ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเลียนแบบพระเยซู—โดยสอนด้วยความรัก

จงเลียนแบบพระเยซู—โดยสอนด้วยความรัก

จง​เลียน​แบบ​พระ​เยซู—โดย​สอน​ด้วย​ความ​รัก

“ไม่​เคย​มี​ใคร​พูด​เหมือน​คน​นี้​เลย.”—โย. 7:46

1. ประชาชน​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​วิธี​ที่​พระ​เยซู​สอน?

ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​คง​ต้อง​เป็น​เรื่อง​น่า​ตื่นเต้น​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​ยิน​พระ​เยซู​สอน! คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​ให้​เรา​พอ​จะ​นึก​ภาพ​ออก​ถึง​ผล​กระทบ​ที่​พระองค์​ทรง​ทำ​ให้​เกิด​ขึ้น​กับ​คน​ที่​พบ​พระองค์. ตัว​อย่าง​เช่น ลูกา​ผู้​เขียน​กิตติคุณ​เล่า​ว่า​ประชาชน​ใน​เมือง​ที่​พระองค์​เจริญ​วัย​ขึ้น​มา “อัศจรรย์​ใจ​ใน​ถ้อย​คำ​จาก​พระ​โอษฐ์​ของ​พระองค์.” มัดธาย​รายงาน​ว่า​คน​ที่​ได้​ฟัง​พระ​เยซู​เมื่อ​พระองค์​ทรง​สอน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ต่าง​ก็ “อัศจรรย์​ใจ​ใน​วิธี​สอน​ของ​พระองค์.” และ​โยฮัน​ก็​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า​พวก​เจ้าหน้าที่​ซึ่ง​ถูก​ส่ง​มา​จับ​พระ​เยซู​แต่​กลับ​ไป​มือ​เปล่า​ได้​พูด​ว่า “ไม่​เคย​มี​ใคร​พูด​เหมือน​คน​นี้​เลย.”—ลูกา 4:22; มัด. 7:28; โย. 7:46

2. พระ​เยซู​ทรง​ใช้​วิธี​สอน​แบบ​ใด?

2 พวก​เจ้าหน้าที่​เหล่า​นั้น​ไม่​ได้​มอง​ผิด. พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​อย่าง​ไม่​ต้อง​สงสัย. พระองค์​ทรง​สอน​อย่าง​ชัดเจน, เรียบ​ง่าย, และ​มี​เหตุ​ผล​อย่าง​ที่​ไม่​อาจ​โต้​แย้ง​ได้. พระองค์​ทรง​ใช้​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​และ​คำ​ถาม​อย่าง​ชำนาญ. พระองค์​ทรง​ปรับ​การ​สอน​ให้​เข้า​กับ​คน​ที่​พระองค์​ตรัส​ด้วย ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คน​ที่​มี​ฐานะ​สูง​หรือ​ต่ำต้อย. ความ​จริง​ที่​พระองค์​ทรง​สอน​นั้น​เข้าใจ​ง่าย แต่​ก็​ลึกซึ้ง​อย่าง​แท้​จริง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ครู​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​ไม่​ได้​มี​เพียง​แค่​สิ่ง​เหล่า​นี้.

คุณลักษณะ​สำคัญ​ยิ่ง—ความ​รัก

3. ใน​ฐานะ​ผู้​สอน พระ​เยซู​ทรง​ต่าง​จาก​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ใน​สมัย​พระองค์​อย่าง​ไร?

