ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระเจ้าทรงเมตตาผมเสมอมา

พระเจ้าทรงเมตตาผมเสมอมา

พระเจ้า​ทรง​เมตตา​ผม​เสมอ​มา

เล่า​โดย โบลเฟงค์ มอชนิค

“ลูก​ต้อง​เข้มแข็ง​ไว้​นะ.” นั่น​เป็น​คำ​พูด​ที่​หนักแน่น​และ​กระตุ้น​ใจ​ของ​แม่​ขณะ​ที่​สวมกอด​ผม. ทหาร​แยก​เรา​จาก​กัน และ​การ​พิจารณา​คดี​เริ่ม​ขึ้น. ใน​ที่​สุด​ผล​การ​พิจารณา​คดี​ก็​ออก​มา​ว่า ผม​ต้อง​โทษ​จำ​คุก​ห้า​ปี. คน​ส่วน​ใหญ่​คง​รู้สึก​สิ้น​หวัง. แต่​บอก​ตาม​ตรง​ว่า ใน​ที่​สุด​ผม​รู้สึก สงบ​ใจ​อย่าง​ล้ำ​ลึก. ขอ​ให้​ผม​อธิบาย.

เหตุ​การณ์​ที่​กล่าว​ไป​นั้น​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1952 ที่​สโลวีเนีย. * แต่​แท้​จริง​แล้ว​เรื่อง​ของ​ผม​เริ่ม​ขึ้น​ก่อน​หน้า​นั้น​นาน​กว่า​สอง​ทศวรรษ คือ​ใน​ปี 1930. ตอน​นั้น​เป็น​ช่วง​ที่​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​สมัย​นั้น ได้​จัด​การ​บัพติสมา​หมู่​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ประเทศ​ของ​ผม. พ่อ​แม่​ของ​ผม คือ​ฟรันซ์​และ​เบอร์ตา มอชนิค ก็​รับ​บัพติสมา​ใน​ครั้ง​นั้น​ด้วย. ตอน​นั้น​ผม​อายุ​หก​ขวบ ส่วน​น้อง​สาว​ชื่อ​ไมดา อายุ​สี่​ขวบ. บ้าน​ของ​เรา​ใน​เมือง​มาริบอร์​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​กิจกรรม​คริสเตียน.

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์​ขึ้น​ครอง​อำนาจ​ใน​เยอรมนี​เมื่อ​ปี 1933 และ​ได้​เริ่ม​ข่มเหง​เหล่า​พยาน​ฯ. พยาน​ฯ​ชาว​เยอรมัน​หลาย​คน​ย้าย​เข้า​มา​ใน​ยูโกสลาเวีย​เพื่อ​ช่วย​ทำ​งาน​ประกาศ. พ่อ​แม่​ของ​ผม​ชอบ​เชิญ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​มา​เป็น​แขก​ที่​บ้าน. แขก​คน​หนึ่ง​ที่​ผม​จำ​ได้​ดี​คือ​มาร์ติน เพิทซิงเกอร์ ซึ่ง​ต่อ​มา​ถูก​คุม​ขัง​ใน​ค่าย​กัก​กัน​นาซี​เป็น​เวลา​เก้า​ปี. อีก​นาน​หลัง​จาก​นั้น คือ​ตั้ง​แต่​ปี 1977 จน​กระทั่ง​สิ้น​ชีวิต​ใน​ปี 1988 เขา​ได้​รับใช้​เป็น​สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

ทุก​ครั้ง​ที่​มา​เยี่ยม​เรา มาร์ติน​จะ​นอน​ที่​เตียง​ของ​ผม ส่วน​ผม​กับ​น้อง​ก็​นอน​ใน​ห้อง​ของ​พ่อ​แม่. เขา​มี​สารานุกรม​ฉบับ​กระเป๋า​เล่ม​เล็ก​สี​สวย​ซึ่ง​เร้า​จินตนาการ​ใน​วัย​เด็ก​ของ​ผม. ผม​ชอบ​เปิด​ดู​หนังสือ​เล่ม​นั้น​มาก.

