ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

500 ปีของลัทธิคาลวิน—ก่อผลอะไรบ้าง?

500 ปีของลัทธิคาลวิน—ก่อผลอะไรบ้าง?

500 ปี​ของ​ลัทธิ​คาลวิน—ก่อ​ผล​อะไร​บ้าง?

ชอง โกแวง (จอห์น คาลวิน) เกิด​ใน​ปี 1509 ที่​เมือง​โนยง ประเทศ​ฝรั่งเศส. เขา​เป็น​ผู้​ก่อ​ตั้ง​กลุ่ม​ศาสนา​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ของ​ผู้​คน​มาก​มาย​ใน​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​ยุโรป, อเมริกา, แอฟริกา​ใต้, และ​ที่​อื่น ๆ. เขา​ได้​ชื่อ​ว่า​เป็น​นัก​ปฏิรูป​ศาสนา​ที่​สำคัญ​คน​หนึ่ง​ใน​ประวัติศาสตร์​ชาติ​ตะวัน​ตก.

ตอน​นี้​ผ่าน​มา​ประมาณ 500 ปี​แล้ว​หลัง​จาก​คาลวิน​เกิด แต่​ลัทธิ​คาลวิน​ซึ่ง​รวม​ถึง​แนว​คิด​และ​คำ​สอน​ของ​คาลวิน​ใน​รูป​แบบ​ใด​รูป​แบบ​หนึ่ง​ยัง​คง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ใน​กลุ่ม​ต่าง ๆ ของ​นิกาย​โปรเตสแตนต์ เช่น รีฟอร์ม, เพรสไบทีเรียน, คองกรีเกชันแนล, พิวริตัน, และ​อื่น ๆ. ใน​เดือน​กันยายน​ที่​ผ่าน​มา สหพันธ์​คริสตจักร​รีฟอร์ม​แห่ง​โลก​มี​สมาชิก 75 ล้าน​คน​ใน 107 ประเทศ.

ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​สอน​ของ​คาทอลิก

พ่อ​ของ​คาลวิน​เป็น​ทนาย​ความ​และ​เป็น​เลขานุการ​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก​แห่ง​โนยง. งาน​ของ​เขา​คง​ทำ​ให้​เขา​ได้​รู้​เห็น​การ​ประพฤติ​ผิด​ของ​พวก​นัก​บวช​ซึ่ง​มัก​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ ใน​สมัย​นั้น. เป็น​ไป​ได้​ไหม​ว่า​เพราะ​เหตุ​นี้​เขา​จึง​ต่อ​ต้าน​หรือ​ไม่​ให้​ความ​นับถือ​คริสตจักร​คาทอลิก? เรา​ไม่​รู้ แต่​ที่​เรา​รู้​ก็​คือ​ต่อ​มา​พ่อ​ของ​จอห์น​และ​พี่​ชาย​ถูก​ขับ​ออก​จาก​คริสตจักร. เมื่อ​พ่อ​ของ​เขา​ตาย​เป็น​เรื่อง​ยาก​สำหรับ​จอห์น​ที่​จะ​จัด​การ​ให้​ศพ​ของ​พ่อ​ได้​รับ​การ​ฝัง​ตาม​แบบ​คริสเตียน. ดู​เหมือน​ว่า​เหตุ​การณ์​นี้​ทำ​ให้​จอห์น​ไม่​ศรัทธา​ใน​ศาสนา​คาทอลิก​อีก​ต่อ​ไป.

