ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงต้านทานแรงกดดันจากทัศนะของคนหมู่มาก

จงต้านทานแรงกดดันจากทัศนะของคนหมู่มาก

จง​ต้านทาน​แรง​กดดัน​จาก​ทัศนะ​ของ​คน​หมู่​มาก

แนว​คิด​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​ว่า​สิ่ง​ไหน​เหมาะ​หรือ​สิ่ง​ไหน​ไม่​เหมาะ และ​สิ่ง​ไหน​น่า​สรรเสริญ​หรือ​สิ่ง​ไหน​น่า​ตำหนิ​นั้น​แตกต่าง​กัน​ไป​ใน​แต่​ละ​แห่ง. แนว​คิด​เหล่า​นี้​เปลี่ยน​ไป​ตาม​กาล​เวลา​ด้วย. ดัง​นั้น เมื่อ​อ่าน​บันทึก​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​สมัย​อดีต เรา​ต้อง​พิจารณา​แนว​คิด​และ​ค่า​นิยม​ของ​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​ดี​แทน​ที่​จะ​คิด​เอา​เอง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เรา​อ่าน.

ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​ให้​พิจารณา​แนว​คิด​สอง​อย่าง​ที่​มี​การ​กล่าว​ซ้ำ​หลาย​ครั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก นั่น​คือ​แนว​คิด​เรื่อง​เกียรติยศ​และ​ความ​อับอาย. เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ดี​ขึ้น​ใน​ข้อ​ความ​ต่าง ๆ ที่​พูด​ถึง​การ​ได้​รับ​เกียรติ​และ​ความ​อับอาย​ขายหน้า เรา​ควร​พิจารณา​ว่า​ผู้​คน​ใน​สมัย​นั้น​มี​ทัศนะ​ต่อ​แนว​คิด​ทั้ง​สอง​นี้​อย่าง​ไร.

ค่า​นิยม​ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก

ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ชาว​กรีก, ชาว​โรมัน, และ​ชาว​ยูเดีย​ล้วน​ถือ​ว่า​เกียรติยศ​และ​ความ​อับอาย​เป็น​เรื่อง​ที่​ผู้​คน​ให้​ความ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​วัฒนธรรม​ของ​พวก​เขา. พวก​ผู้​ชาย​แสวง​หา​เกียรติยศ, ชื่อเสียง, เกียรติ​คุณ, การ​ยอม​รับ, และ​ความ​นับถือ ถึง​ขนาด​ที่​ยอม​ตาย​เพื่อ​ให้​ได้​มา​ซึ่ง​สิ่ง​เหล่า​นี้.” ค่า​นิยม​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​พวก​เขา​อ่อนไหว​ง่าย​ต่อ​ความ​คิด​เห็น​ของ​คน​อื่น.

สถานภาพ, ตำแหน่ง, และ​เกียรติยศ​คือ​สิ่ง​ที่​ถือ​กัน​ว่า​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​สังคม​ที่​มี​ความ​สำนึก​อย่าง​แรง​กล้า​ใน​เรื่อง​ลำดับ​ชั้น ตั้ง​แต่​ชน​ชั้น​สูง​ไล่​ลง​มา​จน​ถึง​ทาส. เกียรติยศ​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​ประเมิน​ค่า​ตัว​เอง​เท่า​นั้น แต่​รวม​ถึง​การ​ที่​คน​อื่น​ประเมิน​ค่า​เรา​ด้วย. การ​ให้​เกียรติ​ใคร​คน​หนึ่ง​หมาย​ถึง​การ​ยอม​รับ​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า​เขา​ประพฤติ​อย่าง​ที่​คน​อื่น​คาด​หมาย​จาก​เขา. นอก​จาก​นั้น การ​ให้​เกียรติ​ใคร​คน​หนึ่ง​ยัง​เกิด​จาก​การ​ที่​คน​เรา​ประทับใจ​ใน​สิ่ง​ที่​เห็น​ภาย​นอก เช่น ความ​มั่งคั่ง, ตำแหน่ง, หรือ​ความ​สูง​ศักดิ์ และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ให้​ความ​สนใจ​แก่​คน​คน​นั้น​อย่าง​ที่​เขา​สม​ควร​ได้​รับ. การ​ได้​รับ​เกียรติ​อาจ​เป็น​ผล​มา​จาก​ความ​ประพฤติ​ที่​ดี​งาม​หรือ​การ​ที่​เขา​โดด​เด่น​กว่า​คน​อื่น. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม เมื่อ​คน​เรา​ถูก​ทำ​ให้​ขายหน้า​หรือ​ถูก​เยาะเย้ย​ต่อ​หน้า​สาธารณชน​เขา​รู้สึก​ละอาย​หรือ​รู้สึก​เสีย​เกียรติ. ความ​ละอาย​ไม่​ได้​เป็น​เพียง​แค่​ความ​รู้สึก​ส่วน​ตัว​หรือ​เป็น​ปฏิกิริยา​ตอบ​สนอง​ต่อ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​คน​เรา แต่​เป็น​ผล​จาก​การ​ถูก​สังคม​ประณาม.