เวลา​แห่ง​การ​ทดสอบ​อัน​แสน​สาหัส

ใน​ปี 1936 ช่วง​ที่​ฮิตเลอร์​มี​อำนาจ​มาก​ขึ้น พ่อ​แม่​ของ​ผม​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ที่​น่า​จด​จำ​ยิ่ง​ที่​เมือง​ลูเซิร์น สวิตเซอร์แลนด์. เนื่อง​จาก​พ่อ​มี​เสียง​ทุ้ม​ที่​ไพเราะ ใน​ตอน​นั้น​ท่าน​จึง​ได้​รับ​เลือก​ให้​ร่วม​บันทึก​เสียง​คำ​เทศน์​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ต่อ​มา​มี​การ​เปิด​ให้​เจ้าของ​บ้าน​ทั่ว​สโลวีเนีย​ฟัง. ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​ประชุม​ภาค​ที่​น่า​จด​จำ​ครั้ง​นั้น พยาน​ฯ​ใน​ยุโรป​ก็​เริ่ม​ถูก​ข่มเหง​อย่าง​หนัก. หลาย​คน​ทน​ทุกข์​และ​เสีย​ชีวิต​ใน​ค่าย​กัก​กัน​นาซี.

ใน​เดือน​กันยายน ปี 1939 สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 เริ่ม​ขึ้น​และ​พอ​ถึง​เดือน​เมษายน​ปี 1941 ทหาร​เยอรมัน​ได้​เข้า​มา​ยึด​หลาย​ส่วน​ของ​ยูโกสลาเวีย. โรง​เรียน​ใน​สโลวีเนีย​ถูก​ปิด. เรา​ถูก​ห้าม​ไม่​ให้​ใช้​ภาษา​ของ​เรา​ใน​ที่​สาธารณะ. เนื่อง​จาก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​วาง​ตัว​เป็น​กลาง​ท่ามกลาง​ความ​ขัด​แย้ง​ทาง​การ​เมือง​ทั้ง​สิ้น พวก​เขา​จึง​ไม่​เข้า​ร่วม​ใน​สงคราม. * ผล​คือ หลาย​คน​ถูก​จับ​และ​บาง​คน​ถูก​ประหาร รวม​ทั้ง​ชาย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ชื่อ ฟรันซ์ ดรอสก์ ซึ่ง​ผม​รู้​จัก​ดี. หน่วย​สังหาร​ของ​นาซี​เอา​ตัว​เขา​ไป​ยิง​เป้า​ห่าง​จาก​บ้าน​ของ​เรา​ไป​ประมาณ​ร้อย​เมตร. ผม​ยัง​คง​จำ​ภาพ​แม่​เอา​ผ้า​ปิด​หู​เพื่อ​จะ​ไม่​ได้​ยิน​เสียง​ปืน​ที่​ยิง​เขา. คำ​กล่าว​สุด​ท้าย​ของ​ฟรันซ์​ใน​จดหมาย​อำลา​ถึง​เพื่อน​สนิท​คือ “พบ​กัน​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.”

แนว​ทาง​ที่​ผม​เสียใจ​อย่าง​ยิ่ง

ตอน​นั้น​ผม​อายุ 19 ปี. ถึง​แม้​ผม​จะ​ชื่นชม​ฟรันซ์​เพราะ​เขา​ยืนหยัด​มั่นคง แต่​ผม​ก็​กลัว. ผม​จะ​ตาย​ด้วย​ไหม? ความ​เชื่อ​ของ​ผม​ไม่​เข้มแข็ง และ​สัมพันธภาพ​ของ​ผม​กับ​พระเจ้า​ก็​ไม่​ลึกซึ้ง. แล้ว​ผม​ก็​ได้​รับ​หมาย​เรียก​ให้​เข้า​ร่วม​ใน​กองทัพ. ความ​กลัว​ของ​ผม​มี​มาก​ยิ่ง​กว่า​ความ​เชื่อ ผม​จึง​ไป​เป็น​ทหาร.

