ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มาระโก—‘ผู้เป็นประโยชน์ในงานรับใช้’

มาระโก—‘ผู้เป็นประโยชน์ในงานรับใช้’

มาระโก—‘ผู้​เป็น​ประโยชน์​ใน​งาน​รับใช้’

ประชาคม​ใน​เมือง​อันทิโอก​เคย​ประสบ​กับ​ปัญหา​บาง​อย่าง แต่​ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​อัครสาวก​เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​เป็น​ปัญหา​ใน​อีก​ลักษณะ​หนึ่ง. ชาย​ทั้ง​สอง​คน​นี้​กำลัง​วาง​แผน​จะ​เดิน​ทาง​ใน​งาน​มิชชันนารี แต่​เมื่อ​ถึง​ตอน​ที่​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​พา​ใคร​ไป​ด้วย ทั้ง​สอง​ก็ “ขัด​แย้ง​กัน​อย่าง​หนัก.” (กิจ. 15:39) ทั้ง​สอง​แยก​ทาง​กัน ต่าง​คน​ต่าง​ไป​ตาม​ทาง​ของ​ตน​เอง. ความ​ขัด​แย้ง​ของ​ท่าน​ทั้ง​สอง​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​มิชชันนารี​คน​ที่​สาม คือ​มาระโก.

มาระโก​เป็น​ใคร? อะไร​คือ​สาเหตุ​ที่​อัครสาวก​ทั้ง​สอง​โต้​เถียง​กัน​เกี่ยว​กับ​ท่าน? เหตุ​ใด​อัครสาวก​ทั้ง​สอง​จึง​มี​ความ​เห็น​ที่​รุนแรง​ถึง​ขนาด​นั้น? ความ​เห็น​ที่​รุนแรง​แบบ​นั้น​เปลี่ยน​ไป​ไหม​ใน​ภาย​หลัง? และ​คุณ​อาจ​เรียน​อะไร​ได้​จาก​เรื่อง​ราว​ของ​มาระโก?

ที่​บ้าน​ใน​กรุง​เยรูซาเลม

มาระโก ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​เกิด​ใน​ครอบครัว​ชาว​ยิว​ที่​มั่งคั่ง เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​กรุง​เยรูซาเลม. สิ่ง​แรก​ที่​เรา​รู้​เกี่ยว​กับ​ท่าน​โดย​ตรง​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ประวัติ​ของ​ประชาคม​คริสเตียน​สมัย​แรก. ประมาณ​สากล​ศักราช 44 เมื่อ​ทูต​องค์​หนึ่ง​ของ​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​อัครสาวก​เปโตร​อย่าง​อัศจรรย์​ให้​ออก​จาก​คุก​ของ​เฮโรด​อะกริปปา​ที่​หนึ่ง เปโตร​ได้​ไป​ยัง “บ้าน​มาเรีย​มารดา​ของ​โยฮัน​ที่​มี​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ว่า​มาระโก มี​หลาย​คน​ประชุม​และ​อธิษฐาน​กัน​อยู่​ที่​นั่น.”—กิจ. 12:1-12 *

ดัง​นั้น ดู​เหมือน​ว่า​ประชาคม​เยรูซาเลม​ใช้​บ้าน​แม่​ของ​มาระโก​เป็น​ที่​ประชุม. บันทึก​บอก​ว่า “มี​หลาย​คน” ประชุม​กัน​ที่​นั่น แสดง​ว่า​บ้าน​หลัง​นี้​เป็น​บ้าน​หลัง​ใหญ่. มาเรีย​มี​สาว​ใช้​ชื่อ​โรเด​ซึ่ง​เป็น​คน​มา​เปิด​ประตู​เมื่อ​เปโตร​เคาะ “ประตู​รั้ว.” ราย​ละเอียด​เหล่า​นี้​แสดง​ว่า​มาเรีย​เป็น​คน​มี​ฐานะ. และ​บันทึก​กล่าว​ถึง​บ้าน​นี้​ว่า​เป็น​บ้าน​ของ​เธอ ไม่​ได้​บอก​ว่า​เป็น​บ้าน​ของ​สามี​เธอ จึง​เป็น​ไป​ได้​ว่า​เธอ​เป็น​ม่าย และ​มาระโก​ก็​อายุ​ยัง​น้อย.—กิจ. 12:13, ฉบับ​แปล​คิงเจมส์

