ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มิชชันนารีอาจไปทางตะวันออกได้ไกลขนาดไหน?

มิชชันนารีอาจไปทางตะวันออกได้ไกลขนาดไหน?

มิชชันนารี​อาจ​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ได้​ไกล​ขนาด​ไหน?

หลัง​จาก​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์​ได้​ไม่​ถึง 30 ปี อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า​กำลัง​มี​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ท่ามกลาง “มนุษย์​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ใต้​ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) เรา​ไม่​ควร​ถือ​ว่า​คำ​พูด​ของ​เปาโล​มี​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​เหมือน​กับ​ว่า​ทุก​คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​เวลา​นั้น​ได้​ยิน​ข่าว​ดี​แล้ว. ถึง​กระนั้น เรา​มอง​เห็น​จุด​สำคัญ​ใน​คำ​กล่าว​ของ​เปาโล​ได้​อย่าง​ชัดเจน นั่น​คือ เหล่า​มิชชันนารี​คริสเตียน​กำลัง​ทำ​งาน​ประกาศ​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​ใน​โลก​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​สมัย​นั้น.

แต่​พวก​เขา​อาจ​ไป​ได้​ไกล​ถึง​แค่​ไหน? พระ​คัมภีร์​กล่าว​ถึง​เรือ​สินค้า​ซึ่ง​ทำ​ให้​เปาโล​สามารถ​ขยาย​งาน​ประกาศ​ของ​ท่าน​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​ได้​ไกล​ถึง​อิตาลี. และ​มิชชันนารี​ผู้​มี​ใจ​กล้า​คน​นี้​ยัง​ต้องการ​จะ​ไป​ถึง​สเปน​ด้วย.—กิจการ 27:1; 28:30, 31; โรม 15:28.

แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ทิศ​ตรง​ข้าม? คริสเตียน​ผู้​เผยแพร่​รุ่น​แรก​เคย​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ไกล​ขนาด​ไหน? เรา​ไม่​อาจ​บอก​ได้​แน่ชัด เพราะ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​ให้​ข้อมูล​ใน​เรื่อง​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ที่​รู้​ว่า​เส้น​ทาง​การ​ค้า​ระหว่าง​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​กับ​ซีก​โลก​ตะวัน​ออก​ได้​ขยาย​ไป​กว้าง​ไกล​เพียง​ไร​ใน​ศตวรรษ​แรก​ของ​สากล​ศักราช. อย่าง​น้อย​ที่​สุด การ​มี​เส้น​ทาง​เหล่า​นี้​ก็​เป็น​เครื่อง​บ่ง​ชี้​ว่า​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​มาก​ที่​จะ​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​ตะวัน​ออก.

มรดก​ของ​อะเล็กซานเดอร์

การ​พิชิต​ดินแดน​ต่าง ๆ ของ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​ทำ​ให้​เขา​ได้​มา​ทาง​ตะวัน​ออก​โดย​ผ่าน​บาบิโลเนีย​และ​เปอร์เซีย​และ​ไป​ไกล​ถึง​ปัญจาบ​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​อินเดีย. การ​เดิน​ทาง​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​ชาว​กรีก​ได้​รู้​จัก​คุ้น​เคย​กับ​ชายฝั่ง​ตั้ง​แต่​ปาก​แม่น้ำ​ยูเฟรทิส​ใน​อ่าว​เปอร์เซีย ไป​จน​ถึง​ปาก​แม่น้ำ​สินธุ​ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​มหาสมุทร​อินเดีย.

ต่อ​มา​ไม่​นาน มี​การ​นำ​เครื่องเทศ​และ​เครื่อง​หอม​จาก​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง​ของ​มหาสมุทร​อินเดีย​เข้า​มา​ใน​จักรวรรดิ​กรีก​โดย​ผ่าน​ทาง​ทะเล​แดง. ใน​ตอน​แรก​การ​ค้า​ขาย​สินค้า​เหล่า​นี้​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ควบคุม​ของ​พวก​พ่อค้า​ชาว​อินเดีย​และ​อาหรับ. แต่​เมื่อ​ราชวงศ์​ปโตเลมี​แห่ง​อียิปต์​ได้​ค้น​พบ​ความ​ลับ​ของ​ลม​มรสุม พวก​เขา​ก็​เข้า​มา​ร่วม​ค้า​ขาย​ใน​มหาสมุทร​อินเดีย​ด้วย.

