ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงแสวงหา “ความชอบธรรมของพระองค์”ก่อนเสมอไป

จงแสวงหา “ความชอบธรรมของพระองค์”ก่อนเสมอไป

จง​แสวง​หา “ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์”ก่อน​เสมอ​ไป

“ดัง​นั้น จง​แสวง​หา​ราชอาณาจักร​และ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์​ก่อน​เสมอ​ไป แล้ว​พระองค์​จะ​ทรง​ให้​สิ่ง​ทั้ง​ปวง​นี้​แก่​พวก​เจ้า.”—มัด. 6:33

1, 2. ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​คือ​อะไร และ​อาศัย​อะไร​เป็น​หลัก?

“ดัง​นั้น จง​แสวง​หา​ราชอาณาจักร . . . ก่อน​เสมอ​ไป.” (มัด. 6:33) พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้​รู้​จัก​คำ​กระตุ้น​เตือน​ที่​พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​ให้​ไว้​ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​นี้​เป็น​อย่าง​ดี. ใน​ทุก​แง่​มุม​ของ​ชีวิต เรา​พยายาม​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​รัก​ราชอาณาจักร​นี้​และ​ต้องการ​ภักดี​ต่อ​รัฐบาล​นี้. แต่​เรา​ต้อง​จำ​ส่วน​ที่​สอง​ของ​คำ​กระตุ้น​เตือน​นี้​ไว้​เสมอ​ด้วย​ที่​ว่า “และ [จง​แสวง​หา] ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์​ก่อน.” ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​คือ​อะไร และ​การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​หมาย​ความ​ว่า​อย่าง​ไร?

2 คำ​ภาษา​เดิม​สำหรับ “ความ​ชอบธรรม” อาจ​แปล​ได้​ด้วย​ว่า “ความ​ยุติธรรม” หรือ “ความ​เที่ยง​ตรง.” ดัง​นั้น ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​คือ​ความ​เที่ยง​ตรง​ตาม​มาตรฐาน​และ​ค่า​นิยม​ของ​พระองค์​เอง. ใน​ฐานะ​พระ​ผู้​สร้าง พระ​ยะโฮวา​ทรง​มี​สิทธิ​ที่​จะ​วาง​มาตรฐาน​ว่า​อะไร​ดี​อะไร​ไม่​ดี​และ​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด. (วิ. 4:11) แต่​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ไม่​ใช่​ประมวล​กฎหมาย​ที่​เย็นชา​และ​ไม่​ยืดหยุ่น อีก​ทั้ง​ไม่​ใช่​กฎ​และ​ข้อ​บังคับ​ที่​ยาว​เหยียด​ไม่​รู้​จบ. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น ความ​ชอบธรรม​ของ​พระ​ยะโฮวา​อาศัย​บุคลิกภาพ​ของ​พระองค์​และ​ความ​ยุติธรรม รวม​ทั้ง​คุณลักษณะ​หลัก​อื่น ๆ ของ​พระองค์​ด้วย อัน​ได้​แก่ ความ​รัก, สติ​ปัญญา และ​อำนาจ. ดัง​นั้น ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​จึง​เชื่อม​โยง​กับ​พระ​ประสงค์​และ​จุด​มุ่ง​หมาย​ของ​พระองค์. ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ยัง​รวม​ถึง​สิ่ง​ที่​พระองค์​ทรง​คาด​หมาย​จาก​คน​ที่​ปรารถนา​จะ​รับใช้​พระองค์​ด้วย.

3. (ก) การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​หมาย​ความ​เช่น​ไร? (ข) เหตุ​ใด​เรา​จึง​สนับสนุน​มาตรฐาน​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระ​ยะโฮวา?