3 คง​ต้อง​มี​บาง​คน​ใน​หมู่​พวก​อาลักษณ์​และ​ฟาริซาย​ที่​ฉลาด​ปราดเปรื่อง​และ​มี​ความ​รู้​ความ​สามารถ​ใน​การ​ถ่ายทอด​ความ​รู้. อะไร​ทำ​ให้​วิธี​สั่ง​สอน​ของ​พระ​เยซู​แตกต่าง​จาก​คน​พวก​นี้? พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ใน​เวลา​นั้น​ไม่​มี​ความ​รัก​ต่อ​สามัญ​ชน. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พวก​เขา​ดูถูก​สามัญ​ชน ถือ​ว่า​พวก​เขา​เป็น “คน​ถูก​แช่ง​สาป.” (โย. 7:49) ไม่​เหมือน​กับ​คน​เหล่า​นั้น พระ​เยซู​ทรง​สะเทือน​พระทัย​ด้วย​ความ​รู้สึก​สงสาร​พวก​เขา เพราะ​พวก​เขา “ถูก​ขูดรีด​และ​ถูก​ทิ้ง​ขว้าง​เหมือน​แกะ​ไม่​มี​ผู้​เลี้ยง.” (มัด. 9:36) พระองค์​ทรง​อบอุ่น, เห็น​อก​เห็น​ใจ, และ​กรุณา. นอก​จาก​นั้น พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ไม่​มี​ความ​รัก​แท้​ต่อ​พระเจ้า. (โย. 5:42) แต่​พระ​เยซู​ทรง​รัก​พระ​บิดา​และ​ทรง​ยินดี​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​บิดา. พวก​หัวหน้า​ศาสนา​บิดเบือน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ตัว​เอง แต่​พระ​เยซู​ทรง​รัก “พระ​คำ​ของ​พระเจ้า”—พระองค์​ทรง​สอน, อธิบาย, ปก​ป้อง, และ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​พระ​คำ​นั้น. (ลูกา 11:28) พระ​คริสต์​ทรง​มี​ความ​รัก​อย่าง​ลึกซึ้ง​ซึ่ง​ส่ง​ผล​อย่าง​มาก​ต่อ​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​สอน, วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​คน, และ​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​สอน​พวก​เขา.

4, 5. (ก) เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​สอน​ด้วย​ความ​รัก? (ข) เหตุ​ใด​ความ​รู้​และ​ความ​สามารถ​จึง​สำคัญ​ใน​การ​สอน​ด้วย?

4 แล้ว​พวก​เรา​ล่ะ? ใน​ฐานะ​สาวก​ของ​พระ​คริสต์ เรา​ต้องการ​เลียน​แบบ​พระองค์​ใน​งาน​รับใช้​และ​ใน​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ของ​เรา. (1 เป. 2:21) ด้วย​เหตุ​นั้น เป้าหมาย​ของ​เรา​ไม่​ใช่​เพียง​เพื่อ​บอก​ความ​รู้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​เรา​ต้องการ​สะท้อน​คุณลักษณะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ความ​รัก. ไม่​ว่า​เรา​มี​ความ​รู้​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​สอน​มาก​หรือ​ว่า​มี​เพียง​เล็ก​น้อย ความ​รัก​ที่​เรา​แสดง​ออก​มา​จะ​ช่วย​เรา​ได้​มาก​ใน​การ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​คน​ที่​เรา​ประกาศ. เพื่อ​จะ​มี​ประสิทธิภาพ​อย่าง​แท้​จริง​ใน​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก เรา​ต้อง​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​โดย​สอน​ด้วย​ความ​รัก.

5 แน่นอน เพื่อ​จะ​เป็น​ผู้​สอน​ที่​ดี เรา​ต้อง​มี​ความ​รู้​ใน​เรื่อง​ที่​จะ​สอน​และ​ต้อง​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​ถ่ายทอด​ความ​รู้​นั้น. พระ​เยซู​ทรง​ช่วย​เหล่า​สาวก​ให้​มี​ทั้ง​สอง​อย่าง​นั้น และ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​ทำ​อย่าง​นั้น​ใน​ทุก​วัน​นี้​โดย​ทาง​องค์การ​ของ​พระองค์. (อ่าน​ยะซายา 54:13; ลูกา 12:42) ถึง​กระนั้น เรา​ควร​ตั้ง​เป้า​ที่​จะ​สอน​ไม่​เพียง​แค่​โดย​ใช้​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด แต่​สอน​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​หัวใจ​ด้วย. เมื่อ​เรา​มี​ความ​รู้, ความ​สามารถ, และ​ความ​รัก ก็​อาจ​เกิด​ผล​ใน​การ​สอน​อย่าง​น่า​พอ​ใจ​ที่​สุด​ได้. ถ้า​อย่าง​นั้น มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​ช่วย​ให้​เรา​สามารถ​แสดง​ความ​รัก​เมื่อ​เรา​สอน? พระ​เยซู​และ​เหล่า​สาวก​ทำ​อย่าง​นั้น​โดย​วิธี​ใด? ให้​เรา​มา​พิจารณา​ด้วย​กัน.

