ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การปลอบโยนผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การปลอบโยนผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การ​ปลอบโยน​ผู้​ป่วย​ระยะ​สุด​ท้าย

“ครั้ง​แรก​ที่​รู้​ว่า​อาการ​ของ​แม่​อยู่​ใน​ขั้น​สุด​ท้าย​แล้ว ฉัน​แทบ​ไม่​อยาก​เชื่อ​เลย. ฉัน​ตกใจ​และ​เสียใจ​มาก​เพราะ​รับ​ไม่​ได้​ที่​แม่​ผู้​เป็น​ที่​รัก​จะ​ตาย.”—เกรซ, แคนาดา.

เมื่อ​หมอ​วินิจฉัย​ว่า​บุคคล​ผู้​เป็น​ที่​รัก​กำลัง​ป่วย​หนัก​และ​ไม่​สามารถ​รักษา​ได้ ทั้ง​ครอบครัว​และ​เพื่อน​ฝูง​ต่าง​เป็น​ทุกข์​มาก​และ​อาจ​ไม่​รู้​ว่า​ควร​แสดง​ปฏิกิริยา​เช่น​ไร. บาง​คน​อาจ​สงสัย​ว่า​พวก​เขา​ควร​บอก​ความ​จริง​ทั้ง​หมด​กับ​ผู้​ป่วย​ไหม​เกี่ยว​กับ​อาการ​ป่วย​ของ​เขา​หรือ​เธอ. บาง​คน​ก็​สงสัย​ว่า​พวก​เขา​จะ​รับมือ​ได้​อย่าง​ไร​ถ้า​ต้อง​เห็น​คน​ที่​ตน​รัก​ทน​ทุกข์​และ​อาจ​รู้สึก​ไร้​ค่า​เพราะ​ผล​กระทบ​จาก​โรค​ร้าย. หลาย​คน​กังวล​เพราะ​ไม่​รู้​ว่า​ควร​พูด​หรือ​ทำ​อะไร​เมื่อ​ผู้​ป่วย​ใกล้​สิ้น​ใจ.

คุณ​จำเป็น​ต้อง​รู้​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​ปฏิกิริยา​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​กับ​คุณ​เมื่อ​ได้​รับ​ข่าว​ร้าย​เช่น​นั้น? และ​คุณ​จะ​เป็น “มิตร​แท้” และ​ให้​การ​ปลอบโยน​และ​ความ​ช่วยเหลือ​ใน​เวลา​แห่ง​ความ​ทุกข์​นี้​ได้​อย่าง​ไร?—สุภาษิต 17:17, ล.ม.

ปฏิกิริยา​โดย​ธรรมชาติ

เป็น​เรื่อง​ธรรมชาติ​ที่​เรา​เป็น​ทุกข์​เมื่อ​เห็น​คน​ที่​เรา​รัก​เจ็บ​ป่วย​ร้ายแรง. บ่อย​ครั้ง​แม้​แต่​แพทย์​ซึ่ง​พบ​เห็น​และ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​ตาย​อยู่​เป็น​ประจำ​ก็​ยัง​กังวล​ใจ หรือ​ถึง​กับ​รู้สึก​ว่า​ตน​ไร้​ความ​สามารถ​เมื่อ​ต้อง​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​อารมณ์​ของ​ผู้​ป่วย​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย.

คุณ​เอง​ก็​อาจ​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​ควบคุม​อารมณ์​ความ​รู้สึก​เมื่อ​เห็น​คน​ที่​คุณ​รัก​ทุกข์​ทรมาน. โฮซา ผู้​หญิง​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​บราซิล​และ​เคย​มี​น้อง​สาว​ที่​ป่วย​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย​บอก​ว่า “มัน​เป็น​ประสบการณ์​ที่​แย่​มาก​เมื่อ​เห็น​คน​ที่​คุณ​รัก​เจ็บ​ปวด​ตลอด​เวลา.” เมื่อ​โมเซ ชาย​ผู้​ซื่อ​สัตย์​รู้​ว่า​พี่​สาว​ของ​ตน​เป็น​โรค​เรื้อน ท่าน​ร้อง​ว่า “ข้า​แต่​พระเจ้า ขอ​พระองค์​ทรง​รักษา​นาง ข้า​พระองค์​ทูล​วิงวอน​ต่อ​พระองค์.”—อาฤธโม 12:12, 13, ฉบับ​แปล​ใหม่.