3 การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​หมาย​ความ​เช่น​ไร? พูด​ง่าย ๆ การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​ก็​คือ​การ​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย. การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ยัง​รวม​ถึง​การ​พยายาม​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​ค่า​นิยม​และ​มาตรฐาน​ที่​สมบูรณ์​ของ​พระองค์ ไม่​ใช่​ของ​เรา​เอง. (อ่าน​โรม 12:2) การ​ดำเนิน​ชีวิต​เช่น​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​สัมพันธ์​ของ​เรา​กับ​พระ​ยะโฮวา. เรา​ไม่​ได้​เชื่อ​ฟัง​กฎหมาย​ของ​พระองค์​เพราะ​กลัว​ถูก​ลง​โทษ. แต่​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระเจ้า​ต่าง​หาก​ที่​กระตุ้น​เรา​ให้​พยายาม​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​พระทัย​และ​สนับสนุน​มาตรฐาน​ของ​พระองค์​ไม่​ใช่​ตั้ง​มาตรฐาน​ของ​ตัว​เอง​ขึ้น. เรา​ตระหนัก​ว่า​นี่​คือ​สิ่ง​ถูก​ต้อง​ที่​ควร​ทำ และ​เรา​ถูก​สร้าง​มา​ให้​ทำ​อย่าง​นี้. เรา​ต้อง​รัก​ความ​ชอบธรรม​เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู​คริสต์ กษัตริย์​แห่ง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.—ฮีบรู 1:8, 9

4. เหตุ​ใด​การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​จึง​สำคัญ​มาก?

4 การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระ​ยะโฮวา​สำคัญ​ขนาด​ไหน? ขอ​ให้​พิจารณา​ข้อ​เท็จ​จริง​ต่อ​ไป​นี้: ประเด็น​พื้น​ฐาน​ของ​การ​ทดสอบ​แรก​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​สวน​เอเดน​ก็​คือ​อาดาม​และ​ฮาวา​จะ​ยอม​รับ​สิทธิ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​การ​ตั้ง​มาตรฐาน​หรือ​ไม่. (เย. 2:17; 3:5) เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​ยอม​รับ​สิทธิ​ของ​พระเจ้า​ใน​การ​ตั้ง​มาตรฐาน พวก​เรา​ที่​เป็น​ลูก​หลาน​จึง​ต้อง​ประสบ​ความ​ทุกข์​ยาก​และ​ต้อง​ตาย. (โรม 5:12) ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กล่าว​ว่า “คน​ที่​ประพฤติ​ตาม​ความ​ชอบธรรม​และ​ความ​เมตตา​จะ​ประสบ​ชีวิต, ความ​ชอบธรรม​และ​เกียรติศักดิ์.” (สุภา. 21:21) ดัง​นั้น การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​ยัง​ผล​ให้​มี​สาย​สัมพันธ์​ที่​ประสาน​กลมเกลียว​กัน​กับ​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​จะ​นำ​เรา​ไป​สู่​ความ​รอด.—โรม 3:23, 24

อันตราย​ของ​การ​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​ชอบธรรม

5. เรา​ควร​หลีก​เลี่ยง​อันตราย​อะไร?

5 เมื่อ​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม อัครสาวก​เปาโล​เน้น​ถึง​อันตราย​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เรา​ทุก​คน​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​หาก​เรา​ต้องการ​จะ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน. เปาโล​พูด​ถึง​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ชาว​ยิว​ว่า “ข้าพเจ้า​ยืน​ยัน​กับ​พวก​เขา​ว่า พวก​เขา​มี​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​พระเจ้า แต่​ไม่​ได้​เป็น​ไป​ตาม​ความ​รู้​ถ่องแท้ เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​รู้​จัก​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​แต่​พยายาม​ตั้ง​ความ​ชอบธรรม​ของ​ตน​เอง​ขึ้น พวก​เขา​ไม่​ยอม​รับ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า.” (โรม 10:2, 3) ตาม​ที่​เปาโล​กล่าว ผู้​นมัสการ​เหล่า​นั้น​ไม่​เข้าใจ​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​เพราะ​พวก​เขา​หมกมุ่น​อยู่​กับ​การ​ตั้ง​ความ​ชอบธรรม​ของ​ตัว​เอง​ขึ้น. *

6. เรา​ควร​หลีก​เลี่ยง​ทัศนคติ​เช่น​ไร และ​เพราะ​เหตุ​ใด?

