ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จุดเด่นจากจดหมายของยาโกโบและจดหมายของเปโตร

จุดเด่นจากจดหมายของยาโกโบและจดหมายของเปโตร

พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต

จุด​เด่น​จาก​จดหมาย​ของ​ยาโกโบ​และ​จดหมาย​ของ​เปโตร

เกือบ 30 ปี​หลัง​จาก​วัน​เพนเทคอสต์​สากล​ศักราช 33 สาวก​ยาโกโบ น้อง​ชาย​ร่วม​มารดา​ของ​พระ​เยซู เขียน​จดหมาย​ถึง​อิสราเอล​ฝ่าย​วิญญาณ “สิบ​สอง​ตระกูล.” (ยโก. 1:1) จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​ท่าน​ก็​คือ เพื่อ​กระตุ้น​เตือน​พวก​เขา​ให้​รักษา​ความ​เชื่อ​ให้​เข้มแข็ง​และ​เพียร​อด​ทน​เมื่อ​เผชิญ​การ​ทดสอบ. ท่าน​ยัง​ให้​คำ​แนะ​นำ​ด้วย​เพื่อ​แก้ไข​สภาพการณ์​ยุ่งยาก​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ประชาคม.

ไม่​นาน​ก่อน​เนโร​จักรพรรดิ​โรมัน​ข่มเหง​คริสเตียน​ใน​สากล​ศักราช 64 อัครสาวก​เปโตร​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ถึง​คริสเตียน สนับสนุน​พวก​เขา​ให้​ยืนหยัด​มั่นคง​ใน​ความ​เชื่อ. ใน​จดหมาย​ฉบับ​ที่​สอง ซึ่ง​เขียน​หลัง​จาก​ฉบับ​แรก​ไม่​นาน เปโตร​สนับสนุน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ให้​เอา​ใจ​ใส่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​เตือน​พวก​เขา​เกี่ยว​กับ​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​กำลัง​จะ​มา​ถึง. จริง​ที​เดียว เรา​สามารถ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​เอา​ใจ​ใส่​ข่าวสาร​ที่​อยู่​ใน​จดหมาย​ของ​ยาโกโบ​และ​จดหมาย​ของ​เปโตร.—ฮีบรู 4:12.

พระเจ้า​ประทาน​สติ​ปัญญา​แก่​คน​ที่ “ทูล​ขอ . . . ด้วย​ความ​เชื่อ”

(ยโก. 1:1–5:20)

ยาโกโบ​เขียน​ว่า “ผู้​ที่​ทน​การ​ทดสอบ​เรื่อย​ไป​ก็​มี​ความ​สุข เพราะ​เมื่อ​พระองค์​พอ​พระทัย​เขา เขา​จะ​ได้​รับ​มงกุฎ​แห่ง​ชีวิต.” พระ​ยะโฮวา​ประทาน​สติ​ปัญญา​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​ทน​ได้​กับ​การ​ทดสอบ​ต่าง ๆ แก่​คน​ที่ “ทูล​ขอ​ต่อ ๆ ไป​ด้วย​ความ​เชื่อ.”—ยโก. 1:5-8, 12.

ความ​เชื่อ​และ​สติ​ปัญญา​ยัง​จำเป็น​ด้วย​สำหรับ​คน​ที่ “เป็น​ครู” ใน​ประชาคม. หลัง​จาก​ชี้​ให้​เห็น​แล้ว​ว่า​ลิ้น​เป็น “อวัยวะ​เล็ก ๆ” ที่​สามารถ “ทำ​ให้​ทั้ง​กาย​ด่าง​พร้อย” ยาโกโบ​เตือน​ให้​ระวัง​แนว​โน้ม​ทาง​โลก​ที่​สามารถ​ทำ​ให้​สาย​สัมพันธ์​ของ​คน​เรา​กับ​พระเจ้า​เสียหาย. ท่าน​ยัง​กล่าว​คร่าว ๆ ถึง​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ซึ่ง​คน​ที่​ป่วย​ฝ่าย​วิญญาณ​ควร​ทำ​ตาม​เพื่อ​จะ​ฟื้น​ตัว.—ยโก. 3:1, 5, 6; 5:14, 15.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

