.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

3:3เมือง​นีเนเวห์​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก​จน​ถึง​กับ​ต้อง​ใช้ “เวลา​สาม​วัน​จึง​จะ​เดิน​ข้าม​เมือง​นั้น” ได้​จริง​ไหม? จริง. ใน​สมัย​โบราณ เป็น​ที่​เข้าใจ​ว่า​เมือง​นีเนเวห์​ดู​เหมือน​หมาย​รวม​ถึง​ชุมชน​อื่น ๆ ด้วย​โดย​เริ่ม​จาก​เมือง​คอร์ซาบาด​ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​ไป​จน​ถึง​เมือง​นิมรุด​ที่​อยู่​ทาง​ใต้. ชุมชน​ทั้ง​หมด​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เมือง​นีเนเวห์​ตั้ง​อยู่​ใน​ลักษณะ​สี่​เหลี่ยม​จัตุรัส​ซึ่ง​มี​ระยะ​ทาง​โดย​รอบ​ประมาณ 100 กิโลเมตร

3:4โยนา​ต้อง​เรียน​ภาษา​อัสซีเรีย​ไหม​เพื่อ​จะ​ประกาศ​กับ​ชาว​เมือง​นีเนเวห์? โยนา​อาจ​รู้​ภาษา​อัสซีเรีย​อยู่​แล้ว หรือ​ท่าน​อาจ​ได้​รับ​ความ​สามารถ​ใน​การ​พูด​ภาษา​นั้น​โดย​การ​อัศจรรย์. เป็น​ไป​ได้​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ว่า​ท่าน​ประกาศ​ข่าวสาร​ที่​สั้น​กระชับ​เป็น​ภาษา​ฮีบรู และ​มี​ล่าม​แปล​ให้. ถ้า​เป็น​ใน​กรณี​หลัง คำ​พูด​ของ​ท่าน​คง​จะ​กระตุ้น​ให้​เกิด​ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ใน​ข่าวสาร​ของ​ท่าน​มาก​ขึ้น​ที​เดียว.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:1-3. การ​จงใจ​จัด​ตาราง​เวลา​ทำ​กิจกรรม​อย่าง​อื่น​เพื่อ​จะ​ได้​ไม่​ต้อง​มี​ส่วน​ร่วม​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​การ​ประกาศ​ราชอาณาจักร​และ​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก เป็น​การ​ส่อ​เจตนา​ที่​ผิด. ใคร​ที่​ทำ​เช่น​นั้น​อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​เขา​หนี​งาน​มอบหมาย​ที่​พระเจ้า​ประทาน​ให้.

1:1, 2; 3:10. ความ​เมตตา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​จำกัด​แค่​ชาติ​หนึ่ง​หรือ​เผ่า​พันธุ์​ใด​เผ่า​พันธุ์​หนึ่ง​หรือ​ประชาชน​พิเศษ​กลุ่ม​หนึ่ง. “พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​พระคุณ​แก่​มนุษย์​ทั่ว​ไป; พระ​เมตตา​กรุณา​อัน​อ่อน​ละมุน​มี​ปรากฏ​อยู่​ใน​บรรดา​พระ​ราชกิจ​ของ​พระองค์.”—บทเพลง​สรรเสริญ 145:9.

1:17; 2:10. ช่วง​เวลา​สาม​วัน​สาม​คืน​ที่​โยนา​อยู่​ใน​ท้อง​ปลา​ใหญ่​เป็น​เรื่อง​ราว​เชิง​พยากรณ์​ที่​ชี้​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​และ​การ​ฟื้น​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู.—มัดธาย 12:39, 40; 16:21.

1:17; 2:10; 4:6. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​โยนา​ให้​พ้น​จาก​ทะเล​ที่​ปั่นป่วน. นอก​จาก​นั้น พระ​ยะโฮวา “ทรง​ให้​ต้น​ละหุ่ง​งอก​ขึ้น​มา, ให้​เป็น​ร่ม​ศีรษะ​ของ​ท่าน​ไว้​เพื่อ​บรรเทา​ทุกข์​ความ​กลุ้ม​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้.” ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้​สามารถ​วางใจ​ใน​พระเจ้า​ของ​ตน​และ​ใน​พระ​กรุณา​รักใคร่​ของ​พระองค์​ที่​จะ​ปก​ป้อง​คุ้มครอง​และ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รอด.—บทเพลง​สรรเสริญ 13:5; 40:11.

