ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระนามของพระเจ้ากับความพยายามของอัลฟองโซ เด ซาโมรา เพื่อทำให้ข้อความในพระคัมภีร์ถูกต้อง

พระนามของพระเจ้ากับความพยายามของอัลฟองโซ เด ซาโมรา เพื่อทำให้ข้อความในพระคัมภีร์ถูกต้อง

พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​กับ​ความ​พยายาม​ของ​อัลฟองโซ เด ซาโมรา เพื่อ​ทำ​ให้​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​ถูก​ต้อง

ใน​ปี 1492 กษัตริย์​เฟอร์ดินันด์​และ​ราชินี​อีซาเบลลา​แห่ง​สเปน​ได้​ออก​กฤษฎีกา​ดัง​นี้: “เรา​สั่ง​ชาว​ยิว​ทุก​คน​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง . . . ว่า​ภาย​ใน​สิ้น​เดือน​กรกฎาคม​ปี​นี้ พวก​เจ้า​จง​ออก​ไป​จาก​อาณาจักร​และ​ดินแดน​ทั้ง​หมด​ของ​เรา รวม​ทั้ง​บุตร​ชาย​หญิง บ่าว​ไพร่​ทั้ง​ชาย​และ​หญิง​กับ​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใน​ครัว​เรือน​ของ​ชาว​ยิว ไม่​ว่า​ผู้​ใหญ่​หรือ​ผู้​น้อย ไม่​ว่า​จะ​อยู่​ใน​วัย​ใด และ​อย่า​ได้​กลับ​เข้า​มา​ใน​ดินแดน​ของ​เรา​โดย​เด็ดขาด.”

เมื่อ​มี​คำ​สั่ง​เช่น​นี้​ออก​มา ครอบครัว​ชาว​ยิว​ทั้ง​หมด​ใน​สเปน​จึง​ต้อง​เลือก​ว่า​จะ​ยอม​ถูก​เนรเทศ​หรือ​จะ​เปลี่ยน​ศาสนา. รับบี​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ฮวน เด ซาโมรา​อาจ​คิด​ว่า​ดี​กว่า​ที่​จะ​เปลี่ยน​มา​นับถือ​ศาสนา​คาทอลิก​และ​อยู่​ใน​สเปน​ต่อ​ไป เพราะ​บรรพบุรุษ​ของ​เขา​อยู่​ที่​นี่​มา​นาน​หลาย​ชั่ว​อายุ​คน​แล้ว. เป็น​ไป​ได้​ว่า​ฮวน​คิด​ถึง​ภูมิหลัง​ที่​เป็น​ชาว​ยิว เขา​จึง​ส่ง​อัลฟองโซ​ลูก​ชาย​ของ​ตน​ไป​เรียน​ใน​โรง​เรียน​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​ชาว​ฮีบรู​ใน​เมือง​ซาโมรา. ต่อ​มา​ภาย​หลัง อัลฟองโซ​กลาย​เป็น​ผู้​แตกฉาน​ด้าน​ภาษา​ละติน กรีก และ​อาราเมอิก. หลัง​จาก​เรียน​จบ​เขา​เริ่ม​สอน​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มหาวิทยาลัย​ซาลามันกา. จาก​นั้น​ไม่​นาน เขา​ได้​ใช้​ความ​สามารถ​ด้าน​ภาษา​ศาสตร์​ของ​ตน​ให้​เป็น​ประโยชน์​แก่​ผู้​ศึกษา​ค้นคว้า​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั่ว​ยุโรป.

ใน​ปี 1512 มหาวิทยาลัย​อัลกาลา เด เอนาเรส​ที่​เพิ่ง​เปิด​ใหม่​ได้​เลือก​อัลฟองโซ เด ซาโมรา​เป็น​หัวหน้า​ภาค​วิชา​ฮีบรู​ศึกษา. เนื่อง​จาก​ซาโมรา​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ใน​ยุค​นั้น ฮีเมเนซ เด ซิสเนรอส คาร์ดินัล​ผู้​ก่อ​ตั้ง​มหาวิทยาลัย​แห่ง​นี้​จึง​ขอ​ให้​เขา​มา​ช่วย​ทำ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ที่​มี​ความ​สำคัญ​มาก. คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​มี​ข้อ​ความ​สี่​ภาษา​คือ ฮีบรู กรีก ละติน และ​บาง​ส่วน​ใน​ภาษา​อาราเมอิก ทั้ง​หมด​รวม​อยู่​ใน​ชุด​หก​เล่ม. *

ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ชื่อ มารีโน เรบิลลา รีโก ให้​ข้อ​สังเกต​เกี่ยว​กับ​การ​จัด​ทำ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​ว่า “ใน​บรรดา​ชาว​ยิว​ที่​เปลี่ยน​มา​เป็น​คาทอลิก​ซึ่ง​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​โครงการ​ของ​คาร์ดินัล [ซิสเนรอส] คน​ที่​โดด​เด่น​ที่​สุด​คือ​อัลฟองโซ เด ซาโมรา นัก​ไวยากรณ์ นัก​ปรัชญา และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ทัลมุด​ซึ่ง​แตกฉาน​ใน​ภาษา​ละติน กรีก ฮีบรู และ​อาราเมอิก.” จาก​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​อย่าง​จริงจัง​ทำ​ให้​ซาโมรา​ได้​ข้อ​สรุป​ว่า​เพื่อ​จะ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง ผู้​แปล​ต้อง​มี​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​เกี่ยว​กับ​ภาษา​ที่​ใช้​เขียน​ต้น​ฉบับ​ใน​สมัย​โบราณ. ที่​จริง ซาโมรา​กลาย​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​มี​บทบาท​อย่าง​มาก​ใน​การ​ส่ง​เสริม​และ​ฟื้นฟู​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล ซึ่ง​เริ่ม​ขึ้น​ใน​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 16.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ซาโมรา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​สมัย​ที่​มี​การ​ต่อ​ต้าน​ขัด​ขวาง​และ​ใน​ดินแดน​ที่​ไม่​ปลอด​ภัย​สำหรับ​ผู้​ที่​ต้องการ​ศึกษา​ค้นคว้า​คัมภีร์​ไบเบิล. ใน​เวลา​นั้น ศาล​ศาสนา​ของ​สเปน​มี​อำนาจ​อย่าง​เต็ม​ที่ และ​คริสตจักร​คาทอลิก​ก็​ยอม​รับ​เฉพาะ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ละติน​วัลเกต​โดย​ถือ​ว่า​เป็น​ฉบับ​เดียว “ที่​ได้​รับ​อนุญาต.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตั้ง​แต่​ยุค​กลาง​มา​แล้ว​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​คาทอลิก​ต่าง​สังเกต​เห็น​ว่า​ข้อ​ความ​ภาษา​ละติน​ใน​ฉบับ​วัลเกต​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​มาก​มาย. พอ​ถึง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 16 อัลฟองโซ เด ซาโมรา​กับ​คน​อื่น ๆ ได้​เริ่ม​ดำเนิน​การ​บาง​อย่าง​เพื่อ​จะ​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ.

‘เพื่อ​จะ​รอด​ต้อง​มี​การ​แปล’

ซาโมรา​ทำ​งาน​หลาย​อย่าง แต่​งาน​สำคัญ​ที่​สุด​คือ​การ​รวบ​รวม​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​ถูก​ต้อง​ของ​พระ​คัมภีร์​ส่วน​ที่​เรียก​กัน​ว่า​พันธสัญญา​เดิม​และ​แปล​ส่วน​นี้​เป็น​ภาษา​ละติน. เขา​คง​ตั้งใจ​ว่า​จะ​ให้​งาน​ชิ้น​นี้​เป็น​พื้น​ฐาน​สำคัญ​ใน​การ​ทำ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท​ใน​ภาย​หลัง. สำเนา​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​หนึ่ง​ที่​เขา​ทำ​ขึ้น​ถูก​เก็บ​รักษา​ไว้​ที่​หอ​สมุด​เอล เอสโกเรียล​ใกล้​กรุง​มาดริด ประเทศ​สเปน. สำเนา​ดัง​กล่าว​ที่​เรียก​ว่า จี-1-4 มี​หนังสือ​เยเนซิศ​ครบ​ทุก​บท​ใน​ภาษา​ฮีบรู​พร้อม​ด้วย​คำ​แปล​ภาษา​ละติน​แบบ​คำ​ต่อ​คำ.