ใน​มหาสมุทร​แห่ง​นี้ ระหว่าง​เดือน​พฤษภาคม​ถึง​กันยายน​จะ​มี​ลม​พัด​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​มา​จาก​ทิศ​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้ ทำ​ให้​เรือ​สามารถ​แล่น​จาก​ปาก​ทะเล​แดง​ไป​ตาม​ชายฝั่ง​คาบสมุทร​อาหรับ​หรือ​แล่น​ตรง​ไป​ยัง​ตอน​ใต้​ของ​อินเดีย​ได้. ระหว่าง​เดือน​พฤศจิกายน​ถึง​มีนาคม ลม​จะ​พัด​กลับ​ไป​ใน​ทิศ​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม ทำ​ให้​สามารถ​แล่น​เรือ​กลับ​มา​ได้​ง่าย. นัก​เดิน​เรือ​ชาว​อาหรับ​และ​อินเดีย​ได้​ใช้​ประโยชน์​จาก​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​ลม​มรสุม​เหล่า​นี้​มา​นาน​หลาย​ร้อย​ปี​แล้ว และ​เดิน​ทาง​ไป​มา​ระหว่าง​อินเดีย​กับ​ทะเล​แดง​พร้อม​กับ​สินค้า​ต่าง ๆ คือ ไม้​คาเซีย, อบเชย, น้ำมัน​นาร์ด, และ​พริก​ไทย.

เส้น​ทาง​เดิน​เรือ​ไป​ยัง​อะเล็กซานเดรีย​และ​โรม

เมื่อ​ชาว​โรมัน​พิชิต​ดินแดน​ต่าง ๆ ที่​เคย​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​บรรดา​ผู้​สืบ​ตำแหน่ง​ต่อ​จาก​อะเล็กซานเดอร์ กรุง​โรม​จึง​กลาย​เป็น​ตลาด​สำคัญ​ที่​มี​การ​ค้า​ขาย​ของ​มี​ค่า​จาก​ฝั่ง​ตะวัน​ออก ทั้ง​งา​ช้าง​จาก​แอฟริกา, เครื่อง​หอม​และ​มดยอบ​จาก​อาหรับ, เครื่องเทศ​และ​อัญมณี​จาก​อินเดีย, และ​แม้​แต่​ผ้า​ไหม​จาก​จีน. เรือ​บรรทุก​สินค้า​เหล่า​นี้​จะ​มา​เทียบ​ท่า​ที่​ท่า​เรือ​หลัก​สอง​แห่ง​ของ​อียิปต์​ริม​ฝั่ง​ทะเล​แดง คือ​ท่า​เบเรไนซี​กับ​ท่า​มียอสออร์มอส. ท่า​เรือ​ทั้ง​สอง​แห่ง​มี​เส้น​ทาง​คาราวาน​ทาง​บก​เชื่อม​ต่อ​ไป​ยัง​เมือง​คอปตอส​บน​ฝั่ง​แม่น้ำ​ไนล์.

จาก​คอปตอส สินค้า​จะ​ถูก​ขน​ลง​เรือ​ที่​ล่อง​ไป​ตาม​แม่น้ำ​ไนล์ เส้น​เลือด​สำคัญ​ของ​อียิปต์ ไป​ยัง​อะเล็กซานเดรีย แล้ว​จาก​นั้น​ก็​ถูก​ขน​ลง​เรือ​ซึ่ง​จะ​แล่น​ไป​ยัง​อิตาลี​และ​ที่​อื่น ๆ. อีก​เส้น​ทาง​หนึ่ง​ซึ่ง​สามารถ​ไป​ถึง​อะเล็กซานเดรีย​ได้​เช่น​กัน​คือ ผ่าน​คลอง​ที่​ตัด​เชื่อม​ช่วง​ต้น​ของ​ทะเล​แดง​ส่วน​ที่​ใกล้​เมือง​สุเอซ​ใน​ปัจจุบัน​กับ​แม่น้ำ​ไนล์. อียิปต์​และ​ท่า​เรือ​ต่าง ๆ อยู่​ไม่​ไกล​นัก​จาก​ดินแดน​ที่​พระ​เยซู​เคย​ทำ​งาน​ประกาศ​และ​สามารถ​เดิน​ทาง​ไป​ได้​ไม่​ยาก.