2:1, 2, 9, 10. พระ​ยะโฮวา​สดับ​ฟัง​คำ​อธิษฐาน​ของ​ผู้​รับใช้​พระองค์​และ​ทรง​เอา​พระทัย​ใส่​คำ​วิงวอน​ของ​พวก​เขา.—บทเพลง​สรรเสริญ 120:1; 130:1, 2.

3:8, 10. พระเจ้า​เที่ยง​แท้ “กลับ​พระทัย” หรือ​เปลี่ยน​ใจ​ไม่​ลง​โทษ​ตาม​ที่​ได้​ตรัส​ไว้​และ “ก็​มิ​ได้​ทรง​กระทำ.” เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​ชาว​นีเนเวห์ “ได้​กลับ​ไม่​ประพฤติ​ใน​ทาง​ชั่ว​ต่อ​ไป.” คล้าย​กัน​ใน​ทุก​วัน​นี้ การ​พิพากษา​ลง​โทษ​ของ​พระเจ้า​อาจ​ไม่​เกิด​ขึ้น​หาก​คน​บาป​แสดง​การ​กลับ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง.

4:1-4. ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​สามารถ​กำหนด​ว่า​พระเจ้า​ควร​แสดง​ความ​เมตตา​ถึง​ขีด​ไหน. เรา​ควร​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​วิพากษ์วิจารณ์​แนว​ทาง​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​เมตตา​ของ​พระ​ยะโฮวา.

4:11. พระ​ยะโฮวา​ทรง​อด​ทน​รอ​ให้​มี​การ​ประกาศ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร​ไป​ตลอด​ทั่ว​โลก​เพราะ​ทรง​รู้สึก​สงสาร​คน​ที่ “ไม่​รู้​เดียงสา​ว่า​ข้าง​ไหน​เป็น​มือ​ขวา​มือ​ซ้าย” ดัง​เช่น​ที่​ทรง​สงสาร​ชาว​นีเนเวห์ 120,000 คน​นั้น. เรา​น่า​จะ​สงสาร​ผู้​คน​ใน​เขต​ทำ​งาน​ของ​เรา​และ​เข้า​ส่วน​ร่วม​อย่าง​กระตือรือร้น​ใน​การ​ประกาศ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร​และ​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก​มิ​ใช่​หรือ?—2 เปโตร 3:9.

‘ผม​ของ​เขา​ถูก​ตัด​จน​เลี่ยน​เตียน’

(มีคา 1:1–7:20)

มีคา​เปิดโปง​บาป​ของ​อิสราเอล​และ​ยูดาห์ และ​บอก​ล่วง​หน้า​ถึง​ความ​ร้าง​เปล่า​ของ​เมือง​หลวง​ของ​พวก​เขา​รวม​ถึง​คำ​สัญญา​เรื่อง​การ​ฟื้นฟู. ซะมาเรีย​จะ​เป็น “เนื้อ​นา​ที่​ไถ​แล้ว.” เนื่อง​จาก​การ​บูชา​รูป​เคารพ ชาว​อิสราเอล​สม​ควร​ถูก “โกน​ศีรษะ” หรือ​ได้​รับ​ความ​อับอาย. โดย​ถูก​จับ​ตัว​ไป​เป็น​เชลย พวก​เขา​ถูก​กล้อน​ผม​บน​ศีรษะ​จน​เกลี้ยง “เหมือน​กับ​นก​ตะกรุม” ซึ่ง​ดู​เหมือน​เป็น​นก​แร้ง​ชนิด​หนึ่ง​ที่​มี​ขน​อ่อน​บน​หัว​เพียง​ไม่​กี่​เส้น. พระ​ยะโฮวา​สัญญา​ว่า “โอ้​พวก​ยาโคบ, เรา​จะ​รวบ​รวม​เจ้า​ทั้ง​หลาย​เข้า​มา​เป็น​แน่.” (มีคา 1:6, 16; 2:12) เนื่อง​มา​จาก​พวก​ผู้​นำ​ที่​กิน​สินบน​และ​พวก​ผู้​พยากรณ์​ที่​ฝ่าฝืน​พระ​บัญญัติ กรุง​เยรูซาเลม​ก็​จะ​เป็น​เหมือน “เนื้อ​นา​ที่​ไถ​แล้ว” เช่น​กัน. แต่​พระ​ยะโฮวา​จะ “ทรง​รวบ​รวม​เขา​ทั้ง​หลาย​เข้า​มา.” จะ​มี “กษัตริย์​ครอง​ยิศราเอล” จาก “บ้าน​เบธเลเฮ็ม​เอฟราธา.”—มีคา 3:12; 4:12, ฉบับ​แปล​ใหม่; 5:2.

