ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณปฏิบัติตาม “ทางที่ดีเยี่ยมกว่า” ของความรักไหม?

คุณปฏิบัติตาม “ทางที่ดีเยี่ยมกว่า” ของความรักไหม?

คุณ​ปฏิบัติ​ตาม “ทาง​ที่​ดี​เยี่ยม​กว่า” ของ​ความ​รัก​ไหม?

“พระเจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก.” คำ​พูด​ดัง​กล่าว​ของ​อัครสาวก​โยฮัน​ระบุ​คุณลักษณะ​ที่​เด่น​ที่​สุด​ของ​พระเจ้า. (1 โย. 4:8) เป็น​เพราะ​ความ​รัก​ที่​พระเจ้า​ทรง​มี​ต่อ​มนุษย์ เรา​จึง​สามารถ​ใกล้​ชิด​พระองค์​และ​มี​สาย​สัมพันธ์​เป็น​ส่วน​ตัว​กับ​พระองค์. ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา​ใน​ทาง​ใด​อีก? มี​คำ​กล่าว​ที่​ว่า “เรา​ถูก​หล่อ​หลอม​โดย​สิ่ง​ที่​เรา​รัก.” คำ​กล่าว​นี้​เป็น​ความ​จริง. แต่​ก็​เป็น​ความ​จริง​ด้วย​ว่า​เรา​ถูก​หล่อ​หลอม​โดย​คน​ที่​เรา​รัก​และ​คน​ที่​รัก​เรา. เนื่อง​จาก​เรา​ถูก​สร้าง​ตาม​แบบ​พระเจ้า เรา​จึง​มี​ความ​สามารถ​จะ​สะท้อน​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​ใน​ชีวิต​เรา. (เย. 1:27) ด้วย​เหตุ​นั้น อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ว่า​เรา​รัก​พระเจ้า “ก็​เพราะ​พระองค์​ทรง​รัก​เรา​ก่อน.”—1 โย. 4:19

คำ​สี่​คำ​ที่​ใช้​พรรณนา​ความ​รัก

อัครสาวก​เปาโล​เรียก​ความ​รัก​ว่า “ทาง​ที่​ดี​เยี่ยม​กว่า.” (1 โค. 12:31) เหตุ​ใด​ท่าน​จึง​พรรณนา​ความ​รัก​ไว้​อย่าง​นั้น? เปาโล​กล่าว​ถึง​ความ​รัก​แบบ​ไหน? เพื่อ​จะ​รู้​คำ​ตอบ ให้​เรา​พิจารณา​คำ​ว่า “ความ​รัก” ให้​ละเอียด​กว่า​นี้.

ภาษา​กรีก​โบราณ​มี​การ​ใช้​คำ​พื้น​ฐาน​สี่​คำ ซึ่ง​ถูก​ใช้​ใน​หลาย​รูป เพื่อ​พรรณนา​ความ​รัก: สตอร์เก, เอ​รอส, ฟีเลีย, และ​อะกาเป. ใน​บรรดา​คำ​ทั้ง​หมด​นี้ อะกาเป เป็น​คำ​ที่​ถูก​ใช้​เพื่อ​พรรณนา​พระเจ้า​ผู้​ทรง “เป็น​ความ​รัก.” * ศาสตราจารย์​วิลเลียม บาร์กเลย์ กล่าว​ถึง​ความ​รัก​ชนิด​นี้​ไว้​ใน​หนังสือ​คำ​ใน​พันธสัญญา​ใหม่ (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “อะกาเป เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​คิด: ความ​รัก​ชนิด​นี้​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​อารมณ์​ที่​พลุ่ง​ขึ้น​เอง​ใน​หัวใจ​เรา; เป็น​หลักการ​ที่​เรา​ตั้งใจ​จะ​ใช้​ใน​การ​ดำเนิน​ชีวิต. อะกาเป เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ยิ่งยวด​กับ​เจตจำนง.” ใน​บริบท​นี้ อะกาเป เป็น​ความ​รัก​ที่​ถูก​ควบคุม​หรือ​นำ​ทาง​โดย​หลักการ แต่​ความ​รัก​นี้​มัก​มี​อารมณ์​อัน​แรง​กล้า​ร่วม​อยู่​ด้วย. เนื่อง​จาก​มี​หลักการ​ที่​ดี​และ​ไม่​ดี เห็น​ได้​ชัด​ว่า​คริสเตียน​ควร​ได้​รับ​การ​นำ​ทาง​โดย​หลักการ​ที่​ดี ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เอง​ทรง​วาง​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เมื่อ​เรา​เปรียบ​เทียบ​คำ​พรรณนา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​กล่าว​ถึง​อะกาเป กับ​คำ​อื่น ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​พรรณนา​ถึง​ความ​รัก​แบบ​อื่น เรา​จะ​เข้าใจ​ดี​ขึ้น​ถึง​ความ​รัก​ที่​เรา​ควร​แสดง​ออก.

