ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณรู้ไหม?

คุณรู้ไหม?

คุณ​รู้​ไหม?

เปาโล​ใช้​เส้น​ทาง​ไหน​เมื่อ​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​โรม​รอบ​แรก?

กิจการ 28:13-16 กล่าว​ว่า​เรือ​ที่​เปาโล​โดยสาร​ไป​ยัง​อิตาลี​นั้น​แล่น​ไป​ถึง​เมือง​โปติโอลอย (ปัจจุบัน​คือ ปอซซูโอลี) ใน​อ่าว​เนเปิลส์. จาก​นั้น​ท่าน​ได้​เดิน​ทาง​ไป​กรุง​โรม​โดย​ใช้​ถนน​เวีย อัปเปีย ซึ่ง​เป็น​ทาง​หลวง​สาย​หลัก.

ทาง​หลวง​เวีย อัปเปีย​ตั้ง​ชื่อ​ตาม อัปปิอุส เคลาดิอุส แคคุส รัฐบุรุษ​ชาว​โรมัน​ซึ่ง​เป็น​ผู้​เริ่ม​สร้าง​ถนน​เส้น​นี้​ใน​ปี 312 ก่อน​สากล​ศักราช. ถนน​เส้น​นี้​กว้าง​ประมาณ 5.5 เมตร​ถึง 6 เมตร​และ​ปู​ด้วย​หิน​ภูเขา​ไฟ​ก้อน​ใหญ่ เมื่อ​สร้าง​เสร็จ​มี​ระยะ​ทาง 583 กม. ทอด​จาก​กรุง​โรม​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้. ถนน​เส้น​นี้​เชื่อม​กรุง​โรม​เข้า​กับ​เมือง​ท่า​บรันดิเซียม (ปัจจุบัน​คือ บรินดิซี) ซึ่ง​เป็น​ประตู​สู่​ตะวัน​ออก. นัก​เดิน​ทาง​หยุด​พัก​ตาม​จุด​แวะ​พัก​ต่าง ๆ ระหว่าง​ทาง​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​กัน​ประมาณ 24 กม. เพื่อ​ซื้อ​ข้าวของ, นอน​พัก, หรือ​เปลี่ยน​ม้า​หรือ​พาหนะ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดู​เหมือน​ว่า​เปาโล​เดิน​ทาง​ด้วย​เท้า. ส่วน​ของ​เวีย อัปเปีย​ที่​เปาโล​เดิน​ทาง​ผ่าน​มี​ระยะ​ทาง 212 กม. ส่วน​หนึ่ง​ของ​ทาง​เส้น​นี้​ตัด​ผ่าน​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ​ปอนตีเน ซึ่ง​นัก​เขียน​ชาว​โรมัน​คน​หนึ่ง​เคย​บ่น​ว่า​มี​ยุง​ชุม​และ​มี​กลิ่น​เหม็น​ชวน​คลื่นเหียน. เหนือ​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ​เหล่า​นี้​ขึ้น​ไป​อีก​เล็ก​น้อย​ก็​คือ​ตลาด​อัปปิอุส​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​กรุง​โรม​ราว ๆ 65 กม. และ​บ้าน​สาม​โรงแรม​ซึ่ง​เป็น​จุด​แวะ​พัก​ที่​ห่าง​จาก​กรุง​โรม​ราว 50 กม. ที่​จุด​แวะ​พัก​สอง​แห่ง​นี้​เอง​ที่​คริสเตียน​จาก​กรุง​โรม​มา​รอ​พบ​เปาโล. เมื่อ​ได้​พบ​พวก​เขา เปาโล “ก็​ขอบพระคุณ​พระเจ้า​และ​มี​กำลังใจ​ขึ้น.”—กิจการ 28:15

กระดาน​ชนวน​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ลูกา 1:63 เป็น​แบบ​ไหน?

กิตติคุณ​ของ​ลูกา​บันทึก​ว่า​เพื่อน ๆ ของ​เซคาระยาห์​ได้​ถาม​เขา​ว่า​จะ​ตั้ง​ชื่อ​ลูก​ชาย​ที่​เพิ่ง​เกิด​ว่า​อย่าง​ไร. เซคาระยาห์ “จึง​ขอ​กระดาน​ชนวน​มา​เขียน​ว่า ‘ชื่อ​โยฮัน.’ ” (ลูกา 1:63) ตาม​ที่​หนังสือ​ของ​ผู้​คง​แก่​เรียน​เล่ม​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ คำ​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “กระดาน​ชนวน” หมาย​ถึง “แผ่น​กระดาน​เล็ก ๆ ที่​ใช้​เขียน​ซึ่ง​ปกติ​แล้ว​ทำ​ด้วย​ไม้​และ​เคลือบ​ด้วย​ขี้ผึ้ง.” แผ่น​กระดาน​ที่​เคลือบ​ด้วย​ขี้ผึ้ง​จน​ผิว​เรียบ​นี้​มี​กรอบ​ไม้​เป็น​ขอบ​สูง​ขึ้น​มา​เล็ก​น้อย. ผู้​เขียน​สามารถ​เขียน​บน​ผิว​กระดาน​นี้​โดย​ใช้​ปากกา​ปาก​แหลม. หลัง​จาก​นั้น​สามารถ​ลบ​ข้อ​ความ​ที่​เขียน​และ​ทำ​ผิว​ให้​เรียบ​เพื่อ​จะ​ใช้​ได้​อีก.

หนังสือ​ชื่อ​การ​อ่าน​และ​การ​เขียน​ใน​สมัย​พระ​เยซู (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ภาพ​วาด​จาก​ปอมเปอี ภาพ​แกะ​สลัก​จาก​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​จักรวรรดิ​โรมัน และ​ตัว​อย่าง​ของ​จริง​ที่​ขุด​ได้​จาก​หลาย​ที่​หลาย​แห่ง​ตั้ง​แต่​อียิปต์​จน​ถึง​กำแพง​เฮเดรียน [ทาง​เหนือ​ของ​บริเตน] แสดง​ให้​เห็น​ว่า​มี​การ​ใช้​แผ่น​กระดาน​ชนวน​นี้​อย่าง​แพร่​หลาย.” ผู้​คน​หลาก​หลาย​อาชีพ​อาจ​มี​กระดาน​ชนวน​เหล่า​นี้​ใช้ เช่น พวก​พ่อค้า, ข้าราชการ, และ​กระทั่ง​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ด้วย.

[ภาพ​หน้า 11]

เวีย อัปเปีย

[ภาพ​หน้า 11]

แผ่น​กระดาน​เคลือบ​ขี้ผึ้ง​ของ​เด็ก​นัก​เรียน​ใน​ศตวรรษ​ที่ 2 สากล​ศักราช

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

By permission of the British Library