ตาม​คำ​กล่าว​ของ​นัก​ภูมิศาสตร์​ชาว​กรีก​ใน​ศตวรรษ​แรก​ชื่อ​สตราโบ ใน​สมัย​ของ​เขา ทุก ๆ ปี​จะ​มี​เรือ​ของ​อะเล็กซานเดรีย 120 ลำ​ออก​จาก​มียอสออร์มอส​เพื่อ​ทำ​การ​ค้า​ขาย​กับ​อินเดีย. มี​คู่มือ​เล่ม​หนึ่ง​ที่​พูด​ถึง​การ​เดิน​เรือ​ใน​แถบ​นั้น​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​แรก​ได้​หลง​เหลือ​มา​จน​ถึง​สมัย​ของ​เรา. คู่มือ​เล่ม​นี้​อาจ​เขียน​โดย​พ่อค้า​ชาว​อียิปต์​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​และ​เขียน​ขึ้น​เพื่อ​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​เพื่อน​พ่อค้า​ด้วย​กัน. เรา​จะ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​หนังสือ​โบราณ​เล่ม​นี้?

คู่มือ​เล่ม​นี้​ซึ่ง​มัก​มี​การ​เรียก​ด้วย​ชื่อ​ภาษา​ละติน​ว่า​เพริพลุส มาริส เอริแทร (การ​เดิน​ทาง​รอบ​ทะเล​เอริแทรเอียน) ได้​อธิบาย​ถึง​เส้น​ทาง​เดิน​เรือ​ต่าง ๆ ซึ่ง​มี​ระยะ​ทาง​หลาย​พัน​กิโลเมตร​จาก​ตอน​ใต้​ของ​อียิปต์ ไป​ไกล​จน​ถึง​แซนซิบาร์. ผู้​เขียน​กล่าว​ถึง​การ​เดิน​ทาง​สู่​ตะวัน​ออก โดย​บอก​ระยะ​ทาง, จุด​ทอด​สมอ, จุด​ค้า​ขาย, สินค้า​ที่​มี​การ​ค้า​ขาย​และ​นิสัย​ใจ​คอ​ของ​คน​ท้องถิ่น​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​ชายฝั่ง​ทาง​ใต้​ของ​คาบสมุทร​อาหรับ ลง​ไป​ตาม​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​อินเดีย​จรด​ศรีลังกา และ​ขึ้น​มา​ตาม​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ออก​ของ​อินเดีย​ไป​จน​ถึง​แม่น้ำ​คงคา. ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ของ​ข้อมูล​และ​การ​พรรณนา​ที่​เห็น​ภาพ​ชัดเจน​ใน​หนังสือ​เล่ม​นี้​ทำ​ให้​มี​การ​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ผู้​เขียน​คง​เคย​ไป​เยือน​สถาน​ที่​ต่าง ๆ ที่​เขา​พูด​ถึง.