งาน​เขียน​ส่วน​ใหญ่​เกี่ยว​กับ​คาลวิน​ไม่​ได้​บอก​ให้​รู้​อะไร​มาก​นัก​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​วัย​เด็ก​ของ​เขา นอก​จาก​บอก​ว่า​เขา​มัก​จะ​เก็บ​ตัว​และ​ไม่​ค่อย​พูด. แม้​แต่​ตอน​ที่​เขา​เรียน​อยู่​ใน​ปารีส, ออร์เลออง, และ​บูร์ก ดู​เหมือน​ว่า​เขา​มี​เพื่อน​เพียง​ไม่​กี่​คน​เท่า​นั้น. แต่​คาลวิน​เป็น​คน​หัว​ไว​และ​มี​ความ​จำเป็น​เลิศ. คุณสมบัติ​ทั้ง​สอง​อย่าง​นี้​บวก​กับ​ความ​ขยัน​อ่าน​และ​ศึกษา​ตำรา​ทุก​วัน​ตั้ง​แต่​ตี​ห้า​ไป​จน​ถึง​เที่ยง​คืน ทำ​ให้​เขา​จบ​ปริญญา​เอก​ด้าน​กฎหมาย​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​ไม่​ถึง 23 ปี. นอก​จาก​นั้น เขา​ยัง​เรียน​ภาษา​ฮีบรู, กรีก, และ​ละติน​เพื่อ​จะ​ศึกษา​ค้นคว้า​คัมภีร์​ไบเบิล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คาลวิน​เป็น​ที่​รู้​จัก​มาก​ที่​สุด​เนื่อง​จาก​หลักการ​ทำ​งาน​ที่​จริงจัง​และ​มี​วินัย​ซึ่ง​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​คน​จำนวน​มาก​ใน​ปัจจุบัน​มัก​นึก​ถึง​เกี่ยว​กับ​ลัทธิ​ของ​เขา.

ใน​ช่วง​เวลา​เดียว​กัน ที่​เยอรมนี มาร์ติน ลูเทอร์​ได้​โจมตี​คริสตจักร​คาทอลิก​อย่าง​เปิด​เผย​ใน​เรื่อง​การ​ฉ้อ​โกง​และ​คำ​สอน​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์. กล่าว​กัน​ว่า​ใน​ปี 1517 เขา​ได้​นำ​ข้อ​คัดค้าน​ของ​ตน 95 ข้อ​ไป​ตอก​ติด​ไว้​ที่​ประตู​โบสถ์​แห่ง​หนึ่ง​ใน​วิทเทนแบร์ก​ซึ่ง​เป็น​การ​กระตุ้น​ให้​เกิด​การ​ปฏิรูป​ศาสนา. หลาย​คน​เห็น​ด้วย​กับ​ลูเทอร์​และ​กระแส​การ​ปฏิรูป​ศาสนา​ก็​แพร่​ไป​ทั่ว​ยุโรป​อย่าง​รวด​เร็ว. กระแส​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​มี​การ​ต่อ​ต้าน​ใน​หลาย​ส่วน​ของ​ยุโรป​และ​พวก​ที่​สนับสนุน​การ​ปฏิรูป​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ต่อ​มา​เรียก​ว่า​โปรเตสแตนต์​ต้อง​เสี่ยง​ชีวิต​ของ​ตน​เพื่อ​จะ​อธิบาย​ความ​เชื่อ​ใหม่​ให้​คน​อื่น. ที่​ปารีส​ใน​ปี 1533 นิโคลาส์ คอป​เพื่อน​ของ​คาลวิน​ได้​กล่าว​สุนทรพจน์​สนับสนุน​ลูเทอร์ และ​เนื่อง​จาก​คาลวิน​ได้​ช่วย​เขา​เขียน​บท​บรรยาย​นั้น ทั้ง​คาลวิน​และ​คอป​จึง​ต้อง​หนี​เอา​ชีวิต​รอด. คาลวิน​ไม่​เคย​กลับ​ไป​อยู่​ที่​ฝรั่งเศส​อีก​เลย.

