ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงรักษาทัศนคติอย่างที่พระคริสต์ทรงมี

จงรักษาทัศนคติอย่างที่พระคริสต์ทรงมี

จง​รักษา​ทัศนคติ​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​มี

“[จง]มี​ทัศนคติ​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​มี.”—โรม 15:5

1. เหตุ​ใด​เรา​ควร​พยายาม​มี​ทัศนคติ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​คริสต์?

พระ​เยซู​คริสต์​ตรัส​ว่า “จง​มา​หา​เรา​เถิด . . . และ​เรียน​จาก​เรา เพราะ​เรา​เป็น​คน​อ่อนโยน​และ​ถ่อม​ใจ แล้ว​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​สดชื่น.” (มัด. 11:28, 29) คำ​เชิญ​ที่​อบอุ่น​นี้​แสดง​ให้​เห็น​เป็น​อย่าง​ดี​ถึง​ทัศนคติ​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​พระ​เยซู. ไม่​มี​มนุษย์​คน​ใด​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​กว่า​พระองค์​ที่​เรา​จะ​เลียน​แบบ​ได้. แม้​ว่า​ทรง​เป็น​พระ​บุตร​องค์​ทรง​ฤทธิ์​ของ​พระเจ้า พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​และ​ความ​อ่อนโยน โดย​เฉพาะ​ต่อ​คน​ที่​ทุกข์​ยาก​ลำบาก.

2. เรา​จะ​พิจารณา​แง่​มุม​ใด​บ้าง​เกี่ยว​กับ​ทัศนคติ​ของ​พระ​เยซู?

2 ใน​บทความ​นี้​และ​อีก​สอง​บทความ​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​วิธี​ที่​เรา​สามารถ​พัฒนา​และ​รักษา​ทัศนคติ​แบบ​เดียว​กับ​พระ​เยซู​และ​สะท้อน “จิตใจ​อย่าง​พระ​คริสต์” ใน​ชีวิต​เรา. (1 โค. 2:16) ส่วน​ใหญ่​เรา​จะ​เน้น​ห้า​แง่​มุม​ต่อ​ไป​นี้: ความ​อ่อนโยน​และ​ความ​ถ่อม, ความ​กรุณา, การ​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า, ความ​กล้า​หาญ, และ​ความ​รัก​ที่​ไม่​มี​วัน​ล้มเหลว​ของ​พระ​เยซู.

จง​เรียน​จาก​ความ​อ่อนโยน​ของ​พระ​คริสต์

3. (ก) พระ​เยซู​ทรง​สอน​บทเรียน​อะไร​แก่​เหล่า​สาวก​ใน​เรื่อง​ความ​ถ่อม​ใจ? (ข) พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​เหล่า​สาวก​แสดง​ความ​อ่อนแอ?

3 พระ​เยซู พระ​บุตร​ที่​สมบูรณ์​ของ​พระเจ้า ทรง​เต็ม​พระทัย​มา​ยัง​แผ่นดิน​โลก​เพื่อ​รับใช้​ใน​หมู่​ผู้​คน​ที่​ไม่​สมบูรณ์​และ​ผิด​บาป. ใน​ภาย​หลัง คน​เหล่า​นี้​บาง​คน​จะ​ฆ่า​พระองค์. ถึง​กระนั้น พระ​เยซู​ทรง​รักษา​ความ​ยินดี​และ​ทรง​ควบคุม​ตัว​เอง​ไว้​เสมอ. (1 เป. 2:21-23) ‘การ​เพ่ง​มอง’ ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​สามารถ​ช่วย​เรา​ให้​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​เมื่อ​ข้อ​ผิด​พลาด​และ​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คน​อื่น ๆ มี​ผล​กระทบ​ต่อ​เรา. (ฮีบรู 12:2) พระ​เยซู​ทรง​เชิญ​เหล่า​สาวก​ให้​เทียม​แอก​ด้วย​กัน​กับ​พระองค์ แล้ว​ก็​เรียน​รู้​จาก​พระองค์​โดย​วิธี​นี้. (มัด. 11:29) พวก​เขา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​บ้าง? สิ่ง​หนึ่ง​ก็​คือ เรียน​รู้​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​มี​จิตใจ​อ่อนโยน และ​พระองค์​ทรง​อด​ทน​กับ​เหล่า​สาวก​แม้​ว่า​พวก​เขา​มี​ข้อ​ผิด​พลาด. ใน​คืน​ก่อน​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ทรง​ล้าง​เท้า​พวก​เขา และ​โดย​วิธี​นั้น​เป็น​การ​สอน​บทเรียน​ที่​พวก​เขา​คง​ไม่​มี​วัน​ลืม​ใน​เรื่อง​การ​เป็น​คน “ถ่อม​ใจ.” (อ่าน​โยฮัน 13:14-17) ใน​ภาย​หลัง เมื่อ​เปโตร, ยาโกโบ, และ​โยฮัน​ไม่​ได้ “เฝ้า​ระวัง” พระ​เยซู​ทรง​ยอม​รับ​ใน​เรื่อง​ความ​อ่อนแอ​ของ​พวก​เขา​อย่าง​เห็น​อก​เห็น​ใจ. พระองค์​ทรง​ถาม​ว่า “ซีโมน เจ้า​หลับ​อยู่​หรือ?” แล้ว​พระองค์​ก็​ตรัส​ว่า “จง​เฝ้า​ระวัง​และ​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ​เพื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​จะ​ไม่​พ่าย​แพ้​การ​ล่อ​ใจ. ใจ​กระตือรือร้น​ก็​จริง แต่​กาย​นั้น​อ่อนแอ.”—มโก. 14:32-38