ชาว​ตะวัน​ตก​ใน​อินเดีย

พ่อค้า​ชาว​ตะวัน​ตก​ใน​อินเดีย​เป็น​ที่​รู้​จัก​ใน​ชื่อ​ยาวานัส. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​เพริพลุส จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​คน​เหล่า​นี้​เดิน​ทาง​ไป​เป็น​ประจำ​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​แรก​ก็​คือ มูซิริส ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​เกือบ​ใต้​สุด​ของ​อินเดีย. * บท​กวี​ภาษา​ทมิฬ​ใน​ศตวรรษ​แรก ๆ ของ​สากล​ศักราช​กล่าว​ถึง​พวก​พ่อค้า​เหล่า​นี้​เสมอ. บท​กวี​บท​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “เหล่า​เรือ​ลำ​งาม​ของ​ยาวานัส​เข้า​มา​พร้อม​กับ​ทองคำ​และ​กลับ​ไป​พร้อม​กับ​พริก​ไทย แล้ว​มูซิริส​ก็​เต็ม​ไป​ด้วย​เสียง​อื้ออึง.” อีก​บท​หนึ่ง​กล่าว​ถึง​เจ้า​ชาย​องค์​หนึ่ง​ทาง​ใต้​ของ​อินเดีย​ที่​ถูก​ชักชวน​ให้​ดื่ม​เหล้า​องุ่น​หอม​ซึ่ง​พวก​ยาวานัส​นำ​เข้า​มา. สินค้า​อื่น ๆ จาก​ทาง​ตะวัน​ตก​ซึ่ง​กลาย​เป็น​ที่​นิยม​ใน​อินเดีย​คือ​เครื่อง​แก้ว, โลหะ, ปะการัง​และ​ผ้า​ทอ.

นัก​โบราณคดี​ได้​พบ​หลักฐาน​มาก​มาย​ของ​สินค้า​จาก​ตะวัน​ตก​ที่​ถูก​นำ​เข้า​มา​ที่​อินเดีย. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​บริเวณ​ที่​เคย​เป็น​หมู่​บ้าน​อารี​คา​เม​ดู บน​ชายฝั่ง​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​อินเดีย มี​การ​ค้น​พบ​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ รวม​ทั้ง​เศษ​เหยือก​ใส่​เหล้า​องุ่น​แบบ​โรมัน​และ​จาน​ที่​มี​ตรา​ประทับ​ของ​ช่าง​ปั้น​ใน​เมือง​อาเรซโซ ตอน​กลาง​ของ​อิตาลี. นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​เขียน​ว่า “จินตนาการ​ของ​ผู้​ขุด​ค้น​สมัย​ปัจจุบัน​เจิด​จรัส​ไป​ไกล​ขณะ​ที่​เขา​หยิบ​เศษ​ภาชนะ​ที่​มี​ชื่อ​ของ​เหล่า​ช่าง​ปั้น​เจ้าของ​เตา​เผา​ใน​แถบ​ชาน​เมือง​อาเรซโซ​ออก​จาก​ดิน​ตะกอน​แถบ​อ่าว​เบงกอล.” หลักฐาน​ยืน​ยัน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ระหว่าง​เมดิเตอร์เรเนียน​กับ​อินเดีย​ก็​คือ​เหรียญ​กษาปณ์​โรมัน​จำนวน​มหาศาล ทั้ง​เหรียญ​ทอง​และ​เหรียญ​เงิน​ซึ่ง​มี​การ​ค้น​พบ​ใน​อินเดีย​ตอน​ใต้. เหรียญ​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง​สากล​ศักราช​และ​มี​รูป​ของ​จักรพรรดิ​แห่ง​โรม ทั้ง​เอากุสตุส, ทิเบริอุส​และ​เนโร.

แผนที่​โบราณ​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​ยัง​มี​สำเนา​ที่​ทำ​ขึ้น​ใน​ยุค​กลาง​หลง​เหลือ​อยู่​ใน​ปัจจุบัน​แสดง​ให้​เห็น​ว่า มี​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​มี​ชาว​โรมัน​มา​ตั้ง​อาณานิคม​การ​ค้า​อย่าง​ถาวร​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​อินเดีย. กล่าว​กัน​ว่า​แผนที่​ฉบับ​นี้​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ ตาราง​พอยทิงเงอร์ ช่วย​ให้​เห็น​ภาพ​โลก​โรมัน​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​แรก​ของ​สากล​ศักราช​ได้​เป็น​อย่าง​ดี. แผนที่​นี้​ได้​บอก​ถึง​ที่​ตั้ง​วิหาร​แห่ง​หนึ่ง​ของ​เอากุสตุส​ใน​มูซิริส. หนังสือ​ชื่อ​การ​ค้า​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​โรม: การ​พาณิชย์​สากล​และ​นโยบาย​ของ​จักรพรรดิ ปี 31 ก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 305 (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “วิหาร​แห่ง​นี้​คง​ต้อง​สร้าง​ขึ้น​โดย​คน​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน​เท่า​นั้น และ​สันนิษฐาน​ว่า​จะ​เป็น​คน​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​มูซิริส​หรือ​ใช้​เวลา​อยู่​ที่​นั่น​ค่อนข้าง​มาก.”

