ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เศษภาชนะดินเผาโบราณยืนยันบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล

เศษภาชนะดินเผาโบราณยืนยันบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​โบราณ​ยืน​ยัน​บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ. (2 ติโมเธียว 3:16) สิ่ง​ที่​พระ​คัมภีร์​กล่าว​เกี่ยว​กับ​ผู้​คน, สถาน​ที่, และ​สภาพการณ์​ทาง​ศาสนา​และ​การ​เมือง​ใน​ครั้ง​โบราณ​ล้วน​ถูก​ต้อง. ความ​น่า​เชื่อถือ​ของ​พระ​คัมภีร์​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​ค้น​พบ​ทาง​โบราณคดี​เลย แม้​ว่า​การ​ค้น​พบ​เหล่า​นั้น​จะ​ช่วย​เสริม​ความ​มั่น​ใจ​และ​ให้​ความ​กระจ่าง​เกี่ยว​กับ​บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ตาม.

สิ่ง​ที่​นัก​โบราณคดี​ค้น​พบ​มาก​ที่​สุด​ระหว่าง​การ​ขุด​ค้น​โบราณ​สถาน​ต่าง ๆ คือ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา. ใน​สมัย​โบราณ เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เหล่า​นี้​ถูก​ใช้​เป็น​วัสดุ​สำหรับ​เขียน​ที่​ราคา​ไม่​แพง​ใน​หลาย​แห่ง​แถบ​ตะวัน​ออก​กลาง รวม​ทั้ง​อียิปต์​และ​เมโสโปเตเมีย. มี​การ​ใช้​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เพื่อ​บันทึก​สัญญา, บัญชี, รายการ​ซื้อ​ขาย, และ​อื่น ๆ เช่น​เดียว​กับ​การ​ใช้​กระดาษ​โน้ต​และ​แผ่น​กระดาษ​ใน​ทุก​วัน​นี้. โดย​ทั่ว​ไป​ข้อ​ความ​ที่​เขียน​ด้วย​น้ำ​หมึก​บน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เหล่า​นี้​จะ​มี​ความ​ยาว​ตั้ง​แต่​หนึ่ง​คำ​ไป​จน​ถึง​หลาย​บรรทัด​หรือ​หลาย​แถว.

มี​การ​ค้น​พบ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​จำนวน​มาก​จาก​การ​ขุด​ค้น​ทาง​โบราณคดี​ใน​อิสราเอล. ที่​น่า​สนใจ​เป็น​พิเศษ​คือ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​สาม​ชุด​ซึ่ง​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​และ​แปด​ก่อน​สากล​ศักราช​ซึ่ง​ยืน​ยัน​ราย​ละเอียด​หลาย​อย่าง​ของ​ข้อมูล​ทาง​ประวัติศาสตร์​ที่​พบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​สาม​ชุด​นี้​คือ เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย, เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​อารัด, และ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ลาคิช. ให้​เรา​มา​ดู​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เหล่า​นี้​ที​ละ​ชุด.

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย

ซะมาเรีย​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​อาณาจักร​อิสราเอล​สิบ​ตระกูล​ทาง​เหนือ​จน​กระทั่ง​ถูก​ทำลาย​โดย​ชาว​อัสซีเรีย​ใน​ปี 740 ก่อน ส.ศ. ที่ 1 กษัตริย์ 16:23, 24 มี​การ​กล่าว​ถึง​จุด​เริ่ม​ต้น​ของ​ซะมาเรีย​เอา​ไว้​ว่า “ณ ปี​ที่​สาม​สิบ​เอ็ด​แห่ง​รัชกาล​อาซา​กษัตริย์​ยูดา [ปี 947 ก่อน ส.ศ.], อัมรี​ก็​ได้​เสวย​ราชย์​ใน​ประเทศ​ยิศราเอล . . . และ​ท่าน​ก็​ซื้อ​ภูเขา​ซะมาเรีย​จาก​เซเม็ร​เป็น​เงิน​สอง​ตะลันต์, แล้ว​ก็​สร้าง​เมือง​บน​ภูเขา​นั้น, เรียก​ชื่อ​เมือง​นั้น​ว่า​ซะมาเรีย.” เมือง​นี้​ตั้ง​อยู่​มา​จน​ถึง​ยุค​โรมัน​จึง​ถูก​เปลี่ยน​ชื่อ​เป็น​เซแบสตี และ​ใน​ที่​สุด​เมื่อ​ถึง​ศตวรรษ​ที่​หก​สากล​ศักราช​ก็​ไม่​มี​เมือง​นี้​อีก​ต่อ​ไป.