4, 5. ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ช่วย​เรา​ได้​อย่าง​ไร​ให้​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​เหมาะ​สม​ต่อ​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คน​อื่น?

4 เรา​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ถ้า​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​คน​หนึ่ง​เป็น​คน​ชอบ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น, ขัด​เคือง​ใจ​ง่าย, หรือ​ช้า​ใน​การ​ตอบรับ​คำ​แนะ​นำ​จาก​ผู้​ปกครอง​หรือ “ทาส​สัตย์​ซื่อ​และ​สุขุม”? (มัด. 24:45-47) แม้​ว่า​เรา​อาจ​พร้อม​จะ​ยอม​รับ​ว่า​ลักษณะ​นิสัย​แบบ​โลก​ที่​มี​อยู่​ใน​โลก​ของ​ซาตาน​เป็น​เรื่อง​ปกติ แต่​เรา​อาจ​รู้สึก​ว่า​การ​ให้​อภัย​ข้อ​บกพร่อง​ของ​พี่​น้อง​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ได้​ยาก​เป็น​พิเศษ. ถ้า​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คน​อื่น​ทำ​ให้​เรา​หงุดหงิด​ได้​ง่าย เรา​จำเป็น​ต้อง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​จะ​เลียน​แบบ “จิตใจ​อย่าง​พระ​คริสต์” ให้​ดี​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?’ จง​พยายาม​จำ​ไว้​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ทรง​รู้สึก​รำคาญ​พระทัย​เหล่า​สาวก แม้​แต่​เมื่อ​พวก​เขา​แสดง​ความ​อ่อนแอ​ฝ่าย​วิญญาณ​ออก​มา​ให้​เห็น.

5 ขอ​ให้​พิจารณา​กรณี​ของ​อัครสาวก​เปโตร. เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​เชิญ​เปโตร​ให้​ก้าว​ออก​จาก​เรือ​แล้ว​เดิน​บน​น้ำ​มา​หา​พระองค์ เปโตร​ทำ​ตาม​คำ​เชิญ​นั้น​จริง ๆ ได้​ครู่​หนึ่ง. แต่​แล้ว​เปโตร​ก็​มอง​ไป​ที่​พายุ​และ​เริ่ม​จะ​จม​น้ำ. พระ​เยซู​ทรง​พิโรธ​และ​ตรัส​กับ​เขา​ไหม​ว่า “สม​น้ำหน้า! จง​ให้​เรื่อง​นี้​เป็น​บทเรียน​สำหรับ​เจ้า”? ไม่​เลย! “พระ​เยซู​ทรง​ยื่น​พระ​หัตถ์​จับ​เขา​ไว้​ทันที​และ​ตรัส​กับ​เขา​ว่า ‘เจ้า​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​น้อย เจ้า​สงสัย​ทำไม?’ ” (มัด. 14:28-31) ถ้า​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​ขาด​ความ​เชื่อ เรา​จะ​พยายาม​ช่วย​เขา​ให้​มี​ความ​เชื่อ​มาก​ขึ้น​ได้​ไหม​เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ยื่น​พระ​หัตถ์​ออก​ไป​ช่วย​เปโตร? แน่นอน นั่น​เป็น​บทเรียน​ที่​เรา​เห็น​ได้​จาก​การ​กระทำ​อัน​อ่อนโยน​ของ​พระ​เยซู​ต่อ​เปโตร.