บันทึก​ของ​โรมัน​กล่าว​ถึง​การ​มา​เยือน​กรุง​โรม​ของ​คณะ​ทูต​จาก​อินเดีย​อย่าง​น้อย​สาม​ครั้ง​ใน​รัชกาล​ของ​เอากุสตุส ระหว่าง​ปี 27 ก่อน​สากล​ศักราช​จน​ถึง​ปี​สากล​ศักราช 14. งาน​ศึกษา​วิจัย​ชิ้น​หนึ่ง​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​กล่าว​ว่า “คณะ​ทูต​เหล่า​นี้​มา​เยือน​ด้วย​เหตุ​ผล​สำคัญ​ทาง​การ​ทูต” นั่น​คือ เพื่อ​ตก​ลง​เกี่ยว​กับ​เขต​ที่​ผู้​คน​จาก​ชาติ​ต่าง ๆ จะ​ทำ​ธุรกิจ​ได้, เขต​ที่​จะ​มี​การ​เก็บ​ภาษี, เขต​ที่​คน​ต่าง​ชาติ​จะ​พัก​อาศัย​ได้ และ​เรื่อง​อื่น ๆ.

ฉะนั้น ใน​ศตวรรษ​แรก​ของ​สากล​ศักราช การ​เดิน​ทาง​ไป​มา​ระหว่าง​ดินแดน​รอบ ๆ ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​และ​อินเดีย​ถือ​เป็น​เรื่อง​ปกติ​และ​มี​ผู้​คน​เดิน​ทาง​กัน​บ่อย ๆ. คง​เป็น​เรื่อง​ง่าย​สำหรับ​มิชชันนารี​ที่​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​ทะเล​แดง​จะ​ขึ้น​เรือ​ลำ​หนึ่ง​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​อินเดีย.

ไป​ไกล​กว่า​อินเดีย​ไหม?

คง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ระบุ​ว่า​พ่อค้า​และ​นัก​เดิน​ทาง​คน​อื่น ๆ จาก​ฝั่ง​เมดิเตอร์เรเนียน​เคย​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ได้​ไกล​เพียง​ไร​หรือ​ตั้ง​แต่​เมื่อ​ไร. แต่​เชื่อ​กัน​ว่า​เมื่อ​ถึง​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง​ของ​สากล​ศักราช ก็​มี​ชาว​ตะวัน​ตก​บาง​คน​เดิน​ทาง​ไป​ไกล​ถึง​ประเทศ​ไทย, กัมพูชา, สุมาตรา, และ​ชวา​แล้ว.