พระ​ยะโฮวา​ไม่​ให้​ความ​เป็น​ธรรม​กับ​อิสราเอล​ไหม? ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระองค์​เข้มงวด​เกิน​ไป​ไหม? ไม่​เลย. ทั้ง​หมด​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​ร้อง​จาก​ผู้​นมัสการ​พระองค์​คือ ให้​พวก​เขา “สำแดง​ความ​ยุติธรรม​และ​ให้​รัก​ความ​กรุณา​และ​ให้​เจียม​ตัว” ใน​การ​ดำเนิน​กับ​พระเจ้า​ของ​พวก​เขา. (มีคา 6:8, ล.ม.) แต่​คน​ร่วม​สมัย​ของ​มีคา​ทำ​ความ​ชั่ว​มาก​เสีย​จน “คน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​เขา​ก็​เปรียบ​เหมือน​อย่าง​กอ​ระกำ, และ​คน​ซื่อ​ตรง​ที่​สุด​ของ​เขา​ก็​ร้าย​เสีย​ยิ่ง​กว่า​รั้ว​หนาม” สร้าง​ความ​เจ็บ​ช้ำ​น้ำใจ​ให้​กับ​ทุก​คน​ที่​เข้า​ใกล้. แต่​ผู้​พยากรณ์​ถาม​ว่า “ใคร​เล่า​เป็น​พระเจ้า​เสมอ​เหมือน​กับ [พระ​ยะโฮวา]?” พระเจ้า​จะ​แสดง​ความ​เมตตา​อีก​ครั้ง​แก่​ประชาชน​ของ​พระองค์​และ ‘ทรง​โยน​บาป​ผิด​ของ​เขา​ลง​ไป​เสีย​ใน​ทะเล​ลึก.’—มีคา 7:4, 18, 19.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​พระ​คัมภีร์:

2:12เมื่อ​ใด​ที่​คำ​พยากรณ์​เกี่ยว​กับ ‘การ​รวบ​รวม​พวก​ยิศราเอล​ที่​เหลือ’ สำเร็จ​เป็น​จริง? ความ​สำเร็จ​เป็น​จริง​ครั้ง​แรก​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 537 ก่อน ส.ศ. เมื่อ​ชาว​ยิว​ที่​เหลือ​กลับ​คืน​สู่​มาตุภูมิ​หลัง​จาก​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน. ใน​สมัย​ปัจจุบัน คำ​พยากรณ์​นี้​สำเร็จ​เป็น​จริง​กับ “อิสราเอล​ของ​พระเจ้า.” (กาลาเทีย 6:16) นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1919 คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ถูก​รวบ​รวม “ดุจ​ฝูง​แกะ​เข้า​อยู่​ใน​คอก.” เนื่อง​จาก​มี “ชน​ฝูง​ใหญ่” แห่ง “แกะ​อื่น” เข้า​มา​ร่วม​สมทบ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1935 พวก​เขา​ก็​พา​กัน “ส่ง​เสียง​ขรม.” (วิวรณ์ 7:9; โยฮัน 10:16) ทั้ง​สอง​กลุ่ม​ต่าง​ก็​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​แท้​ด้วย​กัน​อย่าง​กระตือรือร้น.

