ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีความสุขได้แม้อยู่ในครอบครัวที่มีความเชื่อต่างกัน

มีความสุขได้แม้อยู่ในครอบครัวที่มีความเชื่อต่างกัน

มี​ความ​สุข​ได้​แม้​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน

“ท่าน​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ท่าน​จะ​ช่วย [คู่​สมรส] ให้​รอด​ไม่​ได้?”—1 โค. 7:16

คุณ​หา​คำ​ตอบ​ได้​ไหม?

ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน ผู้​ที่​มี​ความ​เชื่อ​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​สร้าง​สันติ​สุข?

คริสเตียน​อาจ​ช่วย​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ให้​รับ​เอา​การ​นมัสการ​แท้​ได้​อย่าง​ไร?

คน​อื่น ๆ อาจ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ช่วย​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ซึ่ง​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน?

1. การ​ตอบรับ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​อาจ​ส่ง​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ครอบครัว?

เมื่อ​พระ​เยซู​ส่ง​เหล่า​อัครสาวก​ไป​ใน​โอกาส​หนึ่ง พระองค์​ตรัส​ว่า “ขณะ​ที่​พวก​เจ้า​ไป จง​ประกาศ​ว่า ‘ราชอาณาจักร​สวรรค์​มา​ใกล้​แล้ว.’ ” (มัด. 10:1, 7) ข่าว​ดี​นี้​จะ​นำ​สันติ​สุข​และ​ความ​สุข​มา​สู่​ผู้​คน​ที่​ตอบรับ​ด้วย​ความ​ขอบคุณ​อย่าง​แท้​จริง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​เยซู​ทรง​เตือน​เหล่า​อัครสาวก​ว่า​หลาย​คน​จะ​ต่อ​ต้าน​งาน​ประกาศ​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ที่​พวก​เขา​ทำ. (มัด. 10:16-23) การ​ต่อ​ต้าน​ที่​ทำ​ให้​ปวด​ร้าว​ใจ​เป็น​พิเศษ​ก็​คือ​การ​ต่อ​ต้าน​จาก​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​ปฏิเสธ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร.—อ่าน​มัดธาย 10:34-36

2. เหตุ​ใด​คริสเตียน​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​จึง​มี​ความ​สุข​ได้?

2 นี่​หมาย​ความ​ว่า​เหล่า​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​จะ​ไม่​มี​ทาง​มี​ความ​สุข​ไหม? ไม่​เลย! แม้​ว่า​บาง​ครั้ง​คน​ใน​ครอบครัว​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง แต่​ก็​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น​เสมอ​ไป. นอก​จาก​นั้น การ​ต่อ​ต้าน​จาก​คน​ใน​ครอบครัว​อาจ​ไม่​มี​อยู่​ตลอด​ไป. ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เรื่อง​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ต่อ​ต้าน​หรือ​ความ​ไม่​แยแส. นอก​จาก​นั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​คน​ที่​ภักดี​ต่อ​พระองค์​และ​ทรง​ช่วย​ให้​พวก​เขา​มี​ความ​ยินดี​แม้​อยู่​ใน​สภาพการณ์​ที่​ไม่​น่า​ยินดี. ผู้​มี​ความ​เชื่อ​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เขา​เอง​มี​ความ​สุข​มาก​ขึ้น​ได้ (1) โดย​พยายาม​สร้าง​สันติ​สุข​ใน​บ้าน และ (2) โดย​พยายาม​อย่าง​จริง​ใจ​ที่​จะ​ช่วย​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ให้​ตอบรับ​การ​นมัสการ​แท้.

จง​สร้าง​สันติ​สุข​ใน​บ้าน

3. เหตุ​ใด​คริสเตียน​ควร​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​สร้าง​สันติ​สุข​ใน​บ้าน?