6. พระ​เยซู​ทรง​สอน​อะไร​แก่​เหล่า​อัครสาวก​ใน​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​อยาก​เด่น​กว่า​คน​อื่น?

6 เปโตร​ยัง​มี​ส่วน​ร่วม​ด้วย​กับ​การ​โต้​เถียง​กัน​อยู่​ตลอด​ใน​หมู่​อัครสาวก​ด้วย​เรื่อง​ที่​ว่า​ใคร​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​หมู่​พวก​เขา. ยาโกโบ​และ​โยฮัน​ต้องการ​นั่ง​ด้าน​ขวา​และ​ด้าน​ซ้าย​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​เยซู​ใน​ราชอาณาจักร​ของ​พระองค์. เมื่อ​เปโตร​และ​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ ได้​ยิน​อย่าง​นั้น พวก​เขา​ก็​ไม่​พอ​ใจ. พระ​เยซู​ทรง​รู้​ว่า​พวก​เขา​คง​ได้​รับ​ทัศนคติ​แบบ​นี้​จาก​สังคม​ที่​พวก​เขา​เติบโต​ขึ้น​มา. เมื่อ​ทรง​เรียก​พวก​เขา​มา​เฝ้า พระองค์​ตรัส​ว่า “พวก​เจ้า​รู้​ว่า​ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง​ของ​ชน​ต่าง​ชาติ​ทำ​ตัว​เป็น​นาย​เหนือ​พวก​เขา​และ​พวก​คน​ใหญ่​คน​โต​ก็​ใช้​อำนาจ​กดขี่. แต่​พวก​เจ้า​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น ผู้​ใด​ต้องการ​เป็น​ใหญ่​ใน​หมู่​พวก​เจ้า​ต้อง​เป็น​ผู้​รับใช้​พวก​เจ้า และ​ผู้​ใด​ต้องการ​เป็น​เอก​เป็น​ใหญ่​ใน​หมู่​พวก​เจ้า​ต้อง​เป็น​ทาส​ของ​พวก​เจ้า.” จาก​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ชี้​ถึง​ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​เอง​ว่า “เช่น​เดียว​กัน บุตร​มนุษย์​ไม่​ได้​มา​ให้​คน​อื่น​รับใช้ แต่​มา​รับใช้​คน​อื่น และ​สละ​ชีวิต​เป็น​ค่า​ไถ่​เพื่อ​คน​เป็น​อัน​มาก.”—มัด. 20:20-28

7. เรา​แต่​ละ​คน​จะ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​เอกภาพ​ใน​ประชาคม​ได้​อย่าง​ไร?

7 การ​ใคร่ครวญ​ทัศนคติ​ที่​ถ่อม​ใจ​ของ​พระ​เยซู​จะ​ช่วย​เรา​ให้ ‘ประพฤติ​ตัว​เป็น​ผู้​เล็ก​น้อย​ท่ามกลาง​พี่​น้อง​ของ​เรา.’ (ลูกา 9:46-48) การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ส่ง​เสริม​ให้​มี​เอกภาพ. เช่น​เดียว​กับ​บิดา​ของ​ครอบครัว​ใหญ่ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประสงค์​ให้​เหล่า​บุตร​ของ​พระองค์ “อาศัย​อยู่​พร้อม​เพรียง​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน” และ​เข้า​กัน​ได้​ดี. (เพลง. 133:1) พระ​เยซู​ทรง​อธิษฐาน​ขอ​พระ​บิดา​ให้​คริสเตียน​แท้​มี​เอกภาพ เพื่อ​ว่า “โลก​จะ​รู้​ว่า​พระองค์​ทรง​ใช้​ข้าพเจ้า​มา​และ​รู้​ว่า​พระองค์​ทรง​รัก​พวก​เขา​อย่าง​ที่​พระองค์​ทรง​รัก​ข้าพเจ้า.” (โย. 17:23) ด้วย​เหตุ​นั้น เอกภาพ​ใน​หมู่​พวก​เรา​ช่วย​ระบุ​ว่า​เรา​เป็น​สาวก​ของ​พระ​คริสต์. เพื่อ​จะ​มี​เอกภาพ​เช่น​นั้น เรา​ต้อง​มอง​ข้อ​อ่อนแอ​ของ​คน​อื่น ๆ แบบ​เดียว​กับ​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​มอง. พระ​เยซู​ทรง​ให้​อภัย และ​พระองค์​ทรง​สอน​ว่า​เฉพาะ​แต่​เมื่อ​เรา​ให้​อภัย​คน​อื่น​เท่า​นั้น​เรา​จึง​จะ​ได้​รับ​การ​ให้​อภัย.—อ่าน​มัดธาย 6:14, 15