เรา​ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา

6. เรา​พูด​ถึง​คน​ที่​เรา​รัก​อย่าง​ไร?

6 เรา​ชอบ​พูด​คุย​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​ชอบ. เมื่อ​เรา​พูด​ถึง​สิ่ง​ที่​เรา​ชอบ เรา​จะ​พูด​อย่าง​มี​ชีวิต​ชีวา​และ​กิริยา​ท่าที​ทั้ง​หมด​ของ​เรา​ก็​จะ​สะท้อน​ให้​เห็น​ถึง​ความ​กระตือรือร้น​และ​ความ​สุข. เป็น​จริง​อย่าง​นั้น​โดย​เฉพาะ​เมื่อ​เรา​พูด​ถึง​คน​ที่​เรา​รัก. ตาม​ปกติ​แล้ว เรา​อยาก​บอก​คน​อื่น​ถึง​สิ่ง​ที่​เรา​รู้​เกี่ยว​กับ​คน​ที่​เรา​รัก. เรา​ยกย่อง, ให้​เกียรติ, และ​ปก​ป้อง​เขา. เรา​ทำ​อย่าง​นั้น​เพราะ​เรา​ต้องการ​ให้​คน​อื่น​รู้สึก​ประทับใจ​ตัว​เขา​และ​คุณลักษณะ​ของ​เขา​อย่าง​ที่​เรา​รู้สึก.

7. ความ​รัก​ที่​พระ​เยซู​มี​ต่อ​พระเจ้า​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ทำ​อะไร?

7 ก่อน​ที่​เรา​จะ​สามารถ​ช่วย​คน​อื่น​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา​ได้ เรา​เอง​ต้อง​รู้​จัก​และ​รัก​พระองค์. ที่​จริง การ​นมัสการ​แท้​มี​รากฐาน​อยู่​ที่​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า. (มัด. 22:36-38) พระ​เยซู​ทรง​วาง​ตัว​อย่าง​ไว้​อย่าง​สมบูรณ์​แบบ. พระองค์​ทรง​รัก​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​สุด​หัวใจ, ความ​คิด, ชีวิต, และ​กำลัง​ของ​พระองค์. หลัง​จาก​ได้​ใช้​เวลา​ด้วย​กัน​อาจ​จะ​หลาย​พัน​ล้าน​ปี​ใน​สวรรค์ พระ​เยซู​ทรง​รู้​จัก​พระ​บิดา​เป็น​อย่าง​ดี. ผล​เป็น​อย่าง​ไร? พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “เรา​รัก​พระ​บิดา.” (โย. 14:31) ความ​รัก​ดัง​กล่าว​สามารถ​เห็น​ได้​ใน​ทุก​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​และ​ทำ. ความ​รัก​นี้​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ทำ​สิ่ง​ที่​พระเจ้า​พอ​พระทัย​เสมอ. (โย. 8:29) ความ​รัก​นี้​กระตุ้น​พระองค์​ให้​ประณาม​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ที่​กล่าว​อ้าง​อย่าง​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด​ว่า​เป็น​ตัว​แทน​ของ​พระเจ้า. ความ​รัก​นี้​ยัง​กระตุ้น​พระองค์​ด้วย​ให้​พูด​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​ช่วย​คน​อื่น ๆ ให้​รู้​จัก​และ​รัก​พระเจ้า.

8. ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​กระตุ้น​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ให้​ทำ​อะไร?

