ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘จงทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ’

‘จงทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ’

‘จง​ทำ​ตัว​ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ’

“[จง] ทำ​ตัว​ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ​ขณะ​ที่​คอย​ท่า​พระ​เมตตา​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา​โดย​หวัง​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์.”—ยูดา 21

1, 2. พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เรา​อย่าง​ไร และ​เรา​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พระองค์​ไม่​ทรง​รัก​เรา​โดย​อัตโนมัติ?

พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เรา​ใน​หลาย​วิธี​นับ​ไม่​ถ้วน. แต่​ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า ข้อ​พิสูจน์​สำคัญ​ที่​สุด​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​เรา​คือ​การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​กับ​เครื่อง​บูชา​ไถ่. พระองค์​ทรง​รัก​มนุษย์​มาก​จน​ถึง​กับ​ส่ง​พระ​บุตร​สุด​ที่​รัก​ลง​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​และ​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​พวก​เรา. (โย. 3:16) พระ​ยะโฮวา​ทำ​อย่าง​นี้​เพราะ​พระองค์​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​มี​ชีวิต​นิรันดร์​และ​ให้​เรา​รับ​ประโยชน์​จาก​ความ​รัก​ของ​พระองค์​ตลอด​ไป​ด้วย!

2 แต่​เรา​จะ​คิด​เอา​เอง​ได้​ไหม​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​รัก​เรา​โดย​อัตโนมัติ ไม่​ว่า​เรา​เลือก​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ก็​ตาม? ไม่​ได้. เพราะ​เรา​อ่าน​คำ​กระตุ้น​เตือน​ที่​ยูดา​ข้อ 21 ว่า “[จง] ทำ​ตัว​ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ​ขณะ​ที่​คอย​ท่า​พระ​เมตตา​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา​โดย​หวัง​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์.” วลี​ที่​ว่า “ทำ​ตัว ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ” บ่ง​ชี้​ว่า​เรา​ต้อง​ลง​มือ​ทำ​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง. ถ้า​อย่าง​นั้น เรา​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ?

เรา​จะ​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ​ได้​อย่าง​ไร?

3. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า​อะไร​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​พระองค์​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระ​บิดา​เสมอ?

3 เรา​พบ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​นี้​ใน​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​เอง ซึ่ง​ตรัส​ไว้​ใน​คืน​สุด​ท้าย​ที่​พระองค์​มี​ชีวิต​บน​แผ่นดิน​โลก. พระองค์​ตรัส​ว่า “ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ทำ​ตาม​บัญญัติ​ของ​เรา พวก​เจ้า​จะ​เป็น​ที่​รัก​ของ​เรา​เสมอ อย่าง​ที่​เรา​ทำ​ตาม​บัญญัติ​ของ​พระ​บิดา เรา​จึง​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระองค์​เสมอ.” (โย. 15:10) ข้อ​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ชัด​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​รู้​ว่า​การ​ทำ​ตาม​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​เพื่อ​จะ​รักษา​ชื่อเสียง​ที่​ดี​กับ​พระ​บิดา. ถ้า​การ​ทำ​ตาม​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​สำหรับ​พระ​บุตร​องค์​สมบูรณ์​ของ​พระเจ้า นั่น​ย่อม​จะ​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​สำหรับ​เรา​ด้วย​มิ​ใช่​หรือ?

4, 5. (ก) วิธี​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​แสดง​ว่า​เรา​รัก​พระ​ยะโฮวา​คือ​อะไร? (ข) เหตุ​ใด​จึง​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​กลัว​เมื่อ​นึก​ถึง​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา?

4 วิธี​สำคัญ​ที่​เรา​แสดง​ว่า​เรา​รัก​พระ​ยะโฮวา​ก็​คือ​การ​ที่​เรา​เชื่อ​ฟัง พระองค์. อัครสาวก​โยฮัน​พรรณนา​ไว้​อย่าง​นี้: “การ​รัก​พระเจ้า​หมาย​ถึง​การ​ทำ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์ และ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์​ไม่​เป็น​ภาระ​หนัก.” (1 โย. 5:3) จริง​อยู่ แนว​คิด​ใน​เรื่อง​การ​เชื่อ​ฟัง​ไม่​เป็น​ที่​นิยม​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้​เสมอ​ไป. แต่​ขอ​ให้​สังเกต​วลี​ที่​ว่า “พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์​ไม่​เป็น​ภาระ​หนัก.” พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​ขอ​ให้​เรา​ทำ​สิ่ง​ที่​ยาก​เกิน​กว่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้.