3 เพื่อ​เมล็ด​แห่ง​ความ​ชอบธรรม​จะ​เกิด​ผล​ใน​ครอบครัว​ได้ ต้อง​มี​สันติ​สุข​ใน​บ้าน. (อ่าน​ยาโกโบ 3:18) แม้​แต่​ถ้า​ครอบครัว​คริสเตียน​ยัง​ไม่​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ใน​การ​นมัสการ​บริสุทธิ์ ผู้​มี​ความ​เชื่อ​ต้อง​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​สร้าง​สันติ​สุข​ใน​บ้าน. เขา​จะ​ทำ​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

4. คริสเตียน​อาจ​รักษา​ความ​สงบ​ใจ​ไว้​ได้​อย่าง​ไร?

4 คริสเตียน​ต้อง​รักษา​ความ​สงบ​ใจ​ไว้. เพื่อ​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น​ได้​เรา​ต้อง​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​จริง ซึ่ง​จะ​ช่วย​ให้​เรา​มี “สันติ​สุข​ของ​พระเจ้า” ที่​ไม่​มี​อะไร​เทียบ​ได้. (ฟิลิป. 4:6, 7) ความ​สุข​และ​สันติ​สุข​เป็น​ผล​มา​จาก​การ​รับ​เอา​ความ​รู้​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​การ​นำ​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​ไป​ใช้​ใน​ชีวิต. (ยซา. 54:13) การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ประชาคม​และ​มี​ส่วน​อย่าง​กระตือรือร้น​ใน​งาน​ประกาศ​ก็​สำคัญ​ด้วย​เพื่อ​เรา​จะ​มี​สันติ​สุข​และ​ความ​สุข. ตาม​ปกติ​แล้ว​คน​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​สามารถ​หา​ทาง​ทำ​กิจกรรม​คริสเตียน​ได้​ไม่​ทาง​ใด​ก็​ทาง​หนึ่ง. ขอ​ให้​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​เอน​ซา * ซึ่ง​สามี​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง. เธอ​ไป​ประกาศ​และ​สอน​คน​ให้​เป็น​สาวก​หลัง​จาก​ที่​ทำ​งาน​บ้าน​เรียบร้อย​แล้ว. เอน​ซา​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​ดิฉัน​อย่าง​อุดม​ด้วย​การ​เกิด​ผล​ดี​ทุก​ครั้ง​ที่​ดิฉัน​พยายาม​ประกาศ​ข่าว​ดี​แก่​คน​อื่น.” พระ​พร​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้​มี​สันติ​สุข ความ​อิ่ม​ใจ และ​ความ​สุข​อย่าง​แน่นอน.

5. ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน ผู้​ที่​มี​ความ​เชื่อ​มัก​เผชิญ​ปัญหา​อะไร และ​อะไร​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ได้?

5 เรา​จำเป็น​ต้อง​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​ใน​การ​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​ที่​สงบ​สุข​กับ​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. การ​ทำ​อย่าง​นี้​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​เพราะ​บาง​ครั้ง​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ต้องการ​ให้​เรา​ทำ​เป็น​สิ่ง​ที่​ขัด​กับ​หลักการ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. การ​ที่​เรา​ยึด​มั่น​กับ​หลักการ​ที่​ถูก​ต้อง​อาจ​ทำ​ให้​สมาชิก​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ไม่​พอ​ใจ แต่​จุด​ยืน​เช่น​นั้น​ส่ง​เสริม​ให้​มี​สันติ​สุข​ใน​ระยะ​ยาว. แน่นอน การ​ไม่​ยอม​ผ่อนปรน​ใน​บาง​เรื่อง​ที่​ไม่​ขัด​กับ​หลักการ​ใน​พระ​คัมภีร์​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​ได้​โดย​ไม่​จำเป็น. (อ่าน​สุภาษิต 16:7) เมื่อ​รับมือ​ข้อ​ท้าทาย นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​จะ​หา​คำ​แนะ​นำ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​จาก​หนังสือ​ต่าง ๆ ของ​ชน​ชั้น​ทาส​สัตย์​ซื่อ​และ​สุขุม​และ​จาก​ผู้​ปกครอง.—สุภา. 11:14

6, 7. (ก) เหตุ​ใด​บาง​คน​จึง​ต่อ​ต้าน​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​เริ่ม​ศึกษา​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา? (ข) นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​หรือ​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​ควร​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ต่อ​ต้าน​นั้น?