2:13—“ความ​เมตตา​ย่อม​มี​ชัย​เหนือ​การ​พิพากษา” อย่าง​ไร? เมื่อ​ต้อง​ให้​การ​เรื่อง​ของ​ตัว​เรา​เอง​ต่อ​พระเจ้า พระองค์​ทรง​พิจารณา​ดู​ความ​เมตตา​ที่​เรา​ได้​แสดง​ต่อ​คน​อื่น​และ​ทรง​ให้​อภัย​เรา​โดย​อาศัย​เครื่อง​บูชา​ไถ่​ของ​พระ​บุตร​พระองค์. (โรม 14:12) นี่​เป็น​เหตุ​ผล​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เรา​จะ​ให้​ความ​เมตตา​เป็น​คุณลักษณะ​เด่น​ใน​ชีวิต​เรา.

4:5—ใน​ที่​นี้​ยาโกโบ​ยก​ข้อ​คัมภีร์​ข้อ​ใด​ขึ้น​มา​กล่าว? ยาโกโบ​ไม่​ได้​ยก​ข้อ​คัมภีร์​ข้อ​ใด​ข้อ​หนึ่ง​ขึ้น​มา​กล่าว​โดย​ตรง. แต่​อาจ​เป็น​ได้​ว่า​คำ​กล่าว​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​นี้​อาศัย​แนว​คิด​ทั่ว​ไป​ที่​อยู่​ใน​ข้อ​คัมภีร์​อย่าง​เช่น เยเนซิศ 6:5; 8:21; สุภาษิต 21:10; และ​กาลาเทีย 5:17.

5:20—“ผู้​ที่​ช่วย​คน​บาป​ให้​หัน​กลับ​จาก​ทาง​ผิด” จะ​ช่วย​ชีวิต​ใคร​ให้​พ้น​จาก​ความ​ตาย? คริสเตียน​ที่​ช่วย​คน​ที่​ทำ​ผิด​ให้​หัน​กลับ​จาก​ทาง​ผิด​ช่วย​ชีวิต​คน​ที่​กลับ​ใจ​ให้​พ้น​จาก​ความ​ตาย​ฝ่าย​วิญญาณ และ​อาจ​ช่วย​ให้​พ้น​จาก​การ​ทำลาย​ตลอด​ไป. คน​ที่​ช่วย​คน​บาป​แบบ​นี้​จะ “ทำ​ให้​บาป​มาก​มาย [ของ​คน​นั้น] ถูก​ปิด​คลุม” ด้วย.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:14, 15. บาป​เกิด​มา​จาก​ความ​ปรารถนา​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​ไม่​ควร​ฟูม​ฟัก​ความ​ปรารถนา​ผิด ๆ ด้วย​การ​ครุ่น​คิด​ถึง​ความ​ปรารถนา​เหล่า​นั้น. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​จำเป็น​ต้อง ‘ใคร่ครวญ​ต่อ ๆ ไป’ ใน​เรื่อง​ที่​เสริม​สร้าง​และ​ใส่​เรื่อง​แบบ​นี้​ไว้​ใน​ความ​คิด​และ​หัวใจ​ของ​เรา.—ฟิลิป. 4:8.

2:8, 9. ‘ความ​ลำเอียง’ ตรง​กัน​ข้าม​กับ “พระ​ราชบัญญัติ” เกี่ยว​กับ​ความ​รัก. ดัง​นั้น คริสเตียน​แท้​ไม่​ลำเอียง.

2:14-26. เรา “ได้​รับ​ความ​รอด​เนื่อง​ด้วย​ความ​เชื่อ” “มิ​ใช่​ได้​รับ​เพราะ​การ​กระทำ” ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​หรือ​บัญญัติ​ที่​คริสเตียน​ปฏิบัติ. การ​แสดง​ความ​เชื่อ​ควร​ทำ​มาก​กว่า​เพียง​แค่​บอก​ว่า​เรา​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระเจ้า. (เอเฟ. 2:8, 9; โย. 3:16) ความ​เชื่อ​ควร​กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า.