ผม​ถูก​ส่ง​ไป​รบ​กับ​รัสเซีย​ใน​แนว​หน้า. ไม่​ช้า​ผม​ก็​เห็น​เพื่อน​ทหาร​ตาย​เกลื่อน​อยู่​รอบ ๆ. สงคราม​ทั้ง​น่า​กลัว​และ​โหด​ร้าย. สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​รบกวน​ผม​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ผม​ทูล​ขอ​การ​อภัยโทษ​จาก​พระ​ยะโฮวา​และ​ขอ​กำลัง​เพื่อ​จะ​เดิน​ใน​แนว​ทาง​ที่​ถูก​ต้อง. เมื่อ​ถูก​โจมตี​อย่าง​หนัก​จน​เกิด​ความ​โกลาหล​ใน​กองร้อย​ของ​เรา ผม​จึง​ได้​โอกาส​หนี.

ผม​รู้​ว่า​ถ้า​ถูก​จับ​ได้​ผม​จะ​ถูก​ประหาร. เจ็ด​เดือน​หลัง​จาก​นั้น ผม​หา​ที่​ซ่อน​ได้​เรื่อย ๆ. ผม​ถึง​กับ​ส่ง​ไปรษณียบัตร​ไป​หา​ไมดา​พร้อม​กับ​เขียน​ว่า “พี่​เลิก​ทำ​งาน​ให้​นาย​คน​เก่า​แล้ว และ​ตอน​นี้​กำลัง​ทำ​งาน​ให้​นาย​อีก​คน​หนึ่ง.” ผม​หมาย​ความ​ว่า​ตอน​นี้​ผม​ตั้งใจ​จะ​ทำ​งาน​ให้​พระเจ้า แต่​กว่า​ผม​จะ​ได้​ทำ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ เวลา​ก็​ผ่าน​ไป​อีก​ระยะ​หนึ่ง.

ใน​เดือน​สิงหาคม 1945 สาม​เดือน​หลัง​จาก​เยอรมนี​ยอม​แพ้​แก่​ฝ่าย​พันธมิตร ผม​ก็​ได้​กลับ​มาริบอร์. น่า​ทึ่ง​ที่​เรา​ทุก​คน​ทั้ง​พ่อ, แม่, และ​น้อง​สาว​รอด​จาก​สงคราม​ที่​โหด​ร้าย​มา​ได้. แต่​เวลา​นั้น​พวก​คอมมิวนิสต์​กำลัง​เรือง​อำนาจ และ​พวก​เขา​ก็​ข่มเหง​พยาน​พระ​ยะโฮวา. งาน​ประกาศ​ถูก​สั่ง​ห้าม​อย่าง​เป็น​ทาง​การ แต่​พยาน​ฯ​ก็​ทำ​งาน​นี้​ต่อ​ไป​อย่าง​ลับ ๆ.

ใน​เดือน​กุมภาพันธ์​ปี 1947 พยาน​ฯ​ที่​ซื่อ​สัตย์​สาม​คน​ถูก​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต คือ​รูดอล์ฟ คาเล, ดูชัน มิคิค, และ​เอดมันด์ สตรอปนิค. แต่​ต่อ​มา​มี​การ​เปลี่ยน​คำ​ตัดสิน​เป็น​โทษ​จำ​คุก 20 ปี. สื่อ​ต่าง ๆ ลง​ข่าว​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​อย่าง​ครึกโครม ประชาชน​มาก​มาย​จึง​ได้​รู้​ว่า​มี​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม​ต่อ​พยาน​ฯ. เมื่อ​อ่าน​ข่าว​เหล่า​นี้ ผม​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​ใจ​ยิ่ง​นัก. ผม​รู้​แล้ว​ว่า​ต้อง​ทำ​อะไร.