ระหว่าง​การ​ขุด​ค้น​ซาก​เมือง​ซะมาเรีย​โบราณ​ใน​ปี 1910 คณะ​นัก​โบราณคดี​ได้​พบ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​จำนวน​หนึ่ง ซึ่ง​พวก​เขา​ลง​ความ​เห็น​ว่า​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​แปด​ก่อน ส.ศ. ข้อ​ความ​ที่​บันทึก​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ขน​ส่ง​น้ำมัน​และ​เหล้า​องุ่น​จาก​ที่​ต่าง ๆ ซึ่ง​อยู่​ใกล้​เคียง​มา​ยัง​ซะมาเรีย. หนังสือ​ชื่อ​ข้อ​ความ​จารึก​โบราณ—เสียง​จาก​โลก​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล ได้​กล่าว​ถึง​การ​ค้น​พบ​นี้​ว่า “เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา 63 ชิ้น​ที่​พบ​ใน​ปี 1910 . . . สม​ควร​แล้ว​ที่​จะ​ถูก​นับ​เป็น​หนึ่ง​ใน​ชุด​ข้อ​เขียน​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ซึ่ง​หลง​เหลือ​มา​จาก​อิสราเอล​โบราณ. ความ​สำคัญ​ไม่​ได้​อยู่​ที่​เนื้อ​ความ​ซึ่ง​บันทึก​บน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย​เหล่า​นี้ . . . แต่​อยู่​ที่​ราย​ชื่อ​มาก​มาย ทั้ง​ชื่อ​คน, ชื่อ​วงศ์วาน, และ​ชื่อ​สถาน​ที่​ทาง​ภูมิศาสตร์​ของ​อิสราเอล.” ชื่อ​เหล่า​นี้​ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ราย​ละเอียด​ที่​บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ไร?

ใน​คราว​ที่​ชาว​อิสราเอล​ได้​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา​มา​ครอบครอง​และ​แบ่ง​สรร​กัน​ใน​หมู่​ตระกูล​ต่าง ๆ นั้น บริเวณ​ซึ่ง​ต่อ​มา​คือ​ซะมาเรีย​ตั้ง​อยู่​ใน​เขต​ตระกูล​มะนาเซ. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​ยะโฮซูอะ 17:1-6 สิบ​วงศ์วาน​ที่​เกิด​จาก​มะนาเซ​โดย​ทาง​คีละอาด​ผู้​เป็น​หลาน​ชาย​เป็น​ผู้​ได้​รับ​ดินแดน​ส่วน​นี้. วงศ์วาน​เหล่า​นี้​คือ อะบีเอเซร, เฮเลต, อัศรีเอล, เซเค็ม, และ​ซีมิคา. คน​ที่​หก​คือ​เฮเพ็ร ไม่​มี​หลาน​ชาย​แต่​มี​หลาน​สาว​ห้า​คน​คือ มาฮะลา, โนฮา, ฮัฆลา, มิลาคา, และ​ธิระซา—แต่​ละ​คน​ต่าง​ก็​ได้​รับ​ที่​ดิน​ของ​ตน​เอง.—อาฤธโม 27:1-7.

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย​เก็บ​รักษา​ชื่อ​วงศ์วาน​เหล่า​นี้​ไว้​เจ็ด​ชื่อ คือ​ชื่อ​บุตร​ชาย​ของ​คีละอาด​ทั้ง​ห้า​คน​และ​หลาน​สาว​ของ​เฮเพ็ร​อีก​สอง​คน คือ​ฮัฆลา​กับ​โนฮา. หนังสือ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เชิง​โบราณคดี​ของ​เอ็นไอวี กล่าว​ว่า “ชื่อ​วงศ์วาน​ใน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย​เป็น​หลักฐาน​อีก​ชิ้น​หนึ่ง​นอก​เหนือ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เชื่อม​โยง​วงศ์วาน​ต่าง ๆ ของ​มะนาเซ​เข้า​กับ​เขต​แดน​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​เป็น​ที่​ที่​พวก​เขา​ตั้ง​รกราก.” ดัง​นั้น แง่​มุม​ดัง​กล่าว​ของ​ประวัติศาสตร์​วงศ์​ตระกูล​ชาว​อิสราเอล​ใน​ยุค​แรก​ที่​พรรณนา​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​โดย​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เหล่า​นี้.