มาระโก​คง​อยู่​ใน​กลุ่ม​คน​ที่​มา​ประชุม​กัน​เพื่อ​อธิษฐาน. เขา​คง​ต้อง​คุ้น​เคย​ดี​กับ​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​และ​คน​อื่น ๆ ที่​รู้​เห็น​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​กับ​งาน​รับใช้​ของ​พระองค์. ที่​จริง มาระโก​อาจ​เป็น​ชาย​หนุ่ม​คน​นั้น​ที่​สวม​เสื้อ​ผ้า​น้อย​ชิ้น​ซึ่ง​พยายาม​ตาม​พระ​เยซู​ไป​ใน​ตอน​แรก​เมื่อ​พระองค์​ถูก​จับ​กุม แต่​หนี​ไป​เมื่อ​คน​เหล่า​นั้น​พยายาม​จะ​จับ​เขา.—มโก. 14:51, 52

สิทธิ​พิเศษ​ต่าง ๆ ใน​ประชาคม

ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​การ​คบหา​กับ​บรรดา​คริสเตียน​ที่​อาวุโส​ส่ง​ผล​กระทบ​ที่​ดี​ต่อ​มาระโก. ท่าน​เติบโต​ขึ้น​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​เป็น​ที่​สนใจ​ของ​พี่​น้อง​ชาย​ทั้ง​หลาย​ที่​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ. ใน​ราว ๆ ส.ศ. 46 เมื่อ​เปาโล​และ​บาร์นาบัส​ส่ง “สิ่ง​ของ​บรรเทา​ทุกข์” จาก​อันทิโอก​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​บรรเทา​ผล​กระทบ​จาก​การ​กันดาร​อาหาร ท่าน​ทั้ง​สอง​สนใจ​มาระโก. เมื่อ​เปาโล​และ​บาร์นาบัส​กลับ​ไป​อันทิโอก ท่าน​ทั้ง​สอง​พา​มาระโก​ไป​ด้วย.—กิจ. 11:27-30; 12:25

คน​ที่​อ่าน​เรื่อง​นี้​อย่าง​ผิว​เผิน​อาจ​คิด​ว่า​ไม่​มี​ความ​เกี่ยว​ข้อง​อะไร​เป็น​พิเศษ​ระหว่าง​คน​ทั้ง​สาม​นอก​เหนือ​ไป​จาก​ความ​เกี่ยว​ข้อง​ฝ่าย​วิญญาณ และ​คิด​ว่า​เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​เลือก​ใช้​มาระโก​เพียง​เพราะ​เขา​มี​ความ​สามารถ. แต่​จดหมาย​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​เปาโล​เผย​ให้​เห็น​ว่า​มาระโก​เป็น​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​กับ​บาร์นาบัส. (โกโล. 4:10) ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​อาจ​ช่วย​อธิบาย​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​เวลา​ต่อ​มา​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​มาระโก.

หลัง​จาก​ผ่าน​ไป​หนึ่ง​ปี​หรือ​ปี​กว่า พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ชี้​นำ​ให้​เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​เดิน​ทาง​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี. ทั้ง​สอง​ออก​เดิน​ทาง​จาก​อันทิโอก​ไป​ยัง​ไซปรัส. โยฮัน​มาระโก​ไป​กับ​ท่าน​ทั้ง​สอง​ใน​ฐานะ “ผู้​ช่วย.” (กิจ. 13:2-5) มาระโก​อาจ​ต้อง​ดู​แล​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​จำเป็น​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​เพื่อ​อัครสาวก​ทั้ง​สอง​จะ​สามารถ​จดจ่อ​อยู่​กับ​เรื่อง​ที่​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ.