3:13-17. “สติ​ปัญญา​จาก​เบื้อง​บน” เหนือ​กว่า​สติ​ปัญญา “อย่าง​โลก อย่าง​เดรัจฉาน อย่าง​ปิศาจ” อย่าง​แน่นอน! เรา​ควร ‘หมั่น​แสวง​หา​สติ​ปัญญา​ของ​พระเจ้า​เหมือน​หา​ทรัพย์​ที่​ซ่อน​อยู่.’—สุภา. 2:1-5, ล.ม.

3:18. เมล็ด​แห่ง​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ต้อง​ถูก “หว่าน​ด้วย​สันติ” โดย “พวก​ที่​สร้าง​สันติ.” (ฉบับ​แปล 2002) เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​ต้อง​เป็น​ผู้​สร้าง​สันติ​และ​ไม่​เป็น​คน​ยโส, ชอบ​ทะเลาะ, หรือ​ชอบ​ก่อ​ความ​วุ่นวาย.

“จง​มี​ความ​เชื่อ​ที่​มั่นคง”

(1 เป. 1:1–5:14)

เปโตร​เตือน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ให้​นึก​ถึง “ความ​หวัง​ที่​มี​ชีวิต” ที่​จะ​ได้​รับ​มรดก​ใน​สวรรค์. เปโตร​บอก​พวก​เขา​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น ‘เชื้อชาติ​ที่​ถูก​เลือก เป็น​ปุโรหิต​และ​เป็น​กษัตริย์ เป็น​ชาติ​บริสุทธิ์.’ ” หลัง​จาก​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เจาะจง​ใน​เรื่อง​การ​ยอม​เชื่อ​ฟัง​แล้ว ท่าน​กระตุ้น​ทุก​คน​ให้ “มี​ความ​คิด​จิตใจ​อย่าง​เดียว​กัน แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​กัน มี​ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง ความ​เอ็นดู​สงสาร ความ​ถ่อม​ใจ.”—1 เป. 1:3, 4; 2:9; 3:8.

เนื่อง​จาก “อวสาน​ของ [ระบบ​ยิว] มา​ใกล้​แล้ว” เปโตร​แนะ​นำ​พี่​น้อง​ให้ “มี​สติ คอย​ตื่น​ตัว​และ​เอา​ใจ​ใส่​ใน​การ​อธิษฐาน.” ท่าน​บอก​พวก​เขา​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​มี​สติ​อยู่​เสมอ​และ​จง​เฝ้า​ระวัง. . . . จง​ต่อ​สู้ [ซาตาน] จง​มี​ความ​เชื่อ​ที่​มั่นคง.”—1 เป. 4:7; 5:8, 9.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

3:20-22—การ​รับ​บัพติสมา​ช่วย​เรา​ให้​รอด​อย่าง​ไร? การ​รับ​บัพติสมา​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​คน​ที่​แสวง​หา​ความ​รอด. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​รับ​บัพติสมา​เอง​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เรา​รอด. อัน​ที่​จริง การ​ช่วย​ให้​รอด​เป็น​ไป​ได้ “โดย​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​คริสต์.” ผู้​จะ​รับ​บัพติสมา​ต้อง​มี​ความ​เชื่อ​ว่า​ความ​รอด​เป็น​ไป​ได้​เพียง​เพราะ​พระ​เยซู​ทรง​สิ้น​พระ​ชนม์​เป็น​ค่า​ไถ่, ถูก​ปลุก​ให้​คืน​พระ​ชนม์, และ “สถิต​ด้าน​ขวา​พระ​หัตถ์​ของ​พระเจ้า” โดย​ทรง​มี​อำนาจ​เหนือ​คน​เป็น​และ​คน​ตาย. การ​รับ​บัพติสมา​ซึ่ง​มี​รากฐาน​อยู่​บน​ความ​เชื่อ​เช่น​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​ตรง​กับ ‘การ​ที่​แปด​คน​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​รอด​จาก​น้ำ​โดย​ปลอด​ภัย.’