6 วิธี​หนึ่ง​ที่​เรา​อาจ​ตก​หลุมพราง​นี้​ก็​คือ​การ​มอง​ว่า​การ​รับใช้​พระเจ้า​ของ​เรา​เป็น​การ​แข่งขัน โดย​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เอง​กับ​คน​อื่น. ทัศนคติ​แบบ​นี้​อาจ​ชัก​นำ​เรา​ให้​มั่น​ใจความ​สามารถ​ของ​ตน​เอง​มาก​เกิน​ไป. แต่​แท้​จริง​แล้ว หาก​เรา​ทำ​อย่าง​นั้น เรา​กำลัง​หลง​ลืม​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระ​ยะโฮวา. (กลา. 6:3, 4) แรง​กระตุ้น​ที่​ถูก​ต้อง​สำหรับ​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​ถูก​คือ​ความ​รัก​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา. ความ​พยายาม​ใด ๆ ที่​จะ​พิสูจน์​ว่า​ตัว​เรา​เอง​ชอบธรรม​อาจ​หักล้าง​คำ​กล่าว​อ้าง​ที่​ว่า​เรา​รัก​พระองค์.—อ่าน​ลูกา 16:15

7. พระ​เยซู​ตรัส​เช่น​ไร​ใน​เรื่อง​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​การ​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​ชอบธรรม?

7 พระ​เยซู​ทรง​เป็น​ห่วง​คน​ที่ “มั่น​ใจ​ว่า​ตน​เอง​ชอบธรรม​และ​ดูถูก​คน​อื่น.” พระองค์​ตรัส​ถึง​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​การ​ถือ​ว่า​ตัว​เอง​ชอบธรรม​โดย​เล่า​อุทาหรณ์​ดัง​ต่อ​ไป​นี้: “มี​สอง​คน​ขึ้น​ไป​อธิษฐาน​ใน​พระ​วิหาร คน​หนึ่ง​เป็น​ฟาริซาย​และ​อีก​คน​หนึ่ง​เป็น​คน​เก็บ​ภาษี. คน​ที่​เป็น​ฟาริซาย​ยืน​อธิษฐาน​ใน​ใจ​ว่า ‘ข้า​แต่​พระเจ้า ข้าพเจ้า​ขอบพระคุณ​พระองค์​ที่​ข้าพเจ้า​ไม่​เหมือน​คน​อื่น ๆ ที่​เป็น​คน​กรรโชก​ทรัพย์ คน​อธรรม คน​เล่นชู้ หรือ​ไม่​เหมือน​คน​เก็บ​ภาษี​คน​นี้. ข้าพเจ้า​อด​อาหาร​สัปดาห์​ละ​สอง​ครั้ง ข้าพเจ้า​ถวาย​หนึ่ง​ใน​สิบ​ของ​ทุก​สิ่ง​ที่​ข้าพเจ้า​ได้​มา.’ แต่​คน​เก็บ​ภาษี​ยืน​อยู่​ห่าง ๆ ไม่​กล้า​เงย​หน้า​มอง​ฟ้า​ด้วย​ซ้ำ เอา​แต่​ตี​อก​ชก​หัว​และ​พูด​ว่า ‘ข้า​แต่​พระเจ้า ขอ​ทรง​โปรด​กรุณา​ข้าพเจ้า​ซึ่ง​เป็น​คน​บาป​เถิด.’ ” พระ​เยซู​ตรัส​ลง​ท้าย​ว่า “เรา​บอก​พวก​เจ้า​ว่า เมื่อ​คน​นี้​กลับ​บ้าน เขา​เป็น​คน​ชอบธรรม​ยิ่ง​กว่า​อีก​คน​หนึ่ง เพราะ​ทุก​คน​ที่​ยก​ตัว​เอง​จะ​ถูก​เหยียด​ลง แต่​คน​ที่​ถ่อม​ตัว​ลง​จะ​ถูก​ยก​ฐานะ​ให้​สูง​ขึ้น.”—ลูกา 18:9-14

อันตราย​ของ​การ “เป็น​คน​ชอบธรรม​เกิน​ไป”

8, 9. การ​เป็น “คน​ชอบธรรม​เกิน​ไป” หมาย​ความ​ว่า​อย่าง​ไร และ​นั่น​อาจ​นำ​เรา​ไป​สู่​อะไร?