5 เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ: คุณ​จะ​ขอ​ให้​เพื่อน​สนิท​ยก​ของ​ที่​คุณ​รู้​ว่า​หนัก​เกิน​กว่า​ที่​เขา​จะ​ยก​ได้​ไหม? คุณ​ไม่​ทำ​อย่าง​นั้น​แน่! พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ผู้​ที่​กรุณา​มาก​กว่า​เรา​และ​ทรง​รู้​ขีด​จำกัด​ของ​เรา​มาก​กว่า​ที่​เรา​รู้. คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ความ​มั่น​ใจ​กับ​เรา​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง ‘ระลึก​อยู่​ว่า​เรา​เป็น​แต่​ผงคลี​ดิน.’ (เพลง. 103:14) พระองค์​จะ​ไม่​มี​ทาง​ขอ​ให้​เรา​ทำ​เกิน​กว่า​ที่​เรา​จะ​ทำ​ได้. ดัง​นั้น เรา​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​กลัว​เมื่อ​นึก​ถึง​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา. ตรง​กัน​ข้าม เรา​ตระหนัก​ว่า​การ​เชื่อ​ฟัง​ทำ​ให้​เรา​มี​โอกาส​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​จะ​แสดง​ให้​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ทราบ​ว่า​เรา​รัก​พระองค์​จริง ๆ และ​ต้องการ​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระองค์​เสมอ.

ของ​ประทาน​พิเศษ​จาก​พระ​ยะโฮวา

6, 7. (ก) สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​คือ​อะไร? (ข) จง​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ที่​แสดง​ว่า​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร​ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ.

6 ใน​โลก​อัน​สับสน​วุ่นวาย​ที่​เรา​อยู่​นี้ มี​เรื่อง​มาก​มาย​ที่​เรา​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า. เรา​จะ​แน่​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​การ​ตัดสิน​ใจ​เหล่า​นั้น​สอดคล้อง​กับ​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า? พระ​ยะโฮวา​ทรง​ให้​ของ​ประทาน​อย่าง​หนึ่ง​แก่​เรา ซึ่ง​ช่วย​เรา​ได้​มาก​ใน​เรื่อง​การ​เชื่อ​ฟัง. ของ​ประทาน​นั้น​คือ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ. สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​คือ​อะไร? สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​คือ​ความ​สามารถ​พิเศษ​ใน​การ​ตรวจ​สอบ​การ​กระทำ, เจตคติ, และ​การ​เลือก​ของ​ตัว​เรา​เอง. สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ทำ​หน้า​ที่​เหมือน​ผู้​พิจารณา​ตัดสิน​ที่​อยู่​ภาย​ใน ทำ​ให้​เรา​สามารถ​มอง​เห็น​ทาง​เลือก​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต หรือ​ใคร่ครวญ​สิ่ง​ที่​เรา​ได้​ทำ​ไป​และ​ประเมิน​การ​กระทำ​นั้น​ว่า​ดี​หรือ​เลว ถูก​หรือ​ผิด.—อ่าน​โรม 2:14, 15

7 สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​จะ​ช่วย​เรา​ใน​ทาง​ใด​ได้​บ้าง? ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ต่อ​ไป​นี้. นัก​เดิน​เท้า​คน​หนึ่ง​ท่อง​ไป​ใน​ป่า​ใหญ่. ไม่​มี​ทาง​เดิน, ไม่​มี​ถนน, ไม่​มี​ป้าย​บอก​ทาง. แต่​เขา​มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​เดิน​ไป​ถึง​จุด​หมาย. เขา​ทำ​อย่าง​ไร? เขา​มี​เข็มทิศ. เข็มทิศ​มี​หน้า​ปัด​ที่​แสดง​สี่​ทิศ​หลัก​และ​เข็ม​แม่เหล็ก​ชี้​ไป​ทาง​ทิศ​เหนือ​เสมอ. หาก​นัก​เดิน​เท้า​ไม่​มี​เข็มทิศ เขา​ก็​คง​หลง​ทาง​อย่าง​สิ้น​หวัง. คล้าย​กัน มนุษย์​ที่​ไม่​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ก็​จะ​ไม่​มี​การ​ชี้​นำ​ใด ๆ ใน​ชีวิต​เมื่อ​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ใน​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​กับ​ศีลธรรม, จริยธรรม, และ​ความ​ชอบธรรม.