6 เพื่อ​จะ​สร้าง​สันติ​สุข​ใน​ครอบครัว​จำเป็น​ต้อง​ไว้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต้อง​เข้าใจ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. (สุภา. 16:20) แม้​แต่​คน​ที่​เพิ่ง​เรียน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​สามารถ​ทำ​อย่าง​นี้​ได้. สามี​หรือ​ภรรยา​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​บาง​คน​อาจ​ไม่​คัดค้าน​ที่​คู่​สมรส​จะ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. พวก​เขา​อาจ​ถึง​กับ​ยอม​รับ​ว่า​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​ครอบครัว. แต่​บาง​คน​อาจ​แสดง​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์. เอสเทอร์​ซึ่ง​ตอน​นี้​เป็น​พยาน​ฯ ยอม​รับ​ว่า​เธอ​โกรธ​มาก​เมื่อ​สามี​เริ่ม​ศึกษา​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​โยน​หนังสือ​ของ​เขา​ทิ้ง​หรือ​ไม่​ก็​เผา.” โฮเวิร์ด ซึ่ง​ตอน​แรก​ต่อ​ต้าน​ที่​ภรรยา​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ กล่าว​ว่า “สามี​หลาย​คน​กลัว​ว่า​ภรรยา​จะ​ถูก​หลอก​ให้​ไป​เข้า​ลัทธิ​หรือ​นิกาย. สามี​อาจ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​ตอบ​โต้​อย่าง​ไร​ดี​ต่อ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​ภัย​คุกคาม และ​อาจ​ต่อ​ต้าน​ภรรยา​ด้วย​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ.”

7 นัก​ศึกษา​ที่​คู่​สมรส​ต่อ​ต้าน​ควร​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้​เข้าใจ​ว่า​เขา​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เลิก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. บ่อย​ครั้ง เขา​จะ​แก้ไข​เรื่อง​นี้​ได้​ด้วย​อารมณ์​อ่อนโยน​และ​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​คู่​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. (1 เป. 3:15) โฮเวิร์ด​กล่าว​ว่า “ผม​รู้สึก​ขอบคุณ​มาก​ที่​ภรรยา​ผม​ใจ​เย็น​และ​ไม่​แสดง​ปฏิกิริยา​มาก​เกิน​ไป!” ภรรยา​ของ​เขา​เล่า​ว่า “โฮเวิร์ด​สั่ง​ให้​ดิฉัน​เลิก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. เขา​บอก​ว่า​ดิฉัน​กำลัง​ถูก​ล้าง​สมอง. แทน​ที่​จะ​เถียง ดิฉัน​บอก​เขา​ว่า​เขา​อาจ​พูด​ถูก แต่​ก็​บอก​ด้วย​ว่า​ดิฉัน​มอง​ไม่​เห็น​เลย​ว่า​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น​ได้​อย่าง​ไร. ดิฉัน​จึง​ขอ​ให้​เขา​อ่าน​หนังสือ​ที่​ดิฉัน​กำลัง​ศึกษา. เขา​ก็​อ่าน แต่​ไม่​พบ​อะไร​ใน​หนังสือ​นั้น​ที่​เขา​จะ​โต้​แย้ง​ได้. เรื่อง​นี้​มี​ผล​ต่อ​เขา​มาก​เลย​ที​เดียว.” นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​จำ​ไว้​ว่า​คู่​สมรส​ที่​ไม่​เชื่อ​อาจ​รู้สึก​ว่า​ถูก​ทอดทิ้ง​หรือ​กลัว​ว่า​ชีวิต​แต่งงาน​ของ​เขา​จะ​ไม่​มั่นคง​เมื่อ​คู่​สมรส​ออก​บ้าน​ไป​ประชุม​หรือ​ไป​ประกาศ แต่​การ​ยืน​ยัน​ให้​เขา​มั่น​ใจ​ใน​ความ​รัก​อาจ​ช่วย​ลด​ความ​รู้สึก​แบบ​นั้น​ได้​มาก.