8 ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:16 (ฉบับ R​73) กล่าว​ถึง​อันตราย​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ที่​เรา​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​ว่า “อย่า​เป็น​คน​ชอบธรรม​เกิน​ไป และ​อย่า​ฉลาด​เกิน​ตัว เหตุ​ใด​เจ้า​จะ​ทำ​ตัว​ให้​พินาศ​เสีย​เล่า?” แล้ว​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​ผู้​นี้​ก็​กล่าว​ต่อ​ไป​เพื่อ​ให้​เหตุ​ผล​ที่​เรา​ควร​หลีก​เลี่ยง​ทัศนคติ​เช่น​นั้น ดัง​จะ​เห็น​ได้​ใน​ข้อ 20 ว่า “แน่​ที​เดียว ไม่​มี​คน​ชอบธรรม​สัก​คน​เดียว​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​ได้​ประพฤติ​ล้วน​แต่​ความ​ดี​และ​ไม่​กระทำ​บาป​เลย.” คน​ที่​กลาย​เป็น “คน​ชอบธรรม​เกิน​ไป” วาง​มาตรฐาน​ของ​ตัว​เอง​ใน​เรื่อง​ความ​ชอบธรรม​และ​ตัดสิน​คน​อื่น​โดย​อาศัย​มาตรฐาน​นั้น. กระนั้น เขา​ไม่​ตระหนัก​ว่า​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​เป็น​การ​ยก​มาตรฐาน​ของ​ตัว​เอง​เหนือ​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ทำ​ให้​ตัว​เขา​เอง​ไม่​ชอบธรรม​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระเจ้า.

9 การ​เป็น “คน​ชอบธรรม​เกิน​ไป” อาจ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​เรา​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​การ​เรื่อง​ต่าง ๆ. แต่​เรา​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า ถ้า​เรา​สงสัย​การ​ตัดสิน​ของ​พระ​ยะโฮวา​ว่า​ยุติธรรม​หรือ​ถูก​ต้อง​หรือ​ไม่ นั่น​เท่า​กับ​ว่า​เรา​เริ่ม​ตั้ง​มาตรฐาน​ความ​ชอบธรรม​ของ​เรา​เหนือ​มาตรฐาน​ของ​พระ​ยะโฮวา. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ก็​เป็น​เหมือน​กับ​ว่า​เรา​ถือ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​จำเลย และ​ตัดสิน​พระองค์​โดย​ใช้​มาตรฐาน​ของ​เรา​เอง​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด. แต่​ที่​จริง​แล้ว​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ผู้​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​มี​สิทธิ์​ตั้ง​มาตรฐาน​ความ​ชอบธรรม ไม่​ใช่​เรา!—โรม 14:10

10. อะไร​อาจ​ทำ​ให้​เรา​ตัดสิน​พระเจ้า​อย่าง​ที่​โยบ​ทำ?

10 แม้​ว่า​ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​ที่​ต้องการ​ตัดสิน​พระเจ้า​โดย​เจตนา แต่​ลักษณะ​ที่​ไม่​สมบูรณ์​อาจ​นำ​เรา​ไป​สู่​แนว​ทาง​นี้​ได้. เหตุ​การณ์​เช่น​นี้​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ง่าย​เมื่อ​เรา​เห็น​ว่า​มี​บาง​สิ่ง​ที่​ไม่​ยุติธรรม​หรือ​หาก​เรา​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก. แม้​แต่​โยบ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ก็​พลาด​พลั้ง​ใน​เรื่อง​นี้. พระ​คัมภีร์​พรรณนา​ถึง​โยบ​ใน​ตอน​เริ่ม​แรก​ว่า “เป็น​คน​ดี​รอบคอบ​และ​ชอบธรรม, เป็น​ผู้​ยำเกรง​พระเจ้า​และ​หลบ​หลีก​จาก​ความ​ชั่ว.” (โยบ 1:1) แต่​แล้ว​โยบ​ประสบ​ภัย​พิบัติ​อย่าง​แล้ว​อย่าง​เล่า​ที่​ทำ​ให้​ท่าน​รู้สึก​ว่า​ไม่​ยุติธรรม. นั่น​ทำ​ให้​โยบ​ประกาศ​ว่า ท่าน “เป็น​ฝ่าย​ถูก​ยิ่ง​กว่า​พระเจ้า.” (โยบ 32:1, 2) โยบ​ต้อง​ปรับ​ทัศนะ​ของ​ท่าน​ให้​ถูก​ต้อง. ดัง​นั้น เรา​ไม่​ควร​แปลก​ใจ​ถ้า​ใน​บาง​ครั้ง​เรา​พบ​ว่า​เรา​เอง​อยู่​ใน​สถานการณ์​คล้าย ๆ กัน​นั้น. ถ้า​เกิด​เหตุ​การณ์​อย่าง​นั้น​ขึ้น อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ปรับ​ความ​คิด​ของ​เรา​ให้​ถูก​ต้อง?