ใน​หน้า​คำนำ​ของ​สำเนา​ฉบับ​นี้​เขียน​ว่า “เพื่อ​ประชาชน​จาก​ชาติ​ทั้ง​ปวง​จะ​รอด​ได้​ก็​ต้อง​มี​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ. . . . เรา​ตระหนัก​ว่า . . . เป็น​เรื่อง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ผู้​เชื่อถือ​จะ​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ คือ​มี​คำ​แปล​ภาษา​ละติน​สำหรับ​คำ​ศัพท์​ภาษา​ฮีบรู​ทุก​ตัว.” อัลฟองโซ เด ซาโมรา​มี​คุณสมบัติ​ครบ​ถ้วน​ที่​จะ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ฮีบรู​ให้​เป็น​ภาษา​ละติน​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​เพราะ​เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​เขา​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​ฮีบรู.

‘ใจ​ของ​ข้าพเจ้า​ไม่​อาจ​หา​ที่​พักพิง​อัน​สงบ​สุข​ได้​เลย’

ใน​แง่​หนึ่ง สเปน​ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 เป็น​ดินแดน​ที่​เหมาะ​สำหรับ​ผู้​ทำ​งาน​แบบ​เดียว​กับ​ซาโมรา. ใน​ยุค​กลาง สเปน​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​วัฒนธรรม​ยิว. สารานุกรม​บริแทนนิกา (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า “เนื่อง​จาก​มี​ชาว​มุสลิม​และ​ชาว​ยิว​อาศัย​อยู่​เป็น​จำนวน​มาก สเปน​ใน​ยุค​กลาง​จึง​เป็น​ประเทศ​เดียว​ใน​ยุโรป​ตะวัน​ตก​ที่​มี​ความ​หลาก​หลาย​ด้าน​เชื้อชาติ​และ​ศาสนา และ​สภาพการณ์​เช่น​นี้​มี​ส่วน​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​อารยธรรม​ของ​สเปน​เจริญ​รุ่งเรือง​ทั้ง​ใน​ด้าน​ศาสนา วรรณกรรม ศิลปะ และ​สถาปัตยกรรม​ใน​ช่วง​ท้าย ๆ ของ​ยุค​กลาง.”

เนื่อง​จาก​สเปน​มี​ประชากร​ชาว​ยิว​อาศัย​อยู่​เป็น​จำนวน​มาก สำเนา​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ฮีบรู​จึง​มี​มาก​มาย. ใน​อดีต อาลักษณ์​ชาว​ยิว​ใน​หลาย​ส่วน​ของ​สเปน​ได้​ทุ่มเท​ความ​พยายาม​เพื่อ​คัด​ลอก​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ที่​ใช้​อ่าน​ให้​คน​ที่​มา​ประชุม​ใน​ธรรมศาลา​ฟัง. แอล. โกลด์ชมิดต์​เขียน​ไว้​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ที่​ชื่อ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู​ใน​ยุค​แรก (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “ไม่​ใช่​แค่​เพนทาทุก [หนังสือ​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล] ภาษา​สเปน-โปรตุเกส​เท่า​นั้น​ที่​นัก​วิชาการ​ชาว​ยิว​ยอม​รับ​ว่า​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ที่​สุด แต่​สำเนา​ซึ่ง​เป็น​ต้น​ฉบับ​ของ​โพลิกลอท​ฉบับ​นี้​และ​ฉบับ​อื่น ๆ ก็​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ไม่​แพ้​กัน.”

แม้​การ​ทำ​งาน​ใน​สเปน​จะ​มี​ข้อ​ได้​เปรียบ​หลาย​อย่าง แต่​ไม่​นาน​การ​ต่อ​ต้าน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​เริ่ม​ปรากฏ​ให้​เห็น. ย้อน​ไป​ใน​ปี 1492 กองทัพ​ทหาร​คาทอลิก​ของ​กษัตริย์​เฟอร์ดินันด์​และ​ราชินี​อีซาเบลลา​สามารถ​พิชิต​ดินแดน​ผืน​สุด​ท้าย​ของ​พวก​มัวร์​ใน​สเปน​ได้. ใน​ปี​เดียว​กัน​นั้น​เอง กษัตริย์​ได้​ออก​กฤษฎีกา​ขับ​ไล่​ผู้​นับถือ​ศาสนา​ยิว​ทั้ง​หมด​ออก​จาก​สเปน​ดัง​ที่​กล่าว​ไป​ข้าง​ต้น. สิบ​ปี​ต่อ​มา​ก็​มี​การ​ออก​คำ​สั่ง​แบบ​เดียว​กัน​นี้​กับ​ชาว​มุสลิม. ตั้ง​แต่​นั้น​มา ศาสนา​คาทอลิก​จึง​กลาย​เป็น​ศาสนา​ประจำ​ชาติ​และ​ไม่​อนุญาต​ให้​มี​ศาสนา​อื่น​ใด​ใน​สเปน​อีก​ต่อ​ไป.