หนังสือ​โฮ่ว ฮั่น-ซู (หนังสือ​บันทึก​เหตุ​การณ์​ประจำ​ปี​ใน​ช่วง​หลัง​ของ​ราชวงศ์​ฮั่น) ซึ่ง​ครอบ​คลุม​ช่วง​เวลา​ตั้ง​แต่​ปี ส.ศ. 23 จน​ถึง​ปี ส.ศ. 220 ได้​ระบุ​ปี​ของ​การ​เดิน​ทาง​ครั้ง​หนึ่ง​จาก​ตะวัน​ตก​ไป​ตะวัน​ออก. ใน​ปี ส.ศ. 166 คณะ​ทูต​จาก​กษัตริย์​แห่ง​ต้าฉิน พระ​นาม​ว่า​อัน-ตุ้น ได้​มา​ถึง​ราชสำนัก​จีน​พร้อม​กับ​ถวาย​เครื่อง​บรรณาการ​แด่​จักรพรรดิ​หวังตี้. ต้าฉิน คือ​ชื่อ​ภาษา​จีน​ที่​หมาย​ถึง​จักรวรรดิ​โรมัน ส่วน​คำ​ว่า​อัน-ตุ้น ดู​เหมือน​จะ​เป็น​คำ​ภาษา​จีน​สำหรับ​อันโตนินุส ซึ่ง​เป็น​ชื่อสกุล​ของ​มาร์คุส เอาเรลีอุส จักรพรรดิ​โรมัน​ใน​เวลา​นั้น. นัก​ประวัติศาสตร์​สงสัย​กัน​ว่า​คณะ​ทูต​ที่​กล่าว​ถึง​นี้​อาจ​ไม่​ใช่​คณะ​ทูต​จาก​ทาง​การ แต่​เป็น​เพียง​พวก​พ่อค้า​ใจ​กล้า​จาก​ฝั่ง​ตะวัน​ตก​ที่​พยายาม​เสาะ​หา​วิธี​จะ​ได้​ผ้า​ไหม​จาก​จีน​โดย​ตรง​แทน​ที่​จะ​ผ่าน​พ่อค้า​คน​กลาง.

ย้อน​กลับ​มา​ที่​คำ​ถาม​ของ​เรา​ใน​ตอน​ต้น นั่น​คือ เรือ​ใน​สมัย​โบราณ​อาจ​พา​มิชชันนารี​ใน​ศตวรรษ​แรก​เดิน​ทาง​ไป​ตะวัน​ออก​ได้​ไกล​ถึง​ขนาด​ไหน? ไป​ถึง​อินเดีย​หรือ​ไกล​กว่า​นั้น​ไหม? ก็​อาจ​เป็น​ได้. ที่​แน่ ๆ คือ ข่าวสาร​ที่​คริสเตียน​ประกาศ​ได้​แพร่​ออก​ไป​ไกล​ถึง​ขนาด​ที่​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ได้​ว่า ข่าว​นี้ “กำลัง​เกิด​ผล​ทวี​ขึ้น​ทั่ว​โลก” คือ ไป​ถึง​ดินแดน​อัน​ไกล​โพ้น​ใน​โลก​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​สมัย​นั้น.—โกโลซาย 1:6.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 ถึง​แม้​ไม่​มี​ใคร​ทราบ​ที่​ตั้ง​จริง ๆ ของ​มูซิริส แต่​พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า​เมือง​นี้​ตั้ง​อยู่​บริเวณ​ปาก​แม่น้ำ​เพริยาร์ ใน​รัฐ​เกรละ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 22]

เสียง​บ่น​ของ​จักรพรรดิ

ใน​ปี​สากล​ศักราช 22 จักรพรรดิ​ทิเบริอุส​แห่ง​โรม​ทรง​โอด​ครวญ​เกี่ยว​กับ​ความ​ฟุ้ง​เฟ้อ​อย่าง​ไร้​ขอบ​เขต​ของ​ประชาชน​ของ​พระองค์. ความ​กระหาย​อย่าง​ละโมบ​ใน​สิ่ง​ที่​หรูหรา​และ​ความ​อยาก​ได้​ใคร่​มี​อย่าง​ที่​ขาด​การ​ประมาณ​ตน​ใน​เรื่อง​เพชร​นิล​จินดา​ของ​ผู้​หญิง​สูง​ศักดิ์​ชาว​โรมัน​กำลัง​ทำ​ให้​จักรวรรดิ​ของ​พระองค์​สูญ​เสีย​ความ​มั่งคั่ง​ให้​กับ “บรรดา​ชาติ​ที่​ไม่​เคย​รู้​จัก​หรือ​ชาติ​ศัตรู.” พลินี​ผู้​สูง​วัย​กว่า นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​โรมัน (ปี​สากล​ศักราช 23-79) ก็​รำพึง​รำพัน​ถึง​เรื่อง​การ​ใช้​จ่าย​ทำนอง​เดียว​กัน. เขา​เขียน​ว่า “จาก​การ​คำนวณ​อย่าง​ต่ำ​ที่​สุด อินเดีย, เซเรส, และ​คาบสมุทร​อาหรับ​ได้​เงิน​จาก​จักรวรรดิ​ของ​เรา​มาก​ถึง​ปี​ละ​หนึ่ง​ร้อย​ล้าน​เซสเตอร์เซ ซึ่ง​เป็น​เงิน​จำนวน​มาก​เหลือ​เกิน​ที่​เรา​ได้​จ่าย​ไป​เพื่อ​ความ​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​และ​เพื่อ​ผู้​หญิง​ของ​เรา.” *