เมื่อ​พระ​เยซู​พูด​ถึง​คน​หนึ่ง​ที่​ได้​รับ​เชิญ​ให้​นั่ง “ใน​ที่​นั่ง​อัน​ทรง​เกียรติ” หรือ​ให้​นั่ง “ใน​ที่​ต่ำ​ที่​สุด” ใน​งาน​เลี้ยง นั่น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ได้​รับ​เกียรติ​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​ทำ​ให้​อับอาย​ตาม​ค่า​นิยม​ของ​ผู้​คน​ใน​สมัย​นั้น. (ลูกา 14:8-10) มี​อย่าง​น้อย​สอง​ครั้ง​ที่​สาวก​ของ​พระ​เยซู​โต้​เถียง​กัน​ว่า “ใคร​จะ​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​พวก​เขา.” (ลูกา 9:46; 22:24) พวก​เขา​กำลัง​สะท้อน​ให้​เห็น​ว่า​ผู้​คน​ใน​สังคม​ที่​พวก​เขา​อยู่​เป็น​ห่วง​เรื่อง​นี้​กัน​มาก. ขณะ​เดียว​กัน พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​ที่​หยิ่ง​ยโส​และ​มี​น้ำใจ​แข่งขัน​ชิง​ดี​ถือ​ว่า​การ​ประกาศ​ของ​พระ​เยซู​เป็น​การ​บั่น​ทอน​เกียรติ​และ​อำนาจ​ของ​พวก​เขา. แต่​ความ​พยายาม​ของ​พวก​เขา​ที่​จะ​พิสูจน์​ให้​ฝูง​ชน​เห็น​ว่า​ตัว​เอง​เหนือ​กว่า​โดย​การ​โต้​เถียง​กับ​พระองค์​นั้น​ล้มเหลว​เสมอ.—ลูกา 13:11-17

อีก​แนว​คิด​หนึ่ง​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​ไป​ใน​หมู่​ชาว​ยิว, กรีก, และ​โรมัน​ใน​ศตวรรษ​แรก​คือ “การ​ถูก​จับ​และ​ถูก​กล่าวหา​ต่อ​หน้า​สาธารณชน​ว่า​ทำ​ผิด” เป็น​เรื่อง​น่า​ละอาย. การ​ที่​ใคร​คน​หนึ่ง​ถูก​กัก​ขัง​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ที่​เสื่อม​เสีย​เกียรติ. การ​ถูก​ปฏิบัติ​เช่น​นี้​เป็น​การ​ดูหมิ่น​คน​นั้น​ต่อ​หน้า​เพื่อน, ครอบครัว, และ​ต่อ​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใน​ชุมชน ไม่​ว่า​เขา​จะ​ผิด​จริง​หรือ​ไม่. นั่น​ทำ​ให้​ชื่อเสียง​เขา​เป็น​มลทิน​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​เขา​สูญ​เสีย​ความ​นับถือ​ตัว​เอง และ​อาจ​ทำลาย​ความ​สัมพันธ์​ที่​เขา​มี​กับ​คน​อื่น ๆ. ที่​น่า​อาย​ยิ่ง​กว่า​การ​ถูก​กัก​ขัง​ก็​คือ​การ​ถูก​เปลื้อง​เสื้อ​ผ้า​หรือ​ถูก​เฆี่ยน. การ​ถูก​ปฏิบัติ​เช่น​นี้​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​ดูถูก​และ​เย้ย​หยัน ซึ่ง​เป็น​การ​ทำ​ให้​คน​นั้น​เสื่อม​เสีย​เกียรติ.

เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​อับอาย​ขายหน้า​มาก​ที่​สุด​ก็​คือ​การ​ลง​โทษ​ด้วย​การ​ประหาร​บน​เสา​ทรมาน. ผู้​คง​แก่​เรียน​ชื่อ​มาร์ติน เฮง​เอล กล่าว​ว่า การ​ประหาร​ด้วย​วิธี​นี้​เป็น “การ​ลง​โทษ​ที่​ใช้​กับ​ทาส. นั่น​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​การ​ทำ​ให้​อับอาย​ขายหน้า​อย่าง​ยิ่ง, เป็น​ความ​อัปยศ​ที่​สุด, และ​เป็น​การ​ทรมาน​ที่​แสน​สาหัส.” ครอบครัว​และ​เพื่อน​ของ​คน​ที่​ถูก​ทำ​ให้​เสีย​เกียรติ​เช่น​นี้​จะ​ถูก​กดดัน​จาก​สังคม​ให้​ตัด​ความ​สัมพันธ์​กับ​พวก​เขา. เนื่อง​จาก​พระ​คริสต์​สิ้น​พระ​ชนม์​อย่าง​นี้ ทุก​คน​ที่​ต้องการ​เป็น​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​แห่ง​สากล​ศักราช​จึง​ต้อง​เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ใน​การ​ถูก​คน​ทั่ว​ไป​เยาะเย้ย. ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​คง​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​แปลก​ประหลาด​ที่​ใคร​คน​หนึ่ง​ระบุ​ตัว​เอง​ว่า​เป็น​สาวก​ของ​คน​ที่​ถูก​ตรึง. อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ว่า “เรา​ประกาศ​เรื่อง​พระ​คริสต์​ถูก​ตรึง​บน​เสา ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​ที่​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​ขุ่นเคือง แต่​เป็น​เรื่อง​โง่​เขลา​สำหรับ​ชน​ต่าง​ชาติ.” (1 โค. 1:23) คริสเตียน​ยุค​แรก​รับมือ​ข้อ​ท้าทาย​นี้​อย่าง​ไร?

ค่า​นิยม​ที่​ต่าง​ออก​ไป

คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญญัติ​และ​พยายาม​ไม่​ให้​ตัว​เอง​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ละอาย​เพราะ​การ​ทำ​ผิด. อัครสาวก​เปโตร​เขียน​ว่า “อย่า​ให้​พวก​ท่าน​คน​ใด​ทน​ทุกข์​เพราะ​เป็น​ฆาตกร เป็น​ขโมย เป็น​คน​ทำ​ชั่ว หรือ​เป็น​คน​ที่​ชอบ​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ของ​คน​อื่น.” (1 เป. 4:15) อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​ทรง​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​เหล่า​สาวก​จะ​ถูก​ข่มเหง​เพราะ​พระ​นาม​ของ​พระองค์. (โย. 15:20) เปโตร​เขียน​ว่า “ถ้า [ใคร] ทน​ทุกข์​เพราะ​เป็น​คริสเตียน อย่า​ให้​เขา​รู้สึก​อาย แต่​ให้​เขา​สรรเสริญ​พระเจ้า.” (1 เป. 4:16) การ​ไม่​รู้สึก​ละอาย​เมื่อ​ทน​ทุกข์​ใน​ฐานะ​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​เท่า​กับ​เป็น​การ​ปฏิเสธ​บรรทัดฐาน​ของ​สังคม​ใน​สมัย​นั้น.

คริสเตียน​ไม่​ควร​ให้​มาตรฐาน​ของ​คน​อื่น ๆ มา​กำหนด​การ​ประพฤติ​ของ​พวก​เขา. ผู้​คน​ใน​ศตวรรษ​แรก​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​โง่​ที่​จะ​นับถือ​คน​ที่​ถูก​ตรึง​ว่า​เป็น​พระ​มาซีฮา. ทัศนะ​แบบ​นี้​อาจ​สร้าง​แรง​กดดัน​แก่​คริสเตียน​ที่​จะ​คล้อย​ตาม​วิธี​คิด​แบบ​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ยอม​รับ. แต่​การ​ที่​พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​พระ​มาซีฮา หมาย​ถึง​การ​ที่​พวก​เขา​จะ​ต้อง​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​พระองค์​แม้​ถูก​เยาะเย้ย. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ผู้​ใด​อาย​ที่​เป็น​สาวก​ของ​เรา​และ​เชื่อ​คำ​ของ​เรา​ใน​ยุค​ของ​คน​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระเจ้า​และ​ชั่ว​ช้า​นี้ บุตร​มนุษย์​ก็​จะ​อาย​ถ้า​จะ​ยอม​รับ​ว่า​เขา​เป็น​สาวก​เมื่อ​ท่าน​มา​ใน​ฐานะ​ที่​มี​เกียรติ​อัน​รุ่ง​โรจน์​อย่าง​ที่​พระ​บิดา​มี และ​มา​พร้อม​กับ​เหล่า​ทูตสวรรค์​ผู้​บริสุทธิ์.”—มโก. 8:38