ผม​ได้​กำลัง​ที่​จะ​รับใช้​พระเจ้า

ด้วย​ความ​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​ใจ ผม​รู้​ว่า​ผม​ต้อง​ยืนหยัด​เพื่อ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ผม​จึง​พยายาม​มาก​ขึ้น​เพื่อ​จะ​ถูก​ใช้​ใน​งาน​ประกาศ​แบบ​ลับ ๆ ของ​เรา. เนื่อง​จาก​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​จริงจัง พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า​จึง​ช่วย​ผม​ให้​มี​ความ​เข้มแข็ง​พอ​ที่​จะ​เลิก​นิสัย​ที่​ไม่​สะอาด เช่น การ​ใช้​ยาสูบ.

ใน​ปี 1951 ผม​รับ​บัพติสมา​เป็น​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระเจ้า และ​กลับ​มา​สู่​แนว​ทาง​ชีวิต​ที่​ผม​ได้​ทิ้ง​ไป​เมื่อ​เกือบ​สิบ​ปี​ที่​แล้ว. ใน​ที่​สุด​ผม​ก็​เริ่ม​ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระ​บิดา​องค์​เที่ยง​แท้ ผู้​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​อย่าง​ไม่​เสื่อม​คลาย. แม้​ว่า​ผม​เคย​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ไม่​ฉลาด​เมื่อ​ตอน​เป็น​หนุ่ม แต่​ผม​รู้สึก​ประทับใจ​คำ​รับรอง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เรื่อง​การ​ให้​อภัย​ของ​พระเจ้า. ใน​ฐานะ​บิดา​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก พระเจ้า​ยัง​ทรง​จูง​ผม​ด้วย “สาย​แห่ง​ความ​รัก” เสมอ.—โฮเซอา 11:4.

ตลอด​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก​นั้น เรา​จัด​การ​ประชุม​คริสเตียน​กัน​อย่าง​ลับ ๆ ใน​บ้าน​ของ​พยาน​ฯ​หลาย​คน และ​เรา​ทำ​งาน​ประกาศ​แบบ​ไม่​เป็น​ทาง​การ. หลัง​จาก​รับ​บัพติสมา​ได้​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ปี ผม​ก็​ถูก​จับ. แม่​ได้​เจอ​ผม​สัก​ครู่​หนึ่ง​ก่อน​การ​พิจารณา​คดี. ดัง​ที่​เล่า​ไป​ใน​ตอน​ต้น แม่​กอด​ผม​แน่น​แล้ว​กระตุ้น​ผม​ว่า “ลูก​ต้อง​เข้มแข็ง​ไว้​นะ.” เมื่อ​มี​การ​ประกาศ​คำ​ตัดสิน​ว่า​ผม​ถูก​จำ​คุก​ห้า​ปี ผม​ก็​ยัง​มี​ใจ​สงบ​และ​แน่วแน่.

ผม​ถูก​ขัง​อยู่​ใน​ห้อง​เล็ก ๆ รวม​กับ​นัก​โทษ​อีก​สาม​คน ผม​จึง​สามารถ​พูด​คุย​เกี่ยว​กับ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​คง​ไม่​มี​ทาง​จะ​ได้​ยิน​ข่าวสาร​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​หาก​ผม​ไม่​ได้​ถูก​จำ​คุก. ถึง​แม้​ว่า​ผม​ไม่​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​หนังสือ​อธิบาย​พระ​คัมภีร์ แต่​ผม​รู้สึก​แปลก​ใจ​ที่​สามารถ​จำ​ข้อ​คัมภีร์​ต่าง ๆ และ​คำ​อธิบาย​จาก​การ​ที่​เคย​ใช้​เวลา​นาน​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว. ผม​บอก​เพื่อน​นัก​โทษ​เสมอ​ว่า ถ้า​ผม​ต้อง​ถูก​ขัง​อยู่​ใน​คุก​ห้า​ปี พระ​ยะโฮวา​จะ​ประทาน​กำลัง​ให้​ผม​อยู่​ใน​คุก​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระองค์​อาจ​เปิด​ทาง​ให้​ผม​ได้​ออก​ไป​ก่อน​ก็​ได้. ผม​คิด​หา​เหตุ​ผล​ว่า ถ้า​พระองค์​ทำ​เช่น​นั้น ใคร​จะ​ขัด​ขวาง​ได้?