นอก​จาก​นี้ เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย​ยัง​ยืน​ยัน​สภาพการณ์​ทาง​ศาสนา​ของ​ชาว​อิสราเอล​ตาม​ที่​มี​พรรณนา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ด้วย. ใน​ช่วง​เวลา​ที่​มี​การ​เขียน​ข้อ​ความ​ลง​บน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย​นี้ ชาว​อิสราเอล​ได้​รวม​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​เข้า​กับ​การ​นมัสการ​พระ​บาละ​ของ​ชาว​คะนาอัน. คำ​พยากรณ์​ของ​โฮเซอา​ซึ่ง​เขียน​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​แปด​ก่อน ส.ศ. เช่น​กัน ได้​บอก​ล่วง​หน้า​ถึง​เวลา​ที่​ชาว​อิสราเอล​จะ​กลับ​ใจ​และ​เรียก​พระ​ยะโฮวา​ว่า “สามี” และ​ไม่​เรียก​ว่า “พระ​บาละ” หรือ “นาย” อีก​ต่อ​ไป. (โฮเซอา 2:16, 17) ชื่อ​ของ​บาง​คน​ที่​พบ​ใน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ซะมาเรีย​มี​ความ​หมาย​ว่า “บาละ​คือ​บิดา​ของ​ฉัน,” “บาละ​ร้อง​เพลง,” “บาละ​เป็น​องค์​เข้มแข็ง,” “บาละ​ทรง​จด​จำ,” และ​อื่น ๆ ทำนอง​นี้. อัตรา​ส่วน​ชื่อ​คน​ที่​มี​พระ​นาม​ยะโฮวา​อยู่​ด้วย​ใน​รูป​ใด​รูป​หนึ่ง ต่อ​ชื่อ​ที่​มี​นาม “บาละ” อยู่​ด้วย คือ 11 ต่อ 7.

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​อารัด

อารัด​เป็น​เมือง​โบราณ​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ใน​พื้น​ที่​กึ่ง​แห้ง​แล้ง​เรียก​ว่า​เนเกบ ซึ่ง​ห่าง​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​ไป​ทาง​ใต้​ค่อนข้าง​มาก. การ​ขุด​ค้น​ที่​อารัด​เผย​ให้​เห็น​ป้อม​ปราการ​ของ​ชาว​อิสราเอล​ซึ่ง​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​ถึง​หก​ครั้ง​นับ​ตั้ง​แต่​สมัย​รัชกาล​ของ​ซะโลโม (ปี 1037-998 ก่อน ส.ศ.) จน​ถึง​คราว​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ชาว​บาบิโลน​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. นัก​ขุด​ค้น​ได้​พบ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​จาก​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เมือง​อารัด​มาก​กว่า​ใน​ที่​อื่น ๆ. เศษ​ภาชนะ​เหล่า​นี้​รวม​ถึง​วัตถุ​ที่​มี​ข้อ​ความ​จารึก​ใน​ภาษา​ฮีบรู, ภาษา​อาระเมอิก, และ​ภาษา​อื่น ๆ มาก​กว่า 200 ชิ้น​ด้วย.

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เหล่า​นี้​บาง​ชิ้น​ได้​ยืน​ยัน​ข้อมูล​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​ครอบครัว​ปุโรหิต. ตัว​อย่าง​เช่น มี​ชิ้น​หนึ่ง​พูด​ถึง “บุตร​ของ​โครา” ซึ่ง​มี​อ้าง​ถึง​ที่​เอ็กโซโด 6:24 และ​อาฤธโม 26:11. จ่า​หน้า​บท​ของ​เพลง​สรรเสริญ​บท 42, 44-49, 84, 85, 87, และ 88 กล่าว​อย่าง​เจาะจง​ว่า​บทเพลง​เหล่า​นี้​เขียน​โดย “บุตร​หลาน​ของ​โคราห์.” ครอบครัว​ปุโรหิต​ครอบครัว​อื่น​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​อารัด​คือ​ครอบครัว​ของ​ปัศฮูร​และ​มะเรโมธ.—1 โครนิกา 9:12; เอษรา 8:33.