8. เรา​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​คน​ที่​รับใช้​พระเจ้า​มา​นาน?

8 เรา​สามารถ​เรียน​ได้​มาก​ด้วย​โดย​เลียน​แบบ​ความ​เชื่อ​ของ​คน​ที่​ได้​เลียน​แบบ​พระ​คริสต์​มา​หลาย​ปี. เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู คน​เหล่า​นี้​มัก​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พวก​เขา​เข้าใจ​เกี่ยว​กับ​ข้อ​อ่อนแอ​ของ​คน​อื่น. พวก​เขา​ได้​เรียน​รู้​ว่า​การ​แสดง​ความ​สงสาร​แบบ​เดียว​กับ​พระ​คริสต์​ไม่​เพียง​แต่​ช่วย​เรา​ให้ “อด​ทน​และ​คอย​ช่วย​คน​ที่​อ่อนแอ” แต่​ยัง​ช่วย​ส่ง​เสริม​เอกภาพ​ด้วย. นอก​จาก​นั้น นั่น​ยัง​สนับสนุน​ทั้ง​ประชาคม​ให้​เลียน​แบบ​ทัศนคติ​ของ​พระ​คริสต์. พวก​เขา​ต้องการ​ให้​พี่​น้อง​มี​ทัศนคติ​แบบ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ต้องการ​ให้​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​มี อย่าง​ที่​ท่าน​เขียน​ว่า “ขอ​ให้​พระเจ้า​ผู้​ประทาน​ความ​เพียร​อด​ทน​และ​การ​ชู​ใจ​ทรง​โปรด​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มี​ทัศนคติ​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​เยซู​ทรง​มี เพื่อ​พวก​ท่าน​จะ​พร้อม​ใจ​กัน​ถวาย​คำ​สรรเสริญ​เป็น​เสียง​เดียว​แด่​พระองค์​ผู้​เป็น​พระเจ้า​และ​พระ​บิดา​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา.” (โรม 15:1, 5, 6) จริง​ที​เดียว การ​นมัสการ​ของ​เรา​อย่าง​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​คำ​สรรเสริญ.

9. เหตุ​ใด​เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​เพื่อ​จะ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​เยซู?

9 พระ​เยซู​ทรง​เชื่อม​โยง​การ​เป็น​คน “ถ่อม​ใจ” เข้า​กับ​ความ​อ่อนโยน ซึ่ง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ผล​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า. ด้วย​เหตุ​นั้น เรา​จำเป็น​ต้อง​มี​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระ​ยะโฮวา ควบ​คู่​ไป​กับ​การ​ศึกษา​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู เพื่อ​ที่​เรา​จะ​สามารถ​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระองค์​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง. เรา​ควร​อธิษฐาน​ขอ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า​และ​พยายาม​พัฒนา​ผล​ของ​พระ​วิญญาณ ซึ่ง​ได้​แก่ “ความ​รัก ความ​ยินดี สันติ​สุข ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน ความ​กรุณา ความ​ดี ความ​เชื่อ ความ​อ่อนโยน การ​ควบคุม​ตน​เอง.” (กลา. 5:22, 23) ด้วย​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ตาม​แบบ​แผน​ของ​ความ​ถ่อม​ใจ​และ​ความ​อ่อนโยน​ที่​พระ​เยซู​ทรง​วาง​ไว้ เรา​จะ​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พระ​บิดา​ของ​เรา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​พอ​พระทัย.

พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​กรุณา

10. พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​กรุณา​อย่าง​ไร?