ปี 1536 คาลวิน​ได้​ตี​พิมพ์​หนังสือ​สถาบัน​คริสต์​ศาสนา (ภาษา​ฝรั่งเศส) ซึ่ง​เป็น​ตำรา​อธิบาย​หลัก​ความ​เชื่อ​ของ​โปรเตสแตนต์. เขา​เขียน​หนังสือ​เล่ม​นี้​เพื่อ​ให้​กษัตริย์​ฟรานซิส​ที่ 1 ยอม​รับ​กลุ่ม​โปรเตสแตนต์​ใน​ฝรั่งเศส​ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า อูเกอโน. คาลวิน​ได้​โจมตี​คำ​สอน​ของ​คาทอลิก​และ​ส่ง​เสริม​คำ​สอน สำคัญ​ของ​เขา​เอง ซึ่ง​ก็​คือ​คำ​สอน​เรื่อง​สิทธิ​ใน​การ​ปกครอง​ของ​พระเจ้า. หนังสือ​ดัง​กล่าว​ของ​คาลวิน​ไม่​เพียง​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​ทาง​ด้าน​ศาสนา​แต่​ยัง​มี​อิทธิพล​ต่อ​ภาษา​และ​รูป​แบบ​วรรณกรรม​ของ​ฝรั่งเศส​ด้วย. คาลวิน​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น​นัก​ปฏิรูป​ศาสนา​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คน​หนึ่ง. ใน​ที่​สุด​เขา​ได้​ตั้ง​รกราก​ใน​เจนีวา ประเทศ​สวิตเซอร์แลนด์ และ​ตั้ง​แต่​ปี 1541 เป็น​ต้น​มา เขา​ได้​ทำ​ให้​นคร​แห่ง​นี้​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​ปฏิรูป​ศาสนา​ของ​เขา.

มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​ปฏิรูป​ศาสนา​ใน​เจนีวา

คาลวิน​เป็น​ผู้​มี​อิทธิพล​อย่าง​มาก​ต่อ​นคร​เจนีวา. เนื่อง​จาก​ถูก​กระตุ้น​จาก​ความ​สำนึก​อย่าง​แรง​กล้า​ด้าน​ศีลธรรม​และ​ความ​ชอบธรรม ตาม​ที่​กล่าว​ใน​สารานุกรม​ศาสนา (ภาษา​อังกฤษ) เขา​ได้​เปลี่ยน​เจนีวา​ซึ่ง​เป็น “นคร​อัน​ฉาวโฉ่​ให้​กลาย​เป็น​เมือง​ที่​ทุก​ชีวิต​ถูก​ควบคุม​โดย​กฎ​ทาง​ศีลธรรม​ที่​เข้มงวด.” นอก​จาก​นั้น​ยัง​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​ด้าน​อื่น ๆ ใน​เมือง​นี้​ด้วย. ดร. ซาบีเน วิท ภัณฑารักษ์​ของ​พิพิธภัณฑสถาน​ประวัติศาสตร์​แห่ง​เยอรมนี​ใน​เบอร์ลิน​ได้​อธิบาย​ว่า “เนื่อง​จาก​เกิด​สงคราม​ทาง​ศาสนา​ขึ้น​หลาย​ครั้ง​ใน​ฝรั่งเศส ประชากร [ใน​เจนีวา] จึง​เพิ่ม​ขึ้น​สอง​เท่า​ภาย​ใน​ไม่​กี่​ปี​หลัง​จาก​ที่​ผู้​ลี้​ภัย​ชาว​โปรเตสแตนต์​หลาย​พัน​คน​หลั่งไหล​เข้า​มา.” พวก​อูเกอโน​ซึ่ง​มี​หลักการ​ทำ​งาน​คล้าย​กับ​คาลวิน​ได้​ช่วย​ให้​เศรษฐกิจ​ใน​นคร​เจนีวา​เติบโต​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว ทำ​ให้​นคร​แห่ง​นี้​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​การ​พิมพ์​และ​การ​ผลิต​นาฬิกา.