สภาพการณ์​ทาง​ศาสนา​ที่​เปลี่ยน​ไป​เช่น​นี้​ส่ง​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล? สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​อัลฟองโซ เด ซาโมรา​จะ​ให้​คำ​ตอบ. แม้​ว่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​ยิว​คน​นี้​จะ​เปลี่ยน​มา​นับถือ​ศาสนา​คาทอลิก​แล้ว แต่​พวก​ผู้​มี​อำนาจ​ทาง​ศาสนา​ชาว​สเปน​ก็​ไม่​ยอม​มอง​ข้าม​ภูมิหลัง​ของ​เขา. ผู้​ต่อ​ต้าน​บาง​คน​วิพากษ์วิจารณ์​คาร์ดินัล​ซิสเนรอส​ที่​ชักชวน​ผู้​เชี่ยวชาญ​ชาว​ยิว​ที่​เปลี่ยน​ศาสนา​มา​ช่วย​ทำ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​โพลิกลอท​ของ​เขา. การ​โจมตี​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ซาโมรา​ทุกข์​ใจ​มาก. ใน​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​หนึ่ง​ที่​เก็บ​ไว้​ใน​มหาวิทยาลัย​มาดริด ซาโมรา​เขียน​ระบาย​ความ​รู้สึก​ของ​เขา​ว่า “ข้าพเจ้า . . . ถูก​เพื่อน​ทุก​คน​ทอดทิ้ง​และ​เกลียด​ชัง เพื่อน​เหล่า​นั้น​กลาย​เป็น​ศัตรู​ของ​ข้าพเจ้า ทั้ง​ใจ​และ​กาย​ของ​ข้าพเจ้า​ไม่​อาจ​หา​ที่​พักพิง​อัน​สงบ​สุข​ได้​เลย.”

ศัตรู​คน​สำคัญ​ของ​เขา​คือ​ฮวน ตาเบรา อาร์ชบิชอป​แห่ง​โตเลโด ซึ่ง​ต่อ​มา​ได้​เป็น​หัวหน้า​ผู้​พิพากษา​ศาล​ศาสนา. เมื่อ​ถูก​ตา​เบรา​ต่อ​ต้าน​อย่าง​หนัก ซาโมรา​ท้อ​ใจ​มาก​จน​ถึง​กับ​ทำ​จดหมาย​ร้อง​เรียน​ถึง​โปป. ใน​จดหมาย​นั้น​เขา​เขียน​ว่า “พวก​ข้าพเจ้า​ขอร้อง​และ​อ้อน​วอน​พระคุณ​เจ้า​ให้​โปรด​ช่วย . . . และ​ปก​ป้อง​พวก​ข้าพเจ้า​จาก​ดอน ฮวน ตาเบรา บิชอป​แห่ง​โตเลโด​ศัตรู​ของ​พวก​ข้าพเจ้า. เขา​ก่อ​ความ​ทุกข์​เดือดร้อน​มาก​มาย​ให้​แก่​พวก​ข้าพเจ้า​ทุก​วัน​ไม่​หยุดหย่อน. . . . พวก​ข้าพเจ้า​ทุกข์​ทรมาน​ใจ​ยิ่ง​นัก เพราะ​ใน​สายตา​ของ​เขา พวก​ข้าพเจ้า​ไม่​ต่าง​อะไร​กับ​สัตว์​ที่​กำลัง​จะ​ถูก​นำ​ไป​ฆ่า. . . . หาก​พระคุณ​เจ้า​จะ​รับ​ฟัง​คำ​วิงวอน​นี้ ‘พระ​ยาห์เวห์​ก็​จะ​โปรด​ให้​พระคุณ​เจ้า​ปลอด​ภัย​และ​เท้า​ของ​ท่าน​จะ​ไม่​สะดุด​ล้ม.’ (สุภา. 3:23)” *