รับใช้​ขณะ​ที่​มี​เสรีภาพ​ใน​ระดับ​หนึ่ง

ใน​เดือน​พฤศจิกายน ปี 1953 รัฐบาล​ได้​ประกาศ​การ​นิรโทษกรรม และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทุก​คน​ที่​ถูก​จำ​คุก​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว. ตอน​นั้น​ผม​จึง​รู้​ว่า​คำ​สั่ง​ห้าม​งาน​ประกาศ​ของ​เรา​ถูก​ยก​เลิก​ได้​สอง​เดือน​แล้ว. เรา​เริ่ม​จัด​ระเบียบ​ประชาคม​และ​งาน​ประกาศ​ของ​เรา​ใหม่​ใน​ทันที. เรา​พบ​สถาน​ที่​หนึ่ง​สำหรับ​ประชุม​คือ​ชั้น​ใต้​ดิน​ของ​อาคาร​แห่ง​หนึ่ง​ใน​ใจ​กลาง​เมือง​มาริบอร์. เรา​ติด​ป้าย​ไว้​ที่​ผนัง​ว่า “พยาน​พระ​ยะโฮวา—ประชาคม​มาริบอร์.” ความ​ยินดี​ใน​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​มี​เสรีภาพ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​ซาบซึ้ง​ใจ​จริง ๆ.

ตอน​ต้น​ปี 1961 ผม​เริ่ม​รับใช้​เต็ม​เวลา​ใน​ฐานะ​ไพโอเนียร์. หลัง​จาก​นั้น​หก​เดือน ผม​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​ทำ​งาน​ที่​สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ยูโกสลาเวีย. สำนักงาน​นี้​ตั้ง​อยู่​ที่​ซาเกร็บ โครเอเชีย. ใน​เวลา​นั้น สำนักงาน​สาขา​มี​ห้อง​ทำ​งาน​เล็ก ๆ เพียง​ห้อง​เดียว​และ​มี​คน​ทำ​งาน​อยู่​สาม​คน. ใน​ช่วง​กลางวัน​จะ​มี​เพื่อน​คริสเตียน​ที่​อาศัย​อยู่​ใกล้ ๆ มา​ช่วย​ผลิต​วารสาร​หอสังเกตการณ์ เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ ที่​ใช้​กัน​ใน​ท้องถิ่น.

พยาน​ฯ​ที่​เป็น​ผู้​หญิง​ซึ่ง​พัก​อยู่​ไม่​ไกล​ก็​มา​ช่วย​งาน​ด้วย. นอก​เหนือ​จาก​งาน​อื่น ๆ พวก​เธอ​ก็​เย็บ​เล่ม​วารสาร. ผม​ทำ​งาน​หลาย​อย่าง รวม​ทั้ง​พิสูจน์​อักษร, แปล, รับ​ส่ง​ของ, และ​เก็บ​รวบ​รวม​บันทึก​ต่าง ๆ.

