ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 2

กรุงเยรูซาเลมโบราณถูกทำลายเมื่อไร?—ตอน 2

กรุง​เยรูซาเลม​โบราณ​ถูก​ทำลาย​เมื่อ​ไร?​—ตอน 2

บันทึก​บน​แผ่นดิน​เหนียว​บอก​อะไร​กัน​แน่?

บทความ​นี้​เป็น​ตอน​ที่​สอง​ใน​ชุด​บทความ​สอง​ตอน​ที่​ลง​ติด​ต่อ​กัน​ใน​หอสังเกตการณ์ ซึ่ง​พิจารณา​คำ​ถาม​ของ​ผู้​สนใจ​ด้าน​ประวัติศาสตร์​เกี่ยว​กับ​ปี​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ครั้ง​แรก. ชุด​บทความ​สอง​ตอน​นี้​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​ที่​ผู้​อ่าน​บาง​คน​สงสัย​โดย​อาศัย​การ​ค้นคว้า​อย่าง​ถี่ถ้วน​และ​หลักฐาน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล.

ข้อ​สรุป​จาก​ตอน​หนึ่ง​มี​ดัง​ต่อ​ไป​นี้:

▪ นัก​ประวัติศาสตร์​ส่วน​ใหญ่​กล่าว​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 587 ก่อน ส.ศ. *

▪ การ​ลำดับ​เวลา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​บ่ง​ชี้​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ.

▪ ข้อ​สรุป​ของ​นัก​ประวัติศาสตร์​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​ข้อ​เขียน​ของ​นัก​ประวัติศาสตร์​ยุค​กรีก​โรมัน​และ​ราย​ชื่อ​ของ​ปโตเลมี.

▪ ข้อ​เขียน​บาง​ส่วน​ของ​นัก​ประวัติศาสตร์​ยุค​กรีก​โรมัน​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​ที่​สำคัญ​หลาย​อย่าง​และ​มัก​ไม่​ตรง​กับ​บันทึก​บน​แผ่นดิน​เหนียว. *

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​เชลย​ชาว​ยิว​จะ​ถูก​เนรเทศ​ไป​อยู่​ที่​กรุง​บาบิโลน “จน​ครบ​เจ็ด​สิบ​ปี​ตาม​ที่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ตรัส​ไว้​ผ่าน​ทาง​เยเรมีย์.” พวก​เขา​ถูก​ปล่อย​ตัว​เมื่อ​ไร? ใน “ปี​ที่​หนึ่ง [ปี​รัชกาล] ของ​กษัตริย์​ไซรัส​แห่ง​เปอร์เซีย.” (2 โครนิกา 36:21, 22, ฉบับ​อมตธรรม​ร่วม​สมัย ) ประวัติศาสตร์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ประวัติศาสตร์​โลก​ต่าง​ก็​ชี้​ว่า​การ​เนรเทศ​ชาว​ยิว​ไป​ยัง​บาบิโลน​สิ้น​สุด​ลง​หลัง​จาก​ไซรัส​พิชิต​บาบิโลน​ได้​และ​ปล่อย​ชาว​ยิว​กลับ​ไป​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ปี 537 ก่อน ส.ศ. เนื่อง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ชัดเจน​ว่า​ชาว​ยิว​ต้อง​เป็น​เชลย​นาน​ถึง 70 ปี ดัง​นั้น ปี​ที่​พวก​เขา​ถูก​เนรเทศ​จึง​ต้อง​เป็น​ปี 607 ก่อน ส.ศ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม นัก​วิชาการ​ส่วน​ใหญ่​ระบุ​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 587 ก่อน ส.ศ. นั่น​เท่า​กับ​ว่า​ชาว​ยิว​จะ​เป็น​เชลย​เพียง 50 ปี​เท่า​นั้น. ทำไม​พวก​เขา​จึง​สรุป​เช่น​นั้น? เพราะ​พวก​เขา​คำนวณ​วัน​เวลา​ดัง​กล่าว​โดย​อาศัย​เอกสาร​อักษร​รูป​ลิ่ม​ซึ่ง​มี​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​กษัตริย์​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 และ​กษัตริย์​องค์​อื่น ๆ ที่​สืบ​ราชสมบัติ​ต่อ​จาก​ท่าน.1 เอกสาร​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​เขียน​โดย​ผู้​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​ตอน​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​หรือ​ใน​ช่วง​เวลา​ใกล้​เคียง​กัน​นั้น. แต่​การ​คำนวณ​ของ​บรรดา​นัก​วิชาการ​ที่​ระบุ​ว่า​เป็น​ปี 587 ก่อน ส.ศ. เชื่อถือ​ได้​มาก​น้อย​แค่​ไหน? เอกสาร​อักษร​รูป​ลิ่ม​เหล่า​นี้​บอก​อะไร​กัน​แน่?

เพื่อ​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​สอง​ข้อ​นี้ ขอ​ให้​พิจารณา​เอกสาร​สาม​ประเภท​ที่​นัก​วิชาการ​มัก​อ้าง​ถึง​คือ (1) พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน (2) บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ขาย​บน​แผ่นดิน​เหนียว และ (3) บันทึก​ทาง​ดาราศาสตร์​บน​แผ่นดิน​เหนียว.

พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน

คือ​อะไร? พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​คือ​ชุด​แผ่นดิน​เหนียว​ที่​บันทึก​เรื่อง​ราว​และ​เหตุ​การณ์​สำคัญ​ทาง​ประวัติศาสตร์​ของ​ชาว​บาบิโลน.2

ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​อย่าง​ไร? อาร์. เอช. แซ็ก ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​เอกสาร​อักษร​รูป​ลิ่ม​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​ไม่​ได้​ให้​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​สำคัญ ๆ ไว้​อย่าง​ครบ​ถ้วน. * เขา​เขียน​ว่า​นัก​ประวัติศาสตร์​ต้อง​ค้นคว้า​เพิ่ม​เติม​จาก “แหล่ง​ข้อมูล​อื่น . . . จึง​จะ​แน่​ใจ​ได้​ว่า​เหตุ​การณ์​จริง​เป็น​อย่าง​ไร.”

หลักฐาน​เหล่า​นั้น​บอก​อะไร? ประวัติศาสตร์​ที่​บันทึก​ใน​พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​มี​ช่วง​ที่​ขาด​หาย​ไป​หลาย​ช่วง.3 (ดู​ กรอบ​ข้าง​ล่าง.) ดัง​นั้น จึง​นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​ถาม​ว่า ข้อ​สรุป​ที่​อาศัย​ข้อมูล​จาก​พงศาวดาร​ที่​ไม่​สมบูรณ์​เช่น​นี้​จะ​เชื่อถือ​ได้​มาก​แค่​ไหน?

บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ขาย​บน​แผ่นดิน​เหนียว

คือ​อะไร? บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ขาย​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่​คือ​ใบ​เสร็จ​รับ​เงิน​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย. บันทึก​เหล่า​นี้​ระบุ​วัน​ที่ เดือน และ​ปี​แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​กษัตริย์​ใน​เวลา​นั้น​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น แผ่นดิน​เหนียว​แผ่น​หนึ่ง​บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​เจรจา​ซื้อ​ขาย​ที่​ทำ​กัน​ใน “วัน​ที่ 27 เดือน​นิซาน ปี​ที่ 11 ใน​รัชกาล​ของ​นะบูคัดเนซัร [หรือ​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2] กษัตริย์​แห่ง​บาบิโลน.”4

เมื่อ​กษัตริย์​องค์​หนึ่ง​สิ้น​พระ​ชนม์​หรือ​ถูก​ถอด​ออก​จาก​ตำแหน่ง​แล้ว​มี​กษัตริย์​องค์​ใหม่​ขึ้น​ครอง​ราชย์ เดือน​ที่​เหลือ​อยู่​ใน​ปี​นั้น​ถือ​ว่า​เป็น​ปี​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ของ​กษัตริย์​องค์​ใหม่. *5 หรือ​อาจ​กล่าว​ได้​ว่า การ​เปลี่ยน​รัชกาล​จาก​กษัตริย์​องค์​หนึ่ง​ไป​เป็น​อีก​องค์​หนึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี​เดียว​กัน​ตาม​ปฏิทิน​ของ​ชาว​บาบิโลน. ดัง​นั้น แผ่นดิน​เหนียว​ที่​ทำ​ขึ้น​ใน​ช่วง​ปี​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ของ​กษัตริย์​องค์​ใหม่ ตาม​หลัก​เหตุ​ผล​แล้ว​ต้อง​ระบุ​เดือน​ที่​ต่อ​จาก​เดือน​สุด​ท้าย​ของ​กษัตริย์​องค์​ก่อน.

ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​อย่าง​ไร? อาร์. เอช. แซ็ก ได้​ตรวจ​สอบ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ขาย​หลาย​ฉบับ​ที่​ทำ​ขึ้น​ใน​สมัย​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่. หลัง​จาก​ที่​เขา​ได้​ศึกษา​บันทึก​บน​แผ่นดิน​เหนียว​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​บริเตน​ซึ่ง​ยัง​ไม่​ถูก​ตี​พิมพ์ ใน​ปี 1972 แซ็ก​เขียน​ว่า​ข้อมูล​บน​แผ่นดิน​เหนียว​ได้ “ลบ​ล้าง” ข้อ​สรุป​ที่​นัก​วิชาการ​เคย​ให้​ไว้​ก่อน​หน้า​นี้​เกี่ยว​กับ​การ​เปลี่ยน​รัชกาล​จาก​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 มา​เป็น​โอรส​ของ​เขา​คือ​อา​เมล-มาร์ดุก (หรือ​เอวิล-มะโรดัค).6 เป็น​เช่น​นั้น​ได้​อย่าง​ไร? แซ็ก​รู้​ว่า​แผ่นดิน​เหนียว​ต่าง ๆ แสดง​ว่า​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 ยัง​ปกครอง​อยู่​ใน​เดือน​ที่​หก​ของ​ปี​สุด​ท้าย​ที่​เขา​ครอง​ราชย์ (ปี​ที่ 43). อย่าง​ไร​ก็​ตาม แผ่นดิน​เหนียว​ที่​เพิ่ง​ถอด​ความ​ใหม่​เหล่า​นี้​ซึ่ง​ทำ​ขึ้น​ใน​ช่วง​ปี​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ของ​อา​เมล-มาร์ดุก​กษัตริย์​องค์​ต่อ​มา​กลับ​ลง​บันทึก​ว่า​เป็น​เดือน​ที่​สี่ และ​ห้า ของ​ปี​ที่​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ปี​เดียว​กัน.7 เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ข้อมูล​ใน​บันทึก​เหล่า​นี้​ขัด​แย้ง​กัน.

หลักฐาน​เหล่า​นั้น​บอก​อะไร? มี​ความ​ขัด​แย้ง​อื่น ๆ ใน​เรื่อง​การ​เปลี่ยน​กษัตริย์​จาก​องค์​หนึ่ง​ไป​เป็น​อีก​องค์​หนึ่ง. ตัว​อย่าง​เช่น บันทึก​ที่​เพิ่ง​ถอด​ความ​ใหม่​นี้​แสดง​ว่า​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 ยัง​คง​ปกครอง​อยู่​ใน​เดือน​ที่​สิบ​ของ​ปี​สุด​ท้าย​ของ​เขา ซึ่ง​เคย​เชื่อ​กัน​ว่า​ใน​ช่วง​นั้น​กษัตริย์​องค์​ใหม่​ได้​เริ่ม​ครอง​ราชย์​มา​หก​เดือน​แล้ว.8 นอก​จาก​นั้น ยัง​มี​ความ​ขัด​แย้ง​เกี่ยว​กับ​การ​เปลี่ยน​รัชกาล​จาก​อา​เมล-มาร์ดุก​เป็น​เนรีกลิสซาร์​อีก​ด้วย.9

ทำไม​ความ​ขัด​แย้ง​เหล่า​นี้​จึง​เป็น​เรื่อง​ที่​ไม่​อาจ​มอง​ข้าม​ได้? ดัง​ที่​กล่าว​ใน​ตอน​ต้น พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​ที่​มี​ช่อง​โหว่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เรา​ไม่​มี​บันทึก​เรื่อง​ราว​ทาง​ประวัติศาสตร์​ที่​ต่อ​เนื่อง​และ​ครบ​ถ้วน.10 เป็น​ไป​ได้​ไหม​ว่า​เคย​มี​กษัตริย์​องค์​อื่น​คั่น​อยู่​ระหว่าง​กษัตริย์​เหล่า​นั้น? ถ้า​อย่าง​นั้น​ช่วง​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่​ก็​คง​ต้อง​ยาว​นาน​ขึ้น. ดัง​นั้น ทั้ง​พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​และ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ขาย​บน​แผ่นดิน​เหนียว​จึง​ไม่​อาจ​ใช้​เป็น​ข้อมูล​พิสูจน์​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 587 ก่อน ส.ศ. อย่าง​ที่​คิด​กัน. *