เปาโล, บาร์นาบัส, และ​มาระโก​แวะ​เยี่ยม​ที่​ไซปรัส ประกาศ​ที่​นั่น แล้ว​พวก​เขา​ก็​มุ่ง​หน้า​ไป​เอเชีย​ไมเนอร์. ที่​นั่น โยฮัน​มาระโก​ตัดสิน​ใจ​ทำ​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เปาโล​ผิด​หวัง. บันทึก​บอก​ว่า​เมื่อ​คน​กลุ่ม​นี้​มา​ถึง​เมือง​เปอร์เก “โยฮัน​แยก​จาก​เปาโล​กับ​บาร์นาบัส​กลับ​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม.” (กิจ. 13:13) ไม่​มี​การ​บันทึก​ไว้​ว่า​ทำไม​ท่าน​ทำ​อย่าง​นั้น.

สอง​ปี​ต่อ​มา เปาโล, บาร์นาบัส, และ​มาระโก​กลับ​มา​ที่​อันทิโอก. อัครสาวก​ทั้ง​สอง​พิจารณา​กัน​ถึง​เรื่อง​การ​เดิน​ทาง​ใน​การ​ทำ​งาน​มิชชันนารี​รอบ​ที่​สอง​เพื่อ​จะ​สาน​ต่อ​ความ​สำเร็จ​ของ​การ​ทำ​งาน​ใน​รอบ​แรก. บาร์นาบัส​ต้องการ​พา​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ไป​ด้วย แต่​เปาโล​ไม่​เห็น​ด้วย​อย่าง​เด็ดขาด​เพราะ​มาระโก​เคย​ทิ้ง​พวก​ท่าน. นี่​คือ​เหตุ​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​ฉาก​เหตุ​การณ์​ดัง​พรรณนา​ใน​ตอน​ต้น. บาร์นาบัส​พา​มาระโก​ไป​ทำ​งาน​ใน​ไซปรัส​บ้าน​เกิด​ของ​ท่าน ส่วน​เปาโล​มุ่ง​หน้า​ไป​ซีเรีย. (กิจ. 15:36-41) เห็น​ได้​ชัด เปาโล​และ​บาร์นาบัส​มี​มุม​มอง​ที่​ต่าง​กัน​เกี่ยว​กับ​การ​ตัดสิน​ใจ​ใน​ครั้ง​ก่อน​ของ​มาระโก.

คืน​ดี​กัน

ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​มาระโก​คง​เป็น​ทุกข์​ใจ​ด้วย​เรื่อง​นี้. กระนั้น ท่าน​ยัง​คง​รับใช้​อย่าง​ซื่อ​สัตย์. ประมาณ 11 หรือ 12 ปี​หลัง​จาก​เหตุ​การณ์​ดัง​กล่าว มาระโก​ปรากฏ​ให้​เห็น​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ประวัติ​ของ​ศาสนา​คริสเตียน​สมัย​แรก. ที่​ไหน? ใน​ที่​ที่​คุณ​คง​ไม่​คาด​หมาย​ว่า​จะ​พบ​ท่าน—อยู่​กับ​เปาโล!

ใน ส.ศ. 60-61 ขณะ​ที่​เปาโล​อยู่​ใน​คุก​ที่​กรุง​โรม ท่าน​ส่ง​จดหมาย​จำนวน​หนึ่ง​ซึ่ง​ใน​เวลา​นี้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์. ใน​จดหมาย​ฉบับ​หนึ่ง​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โกโลซาย ท่าน​เขียน​ว่า “อาริสตาร์คุส​ผู้​ถูก​กัก​ขัง​กับ​ข้าพเจ้า​ฝาก​ความ​คิด​ถึง​มา​ยัง​พวก​ท่าน มาระโก​ซึ่ง​เป็น​ลูก​พี่​ลูก​น้อง​ของ​บาร์นาบัส​ก็​ฝาก​มา​ด้วย (เขา​เป็น​คน​ที่​พวก​ท่าน​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​ต้อนรับ​เมื่อ​เขา​มา​หา​พวก​ท่าน) . . . มี​แต่​พวก​เขา​เท่า​นั้น​ที่​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​ข้าพเจ้า​เพื่อ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า และ​พวก​เขา​นี่​แหละ​เป็น​ผู้​ช่วย​เสริม​กำลัง​ข้าพเจ้า.”—โกโล. 4:10, 11