ใน​ทุก​วัน​นี้​เรา​อาจ​เผชิญ​แรง​กดดัน​ต่าง ๆ ที่​มุ่ง​หมาย​ให้​เรา​ละ​ทิ้ง​หลักการ​คริสเตียน. แรง​กดดัน​เหล่า​นี้​อาจ​มา​จาก​เพื่อน​นัก​เรียน, เพื่อน​บ้าน, หรือ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​พยายาม​ชักชวน​เรา​ให้​ร่วม​ทำ​สิ่ง​ที่​ผิด​ศีลธรรม, ไม่​ซื่อ​สัตย์, หรือ​ทำ​อะไร​ที่​น่า​สงสัย. คน​เหล่า​นี้​อาจ​พยายาม​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​อาย​ที่​จะ​ยืนหยัด​เพื่อ​หลักการ​ที่​ถูก​ต้อง. เรา​ควร​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร?

จง​เลียน​แบบ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ไม่​คำนึง​ถึง​ความ​อับอาย

เพื่อ​จะ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา พระ​เยซู​ถูก​ประหาร​ด้วย​วิธี​ที่​ทำ​ให้​เสื่อม​เสีย​เกียรติ​ที่​สุด. “พระองค์​ทรง​ทน​ทุกข์​จน​สิ้น​พระ​ชนม์​บน​เสา​ทรมาน​โดย​ไม่​ทรง​คำนึง​ถึง​ความ​อับอาย.” (ฮีบรู 12:2) ศัตรู​ของ​พระ​เยซู​ตบ​พระ​พักตร์, ถ่ม​น้ำลาย​รด, ถอด​ฉลองพระองค์​ออก, เฆี่ยน, ตรึง, และ​ด่า​ว่า​พระองค์. (มโก. 14:65; 15:29-32) กระนั้น พระ​เยซู​ไม่​ทรง​คำนึง​ถึง​ความ​อับอาย​อย่าง​ที่​พวก​เขา​พยายาม​จะ​ให้​พระองค์​อับอาย. เป็น​เช่น​นั้น​อย่าง​ไร? พระองค์​ไม่​ทรง​ยอม​แพ้​แม้​ถูก​ปฏิบัติ​เช่น​นั้น. พระ​เยซู​ทรง​รู้​ว่า​ใน​สาย​พระ​เนตร​พระ​ยะโฮวา พระองค์​ไม่​ได้​เสีย​เกียรติ และ​แน่นอน​ว่า​พระองค์​ไม่​พยายาม​จะ​ได้​เกียรติ​จาก​มนุษย์. แม้​ว่า​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​เยี่ยง​ทาส พระ​ยะโฮวา​ให้​เกียรติ​พระองค์​โดย​การ​ปลุก​พระองค์​ให้​คืน​พระ​ชนม์ และ​ให้​ตำแหน่ง​ที่​มี​เกียรติ​สูง​สุด​รอง​จาก​พระเจ้า. เรา​อ่าน​ที่​ฟิลิปปอย 2:8-11 ว่า “[พระ​คริสต์​เยซู] ทรง​ถ่อม​พระทัย​เชื่อ​ฟัง​จน​สิ้น​พระ​ชนม์ คือ​สิ้น​พระ​ชนม์​บน​เสา​ทรมาน. เพราะ​เหตุ​นี้ พระเจ้า​จึง​ทรง​โปรด​ให้​พระองค์​ดำรง​ตำแหน่ง​สูง​ขึ้น​และ​ทรง​ประทาน​พระ​นาม​อัน​สูง​ส่ง​เหนือ​นาม​อื่น​ทั้ง​หมด​แก่​พระองค์ เพื่อ​ว่า​ใคร​ก็​ตาม​ที่​อยู่​ใน​สวรรค์​และ​บน​แผ่นดิน​โลก รวม​ทั้ง​คน​ที่​อยู่​ใต้​พื้น​ดิน​จะ​คุกเข่า​ลง​ใน​พระ​นาม​พระ​เยซู และ​ลิ้น​ทุก​ลิ้น​จะ​ยอม​รับ​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า​พระ​เยซู​คริสต์​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​เพื่อ​ยกย่อง​พระเจ้า​ผู้​เป็น​พระ​บิดา.”