บันทึก​ทาง​ดาราศาสตร์​บน​แผ่นดิน​เหนียว

คือ​อะไร? บันทึก​ทาง​ดาราศาสตร์​คือ​เอกสาร​อักษร​รูป​ลิ่ม​ที่​บอก​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​อาทิตย์ ดวง​จันทร์ ดาว​เคราะห์ และ​ดาว​ฤกษ์​ต่าง ๆ รวม​ถึง​ข้อมูล​ทาง​ประวัติศาสตร์ เช่น ปี​แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​ผู้​ที่​ปกครอง​ใน​ช่วง​เวลา​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น บันทึก​ประจำ​วัน​ทาง​ดาราศาสตร์​ที่​แสดง​ไว้​ข้าง​ล่าง​นี้​กล่าว​ถึง​จันทรุปราคา​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​เดือน​ที่​หนึ่ง ปี​ที่​หนึ่ง​ของ​กษัตริย์​มูคิน-เซรี.11

ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​อย่าง​ไร? ผู้​เชี่ยวชาญ​ยอม​รับ​ว่า​ชาว​บาบิโลน​ทำ​แผนที่​ดวง​ดาว​ได้​ละเอียด​ถี่ถ้วน​และ​มี​วิธี​พยากรณ์​การ​เกิด​จันทรุปราคา​ที่​ค่อนข้าง​แม่นยำ.12

แต่​ชาว​บาบิโลน​จะ​คำนวณ​ย้อน​หลัง​เพื่อ​ระบุ​เวลา​ที่​เกิด​จันทรุปราคา​ใน​อดีต​ได้​ไหม? ศาสตราจารย์​จอห์น สตีลเล กล่าว​ว่า “เป็น​ไป​ได้​ว่า​ผู้​ทำ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​เกิด​จันทรุปราคา​ใน​ยุค​แรก ๆ ได้​ใช้​วิธี​คำนวณ​ย้อน​หลัง.” (เรา​ทำ​ให้​เป็น​ตัว​เอน.)13 ศาสตราจารย์​เดวิด บราวน์​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​เชื่อ​ว่า​แผนที่​ดวง​ดาว​พร้อม​กับ​การ​พยากรณ์​เหล่า​นี้​ทำ​ขึ้น​ไม่​นาน​ก่อน​ที่​จันทรุปราคา​จะ​เกิด​ขึ้น​และ​ถูก​บันทึก​เอา​ไว้. เขา​ยอม​รับ​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​ข้อมูล​เหล่า​นี้​บาง​ส่วน​เกิด​จาก “การ​คำนวณ​ย้อน​หลัง โดย​ผู้​บันทึก​ข้อมูล​ใน​ศตวรรษ​ที่ 4 ก่อน​คริสต์ศักราช​และ​ศตวรรษ​ต่อ ๆ มา.”14 การ​คำนวณ​ย้อน​หลัง​เช่น​นี้​จะ​เชื่อถือ​ได้​จริง ๆ ไหม​ถ้า​ไม่​มี​หลักฐาน​อื่น​สนับสนุน?

แม้​จะ​มี​จันทรุปราคา​เกิด​ขึ้น​จริง​ใน​วัน​ที่​มี​การ​พยากรณ์​ไว้ แต่​นั่น​จะ​หมาย​ความ​ว่า​ข้อมูล​ทาง​ประวัติศาสตร์ ที่​บันทึก​ไว้​ด้วย​กัน​ถูก​ต้อง​เสมอ​ไป​ไหม? ไม่. ผู้​เชี่ยวชาญ​ชื่อ อาร์. เจ. วาน เดอ สเปก อธิบาย​ว่า “ผู้​บันทึก​ข้อมูล​เหล่า​นี้​เป็น​โหราจารย์ ไม่​ใช่​นัก​ประวัติศาสตร์.” เขา​บอก​ว่า​ข้อมูล​บน​แผ่นดิน​เหนียว​ส่วน​ที่​เป็น​บันทึก​ทาง​ประวัติศาสตร์ “ไม่​แม่นยำ​เท่า​ที่​ควร” และ​เขา​เตือน​ว่า​ควร​ใช้​ข้อมูล​ทาง​ประวัติศาสตร์​เหล่า​นี้ “อย่าง​รอบคอบ.”15

หลักฐาน​เหล่า​นั้น​บอก​อะไร? ขอ​พิจารณา​แผ่น​จารึก​ดิน​เหนียว VAT 4956 เป็น​ตัว​อย่าง. บรรทัด​แรก​บน​แผ่นดิน​เหนียว​นี้​เขียน​ว่า “ปี​ที่ 37 ของ​นะบูคัดเนซัร กษัตริย์​แห่ง​บาบิโลน.”16 จาก​นั้น มี​การ​ให้​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​และ​ดาว​เคราะห์​ต่าง ๆ ที่​สัมพันธ์​กับ​ดาว​ฤกษ์​และ​กลุ่ม​ดาว​อื่น ๆ. นอก​จาก​นั้น แผ่น​จารึก​นี้​ยัง​บอก​ว่า​มี​จันทรุปราคา​เกิด​ขึ้น​หนึ่ง​ครั้ง​ด้วย. พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า การ​เรียง​ตัว​ของ​ดวง​ดาว​ตาม​ตำแหน่ง​ที่​บอก​ไว้​บน​แผ่นดิน​เหนียว​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 568/567 ก่อน ส.ศ. ฉะนั้น ปี​ที่ 18 ของ​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 ซึ่ง​เป็น​ปี​ที่​เขา​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม​ก็​คือ​ปี 587 ก่อน ส.ศ. แต่​ข้อมูล​ทาง​ดาราศาสตร์​เหล่า​นี้​ชี้​ถึง​ปี 568/567 ก่อน ส.ศ. เท่า​นั้น ไหม?