ช่าง​เปลี่ยน​จาก​หน้า​มือ​เป็น​หลัง​มือ​เลย​ที​เดียว! จาก​ที่​เคย​เป็น​คน​ที่​เปาโล​ไม่​พอ​ใจ​อย่าง​ยิ่ง มาระโก​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ​ให้​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​เปาโล​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. ดู​เหมือน​ว่า เปาโล​ได้​แจ้ง​แก่​คริสเตียน​ใน​เมือง​โกโลซาย​ว่า​มาระโก​อาจ​มา​เยี่ยม​พวก​เขา. หาก​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง มาระโก​ก็​จะ​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ตัว​แทน​ของ​เปาโล.

หลาย​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​เปาโล​วิพากษ์วิจารณ์​มาระโก​มาก​เกิน​ไป​ไหม? มาระโก​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ตี​สอน​ตาม​ที่​จำเป็น​ไหม? หรือ​ว่า​อาจ​เป็น​จริง​ทั้ง​สอง​อย่าง? ไม่​ว่า​จริง ๆ แล้ว​เป็น​อย่าง​ไร การ​ที่​ทั้ง​สอง​คืน​ดี​กัน​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ว่า​ทั้ง​เปาโล​และ​มาระโก​มี​ความ​เป็น​ผู้​ใหญ่. ทั้ง​สอง​คน​ปล่อย​ให้​สิ่ง​ที่​ผ่าน​ไป​แล้ว​ผ่าน​ไป​และ​ทำ​งาน​ด้วย​กัน​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. ช่าง​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เยี่ยม​จริง ๆ สำหรับ​ใคร​ก็​ตาม​ที่​มี​ความ​เห็น​ไม่​ลง​รอย​กัน​กับ​เพื่อน​คริสเตียน!

มาระโก​นัก​เดิน​ทาง

เมื่อ​คุณ​อ่าน​เรื่อง​ราว​การ​เดิน​ทาง​ของ​มาระโก​ไป​ยัง​ที่​ต่าง ๆ คุณ​จะ​เห็น​ว่า​ท่าน​เดิน​ทาง​มาก​ที​เดียว. ท่าน​มา​จาก​กรุง​เยรูซาเลม ย้าย​ไป​อยู่​ที่​อันทิโอก และ​จาก​ที่​นั่น​ท่าน​แล่น​เรือ​ไป​ที่​ไซปรัส​และ​เปอร์เก. จาก​นั้น ท่าน​ไป​ที่​กรุง​โรม. จาก​ที่​นั่น เปาโล​ต้องการ​ส่ง​ท่าน​ไป​ที่​เมือง​โกโลซาย. และ​ยัง​ไม่​หมด​แค่​นั้น!

อัครสาวก​เปโตร​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ราว ๆ ส.ศ. 62 ถึง 64. ท่าน​เขียน​ว่า “ผู้​หญิง​ที่​อยู่​ใน​กรุง​บาบิโลน . . . ได้​ฝาก​ความ​คิด​ถึง​มา​ยัง​ท่าน​ทั้ง​หลาย มาระโก​บุตร​ของ​ข้าพเจ้า​ก็​ฝาก​มา​ด้วย.” (1 เป. 5:13) ดัง​นั้น มาระโก​ได้​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​กรุง​บาบิโลน​เพื่อ​รับใช้​ร่วม​กับ​ท่าน​อัครสาวก​ซึ่ง​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​เคย​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​ที่​บ้าน​แม่​ของ​ท่าน.