ผู้​ลี้​ภัย​จาก​ดินแดน​อื่น​ก็​เข้า​มา​ใน​เจนีวา​ด้วย. มี​จำนวน​ไม่​น้อย​ที่​มา​จาก​อังกฤษ​เพราะ​ชาว​โปรเตสแตนต์​ที่​นั่น​ถูก​ข่มขู่​โดย​ราชินี​แมรี​ที่ 1. เนื่อง​จาก​สมาชิก​ส่วน​ใหญ่​ของ​ลัทธิ​คาลวิน​ประกอบ​ด้วย​กลุ่ม​ผู้​ลี้​ภัย​ทาง​ศาสนา​กลุ่ม​เล็ก ๆ จาก​หลาย​ที่ ลัทธิ​นี้​จึง​ได้​ก่อ​กำเนิด​สิ่ง​ที่​วารสาร​ทาง​ศาสนา​ภาษา​เยอรมัน​ชื่อ​คริสท์ อิน แดร์ เกเกนวาร์ท (คริสเตียน​สมัย​ปัจจุบัน) เรียก​ว่า “ศาสนศาสตร์​ของ​ผู้​ถูก​ข่มเหง.” ใน​ปี 1560 ผู้​ลี้​ภัย​เหล่า​นี้​ได้​ตี​พิมพ์​เจนีวา ไบเบิล ซึ่ง​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​อังกฤษ​ฉบับ​แรก​ที่​แบ่ง​เป็น​ข้อ​และ​มี​ตัว​เลข​กำกับ. เนื่อง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​มี​ขนาด​เล็ก​ลง ผู้​คน​จึง​สามารถ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ส่วน​ตัว​ได้​ง่าย​ขึ้น. อาจ​เป็น​ไป​ได้​ว่า​พวก​พิวริตัน​ได้​นำ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ไป​ด้วย​เมื่อ​พวก​เขา​อพยพ​ไป​ยัง​อเมริกา​เหนือ​ใน​ปี 1620.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม นคร​เจนีวา​ไม่​ได้​เป็น​ที่​คุ้ม​ภัย​ของ​ทุก​คน. ไมเคิล เซอร์เวตุส​ซึ่ง​เกิด​ที่​สเปน​ใน​ปี 1511 ได้​ศึกษา​ภาษา​กรีก, ละติน, ฮีบรู, และ​การ​แพทย์ และ​เขา​อาจ​เคย​พบ​กับ​คาลวิน​ตอน​ที่​ทั้ง​คู่​เรียน​อยู่​ใน​ปารีส. จาก​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เซอร์เวตุส​ได้​ตระหนัก​ว่า​หลัก​คำ​สอน​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์. เขา​ได้​เขียน​จดหมาย​บอก​คาลวิน​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้ แต่​คาลวิน​กลับ​มอง​ว่า​เซอร์เวตุส​เป็น​ศัตรู​มาก​กว่า​เป็น​มิตร. เมื่อ​ถูก​คริสตจักร​คาทอลิก​ใน​ฝรั่งเศส​ข่มเหง เซอร์เวตุส​จึง​หนี​ไป​ที่​นคร​เจนีวา​ซึ่ง​เป็น​เมือง​ของ​คาลวิน. แทน​ที่​จะ​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​เขา​กลับ​ถูก​จับ, ถูก​ตั้ง​ข้อ​หา​ว่า​เป็น​พวก​นอก​รีต, และ​ถูก​เผา​ทั้ง​เป็น​ใน​ปี 1533. นัก​ประวัติศาสตร์​ฟรีดริค เออห์นิงเงอร์​กล่าว​ว่า “การ​ประหาร​เซอร์เวตุส​ยัง​คง​เป็น​รอย​ตำหนิ​ใน​ชีวิต​และ​การ​งาน​ของ​นัก​ปฏิรูป​ผู้​ยิ่ง​ใหญ่​คน​นี้ [คาลวิน].”

ระหว่าง​ที่​พยายาม​จะ​บรรลุ​เป้าหมาย​ใน​การ​ปฏิรูป​ศาสนา คาลวิน​มี​ผล​งาน​มาก​มาย. กล่าว​กัน​ว่า​เขา​ได้​เขียน​เอกสาร​อ้างอิง​มาก​กว่า 100 ฉบับ​และ​จดหมาย​มาก​กว่า 1,000 ฉบับ​และ​ยัง​ได้​ให้​คำ​เทศน์​ประมาณ 4,000 เรื่อง​ใน​เจนีวา. ใน​ผล​งาน​เหล่า​นี้ คาลวิน​ไม่​เพียง​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ว่า​ศาสนา​คริสเตียน​ควร​เป็น​อย่าง​ไร แต่​ยัง​พยายาม​ยัดเยียด​วิธี​ดำเนิน​ชีวิต​ที่​เขา​คิด​ว่า​ถูก​ต้อง​ให้​กับ​คริสเตียน โดย​เฉพาะ​คริสเตียน​ใน​เจนีวา​ซึ่ง​เขา​มอง​ว่า​เป็น​ประหนึ่ง​เมือง​ของ​พระเจ้า. *