8 เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เหล่า​สาวก​ใน​ศตวรรษ​แรก​รัก​พระ​ยะโฮวา และ​ความ​รัก​นี้​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้​ประกาศ​ข่าว​ดี​ด้วย​ความ​กล้า​หาญ​และ​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า. พวก​เขา​ทำ​ให้​กรุง​เยรูซาเลม​เต็ม​ไป​ด้วย​คำ​สอน​ของ​พวก​เขา แม้​ว่า​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ที่​มี​อำนาจ​ต่อ​ต้าน​พวก​เขา. เหล่า​สาวก​ไม่​อาจ​เลิก​พูด​ใน​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​ได้​เห็น​และ​ได้​ยิน. (กิจ. 4:20; 5:28) พวก​เขา​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​อยู่​กับ​พวก​เขา​และ​อวย​พร​พวก​เขา—และ​พระองค์​ก็​ทรง​อวย​พร​พวก​เขา​จริง ๆ! ที่​จริง หลัง​จาก​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์​ยัง​ไม่​ถึง 30 ปี อัครสาวก​เปาโล​ก็​สามารถ​เขียน​ได้​แล้ว​ว่า​ข่าว​ดี​ได้​มี​การ​ประกาศ “ท่ามกลาง​มนุษย์​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ใต้​ฟ้า.”—โกโล. 1:23

9. เรา​จะ​เสริม​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระเจ้า​ให้​มั่นคง​ได้​โดย​วิธี​ใด?

9 ถ้า​เรา​ต้องการ​เป็น​ผู้​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​อย่าง​แท้​จริง เรา​เอง​ก็​จำเป็น​ต้อง​คอย​ตรวจ​ดู​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เรา​ได้​เสริม​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระเจ้า​ให้​มั่นคง​อยู่​เสมอ. เรา​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? โดย​ที่​เรา​พูด​กับ​พระเจ้า​บ่อย ๆ ใน​คำ​อธิษฐาน. นอก​จาก​นั้น เรา​ทำ​ให้​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระองค์​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น​โดย​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระองค์, โดย​อ่าน​หนังสือ​ต่าง ๆ ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก, และ​โดย​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน. เมื่อ​เรา​เติบโต​ขึ้น​ด้าน​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า หัวใจ​เรา​ก็​จะ​เต็ม​ด้วย​ความ​รัก​ที่​มี​ต่อ​พระองค์. เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น ขณะ​ที่​เรา​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​ทั้ง​ทาง​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ คน​อื่น ๆ ก็​จะ​สังเกต​เห็น​และ​อาจ​ถูก​ชัก​นำ​ให้​เข้า​มา​หา​พระ​ยะโฮวา.—อ่าน​บทเพลง​สรรเสริญ 104:33, 34

เรา​ต้อง​รัก​สิ่ง​ที่​เรา​สอน

10. ลักษณะ​เด่น​ของ​ผู้​สอน​ที่​ดี​คือ​อะไร?

10 ลักษณะ​เด่น​ของ​ผู้​สอน​ที่​ดี​ก็​คือ​เขา​รัก​สิ่ง​ที่​เขา​สอน. เขา​ต้อง​เชื่อ​ว่า​สิ่ง​ที่​เขา​สอน​เป็น​ความ​จริง, สำคัญ, และ​มี​ค่า. ถ้า​ผู้​สอน​เห็น​ความ​สำคัญ​ของ​สิ่ง​ที่​เขา​สอน จะ​เห็น​ได้​ชัด​เลย​ว่า​เขา​กระตือรือร้น และ​เขา​จะ​ก่อ​ผล​กระทบ​ที่​มี​พลัง​ต่อ​คน​ที่​เขา​สอน. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม ถ้า​ผู้​สอน​ไม่​เห็น​ค่า​สิ่ง​ที่​เขา​สอน​จริง ๆ เขา​จะ​คาด​หมาย​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​คน​ที่​เขา​สอน​จะ​เห็น​ค่า​สิ่ง​ที่​ตน​ได้​ยิน? อย่า​ประเมิน​ค่า​แบบ​อย่าง​ของ​คุณ​ใน​ฐานะ​ผู้​สอน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ต่ำ​เกิน​ไป. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ทุก​คน​ที่​ได้​รับ​การ​สอน​อย่าง​ครบ​ถ้วน​จะ​เป็น​เหมือน​ครู​ของ​ตน.”—ลูกา 6:40

11. เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ทรง​รัก​สิ่ง​ที่​พระองค์​สอน?