8, 9. (ก) เรา​จำเป็น​ต้อง​ระลึก​อยู่​เสมอ​ว่า​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เรา​มี​ข้อ​จำกัด​อะไร? (ข) เรา​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เรา​จะ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​เรา​อย่าง​แท้​จริง?

8 อย่าง​ไร​ก็​ตาม สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​มี​ข้อ​จำกัด​เช่น​เดียว​กับ​เข็มทิศ. ถ้า​นัก​เดิน​เท้า​คน​นั้น​เอา​แม่เหล็ก​เข้า​ไป​ใกล้​เข็มทิศ แรง​แม่เหล็ก​ก็​จะ​ทำ​ให้​เข็ม​ชี้​ไป​ทาง​ทิศ​อื่น. เช่น​เดียว​กัน ถ้า​เรา​ยอม​ให้​ความ​ปรารถนา​ของ​หัวใจ​ควบคุม​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เรา จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น? แนว​โน้ม​อัน​เห็น​แก่​ตัว​ของ​เรา​อาจ​ทำ​ให้​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชี้​นำ​อย่าง​ไม่​ถูก​ต้อง. คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​เรา​ว่า “หัวใจ​ทรยศ​ยิ่ง​กว่า​สิ่ง​อื่น​ใด​และ​สิ้น​คิด.” (ยิระ. 17:9, ล.ม.; สุภา. 4:23) นอก​จาก​นั้น ถ้า​นัก​เดิน​เท้า​ไม่​มี​แผนที่​ที่​ถูก​ต้อง​และ​ไว้​ใจ​ได้ เข็มทิศ​นั้น​ก็​จะ​มี​ประโยชน์​เพียง​เล็ก​น้อย​หรือ​ไม่​มี​เลย. คล้าย​กัน ถ้า​เรา​ไม่​พึ่ง​อาศัย​การ​ชี้​นำ​ที่​ไว้​ใจ​ได้​และ​ไม่​เคย​เปลี่ยน​แปลง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล พระ​คำ​ของ​พระเจ้า สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อาจ​แทบ​ไม่​ได้​ช่วย​เรา​เลย. (เพลง. 119:105) น่า​เศร้า​ที่​หลาย​คน​ใน​โลก​นี้​ให้​ความ​ปรารถนา​ของ​หัวใจ​มา​เป็น​อันดับ​แรก​อย่าง​ไม่​สม​ควร ขณะ​ที่​ใส่​ใจ​เพียง​เล็ก​น้อย​หรือ​ไม่​สนใจ​เลย​ต่อ​มาตรฐาน​ที่​อยู่​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. (อ่าน​เอเฟโซส์ 4:17-19) นี่​จึง​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ผู้​คน​มาก​มาย​ถึง​แม้​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​แต่​ก็​ยัง​ทำ​สิ่ง​ที่​เลว​ร้าย.—1 ติโม. 4:2

9 เรา​ควร​ตั้งใจ​แน่วแน่​ว่า​จะ​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น! แต่​ให้​เรา​ยอม​ให้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​สอน​และ​ฝึกฝน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​อยู่​เสมอ​เพื่อ​เรา​จะ​สามารถ​ได้​ประโยชน์​อย่าง​แท้​จริง. เรา​จำเป็น​ต้อง​ฟัง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เรา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ฝึกฝน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​แนว​โน้ม​อัน​เห็น​แก่​ตัว​ครอบ​งำ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ. ใน​เวลา​เดียว​กัน เรา​ควร​พยายาม​นับถือ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​อัน​เป็น​ที่​รัก. เรา​พยายาม​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​หลีก​เลี่ยง​ไม่​ทำ​ให้​พวก​เขา​สะดุด โดย​ระลึก​อยู่​เสมอ​ว่า​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​พี่​น้อง​อาจ​ไว​หรือ​เข้มงวด​กว่า​ของ​เรา​เอง.—1 โค. 8:12; 2 โค. 4:2; 1 เป. 3:16

10. ตอน​นี้​เรา​จะ​พิจารณา​สาม​ขอบ​เขต​อะไร​ใน​ชีวิต?