เรา​ไม่​รู้​ข้อ​เท็จ​จริง​ทั้ง​หมด​เสมอ​ไป

11, 12. (ก) ถ้า​เรา​รู้สึก​ว่า​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ไม่​ยุติธรรม เรา​ต้อง​จำ​อะไร​ไว้? (ข) เหตุ​ใด​บาง​คน​อาจ​รู้สึก​ว่า​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​คน​งาน​สวน​องุ่น​มี​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​ไม่​ยุติธรรม?

11 สิ่ง​แรก​ที่​ควร​จำ​ไว้​คือ​เรา​ไม่​รู้​ข้อ​เท็จ​จริง​ทั้ง​หมด​เสมอ​ไป. เป็น​เช่น​นั้น​ใน​กรณี​ของ​โยบ. ท่าน​ไม่​รู้​เรื่อง​การ​ประชุม​ใน​สวรรค์​ของ​เหล่า​ทูตสวรรค์​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ซาตาน​ได้​กล่าวหา​ท่าน​อย่าง​ผิด ๆ. (โยบ 1:7-12; 2:1-6) โยบ​ไม่​รู้​ว่า​ปัญหา​ของ​ท่าน​ที่​แท้​แล้ว​เกิด​มา​จาก​ซาตาน. ที่​จริง เรา​ไม่​อาจ​แน่​ใจ​ได้​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​โยบ​รู้​หรือ​ไม่​ว่า​มี​ซาตาน! ดัง​นั้น ท่าน​ทึกทัก​อย่าง​ผิด ๆ ว่า​ปัญหา​ของ​ท่าน​เกิด​มา​จาก​พระเจ้า. เป็น​เรื่อง​ง่าย​ที่​อาจ​ลง​ความ​เห็น​อย่าง​ผิด ๆ เมื่อ​เรา​ไม่​รู้​ข้อ​เท็จ​จริง​ทุก​อย่าง.

12 ตัว​อย่าง​เช่น ขอ​ให้​พิจารณา​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​คน​งาน​สวน​องุ่น. (อ่าน​มัดธาย 20:8-16) ใน​ที่​นี้ พระ​เยซู​ทรง​พรรณนา​ถึง​เจ้าของ​สวน​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​จ่าย​เงิน​ให้​คน​งาน​ทุก​คน​เท่า​กัน ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​ทำ​งาน​เต็ม​วัน​หรือ​เพียง​แค่​ชั่วโมง​เดียว. คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้? ดู​เหมือน​ว่า​นั่น​ไม่​ยุติธรรม​ไหม? คุณ​อาจ​รู้สึก​เห็น​ใจ​คน​งาน​ที่​ทำ​งาน​กรำ​แดด​ทั้ง​วัน. แน่​ละ พวก​เขา​สม​ควร​จะ​ได้​รับ​ค่า​จ้าง​มาก​กว่า! โดย​ลง​ความ​เห็น​อย่าง​นี้​เรา​อาจ​มอง​ว่า​เจ้าของ​สวน​คน​นี้​ไม่​มี​ความ​รัก​และ​ไม่​ยุติธรรม. แม้​แต่​คำ​ตอบ​ที่​เจ้าของ​สวน​ให้​แก่​คน​งาน​ที่​บ่น​ต่อ​ว่า​ก็​อาจ​ดู​เหมือน​เขา​ใช้​อำนาจ​ตาม​อำเภอใจ. แต่​เรา​รู้​ข้อ​เท็จ​จริง​ทุก​อย่าง​ไหม?

13. มี​มุม​มอง​อีก​อย่าง​หนึ่ง​อะไร​ที่​เรา​จะ​วิเคราะห์​ได้​เกี่ยว​กับ​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​คน​งาน​สวน​องุ่น?