ความ​รัก​ภาย​ใน​วง​ครอบครัว

ช่าง​น่า​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​ที่​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​และ​อบอุ่น! สตอร์เก เป็น​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​มัก​ใช้​เพื่อ​กล่าว​ถึง​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ​ที่​มี​อยู่​ท่ามกลาง​คน​ใน​ครอบครัว​เดียว​กัน. คริสเตียน​พยายาม​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​อื่น ๆ ใน​ครอบครัว. เปาโล​พยากรณ์​ว่า​ใน​สมัย​สุด​ท้าย ผู้​คน​ทั่ว​ไป​จะ “ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ.” *2 ติโม. 3:1, 3

ความ​รัก​ตาม​ธรรมชาติ​ซึ่ง​ควร​มี​อยู่​ท่ามกลาง​คน​ใน​ครอบครัว​กำลัง​ขาด​หาย​ไป​ใน​โลก​ปัจจุบัน. เหตุ​ใด​หลาย​คน​ที่​ตั้ง​ครรภ์​จึง​ทำ​แท้ง? เหตุ​ใด​หลาย​ครอบครัว​ไม่​สนใจ​ดู​แล​บิดา​มารดา​ที่​สูง​อายุ? เหตุ​ใด​อัตรา​การ​หย่าร้าง​จึง​พุ่ง​สูง​ขึ้น​เรื่อย ๆ? คำ​ตอบ​ที่​แท้​จริง​คือ เพราะ​พวก​เขา​ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ.

นอก​จาก​นั้น คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ว่า “หัวใจ​ทรยศ​ยิ่ง​กว่า​สิ่ง​อื่น​ใด.” (ยิระ. 17:9) ความ​รัก​ใน​ครอบครัว​เกี่ยว​ข้อง​กับ​หัวใจ​และ​ความ​รู้สึก​ของ​เรา. แต่​ว่า​น่า​สนใจ​ที่​เปาโล​ใช้​คำ​อะกาเป เพื่อ​พรรณนา​ถึง​ความ​รัก​ที่​สามี​ควร​แสดง​ต่อ​ภรรยา. เปาโล​เปรียบ​เทียบ​ความ​รัก​แบบ​นั้น​กับ​ความ​รัก​ที่​พระ​คริสต์​แสดง​ต่อ​ประชาคม. (เอเฟ. 5:28, 29) ความ​รัก​นี้​อาศัย​หลักการ​ที่​วาง​ไว้​โดย​พระ​ยะโฮวา ผู้​ก่อ​กำเนิด​ครอบครัว.