จง​ช่วย​พวก​เขา​ให้​ตอบรับ​การ​นมัสการ​แท้

8. อัครสาวก​เปาโล​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​แก่​คริสเตียน​ที่​คู่​สมรส​ไม่​มี​ความ​เชื่อ?

8 อัครสาวก​เปาโล​แนะ​นำ​คริสเตียน​ว่า​อย่า​ทิ้ง​คู่​สมรส​เพียง​เพราะ​เขา​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. * (อ่าน 1 โครินท์ 7:12-16) ผู้​มี​ความ​เชื่อ​อาจ​รักษา​ความ​ยินดี​ของ​ตน​ไว้​ได้​ถ้า​ระลึก​เสมอ​ว่า​สัก​วัน​หนึ่ง​คู่​สมรส​ที่​ไม่​เชื่อ​อาจ​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน. แต่​เมื่อ​พยายาม​อธิบาย​ข่าวสาร​ความ​จริง​ให้​ผู้​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​เข้าใจ มี​ข้อ​ควร​ระวัง​อย่าง​หนึ่ง ดัง​จะ​เห็น​ได้​จาก​ประสบการณ์​ต่อ​ไป​นี้.

9. เมื่อ​บอก​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​คน​ใน​ครอบครัว ควร​ระวัง​อะไร?

9 เจสัน​กล่าว​ถึง​ปฏิกิริยา​ของ​เขา​เมื่อ​ได้​เรียน​รู้​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า “ผม​อยาก​บอก​เรื่อง​นี้​กับ​ทุก​คน!” เมื่อ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​เห็น​คุณค่า​ความ​จริง​ที่​เขา​ได้​เรียน เขา​อาจ​มี​ความ​สุข​มาก​จน​พูด​เรื่อง​ความ​จริง​นั้น​เกือบ​จะ​ตลอด​เวลา. เขา​อาจ​คาด​หมาย​ให้​คน​ใน​ครอบครัว​ซึ่ง​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ตอบรับ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ทันที แต่​พวก​เขา​อาจ​ยัง​ไม่​ตอบรับ. ความ​กระตือรือร้น​ใน​ช่วง​เริ่ม​แรก​ที่​เจสัน​มี​ส่ง​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ภรรยา​เขา? เธอ​เล่า​ว่า “ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​มัน​มาก​เกิน​ไป​จน​รับ​ไม่​ไหว.” พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ตอบรับ​ความ​จริง​หลัง​สามี 18 ปี​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​เป็น​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​ต้อง​ค่อย ๆ เรียน​รู้​ความ​จริง​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย.” ถ้า​ตอน​นี้​คุณ​กำลัง​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​นัก​ศึกษา​ที่​คู่​สมรส​ไม่​ต้องการ​ร่วม​กับ​เขา​ใน​การ​นมัสการ​แท้ คุณ​น่า​จะ​ซัก​ซ้อม​ด้วย​กัน​กับ​เขา​เป็น​ประจำ​เพื่อ​ช่วย​นัก​ศึกษา​ให้​รับมือ​เรื่อง​นี้​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา. โมเซ​กล่าว​ว่า “โอวาท​ของ​เรา​จะ​หยด​ลง​มา​ดัง​น้ำ​ฝน, วาจา​ของ​เรา​จะ​ตก​ดัง​น้ำ​ค้าง, ดัง​ฝน​ตก​ปรอย ๆ อยู่​ที่​หญ้า​อ่อน.” (บัญ. 32:2) การ​ใช้​ถ้อย​คำ​แห่ง​ความ​จริง​เพียง​ไม่​กี่​คำ​ที่​เหมาะ​กับ​กาลเทศะ​มัก​ก่อ​ผล​ดี​กว่า​การ​บอก​ข่าวสาร​ความ​จริง​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน.

10-12. (ก) อัครสาวก​เปโตร​ให้​คำ​แนะ​นำ​อะไร​แก่​คริสเตียน​ที่​คู่​สมรส​ไม่​มี​ความ​เชื่อ? (ข) นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ตาม​ที่​บันทึก​ไว้​ใน 1 เปโตร 3:1, 2 อย่าง​ไร?