แผ่น​จารึก​นั้น​บอก​ว่า​มี​การ​คำนวณ​ว่า​จันทรุปราคา​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 15 เดือน​ที่​สาม​หรือ​เดือน​ซิมานุ​ตาม​ปฏิทิน​ของ​ชาว​บาบิโลน. จริง​อยู่ เคย​มี​จันทรุปราคา​เกิด​ขึ้น​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​วัน​ที่ 4 กรกฎาคม (ตาม​ปฏิทิน​จูเลียน) ของ​เดือน​ซิมานุ ปี 568 ก่อน ส.ศ. แต่​เมื่อ 20 ปี​ก่อน​หน้า​นั้น​ก็​เคย​มี​จันทรุปราคา​เกิด​ขึ้น​เช่น​กัน​คือ​ใน​วัน​ที่ 15 กรกฎาคม ปี 588 ก่อน ส.ศ.​17

ถ้า​ปี 588 ก่อน ส.ศ. เป็น​ปี​ที่ 37 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 ดัง​นั้น ปี​ที่ 18 ของ​เขา​ก็​จะ​ต้อง​เป็น​ปี 607 ก่อน ส.ศ. และ​ปี​นี้​แหละ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ชี้​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย! (ดู​ แผนภูมิ​แสดง​ลำดับ​เวลา​ข้าง​ล่าง.) แต่ VAT 4956 ให้​หลักฐาน​ยืน​ยัน​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ไหม?

นอก​จาก​เรื่อง​จันทรุปราคา​ที่​กล่าว​มา​แล้ว แผ่น​จารึก​ดิน​เหนียว​นี้​ยัง​มี​ชุด​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ตำแหน่ง​ดวง​จันทร์ 13 ชุด​และ​ดาว​เคราะห์​อีก 15 ชุด. ข้อมูล​เหล่า​นี้​บอก​ให้​รู้​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​หรือ​ดาว​เคราะห์​ที่​สัมพันธ์​กับ​ดาว​ฤกษ์​และ​กลุ่ม​ดาว​อื่น ๆ.18 นอก​จาก​นั้น บน​แผ่นดิน​เหนียว​ยัง​มี​ข้อมูล​ที่​บันทึก​ไว้​แปด​ครั้ง​เกี่ยว​กับ​ระยะ​เวลา​ระหว่าง​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น​กับ​ดวง​จันทร์​ขึ้น และ​ดวง​อาทิตย์​ตก​กับ​ดวง​จันทร์​ตก.18​a

เนื่อง​จาก​ตำแหน่ง​ดวง​จันทร์​เชื่อถือ​ได้​มาก​กว่า ผู้​เชี่ยวชาญ​จึง​วิเคราะห์​ข้อมูล​ทั้ง 13 ชุด​นี้​ใน VAT 4956 อย่าง​ละเอียด. พวก​เขา​วิเคราะห์​ข้อมูล​เหล่า​นี้​โดย​อาศัย​โปรแกรม​คอมพิวเตอร์​ที่​สามารถ​แสดง​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​ดาว​ต่าง ๆ ใน​อดีต.19 ผล​การ​วิเคราะห์​เป็น​เช่น​ไร? ปรากฏ​ว่า​ข้อมูล​บาง​ชุด​ไม่​ตรง​กับ​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​ใน​ปี 568/567 ก่อน ส.ศ. แต่​ข้อมูล​ทั้ง 13 ชุด ตรง​กับ​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​เมื่อ 20 ปี​ก่อน​หน้า​นั้น คือ​ใน​ปี 588/587 ก่อน ส.ศ.

ตัว​อย่าง​หนึ่ง​ที่​แสดง​ว่า​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ตำแหน่ง​ดวง​จันทร์​เหล่า​นี้​ตรง​กับ​ปี 588 ก่อน ส.ศ. มาก​กว่า​ปี 568 ก่อน ส.ศ. ดู​ได้​จาก​กรอบ​ด้าน​ซ้าย. บรรทัด​ที่ 3 ของ​แผ่นดิน​เหนียว​มี​ข้อ​ความ​ว่า ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​หนึ่ง​ใน “คืน​วัน​ที่ 9 [เดือน​นิซานุ].” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​ตอน​แรก​ยืน​ยัน​ว่า​ตำแหน่ง​ดัง​กล่าว​ของ​ดวง​จันทร์​ตรง​กับ​ปี 568 ก่อน ส.ศ. (หรือ​ปี 567 ถ้า​นับ​ทาง​ดาราศาสตร์) ยอม​รับ​ว่า​จริง ๆ แล้ว​ใน​ปี 568 ก่อน ส.ศ. ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ดัง​กล่าว​ใน “วัน​ที่ 8 เดือน​นิซานุ ไม่​ใช่​วัน​ที่ 9.” เพื่อ​จะ​ใช้​แผ่นดิน​เหนียว​นี้​สนับสนุน​ปี 568 ก่อน ส.ศ. พวก​เขา​จึง​สรุป​ว่า​เป็น​ความ​ผิด​พลาด​ของ​ผู้​บันทึก​ข้อมูล​ที่​เขียน​เลข “9” แทน​ที่​จะ​เขียน​เลข “8.”20 แต่​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​ใน​บรรทัด​ที่ 3 นี้​ตรง​กัน​พอ​ดี​กับ​วัน​ที่ 9 เดือน​นิซานุ ปี 588 ก่อน ส.ศ.​21

เห็น​ได้​ชัด​ว่า ข้อมูล​ทาง​ดาราศาสตร์​ส่วน​ใหญ่​ใน VAT 4956 ชี้​ว่า​ปี 588 ก่อน ส.ศ. คือ​ปี​ที่ 37 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2. ดัง​นั้น ข้อมูล​เหล่า​นี้​สนับสนุน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ว่า​เป็น​ปี​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​อย่าง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ไว้.

ทำไม​ควร​วางใจ​คัมภีร์​ไบเบิล?

ปัจจุบัน นัก​ประวัติศาสตร์​ส่วน​ใหญ่​เชื่อ​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 587 ก่อน ส.ศ. แต่​ยิระมะยาห์​และ​ดานิเอล​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ไว้​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​ชาว​ยิว​จะ​เป็น​เชลย​นาน 70 ปี​ไม่​ใช่ 50 ปี. (ยิระมะยา 25:1, 2, 11; 29:10; ดานิเอล 9:2) คำ​กล่าว​ของ​พวก​เขา​ยืน​ยัน​อย่าง​หนักแน่น​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ข้อมูล​ที่​กล่าว​ข้าง​ต้น​แสดง​ว่า​ข้อ​สรุป​นี้​มี​หลักฐาน​ทาง​ประวัติศาสตร์​สนับสนุน.

พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า. แต่​ทุก​ครั้ง​หลักฐาน​ใหม่ ๆ ที่​มี​การ​ค้น​พบ​กลับ​ช่วย​พิสูจน์​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ถูก​ต้อง​แม่นยำ. * คน​ที่​วางใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​รู้สึก​เช่น​นั้น. พวก​เขา​มั่น​ใจ​ก็​เพราะ​มี​หลักฐาน​มาก​มาย​บ่ง​ชี้​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ทั้ง​ทาง​ด้าน​ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ​คำ​พยากรณ์. หลักฐาน​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ดัง​ที่​พระ​คัมภีร์​บอก​ไว้. (2 ติโมเธียว 3:16) คุณ​น่า​จะ​ลอง​ตรวจ​สอบ​หลักฐาน​เหล่า​นี้​ด้วย​ตัว​คุณ​เอง​มิ​ใช่​หรือ? แล้ว​คุณ​ก็​อาจ​จะ​ได้​ข้อ​สรุป​อย่าง​เดียว​กัน.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 ก่อน ส.ศ. ใน​บทความ​นี้​หมาย​ถึง “ก่อน​สากล​ศักราช.”

^ วรรค 14 ข้อ​สังเกต: ไม่​มี​ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​ใด​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​บทความ​นี้​ยอม​รับ​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ.

^ วรรค 18 ปี​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ของ​กษัตริย์​องค์​ใหม่​จะ​เริ่ม​นับ​จาก​เดือน​ที่​เขา​ปกครอง​ต่อ​จาก​กษัตริย์​องค์​ก่อน​ไป​จน​ถึง​สิ้น​ปี​นั้น. ปี​ถัด​ไป​จึง​จะ​นับ​ว่า​เป็น​ปี​แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ของ​เขา.

^ วรรค 21 มี​การ​ทำ​บันทึก​เกี่ยว​กับ​การ​ค้า​ขาย​ตลอด​ช่วง​ที่​กษัตริย์​แห่ง​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่​ปกครอง. เมื่อ​นำ​ปี​แห่ง​การ​ปกครอง​ของ​กษัตริย์​เหล่า​นี้​มา​รวม​กัน​และ​คำนวณ​เวลา​ย้อน​ไป​จาก​นะโบไนดัส​กษัตริย์​องค์​สุด​ท้าย​ของ​จักรวรรดิ​นี้​ก็​จะ​ไป​ถึง​ปี 587 ก่อน ส.ศ. ซึ่ง​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ปี​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย. แต่​การ​คำนวณ​ย้อน​หลัง​เช่น​นี้​จะ​ถูก​ต้อง​ก็​ต่อ​เมื่อ​กษัตริย์​แต่​ละ​องค์​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ต่อ​เนื่อง​กัน​โดย​ไม่​มี​ช่วง​ว่าง​เว้น​เลย.

^ วรรค 36 สำหรับ​ตัว​อย่าง​ที่​พิสูจน์​ใน​เรื่อง​นี้ โปรด​ดู​บท 4 และ 5 ของ​หนังสือ​คัมภีร์​ไบเบิล—คำ​ของ​พระเจ้า​หรือ​ของ​มนุษย์? (ภาษา​อังกฤษ) จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[กรอบ/​แผนภูมิ​หน้า 23]

 (ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​—ประวัติศาสตร์​ที่​มี​ช่อง​โหว่

นัก​ประวัติศาสตร์​ทั่ว​ไป​คิด​ว่า​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่​ปกครอง​นาน​ประมาณ 88 ปี แต่​ตลอด​ช่วง​เวลา​นั้น​พงศาวดาร​ของ​บาบิโลน​มี​บันทึก​เพียง 35 ปี.

ปี​ที่​ไม่​มี​บันทึก​ใน​พงศาวดาร

ปี​ที่​มี​บันทึก​ใน​พงศาวดาร

BM 21901

BM 21946

BM 35382

ยุค​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่

ยุค​เปอร์เซีย

นะโบโพลัสซาร์

นะบูคัดเนซัร​ที่ 2

อาเมล-มาร์ดุก

นะโบไนดัส

เนรีกลิสซาร์

ลาบาชี-มาร์ดุก

BM 25127

BM 22047

BM 25124

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

BM 21901 and BM 35382: Photograph taken by courtesy of the British Museum; BM 21946: Copyright British Museum; BM 22047 25124 25127: © The Trustees of the British Museum

[กรอบ/​ภาพ​หน้า 24]

บันทึก​ประจำ​วัน​ทาง​ดาราศาสตร์ Bm 32238

แผ่นดิน​เหนียว​นี้​มี​บันทึก​เกี่ยว​กับ​ปรากฏการณ์​จันทรุปราคา​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​อดีต. แผ่นดิน​เหนียว​นี้​ทำ​ขึ้น​หลัง​จาก​จันทรุปราคา​ครั้ง​สุด​ท้าย ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​จันทรุปราคา​ครั้ง​แรก​ราว ๆ 400 ปี. เนื่อง​จาก​ผู้​บันทึก​ข้อมูล​ไม่​ได้​เห็น​ปรากฏการณ์​ทั้ง​หมด​นั้น​ด้วย​ตัว​เอง จึง​เป็น​ไป​ได้​ว่า​เขา​ใช้​วิธี​คำนวณ​ทาง​คณิตศาสตร์​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​จันทรุปราคา​ครั้ง​แรก ๆ เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ไร. การ​คำนวณ​ของ​เขา​ไม่​อาจ​ถือ​ว่า​ถูก​ต้อง​และ​ใช้​เป็น​ข้อ​อ้างอิง​ทาง​ประวัติศาสตร์​ได้ เว้น​แต่​จะ​มี​หลักฐาน​อื่น​มา​ยืน​ยัน.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© The Trustees of the British Museum

[กรอบ/​ภาพ​หน้า 26, 27]

แผ่นดิน​เหนียว Vat 4956 บอก​อะไร​กัน​แน่?

ทำไม​เรื่อง​นี้​จึง​สำคัญ? บรรทัด​ที่​สาม​ของ​แผ่นดิน​เหนียว​นี้​เขียน​ว่า “คืน​วัน​ที่ 9” ของ​เดือน​ที่​หนึ่ง (นิซานุ/นิซาน) “ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง 1 คิวบิต​หน้า​ดาว​เบตาเวอร์จินิส.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1915 ผู้​เชี่ยวชาญ​สอง​คน​คือ​นอยเกเบาเออร์​และ​ไวด์เนอร์​ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ​ปี 568 ก่อน ส.ศ. (ซึ่ง​ชี้​ว่า ปี 587 ก่อน ส.ศ. คือ​ปี​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย) ว่า “ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง 1 คิวบิต​หน้า​ดาว​ดวง​นี้​ใน​วัน​ที่ 8 นิซาน ไม่​ใช่​วัน​ที่ 9 นิซาน.” (เรา​ทำ​ให้​เป็น​ตัว​เอน.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตำแหน่ง​ดัง​กล่าว​ของ​ดวง​จันทร์​ตรง​กัน​พอ​ดี​กับ​วัน​ที่ 9 เดือน​นิซาน ปี 588 ก่อน ส.ศ. ซึ่ง​ชี้​ว่า​ปี 607 ก่อน ส.ศ. คือ​ปี​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย.