ความ​รัก​แท้​ต่อ​คน​ใน​ครอบครัว​กระตุ้น​เรา​ให้​สนใจ​ดู​แล​บิดา​มารดา​ที่​สูง​อายุ หรือ​กระตุ้น​เรา​ให้​รับ​เอา​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​เรา​มี​ต่อ​บุตร. นอก​จาก​นั้น บิดา​มารดา​ก็​จะ​ถูก​กระตุ้น​ให้​ตี​สอน​บุตร​ด้วย​ความ​รัก​เมื่อ​จำเป็น และ​ป้องกัน​บิดา​มารดา​ไม่​ให้​ทำ​อะไร​โดย​ใช้​เพียง​แค่​อารมณ์ ซึ่ง​มัก​ยัง​ผล​ทำ​ให้​บุตร​มี​นิสัย​ชอบ​ทำ​ตาม​ใจ​ตัว​เอง.—เอเฟ. 6:1-4

ความ​รัก​ฉัน​หนุ่ม​สาว​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

ความ​รัก​ทาง​กาย​ที่​ชาย​หญิง​มี​ร่วม​กัน​ใน​ชีวิต​สมร​สนับ​เป็น​ของ​ประทาน​จาก​พระเจ้า​อย่าง​แท้​จริง. (สุภา. 5:15-17) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ไม่​ได้​ใช้​คำ​ว่า​เอ​รอส ซึ่ง​หมาย​ถึง​ความ​รัก​ฉัน​หนุ่ม​สาว. เพราะ​เหตุ​ใด? หอสังเกตการณ์ เคย​อธิบาย​ไว้​นาน​มา​แล้ว​ว่า “ปัจจุบัน โลก​ทั้ง​โลก​ดู​เหมือน​ว่า​ทำ​ผิด​พลาด​แบบ​เดียว​กับ​ชาว​กรีก​ใน​สมัย​โบราณ. พวก​เขา​นมัสการ​เอ​รอส​เป็น​พระเจ้า กราบ​ไหว้​และ​ถวาย​เครื่อง​สักการบูชา​ที่​แท่น​บูชา​ของ​เอรอส. . . . แต่​ประวัติศาสตร์​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​การ​บูชา​ความ​รัก​ทาง​เพศ​เช่น​นั้น​มี​แต่​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสื่อม​ทราม, การ​ปล่อย​เนื้อ​ปล่อย​ตัว, และ​ความ​สูญ​สลาย. นั่น​อาจ​เป็น​เหตุ​ที่​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​ใช้​คำ​นี้​เลย.” เพื่อ​เรา​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​อาศัย​พื้น​ฐาน​เฉพาะ​แรง​ดึงดูด​ทาง​กาย​เท่า​นั้น ความ​รัก​ฉัน​หนุ่ม​สาว​จึง​ต้อง​ถูก​ทำ​ให้​อ่อน​ลง​หรือ​ถูก​ควบคุม​โดย​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ดัง​นั้น จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ความ​รัก​ฉัน​หนุ่ม​สาว​ของ​ฉัน​สมดุล​กับ​ความ​รัก​แท้​ที่​มี​ต่อ​เพื่อน​ไหม?’

ใน​ช่วง “วัย​หนุ่ม​สาว” ซึ่ง​ความ​รู้สึก​ทาง​เพศ​มัก​รุนแรง คน​หนุ่ม​สาว​ที่​ยึด​มั่น​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จะ​รักษา​ความ​สะอาด​ด้าน​ศีลธรรม​ไว้​เสมอ. (1 โค. 7:36; โกโล. 3:5) เรา​ถือ​ว่า​การ​สมรส​เป็น​ของ​ประทาน​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​จาก​พระ​ยะโฮวา. พระ​เยซู​ตรัส​เกี่ยว​กับ​คู่​สมรส​ว่า “ที่​พระเจ้า​ทรง​ผูก​มัด​ไว้​ด้วย​กัน​แล้ว​นั้น​อย่า​ให้​มนุษย์​ทำ​ให้​แยก​จาก​กัน​เลย.” (มัด. 19:6) เรา​ไม่​ได้​อยู่​ด้วย​กัน​ตราบ​เท่า​ที่​ยัง​มี​แรง​ดึงดูด​ทาง​กาย​ต่อ​กัน แต่​เรา​ถือ​ว่า​การ​สมรส​ของ​เรา​เป็น​ข้อ​ผูก​มัด​ที่​จริงจัง. เมื่อ​เกิด​ปัญหา​ขึ้น​มา​ใน​ชีวิต​สมรส เรา​ไม่​มอง​หา​ทาง​ออก​ง่าย ๆ แต่​เรา​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​แสดง​คุณลักษณะ​แบบ​พระเจ้า​เพื่อ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​มี​ความ​สุข. เมื่อ​เรา​พยายาม​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​จะ​มี​ความ​สุข​ที่​ยั่งยืน​นาน.—เอเฟ. 5:33; ฮีบรู 13:4