เหตุ​ที่​เรา​รู้สึก​เป็น​ทุกข์​เมื่อ​เห็น​สภาพ​ของ​ผู้​ที่​เรา​รัก​ซึ่ง​เจ็บ​ป่วย​ก็​เพราะ​เรา​ถูก​สร้าง​ตาม​แบบ​พระ​ยะโฮวา พระเจ้า​ของ​เรา​ผู้​ทรง​มี​ความ​สงสาร. (เยเนซิศ 1:27; ยะซายา 63:9) พระ​ยะโฮวา​ทรง​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ความ​ทุกข์​ของ​มนุษย์? ให้​เรา​พิจารณา​ปฏิกิริยา​ของ​พระ​เยซู. พระองค์​ทรง​สะท้อน​บุคลิก​ของ​พระ​บิดา​ได้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ. (โยฮัน 14:9) เมื่อ​พระ​เยซู​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​ผู้​คน​ที่​เจ็บ​ป่วย พระองค์​ทรง “รู้สึก​สงสาร” พวก​เขา. (มัดธาย 20:29-34; มาระโก 1:40, 41) ดัง​ที่​กล่าว​ไว้​ใน​บทความ​ก่อน​ของ​วารสาร​นี้ เมื่อ​ลาซะโร สหาย​ของ​พระ​เยซู​ตาย​และ​พระองค์​เห็น​ว่า​การ​ตาย​ของ​เขา​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ พระองค์​ทรง​สะเทือน​พระทัย​มาก​และ​ทรง “กันแสง.” (โยฮัน 11:32-35) ที่​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​ความ​ตาย​ว่า​เป็น​ศัตรู​และ​สัญญา​ว่า​อีก​ไม่​นาน​ทั้ง​ความ​เจ็บ​ป่วย​และ​ความ​ตาย​จะ​ไม่​มี​อีก​ต่อ​ไป.—1 โครินท์ 15:26; วิวรณ์ 21:3, 4.

เป็น​เรื่อง​เข้าใจ​ได้​ที่​ข่าว​ร้าย​เกี่ยว​กับ​การ​ป่วย​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย​ของ​ผู้​เป็น​ที่​รัก​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​อยาก​ตำหนิ​ใคร​สัก​คน—ใคร​ก็​ได้. แต่ ดร. มาร์ทา ออร์ทิซ ซึ่ง​เคย​ทำ​วิทยา​นิพนธ์​เกี่ยว​กับ​การ​ดู​แล​ผู้​ป่วย​ระยะ​สุด​ท้าย​ให้​คำ​แนะ​นำ​ไว้​ดัง​นี้: “อย่า​ตำหนิ​คน​อื่น​เพราะ​อาการ​ของ​ผู้​ป่วย ไม่​ว่า​คณะ​แพทย์, พยาบาล, หรือ​ตัว​คุณ​เอง. การ​ทำ​เช่น​นั้น​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​ความ​สัมพันธ์​ตึงเครียด​ยิ่ง​ขึ้น​และ​ทำ​ให้​ทุก​คน​ละเลย​สิ่ง​ที่​ควร​เป็น​ห่วง​มาก​ที่​สุด นั่น​คือ ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​ป่วย​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย.” มี​ขั้น​ตอน​อะไร​บ้าง​ที่​คุณ​จะ​ทำ​ได้​จริง​เพื่อ​ช่วย​คน​ที่​คุณ​รัก​ให้​รับมือ​กับ​อาการ​ป่วย​ของ​เขา​หรือ​เธอ​รวม​ทั้ง​ความ​ตาย​ที่​ใกล้​เข้า​มา?