10 อัครสาวก​เปโตร​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​แก่​คริสเตียน​ผู้​เป็น​ภรรยา​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน. ท่าน​เขียน​ว่า “ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ที่​เป็น​ภรรยา​ยอม​เชื่อ​ฟัง​สามี​ของ​ตน เพื่อ​ว่า​ถ้า​สามี​คน​ใด​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระ​คำ การ​ประพฤติ​ของ​ภรรยา​ก็​อาจ​ชนะ​ใจ​เขา​โดย​ไม่​ต้อง​เอ่ย​ปาก เนื่อง​จาก​เขา​ได้​เห็น​การ​ประพฤติ​อัน​บริสุทธิ์​พร้อม​กับ​ความ​นับถือ​อย่าง​สุด​ซึ้ง​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย.” (1 เป. 3:1, 2) ภรรยา​อาจ​ชนะ​ใจ​สามี​และ​ช่วย​ให้​เขา​รับ​เอา​การ​นมัสการ​แท้​ได้​ด้วย​การ​ยอม​เชื่อ​ฟัง​และ​นับถือ​สามี​อย่าง​สุด​ซึ้ง แม้​แต่​เมื่อ​เขา​ปฏิบัติ​ต่อ​เธอ​อย่าง​รุนแรง. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน สามี​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ควร​ปฏิบัติ​ต่อ​ภรรยา​อย่าง​ที่​พระเจ้า​พอ​พระทัย​และ​เป็น​ประมุข​ครอบครัว​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ไม่​ว่า​เขา​อาจ​ถูก​ภรรยา​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ต่อ​ต้าน​เช่น​ไร​ก็​ตาม.—1 เป. 3:7-9

11 มี​ตัว​อย่าง​มาก​มาย​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ประโยชน์​ของ​การ​นำ​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปโตร​ไป​ใช้. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​เซลมา. เมื่อ​เธอ​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา สตีฟ​สามี​เธอ​ไม่​พอ​ใจ. เขา​ยอม​รับ​ว่า “ผม​โกรธ หึง​หวง และ​รู้สึก​หวาด​หวั่น.” เซลมา​กล่าว​ว่า “แม้​แต่​ก่อน​ที่​ดิฉัน​จะ​เรียน​ความ​จริง การ​อยู่​กับ​สตีฟ​เป็น​เหมือน​การ​เดิน​บน​เปลือก​ไข่. จะ​พูด​จะ​ทำ​อะไร​ต้อง​ระวัง​มาก ๆ เพราะ​เขา​เป็น​คน​ขี้​โมโห. เมื่อ​ดิฉัน​เริ่ม​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ความ​เจ้า​อารมณ์​ของ​เขา​ก็​ยิ่ง​หนัก​ขึ้น​ไป​อีก.” อะไร​ที่​ช่วย​เธอ?