10 ความ​กรุณา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ใน​ผล​ของ​พระ​วิญญาณ​ด้วย. พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​กรุณา​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย. ทุก​คน​ที่​ตาม​หา​พระ​เยซู​อย่าง​จริง​ใจ​พบ​ว่า​พระองค์ “ทรง​ต้อนรับ​พวก​เขา​ด้วย​ความ​กรุณา.” (อ่าน​ลูกา 9:11) เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ความ​กรุณา​ที่​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ให้​เห็น? บุคคล​ที่​กรุณา​มี​ความ​เป็น​มิตร, อ่อนโยน, เห็น​อก​เห็น​ใจ, และ​สุภาพ​อ่อนน้อม. พระ​เยซู​ทรง​มี​ลักษณะ​เหล่า​นี้. พระองค์​ทรง​รู้สึก​สงสาร​ผู้​คน “เพราะ​พวก​เขา​ถูก​ขูดรีด​และ​ถูก​ทิ้ง​ขว้าง​เหมือน​แกะ​ไม่​มี​ผู้​เลี้ยง.”—มัด. 9:35, 36

11, 12. (ก) จง​เล่า​ถึง​ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​เมตตา​สงสาร​ใน​ภาค​ปฏิบัติ. (ข) คุณ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​ตัว​อย่าง​ที่​พิจารณา​ใน​ที่​นี้?

11 พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​เมตตา​สงสาร​ใน​ภาค​ปฏิบัติ​ด้วย. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. หญิง​คน​หนึ่ง​ทน​ทุกข์​ด้วย​อาการ​ตก​เลือด​มา​นาน​ถึง 12 ปี. เธอ​รู้​ว่า​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ อาการ​ที่​เธอ​เป็น​อยู่​ทำ​ให้​เธอ​และ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​ถูก​ต้อง​ตัว​เธอ​เป็น​มลทิน. (เลวี. 15:25-27) ถึง​กระนั้น ชื่อเสียง​ของ​พระ​เยซู​และ​วิธี​ที่​พระองค์​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​คน​คง​ต้อง​ทำ​ให้​เธอ​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระองค์​ทรง​สามารถ​รักษา​เธอ และ​พระองค์​จะ​ยินดี​ช่วย​เธอ. เธอ​คิด​ใน​ใจ​ว่า “ถ้า​เพียง​ฉัน​ได้​แตะ​ฉลองพระองค์ ฉัน​ก็​จะ​หาย.” เมื่อ​รวบ​รวม​ความ​กล้า​ได้​แล้ว เธอ​ก็​ทำ​อย่าง​ที่​คิด​ไว้​และ​รู้สึก​ใน​ทันที​ว่า​เธอ​ได้​รับ​การ​รักษา​ให้​หาย​แล้ว.

12 พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​ว่า​มี​ใคร​แตะ​ต้อง​พระองค์ และ​พระองค์​ทรง​มอง​ไป​รอบ ๆ เพื่อ​ดู​ว่า​ใคร​ทำ​อย่าง​นั้น. หญิง​คน​นี้ ซึ่ง​คง​ต้อง​กลัว​ว่า​จะ​ถูก​ตำหนิ​เพราะ​เธอ​ได้​ฝ่าฝืน​พระ​บัญญัติ ก็​หมอบ​ลง​แทบ​พระ​บาท​พระองค์ ตัว​สั่น​เทา และ​สารภาพ​ความ​จริง​ออก​มา​หมด. พระ​เยซู​ทรง​ดุ​ว่า​หญิง​ผู้​ทน​ทุกข์​ที่​น่า​สงสาร​คน​นี้​ไหม? ไม่​เลย! พระองค์​ตรัส​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​เธอ​มั่น​ใจ​ว่า “ลูก​เอ๋ย ความ​เชื่อ​ของ​เจ้า​ทำ​ให้​เจ้า​หาย​โรค. จง​ไป​อย่าง​มี​ความ​สุข.” (มโก. 5:25-34) เธอ​คง​ต้อง​สบาย​ใจ​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​ได้​ยิน​คำ​ตรัส​ที่​กรุณา​อย่าง​นั้น!

13. (ก) ทัศนคติ​ของ​พระ​เยซู​แตกต่าง​อย่าง​ไร​กับ​ทัศนคติ​ของ​พวก​ฟาริซาย? (ข) พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​ต่อ​เด็ก ๆ อย่าง​ไร?

