ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ธรรมศาลา—ที่ที่พระเยซูและสาวกประกาศสั่งสอน

ธรรมศาลา—ที่ที่พระเยซูและสาวกประกาศสั่งสอน

ธรรมศาลา—ที่​ที่​พระ​เยซู​และ​สาวก​ประกาศ​สั่ง​สอน

“จาก​นั้น พระองค์​เสด็จ​ไป​ทั่ว​แคว้น​แกลิลี ทรง​สอน​ใน​ธรรมศาลา​และ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร.”—มัดธาย 4:23

ใน​หนังสือ​กิตติคุณ เรา​อ่าน​พบ​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​อยู่​ใน​ธรรมศาลา. ไม่​ว่า​ที่​นาซาเรท​เมือง​ที่​พระองค์​เจริญ​วัย, ที่​คาเปอร์นาอุม​เมือง​ที่​พระองค์​ใช้​เป็น​ที่​พัก​ตลอด​ช่วง​ที่​ทำ​งาน​ประกาศ, หรือ​ใน​เมือง​และ​หมู่​บ้าน​ใด ๆ ที่​พระองค์​ไป​เยี่ยม​ตลอด​สาม​ปี​ครึ่ง​ที่​ประกาศ​สั่ง​สอน​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน พระ​เยซู​มัก​จะ​เลือก​ธรรมศาลา​เป็น​ที่​ประกาศ​และ​สอน​เกี่ยว​กับ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า. ที่​จริง พระ​เยซู​ตรัส​ถึง​งาน​ประกาศ​ที่​พระองค์​ได้​ทำ​ไป​ว่า “เรา​สอน​เป็น​ประจำ​ใน​ธรรมศาลา​และ​ใน​พระ​วิหาร​ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​ชาว​ยิว​ทั้ง​หลาย​มา​ชุมนุม​กัน.”—โยฮัน 18:20

อัครสาวก​ของ​พระ​เยซู​และ​คริสเตียน​คน​อื่น ๆ ใน​ยุค​แรก​ได้​สั่ง​สอน​ใน​ธรรมศาลา​ของ​ชาว​ยิว​เช่น​กัน. แต่​ธรรมศาลา​กลาย​มา​เป็น​ที่​นมัสการ​ของ​ชาว​ยิว​ได้​อย่าง​ไร? และ​สถาน​นมัสการ​เหล่า​นี้​มี​ลักษณะ​อย่าง​ไร​ใน​สมัย​พระ​เยซู? ให้​เรา​พิจารณา​ให้​ละเอียด​ยิ่ง​ขึ้น.

ศูนย์​รวม​ชีวิต​ของ​ชาว​ยิว ผู้​ชาย​ชาว​ยิว​จะ​เดิน​ทาง​ไป​เยรูซาเลม​เพื่อ​ร่วม​เทศกาล​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​พระ​วิหาร​ศักดิ์สิทธิ์​ปี​ละ​สาม​ครั้ง. แต่​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน พวก​เขา​จะ​ไป​นมัสการ​ที่​ธรรมศาลา ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ใน​ปาเลสไตน์​หรือ​ใน​อาณานิคม​ชาว​ยิว​ซึ่ง​มี​อยู่​มาก​มาย​ใน​ต่าง​แดน.

ชาว​ยิว​เริ่ม​มี​ธรรมศาลา​ตั้ง​แต่​เมื่อ​ไร? บาง​คน​เชื่อ​ว่า​เริ่ม​มี​ธรรมศาลา​ช่วง​ที่​ชาว​ยิว​ไป​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน (607-537 ก่อน​สากล​ศักราช) ซึ่ง​ใน​เวลา​นั้น​พระ​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา​กลาย​เป็น​ซาก​ปรัก​หัก​พัง. หรือ​อาจ​เป็น​ได้​ว่า​เริ่ม​มี​ธรรมศาลา​หลัง​จาก​ชาว​ยิว​กลับ​จาก​เป็น​เชลย​ได้​ไม่​นาน ซึ่ง​ใน​เวลา​นั้น​ปุโรหิต​เอษรา​ได้​กระตุ้น​ประชาชน​ให้​แสวง​หา​ความ​รู้​และ​ความ​เข้าใจ​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น.—เอษรา 7:10; 8:1-8; 10:3