เปลี่ยน​งาน​มอบหมาย

ใน​ปี 1964 ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง ซึ่ง​ต้อง​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ เป็น​ประจำ​เพื่อ​เสริม​ความ​เชื่อ​พวก​พี่​น้อง. ผม​ถือ​ว่า​งาน​นี้​มี​ความ​สำคัญ​มาก. ส่วน​ใหญ่​ผม​เดิน​ทาง​จาก​ประชาคม​หนึ่ง​ไป​อีก​ประชาคม​หนึ่ง​โดย​รถ​ประจำ​ทาง​หรือ​รถไฟ. เพื่อ​จะ​เข้า​ถึง​พยาน​ฯ​ใน​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ผม​มัก​ใช้​จักรยาน​หรือ​ไม่​ก็​เดิน​เท้า​เข้า​ไป และ​บาง​ครั้ง​ต้อง​ลุย​โคลน​ลึก​ถึง​ข้อ​เท้า.

ชีวิต​ยัง​มี​อะไร​ให้​หัวเราะ​สนุกสนาน. ครั้ง​หนึ่ง มี​พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​พา​ผม​ไป​ส่ง​ที่​ประชาคม​ต่อ​ไป​โดย​ใช้​รถ​ม้า. ขณะ​ที่​เรา​นั่ง​หัว​สั่น​หัว​คลอน​ไป​ตาม​ถนน​ดิน ล้อ​รถ​ล้อ​หนึ่ง​ก็​หลุด​ออก. เรา​สอง​คน​ลง​มา​กอง​อยู่​บน​พื้น. เรา​นั่ง​อยู่​บน​พื้น​ดิน เงย​หน้า​มอง​ดู​ม้า มัน​จ้อง​เรา​เหมือน​กับ​กำลัง​ทำ​ตา​โต​ด้วย​ความ​ประหลาด​ใจ. แม้​จะ​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น เรื่อง​นี้​ก็​ยัง​ทำ​ให้​เรา​หัวเราะ​ได้. ความ​รัก​อย่าง​จริง​ใจ​ของ​เพื่อน​รัก​ใน​ชนบท​เหล่า​นี้​เป็น​เรื่อง​ที่​ผม​นึก​ถึง​ด้วย​ความ​ชื่นชม​ยินดี​เสมอ.

ที่​เมือง​โนวีซัด ผม​ได้​มา​รู้​จัก​คุ้น​เคย​กับ​มา​ริกา ซึ่ง​เป็น​ไพโอเนียร์​คน​หนึ่ง. ความ​รัก​ที่​เธอ​มี​ต่อ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ความ​กระตือรือร้น​ใน​งาน​รับใช้​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​ประทับใจ​มาก ผม​จึง​อยาก​แต่งงาน​กับ​เธอ. เมื่อ​แต่งงาน​กัน​ได้​ระยะ​หนึ่ง เรา​ก็​เริ่ม​เดิน​ทาง​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​ต่าง ๆ ด้วย​กัน.

ครอบครัว​ของ​ผม​ประสบ​ความ​ลำบาก​หลาย​อย่าง​ใน​ช่วง​ที่​งาน​ของ​เรา​ถูก​ห้าม. พ่อ​ถูก​ตั้ง​ข้อ​หา​เท็จ​ว่า​สม​คบ​กับ​พวก​ศัตรู​ใน​ระหว่าง​สงคราม​และ​ต้อง​ออก​จาก​งาน. พ่อ​สู้​คดี​อยู่​หลาย​ปี​เพื่อ​จะ​ได้​ทำ​งาน​อีก​แต่​ก็​ไม่​สำเร็จ​และ​เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​ท่าน​ท้อ​ใจ​มาก. มี​อยู่​ช่วง​หนึ่ง​ที่​ความ​เชื่อ​ของ​พ่อ​อ่อน​ลง แต่​ก็​กลับ​มา​เข้มแข็ง​อีก​ครั้ง​ก่อน​จะ​สิ้น​ชีวิต. พ่อ​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ที่​ขยัน​ตอน​ที่​ท่าน​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1984. แม่​ผู้​ถ่อม​ใจ​และ​ซื่อ​สัตย์​เสีย​ชีวิต​ไป​ตั้ง​แต่​ปี 1965. ไมดา​ยัง​คง​รับใช้​ร่วม​กับ​ประชาคม​ใน​มาริบอร์.