13 ให้​เรา​มา​วิเคราะห์​อุทาหรณ์​นี้​จาก​อีก​มุม​มอง​หนึ่ง. ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า เจ้าของ​สวน​ใน​อุทาหรณ์​รู้​ว่า​คน​งาน​ทุก​คน​ต้อง​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว. ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู คน​งาน​ใน​สวน​ได้​รับ​ค่า​จ้าง​เป็น​ราย​วัน. ครอบครัว​ของ​พวก​เขา​ต้อง​พึ่ง​ค่า​จ้าง​ที่​ได้​รับ​ใน​แต่​ละ​วัน. เมื่อ​คำนึง​ถึง​เรื่อง​นี้​แล้ว ขอ​ให้​คิด​เกี่ยว​กับ​สถานการณ์​ของ​คน​งาน​ที่​เจ้าของ​สวน​พบ​ใน​ตอน​บ่าย​แก่ ๆ และ​จึง​ทำ​งาน​ได้​แค่​ชั่วโมง​เดียว. พวก​เขา​อาจ​ไม่​สามารถ​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว​ได้​ด้วย​ค่า​จ้าง​สำหรับ​การ​ทำ​งาน​ชั่วโมง​เดียว แต่​พวก​เขา​ก็​เต็ม​ใจ​จะ​ทำ​งาน​และ​คอย​ทั้ง​วัน​จน​กว่า​มี​คน​มา​ว่า​จ้าง. (มัด. 20:1-7) ไม่​ใช่​ความ​ผิด​ของ​พวก​เขา​ที่​ไม่​ได้​ทำ​งาน​เต็ม​วัน. ไม่​มี​อะไร​บ่ง​บอก​เลย​ว่า​พวก​เขา​จงใจ​หลบ​เลี่ยง​งาน. ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ว่า​ถ้า​คุณ​ต้อง​คอย​ทั้ง​วัน​โดย​รู้​ว่า​มี​คน​อื่น​ต้อง​พึ่ง​เงิน​ที่​คุณ​จะ​หา​ได้​ใน​วัน​นั้น. คุณ​จะ​รู้สึก​ขอบคุณ​สัก​เพียง​ไร​ที่​อย่าง​น้อย​ก็​ได้​ทำ​งาน​บ้าง และ​คุณ​คง​แปลก​ใจ​สัก​เพียง​ไร​ที่​ได้​รับ​ค่า​จ้าง​เพียง​พอ​ที่​จะ​เลี้ยง​ดู​ครอบครัว!

14. เรา​ได้​บทเรียน​อัน​มี​ค่า​อะไร​จาก​อุทาหรณ์​เรื่อง​สวน​องุ่น?

14 ตอน​นี้​ขอ​ให้​เรา​มา​ประเมิน​การ​กระทำ​ของ​เจ้าของ​สวน​กัน​ใหม่. เขา​ไม่​ได้​จ่าย​ให้​ใคร​น้อย​เกิน​ไป. แต่​เขา​ถือ​ว่า​คน​งาน​ทุก​คน​ต่าง​มี​สิทธิ์​จะ​เลี้ยง​ดู​ตัว​เอง และ​ครอบครัว. เนื่อง​จาก​มี​คน​งาน​มาก​มาย​ที่​อยาก​ได้​งาน เจ้าของ​สวน​อาจ​ฉวย​ประโยชน์​จาก​สถานการณ์​นี้​เพื่อ​จะ​กด​ค่า​จ้าง​คน​งาน. แต่​เขา​ไม่​ได้​ทำ​อย่าง​นั้น. คน​งาน​ทุก​คน​กลับ​บ้าน​โดย​มี​เงิน​เพียง​พอ​ที่​จะ​เลี้ยง​ครอบครัว. เมื่อ​พิจารณา​ราย​ละเอียด​เหล่า​นี้​แล้ว​เรา​อาจ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ของ​เรา​ที่​มี​ต่อ​การ​กระทำ​ของ​เจ้าของ​สวน. การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เขา​เป็น​การ​กระทำ​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก ไม่​ใช่​การ​ใช้​อำนาจ​ตาม​อำเภอใจ. เรา​เรียน​อะไร​ได้​จาก​เรื่อง​นี้? การ​พิจารณา​ข้อ​เท็จ​จริง​เพียง​แค่​บาง​ส่วน อาจ​ทำ​ให้​เรา​ลง​ความ​เห็น​อย่าง​ผิด ๆ. ที่​จริง อุทาหรณ์​นี้​เน้น​ให้​เห็น​ว่า​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​สูง​ส่ง​กว่า เพราะ​ไม่​ได้​อาศัย​ตัว​บท​กฎหมาย​และ​คุณ​ความ​ดี​ของ​มนุษย์​เท่า​นั้น.