ความ​พยายาม​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ของ​คาลวิน​ที่​จะ​ปฏิรูป​ศาสนา​ใน​เจนีวา​ก่อ​ผล​เช่น​ไร? สำนักงาน​สถิติ​ของ​สหพันธรัฐ​สวิส​รายงาน​ว่า​ใน​ปี 2000 มี​ประชากร​ใน​เจนีวา​เพียง 16 เปอร์เซ็นต์​ที่​เป็น​สมาชิก​คริสตจักร​รีฟอร์ม (ลัทธิ​คาลวิน) และ​ใน​เมือง​นั้น​มี​ผู้​นับถือ​นิกาย​คาทอลิก​มาก​กว่า​ผู้​สนับสนุน​ลัทธิ​คาลวิน​เสีย​อีก.

มี​ความ​แตก​แยก​ทาง​ศาสนา​เพิ่ม​ขึ้น

เนื่อง​จาก​กระแส​การ​ปฏิรูป​ศาสนา เมือง​และ​รัฐ​ต่าง ๆ จึง​ประกาศ​ตัว​ว่า​จะ​อยู่​ฝ่าย​ใด บ้าง​ก็​อยู่​ฝ่าย​คาทอลิก บ้าง​ก็​นิกาย​ลูเทอรัน หรือ​ลัทธิ​คาลวิน จึง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​วุ่นวาย​และ​ความ​แตก​แยก​ทาง​ศาสนา​ไป​ทั่ว​ทุก​หน​แห่ง​ใน​ยุโรป. แม้​ว่า​เหล่า​นัก​ปฏิรูป​ต่าง​ก็​มี​เป้าหมาย​เดียว​กัน​คือ​มุ่ง​โจมตี​คริสตจักร​คาทอลิก แต่​พวก​เขา​ก็​ไม่​ได้​เห็น​พ้อง​กัน​ใน​ทุก​เรื่อง. ดร. วิท​ซึ่ง​ได้​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “มี​ความ​ขัด​แย้ง​ใน​เรื่อง​คำ​สอน แม้​แต่​ใน​กลุ่ม​นิกาย​โปรเตสแตนต์​เอง.” แม้​ว่า​ทุก​กลุ่ม​ต่าง​ก็​ยอม​รับ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ควร​เป็น​พื้น​ฐาน​ความ​เชื่อ​ของ​คริสเตียน แต่​คำ​สอน​ของ​พวก​เขา​กลับ​ขัด​แย้ง​กัน​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด. ประเด็น​ที่​ถกเถียง​กัน​ใน​ตอน​แรก​คือ​เรื่อง​ความ​หมาย​ของ​อาหาร​เย็น​มื้อ​สุด​ท้าย​และ​การ​ประทับ​ของ​พระ​คริสต์. ต่อ​มา ลัทธิ​คาลวิน​ได้​มี​คำ​สอน​เรื่อง​พระเจ้า​ลิขิต​ซึ่ง​เป็น​หลัก​คำ​สอน​หนึ่ง​ที่​เป็น​ประเด็น​โต้​แย้ง​กัน​มาก​ที่​สุด.