10 ตอน​นี้​ขอ​เรา​พิจารณา​สาม​ขอบ​เขต​ใน​ชีวิต​ที่​เรา​สามารถ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​เชื่อ​ฟัง. แน่​ละ แต่​ละ​ขอบ​เขต​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ แต่​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​จำ​ต้อง​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​โดย​มาตรฐาน​การ​ประพฤติ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ซึ่ง​เป็น​การ​ชี้​นำ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด. สาม​แนว​ทาง​ที่​พิสูจน์​ว่า​เรา​รัก​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​เป็น​คน​เชื่อ​ฟัง​คือ (1) เรา​รัก​ผู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​รัก, (2) เรา​แสดง​ความ​นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ, และ (3) เรา​พยายาม​รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระเจ้า​เสมอ.

รัก​ผู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​รัก

11. เหตุ​ใด​เรา​ควร​รัก​ผู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​รัก?

11 ขอบ​เขต​แรก​คือ เรา​ต้อง​รัก​ผู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​รัก. ใน​เรื่อง​การ​คบหา​สมาคม ผู้​คน​เป็น​เหมือน​ฟองน้ำ. เรา​มี​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ซึมซับ​อะไร​ก็​ตาม​ที่​อยู่​รอบ​ตัว​เรา. พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา​ทราบ​ดี​ว่า​การ​คบหา​สมาคม​อาจ​เป็น​อันตราย​หรือ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​มนุษย์​ที่​ไม่​สมบูรณ์​มาก​เพียง​ใด. ดัง​นั้น พระองค์​จึง​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​สุขุม​นี้​แก่​เรา: “บุคคล​ที่​ดำเนิน​กับ​คน​มี​ปัญญา​ก็​จะ​เป็น​คน​มี​ปัญญา แต่​คน​ที่​คบ​กับ​คน​โฉด​เขลา​ย่อม​จะ​รับ​ความ​เสียหาย.” (สุภา. 13:20, ล.ม.; 1 โค. 15:33) ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​ต้องการ​รับ “ความ​เสียหาย.” เรา​แต่​ละ​คน​ต้องการ “เป็น​คน​มี​ปัญญา.” ไม่​มี​ใคร​สามารถ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​มี​ปัญญา​มาก​ขึ้น​หรือ​ทำ​ให้​พระองค์​เสื่อม​เสีย​ได้. กระนั้น พระองค์​ก็​ยัง​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ยอด​เยี่ยม​แก่​เรา​ใน​เรื่อง​การ​คบหา​สมาคม. ขอ​ให้​เรา​มา​พิจารณา​ว่า มนุษย์​ที่​ไม่​สมบูรณ์​คน​ใด​บ้าง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​เป็น​มิตร​ด้วย?

12. คน​แบบ​ใด​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​เป็น​มิตร?

12 พระ​ยะโฮวา​ทรง​เรียก​อับราฮาม​ปฐม​บรรพบุรุษ​ว่า “มิตร​สหาย​ของ​เรา.” (ยซา. 41:8) ชาย​ผู้​นี้​เป็น​บุรุษ​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​ซึ่ง​โดด​เด่น​ใน​เรื่อง​ความ​ซื่อ​สัตย์, ความ​ชอบธรรม, และ​การ​เชื่อ​ฟัง. (ยโก. 2:21-23) คน​แบบ​นี้​แหละ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​เป็น​มิตร. พระองค์​เป็น​มิตร​กับ​คน​ที่​มี​คุณลักษณะ​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ใน​ทุก​วัน​นี้. ถ้า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​คน​เช่น​นั้น​มา​เป็น​มิตร ก็​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​มิ​ใช่​หรือ​ที่​เรา​จะ​เลือก​ให้​ดี​เช่น​กัน เพื่อ​เรา​จะ​ดำเนิน​กับ​คน​มี​ปัญญา​และ​จะ​ได้​เป็น​คน​มี​ปัญญา?

13. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​เลือก​เพื่อน​ที่​ดี​ได้?