12 เซลมา​เล่า​ถึง​เรื่อง​หนึ่ง​ที่​เธอ​เรียน​รู้​จาก​พยาน​ฯ ที่​นำ​การ​ศึกษา​เธอ. เซลมา​กล่าว​ว่า “มี​อยู่​วัน​หนึ่ง​ที่​ดิฉัน​ไม่​อยาก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. คืน​ก่อน​หน้า​นั้น สตีฟ​ทุบ​ตี​ดิฉัน​เมื่อ​ดิฉัน​พยายาม​พิสูจน์​เรื่อง​หนึ่ง​กับ​เขา ดิฉัน​จึง​รู้สึก​เศร้า​และ​สงสาร​ตัว​เอง. เมื่อ​ดิฉัน​บอก​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​ถึง​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​และ​ความ​รู้สึก​ของ​ดิฉัน เธอ​ก็​ขอ​ให้​ดิฉัน​อ่าน 1 โครินท์ 13:4-7. เมื่อ​ดิฉัน​อ่าน ดิฉัน​ก็​เริ่ม​หา​เหตุ​ผล​ว่า ‘สตีฟ​ไม่​เคย​แสดง​ความ​รัก​อย่าง​นี้​ต่อ​ฉัน​เลย.’ แต่​ผู้​นำ​การ​ศึกษา​ชวน​ให้​ดิฉัน​คิด​อีก​แบบ​หนึ่ง​โดย​ถาม​ว่า ‘มี​กี่​ครั้ง​ที่​คุณ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​นั้น​ต่อ​สามี?’ ดิฉัน​ตอบ​ว่า ‘ไม่​เคย​เลย เพราะ​เขา​เป็น​คน​เอา​ใจ​ยาก.’ ผู้​นำ​การ​ศึกษา​พูด​อย่าง​นุ่มนวล​ว่า ‘เซลมา ใคร​ล่ะ​ที่​กำลัง​พยายาม​จะ​เป็น​คริสเตียน? คุณ​หรือ​สตีฟ?’ เมื่อ​รู้​ตัว​ว่า​ดิฉัน​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​ความ​คิด​ของ​ตัว​เอง ดิฉัน​อธิษฐาน​ขอ​ให้​พระ​ยะโฮวา​ช่วย​ดิฉัน​แสดง​ความ​รัก​มาก​ขึ้น​ต่อ​สตีฟ. แล้ว​อะไร ๆ ก็​ค่อย ๆ ดี​ขึ้น.” หลัง​จาก​นั้น 17 ปี สตีฟ​ก็​ตอบรับ​ความ​จริง.

คน​อื่น ๆ จะ​ช่วย​ได้​อย่าง​ไร?

13, 14. คุณ​จะ​ช่วย​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ซึ่ง​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​ได้​อย่าง​ไร?

13 ฝน​ปรอย ๆ รด​ผืน​ดิน​ให้​ชุ่ม​และ​ช่วย​ให้​พืช​เจริญ​เติบโต​ฉัน​ใด การ​กระทำ​ที่​กรุณา​ของ​หลาย​คน​ใน​ประชาคม​ก็​ช่วย​ให้​คริสเตียน​ที่​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​มี​ความ​สุข​ได้​ฉัน​นั้น. เอล​วี​นา ซึ่ง​อยู่​ที่​ประเทศ​บราซิล กล่าว​ว่า “ความ​รัก​ของ​พี่​น้อง​คือ​สิ่ง​ที่​ช่วย​ดิฉัน​ให้​ยืนหยัด​มั่นคง​ใน​แนว​ทาง​ความ​จริง.”

14 การ​ที่​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​แสดง​ความ​กรุณา​และ​ความ​สนใจ​ต่อ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ใน​ครอบครัว​ของ​พี่​น้อง​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ประทับใจ​มาก​ที​เดียว. สามี​คน​หนึ่ง​ที่​ประเทศ​ไนจีเรีย ซึ่ง​ตอบรับ​ความ​จริง​หลัง​ภรรยา 13 ปี กล่าว​ว่า “ครั้ง​หนึ่ง​ตอน​ที่​ผม​เดิน​ทาง​ไป​ด้วย​กัน​กับ​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง รถ​เขา​เสีย​กลาง​ทาง. เขา​ตาม​หา​เพื่อน​พยาน​ฯ ที่​อยู่​ใน​หมู่​บ้าน​หนึ่ง​ซึ่ง​อยู่​ใน​ละแวก​นั้น. พวก​เขา​เชิญ​ให้​เรา​พัก​ที่​บ้าน​ใน​คืน​นั้น. พวก​เขา​ดู​แล​เรา​ราว​กับ​ว่า​รู้​จัก​กัน​มา​ตั้ง​แต่​เด็ก. ผม​รู้สึก​ได้​ทันที​ถึง​ความ​รัก​แบบ​คริสเตียน​ที่​ภรรยา​ผม​พูด​ถึง​อยู่​เสมอ.” ที่​ประเทศ​อังกฤษ ภรรยา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เข้า​มา​ใน​ความ​จริง​หลัง​สามี 18 ปี​เล่า​ว่า “พยาน​ฯ เชิญ​เรา​ทั้ง​สอง​ไป​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​หลาย​ครั้ง. ดิฉัน​รู้สึก​ได้​ว่า​พวก​เขา​ต้อนรับ​ดิฉัน​เสมอ.” สามี​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ประเทศ​เดียว​กัน​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ได้​เข้า​มา​เป็น​พยาน​ฯ กล่าว​ว่า “พี่​น้อง​มัก​จะ​มา​เยี่ยม​เรา หรือ​ไม่​ก็​เชิญ​เรา​ไป​ที่​บ้าน​ของ​พวก​เขา และ​ผม​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​เป็น​ห่วง​ผม​จริง ๆ. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เป็น​อย่าง​นั้น​โดย​เฉพาะ​ตอน​ที่​ผม​อยู่​ใน​โรง​พยาบาล​และ​หลาย​คน​มา​เยี่ยม​ผม.” คุณ​จะ​หา​วิธี​แสดง​ความ​สนใจ​คล้าย ๆ กัน​นั้น​ต่อ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ใน​ครอบครัว​ของ​พี่​น้อง​ได้​ไหม?