มุม​มอง​ของ​เรา​อาจ​ผิด​เพี้ยน​หรือ​แคบ​เกิน​ไป

15. เหตุ​ใด​มุม​มอง​ของ​เรา​เกี่ยว​กับ​ความ​ยุติธรรม​อาจ​ผิด​เพี้ยน​หรือ​แคบ​เกิน​ไป?

15 อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ควร​จำ​ไว้​เมื่อ​เรา​เผชิญ​กับ​สถานการณ์​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​ไม่​ยุติธรรม​คือ​มุม​มอง​ของ​เรา​อาจ​ผิด​เพี้ยน​หรือ​แคบ​เกิน​ไป. มุม​มอง​ของ​เรา​อาจ​ผิด​เพี้ยน​ไป​ได้​เพราะ​ความ​ไม่​สมบูรณ์, อคติ, หรือ​ภูมิหลัง​ด้าน​วัฒนธรรม. นอก​จาก​นั้น มุม​มอง​ของ​เรา​อาจ​แคบ​เกิน​ไป​ด้วย​เพราะ​เรา​ไม่​สามารถ​รู้​แรง​กระตุ้น​หรือ​รู้​ว่า​จริง ๆ แล้ว​มี​อะไร​อยู่​ใน​ใจ​ของ​ผู้​คน. ตรง​กัน​ข้าม ทั้ง​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู​ไม่​มี​ข้อ​จำกัด​อย่าง​นั้น.—สุภา. 24:12; มัด. 9:4; ลูกา 5:22

16, 17. เมื่อ​ดาวิด​ทำ​บาป​กับ​นาง​บัธเซบะ เหตุ​ใด​พระ​ยะโฮวา​ไม่​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​ของ​พระองค์​ว่า​ด้วย​การ​เล่นชู้?

16 ให้​เรา​มา​วิเคราะห์​เรื่อง​ราว​ของ​ดาวิด​ที่​เล่นชู้​กับ​นาง​บัธเซบะ. (2 ซามู. 11:2-5) ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ ทั้ง​สอง​ควร​ถูก​ประหาร​ชีวิต. (เลวี. 20:10; บัญ. 22:22) แม้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ลง​โทษ​ทั้ง​สอง แต่​พระองค์​ไม่​ได้​บังคับ​ใช้​กฎหมาย​ของ​พระองค์​เอง. พระ​ยะโฮวา​ไม่​ยุติธรรม​ไหม? พระองค์​เข้า​ข้าง​ดาวิด​และ​ฝ่าฝืน​มาตรฐาน​อัน​ชอบธรรม​ของ​พระองค์​เอง​ไหม? ผู้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​คน​คิด​อย่าง​นั้น.

17 อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​ประทาน​กฎหมาย​ว่า​ด้วย​การ​เล่นชู้​นี้​แก่​ผู้​พิพากษา​ที่​เป็น​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​ซึ่ง​ไม่​สามารถ​อ่าน​หัวใจ​ได้. แม้​มี​ข้อ​จำกัด กฎหมาย​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​สามารถ​ตัดสิน​ได้​อย่าง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย. ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม พระ​ยะโฮวา​ทรง​อ่าน​หัวใจ​มนุษย์​ได้. (เย. 18:25; 1 โคร. 29:17) ดัง​นั้น เรา​ไม่​ควร​คาด​หมาย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ต้อง​ถูก​จำกัด​ด้วย​กฎหมาย​ที่​พระองค์​ทรง​ตรา​ไว้​สำหรับ​ผู้​พิพากษา​ที่​ไม่​สมบูรณ์. หาก​เป็น​เช่น​นั้น นั่น​ย่อม​เหมือน​กับ​การ​บังคับ​ใคร​คน​หนึ่ง​ที่​มี​สายตา​ดี​เยี่ยม​ให้​สวม​แว่น​สายตา​สำหรับ​คน​ที่​การ​มอง​เห็น​บกพร่อง​มิ​ใช่​หรือ? พระ​ยะโฮวา​ทรง​สามารถ​อ่าน​หัวใจ​ของ​ดาวิด​และ​นาง​บัธเซบะ​และ​เห็น​ว่า​เขา​ทั้ง​สอง​กลับ​ใจ​จริง ๆ. เมื่อ​พิจารณา​ปัจจัย​ดัง​กล่าว พระองค์​จึง​พิพากษา​พวก​เขา​ตาม​นั้น​ใน​แบบ​ที่​เมตตา​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก.