มอง​ที่​บุคคล​ไม่​ใช่​ที่​ความ​เจ็บ​ป่วย

ขั้น​ตอน​แรก​คือ ไม่​มอง​ที่​ความ​อ่อนแอ​หรือ​สภาพ​ร่าง​กาย​ที่​เปลี่ยน​ไป​เพราะ​ความ​เจ็บ​ป่วย แต่​มอง​ดู​ที่​ตัว​บุคคล. คุณ​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? ซาราห์ ซึ่ง​เป็น​พยาบาล​บอก​ว่า “ดิฉัน​ใช้​เวลา​ดู​รูป​ของ​ผู้​ป่วย​ตอน​ที่​เขา​ยัง​แข็งแรง. ดิฉัน​จะ​ตั้งใจ​ฟัง​เขา​เล่า​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ใน​ความ​ทรง​จำ​ของ​เขา. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ช่วย​ให้​ดิฉัน​จด​จำ​ชีวิต​และ​เรื่อง​ราว​ใน​อดีต​ของ​ผู้​ป่วย​และ​ไม่​มุ่ง​สนใจ​แต่​สภาพ​ที่​เขา​เป็น​อยู่​ใน​ปัจจุบัน.”

อาน-กาทรีน ซึ่ง​เป็น​พยาบาล​เช่น​กัน​อธิบาย​ว่า​เธอ​ทำ​อย่าง​ไร​เพื่อ​จะ​ไม่​สนใจ​แต่​สภาพ​ทาง​ร่าง​กาย​ของ​ผู้​ป่วย. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​มอง​ที่​ดวง​ตา​ของ​ผู้​ป่วย และ​คิด​แต่​ว่า​ดิฉัน​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​ให้​ผู้​ป่วย​มี​อาการ​ดี​ขึ้น.” ใน​หนังสือ​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​ที่​ใกล้​จะ​เสีย​ชีวิต—คู่มือ​นำ​ความ​หวัง, การ​ปลอบโยน, และ​ความ​รัก​มา​สู่​บท​สุด​ท้าย​ของ​ชีวิต (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​เรา​จะ​รู้สึก​หดหู่​ใจ​เหลือ​เกิน​เมื่อ​เห็น​คน​ที่​เรา​รัก​มี​สภาพ​ร่าง​กาย​เปลี่ยน​ไป​เนื่อง​จาก​ความ​เจ็บ​ป่วย​หรือ​อุบัติเหตุ. สิ่ง​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ทำ​ได้​ใน​สภาพการณ์​เช่น​นั้น​คือ​มอง​ที่​ดวง​ตา​ของ​คน​ที่​คุณ​รัก​และ​มอง​ดวง​ตา​สี​น้ำตาล, สี​เขียว, หรือ​สี​ฟ้า​ที่​ไม่​เปลี่ยน​แปลง​ของ​เขา.”

จริง​อยู่ การ​ทำ​เช่น​นั้น​ต้อง​อาศัย​การ​ควบคุม​ตน​เอง​และ​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่. ชอร์ช คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ซึ่ง​มัก​ไป​เยี่ยม​ผู้​ป่วย​ระยะ​สุด​ท้าย​เป็น​ประจำ​บอก​ว่า “ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​เพื่อน​ต้อง​มี​พลัง​ยิ่ง​กว่า​ความ​เจ็บ​ป่วย.” การ​ที่​คุณ​มุ่ง​สนใจ​ตัว​บุคคล​ไม่​ใช่​ความ​เจ็บ​ป่วย​จะ​เป็น​ผล​ดี​กับ​ทั้ง​ตัว​คุณ​และ​คน​ที่​คุณ​รัก. อิวอน ซึ่ง​ดู​แล​เด็ก ๆ ที่​เป็น​โรค​มะเร็ง​กล่าว​ว่า “การ​ตระหนัก​ว่า​คุณ​สามารถ​ช่วย​ผู้​ป่วย​ให้​รักษา​ศักดิ์ศรี​ได้​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​รับมือ​กับ​สภาพ​ร่าง​กาย​ที่​ทรุดโทรม​ของ​พวก​เขา.“