11 พระ​เยซู​ทรง​รัก​สิ่ง​ที่​พระองค์​สอน. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​พระองค์​ทรง​มี​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​มาก​จะ​ให้​ผู้​อื่น คือ​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระ​บิดา​ผู้​อยู่​ใน​สวรรค์, “ถ้อย​คำ​ของ​พระเจ้า” เอง, และ “ถ้อย​คำ​ที่​ให้​ชีวิต​นิรันดร์.” (โย. 3:34; 6:68) เช่น​เดียว​กับ​แสง​สว่าง​ที่​แรง​กล้า ความ​จริง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​สอน​เปิดโปง​สิ่ง​ที่​ไม่​ดี​และ​เน้น​สิ่ง​ที่​ดี. ความ​จริง​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้​คน​ถ่อม​ที่​เคย​ถูก​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​เท็จ​หลอก​ให้​หลง​ผิด​และ​ถูก​พญา​มาร​กดขี่​มี​ความ​หวัง​และ​กำลังใจ. (กิจ. 10:38) ความ​รัก​ที่​พระ​เยซู​มี​ต่อ​ความ​จริง​เห็น​ได้​ไม่​เพียง​ใน​คำ​สอน​ของ​พระองค์ แต่​ใน​ทุก​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทำ​ด้วย.

12. อัครสาวก​เปาโล​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​ข่าว​ดี?

12 เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู สาวก​ของ​พระองค์​รัก​และ​เห็น​ค่า​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​คริสต์​มาก​จน​พวก​ผู้​ต่อ​ต้าน​ไม่​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​เลิก​ประกาศ​ความ​จริง​แก่​คน​อื่น ๆ. เปาโล​เขียน​ถึง​เพื่อน​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ว่า “ข้าพเจ้า​จึง​กระตือรือร้น​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี . . . ด้วย​ว่า​ข้าพเจ้า​ไม่​อาย​ใน​เรื่อง​ข่าว​ดี ที่​จริง ข่าว​ดี​เป็น​ฤทธิ์​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​ทุก​คน​ที่​มี​ความ​เชื่อ​จะ​รอด.” (โรม 1:15, 16) เปาโล​ถือ​ว่า​เป็น​เกียรติ​ที่​จะ​ประกาศ​ความ​จริง. ท่าน​เขียน​ว่า “ข้าพเจ้า . . . ได้​รับ​พระ​กรุณา​อัน​ใหญ่​หลวง​โดย​ทรง​โปรด​ให้​ข้าพเจ้า​ประกาศ​ให้​ชน​ต่าง​ชาติ​รู้​ข่าว​ดี​เรื่อง​ความ​มั่งคั่ง​ของ​พระ​คริสต์​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​หยั่ง​รู้​ได้.” (เอเฟ. 3:8) ไม่​ใช่​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​นึก​ภาพ​ออก​ถึง​ความ​กระตือรือร้น​ของ​เปาโล​ขณะ​ที่​ท่าน​สอน​คน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์.

13. มี​เหตุ​ผล​อะไร​บ้าง​ที่​ทำ​ให้​รัก​ข่าว​ดี?

13 ข่าว​ดี​ที่​พบ​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​สามารถ​ทำ​ให้​เรา​รู้​จัก​พระ​ผู้​สร้าง​และ​เข้า​มา​มี​สาย​สัมพันธ์​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​กับ​พระองค์. ข่าว​ดี​นี้​ให้​คำ​ตอบ​ที่​น่า​พอ​ใจ​สำหรับ​คำ​ถาม​สำคัญ ๆ เกี่ยว​กับ​ชีวิต​และ​มี​พลัง​ที่​จะ​เปลี่ยน​ชีวิต​เรา, ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​หวัง, และ​เสริม​กำลัง​เรา​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก. นอก​จาก​นั้น ข่าว​ดี​นี้​ยัง​ชี้​ทาง​ไป​ถึง​ชีวิต​ที่​มี​ความ​หมาย​และ​ไม่​รู้​สิ้น​สุด. ไม่​มี​ความ​รู้​ใด​ที่​มี​ค่า​หรือ​สำคัญ​ยิ่ง​ไป​กว่า​ข่าว​ดี​นี้​อีก​แล้ว. ข่าว​ดี​นี้​เป็น​ของ​ขวัญ​ล้ำ​ค่า​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​เรา ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​ยินดี​ใหญ่​หลวง. และ​ข่าว​ดี​นี้​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​ยินดี​มาก​ขึ้น​ไป​อีก​เมื่อ​เรา​ให้​ของ​ประทาน​นี้​แก่​คน​อื่น ๆ.—กิจ. 20:35

14. เรา​จะ​เสริม​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​สิ่ง​ที่​เรา​สอน​ให้​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น​ได้​โดย​วิธี​ใด?