มี​การ​โต้​แย้ง​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​เกี่ยว​กับ​ความ​หมาย​ของ​คำ​ว่า​พระเจ้า​ลิขิต. กลุ่ม​หนึ่ง​ของ​ลัทธิ​คาลวิน​อ้าง​ว่า​ก่อน​ที่​มนุษย์​จะ​ทำ​บาป​พระเจ้า​ทรง​ตัดสิน​แล้ว​ว่า​จะ​มี​เพียง​ไม่​กี่​คน​ที่​ถูก​เลือก​ให้​ได้​รับ​ความ​รอด​โดย​ทาง​พระ​คริสต์ ส่วน​คน​ที่​เหลือ​นั้น​จะ​ถูก​ทิ้ง​ให้​เผชิญ​ชะตากรรม. ดัง​นั้น คน​กลุ่ม​นี้​จึง​เชื่อ​ว่า​ความ​รอด​เป็น​ประกาศิต​ของ​พระเจ้า​และ​มนุษย์​ทุก​คน​ไม่​เท่า​เทียม​กัน. ลัทธิ​คาลวิน​กลุ่ม​อื่น ๆ คิด​ว่า​มนุษย์​ทุก​คน​มี​โอกาส​ได้​รับ​ความ​รอด และ​แต่​ละ​คน​ต้อง​เลือก​เอง​ว่า​จะ​ยอม​รับ​โอกาส​นี้​หรือ​ไม่. นี่​หมาย​ความ​ว่า​ความ​รอด​ขึ้น​อยู่​กับ​เจตจำนง​ของ​มนุษย์. จน​กระทั่ง​หลัง​จาก​คาลวิน​เสีย​ชีวิต​ไป​นาน​แล้ว ลัทธิ​คาลวิน​ก็​ยัง​หา​ข้อ​สรุป​ไม่​ได้​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ เช่น ประกาศิต​ของ​พระเจ้า, เจตจำนง​ของ​มนุษย์, และ​โอกาส​รอด​ที่​เท่า​เทียม​กัน​ของ​มนุษย์.

มรดก​ที่​มี​ตำหนิ​ของ​ลัทธิ​คาลวิน

ใน​ศตวรรษ​ที่ 20 คริสตจักร​ดัตช์​รีฟอร์ม​แบบ​คาลวิน​ใช้​คำ​สอน​เรื่อง​พระเจ้า​ลิขิต​เพื่อ​สนับสนุน​การ​แบ่ง​แยก​สี​ผิว​ใน​แอฟริกา​ใต้. เนลสัน แมนเดลา​ซึ่ง​ต่อ​มา​เป็น​ประธานาธิบดี​ผิว​ดำ​คน​แรก​ของ​แอฟริกา​ใต้​ได้​ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​นโยบาย​คน​ขาว​เหนือ​กว่า​ของ​รัฐบาล ดัง​นี้: “นโยบาย​ดัง​กล่าว​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​คริสตจักร​ดัตช์​รีฟอร์ม​ซึ่ง​อ้าง​ว่า​การ​แบ่ง​แยก​สี​ผิว​เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​หลัก​ศาสนา โดย​กล่าว​ว่า​ชาว​แอฟริคาน (คน​ยุโรป​ที่​เกิด​ใน​แอฟริกา​โดย​เฉพาะ​ที่​มา​จาก​ฮอลแลนด์) เป็น​ผู้​ที่​พระเจ้า​ทรง​เลือก​สรร​และ​คน​ผิว​ดำ​เป็น​คน​ชั้น​ต่ำ. ใน​มุม​มอง​ของ​ชาว​แอฟริคาน​การ​แบ่ง​แยก​สี​ผิว​ไป​ด้วย​กัน​ได้​กับ​คำ​สอน​ของ​คริสตจักร.”