พร้อม​ที่​จะ​ฟัง

คน​ทั่ว​ไป​อาจ​รู้สึก​ลังเล​ที่​จะ​ติด​ต่อ​กับ​ผู้​ที่​กำลัง​จะ​เสีย​ชีวิต​แม้​ว่า​คน​นั้น​จะ​เป็น​คน​ที่​เขา​รัก​มาก​ก็​ตาม. เพราะ​เหตุ​ใด? ก็​เพราะ​พวก​เขา​กังวล​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ไม่​ถูก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อาน-กาทรีน ซึ่ง​เคย​พยาบาล​เพื่อน​ที่​ป่วย​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​ใน​บาง​โอกาส​การ​เงียบ​ก็​เป็น​สิ่ง​ที่​ดี​เช่น​กัน. เธอ​บอก​ว่า “เรา​ปลอบโยน​ไม่​เพียง​ด้วย​คำ​พูด​เท่า​นั้น แต่​ด้วย​ทัศนะ​ที่​เรา​มี​และ​วิธี​ที่​เรา​แสดง​ออก. ลาก​เก้าอี้​มา​นั่ง, เข้า​ไป​ใกล้ ๆ และ​ยื่น​มือ​ไป​หา, ไม่​ต้อง​กลั้น​น้ำตา​ไว้​ขณะ​ที่​ฟัง​เขา​เผย​ความ​รู้สึก—ทั้ง​หมด​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​ห่วงใย.”

คน​ที่​คุณ​รัก​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ระบาย​ความ​รู้สึก​โดย​พูด​อย่าง​เปิด​อก​และ​ตรง​ไป​ตรง​มา. แต่​บ่อย​ครั้ง ผู้​ป่วย​จะ​รู้​ว่า​เพื่อน​หรือ​ญาติ​ที่​เขา​รัก​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​แล้ว​ก็​พยายาม​จะ​ไม่​พูด​ถึง​อาการ​ป่วย​ที่​ร้ายแรง​ของ​ตน​เอง. เพื่อน​และ​ครอบครัว​ที่​มี​เจตนา​ดี​อาจ​เลี่ยง​ที่​จะ​พูด​คุย​เรื่อง​ที่​ผู้​ป่วย​กังวล และ​ถึง​กับ​ปิด​บัง​ไม่​ให้​ผู้​ป่วย​รับ​รู้​อะไร​เกี่ยว​กับ​สุขภาพ​ของ​เขา​เอง​ด้วย​ซ้ำ. การ​ร่วม​กัน​ปิด​บัง​เช่น​นั้น​จะ​มี​ผล​เช่น​ไร? แพทย์​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ดู​แล​ผู้​ป่วย​ระยะ​สุด​ท้าย​อธิบาย​ว่า​การ​พยายาม​ปิด​บัง​ความ​จริง​เช่น​นั้น “ทำ​ให้​ไม่​เหลือ​พลัง​ที่​จะ​ทำ​ขั้น​ตอน​ที่​สำคัญ​กว่า​ซึ่ง​ก็​คือ​การ​บอก​ให้​ผู้​ป่วย​รู้​สภาพการณ์​และ​การ​เผชิญ​หน้า​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย.” ดัง​นั้น ถ้า​ผู้​ป่วย​ต้องการ ก็​ควร​ปล่อย​ให้​เขา​ได้​พูด​อย่าง​เปิด​อก​เกี่ยว​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ของ​เขา​หรือ​การ​ที่​เขา​จะ​เสีย​ชีวิต.

เมื่อ​เผชิญ​กับ​ความ​ตาย ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​อดีต​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​ทูล​พระ​ยะโฮวา​ว่า​พวก​เขา​รู้สึก​กลัว. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​กษัตริย์​ฮิศคียา​ซึ่ง​พระ​ชนมายุ​เพียง 39 พรรษา​รู้​ว่า​ท่าน​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์ ท่าน​ก็​ร้อง​ทูล​พระเจ้า​ถึง​ความ​ทุกข์​ใน​พระทัย. (ยะซายา 38:9-12, 18-20) ทำนอง​เดียว​กัน เรา​ต้อง​ปล่อย​ให้​ผู้​ป่วย​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย​แสดง​ความ​รู้สึก​เศร้า​เสียใจ​ที่​รู้​ว่า​ตน​จะ​อยู่​ได้​อีก​ไม่​นาน. บาง​ที​พวก​เขา​อาจ​รู้สึก​ท้อ​แท้​เนื่อง​จาก​เป้าหมาย​ส่วน​ตัว​ที่​วาง​ไว้ เช่น การ​เดิน​ทาง​ท่อง​เที่ยว, การ​มี​บุตร, การ​ได้​เห็น​หลาน ๆ เติบโต, หรือ​การ​รับใช้​พระเจ้า​ให้​มาก​ขึ้น ไม่​อาจ​เป็น​ไป​ได้​อีก​ต่อ​ไป​แล้ว. บาง​ที​พวก​เขา​อาจ​กลัว​ว่า​เพื่อน​และ​สมาชิก​ครอบครัว​จะ​หลบ​หน้า​เพราะ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร. (โยบ 19:16-18) การ​กลัว​ว่า​จะ​ต้อง​เจ็บ​ปวด​ทรมาน, ไม่​สามารถ​ควบคุม​การ​ทำ​งาน​ของ​ร่าง​กาย​ได้, หรือ​สิ้น​ใจ​อย่าง​โดด​เดี่ยว​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ทุกข์​ใจ​ได้​เช่น​กัน.