ความ​รัก​ใน​หมู่​เพื่อน

ชีวิต​คง​น่า​เบื่อ​ถ้า​ไม่​มี​เพื่อน! สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ไว้​ว่า “มิตร​สหาย​ที่​สนิท​ยิ่ง​กว่า​พี่​น้อง​ก็​มี.” (สุภา. 18:24) พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​มี​เพื่อน​แท้. ความ​ผูก​พัน​ใกล้​ชิด​ของ​มิตรภาพ​ระหว่าง​ดาวิด​กับ​โยนาธาน​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี. (1 ซามู. 18:1) และ​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​พระ​เยซู “ทรง​รัก” อัครสาวก​โยฮัน. (โย. 20:2) คำ​ภาษา​กรีก​ที่​หมาย​ถึง “ความ​รักใคร่” หรือ “มิตรภาพ” คือ​ฟีเลีย. ไม่​มี​อะไร​ผิด​ที่​จะ​มี​เพื่อน​สนิท​ใน​ประชาคม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ที่ 2 เปโตร 1:7 เรา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​เพิ่ม​ความ​รัก (อะกาเป ) เข้า​กับ “ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง” (ฟีลาเดลเฟีย ซึ่ง​เป็น​คำ​ผสม​ระหว่าง​ฟีโลส คำ​กรีก​ที่​หมาย​ถึง “เพื่อน” กับ​อะเดลโฟส คำ​กรีก​ที่​หมาย​ถึง “พี่​น้อง”). เพื่อ​จะ​มี​มิตรภาพ​ที่​ยั่งยืน เรา​จำเป็น​ต้อง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​นี้. เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ความ​รู้สึก​ของ​ฉัน​ใน​เรื่อง​มิตรภาพ​สมดุล​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?’

พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ช่วย​เรา​ให้​ไม่​ลำเอียง​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​เพื่อน ๆ ของ​เรา. เรา​ไม่​ใช้​มาตรฐาน​สอง​แบบ โดย​ใช้​มาตรฐาน​ที่​ค่อนข้าง​ไม่​เข้มงวด​กับ​เพื่อน ๆ และ​ใช้​มาตรฐาน​ที่​เข้มงวด​กว่า​กับ​คน​ที่​ไม่​ใช่​เพื่อน​ของ​เรา. นอก​จาก​นั้น เรา​ไม่​ใช้​คำ​พูด​ยกยอปอปั้น​เพื่อ​ผูก​มิตร​กับ​ผู้​คน. ที่​สำคัญ​ที่​สุด การ​ใช้​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​สังเกต​เข้าใจ​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​รู้​จัก​เลือก​เพื่อน​และ​หลีก​เลี่ยง ‘การ​คบหา​ที่​ไม่​ดี​ซึ่ง​ทำ​ให้​นิสัย​ดี​เสีย​ไป.’—1 โค. 15:33

สาย​สัมพันธ์​แห่ง​ความ​รัก​ที่​ไม่​มี​อะไร​เหมือน!