จง​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระ​ยะโฮวา​ต่อ ๆ ไป

18, 19. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ไม่​ให้​ตัดสิน​พระ​ยะโฮวา​โดย​อาศัย​มาตรฐาน​ความ​ชอบธรรม​ของ​เรา​เอง?

18 ดัง​นั้น ถ้า​บาง​ครั้ง​เรา​เห็น​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​เรา​รู้สึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ยุติธรรม ไม่​ว่า​เรา​อ่าน​เรื่อง​นั้น​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง ขอ​เรา​อย่า​ตัดสิน​พระเจ้า​โดย​อาศัย​มาตรฐาน​ความ​ชอบธรรม​ของ​เรา​เอง. จำ​ไว้​ว่า เรา​ไม่​รู้​ข้อ​เท็จ​จริง​ทั้ง​หมด​เสมอ​ไป​และ​มุม​มอง​ของ​เรา​อาจ​ผิด​เพี้ยน​หรือ​แคบ​เกิน​ไป. อย่า​ลืม​ว่า “ความ​โกรธ​ของ​มนุษย์​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ชอบธรรม​ตาม​ที่​พระเจ้า​ประสงค์.” (ยโก. 1:19, 20) โดย​วิธี​นี้ ใจ​เรา​จะ​ไม่ “ขุ่นเคือง​ต่อ​พระ​ยะโฮวา.”—สุภา. 19:3, ล.ม.

19 เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู ขอ​ให้​เรา​ยอม​รับ​เสมอ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เพียง​ผู้​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​มี​สิทธิ์​ตั้ง​มาตรฐาน​ว่า​อะไร​ชอบธรรม​และ​อะไร​ดี. (มโก. 10:17, 18) จง​พากเพียร​ใน​การ​รับ “ความ​รู้​ถ่องแท้” ใน​เรื่อง​มาตรฐาน​ของ​พระองค์. (โรม 10:2; 2 ติโม. 3:7) การ​ยอม​รับ​อย่าง​นั้น​และ​ดำเนิน​ชีวิต​สอดคล้อง​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​กำลัง​แสวง​หา “ความ​ชอบธรรม​ของ​พระองค์” ก่อน.—มัด. 6:33

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 ตาม​ที่​ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​กล่าว​ไว้ คำ​ภาษา​เดิม​ที่​แปล​ไว้​ว่า “ตั้ง” ยัง​อาจ​มี​ความ​หมาย​ด้วย​ว่า ‘สร้าง​อนุสาวรีย์.’ ดัง​นั้น พวก​ยิว​เหล่า​นี้​จึง​ทำ​ประหนึ่ง​สร้าง​อนุสาวรีย์​โดย​นัย​เพื่อ​สรรเสริญ​ตัว​เอง​ไม่​ใช่​เพื่อ​สรรเสริญ​พระเจ้า.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• เหตุ​ใด​การ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระ​ยะโฮวา​จึง​สำคัญ?

• อันตราย​สอง​อย่าง​อะไร​ที่​เรา​ต้อง​หลีก​เลี่ยง?

• เรา​จะ​แสวง​หา​ความ​ชอบธรรม​ของ​พระเจ้า​ก่อน​ได้​อย่าง​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 9]

เรา​เรียน​รู้​อะไร​จาก​อุทาหรณ์​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​ชาย​สอง​คน​ที่​อธิษฐาน ณ พระ​วิหาร?

[ภาพ​หน้า 10]

เป็น​เรื่อง​ไม่​ยุติธรรม​ไหม​ที่​เจ้าของ​สวน​จ่าย​ค่า​จ้าง​ให้​คน​ที่​ทำ​งาน​ตอน​ห้า​โมง​เย็น​เท่า​กับ​คน​ที่​ทำ​งาน​เต็ม​วัน?