14 คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​เสริม​ความ​รัก​ที่​คุณ​มี​ต่อ​ข่าว​ดี​ให้​แรง​กล้า​ยิ่ง​ขึ้น? เมื่อ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า จง​หยุด​บ้าง​เพื่อ​ใคร่ครวญ​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​อ่าน​ไป. ตัว​อย่าง​เช่น จง​นึก​ภาพ​ว่า​ตัว​คุณ​เอง​กำลัง​ไป​ด้วย​กัน​กับ​พระ​เยซู​ระหว่าง​ที่​ทรง​รับใช้​บน​แผ่นดิน​โลก​หรือ​กำลัง​เดิน​ทาง​ไป​ด้วย​กัน​กับ​อัครสาวก​เปาโล. ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​ตัว​คุณ​เอง​อยู่​ใน​โลก​ใหม่ และ​มอง​เห็น​ภาพ​ว่า​ชีวิต​ใน​เวลา​นั้น​จะ​แตกต่าง​ไป​อย่าง​ไร. ขอ​ให้​ใคร่ครวญ​ถึง​พระ​พร​ที่​คุณ​ได้​รับ​เมื่อ​คุณ​เชื่อ​ฟัง​ข่าว​ดี. ถ้า​คุณ​รักษา​ความ​รัก​ต่อ​ข่าว​ดี​ไว้​ให้​แรง​กล้า คน​ที่​คุณ​สอน​ก็​จะ​รู้สึก​ได้​ถึง​ความ​รัก​นั้น. ดัง​นั้น เรา​มี​เหตุ​ผล​ที่​ดี​ที่​ควร​คิด​ใคร่ครวญ​อย่าง​ละเอียด​ถึง​สิ่ง​ที่​เรา​ได้​เรียน​รู้​และ​เอา​ใจ​ใส่​สิ่ง​ที่​เรา​สอน.—อ่าน 1 ติโมเธียว 4:15, 16

เรา​ต้อง​รัก​ผู้​คน

15. เหตุ​ใด​ผู้​สอน​ควร​รัก​คน​ที่​เขา​สอน?

15 ครู​ที่​ดี​ทำ​ให้​คน​ที่​เขา​สอน​รู้สึก​สบาย​ใจ ทำ​ให้​พวก​เขา​อยาก​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​สิ่ง​ที่​กำลัง​เรียน​รู้​และ​ยินดี​แสดง​ความ​รู้สึก​ของ​ตน. ครู​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ให้​ความ​รู้​เพราะ​เขา​สนใจ​คน​ที่​เขา​สอน​จริง ๆ. เขา​ปรับ​การ​สอน​ให้​เข้า​กับ​ความ​จำเป็น​และ​ระดับ​ความ​เข้าใจ​ของ​คน​ที่​เขา​สอน. เขา​คำนึง​ถึง​ความ​สามารถ​และ​สภาพการณ์​ของ​คน​ที่​เขา​สอน. เมื่อ​ผู้​สอน​มี​ความ​รัก​อย่าง​นั้น คน​ที่​เขา​สอน​ก็​จะ​มอง​เห็น และ​การ​เรียน​การ​สอน​ก็​จะ​น่า​เพลิดเพลิน.

16. พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​คน​โดย​วิธี​ใด​บ้าง?