งาน​รับใช้​ของ​เรา​ใน​ออสเตรีย

ใน​ปี 1972 ผม​กับ​มา​ริกา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​ประกาศ​กับ​ชาว​ยูโกสลาเวีย​จำนวน​มาก​ที่​ย้าย​ถิ่น​ฐาน​ไป​ทำ​งาน​ใน​ออสเตรีย. ตอน​ที่​มา​ถึง​เวียนนา​ซึ่ง​เป็น​เมือง​หลวง เรา​ไม่​คิด​เลย​ว่า​ที่​นี่​จะ​กลาย​เป็น​เขต​มอบหมาย​ถาวร​ของ​เรา. ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย มี​การ​ตั้ง​ประชาคม​และ​กลุ่ม​ที่​พูด​ภาษา​ต่าง ๆ ที่​ใช้​กัน​ใน​ยูโกสลาเวีย​อยู่​ทั่ว​ออสเตรีย.

ต่อ​มา ผม​เริ่ม​รับใช้​เป็น​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง​เยี่ยม​ประชาคม​และ​กลุ่ม​เหล่า​นี้​ซึ่ง​กำลัง​เพิ่ม​จำนวน​ขึ้น​ทั่ว​ประเทศ. หลัง​จาก​นั้น เรา​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​เยี่ยม​ที่​เยอรมนี​และ​สวิตเซอร์แลนด์​ด้วย ที่​นั่น​ก็​มี​การ​ตั้ง​ประชาคม​ใน​ลักษณะ​คล้าย ๆ กัน. ผม​ได้​ช่วย​จัด​การ​ประชุม​หมวด​และ​การ​ประชุม​ภาค​หลาย​ครั้ง​ใน​สอง​ประเทศ​นี้.

บาง​ครั้ง​ใน​การ​ประชุม​ภาค​เหล่า​นั้น​ที่​มี​ผู้​เข้า​ร่วม​จำนวน​มาก สมาชิก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​จะ​มา​เยี่ยม และ​ผม​ได้​มี​โอกาส​พบ​มาร์ติน เพิทซิงเกอร์​อีก​ครั้ง. เรา​ระลึก​ถึง​ความ​หลัง​เมื่อ​ประมาณ 40 ปี​ที่​แล้ว​ตอน​ที่​เขา​มา​เป็น​แขก​ที่​บ้าน​ของ​เรา​บ่อย ๆ. ผม​ถาม​เขา​ว่า “คุณ​จำ​ได้​ไหม​ว่า​ผม​ชอบ​เปิด​ดู​สารานุกรม​ฉบับ​กระเป๋า​ของ​คุณ​มาก​แค่​ไหน?”

เขา​ตอบ​ว่า “รอ​เดี๋ยว​นะ” แล้ว​ก็​ออก​จาก​ห้อง​ไป. เขา​กลับ​มา​พร้อม​กับ​หนังสือ​เล่ม​นั้น​แล้ว​ยื่น​ให้​ผม. เขา​พูด​ว่า “รับ​ไว้​เถอะ ถือ​ว่า​เป็น​ของ​ขวัญ​จาก​เพื่อน​คน​หนึ่ง.” หนังสือ​เล่ม​นั้น​ยัง​คง​เป็น​ของ​มี​ค่า​ชิ้น​หนึ่ง​ใน​ห้อง​สมุด​ของ​ผม.

มี​ปัญหา​สุขภาพ—แต่​ก็​ยัง ทำ​งาน​อยู่

ใน​ปี 1983 หมอ​ตรวจ​พบ​ว่า​ผม​เป็น​มะเร็ง. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น หมอ​บอก​ว่า​อาการ​ของ​ผม​อยู่​ใน​ระยะ​สุด​ท้าย​แล้ว. นั่น​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​ตึงเครียด โดย​เฉพาะ​สำหรับ​มาริกา แต่​เนื่อง​จาก​การ​ดู​แล​ด้วย​ความ​รัก​ของ​เธอ​และ​การ​ช่วยเหลือ​ที่​เป็น​ประโยชน์​จาก​พี่​น้อง​คริสเตียน​มาก​มาย ผม​จึง​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​อย่าง​เป็น​สุข.