4:6—ใคร​คือ “คน​ตาย” ที่ “มี​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี” แก่​พวก​เขา? คน​เหล่า​นี้​คือ​คน​ที่ “ตาย​ไป​แล้ว​เนื่อง​ด้วย​การ​ล่วง​ละเมิด​และ​บาป” หรือ​คน​ที่​อยู่​ใน​สภาพ​ตาย​ฝ่าย​วิญญาณ​ก่อน​ที่​พวก​เขา​ได้​ยิน​ข่าว​ดี. (เอเฟ. 2:1) แต่​หลัง​จาก​แสดง​ความ​เชื่อ​ใน​ข่าว​ดี พวก​เขา​เริ่ม “มี​ชีวิต” ด้วย​การ​มี​สัมพันธภาพ​กับ​พระ​ยะโฮวา.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:7. เพื่อ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​จะ​มี​ค่า​มาก ความ​เชื่อ​นั้น​ต้อง​ได้​รับ​การ​พิสูจน์​หรือ​ทดสอบ​คุณภาพ​ก่อน. ความ​เชื่อ​ที่​เข้มแข็ง​เช่น​นั้น​ช่วย “รักษา​ชีวิต​ไว้” จริง ๆ. (ฮีบรู 10:39) เรา​ต้อง​ไม่​ถอย​กลับ​เมื่อ​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​ถูก​ทดสอบ.

1:10-12. ทูตสวรรค์​ปรารถนา​จะ​พินิจ​พิจารณา​และ​เข้าใจ​ความ​จริง​อัน​ลึกซึ้ง​ที่​ผู้​พยากรณ์​ของ​พระเจ้า​ใน​สมัย​โบราณ​เขียน​เกี่ยว​กับ​ประชาคม​คริสเตียน​ที่​ถูก​เจิม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรื่อง​เหล่า​นี้​จะ​กระจ่าง​ก็​เฉพาะ​เมื่อ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เริ่ม​ติด​ต่อ​กับ​ประชาคม​แล้ว. (เอเฟ. 3:10) เรา​ควร​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​ทูตสวรรค์​และ​พยายาม​สืบ​ค้น “สิ่ง​ลึกซึ้ง​ของ​พระเจ้า” มิ​ใช่​หรือ?—1 โค. 2:10.

2:21. โดย​ดำเนิน​ตาม​แบบ​อย่าง​อัน​ยอด​เยี่ยม คือ​พระ​เยซู​คริสต์ เรา​ควร​เต็ม​ใจ​จะ​ทน​ทุกข์​ถึง​ขนาด​ที่​พร้อม​จะ​เสีย​ชีวิต​เพื่อ​เชิดชู​พระ​บรม​เดชานุภาพ​ของ​พระ​ยะโฮวา.

5:6, 7. เมื่อ​เรา​ฝาก​ความ​วิตก​กังวล​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา พระองค์​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​รักษา​การ​นมัสการ​แท้​ไว้​เป็น​อันดับ​แรก​ใน​ชีวิต​เรา แทน​ที่​จะ​กังวล​เกิน​ควร​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​พรุ่ง​นี้.—มัด. 6:33, 34.

‘วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​จะ​มา’

(2 เป. 1:1–3:18)

เปโตร​เขียน​ว่า “คำ​พยากรณ์​ไม่​เคย​มี​ขึ้น​ตาม​ใจ​มนุษย์ แต่​มนุษย์​พูด​ตาม​ที่​พระเจ้า​ทรง​ประสงค์​ให้​พูด​โดย​ได้​รับ​การ​ทรง​นำ​จาก​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์.” การ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​พยากรณ์​สามารถ​ปก​ป้อง​เรา​ไว้​จาก “ผู้​สอน​เท็จ” และ​คน​อื่น ๆ ที่​ชัก​นำ​ให้​เสื่อม​เสีย.—2 เป. 1:21; 2:1-3.

เปโตร​เตือน​ว่า “ใน​สมัย​สุด​ท้าย​จะ​มี​คน​ชอบ​เยาะเย้ย​มา​เยาะเย้ย.” แต่ “วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ก็​จะ​มา​เหมือน​ขโมย.” เปโตร​ปิด​ท้าย​จดหมาย​ด้วย​คำ​แนะ​นำ​ที่​มี​เหตุ​ผล​แก่​คน​ที่ ‘เฝ้า​คอย​และ​คิด​ถึง​เวลา​ที่​วัน​นั้น​จะ​มา​ถึง​อยู่​เสมอ.’—2 เป. 3:3, 10-12.

คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ข้อ​คัมภีร์:

1:19—“ดาว​ประกายพรึก” คือ​ใคร, ขึ้น​มา​เมื่อ​ไร, และ​เรา​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เหตุ​การณ์​นี้​เกิด​ขึ้น​แล้ว? “ดาว​ประกายพรึก” คือ​พระ​เยซู​คริสต์​เมื่อ​พระองค์​รับ​ขัตติยอำนาจ​ใน​ราชอาณาจักร. (วิ. 22:16) ใน​ปี 1914 พระ​เยซู​ทรง​ขึ้น​มา​ต่อ​หน้า​สิ่ง​ทรง​สร้าง​ทั้ง​สิ้น​ใน​ฐานะ​กษัตริย์​มาซีฮา เป็น​สัญญาณ​ว่า​จะ​มี​รุ่ง​อรุณ​แห่ง​ยุค​ใหม่. การ​เปลี่ยน​รูป​พระ​กาย​เป็น​นิมิต​ที่​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​ล่วง​หน้า​เกี่ยว​กับ​สง่า​ราศี​ของ​พระ​เยซู​และ​ขัตติยอำนาจ​แห่ง​ราชอาณาจักร ซึ่ง​เน้น​ย้ำ​ถึง​ความ​น่า​เชื่อถือ​ของ​คำ​พยากรณ์​ของ​พระเจ้า. การ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​พยากรณ์​ของ​พระเจ้า​นั้น​เสมือน​เป็น​ตะเกียง​ส่อง​สว่าง​ใน​หัวใจ​ของ​เรา และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​เรา​จึง​รู้​ว่า​ดาว​ประกายพรึก​ได้​ขึ้น​มา​แล้ว.

2:4—“ทาร์ทารัส” คือ​อะไร และ​เหล่า​ทูตสวรรค์​ที่​ขืน​อำนาจ​ถูก​โยน​ลง​ไป​ใน​นั้น​เมื่อ​ไร? ทาร์ทารัส​เป็น​สภาพ​เหมือน​ถูก​จำ​คุก​ซึ่ง​เฉพาะ​กาย​วิญญาณ​เท่า​นั้น​ที่​ถูก​ส่ง​ไป​ที่​นั่น ไม่​ใช่​มนุษย์. ทาร์ทารัส​เป็น​สภาพ​ของ​ความ​มืด​ทึบ​ทาง​จิตใจ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​พระ​ประสงค์​อัน​เจิดจ้า​ของ​พระเจ้า. ผู้​ที่​อยู่​ใน​ทาร์ทารัส​ไม่​มี​ความ​หวัง​สำหรับ​อนาคต. พระเจ้า​ทรง​ส่ง​ทูตสวรรค์​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ไป​ยัง​ทาร์ทารัส​ใน​สมัย​ของ​โนอาห์ และ​พวก​มัน​จะ​อยู่​ที่​นั่น​ใน​สภาพ​ตก​ต่ำ​อย่าง​นั้น​จน​กระทั่ง​พวก​มัน​ถูก​ทำลาย.

3:17—เปโตร​หมาย​ความ​อย่าง​ไร​ที่​กล่าว​ว่า “เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​รู้​เรื่อง​นี้​ก่อน​แล้ว”? (ฉบับ​แปล​ใหม่) เปโตร​กล่าว​ถึง​การ​ที่​พวก​เขา​รู้​ล่วง​หน้า​ถึง​เหตุ​การณ์​ใน​อนาคต​ซึ่ง​พระเจ้า​บอก​ท่าน​และ​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​อื่น ๆ ให้​ทราบ​โดย​การ​ดล​ใจ. เนื่อง​จาก​นี่​ไม่​ใช่​ความ​รู้​ที่​ไร้​ขีด​จำกัด การ​มี​ความ​รู้​นี้​จึง​ไม่​ได้​ทำ​ให้​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​รู้​ราย​ละเอียด​ทุก​อย่าง​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ใน​อนาคต. พวก​เขา​รู้​เพียง​แค่​เค้าโครง​คร่าว ๆ ของ​สิ่ง​ที่​อาจ​จะ​คาด​หมาย​ได้​เท่า​นั้น.