เดิม​ที​คำ​ว่า “ธรรมศาลา” หมาย​ถึง “การ​ประชุม” หรือ “ชุมนุม​ชน.” มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​ดัง​กล่าว​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​เป็น​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​เรียก​ว่า​เซปตัวจินต์. แต่​ต่อ​มา​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​หมาย​ถึง​อาคาร​สถาน​ที่​ที่​ผู้​คน​มา​ชุมนุม​กัน​เพื่อ​นมัสการ. เมื่อ​ถึง​ศตวรรษ​ที่​หนึ่ง​สากล​ศักราช เกือบ​ทุก​เมือง​ที่​พระ​เยซู​เสด็จ​ไป​เยือน​ล้วน​มี​ธรรมศาลา ใน​เมือง​ใหญ่​อาจ​มี​มาก​กว่า​หนึ่ง​แห่ง ที่​เยรูซาเลม​ก็​มี​อยู่​มาก​มาย. อาคาร​เหล่า​นี้​มี​ลักษณะ​อย่าง​ไร?

สถาน​นมัสการ​ที่​เรียบ​ง่าย เมื่อ​จะ​สร้าง​ธรรมศาลา ตาม​ปกติ​แล้ว​ชาว​ยิว​จะ​หา​ที่​ดิน​ที่​เป็น​เนิน​สูง​และ​วาง​ผัง​อาคาร​ให้​ประตู​ทาง​เข้า (1) หัน​ไป​ทาง​กรุง​เยรูซาเลม. แต่​เรื่อง​นี้​ดู​เหมือน​ไม่​ใช่​กฎ​ตาย​ตัว เพราะ​บาง​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​ไม่​สามารถ​จะ​ทำ​ตาม​ที่​ต้องการ​ได้.

ธรรมศาลา​ที่​สร้าง​เสร็จ​แล้ว​มัก​จะ​เป็น​แบบ​เรียบ​ง่าย​และ​มี​การ​ประดับ​ตกแต่ง​ไม่​มาก​นัก. แต่​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ธรรมศาลา​คือ​หีบ (2) หรือ​ที่​เก็บ​สิ่ง​ที่​คน​ใน​ชุมชน​ถือ​ว่า​มี​ค่า​ที่​สุด นั่น​คือ​ม้วน​พระ​คัมภีร์​ศักดิ์สิทธิ์. เมื่อ​มี​การ​ประชุม​กัน หีบ​ที่​เคลื่อน​ย้าย​ได้​นี้​จะ​ถูก​นำ​ออก​มา​วาง​ใน​ที่​ที่​จัด​ไว้ แล้ว​หลัง​จาก​นั้น​ก็​เก็บ​เข้า​ห้อง​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย (3).

ใกล้​กับ​หีบ​คือ​ที่​นั่ง (4) สำหรับ​นาย​ธรรมศาลา​และ​แขก​คน​สำคัญ​ซึ่ง​หัน​หน้า​ไป​ทาง​ผู้​คน​ที่​มา​ประชุม​กัน. (มัดธาย 23:5, 6) ใกล้​กับ​ตรง​กลาง​ห้อง​เป็น​ยก​พื้น​ซึ่ง​มี​แท่น​และ​ที่​นั่ง​สำหรับ​ผู้​บรรยาย (5). ข้าง​หน้า​ยก​พื้น​ทั้ง​สาม​ด้าน​เป็น​ที่​นั่ง​ของ​คน​ที่​มา​ร่วม​ประชุม (6).

ตาม​ปกติ​แล้ว คน​ใน​ท้องถิ่น​จะ​ดู​แล​และ​ให้​การ​สนับสนุน​กิจกรรม​ต่าง ๆ ที่​ทำ​กัน​ใน​ธรรมศาลา. การ​บริจาค​ด้วย​ใจ​สมัคร​จาก​ทุก​คน​ไม่​ว่า​รวย​หรือ​จน​ช่วย​ให้​อาคาร​ได้​รับ​การ​ซ่อมแซม​และ​บำรุง​รักษา​ให้​อยู่​ใน​สภาพ​ดี​เสมอ. แต่​การ​ประชุม​ใน​ธรรมศาลา​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร?