อาน-กาทรีน บอก​ว่า “นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​คุณ​จะ​ยอม​ให้​เพื่อน​ของ​คุณ​เผย​ความ​รู้สึก​ออก​มา​โดย​ไม่​ขัด​จังหวะ​หรือ​ตัดสิน​เขา​หรือ​ห้าม​ไม่​ให้​เขา​กลัว. นี่​เป็น​วิธี​ดี​ที่​สุด​ที่​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​เขา​รู้สึก​อย่าง​ไร​จริง ๆ และ​เข้าใจ​ความ​ปรารถนา, ความ​กลัว, และ​สิ่ง​ที่​เขา​คาด​หมาย.”

เข้าใจ​ความ​ต้องการ​พื้น​ฐาน

เป็น​ไป​ได้​ว่า​ความ​เจ็บ​ป่วย​ของ​เพื่อน ซึ่ง​บาง​ครั้ง​ก็​หนัก​ขึ้น​เนื่อง​จาก​การ​รักษา​ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ผู้​ป่วย​อย่าง​รุนแรง​และ​ผล​ที่​ตาม​มา​หลัง​การ​รักษา อาจ​ทำ​ให้​คุณ​เป็น​ทุกข์​มาก​จน​ลืม​คิด​ถึง​ความ​ต้องการ​พื้น​ฐาน​ของ​ผู้​ป่วย ซึ่ง​ก็​คือ การ​ที่​สามารถ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ได้​ด้วย​ตัว​เอง.

ใน​บาง​วัฒนธรรม ครอบครัว​อาจ​พยายาม​ปก​ป้อง​สมาชิก​ที่​เจ็บ​ป่วย​โดย​ปิด​ปัง​ไม่​ให้​เขา​หรือ​เธอ​รู้​อาการ​ป่วย​ของ​ตน​เอง และ​อาจ​ถึง​กับ​ไม่​ให้​ผู้​ป่วย​มี​ส่วน​ตัดสิน​ใจ​ใน​เรื่อง​วิธี​รักษา​ทาง​การ​แพทย์. ใน​วัฒนธรรม​อื่น​ก็​อาจ​มี​ปัญหา​อีก​อย่าง​หนึ่ง. ตัว​อย่าง​เช่น เจอร์รี ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​พยาบาล​บอก​ว่า “บาง​ครั้ง​คน​ที่​มา​เยี่ยม​มัก​จะ​ชอบ​ยืน​อยู่​ข้าง ๆ เตียง​และ​พูด​ถึง​ผู้​ป่วย​เหมือน​กับ​ว่า​เขา​ไม่​ได้​อยู่​ที่​นั่น.” การ​กระทำ​ใน​ทั้ง​สอง​กรณี​เป็น​การ​ละเมิด​ศักดิ์ศรี​ของ​ผู้​ป่วย.