13 อะไร​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​เลือก​เพื่อน​ที่​ดี​ได้? การ​ศึกษา​ตัว​อย่าง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​อาจ​เป็น​แรง​กระตุ้น. ขอ​พิจารณา​มิตรภาพ​ระหว่าง​นาง​รูท​กับ​นาง​นาอะมี​แม่​สามี, ระหว่าง​ดาวิด​กับ​โยนาธาน, หรือ​ระหว่าง​ติโมเธียว​กับ​เปาโล. (รูธ. 1:16, 17; 1 ซามู. 23:16-18; ฟิลิป. 2:19-22) พวก​เขา​มี​มิตรภาพ​ที่​แน่นแฟ้น​ต่อ​กัน​เนื่อง​ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​เหนือ​กว่า​เหตุ​ผล​อื่น​ใด นั่น​คือ พวก​เขา​มี​ความ​รัก​แท้​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. คุณ​จะ​หา​เพื่อน​ที่​รัก​พระ​ยะโฮวา​มาก​เช่น​เดียว​กับ​คุณ​ได้​ไหม? จง​มั่น​ใจ​ว่า​คุณ​สามารถ​หา​คน​แบบ​นั้น​ได้​มาก​มาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. เพื่อน​แบบ​นั้น​จะ​ไม่​ชัก​นำ​คุณ​ให้​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​ฝ่าย​วิญญาณ. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น พวก​เขา​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา, เติบโต​ฝ่าย​วิญญาณ, และ​หว่าน​เพื่อ​จะ​ได้​พระ​วิญญาณ. (อ่าน​กาลาเทีย 6:7, 8) พวก​เขา​จะ​ช่วย​คุณ​ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ.

นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ

14. มี​ปัจจัย​อะไร​บ้าง​ซึ่ง​มัก​ทำ​ให้​ยาก​ที่​เรา​จะ​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ?

14 ขอบ​เขต​ที่​สอง​ที่​เรา​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​มี​อำนาจ. เรา​ต้อง​แสดง​ความ​นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ. ทำไม​บาง​ครั้ง​จึง​เป็น​เรื่อง​ยาก​มาก​ที่​เรา​จะ​นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ? เหตุ​ผล​หนึ่ง​คือ คน​ที่​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ต่าง ๆ ที่​มี​อำนาจ​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์. นอก​จาก​นั้น ตัว​เรา​เอง​ก็​ไม่​สมบูรณ์​ด้วย. เรา​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​แนว​โน้ม​ที่​จะ​ขืน​อำนาจ​ซึ่ง​มี​มา​แต่​กำเนิด.

15, 16. (ก) เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​เรา​จะ​นับถือ​คน​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอบหมาย​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​ดู​แล​ประชาชน​ของ​พระองค์? (ข) เรา​ได้​บทเรียน​ที่​มี​ค่า​อะไร​จาก​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​การ​กบฏ​ขัด​ขืน​ของ​ชาว​อิสราเอล​ต่อ​โมเซ?

15 คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า ‘ถ้า​การ​นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก แล้ว​ทำไม​เรา​ต้อง​นับถือ​ด้วย​ล่ะ?’ คำ​ตอบ​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​ประเด็น​ใน​เรื่อง​สิทธิ​ปกครอง. คุณ​จะ​เลือก​ใคร​เป็น​องค์​บรม​มหิศร​หรือ​ผู้​ปกครอง​ของ​คุณ? ถ้า​เรา​เลือก​พระ​ยะโฮวา​เป็น​องค์​บรม​มหิศร​ของ​เรา เรา​ต้อง​นับถือ​อำนาจ​ของ​พระองค์. ถ้า​เรา​ไม่​นับถือ เรา​จะ​พูด​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​ไหม​ว่า​เรา​เลือก​พระองค์​เป็น​ผู้​ปกครอง​ของ​เรา? นอก​จาก​นั้น ตาม​ปกติ​แล้ว​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​โดย​ทาง​มนุษย์​ที่​ไม่​สมบูรณ์ ซึ่ง​พระองค์​มอบหมาย​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​พวก​เขา​ดู​แล​ประชาชน​ของ​พระองค์. ถ้า​เรา​ขืน​อำนาจ​คน​เหล่า​นั้น พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​มอง​การ​กระทำ​ของ​เรา​อย่าง​ไร?—อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:12, 13