16 พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​รัก​แบบ​นั้น. การ​แสดง​ออก​ซึ่ง​ความ​รัก​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​พระองค์​ก็​คือ​การ​ที่​พระองค์​ยอม​สละ​ชีวิต​มนุษย์​สมบูรณ์​ของ​พระองค์​เพื่อ​คน​อื่น​จะ​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​รอด. (โย. 15:13) ระหว่าง​ที่​ทรง​รับใช้ พระ​เยซู​ดู​แล​ผู้​คน​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ทั้ง​ทาง​กาย​และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ. แทน​ที่​จะ​คาด​หมาย​ให้​ผู้​คน​มา​หา​พระองค์ พระองค์​ทรง​เดิน​เท้า​นับ​ร้อย​นับ​พัน​กิโลเมตร​เพื่อ​บอก​ข่าว​ดี​แก่​พวก​เขา. (มัด. 4:23-25; ลูกา 8:1) พระองค์​ทรง​อด​ทน​และ​มี​ความ​เข้าใจ. เมื่อ​สาวก​ของ​พระองค์​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​แก้ไข พระองค์​ทรง​ว่า​กล่าว​แก้ไข​พวก​เขา​ด้วย​ความ​รัก. (มโก. 9:33-37) พระองค์​ทรง​หนุน​กำลังใจ​พวก​เขา​โดย​แสดง​ความ​มั่น​ใจ​ว่า​พวก​เขา​จะ​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี​ที่​มี​ประสิทธิภาพ. ไม่​มี​ใคร​เป็น​ครู​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​มาก​ยิ่ง​กว่า​พระ​เยซู. ความ​รัก​ที่​พระองค์​ทรง​แสดง​ต่อ​เหล่า​สาวก​กระตุ้น​พวก​เขา​ให้​แสดง​ความ​รัก​ตอบ​ต่อ​พระองค์​และ​ทำ​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​พระองค์​เสมอ.—อ่าน​โยฮัน 14:15

17. สาวก​ของ​พระ​เยซู​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​อื่น​อย่าง​ไร?

17 เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​แสดง​ความ​รัก​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​คน​ที่​พวก​เขา​ประกาศ. พวก​เขา​รับใช้​คน​อื่น​และ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ทั้ง ๆ ที่​ต้อง​อด​ทน​การ​ข่มเหง​และ​เสี่ยง​ชีวิต. พวก​เขา​รัก​คน​ที่​ตอบรับ​ข่าว​ดี​จริง ๆ! คำ​พูด​ของ​อัครสาวก​เปาโล​นั้น​น่า​ประทับใจ​อย่าง​แท้​จริง ที่​ว่า “เมื่อ​อยู่​กับ​พวก​ท่าน เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​ท่าน​ด้วย​ความ​อ่อนโยน​เหมือน​แม่​ลูก​อ่อน​ทะนุถนอม​ลูก​ของ​ตน. เรา​รัก​พวก​ท่าน​อย่าง​ยิ่ง เรา​จึง​ยินดี​จะ​ให้​พวก​ท่าน​ไม่​เพียง​แต่​ข่าว​ดี​ของ​พระเจ้า​เท่า​นั้น แต่​ชีวิต​ของ​เรา​ด้วย เพราะ​ว่า​พวก​ท่าน​เป็น​ที่​รัก​ของ​เรา.”—1 เทส. 2:7, 8

18, 19. (ก) เหตุ​ใด​เรา​จึง​เต็ม​ใจ​เสีย​สละ​เพื่อ​ทำ​งาน​ประกาศ​ให้​สำเร็จ? (ข) จง​ยก​ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คน​อื่น​สังเกต​เห็น​ความ​รัก​ที่​เรา​แสดง​ออก.

18 คล้าย​กัน ใน​สมัย​ปัจจุบัน พยาน​พระ​ยะโฮวา​ประกาศ​ไป​ทั่ว​โลก​เพื่อ​ค้น​หา​คน​ที่​ปรารถนา​จะ​รู้​จัก​และ​รับใช้​พระเจ้า. ที่​จริง ตลอด 17 ปี​ที่​ผ่าน​ไป เรา​ได้​ใช้​เวลา​กว่า​พัน​ล้าน​ชั่วโมง​ใน​แต่​ละ​ปี​ใน​การ​ประกาศ​และ​งาน​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก และ​เรา​ยัง​คง​ทำ​งาน​นี้​กัน​ต่อ​ไป. เรา​ทำ​อย่าง​นั้น​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ แม้​ว่า​งาน​ประกาศ​ต้อง​ใช้​เวลา, แรง​กาย, และ​ทรัพย์​สิน​เงิน​ทอง. เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู เรา​เข้าใจ​ว่า​พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ทรง​ปรารถนา​ให้​ผู้​คน​ได้​รับ​ความ​รู้​ที่​ทำ​ให้​มี​ชีวิต​นิรันดร์. (โย. 17:3; 1 ติโม. 2:3, 4) ความ​รัก​กระตุ้น​เรา​ให้​ช่วย​ผู้​มี​หัวใจ​สุจริต​ได้​มา​รู้​จัก​และ​รัก​พระ​ยะโฮวา​เหมือน​กัน​กับ​เรา.