ความ​ต้องการ​พื้น​ฐาน​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ การ​มี​ความ​หวัง. ใน​ประเทศ​ที่​สามารถ​หา​การ​รักษา​ทาง​การ​แพทย์​ที่​มี​คุณภาพ​ได้ ความ​หวัง​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ค้น​พบ​วิธี​รักษา​ที่​ได้​ผล. มิเชลล์ ซึ่ง​เคย​ช่วย​แม่​ของ​เธอ​รับมือ​กับ​โรค​มะเร็ง​ซึ่ง​กลับ​มา​เป็น​ใหม่​ถึง​สาม​ครั้ง​อธิบาย​ว่า “ถ้า​แม่​อยาก​จะ​ลอง​การ​รักษา​วิธี​อื่น​หรือ​อยาก​ปรึกษา​ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​อื่น ดิฉัน​ก็​จะ​ช่วย​หา​ข้อมูล​ให้​ท่าน. ดิฉัน​ได้​เข้าใจ​ว่า​ต้อง​มอง​สิ่ง​ต่าง ๆ ตาม​ความ​เป็น​จริง แต่​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​พูด​ใน​แง่​บวก.”

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​ไม่​มี​หวัง​ว่า​จะ​รักษา​ได้? ขอ​จำ​ไว้​ว่า​ผู้​ป่วย​ระยะ​สุด​ท้าย​ต้องการ​พูด​ถึง​ความ​ตาย​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา. ชอร์ช คริสเตียน​ผู้​ดู​แล​ที่​กล่าว​ถึง​ตอน​ต้น​บอก​ว่า “เป็น​เรื่อง​สำคัญ​มาก​ที่​คุณ​จะ​ไม่​ปิด​บัง​ผู้​ป่วย​เรื่อง​ที่​เขา​กำลัง​จะ​เสีย​ชีวิต. การ​ทำ​เช่น​นี้​ช่วย​ให้​เขา​มี​เวลา​เตรียม​การ​บาง​อย่าง​ที่​จำเป็น​และ​เตรียม​ตัว​ที่​จะ​เสีย​ชีวิต. การ​เตรียม​การ​เช่น​นี้​จะ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​รู้สึก​ว่า​เขา​ได้​เตรียม​ทุก​สิ่ง​ไว้​เรียบร้อย​แล้ว และ​ไม่​กังวล​ว่า​ตน​จะ​เป็น​ภาระ​ของ​คน​อื่น.

แน่​ละ เป็น​ธรรมดา​ที่​จะ​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​พูด​คุย​เรื่อง​เหล่า​นี้. แต่​การ​พูด​คุย​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​เช่น​นั้น​เป็น​โอกาส​พิเศษ​ที่​คุณ​จะ​แสดง​ความ​รู้สึก​ใน​ส่วน​ลึก​ที่​สุด​ออก​มา​อย่าง​จริง​ใจ. ผู้​ที่​กำลัง​จะ​เสีย​ชีวิต​อาจ​ต้องการ​แก้ไข​ข้อ​ขัด​แย้ง​ใน​อดีต, แสดง​ความ​เสียใจ, หรือ​ขอ​การ​อภัย. การ​แลก​เปลี่ยน​ความ​ใน​ใจ​ต่อ​กัน​เช่น​นี้​อาจ​ทำ​ให้​สัมพันธภาพ​ของ​คุณ​กับ​ผู้​ที่​กำลัง​จะ​สิ้น​ใจ​แน่นแฟ้น​กว่า​เดิม.

ให้​การ​หนุน​ใจ​ใน​ช่วง​วัน​ท้าย ๆ

คุณ​จะ​หนุน​ใจ​ผู้​ที่​กำลัง​อยู่​ใกล้​จุด​จบ​ของ​ชีวิต​ได้​อย่าง​ไร? ดร. ออร์ทิซ ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ตอน​ต้น​บอก​ว่า “ถาม​ผู้​ป่วย​ว่า​มี​คำ​ขอ​สุด​ท้าย​อะไร. ตั้งใจ​ฟัง. ถ้า​เป็น​ไป​ได้​พยายาม​ทำ​สิ่ง​ที่​ผู้​ป่วย​ต้องการ. ถ้า​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​ทำ​ตาม​คำ​ขอ​ของ​ผู้​ป่วย​ก็​บอก​ไป​ตรง ๆ.”