ขอ​พิจารณา​อีก​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ใน​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​ปราการ​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​สมัย​ก่อน​ที่​บาบิโลน​จะ​มา​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม​ไม่​นาน นัก​ขุด​ค้น​ได้​พบ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ชิ้น​หนึ่ง​ซึ่ง​เขียน​ไป​ถึง​ผู้​บัญชา​การ​ป้อม. ดัง​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​บริบท​ของ​พระ​คัมภีร์ ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​บน​เศษ​ภาชนะ​ชิ้น​นั้น​กล่าว​ว่า “ถึง​เอล​ยา​ชิบ นาย​ข้า. ขอ​พระ​ยาห์เวห์ [ยะโฮวา] ทรง​ห่วงใย​สวัสดิภาพ​ของ​ท่าน. . . . ใน​เรื่อง​ที่​ท่าน​ได้​มี​คำ​สั่ง​แก่​ข้าพเจ้า​นั้น บัด​นี้ ทุก​สิ่ง​เรียบร้อย​ดี เขา​พำนัก​อยู่​ใน​วิหาร​แห่ง​พระ​ยาห์เวห์.” ผู้​เชี่ยวชาญ​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​วิหาร​ที่​กล่าว​ถึง​นี้​คือ​พระ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเลม ซึ่ง​สร้าง​ขึ้น​ครั้ง​แรก​ใน​สมัย​ซะโลโม.

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ลาคิช

ลาคิช เมือง​หน้า​ด่าน​ใน​สมัย​โบราณ​ตั้ง​อยู่​ห่าง​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้ 43 กิโลเมตร. ระหว่าง​การ​ขุด​ค้น​ใน​ปี 1930 มี​การ​พบ​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​จำนวน​หนึ่ง และ​มี​อย่าง​น้อย 12 ชิ้น​ที่​เป็น​จดหมาย​โต้​ตอบ​ซึ่ง​มี​การ​กล่าว​ถึง​ว่า “มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่งยวด . . . ต่อ​ความ​เข้าใจ​ที่​กระจ่าง​ชัด​ใน​เรื่อง​สถานการณ์​ทาง​การ​เมือง​และ​ความ​ปั่นป่วน​วุ่นวาย​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ขณะ​ที่​ยูดาห์​กำลัง​เตรียม​รับมือ​กับ​การ​โจมตี​ที่​ไม่​อาจ​หลีก​เลี่ยง​ได้​จาก​นะบูคัดเนซัร [กษัตริย์​บาบิโลน].”

จดหมาย​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​ชุด​จดหมาย​โต้​ตอบ​ระหว่าง​เจ้าหน้าที่​ชั้น​ผู้​น้อย​คน​หนึ่ง​กับ​ยาโอช ซึ่ง​อาจ​เป็น​ผู้​บัญชา​การ​ทหาร​ที่​ลาคิช. ภาษา​ที่​ใช้​ใน​จดหมาย​เหล่า​นี้​คล้ายคลึง​กับ​ภาษา​ที่​ใช้​ใน​ข้อ​เขียน​ของ​ผู้​พยากรณ์​ยิระมะยา​ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​สมัย​เดียว​กัน. ขอ​พิจารณา​ว่า​จดหมาย​สอง​ฉบับ​ใน​ชุด​นี้​สนับสนุน​คำ​พรรณนา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เกี่ยว​กับ​ช่วง​วิกฤติ​นั้น​อย่าง​ไร.

ที่​ยิระมะยา 34:7 ท่าน​ผู้​พยากรณ์​กล่าว​ถึง​เวลา “เมื่อ​กองทัพ​ของ​กษัตริย์​เมือง​บาบูโลน​กำลัง​รบ​ต่อ​เมือง​ยะรูซาเลม, แล​ต่อ​บรรดา​เมือง​ที่​เหลือ​อยู่​แห่ง​ยะฮูดา, แล​ต่อ​เมือง​ลาคิศ, แล​ต่อ​เมือง​อะเซคา, เพราะ​เมือง​เหล่า​นี้​ที่​ยัง​มี​กำแพง​อยู่​เหลือ​จาก​บ้าน​เมือง​แห่ง​ตระกูล​ยะฮูดา.” ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​หนึ่ง​ใน​ชุด​จดหมาย​ลาคิช​ได้​พรรณนา​ถึง​สถานการณ์​เดียว​กัน​นี้. เขา​เขียน​ว่า “เรา​กำลัง​มอง​หา​สัญญาณ [ไฟ] จาก​ลาคิช . . . เพราะ​เรา​มอง​ไม่​เห็น​อะเซคา.” ผู้​เชี่ยวชาญ​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​คำ​กล่าว​นี้​บ่ง​ชี้​ว่า​อะเซคา​ถูก​บาบิโลน​ตี​ได้​แล้ว​และ​ลาคิช​กำลัง​จะ​เป็น​เมือง​ต่อ​ไป. ราย​ละเอียด​ที่​น่า​สนใจ​ใน​ข้อ​ความ​นี้​คือ​การ​พูด​ถึง “สัญญาณ​ไฟ.” ยิระมะยา 6:1 (ล.ม.) ก็​พูด​ถึง​การ​ใช้​สัญญาณ​ดัง​กล่าว​ใน​การ​สื่อสาร​เช่น​กัน.