13 ไม่​เหมือน​กับ​พวก​ฟาริซาย​ที่​ใจ​แข็ง​กระด้าง พระ​คริสต์​ไม่​เคย​ใช้​อำนาจ​ของ​พระองค์​เพิ่ม​ภาระ​หนัก​ให้​ผู้​อื่น. (มัด. 23:4) ตรง​กัน​ข้าม พระองค์​ทรง​สอน​คน​อื่น ๆ อย่าง​กรุณา​และ​อด​ทน​ใน​เรื่อง​แนว​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา. พระ​เยซู​ทรง​เป็น​มิตร​ที่​มี​ความ​รักใคร่​ต่อ​เหล่า​สาวก เป็น​เพื่อน​แท้​ที่​แสดง​ความ​รัก​และ​กรุณา​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย. (สุภา. 17:17; โย. 15:11-15) แม้​แต่​เด็ก ๆ ก็​รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​อยู่​กับ​พระ​เยซู และ​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระองค์​ทรง​รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​อยู่​กับ​เด็ก ๆ. พระองค์​ไม่​ทรง​มี​ธุระ​ยุ่ง​เกิน​ไป​จน​ไม่​สามารถ​ผละ​จาก​สิ่ง​ที่​พระองค์​กำลัง​ทำ​อยู่​เพื่อ​ใช้​เวลา​กับ​เด็ก​เล็ก ๆ. ใน​โอกาส​หนึ่ง เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์ ซึ่ง​ยัง​คง​มี​ความ​คิด​ถือ​ตัว​เหมือน​กับ​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ที่​อยู่​รอบ​ข้าง​พวก​เขา พยายาม​กัน​ผู้​คน​ไว้​ไม่​ให้​พา​ลูก​เล็ก ๆ ของ​พวก​เขา​มา​ให้​พระ​เยซู​จับ​ต้อง. พระ​เยซู​ไม่​พอ​พระทัย​ที่​เหล่า​สาวก​ทำ​อย่าง​นี้. พระองค์​ทรง​บอก​พวก​เขา​ว่า “ให้​เด็ก​เล็ก ๆ เข้า​มา​หา​เรา​เถิด อย่า​ห้าม​พวก​เขา​เลย เพราะ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​เป็น​ของ​คน​อย่าง​นี้.” จาก​นั้น พระองค์​ก็​สอน​บทเรียน​สำคัญ​แก่​เหล่า​สาวก​โดย​ยก​เด็ก ๆ ขึ้น​มา​เป็น​ตัว​อย่าง​ว่า “เรา​บอก​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ตาม​จริง​ว่า ผู้​ใด​ไม่​ยอม​รับ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​เหมือน​เด็ก​เล็ก ๆ คน​หนึ่ง ผู้​นั้น​จะ​ไม่​ได้​เข้า​ราชอาณาจักร​เลย.”—มโก. 10:13-15

14. เด็ก ๆ ได้​รับ​ประโยชน์​อะไร​จาก​การ​ที่​พี่​น้อง​สนใจ​พวก​เขา?

14 ขอ​ลอง​คิด​ดู​ว่า​เด็ก​เหล่า​นั้น​บาง​คน​จะ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ใน​ภาย​หลัง​เมื่อ​พวก​เขา​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​แล้ว​และ​ระลึก​ว่า​พระ​เยซู​คริสต์ ‘เคย​โอบ​พวก​เขา​ไว้​และ​อวย​พร​พวก​เขา.’ (มโก. 10:16) เช่น​เดียว​กัน เด็ก ๆ ใน​ทุก​วัน​นี้​ที่​ได้​รับ​ความ​สนใจ​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​จาก​ผู้​ปกครอง​และ​คน​อื่น ๆ ก็​จะ​ระลึก​ถึง​พวก​เขา​ด้วย​ความ​รักใคร่. ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น ตั้ง​แต่​ยัง​เยาว์​วัย เด็ก ๆ ที่​ได้​รับ​ความ​ห่วงใย​อย่าง​แท้​จริง​เช่น​นั้น​ใน​ประชาคม​เรียน​รู้​ว่า​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​สถิต​อยู่​กับ​ประชาชน​ของ​พระองค์.

จง​แสดง​ความ​กรุณา​ใน​โลก​ที่​ขาด​ความ​กรุณา

15. เหตุ​ใด​เรา​ไม่​น่า​จะ​แปลก​ใจ​ที่​ผู้​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ขาด​ความ​กรุณา?