ระหว่าง​ที่​เปาโล​ถูก​คุม​ขัง​ครั้ง​ที่​สอง​ใน​กรุง​โรม ประมาณ ส.ศ. 65 ท่าน​เขียน​จดหมาย​เพื่อ​เรียก​ติโมเธียว​ให้​มา​จาก​เมือง​เอเฟโซส์​และ​กล่าว​ด้วย​ว่า “จง​พา​มาระโก​มา​กับ​ท่าน​ด้วย.” (2 ติโม. 4:11) ดัง​นั้น ใน​เวลา​นั้น​มาระโก​อยู่​ใน​เมือง​เอเฟโซส์. ไม่​ต้อง​สงสัย​เลย​ว่า​ท่าน​คง​ตอบรับ​การ​เรียก​ตัว​ของ​เปาโล​ให้​กลับ​มา​ยัง​กรุง​โรม​พร้อม​กับ​ติโมเธียว. การ​เดิน​ทาง​ใน​สมัย​นั้น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย แต่​มาระโก​ก็​เต็ม​ใจ​เดิน​ทาง.

สิทธิ​พิเศษ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​อีก​ประการ​หนึ่ง

สิทธิ​พิเศษ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ประการ​หนึ่ง​ที่​มาระโก​ได้​รับ​คือ​การ​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระ​ยะโฮวา​ให้​เขียน​หนังสือ​กิตติคุณ​เล่ม​หนึ่ง. แม้​ว่า​ไม่​มี​ที่​ใด​ใน​หนังสือ​กิตติคุณ​เล่ม​ที่​สอง​นี้​ระบุ​นาม​ผู้​เขียน แต่​ธรรมเนียม​สืบ​ปาก​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ระบุ​ว่า​มาระโก​เป็น​ผู้​เขียน​โดย​ได้​รับ​ข้อมูล​จาก​เปโตร. ที่​จริง เปโตร​เป็น​ผู้​รู้​เห็น​เหตุ​การณ์​จริง​ทั้ง​หมด​ที่​มาระโก​ได้​บันทึก​ไว้.

บรรดา​นัก​วิเคราะห์​ที่​พิจารณา​กิตติคุณ​ของ​มาระโก​เชื่อ​ว่า​ท่าน​เขียน​เพื่อ​ผู้​อ่าน​ที่​เป็น​คน​ต่าง​ชาติ; ท่าน​ให้​คำ​อธิบาย​ที่​เป็น​ประโยชน์​เกี่ยว​กับ​วิธี​ปฏิบัติ​ของ​ชาว​ยิว​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ. (มโก. 7:3; 14:12; 15:42) มาระโก​แปล​คำ​ที่​เป็น​ภาษา​อาระเมอิก ซึ่ง​ช่วย​ผู้​อ่าน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว​ให้​เข้าใจ. (มโก. 3:17; 5:41; 7:11, 34; 15:22, 34) ท่าน​ใช้​หลาย​คำ​ที่​เป็น​ภาษา​ละติน​และ​แม้​แต่​อธิบาย​คำ​ภาษา​กรีก​สามัญ​โดย​ใช้​คำ​ภาษา​ละติน. ท่าน​บอก​ค่า​เงิน​เหรียญ​ของ​ชาว​ยิว​เทียบ​กับ​ค่า​เงิน​ของ​ชาว​โรมัน. (มโก. 12:42, เชิงอรรถ) ทั้ง​หมด​นี้​ดู​เหมือน​ว่า​สอดคล้อง​กับ​คำ​บอก​เล่า​สืบ​ปาก​ที่​มี​มา​นาน​ว่า​มาระโก​เขียน​หนังสือ​กิตติคุณ​ของ​ท่าน​ที่​กรุง​โรม.

“เขา​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ข้าพเจ้า​ใน​งาน​รับใช้”

การ​เขียน​หนังสือ​กิตติคุณ​ไม่​ใช่​สิ่ง​เดียว​ที่​มาระโก​ทำ​ที่​กรุง​โรม. ขอ​ให้​นึก​ถึง​คำ​พูด​ของ​เปาโล​ที่​บอก​กับ​ติโมเธียว​ว่า “จง​พา​มาระโก​มา​กับ​ท่าน​ด้วย.” ทำไม​เปาโล​จึง​สั่ง​อย่าง​นั้น? “เพราะ​เขา​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ข้าพเจ้า​ใน​งาน​รับใช้.”—2 ติโม. 4:11