การ​นมัสการ​ใน​ธรรมศาลา การ​นมัสการ​ใน​ธรรมศาลา​มี​ทั้ง​การ​ร้อง​เพลง​สรรเสริญ, อธิษฐาน, อ่าน​พระ​คัมภีร์, รวม​ถึง​การ​สอน​และ​ให้​คำ​กระตุ้น​เตือน. การ​ประชุม​จะ​เริ่ม​ด้วย​การ​ท่อง​เช​มา ซึ่ง​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ประกาศ​ยืน​ยัน​ความ​เชื่อ​ของ​ชาว​ยิว. คำ​ว่า​เชมา​มา​จาก​คำ​แรก​ของ​ข้อ​คัมภีร์​แรก​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มี​การ​ท่อง​ดัง​นี้: ‘จง​ฟัง​เถิด [เช​มา]: พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เรา​เป็น​เอก​พระ​ยะโฮวา.’—พระ​บัญญัติ 6:4

ถัด​จาก​นั้น​จะ​มี​การ​อ่าน​และ​อธิบาย​ข้อ​ความ​จาก​โทราห์ หนังสือ​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​เขียน​โดย​โมเซ. (กิจการ 15:21) ต่อ​จาก​นั้น จะ​มี​การ​อ่าน​บาง​ส่วน​จาก​ข้อ​เขียน​ของ​ผู้​พยากรณ์ (ฮาฟทาราห์) และ​ตาม​ด้วย​การ​อธิบาย​ความ​หมาย​รวม​ทั้ง​วิธี​นำ​ไป​ใช้. บาง​ครั้ง ผู้​บรรยาย​ที่​มา​เยี่ยม​จะ​เป็น​ผู้​นำ​การ​ประชุม​ส่วน​นี้​เช่น​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทำ​ดัง​พรรณนา​ที่​ลูกา 4:16-21.

แน่​ละ ม้วน​หนังสือ​ที่​มี​คน​ส่ง​ให้​พระ​เยซู​ใน​การ​ประชุม​ครั้ง​นั้น​ไม่​มี​บท​และ​ข้อ​เหมือน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เรา​ใช้​ใน​ปัจจุบัน. ดัง​นั้น เรา​คง​นึก​ภาพ​ออก​ว่า​พระ​เยซู​กำลัง​คลี่​ม้วน​หนังสือ​ออก​ด้วย​มือ​ซ้าย​ขณะ​เดียว​กัน​มือ​ขวา​ก็​ม้วน​เก็บ​ตาม​กัน​ไป​จน​กระทั่ง​พบ​ข้อ​ความ​ที่​ต้องการ. เมื่อ​อ่าน​เสร็จ​แล้ว​ก็​ม้วน​กลับ​ไป​ตอน​ต้น​ตาม​เดิม.

ส่วน​ใหญ่​แล้ว การ​อ่าน​ใน​ธรรมศาลา​จะ​เป็น​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ​และ​มี​การ​แปล​เป็น​ภาษา​อาระเมอิก. ใน​ที่​ประชุม​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​จะ​ใช้​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​เซปตัวจินต์.

ศูนย์​รวม​กิจกรรม​ประจำ​วัน ธรรมศาลา​รวม​ทั้ง​อาคาร​อื่น ๆ ที่​สร้าง​ขึ้น​ติด​กัน​หรือ​อยู่​ใน​บริเวณ​เดียว​กัน​เป็น​ศูนย์​รวม​กิจกรรม​ประจำ​วัน​ของ​ชาว​ยิว​อย่าง​แท้​จริง เพราะ​เป็น​สถาน​ที่​ที่​ใช้​เพื่อ​จุด​ประสงค์​หลาย​อย่าง. บาง​ครั้ง​มี​การ​ใช้​ที่​นี่​เพื่อ​ตัดสิน​คดีความ รวม​ทั้ง​เป็น​ที่​พบ​ปะ​ชุมนุม​ของ​คน​ใน​ชุมชน และ​กระทั่ง​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​ซึ่ง​มี​การ​เลี้ยง​อาหาร​ใน​ห้อง​รับประทาน​อาหาร​ที่​อยู่​ติด​กัน. บาง​ครั้ง​มี​การ​จัด​ห้อง​พัก​ใน​บริเวณ​ธรรมศาลา​ให้​กับ​ผู้​เดิน​ทาง​ซึ่ง​มา​จาก​ที่​อื่น.