น่า​จะ​เป็น​วัน​ที่ 9 หรือ​วัน​ที่ 8?

(1) สัญลักษณ์​ที่​เห็น​ได้​อย่าง​ชัดเจน​ใน​ภาพ​หมาย​เลข 1 คือ​เลข 9 ใน​ภาษา​อัก​คาด.

(2) เมื่อ​นอยเกเบาเออร์​กับ​ไวด์เนอร์​ถอด​ความ​อักษร​รูป​ลิ่ม​บน​แผ่นดิน​เหนียว​นี้ พวก​เขา​ได้​เปลี่ยน​เลข “9” เป็น​เลข “8.”

(3) เฉพาะ​ใน​เชิงอรรถ​เท่า​นั้น​ที่​บอก​ว่า​ข้อ​ความ​ดั้งเดิม​บน​แผ่นดิน​เหนียว​เป็น​เลข “9.”

(4) แม้​แต่​ใน​งาน​แปล​ของ​พวก​เขา​ที่​เป็น​ภาษา​เยอรมัน พวก​เขา​ก็​ยัง​เขียน​เป็น​เลข “8.”

(5) ใน​ปี 1988 แซ็ก​กับ​ฮังเกอร์​ได้​ตี​พิมพ์​ข้อ​ความ​ตาม​ที่​ปรากฏ​บน​แผ่นดิน​เหนียว​นั้น​โดย​ไม่​มี​การ​แก้ไข​ใด ๆ และ​พวก​เขา​ได้​เขียน​เป็น​เลข “9.”

(6) แต่​เมื่อ​นำ​ข้อ​ความ​ที่​ตี​พิมพ์​แล้ว​ไป​แปล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ พวก​เขา​กลับ​บอก​ว่า “วัน​ที่ 9” นี้ “ที่​ถูก​คือ​วัน​ที่ 8.”

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

bpk/​Vorderasiatisches Museum SMB/​Olaf M. Teßmer

[กรอบ​หน้า 28]

เชิงอรรถ​สำหรับ​บทความ “กรุง​เยรูซาเลม​โบราณ​ถูก​ทำลาย​เมื่อ​ไร?​—ตอน 2”

1. อักษร​รูป​ลิ่ม​เป็น​ระบบ​การ​เขียน​ใน​สมัย​โบราณ​ซึ่ง​ผู้​เขียน​จะ​ใช้​เหล็ก​ปลาย​แหลม​รูป​ลิ่ม​กด​ลง​บน​แผ่นดิน​เหนียว​ที่​ยัง​อ่อน​ตัว​อยู่​ให้​เป็น​รูป​หรือ​สัญลักษณ์​ต่าง ๆ.

2. Assyrian and Babylonian Chronicles by A. K. Grayson published 1975 2000 reprint page 8.

3. จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​ก่อน ส.ศ. เมื่อ​กษัตริย์​แห่ง​ราชวงศ์​แคลเดีย​ปกครอง​จักรวรรดิ​บาบิโลน. กษัตริย์​องค์​แรก​คือ​นะโบโพลัสซาร์​ราชบิดา​ของ​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2. จักรวรรดิ​นี้​สิ้น​สุด​ลง​เมื่อ​นะโบไนดัส​กษัตริย์​องค์​สุด​ท้าย​ถูก​ไซรัส​กษัตริย์​เปอร์เซีย​โค่น​อำนาจ​ใน​ปี 539 ก่อน ส.ศ.

4. Neo-Babylonian Business and Administrative Documents by Ellen Whitley Moore published 1935 page 33.

5. Archimedes Volume 4 New Studies in the History and Philosophy of Science and Technology “Observations and Predictions of Eclipse Times by Early Astronomers” by John M. Steele published 2000 page 36.

6. Amel-Marduk 562-560 B.C.—A Study Based on Cuneiform Old Testament Greek Latin and Rabbinical Sources. With Plates by Ronald H. Sack published 1972 page 3.

7. แผ่นดิน​เหนียว BM 80920 และ BM 58872 ทำ​ขึ้น​ใน​เดือน​ที่​สี่​และ​ห้า​ของ​ปี​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ของ​กษัตริย์​เอวิล-มะโรดัค. แซ็ก​ได้​นำ​ข้อ​ความ​บน​แผ่นดิน​เหนียว​ทั้ง​สอง​นี้​มา​ตี​พิมพ์​ใน​หนังสือ​Amel-Marduk 562-560 B.C.—A Study Based on Cuneiform Old Testament Greek Latin and Rabbinical Sources. With Plates pages 3 90 106.

8. แผ่นดิน​เหนียว​นี้ (BM 55806) ซึ่ง​อยู่​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​บริเตน​ทำ​ขึ้น​ใน​เดือน​ที่​สิบ ปี​ที่ 43.

9. แผ่นดิน​เหนียว BM 75106 และ BM 61325 ทำ​ขึ้น​ใน​เดือน​ที่​เจ็ด​และ​สิบ​ของ​ปี​ที่​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ปี​สุด​ท้าย​แห่ง​การ​ครอง​ราชย์ (ปี​ที่​สอง) ของ​เอวิล-มะโรดัค. แต่​แผ่นดิน​เหนียว BM 75489 ทำ​ขึ้น​ใน​เดือน​ที่​สอง​ของ​ปี​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ของ​เนรีกลิสซาร์​ซึ่ง​เป็น​กษัตริย์​องค์​ต่อ​มา.—Catalogue of the Babylonian Tablets in the British Museum Volume VIII (Tablets From Sippar 3) by Erle Leichty J. J. Finkelstein and C.B.F. Walker published 1988 pages 25 35.

Catalogue of the Babylonian Tablets in the British Museum Volume VII (Tablets From Sippar 2) by Erle Leichty and A. K. Grayson published 1987 page 36.

Neriglissar—King of Babylon by Ronald H. Sack published 1994 page 232. เดือน​ที่​ระบุ​ไว้​บน​แผ่นดิน​เหนียว​นี้​คือ​เดือน​อา​จา​รุ (เดือน​ที่​สอง).

10. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​เนรีกลิสซาร์. บันทึก​ของ​ราชวงศ์​กล่าว​ถึง​กษัตริย์​องค์​นี้​ว่า​เป็น “โอรส​ของ​เบล-ชุม-อิชคุน” ซึ่ง​เป็น “กษัตริย์​แห่ง​บาบิโลน.” (เรา​ทำ​ให้​เป็น​ตัว​เอน.) ข้อ​ความ​จารึก​อีก​แห่ง​หนึ่ง​กล่าว​ว่า​เบล-ชุม-อิชคุน​เป็น “เจ้า​ชาย​ผู้​ปราดเปรื่อง.” คำ​ว่า “เจ้า​ชาย” หรือ รูบู ใน​ภาษา​เดิม​เป็น​คำ​ระบุ​ตำแหน่ง​ซึ่ง​อาจ​หมาย​ถึง “กษัตริย์, ผู้​ปกครอง” ได้​ด้วย. เนื่อง​จาก​มี​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​ใน​เรื่อง​ช่วง​แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​เนรีกลิสซาร์​กับ​อาเมล-มาร์ดุก​ที่​ปกครอง​ก่อน​ท่าน ดัง​นั้น เป็น​ไป​ได้​ไหม​ว่า​เบลชุมอิชคุน “กษัตริย์​แห่ง​บาบิโลน” เคย​ปกครอง​คั่น​อยู่​ระหว่าง​กษัตริย์​สอง​องค์​นี้? ศาสตราจารย์​อาร์. พี. โดเออร์ที ยอม​รับ​ว่า “หลักฐาน​ที่​แสดง​ว่า​เนรีกลิสซาร์​มี​เชื้อ​สาย​กษัตริย์​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​มอง​ข้าม​ได้.”—Nabonidus and Belshazzar—A Study of the Closing Events of the Neo-Babylonian Empire by Raymond P. Dougherty published 1929 page 61.

11. Astronomical Diaries and Related Texts From Babylonia Volume V edited by Hermann Hunger published 2001 pages 2-3.

12. Journal of Cuneiform Studies Volume 2 No. 4 1948 “A Classification of the Babylonian Astronomical Tablets of the Seleucid Period” by A. Sachs pages 282-283.

13. Astronomical Diaries and Related Texts From Babylonia Volume V page 391.

14. Mesopotamian Planetary Astronomy-Astrology by David Brown published 2000 pages 164 201-202.

15. Bibliotheca Orientalis L N° 1/2 Januari​-Maart 1993 “The Astronomical Diaries as a Source for Achaemenid and Seleucid History” by R. J. van der Spek pages 94 102.

16. Astronomical Diaries and Related Texts From Babylonia Volume I by Abraham J. Sachs completed and edited by Hermann Hunger published 1988 page 47.

 17. Babylonian Eclipse Observations From 750 BC to 1 BC by Peter J. Huber and Salvo De Meis published 2004 page 186. ตาม​บันทึก​บน​แผ่นดิน​เหนียว VAT 4956 จันทรุปราคา​ครั้ง​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 15 เดือน​สาม​ของ​บาบิโลน ซึ่ง​บ่ง​ชี้​ว่า​เดือน​ซิมานุ​เริ่ม​ขึ้น 15 วัน​ก่อน​หน้า​นั้น. ถ้า​จันทรุปราคา​ครั้ง​นี้​เกิด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 15 กรกฎาคม ปี 588 ก่อน ส.ศ. ตาม​ปฏิทิน​จูเลียน วัน​แรก​ของ​เดือน​ซิมานุ ปี 588 ก่อน ส.ศ. ก็​จะ​ต้อง​เป็น​วัน​ที่ 30 มิถุนายน/​1 กรกฎาคม. ดัง​นั้น เดือน​แรก (นิซานุ) ของ​ปี​ใหม่​ตาม​ปฏิทิน​ของ​ชาว​บาบิโลน​ก็​ต้อง​เริ่ม​สอง​เดือน​ก่อน​หน้า​นั้น​คือ​วัน​ที่ 2/3 พฤษภาคม. แม้​ว่า​ตาม​ปกติ​แล้ว​ปี​ที่​เกิด​จันทรุปราคา​จะ​ต้อง​เริ่ม​ใน​วัน​ที่ 3/4 เมษายน แต่ VAT 4956 บรรทัด​ที่ 6 กล่าว​ไว้​ว่า มี​การ​เพิ่ม​เดือน เข้า​มา (อธิกมาส) หลัง เดือน​ที่​สิบ​สอง (เดือน​สุด​ท้าย​หรือ​เดือน​อัดดา​รุ) ของ​ปี​ก่อน. (แผ่นดิน​เหนียว​นี้​เขียน​ว่า “วัน​ที่ 8 เดือน 12[2].”) ดัง​นั้น ปี​ใหม่​จริง ๆ จึง​เริ่ม​ใน​วัน​ที่ 2/3 พฤษภาคม. ด้วย​เหตุ​นี้ วัน​ที่​เกิด​จันทรุปราคา​ใน​ปี 588 ก่อน ส.ศ. จึง​ตรง​กับ​ข้อมูล​บน​แผ่นดิน​เหนียว.

18. ตาม​ที่​กล่าว​ใน Berichte über die Verhandlungen der Königl. Sächsischen Gesellschaft der Wissenschaften zu Leipzig (Reports Regarding the Discussions of the Royal Saxonian Society of Sciences at Leipzig); Volume 67; May 1 1915; in the article “Ein astronomischer Beobachtungstext aus dem 37. Jahre Nebukadnezars II” (An Astronomical Observer’s Text of the 37th Year Nebuchadnezzar II) by Paul V. Neugebauer and Ernst F. Weidner pages 67-76 มี​ชุด​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ตำแหน่ง​ดวง​จันทร์ 13 ชุด​ซึ่ง​อธิบาย​ว่า​ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​สัมพันธ์​กับ​ดาว​ฤกษ์​และ​กลุ่ม​ดาว​อื่น ๆ อย่าง​ไร. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​ชุด​ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ดาว​เคราะห์​อีก 15 ชุด. ถึง​แม้​สัญลักษณ์​ของ​ดวง​จันทร์ บน​แผ่นดิน​เหนียว​จะ​เห็น​ได้​อย่าง​ชัดเจน แต่​สัญลักษณ์​อื่น ๆ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​ของ​ดาว​เคราะห์​และ​ตำแหน่ง​ของ​ดาว​เหล่า​นั้น​กลับ​เห็น​ได้​ไม่​ชัด. (Mesopotamian Planetary Astronomy—Astrology by David Brown published 2000 pages 53-57) เพราะ​เหตุ​นี้ ข้อมูล​เกี่ยว​กับ​ดาว​เคราะห์​จึง​เปิด​ช่อง​ให้​มี​การ​คาด​เดา​และ​ตี​ความ​ได้​หลาย​อย่าง. เนื่อง​จาก​ตำแหน่ง​ของ​ดวง​จันทร์​หา​ได้​ง่าย จึง​ทำ​ให้​สามารถ​บอก​ตำแหน่ง​ของ​ดาว​อื่น ๆ ที่​สัมพันธ์​กับ​ดวง​จันทร์​ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ใน VAT 4956 นี้​ได้​เช่น​กัน และ​ตำแหน่ง​ของ​ดาว​เหล่า​นี้​ที่​บันทึก​ไว้​ก็​ถือ​ได้​ว่า​แม่นยำ​ที​เดียว.