มรดก​ที่​อัลฟองโซ เด ซาโมรา​ได้​ละ​ไว้

แม้​จะ​มี​การ​ต่อ​ต้าน​ขัด​ขวาง​ดัง​ที่​กล่าว​ไป​ข้าง​ต้น แต่​ซาโมรา​ก็​ยัง​ทำ​งาน​ต่อ​ไป​และ​ผล​งาน​ที่​ยอด​เยี่ยม​ของ​เขา​ก็​เป็น​ประโยชน์​แก่​ผู้​ที่​สนใจ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​จำนวน​ไม่​น้อย. ถึง​แม้​เขา​จะ​ไม่​เคย​แปล​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​ใด ๆ ที่​พูด​กัน​ใน​สมัย​นั้น แต่​งาน​ที่​เขา​ทำ​เป็น​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​สำหรับ​ผู้​แปล​คน​อื่น ๆ. เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ว่า​งาน​ของ​ซาโมรา​มี​ความ​สำคัญ​เพียง​ใด เรา​ต้อง​จำ​ไว้​ว่า​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ทุก​ฉบับ​ต้อง​อาศัย​ผู้​เชี่ยวชาญ​สอง​กลุ่ม. กลุ่ม​แรก​คือ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​ศึกษา​สำเนา​ของ​ข้อ​เขียน​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​เป็น​ภาษา​เดิม​คือ​ฮีบรู กรีก และ​อาราเมอิก เพื่อ​ขัด​เกลา​และ​รวบ​รวม​ข้อ​ความ​ที่​ถูก​ต้อง​ไว้​พร้อม​สำหรับ​การ​แปล. หลัง​จาก​นั้น ผู้​แปล​ก็​จะ​ใช้​ข้อ​ความ​เหล่า​นั้น​เป็น​พื้น​ฐาน​ใน​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ.

อัลฟองโซ เด ซาโมรา​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​คน​สำคัญ​ใน​การ​รวบ​รวม​และ​ขัด​เกลา​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ซึ่ง​ต่อ​มา​ได้​ถูก​นำ​ไป​ตี​พิมพ์​ใน​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท ใน​ปี 1522. (ศัพทานุกรม​ภาษา​ฮีบรู-ละติน​และ​คำ​อธิบาย​ไวยากรณ์​ฮีบรู​ที่​เขา​ทำ​ไว้​ก็​ช่วย​ให้​ผู้​แปล​ทำ​งาน​ง่าย​ขึ้น.) เอราสมุส ซึ่ง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​สมัย​เดียว​กับ​ซาโมรา​ก็​ทำ​งาน​คล้าย ๆ กัน โดย​รวบ​รวม​และ​ขัด​เกลา​ข้อ​ความ​ของ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​หรือ​ที่​เรียก​กัน​ว่า พันธสัญญา​ใหม่. เมื่อ​ผู้​เชี่ยวชาญ​เหล่า​นี้​เตรียม​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​เสร็จ​แล้ว ผู้​แปล​คน​อื่น ๆ ก็​สามารถ​ทำ​ขั้น​ตอน​ต่อ​ไป​ได้ คือ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน. ตอน​ที่​วิลเลียม ทินเดล​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ เขา​ก็​เป็น​ผู้​แปล​คน​แรก ๆ ที่​ใช้​ประโยชน์​จาก​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ใน​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียล โพลิกลอท.

การ​จำหน่าย​จ่าย​แจก​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​กว้างขวาง​ใน​ทุก​วัน​นี้​เป็น​ผล​งาน​อัน​ทรง​คุณค่า​จาก​ความ​พากเพียร​ของ​บรรดา​ผู้​เชี่ยวชาญ​อย่าง​ซาโมรา ซึ่ง​ได้​อุทิศ​ชีวิต​ของ​พวก​เขา​เพื่อ​ช่วย​ให้​เรา​มี​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​ใน​พระ​คัมภีร์​มาก​ยิ่ง​ขึ้น. ดัง​ที่​ซาโมรา​เคย​กล่าว​ไว้ ความ​รอด​ของ​ผู้​คน​ขึ้น​อยู่​กับ​การ​ที่​พวก​เขา​เข้าใจ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​ปฏิบัติ​ตาม. (โยฮัน 17:3) ด้วย​เหตุ​นี้ การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ ที่​ผู้​คน​สามารถ​เข้าใจ​ได้​จึง​จำเป็น เพราะ​นี่​เป็น​วิธี​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​ข่าวสาร​ของ​พระ​คัมภีร์​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​และ​จิตใจ​ของ​ผู้​คน​นับ​ล้าน​ได้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 สำหรับ​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​ความ​สำคัญ​ของ​ฉบับ​คอมพลูเทนเชียน โพลิกลอท โปรด​ดู​หอสังเกตการณ์ 15 เมษายน 2004 หน้า 28-31.