ผม​กับ​มาริกา​ยัง​รับใช้​เต็ม​เวลา​อยู่​ใน​เวียนนา. ส่วน​ใหญ่​แล้ว ผม​เดิน​ทาง​ไป​ทำ​งาน​ที่​สำนักงาน​สาขา​ใน​ตอน​เช้า​และ​ทำ​งาน​แปล ส่วน​มาริกา​ทำ​งาน​ประกาศ​อยู่​ใน​เมือง. ผม​มี​ความ​สุข​มาก​ที่​ได้​เห็น​ว่า​ชาว​ยูโกสลาเวีย​ที่​ย้าย​มา​อยู่​ใน​ออสเตรีย​และ​เข้า​มา​เป็น​พยาน​ฯ​มี​จำนวน​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​กลุ่ม​เล็ก ๆ เป็น​มาก​กว่า 1,300 คน. ผม​กับ​มาริกา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ช่วย​หลาย​คน​ใน​จำนวน​นี้​เรียน​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

ไม่​กี่​ปี​ก่อน ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ระเบียบ​วาระ​การ​อุทิศ​อาคาร​สำนักงาน​สาขา​แห่ง​ใหม่​ใน​ดินแดน​ที่​เคย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​สาธารณรัฐ​ยูโกสลาเวีย คือ​ที่​โครเอเชีย​เมื่อ​ปี 1999 และ​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ที่​สโลวีเนีย​เมื่อ​ปี 2006. ผม​เป็น​คน​เก่า​แก่​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​รับ​การ​ขอ​ให้​เล่า​เรื่อง​ราว​ใน​สมัย​ที่​เพิ่ง​เริ่ม​งาน​ประกาศ​ใน​สอง​ประเทศ​นั้น​เมื่อ​ประมาณ 70 ปี​ที่​แล้ว.

จริง​ที​เดียว พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​พระเจ้า​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​ทรง​พร้อม​จะ​ให้​อภัย​ข้อ​บกพร่อง​และ​ความ​ผิด​พลาด​ของ​เรา​ด้วย​พระทัย​กว้าง. ผม​รู้สึก​ขอบคุณ​จริง ๆ ที่​พระองค์​ไม่​คอย​จับ​ผิด! (บทเพลง​สรรเสริญ 130:3, ล.ม.) พระองค์​ทรง​เมตตา​และ​กรุณา​ต่อ​ผม​เสมอ​มา​อย่าง​แท้​จริง. *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ใน​เวลา​นั้น​มี​หก​สาธารณรัฐ​ที่​รวม​กัน​เป็น​ยูโกสลาเวีย หนึ่ง​ใน​นั้น​คือ​สโลวีเนีย.

^ วรรค 9 สำหรับ​เหตุ​ผล​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เข้า​ร่วม​สงคราม โปรด​ดู​บทความ “ผู้​อ่าน​อยาก​รู้” ใน​หน้า 22 ของ​วารสาร​นี้.

^ วรรค 39 โบลเฟงค์ มอชนิค​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​วัน​ที่ 11 เมษายน 2008 ขณะ​ที่​มี​การ​เตรียม​บทความ​นี้​เพื่อ​การ​พิมพ์.

[ภาพ​หน้า 27]

จาก​ซ้าย​ไป​ขวา: เบอร์ตา​และ​ฟรันซ์ มอชนิค แม่​และ​พ่อ​ของ​ผม, ไมดา, และ​ผม ใน​มาริบอร์ สโลวีเนีย ช่วง​ทศวรรษ 1940

[ภาพ​หน้า 29]

กับ​มาริกา ภรรยา​ของ​ผม