4:1-4 (ล.ม.)“ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​แห่ง​สมัย” พระ​ยะโฮวา “จะ​ทรง​ตัดสิน​ความ​ท่ามกลาง​หลาย​ชน​ชาติ . . . และ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​อัน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ชาติ​ต่าง ๆ ที่​เข้มแข็ง . . . ให้​เรียบร้อย” อย่าง​ไร? วลี​ที่​ว่า “หลาย​ชน​ชาติ” และ “ชาติ​ต่าง ๆ ที่​เข้มแข็ง” ไม่​ได้​หมาย​ถึง​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​หรือ​อำนาจ​ทาง​การ​เมือง. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​แต่​ละ​บุคคล​จาก​ชาติ​ต่าง ๆ ทั้ง​มวล​ที่​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ตัดสิน​ความ​และ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​สัมพันธภาพ​ระหว่าง​พวก​เขา​กับ​พระองค์​ให้​เรียบร้อย.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:6, 9; 3:12; 5:2. ซะมาเรีย​ถูก​ชาว​อัสซีเรีย​ทำลาย​ใน​ปี 740 ก่อน ส.ศ. ใน​สมัย​ของ​มีคา. (2 กษัตริย์ 17:5, 6) ชาว​อัสซีเรีย​มา​ถึง​กรุง​เยรูซาเลม​ก็​เป็น​ช่วง​ที่​ฮิศคียา​ครอง​ราชย์. (2 กษัตริย์ 18:13) กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​โดย​ชาว​บาบิโลน​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. (2 โครนิกา 36:19) ดัง​ที่​พยากรณ์​ไว้ มาซีฮา​เกิด​ที่ “บ้าน​เบธเลเฮ็ม​เอฟราธา.” (มัดธาย 2:3-6) คำ​ตรัส​เชิง​พยากรณ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​สำเร็จ​เป็น​จริง​เสมอ.

2:1, 2. นับ​ว่า​อันตราย​สัก​เพียง​ไร​หาก​เรา​อ้าง​ว่า​รับใช้​พระเจ้า​แต่​กลับ​แสวง​หา​ความ​ร่ำรวย​ก่อน​แทน​ที่​จะ​แสวง​หา “ราชอาณาจักร​และ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์.”—มัดธาย 6:33; 1 ติโมเธียว 6:9, 10.

3:1-3, 5. พระ​ยะโฮวา​คาด​หมาย​คน​ที่​นำ​หน้า​ท่ามกลาง​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ปฏิบัติ​อย่าง​ยุติธรรม.

3:4. หาก​เรา​ปรารถนา​ให้​พระ​ยะโฮวา​ตอบ​คำ​อธิษฐาน​ของ​เรา เรา​ต้อง​หลีก​เว้น​จาก​บาป​และ​การ​ดำเนิน​ชีวิต​แบบ​ตี​สอง​หน้า.

3:8. หน้า​ที่​มอบหมาย​ของ​เรา​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี ซึ่ง​รวม​ถึง​ข่าวสาร​การ​พิพากษา จะ​บรรลุ​ผล​สำเร็จ​ได้​ก็​ต่อ​เมื่อ​เรา​ได้​รับ​การ​เสริม​กำลัง​โดย​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา​เท่า​นั้น.

5:5 (ฉบับ​แปล​ใหม่). คำ​พยากรณ์​เกี่ยว​กับ​มาซีฮา​ข้อ​นี้​ให้​คำ​รับรอง​กับ​เรา​ว่า เมื่อ​ประชาชน​ของ​พระเจ้า​ถูก​ศัตรู​โจมตี “ผู้​เลี้ยง​แกะ​เจ็ด​คน [หมาย​ถึง​ความ​ครบ​ถ้วน]” และ “เจ้านาย​แปด​คน” หมาย​ถึง​ชาย​ที่​มี​ความ​สามารถ​จำนวน​มาก จะ​ถูก​ยก​ให้​เป็น​ผู้​นำ​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา.