ใน​ช่วง​นี้​ผู้​ป่วย​ที่​ใกล้​สิ้น​ใจ​อาจ​ต้องการ​รักษา​การ​ติด​ต่อ​กับ​บุคคล​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต​ของ​เขา​มาก​ยิ่ง​กว่า​เวลา​ใด. ชอร์ช​บอก​ว่า “จง​ช่วย​ผู้​ป่วย​ติด​ต่อ​กับ​คน​เหล่า​นั้น แม้​ว่า​จะ​พูด​ได้​เพียง​สั้น ๆ เพราะ​ผู้​ป่วย​ไม่​มี​แรง.” แม้​จะ​เป็น​แค่​ทาง​โทรศัพท์ แต่​การ​สนทนา​สั้น ๆ ก็​ช่วย​ให้​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ได้​หนุน​ใจ​กัน​และ​อธิษฐาน​ร่วม​กัน​ด้วย. คริสตินา ผู้​หญิง​ชาว​แคนาดา​ซึ่ง​สูญ​เสีย​บุคคล​ที่​รัก​สาม​คน​ใน​เวลา​ไล่เลี่ย​กัน กล่าว​ว่า “ยิ่ง​ผู้​ป่วย​ใกล้​จะ​สิ้น​ใจ​มาก​เท่า​ไร พวก​เขา​ก็​ยิ่ง​ต้อง​พึ่ง​คำ​อธิษฐาน​ของ​เพื่อน​คริสเตียน​มาก​เท่า​นั้น.”

คุณ​ควร​กลัว​ไหม​ว่า​จะ​ร้องไห้​ต่อ​หน้า​คน​ที่​คุณ​รัก? ไม่​เลย. ถ้า​คุณ​ร้องไห้ ที่​จริง​คุณ​ก็​กำลัง​ให้​โอกาส​เพื่อน​ที่​ใกล้​จะ​เสีย​ชีวิต​เป็น​ฝ่าย​ปลอบโยน​คุณ​บ้าง. หนังสือ​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​ที่​ใกล้​จะ​เสีย​ชีวิต ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “การ​ได้​รับ​การ​ปลอบโยน​จาก​ผู้​ที่​กำลัง​จะ​ตาย​เป็น​ประสบการณ์​ที่​สะเทือน​อารมณ์​อย่าง​สุด​ซึ้ง และ​อาจ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่งยวด​สำหรับ​ผู้​ป่วย​ด้วย.” การ​ได้​ปลอบโยน​ผู้​อื่น​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​ซึ่ง​ได้​รับ​ความ​ห่วงใย​มาก​มา​ตลอด​ได้​ค้น​พบ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ว่า​ตัว​เขา​เอง​ก็​เป็น​เพื่อน, พ่อ, หรือ​แม่​ที่​มี​ความ​ห่วงใย​เช่น​กัน.

เป็น​เรื่อง​ที่​เข้าใจ​ได้​หาก​สภาพการณ์​บาง​อย่าง​ทำ​ให้​คุณ​ไม่​อาจ​จะ​อยู่​กับ​คน​ที่​คุณ​รัก​ได้​ใน​วาระ​สุด​ท้าย. แต่​ถ้า​คุณ​สามารถ​อยู่​กับ​เพื่อน​ของ​คุณ​ได้​ไม่​ว่า​ที่​โรง​พยาบาล​หรือ​ที่​บ้าน จง​พยายาม​จับ​มือ​เขา​หรือ​เธอ​ไว้​จน​นาที​สุด​ท้าย. ช่วง​เวลา​สุด​ท้าย​นี้​เป็น​โอกาส​ที่​คุณ​จะ​แสดง​ความ​รู้สึก​ซึ่ง​คุณ​อาจ​ไม่​เคย​ได้​พูด​ออก​มา. แม้​ผู้​ป่วย​จะ​ไม่​สามารถ​ตอบ​สนอง​คำ​พูด​ของ​คุณ​ได้ แต่​อย่า​ยอม​พลาด​โอกาส​ที่​จะ​กล่าว​ลา​และ​บอก​ให้​รู้​ว่า​คุณ​รัก​เขา​และ​หวัง​ว่า​จะ​พบ​เขา​อีก​ครั้ง​เมื่อ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย.—โยบ 14:14, 15; กิจการ 24:15.