19 คน​อื่น​สังเกต​เห็น​ความ​รัก​ที่​เรา​แสดง​ออก. ตัว​อย่าง​เช่น พี่​น้อง​หญิง​ไพโอเนียร์​คน​หนึ่ง​ใน​สหรัฐ​เขียน​จดหมาย​หลาย​ฉบับ​เพื่อ​ปลอบโยน​คน​ที่​สูญ​เสีย​ผู้​เป็น​ที่​รัก. ชาย​คน​หนึ่ง​เขียน​จดหมาย​ตอบ​ว่า “ความ​รู้สึก​แรก​ของ​ผม​ก็​คือ​แปลก​ใจ​ที่​มี​ใคร​คน​หนึ่ง​ได้​พยายาม​มาก​ขนาด​นี้​โดย​การ​เขียน​จดหมาย​ถึง​คน​ที่​ไม่​รู้​จัก​กัน​เลย เพื่อ​จะ​ช่วย​เขา​ให้​อด​ทน​กับ​ช่วง​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก. ผม​ลง​ความ​เห็น​ได้​แต่​เพียง​ว่า​คุณ​ต้อง​มี​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​มนุษย์​และ​ต่อ​พระเจ้า​ที่​ทรง​ชี้​นำ​ผู้​คน​ให้​เดิน​ใน​แนว​ทาง​แห่ง​ชีวิต.”

20. เป็น​เรื่อง​สำคัญ​เพียง​ไร​ที่​จะ​สอน​ด้วย​ความ​รัก?

20 มี​คำ​กล่าว​ว่า เมื่อ​ความ​รัก​และ​ความ​สามารถ​ประสาน​งาน​กัน คุณ​คาด​หมาย​ได้​เลย​ว่า​จะ​เห็น​ผล​งาน​ชิ้น​เอก. ใน​การ​สอน เรา​พยายาม​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​พัฒนา​ความ​คิด​จิตใจ​ที่​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​และ​หัวใจ​ที่​รัก​พระองค์. เพื่อ​จะ​เป็น​ผู้​สอน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​อย่าง​แท้​จริง เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​ความ​รัก​สาม​ต่อ—ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า, ความ​รัก​ต่อ​ความ​จริง, และ​ความ​รัก​ต่อ​ผู้​คน. เมื่อ​เรา​พัฒนา​ความ​รัก​เช่น​นั้น​และ​แสดง​ความ​รัก​นั้น​ใน​งาน​รับใช้ เรา​จะ​ประสบ​ไม่​เพียง​แต่​ความ​ยินดี​ที่​ได้​ให้ แต่​จะ​มี​ความ​อิ่ม​ใจ​ด้วย​ที่​รู้​ว่า​เรา​กำลัง​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​และ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พอ​พระทัย.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เมื่อ​เรา​สอน​ข่าว​ดี​แก่​คน​อื่น เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​มี . . .

ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า?

ความ​รัก​ต่อ​สิ่ง​ที่​เรา​สอน?

ความ​รัก​ต่อ​คน​ที่​เรา​สอน?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 15]

อะไร​ทำ​ให้​วิธี​การ​สอน​ของ​พระ​เยซู​แตกต่าง​จาก​พวก​อาลักษณ์​และ​ฟาริซาย?

[ภาพ​หน้า 18]

เพื่อ​จะ​สอน​ได้​ดี​ต้อง​มี​ความ​รู้, ความ​สามารถ, และ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​ต้อง​มี​ความ​รัก