คำ​พูด​นี้​ที่​กล่าว​ถึง​มาระโก—ซึ่ง​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย​ใน​พระ​คัมภีร์​เมื่อ​เรียง​ตาม​ลำดับ​เวลา—บอก​หลาย​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ตัว​ท่าน. ใน​ชีวิต​งาน​รับใช้​ของ​มาระโก ไม่​เคย​มี​การ​เอ่ย​ถึง​ท่าน​ใน​ฐานะ​อัครสาวก, ผู้​นำ​หน้า, หรือ​ผู้​พยากรณ์. ท่าน​เป็น​ผู้​รับใช้ ซึ่ง​ก็​คือ​คน​ที่​คอย​รับใช้​ผู้​อื่น. และ​ใน​ช่วง​เวลา​นี้ ซึ่ง​เป็น​ช่วง​สั้น ๆ ก่อน​เปาโล​จะ​เสีย​ชีวิต ท่าน​อัครสาวก​สามารถ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​ช่วยเหลือ​ของ​มาระโก​อย่าง​แน่นอน.

เมื่อ​นำ​ข้อมูล​ต่าง ๆ ที่​เรา​มี​เกี่ยว​กับ​มาระโก​มา​ปะติดปะต่อ​กัน​ก็​จะ​ได้​ภาพ​พรรณนา​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า​ใน​การ​ส่ง​เสริม​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​ใน​เขต​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก และ​เป็น​คน​ที่​มี​ความ​สุข​ใน​การ​รับใช้​ผู้​อื่น. จริง​ที​เดียว มาระโก​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​เพราะ​ท่าน​ไม่​ท้อ​ถอย!

เช่น​เดียว​กับ​มาระโก พวก​เรา​ที่​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า​ใน​ปัจจุบัน​แสดง​ความ​มุ่ง​มั่น​อย่าง​เดียว​กัน​ที่​จะ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร. เช่น​เดียว​กับ​มาระโก พวก​เรา​บาง​คน​สามารถ​ย้าย​ไป​รับใช้​ที่​อื่น แม้​แต่​ใน​ต่าง​ประเทศ เพื่อ​ส่ง​เสริม​ข่าว​ดี​ที่​นั่น. แม้​ว่า​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​ไม่​สามารถ​ย้าย​ไป​รับใช้​แบบ​นั้น​ได้ แต่​เรา​ทุก​คน​สามารถ​เลียน​แบบ​มาระโก​ใน​แนว​ทาง​อื่น​ที่​สำคัญ. เช่น​เดียว​กับ​ที่​มาระโก​พยายาม​เป็น​พิเศษ​เพื่อ​จะ​รับใช้​พี่​น้อง​คริสเตียน เรา​ก็​พยายาม​จะ​ช่วย​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​ภาค​ปฏิบัติ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​พระเจ้า​ได้​สำเร็จ. เมื่อ​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​เรา​จะ​ได้​รับ​พระ​พร​จาก​พระ​ยะโฮวา​เสมอ.—สุภา. 3:27; 10:22; กลา. 6:2

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 เป็น​เรื่อง​ปกติ​ที่​ผู้​คน​ใน​สมัย​ของ​มาระโก​จะ​มี​ชื่อ​ที่​สอง​ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​ใน​ภาษา​ฮีบรู​หรือ​ชื่อ​ที่​มา​จาก​ภาษา​อื่น. ชื่อ​ยิว​ของ​มาระโก​คือ​โยฮานาน หรือ​โยฮัน. ชื่อ​ของ​เขา​ใน​ภาษา​ละติน​คือ​มาร์คุส หรือ​มาระโก.—กิจ. 12:25

[แผนที่/ภาพ​หน้า 8, 9]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เมือง​ที่​มาระโก​ไป​เยี่ยม

โรม

เอเฟโซส์

โกโลซาย

เปอร์เก

อันทิโอก (ใน​แคว้น​ซีเรีย)

ไซปรัส

ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน

เยรูซาเลม

บาบิโลน