ถ้า​คุณ​พยายาม​ใช้​ช่วง​สุด​ท้าย​นี้​ให้​เป็น​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด เป็น​ไป​ได้​มาก​ที​เดียว​ที่​คุณ​จะ​ไม่​รู้สึก​เสียใจ​ภาย​หลัง. ที่​จริง ช่วง​เวลา​ที่​บีบคั้น​อารมณ์​นี้​อาจ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ให้​การ​ปลอบโยน​แก่​คุณ​เมื่อ​คุณ​หวน​คิด​ถึง​เรื่อง​นี้​ใน​อนาคต. ถึง​ตอน​นั้น คุณ​ก็​ได้​พิสูจน์​ตัว​แล้ว​ว่า​คุณ​เป็น​เพื่อน​แท้ “ยาม​ที่​มี​ความ​ทุกข์​ยาก.”—สุภาษิต 17:17.

[คำ​โปรย​หน้า 27]

การ​มุ่ง​สนใจ​ที่​ตัว​บุคคล​ไม่​ใช่​ที่​ความ​เจ็บ​ป่วย​เป็น​ผล​ดี​ทั้ง​สำหรับ​คุณ​และ​คน​ที่​คุณ​รัก

[กรอบ/ภาพ​หน้า 29]

วิธี​หนึ่ง​ใน​การ​เคารพ​ศักดิ์ศรี​ของ​ผู้​ป่วย

ใน​หลาย​ประเทศ มี​การ​พยายาม​ทำ​หลาย​สิ่ง​เพื่อ​ให้​มี​การ​ยอม​รับ​สิทธิ​ของ​ผู้​ป่วย​ที่​จะ​เสีย​ชีวิต​อย่าง​สงบ​และ​มี​ศักดิ์ศรี. เอกสาร​แสดง​ความ​จำนง​ที่​ผู้​ป่วย​ทำ​ไว้​ล่วง​หน้า​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ช่วย​ให้​มี​การ​เคารพ​สิทธิ​ของ​ผู้​ป่วย​และ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​สามารถ​เสีย​ชีวิต​ที่​บ้าน​หรือ​ใน​สถาน​ดู​แล​ผู้​ป่วย​ระยะ​สุด​ท้าย.

เอกสาร​แสดง​ความ​จำนง​ล่วง​หน้า​มี​ประโยชน์​ดัง​ต่อ​ไป​นี้:

• ช่วย​ให้​ผู้​ป่วย​ได้​สื่อ​ความ​กับ​แพทย์​และ​ญาติ​มาก​ขึ้น

• ทำ​ให้​ครอบครัว​ไม่​จำเป็น​ต้อง​รับ​ภาระ​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​แทน​ผู้​ป่วย

• ลด​โอกาส​ที่​ผู้​ป่วย​จะ​ได้​รับ​การ​รักษา​ที่​ไม่​พึง​ประสงค์, ไม่​ได้​ผล, มี​ผล​รุนแรง​ต่อ​ผู้​ป่วย​และ​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​มาก.

เอกสาร​แสดง​ความ​จำนง​ล่วง​หน้า​ที่​ดี​อย่าง​น้อย​ควร​มี​ข้อมูล​ต่อ​ไป​นี้:

• ชื่อ​ของ​ตัว​แทน​ที่​ได้​รับ​มอบ​อำนาจ​ให้​ตัดสิน​ใจ​แทน​คุณ​ใน​เรื่อง​การ​รักษา​พยาบาล

• การ​รักษา​แบบ​ต่าง ๆ ที่​คุณ​จะ​ยอม​รับ​หรือ​ปฏิเสธ​ใน​กรณี​ที่​อาการ​ของ​คุณ​รักษา​ไม่​หาย

• หาก​เป็น​ได้​ให้​ระบุ​ชื่อ​แพทย์​ที่​รู้​ว่า​คุณ​เลือก​วิธี​การ​รักษา​แบบ​ใด​ไว้

[ภาพ​หน้า 26]

มุ่ง​สนใจ​ที่​ชีวิต​และ​เรื่อง​ราว​ใน​อดีต​ของ​ผู้​ป่วย ไม่​ใช่​สภาพ​ที่​เขา​เป็น​อยู่​ใน​ปัจจุบัน