สาย​สัมพันธ์​ที่​ประสาน​คริสเตียน​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว​นั้น​นับ​ว่า​โดด​เด่น​จริง ๆ! อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “ให้​ความ​รัก​ของ​พวก​ท่าน​ปราศจาก​มารยา. . . . จง​มี​ความ​รักใคร่​อัน​อบอุ่น​ต่อ​กัน​ฉัน​พี่​น้อง.” (โรม 12:9, 10) ที่​จริง คริสเตียน​มี ‘ความ​รัก (อะกาเป ) ที่​ปราศจาก​มารยา.’ ความ​รัก​นี้​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​อารมณ์​ที่​ปะทุ​ขึ้น​มา​ใน​ใจ​เรา หาก​แต่​เป็น​ความ​รัก​ที่​พัฒนา​ขึ้น​มา​โดย​อาศัย​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เปาโล​ยัง​พูด​ถึง “ความ​รัก . . . ฉัน​พี่​น้อง” (ฟีลาเดลเฟีย ) และ “ความ​รักใคร่​อัน​อบอุ่น” (ฟีโลสตอร์โกส ซึ่ง​เป็น​คำ​ผสม​ระหว่าง​ฟีโลส กับ​สตอร์เก). ตาม​ที่​ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ “ความ​รัก . . . ฉัน​พี่​น้อง” เป็น “ความ​รักใคร่​ชอบ​พอ, การ​แสดง​ความ​กรุณา, ความ​ร่วม​รู้สึก, และ​การ​เสนอ​ความ​ช่วยเหลือ.” เมื่อ​รวม​เข้า​กับ​อะกาเป ความ​รัก​ฉัน​พี่​น้อง​ส่ง​เสริม​ความ​เป็น​เพื่อน​ที่​ใกล้​ชิด​กัน​ใน​หมู่​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา. (1 เทส. 4:9, 10) ส่วน​อีก​วลี​หนึ่ง ซึ่ง​แปล​ไว้​ว่า “ความ​รักใคร่​อัน​อบอุ่น” ปรากฏ​เพียง​ครั้ง​เดียว​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​หมาย​ถึง​ความ​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​อัน​อบอุ่น เช่น ใน​วง​ครอบครัว.

ความ​รัก​ที่​ผูก​พัน​คริสเตียน​แท้​ให้​เป็น​หนึ่ง​เดียว​เป็น​ส่วน​ผสม​ของ​ความ​รัก​ใน​ครอบครัว​กับ​ความ​รัก​ต่อ​เพื่อน​แท้ โดย​ที่​ความ​สัมพันธ์​ทั้ง​หมด​ถูก​ควบคุม​โดย​ความ​รัก​ที่​อาศัย​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ประชาคม​คริสเตียน​ไม่​ใช่​ชมรม​หรือ​องค์การ​ฝ่าย​โลก แต่​เป็น​ครอบครัว​ที่​ผูก​พัน​ใกล้​ชิด​และ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ใน​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า. เรา​เรียก​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ว่า​พี่​น้อง และ​เรา​มอง​พวก​เขา​อย่าง​นั้น​จริง ๆ. พวก​เขา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา, เรา​รัก​พวก​เขา​ใน​ฐานะ​เพื่อน, และ​เรา​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา​ตาม​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เสมอ. ขอ​ให้​เรา​ทุก​คน​ช่วย​กัน​เสริม​สาย​สัมพันธ์​แห่ง​ความ​รัก​ที่​ทำ​ให้​ประชาคม​คริสเตียน​เป็น​หนึ่ง​เดียว​และ​เป็น​เครื่องหมาย​บ่ง​บอก​ว่า​เป็น​ประชาคม​คริสเตียน​แท้.—โย. 13:35

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 มี​การ​ใช้​คำ​อะกาเป ใน​เนื้อ​ความ​ที่​เป็น​แง่​ลบ​ด้วย.—โย. 3:19; 12:43; 2 ติโม. 4:10; 1 โย. 2:15-17

^ วรรค 7 วลี “ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ” แปล​มา​จาก​รูป​หนึ่ง​ของ​คำ​สตอร์เก ที่​มี​คำ​เติม​หน้า​คำ ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ว่า “ปราศจาก.”—โปรด​ดู​โรม 1:31 ด้วย.

 

[คำ​โปรย​หน้า 12]

คุณ​ช่วย​ส่ง​เสริม​สาย​สัมพันธ์​แห่ง​ความ​รัก​ที่​ทำ​ให้​เรา​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ เดียว​กัน​โดย​วิธี​ใด?