ไม่​ใช่​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​รู้สึก​อะไร​เลย​เกี่ยว​กับ​การ​เสื่อม​เสีย​เกียรติ​เมื่อ​พระองค์​ถูก​ประหาร. การ​ที่​พระ​เยซู​ถูก​ประณาม​ว่า​เป็น​ผู้​หมิ่น​ประมาท​ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​พระ​บิดา​เสื่อม​เสีย​เกียรติ​เป็น​เรื่อง​ที่​พระ​บุตร​ของ​พระเจ้า​ทรง​เป็น​ห่วง. พระ​เยซู​ทูล​พระ​ยะโฮวา​ว่า​ขอ​อย่า​ให้​พระองค์​ต้อง​เสื่อม​เสีย​เกียรติ​เช่น​นั้น. พระองค์​ทรง​อธิษฐาน​ว่า “ขอ​ทรง​เอา​ถ้วย​นี้​ไป​จาก​ข้าพเจ้า.” แต่​พระ​เยซู​ทรง​ยอม​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. (มโก. 14:36) ถึง​กระนั้น พระ​เยซู​ต้านทาน​แรง​กดดัน​ต่าง ๆ ที่​โถม​ทับ​พระองค์​และ​ไม่​ทรง​คำนึง​ถึง​ความ​อับอาย. ที่​จริง คน​ที่​รู้สึก​อับอาย​อย่าง​นั้น​ต้อง​เป็น​คน​ที่​รับ​เอา​ค่า​นิยม​โดย​ทั่ว​ไป​ของ​ผู้​คน​สมัย​นั้น​อย่าง​เต็ม​ที่. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ได้​เป็น​เช่น​นั้น.

เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ก็​ถูก​จับ​กุม และ​ถูก​เฆี่ยน​ด้วย. การ​ถูก​กระทำ​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​พวก​เขา​เสีย​เกียรติ​ใน​สายตา​ของ​หลาย​คน. พวก​เขา​ถูก​ดูหมิ่น​เหยียด​หยาม. แต่​พวก​เขา​ไม่​ท้อ​ถอย. สาวก​แท้​ของ​พระ​เยซู​ต้านทาน​แรง​กดดัน​จาก​ทัศนะ​ของ​คน​หมู่​มาก​และ​ไม่​คำนึง​ถึง​ความ​อับอาย. (มัด. 10:17; กิจ. 5:40; 2 โค. 11:23-25) พวก​เขา​รู้​ว่า​ต้อง ‘แบก​เสา​ทรมาน​ของ​ตน​แล้ว​ตาม​พระ​เยซู​เรื่อย​ไป.’—ลูกา 9:23, 26

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​พวก​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้? สิ่ง​ที่​โลก​นี้​ถือ​ว่า​โง่​เขลา, อ่อนแอ, และ​ต่ำต้อย พระเจ้า​ทรง​มอง​ว่า​มี​ปัญญา, มี​อำนาจ, และ​มี​เกียรติ. (1 โค. 1:25-28) เป็น​เรื่อง​โง่​เขลา​และ​ไม่​มอง​การณ์​ไกล​ที่​เรา​จะ​ให้​ความ​เห็น​ของ​คน​หมู่​มาก​ชัก​นำ​เรา​มิ​ใช่​หรือ?

ใคร​ก็​ตาม​ที่​อยาก​ได้​เกียรติ​ต้อง​ให้​ความ​สำคัญ​ต่อ​สิ่ง​ที่​โลก​คิด​เกี่ยว​กับ​ตัว​พวก​เขา. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู​และ​เหล่า​สาวก​ใน​ศตวรรษ​แรก เรา​ปรารถนา​ให้​พระ​ยะโฮวา​เป็น​มิตร​ของ​เรา. ด้วย​เหตุ​นั้น สิ่ง​ที่​มี​เกียรติ​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระองค์​เรา​จะ​ถือ​ว่า​มี​เกียรติ และ​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​ถือ​ว่า​น่า​อับอาย​เรา​ก็​จะ​ถือ​ว่า​น่า​อับอาย.

[ภาพ​หน้า 4]

พระ​เยซู​ไม่​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​แนว​คิด​ของ​โลก​ใน​เรื่อง​สิ่ง​ที่​น่า​ละอาย