16 ยก​ตัว​อย่าง เมื่อ​ชาว​อิสราเอล​บ่น​พึมพำ​และ​กบฏ​ขัด​ขืน​ต่อ​โมเซ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ถือ​ว่า​การ​กระทำ​ของ​พวก​เขา​เป็น​การ​ขัด​ขืน​ต่อ​พระองค์​เอง. (อาฤ. 14:26, 27) พระเจ้า​ไม่​เคย​เปลี่ยน​แปลง. ถ้า​เรา​ขืน​อำนาจ​ผู้​ที่​พระองค์​ทรง​ตั้ง​ไว้​ใน​ตำแหน่ง​ที่​มี​อำนาจ ก็​เท่า​กับ​เรา​กำลัง​ขืน​อำนาจ​พระองค์!

17. เรา​ควร​พยายาม​พัฒนา​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง​เช่น​ไร​ต่อ​ผู้​มี​อำนาจ​ใน​ประชาคม?

17 อัครสาวก​เปาโล​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง​ที่​เรา​ควร​มี​ต่อ​ผู้​มี​ตำแหน่ง​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. ท่าน​เขียน​ว่า “จง​เชื่อ​ฟัง​ผู้​ที่​นำ​หน้า​ท่ามกลาง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​และ​ยอม​รับ​อำนาจ​ของ​พวก​เขา เพราะ​คน​เหล่า​นั้น​คอย​ดู​แล​พวก​ท่าน​เหมือน​เป็น​ผู้​ที่​ต้อง​ถวาย​รายงาน เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ดู​แล​พวก​ท่าน​ด้วย​ความ​ยินดี ไม่​ใช่​ด้วย​การ​ทอด​ถอน​ใจ​ซึ่ง​จะ​ก่อ​ผล​เสียหาย​แก่​พวก​ท่าน.” (ฮีบรู 13:17) จริง​อยู่ เรา​ต้อง​บากบั่น​พยายาม​อย่าง​หนัก​เพื่อ​พัฒนา​น้ำใจ​แห่ง​การ​เชื่อ​ฟัง​และ​ยอม​รับ​อำนาจ​เช่น​นั้น. กระนั้น อย่า​ลืม​ว่า​ที่​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น​ก็​เพื่อ​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ. เป้าหมาย​นี้​คุ้มค่า​กับ​ความ​พยายาม​ทั้ง​หมด​ของ​เรา​มิ​ใช่​หรือ?

รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระ​ยะโฮวา​เสมอ

18. เหตุ​ใด​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​รักษา​ตัว​สะอาด​เสมอ?

18 ขอบ​เขต​ที่​สาม​ที่​เรา​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​คือ เรา​พยายาม​รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระองค์​เสมอ. บิดา​มารดา​มัก​พยายาม​อย่าง​มาก​เพื่อ​ดู​แล​ลูก ๆ ให้​สะอาด. เพราะ​เหตุ​ใด? เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ​ความ​สะอาด​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​ลูก ๆ มี​สุขภาพ​และ​ชีวิต​ความ​เป็น​อยู่​ที่​ดี. นอก​จาก​นั้น เด็ก​ที่​สะอาด​สะท้อน​ให้​เห็น​เป็น​อย่าง​ดี​ว่า​ครอบครัว​เป็น​อย่าง​ไร เผย​ให้​เห็น​ถึง​ความ​รัก​และ​ความ​เอา​ใจ​ใส่​ที่​บิดา​มารดา​มี​ต่อ​เขา. ด้วย​เหตุ​ผล​คล้าย ๆ กัน พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​เป็น​คน​สะอาด. พระองค์​รู้​ว่า​ความ​สะอาด​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ต่อ​สวัสดิภาพ​ของ​เรา. พระองค์​ยัง​ทราบ​ด้วย​ว่า​ความ​สะอาด​ของ​เรา​สะท้อน​ถึง​พระองค์ พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา. นี่​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง เนื่อง​จาก​ผู้​คน​อาจ​ถูก​ชัก​นำ​ให้​อยาก​รับใช้​พระเจ้า​เพราะ​สังเกต​เห็น​ว่า​เรา​แตกต่าง​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​จาก​ผู้​คน​ใน​โลก​ที่​มี​มลทิน​นี้.