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 28 นัก​วิเคราะห์​คำนวณ​ว่า​เงิน 100 ล้าน​เซสเตอร์เซ​เท่า​กับ​สอง​เปอร์เซ็นต์​ของ​เศรษฐกิจ​ทั้ง​หมด​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Museo della Civiltà Romana, Roma; Todd Bolen/Bible Places.com

[กรอบ/ภาพ​หน้า 23]

พวก​พ่อค้า​เสาะ​หา​สินค้า​จาก​ที่​ไหน?

พระ​เยซู​ตรัส​ถึง “พ่อค้า​ที่​เดิน​ทาง​เสาะ​หา​ไข่มุก​เม็ด​งาม.” (มัดธาย 13:45) ใน​ทำนอง​เดียว​กัน หนังสือ​วิวรณ์​กล่าว​ถึง “พ่อค้า​เดิน​ทาง” ซึ่ง​มี​สิน​ค้า เช่น อัญมณี, ผ้า​ไหม, ไม้​หอม, งา​ช้าง, อบเชย, เครื่อง​หอม, และ​เครื่องเทศ​อินเดีย. (วิวรณ์ 18:11-13) สินค้า​เหล่า​นี้​ได้​มา​จาก​ดินแดน​ต่าง ๆ ที่​ตั้ง​อยู่​ตาม​เส้น​ทาง​การ​ค้า​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​ปาเลสไตน์. ไม้​ที่​มี​กลิ่น​หอม เช่น ไม้​จันทน์ มา​จาก​อินเดีย. ไข่มุก​ที่​มี​ค่า​สามารถ​หา​ได้​จาก​อ่าว​เปอร์เซีย, ทะเล​แดง, และ​ผู้​เขียน​เพริพลุส มาริส เอริแทร บอก​ว่า​บริเวณ​ใกล้ ๆ มูซิริส​และ​ที่​ศรีลังกา​ก็​มี​ไข่มุก​ด้วย. ดู​เหมือน​ว่า​ไข่มุก​จาก​มหาสมุทร​อินเดีย​จะ​มี​คุณภาพ​ดี​ที่​สุด​และ​มี​ราคา​แพง​ที่​สุด.

[แผนที่​หน้า 20]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เส้น​ทาง​การ​ค้า​บาง​เส้น​ระหว่าง​โรม​กับ​เอเชีย​ใน​ศตวรรษ​แรก

อาเรซโซ

โรม

ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน

อะเล็กซานเดรีย

อียิปต์

คอปตอส

แอฟริกา

แม่น้ำ​ไนล์

มียอสออร์มอส

เบเรไนซี

แซนซิบาร์

ทะเล​แดง

เยรูซาเลม

อาระเบีย

แม่น้ำ​ยูเฟรทิส

บาบิโลเนีย

อ่าว​เปอร์เซีย

เปอร์เซีย

ลม​มรสุม​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ

ลม​มรสุม​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้

แม่น้ำ​สินธุ

ปัญจาบ

แม่น้ำ​คงคา

อ่าว​เบงกอล

อินเดีย

อารีคาเมดู

มูซิริส

ศรีลังกา

มหาสมุทร​อินเดีย (ทะเล​เอริแทรเอียน)

จีน

จักรวรรดิ​ฮั่น

ไทย

กัมพูชา

เวียดนาม

สุมาตรา

ชวา

[ภาพ​หน้า 21]

แบบ​จำลอง​เรือ​สินค้า​โรมัน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Ship: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.