ใน​ทศวรรษ 1990 คริสตจักร​ดัตช์​รีฟอร์ม​ได้​กล่าว​ขอ​โทษ​ต่อ​สาธารณชน​ที่​ได้​สนับสนุน​การ​แบ่ง​แยก​สี​ผิว. ใน​คำ​แถลง​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ซึ่ง​เรียก​ว่า​แถลง​การณ์​รุสเทนบูร์ก ผู้​นำ​คริสตจักร​นี้​ได้​ยอม​รับ​ว่า “พวก​เรา​บาง​คน​ได้​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ผิด ๆ เพื่อ​สนับสนุน​การ​แบ่ง​แยก​สี​ผิว​ซึ่ง​ทำ​ให้​ผู้​คน​มาก​มาย​เชื่อ​ว่า​พระเจ้า​ทรง​เห็น​ชอบ​กับ​เรื่อง​นี้.” ตลอด​หลาย​ปี จุด​ยืน​ของ​คริสตจักร​ใน​เรื่อง​การ​แบ่ง​แยก​สี​ผิว​ไม่​เพียง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ทุกข์​อัน​เนื่อง​มา​จาก​อคติ​ทาง​เชื้อชาติ แต่​ยัง​แสดง​เป็น​นัย ๆ ด้วย​ว่า​พระเจ้า​คือ​ผู้​ที่​สม​ควร​ถูก​ตำหนิ!

จอห์น คาลวิน​เสีย​ชีวิต​ที่​เจนีวา​ใน​ปี 1564. กล่าว​กัน​ว่า​ก่อน​ตาย​เขา​ได้​ขอบคุณ​เพื่อน​นัก​เทศน์​ของ​เขา “ที่​ได้​ยกย่อง​ให้​เกียรติ​เขา​เสีย​มาก​มาย ทั้ง ๆ ที่​เขา​ไม่​ได้​คู่​ควร​กับ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​เลย​แม้​แต่​น้อย” และ​ได้​ขอ​ให้​คน​เหล่า​นั้น​ให้​อภัย​เขา​ใน​ความ​ใจ​ร้อน​และ​เจ้า​อารมณ์​ของ​เขา. แม้​เขา​อาจ​เป็น​คน​เช่น​นั้น แต่​ปฏิเสธ​ไม่​ได้​ว่า​หลักการ​ทำ​งาน​แบบ​โปรเตสแตนต์​ที่​มุ่ง​เน้น​เรื่อง​ความ​ขยัน, มี​วินัย, และ​ทุ่มเท​ใน​หน้า​ที่ มี​ลักษณะ​ที่​คล้าย​กัน​มาก​กับ​ตัว​ตน​และ​ค่า​นิยม​ของ​จอห์น คาลวิน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 สำหรับ​ราย​ละเอียด​เพิ่ม​เติม โปรด​ดู​หนังสือ​มนุษย์​แสวง​หา​พระเจ้า (ภาษา​อังกฤษ) หน้า 321-325 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[คำ​โปรย​หน้า 21]

เนื่อง​จาก​กระแส​การ​ปฏิรูป​ศาสนา เมือง​และ​รัฐ​ต่าง ๆ จึง​ประกาศ​ตัว​ว่า​จะ​อยู่​ฝ่าย​ใด บ้าง​ก็​อยู่​ฝ่าย​คาทอลิก บ้าง​ก็​นิกาย​ลูเทอรัน หรือ​ลัทธิ​คาลวิน จึง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​วุ่นวาย​และ​ความ​แตก​แยก​ทาง​ศาสนา​ไป​ทั่ว​ทุก​หน​แห่ง​ใน​ยุโรป

[แผนที่​หน้า 18]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

สเปน

ฝรั่งเศส

ปารีส

โนยง

ออร์เลออง

บูร์ก

สวิตเซอร์แลนด์

เจนีวา

[ภาพ​หน้า 19]

หนังสือ “สถาบัน” ของ​คาลวิน (1536) อธิบาย​หลัก​ความ​เชื่อ​พื้น​ฐาน​ของ​โปรเตสแตนต์

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© INTERFOTO/Alamy

[ภาพ​หน้า 20]

การ​ประหาร​เซอร์เวตุส​ยัง​คง​เป็น​รอย​ตำหนิ​ใน​ชีวิต​และ​การ​งาน​ของ​คาลวิน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Mary Evans Picture Library

[ภาพ​หน้า 21]

“เจนีวา ไบเบิล” (1560) เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​อังกฤษ​ฉบับ​แรก​ที่​มี​ตัว​เลข​กำกับ​ข้อ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy American Bible Society

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 18]

French town: © Mary Evans Picture Library