19. เรา​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ความ​สะอาด​ด้าน​ร่าง​กาย​เป็น​เรื่อง​สำคัญ?

19 เรา​ต้อง​รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​ใน​ทาง​ใด​บ้าง? จริง ๆ แล้ว ใน​ทุก​แง่​ของ​ชีวิต​เรา. ใน​อิสราเอล​โบราณ พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​ความ​สะอาด​ด้าน​ร่าง​กาย​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. (เลวี. 15:31) พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​กล่าว​ถึง​เรื่อง​ต่าง ๆ เช่น การ​กำจัด​สิ่ง​ปฏิกูล, การ​ทำ​ความ​สะอาด​ภาชนะ​ใช้สอย, และ​การ​ล้าง​มือ​ล้าง​เท้า รวม​ทั้ง​การ​ซัก​เสื้อ​ผ้า. (เอ็ก. 30:17-21; เลวี. 11:32; อาฤ. 19:17-20; บัญ. 23:13, 14) ชาว​อิสราเอล​ได้​รับ​การ​เตือน​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​พวก​เขา​บริสุทธิ์ ซึ่ง​หมาย​ถึง “สะอาด,” “ปราศจาก​มลทิน,” และ “ศักดิ์สิทธิ์.” ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​องค์​บริสุทธิ์​จำ​ต้อง​เป็น​คน​บริสุทธิ์​ด้วย.—อ่าน​เลวีติโก 11:44, 45

20. เรา​จำเป็น​ต้อง​รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​อยู่​เสมอ​ใน​ทาง​ใด​บ้าง?

20 ดัง​นั้น เรา​ต้อง​เป็น​คน​สะอาด​ทั้ง​ภาย​ใน​และ​ภาย​นอก. เรา​พยายาม​รักษา​ความ​คิด​ของ​เรา​ให้​สะอาด​อยู่​เสมอ. เรา​ยึด​มั่น​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​มาตรฐาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​เรื่อง​ความ​สะอาด​ด้าน​ศีลธรรม ไม่​ว่า​โลก​รอบ​ตัว​เรา​จะ​เสื่อม​ทราม​ทาง​เพศ​ขนาด​ไหน​ก็​ตาม. ที่​สำคัญ​ที่​สุด เรา​ยืนหยัด​ที่​จะ​รักษา​การ​นมัสการ​ของ​เรา​ให้​สะอาด หลีก​เลี่ยง​มลทิน​จาก​ศาสนา​เท็จ. เรา​จด​จำ​ไว้​เสมอ​ถึง​คำ​เตือน​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​ที่​ยะซายา 52:11 (ล.ม.) ที่​ว่า “จง​หลีก​หนี จง​หลีก​หนี จง​ออก​จาก​ที่​นั่น อย่า​แตะ​ต้อง​สิ่ง​ใด ๆ ที่​ไม่​สะอาด; จง​ออก​จาก​ท่ามกลาง​เมือง​นั้น จง​รักษา​ตัว​เจ้า​ให้​สะอาด.” ปัจจุบัน เรา​รักษา​ความ​สะอาด​ฝ่าย​วิญญาณ​โดย​ไม่​เข้า​ไป​ข้อง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา​ถือ​ว่า​เป็น​การ​นมัสการ​เท็จ. ตัว​อย่าง​เช่น นั่น​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​เรา​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​เข้า​ไป​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​ฉลอง​และ​วัน​หยุด​ของ​ศาสนา​เท็จ​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​มาก​ใน​โลก​ทุก​วัน​นี้. จริง​อยู่ นับ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที่​จะ​รักษา​ตัว​ให้​สะอาด​เสมอ. แต่​ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​พยายาม​ทำ​อย่าง​นั้น เพราะ​นั่น​ช่วย​ให้​เขา​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ.

21. เรา​จะ​มั่น​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​เรา​จะ​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ?