15 ผู้​คน​จำนวน​มาก​ใน​ทุก​วัน​นี้​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​ไม่​มี​เวลา​จะ​แสดง​ความ​กรุณา​ต่อ​คน​อื่น ๆ. ด้วย​เหตุ​นั้น ใน​แต่​ละ​วัน​ที่​โรง​เรียน, ใน​ที่​ทำ​งาน, ขณะ​เดิน​ทาง, และ​ใน​งาน​รับใช้ ประชาชน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต้อง​เผชิญ​กับ​น้ำใจ​ของ​ผู้​คน​ใน​โลก. ทัศนคติ​ที่​ขาด​ความ​กรุณา​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ผิด​หวัง แต่​ทัศนคติ​แบบ​นั้น​ไม่​น่า​จะ​ทำ​ให้​เรา​แปลก​ใจ. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดล​ใจ​ให้​เปาโล​เตือน​เรา​ล่วง​หน้า​ว่า ใน “สมัย​สุด​ท้าย” อัน​วิกฤติ​นี้​คริสเตียน​แท้​จะ​ต้อง​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ผู้​คน​ที่​เป็น​คน “รัก​ตัว​เอง . . . ไม่​มี​ความ​รักใคร่​ตาม​ธรรมชาติ.”—2 ติโม. 3:1-3

16. เรา​จะ​ส่ง​เสริม​ความ​กรุณา​แบบ​พระ​คริสต์​ใน​ประชาคม​ได้​อย่าง​ไร?

16 ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง บรรยากาศ​ภาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​แท้​ต่าง​กัน​มาก​กับ​บรรยากาศ​ใน​โลก​ที่​ขาด​ความ​กรุณา. ด้วย​การ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู เรา​แต่​ละ​คน​สามารถ​ส่ง​เสริม​ให้​มี​บรรยากาศ​ที่​ดี. เรา​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? แรก​ที​เดียว หลาย​คน​ใน​ประชาคม​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​และ​การ​หนุน​ใจ​จาก​เรา เพราะ​พวก​เขา​มี​ปัญหา​สุขภาพ​หรือ​อยู่​ใน​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก​อื่น ๆ. ใน “สมัย​สุด​ท้าย” นี้ ปัญหา​แบบ​นั้น​อาจ​เพิ่ม​มาก​ขึ้น แต่​นั่น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ใหม่​เลย. ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล คริสเตียน​ก็​ประสบ​ปัญหา​คล้าย ๆ กัน. ดัง​นั้น การ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​เป็น​เรื่อง​เหมาะ​สม​ใน​เวลา​นี้​เช่น​เดียว​กับ​ที่​เป็น​เรื่อง​เหมาะ​สม​สำหรับ​คริสเตียน​ใน​สมัย​อดีต. ตัว​อย่าง​เช่น เปาโล​กระตุ้น​เตือน​คริสเตียน​ให้ “พูด​ปลอบโยน​คน​ทุกข์​ใจ ช่วยเหลือ​คน​อ่อนแอ แสดง​ความ​อด​กลั้น​ต่อ​คน​ทั้ง​ปวง.” (1 เทส. 5:14) การ​ทำ​อย่าง​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​แสดง​ความ​กรุณา​แบบ​พระ​คริสต์​ใน​ภาค​ปฏิบัติ.

17, 18. มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​เรา​สามารถ​เลียน​แบบ​ความ​กรุณา​ของ​พระ​เยซู?

17 คริสเตียน​มี​ความ​รับผิดชอบ​ที่​จะ ‘ต้อนรับ​พี่​น้อง​ด้วย​ใจ​อารี’ เพื่อ​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​คง​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​พวก​เขา โดย​แสดง​ความ​ห่วงใย​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​คน​ที่​เรา​อาจ​รู้​จัก​มา​นาน รวม​ไป​ถึง​คน​ที่​เรา​อาจ​ไม่​เคย​พบ​มา​ก่อน. (3 โย. 5-8) เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ฝ่าย​ริเริ่ม​ใน​การ​แสดง​ความ​เมตตา​สงสาร​ต่อ​คน​อื่น ๆ เรา​ก็​ควร​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน และ​ทำ​ให้​คน​อื่น​รู้สึก​สดชื่น​เสมอ.—ยซา. 32:2; มัด. 11:28-30