5:7, 8. สำหรับ​หลาย​คน คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ใน​ทุก​วัน​นี้​เป็น “ดุจ​น้ำ​ค้าง​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา” นั่น​คือ​เป็น​พระ​พร​จาก​พระเจ้า. ที่​เป็น​เช่น​นั้น​เพราะ​พระองค์​ทรง​ใช้​ผู้​ถูก​เจิม​ให้​ประกาศ​ข่าวสาร​ราชอาณาจักร. “แกะ​อื่น” ช่วย​ผู้​คน​ให้​มี​สัมพันธภาพ​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​โดย​การ​สนับสนุน​ผู้​ถูก​เจิม​ใน​งาน​ประกาศ​อย่าง​แข็งขัน. (โยฮัน 10:16) นับ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​จริง ๆ ที่​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​นี้​ซึ่ง​นำ​ความ​สดชื่น​ที่​แท้​จริง​มา​สู่​ผู้​อื่น!

6:3, 4. เรา​ควร​เลียน​แบบ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​และ​เป็น​คน​กรุณา​และ​เมตตา​แม้​กระทั่ง​กับ​คน​ที่​เข้า​กับ​เรา​ได้​ยาก​หรือ​คน​ที่​อ่อนแอ​ฝ่าย​วิญญาณ.

7:7 (ล.ม.). ขณะ​ที่​เรา​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​ของ​ระบบ​ชั่ว​นี้ เรา​ไม่​ควร​จะ​หมด​หวัง. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น เรา​ต้อง “แสดง​เจตคติ​แบบ​ที่​รอ​คอย​พระเจ้า [ของ​เรา]” เช่น​เดียว​กับ​มีคา.

7:18, 19. เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เต็ม​พระทัย​ยก​โทษ​ความ​ผิด​ของ​เรา เรา​ก็​ควร​เต็ม​ใจ​ให้​อภัย​คน​ที่​ทำ​บาป​ต่อ​เรา.

“ประพฤติ​ตาม​โอวาท​แห่ง​พระ​ยะโฮวา” ต่อ ๆ ไป

คน​ที่​ต่อ​สู้​พระเจ้า​และ​ประชาชน​ของ​พระองค์ “จะ​ถูก​ทำลาย​เสีย​ตลอด​กาล.” (โอบัดยา 10) อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​อาจ​หาย​พิโรธ​หาก​เรา​เอา​ใจ​ใส่​คำ​เตือน​ของ​พระองค์​และ ‘หัน​กลับ​ไม่​ประพฤติ​ใน​ทาง​ชั่ว​ต่อ​ไป.’ (โยนา 3:10) “ใน​ช่วง​สุด​ท้าย​แห่ง​สมัย” ซึ่ง​อยู่​ใน​ช่วง “สมัย​สุด​ท้าย” นี้ การ​นมัสการ​แท้​กำลัง​ได้​รับ​การ​ยก​ชู​ขึ้น​เหนือ​ศาสนา​เท็จ​ทั้ง​สิ้น​และ​คน​ที่​เชื่อ​ฟัง​กำลัง​หลั่งไหล​เข้า​สู่​การ​นมัสการ​แท้. (มีคา 4:1, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 3:1) ด้วย​เหตุ​นี้ ขอ​เรา​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ “ประพฤติ​ตาม​โอวาท​แห่ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เรา​จน​ตลอด​ไป.”—มีคา 4:5.

บทเรียน​ต่าง ๆ ใน​พระ​ธรรม​โอบัดยา, โยนา, และ​มีคา​ช่าง​ล้ำ​ค่า​ต่อ​เรา​จริง ๆ! แม้​จะ​เขียน​เมื่อ​กว่า 2,500 ปี​มา​แล้ว แต่​ข่าวสาร​ใน​พระ​ธรรม​เหล่า​นี้​ก็ “มี​ชีวิต ทรง​พลัง” แม้​แต่​ใน​ทุก​วัน​นี้.—ฮีบรู 4:12.

[ภาพ​หน้า 13]

โอบัดยา​พยากรณ์​ว่า “[เอโดม] จะ​ถูก​ทำลาย​เสีย​ตลอด​กาล”

[ภาพ​หน้า 15]

มีคา ‘แสดง​เจตคติ​แบบ​ที่​รอ​คอย​พระ​ยะโฮวา’ และ​คุณ​ก็​ทำ​ได้​เช่น​กัน

[ภาพ​หน้า 16]

งาน​ประกาศ​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ควร​ทะนุถนอม