ใน​เกือบ​ทุก​เมือง ธรรมศาลา​ยัง​ใช้​เป็น​โรง​เรียน​ด้วย. เรา​อาจ​นึก​ภาพ​ห้อง​ที่​มี​เด็ก​นัก​เรียน​อยู่​เต็ม​กำลัง​หัด​อ่าน​ตัว​หนังสือ​ขนาด​ใหญ่​ที่​ครู​เขียน​บน​กระดาน​ขี้ผึ้ง. การ​มี​โรง​เรียน​เช่น​นี้​เอง​ที่​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​สมัย​โบราณ​อ่าน​ออก​เขียน​ได้ แม้​แต่​สามัญ​ชน​ก็​คุ้น​เคย​กับ​พระ​คัมภีร์​เป็น​อย่าง​ดี.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม จุด​ประสงค์​สำคัญ​ของ​ธรรมศาลา​คือ​เพื่อ​ใช้​เป็น​สถาน​ที่​สำหรับ​การ​นมัสการ​เป็น​ประจำ. จึง​ไม่​แปลก​ที่​การ​ประชุม​ของ​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​คล้าย​กัน​มาก​กับ​การ​ประชุม​ของ​ชาว​ยิว​ใน​ธรรมศาลา. การ​ประชุม​ของ​คริสเตียน​มี​จุด​ประสงค์​เพื่อ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​โดย​การ​อธิษฐาน, ร้อง​เพลง​สรรเสริญ, รวม​ทั้ง​อ่าน​และ​พิจารณา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เช่น​เดียว​กัน. แต่​ยัง​มี​ความ​คล้ายคลึง​ใน​ด้าน​อื่น ๆ อีก. ใน​สถาน​นมัสการ​ทั้ง​สอง​แห่ง มี​การ​ดู​แล​ความ​จำเป็น​ต่าง ๆ และ​ค่า​ใช้​จ่าย​โดย​การ​บริจาค​ด้วย​ใจ​สมัคร; ใน​ที่​ทั้ง​สอง​แห่ง​ไม่​มี​การ​จำกัด​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​อ่าน​และ​พิจารณา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ไว้​เฉพาะ​สำหรับ​ชน​ชั้น​นัก​บวช; การ​ประชุม​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​ทั้ง​สอง​แห่ง​ได้​รับ​การ​ดู​แล​และ​ชี้​นำ​โดย​ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ที่​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ.

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ปัจจุบัน​พยายาม​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​และ​สาวก​ใน​ศตวรรษ​แรก​ได้​วาง​ไว้. ด้วย​เหตุ​นี้ การ​ประชุม​ที่​หอ​ประชุม​ของ​พวก​เขา​จึง​มี​บาง​อย่าง​คล้าย​กับ​การ​ประชุม​ใน​ธรรมศาลา​สมัย​โบราณ. เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด พยาน​ฯ มา​ประชุม​กัน​โดย​มี​จุด​ประสงค์​อย่าง​เดียว​กัน​กับ​ผู้​รัก​ความ​จริง​ทุก​ยุค​ทุก​สมัย นั่น​คือ เพื่อ​จะ “เข้า​ไป​ใกล้​พระเจ้า.”—ยาโกโบ 4:8

[ภาพ​หน้า 16, 17]

แบบ​จำลอง​นี้​สร้าง​ขึ้น​ตาม​แบบ​แปลน​ของ​ธรรมศาลา​ที่​กัมลา​ใน​ศตวรรษ​แรก

[ภาพ​หน้า 18]

โรง​เรียน​ใน​ธรรมศาลา​สอน​เด็ก​ชาย​อายุ​ตั้ง​แต่​ประมาณ 6 ปี​จน​ถึง 13 ปี