18 เรา​แต่​ละ​คน​สามารถ​แสดง​ความ​กรุณา​ด้วย​การ​ทำ​บาง​สิ่ง​ที่​แสดง​ว่า​เรา​เป็น​ห่วง​สวัสดิภาพ​ของ​คน​อื่น ๆ. จง​มอง​หา​วิธี และ​หา​โอกาส​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น. จง​พยายาม! เปาโล​กระตุ้น​โดย​กล่าว​ว่า “จง​มี​ความ​รักใคร่​อัน​อบอุ่น​ต่อ​กัน​ฉัน​พี่​น้อง” แล้ว​ท่าน​ก็​เสริม​อีก​ว่า “จง​นำ​หน้า​ใน​การ​ให้​เกียรติ​กัน.” (โรม 12:10) นั่น​หมาย​ถึง​การ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​พระ​คริสต์​วาง​ไว้ ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น ๆ อย่าง​อบอุ่น​และ​กรุณา เรียน​รู้​ที่​จะ​แสดง “ความ​รัก​ที่​ปราศจาก​มารยา.” (2 โค. 6:6) เปาโล​พรรณนา​ความ​รัก​แบบ​พระ​คริสต์​เช่น​นั้น​โดย​บอก​ว่า “ความ​รัก​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​แสดง​ความ​กรุณา. ความ​รัก​ไม่​อิจฉา​ริษยา ไม่​อวด​ตัว ไม่​ทะนง​ตัว.” (1 โค. 13:4) แทน​ที่​จะ​ผูก​ใจ​เจ็บ​พี่​น้อง ขอ​ให้​เรา​เอา​ใจ​ใส่​คำ​เตือน​ที่​ว่า “จง​กรุณา​ต่อ​กัน แสดง​ความ​เห็น​ใจ​กัน ให้​อภัย​กัน​อย่าง​ใจ​กว้าง​อย่าง​ที่​พระเจ้า​ทรง​ให้​อภัย​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อย่าง​ใจ​กว้าง​โดย​พระ​คริสต์​เช่น​กัน.”—เอเฟ. 4:32

19. มี​ผล​ดี​อะไร​บ้าง​เมื่อ​เรา​แสดง​ความ​กรุณา​แบบ​พระ​คริสต์?

19 การ​ที่​เรา​พยายาม​พัฒนา​และ​แสดง​ความ​กรุณา​แบบ​พระ​คริสต์​ตลอด​เวลา​และ​ใน​ทุก​สถานการณ์​ทำ​ให้​เรา​ได้​รับ​บำเหน็จ​อัน​อุดม. พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​จะ​สามารถ​ดำเนิน​กิจ​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​ประชาคม ช่วย​ให้​เรา​ทุก​คน​พัฒนา​ผล​ของ​พระ​วิญญาณ. นอก​จาก​นั้น เมื่อ​เรา​ทำ​ตาม​แบบ​แผนที่​พระ​เยซู​ทรง​วาง​ไว้​และ​ช่วย​คน​อื่น ๆ ให้​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน การ​ที่​เรา​นมัสการ​อย่าง​มี​ความ​สุข​และ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ก็​จะ​ทำ​ให้​พระเจ้า​เอง​ทรง​ยินดี. ด้วย​เหตุ​นั้น ขอ​ให้​เรา​พยายาม​สะท้อน​ความ​อ่อนโยน​และ​ความ​กรุณา​ของ​พระ​เยซู​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​เสมอ.

คุณ​อธิบาย​ได้​ไหม?

• พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​พระองค์​ทรง “อ่อนโยน​และ​ถ่อม​ใจ”?

• พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​กรุณา​อย่าง​ไร?

• มี​วิธี​ใด​บ้าง​ที่​เรา​จะ​แสดง​ความ​อ่อนโยน​และ​ความ​กรุณา​แบบ​พระ​คริสต์​ใน​โลก​ที่​ไม่​สมบูรณ์​นี้?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 8]

เมื่อ​ความ​เชื่อ​ของ​พี่​น้อง​เรา​อ่อน​ลง​ไป​เช่น​เดียว​กับ​เปโตร เรา​จะ​พยายาม​ช่วย​เขา​ได้​ไหม?

[ภาพ​หน้า 10]

คุณ​จะ​ช่วย​ให้​ประชาคม​เป็น​ที่​พักพิง​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​กรุณา​ได้​อย่าง​ไร?