บทเรียน​สำหรับ​เรา:

1:2, 5-7. นอก​จาก​จะ​ช่วย​เรา​เพิ่ม​พูน “ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​เยซู” การ​ที่​เรา​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​พัฒนา​คุณลักษณะ​อย่าง​เช่น​ความ​เชื่อ, ความ​เพียร​อด​ทน, และ​ความ​เลื่อมใส​พระเจ้า​สามารถ​ทำ​ให้​เรา​ไม่​กลาย​เป็น​คน “อยู่​เฉย ๆ” หรือ​ไม่ “เกิด​ผล” ใน​เรื่อง​ความ​รู้​นั้น.—2 เป. 1:8.

1:12-15. เพื่อ​จะ​รักษา​ตัว “มั่นคง​ใน​ความ​จริง” เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​เตือน​ใจ​อยู่​ตลอด อย่าง​ที่​เรา​ได้​รับ​โดย​ทาง​การ​ประชุม​ประชาคม, การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว, และ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล.

2:2. เรา​ควร​ระวัง​อย่า​ให้​การ​ประพฤติ​ของ​เรา​นำ​คำ​ตำหนิ​มา​สู่​พระ​ยะโฮวา​และ​องค์การ​ของ​พระองค์.—โรม 2:24.

2:4-9. เมื่อ​คำนึง​ถึง​สิ่ง​ที่​พระองค์​ได้​ทำ​ใน​อดีต เรา​สามารถ​แน่​ใจ​ได้​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​รู้​วิธี​ช่วย​คน​ที่​เลื่อมใส​พระองค์​ให้​รอด​ชีวิต​จาก​การ​ทดสอบ แต่​เก็บ​คน​อธรรม​ไว้​ทำลาย​ใน​วัน​พิพากษา.”

2:10-13. แม้​ว่า “ผู้​ที่​พระเจ้า​ทรง​ยกย่อง” คือ​ผู้​ปกครอง​คริสเตียน มี​ข้อ​บกพร่อง​และ​อาจ​ผิด​พลาด​ใน​บาง​ครั้ง แต่​เรา​ต้อง​ไม่​พูด​หยาบ​หยาม​พวก​เขา.—ฮีบรู 13:7, 17.

3:2-4, 12. การ​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​จดจ่อ​ต่อ “ถ้อย​คำ​ที่​พวก​ผู้​พยากรณ์​บริสุทธิ์​กล่าว​ไว้​เมื่อ​ก่อน​รวม​ทั้ง​บัญญัติ​ที่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ผู้​ช่วย​ให้​รอด​ทรง​ให้​ไว้” จะ​ช่วย​เรา​ให้​คำนึง​อยู่​เสมอ​ว่า​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​มา​ใกล้​แล้ว.

3:11-14. โดย​เป็น​คน “เฝ้า​คอย​และ​คิด​ถึง​เวลา​ที่​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​มา​ถึง​อยู่​เสมอ” เรา​ต้อง (1) “ประพฤติ​บริสุทธิ์” โดย​รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​ด้าน​ร่าง​กาย, จิตใจ, และ​ฝ่าย​วิญญาณ; (2) บริบูรณ์​ด้วย​การ​กระทำ​ที่​สะท้อน​ว่า​เรา “เลื่อมใส​พระเจ้า” เช่น การ​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร​และ​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก; (3) รักษา​ความ​ประพฤติ​และ​บุคลิกภาพ​ของ​เรา​ให้ “ปราศจาก​ด่าง​พร้อย” ไม่​แปดเปื้อน​มลทิน​จาก​โลก; (4) ‘ปราศจาก​ตำหนิ’ โดย​ทำ​ทุก​สิ่ง​ด้วย​แรง​กระตุ้น​ที่​บริสุทธิ์; และ (5) “มี​สันติ​สุข”—กับ​พระเจ้า, กับ​พี่​น้อง​คริสเตียน, และ​กับ​เพื่อน​มนุษย์.