^ วรรค 15 น่า​สังเกต​ว่า​เมื่อ​เขียน​จดหมาย​ร้อง​เรียน​ถึง​โปป​แห่ง​โรม ซาโมรา​ไม่​ได้​ใช้​คำ​ระบุ​ตำแหน่ง​ของ​พระเจ้า แต่​ใช้​พระ​นาม​เฉพาะ​ของ​พระองค์. ใน​จดหมาย​ร้อง​เรียน​ของ​ซาโมรา​ที่​แปล​เป็น​ภาษา​สเปน พระ​นาม​พระเจ้า​คือ “ยาห์เวห์.” แต่​ไม่​เป็น​ที่​ทราบ​แน่ชัด​ว่า พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ที่​ซาโมรา​ใช้​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ละติน​นั้น​เป็น​รูป​แบบ​ใด. สำหรับ​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​การ​ใช้​พระ​นาม​พระเจ้า​และ​งาน​แปล​ของ​ซาโมรา โปรด​ดู​กรอบ “การ​แปล​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า” ใน​หน้า 19.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 19]

การ​แปล​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า

เป็น​เรื่อง​น่า​สนใจ​จริง ๆ เมื่อ​สังเกต​วิธี​ที่​อัลฟองโซ เด ซาโมรา ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​ยิว​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า. ดัง​ที่​เห็น​ใน​ภาพ​นี้ ใน​ช่อง​หมายเหตุ​ริม​หน้า​ของ​หนังสือ​เยเนซิศ​ที่​เขา​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​จาก​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​ละติน เขา​ได้​ถอด​เสียง​อักษร​ฮีบรู​ที่​เป็น​พระ​นาม​พระเจ้า​ว่า “jehovah” (เยโฮวาห์ หรือ​ยะโฮวา).

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ซาโมรา​เห็น​ด้วย​กับ​การ​แปล​พระ​นาม​พระเจ้า​เช่น​นี้​ใน​ภาษา​ละติน. เมื่อ​มี​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​หลัก ๆ ใน​ยุโรป​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 16 ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​คน เช่น วิลเลียม ทินเดล (ภาษา​อังกฤษ, ปี 1530) เซบาสเตียน มึนสเตอร์ (ภาษา​ละติน, ปี 1534) ปิแยร์ โรแบร์ โอลีเวตอง (ภาษา​ฝรั่งเศส, ปี 1535) และ​กาซิโอโดโร เด เรย์นา (ภาษา​สเปน, ปี 1569) ได้​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​โดย​เขียน​ตัว​สะกด​แบบ​เดียว​กัน​นี้​หรือ​แบบ​อื่น ๆ ที่​ใกล้​เคียง​กัน.

ด้วย​เหตุ​นี้ ซาโมรา​จึง​เป็น​ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​แรก ๆ ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 ที่​ช่วย​ให้​พระ​นาม​พระเจ้า​เป็น​ที่​รู้​จัก. สาเหตุ​สำคัญ​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​รู้​จัก​พระ​นาม​นี้​เป็น​เพราะ​ความ​เชื่อ​เรื่อง​โชค​ลาง​ของ​ชาว​ยิว​ที่​ห้าม​ไม่​ให้​เอ่ย​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า. เนื่อง​จาก​อิทธิพล​ของ​ธรรมเนียม​ยิว เจโรม​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​วัลเกต ภาษา​ละติน รวม​ทั้ง​ผู้​แปล​คน​อื่น ๆ ของ​คริสต์​ศาสนจักร จึง​ได้​แทน​ที่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ด้วย​คำ​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” หรือ “พระเจ้า.”

[ภาพ]

ภาพ​ถ่าย​ระยะ​ใกล้​ของ​อักษร​ฮีบรู​สี่​ตัว​ที่​ซาโมรา​แปล​เป็น “เยโฮวาห์”

[ภาพ​หน้า 18]

กฤษฎีกา​ของ​กษัตริย์​และ​ราชินี​แห่ง​สเปน ปี 1492

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Decree: Courtesy of the Archivo Histórico Provincial Ávila Spain

[ภาพ​หน้า 18]

มหาวิทยาลัย​อัลกาลา เด เอนาเรส

[ภาพ​หน้า 21]

ภาพ​วาด​ใน​หน้า​แรก​ของ​งาน​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​ของ​ซาโมรา