21 พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​เรา​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระองค์​ตลอด​ไป. แต่​เรา​ทุก​คน​ต้อง​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ใน​ส่วน​ของ​ตัว​เรา​เอง​ว่า​เรา​พยายาม​อย่าง​ดี​ที่​สุด​เพื่อ​จะ​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ. เรา​ทำ​อย่าง​นี้​ได้​ด้วย​การ​ทำ​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู และ​พิสูจน์​ว่า​เรา​รัก​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​ของ​พระองค์. ถ้า​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​จะ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​ไม่​มี​สิ่ง​ใด​จะ “พราก​เรา​จาก​ความ​รัก​ที่​พระเจ้า​ทรง​แสดง​ต่อ​เรา​โดย​ทาง​พระ​คริสต์​เยซู​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา​ได้.”—โรม 8:38, 39

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เรา​จะ​ช่วย​เรา​ให้​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ​ได้​อย่าง​ไร?

• เหตุ​ใด​เรา​ควร​รัก​ผู้​ที่​พระ​ยะโฮวา​รัก?

• เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​นับถือ​ผู้​มี​อำนาจ?

• ความ​สะอาด​มี​ความ​สำคัญ​อย่าง​ไร​ต่อ​ประชาชน​ของ​พระเจ้า?

[คำ​ถาม]

[กรอบ​/ภาพ​หน้า 20]

หนังสือ​ที่​ส่ง​เสริม​ความ​ประพฤติ​ที่​ดี

ใน​การ​ประชุม​ภาค​ปี 2008/2009 มี​การ​ออก​หนังสือ​ขนาด 224 หน้า​ซึ่ง​มี​ชื่อ​ว่า “เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ.” หนังสือ​ใหม่​นี้​มี​จุด​ประสงค์​อะไร? หนังสือ​นี้​มี​จุด​ประสงค์​เพื่อ​ช่วย​คริสเตียน​ให้​รู้​จัก​และ​รัก​มาตรฐาน​ของ​พระ​ยะโฮวา มุ่ง​ความ​สนใจ​ส่วน​ใหญ่​ไป​ที่​ความ​ประพฤติ​แบบ​คริสเตียน. การ​ศึกษา​หนังสือ “เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ” อย่าง​ถี่ถ้วน​จะ​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​มาก​ขึ้น​ว่า​การ​ดำเนิน​ชีวิต​สอดคล้อง​กับ​มาตรฐาน​ของ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​แนว​ทาง​ชีวิต​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​ขณะ​นี้​และ​นำ​ไป​สู่​ชีวิต​นิรันดร์​ใน​อนาคต.

ยิ่ง​กว่า​นั้น หนังสือ​นี้​ถูก​ออก​แบบ​เพื่อ​ช่วย​เรา​ให้​เห็น​ว่า​การ​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ใช่​ภาระ​หนัก. ตรง​กัน​ข้าม นี่​เป็น​วิธี​หนึ่ง​ที่​แสดง​ว่า​เรา​รัก​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขนาด​ไหน. ดัง​นั้น หนังสือ​นี้​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ทำไม ฉัน​จึง​เชื่อ​ฟัง​พระ​ยะโฮวา?’

เมื่อ​ผู้​คน​ทำ​สิ่ง​ที่​ผิด​พลาด​อย่าง​น่า​เศร้า​โดย​ละ​ทิ้ง​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา ปัญหา​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​กระทำ ไม่​ใช่​หลัก​คำ​สอน. ดัง​นั้น เป็น​สิ่ง​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร​ที่​เรา​จะ​เสริม​ความ​รัก​และ​เห็น​คุณค่า​กฎหมาย​และ​หลักการ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ชี้​นำ​เรา​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน! เรา​มั่น​ใจ​ว่า​หนังสือ​ใหม่​นี้​จะ​ช่วย​แกะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ตลอด​ทั่ว​โลก​ให้​ยืนหยัด​มั่นคง​ใน​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง, ให้​พิสูจน์​ว่า​ซาตาน​เป็น​ผู้​พูด​มุสา, และ​เหนือ​อื่น​ใด ให้​ทำ​ตัว​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ!—ยูดา 21

[ภาพ​หน้า 18]

“ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ทำ​ตาม​บัญญัติ​ของ​เรา พวก​เจ้า​จะ​เป็น​ที่​รัก​ของ​เรา​เสมอ อย่าง​ที่​เรา​ทำ​ตาม​บัญญัติ​ของ​พระ​บิดา เรา​จึง​เป็น​ที่​รัก​ของ​พระองค์​เสมอ”