18​a. ระยะ​เวลา​เหล่า​นี้ (“lunar threes”) เป็น​ระยะ​เวลา​ที่​นับ​จาก​ดวง​อาทิตย์​ตก​ถึง​ดวง​จันทร์​ตก​ใน​ช่วง​ต่าง ๆ สาม​ช่วง​ของ​เดือน เช่น ใน​วัน​ที่​หนึ่ง​และ​วัน​อื่น ๆ อีก​สอง​วัน. ผู้​เชี่ยวชาญ​เอา​ระยะ​เวลา​เหล่า​นี้​มา​คำนวณ​เพื่อ​กำหนด​วัน​ที่​ตาม​ปฏิทิน. (“The Earliest Datable Observation of the Aurora Borealis” by F. R. Stephenson and David M. Willis in Under One Sky—Astronomy and Mathematics in the Ancient Near East edited by John M. Steele and Annette Imhausen published 2002 pages 420-428) ใน​สมัย​โบราณ​การ​นับ​ระยะ​เวลา​เช่น​นี้​ทำ​ได้​โดย​ใช้​นาฬิกา​ชนิด​พิเศษ. การ​นับ​ระยะ​เวลา​ด้วย​วิธี​นี้​จึง​ไม่​อาจ​เชื่อถือ​ได้​เสมอ​ไป. (Archimedes Volume 4 New Studies in the History and Philosophy of Science and Technology “Observations and Predictions of Eclipse Times by Early Astronomers” by John M. Steele published 2000 pages 65-66) แต่​การ​คำนวณ​ตำแหน่ง ของ​ดวง​จันทร์​ที่​สัมพันธ์​กับ​ดาว​ดวง​อื่น ๆ เป็น​วิธี​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​กว่า.

19. การ​วิเคราะห์​นี้​ทำ​โดย​อาศัย​โปรแกรม​ประมวล​ผล​ข้อมูล​ทาง​ดาราศาสตร์​ที่​เรียก​ว่า TheSky6™. นอก​จาก​นั้น ยัง​มี​การ​ใช้​โปรแกรม​ฟรี​แวร์ Cartes du Ciel/Sky Charts (CDC) และ​โปรแกรม​แปลง​วัน​ที่​ของ​หอ​ดู​ดาว​กองทัพ​เรือ​สหรัฐ. เนื่อง​จาก​สัญลักษณ์​บน​แผ่น​จารึก​อักษร​รูป​ลิ่ม​เกี่ยว​กับ​ตำแหน่ง​ของ​ดาว​เคราะห์​หลาย​ตำแหน่ง​เปิด​ช่อง​ให้​มี​การ​คาด​เดา​และ​ตี​ความ​ได้​หลาย​อย่าง ดัง​นั้น ผู้​เชี่ยวชาญ​จึง​ไม่​ใช้​ตำแหน่ง​เหล่า​นี้​ใน​การ​วิเคราะห์​เพื่อ​จะ​ระบุ​ว่า​ปี​ใด​ตรง​กับ​ข้อมูล​บน​แผ่นดิน​เหนียว​นี้.

20. Berichte über die Verhandlungen der Königl. Sächsischen Gesellschaft der Wissenschaften zu Leipzig (Reports Regarding the Discussions of the Royal Saxonian Society of Sciences at Leipzig); Volume 67; May 1 1915; “Ein astronomischer Beobachtungstext aus dem 37. Jahre Nebukadnezars II (-567/66)” (An Astronomical Observer’s Text of the 37th Year Nebuchadnezzar II) by Paul V. Neugebauer and Ernst F. Weidner page 41.

21. แผ่นดิน​เหนียว VAT 4956 บรรทัด​ที่​สาม​เขียน​ว่า “ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง 1 คิวบิต [หรือ 2 องศา] หน้า​ดาว​เบตาเวอร์จินิส.” ผล​การ​วิเคราะห์​ที่​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​แสดง​ว่า​ใน​วัน​ที่ 9 เดือน​นิซานุ ดวง​จันทร์​อยู่​ใน​ตำแหน่ง 2 องศา 4 ลิปดา หน้า​ดาว​เบตาเวอร์จินิส​และ​ต่ำ​กว่า​ดาว​ดวง​นี้ 0 องศา. ข้อมูล​บน​แผ่นดิน​เหนียว​และ​ผล​การ​วิเคราะห์​นี้​ตรง​กัน​พอ​ดี.

[แผนภูมิ​หน้า 25]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

แผ่นดิน​เหนียว VAT 4956 ชี้​ว่า​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี​ใด—587 ก่อน ส.ศ. หรือ 607 ก่อน ส.ศ.?

▪ แผ่นดิน​เหนียว​นี้​อธิบาย​ปรากฏการณ์​ทาง​ดาราศาสตร์​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี​ที่ 37 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​กษัตริย์​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2.

▪ กษัตริย์​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ปี​ที่ 18 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​เขา.—ยิระมะยา 32:1

ถ้า​ปี​ที่ 37 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​นะบูคัดเนซัร​ที่ 2 คือ​ปี 568 ก่อน ส.ศ. กรุง​เยรูซาเลม​จะ​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 587 ก่อน ส.ศ.

610 ก่อน ส.ศ.

600

590

580

570

560

ถ้า​ปี​ที่ 37 แห่ง​การ​ครอง​ราชย์​ของ​เขา​คือ​ปี 588 ก่อน ส.ศ. กรุง​เยรูซาเลม​จะ​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ. ตาม​การ​ลำดับ​เวลา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล.

▪ แผ่นดิน​เหนียว VAT 4956 ชี้​ว่า​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​มาก​กว่า​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​จะ​ถูก​ทำลาย​ใน​ปี 607 ก่อน ส.ศ.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 22]

Photograph taken by courtesy of the British Museum