จดหมาย​อีก​ฉบับ​หนึ่ง​ใน​ชุด​จดหมาย​ลาคิช​นี้​เชื่อ​กัน​ว่า​ได้​สนับสนุน​คำ​กล่าว​ของ​ผู้​พยากรณ์​ยิระมะยา​และ​ยะเอศเคล​เกี่ยว​กับ​กษัตริย์​แห่ง​ยูดาห์​ที่​พยายาม​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​อียิปต์​เพื่อ​จะ​กบฏ​ต่อ​บาบิโลน. (ยิระมะยา 37:5-8; 46:25, 26; ยะเอศเคล 17:15-17) จดหมาย​ฉบับ​นี้​เขียน​ว่า “บัด​นี้​ผู้​รับใช้​ของ​ท่าน​ได้​รับ​ข้อมูล​ดัง​ต่อ​ไป​นี้: ท่าน​นาย​พล​คอน​ยาฮู บุตร​เอลนาธาร ได้​เคลื่อน​ทัพ​ลง​ใต้​เพื่อ​เข้า​ไป​ยัง​อียิปต์​แล้ว.” ผู้​เชี่ยวชาญ​โดย​ทั่ว​ไป​ตี​ความ​หมาย​การ​กระทำ​ดัง​กล่าว​ว่า​เป็น​การ​พยายาม​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​ทาง​ทหาร​จาก​อียิปต์.

นอก​จาก​นี้ เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ลาคิช​ยัง​กล่าว​ถึง​ชื่อ​ที่​พบ​ใน​พระ​ธรรม​ยิระมะยา​ด้วย. ชื่อ​เหล่า​นั้น​คือ เนรียา, ยาซันยา, คะมาระยา, เอลนาธาร, และ​โฮซายา. (ยิระมะยา 32:12; 35:3; 36:10, 12; 42:1) เรา​ไม่​อาจ​ทราบ​แน่ชัด​ว่า​ชื่อ​เหล่า​นี้​หมาย​ถึง​คน ๆ เดียว​กัน​หรือ​ไม่. แต่​เนื่อง​จาก​ยิระมะยา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ช่วง​เวลา​เดียว​กัน ความ​พ้อง​ต้อง​กัน​ดัง​กล่าว​จึง​นับ​ว่า​น่า​สังเกต.

ลักษณะ​ที่​เหมือน​กัน

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ที่​พบ​ใน​ซะมาเรีย, อารัด, และ​ลาคิช ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ราย​ละเอียด​หลาย​อย่าง​ที่​บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ทั้ง​ชื่อ​วงศ์วาน, ชื่อ​ทาง​ภูมิศาสตร์, และ​แง่​มุม​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​ศาสนา​และ​สถานการณ์​ทาง​การ​เมือง​ใน​ช่วง​เวลา​ต่าง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ดี เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ทั้ง​สาม​ชุด​นี้​มี​ลักษณะ​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เหมือน​กัน.

ชิ้น​ส่วน​จดหมาย​ที่​พบ​ใน​อารัด​และ​ลาคิช​มี​วลี​ที่​กล่าว​ว่า “ขอ​พระ​ยะโฮวา​ให้​ท่าน​มี​สันติ​สุข.” ใน​ข้อ​ความ​เจ็ด​ชิ้น​จาก​ลาคิช มี​การ​เอ่ย​ถึง​พระ​นาม​พระเจ้า​ทั้ง​หมด 11 ครั้ง. นอก​จาก​นั้น ชื่อ​คน​มาก​มาย​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ที่​พบ​ใน​เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ทั้ง​สาม​ชุด​ก็​มี​พระ​นาม​ย่อ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อยู่​ด้วย. ฉะนั้น เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​เหล่า​นี้​จึง​ยืน​ยัน​ว่า​มี​การ​ใช้​พระ​นาม​พระเจ้า​อย่าง​แพร่​หลาย​ใน​หมู่​ชาว​อิสราเอล​สมัย​นั้น.

[ภาพ​หน้า 13]

เศษ​ภาชนะ​ดิน​เผา​ชิ้น​หนึ่ง​จาก​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​เมือง​อารัด​เขียน​ถึง​ชาย​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เอล​ยา​ชิบ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photograph © Israel Museum, Jerusalem; courtesy of Israel Antiquities Authority

[ภาพ​หน้า 14]

จดหมาย​จาก​ลาคิช​มี​พระ​นาม​พระเจ้า​ปรากฏ​อยู่

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photograph taken by courtesy of the British Museum