15, 16. อะไร​อาจ​ช่วย​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​ให้​มี​ความ​สุข​อยู่​เสมอ​เมื่อ​คน​อื่น ๆ ใน​ครอบครัว​ยัง​ไม่​เข้า​มา​เชื่อ?

15 แน่นอน ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​เป็น​คู่​สมรส ลูก พ่อ​แม่ หรือ​ญาติ​คน​อื่น ๆ ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​จะ​ตอบรับ​การ​นมัสการ​แท้ แม้​ว่า​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​อาจ​ประพฤติ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​และ​บอก​ความ​จริง​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ก็​ตาม. บาง​คน​อาจ​ยัง​ไม่​สนใจ​หรือ​ต่อ​ต้าน​ต่อ​ไป​ไม่​เลิก​รา. (มัด. 10:35-37) แต่​เมื่อ​คริสเตียน​แสดง​คุณลักษณะ​แบบ​พระเจ้า นั่น​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ผล​ที่​ดี​มาก. สามี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เคย​เป็น​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​กล่าว​ว่า “เมื่อ​คู่​สมรส​ที่​มี​ความ​เชื่อ​เริ่ม​แสดง​คุณลักษณะ​ที่​น่า​รัก​เหล่า​นั้น​ออก​มา ไม่​มี​ใคร​รู้​หรอก​ว่า​นั่น​อาจ​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​จิตใจ​และ​หัวใจ​ของ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. ดัง​นั้น อย่า​เพิ่ง​หมด​หวัง​กับ​คู่​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ.”

16 แม้​แต่​เมื่อ​มี​ใคร​ใน​ครอบครัว​ที่​ยัง​ไม่​มี​ความ​เชื่อ คน​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ก็​มี​ความ​สุข​ได้. แม้​ว่า​สามี​ของ​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​ไม่​ตอบรับ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร​หลัง​จาก​พยายาม​มา 21 ปี​แล้ว เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​ก็​ยัง​รักษา​ความ​ยินดี​ไว้​ได้​โดย​พยายาม​ทำ​สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พอ​พระทัย โดย​ภักดี​ต่อ​พระองค์​เสมอ และ​โดย​ทำ​การ​งาน​ที่​ช่วย​ให้​ดิฉัน​เข้มแข็ง​ฝ่าย​วิญญาณ. การ​ที่​ดิฉัน​หมกมุ่น​อยู่​กับ​กิจกรรม​ฝ่าย​วิญญาณ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว เข้า​ร่วม​การ​ประชุม ร่วม​ใน​งาน​ประกาศ และ​ช่วย​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม ทำ​ให้​ดิฉัน​เข้า​ใกล้​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น​และ​ช่วย​ปก​ป้อง​หัวใจ​ของ​ดิฉัน​ไว้.”—สุภา. 4:23

อย่า​ท้อ​ถอย!

17, 18. คริสเตียน​จะ​มี​ความ​หวัง​อยู่​เสมอ​ได้​อย่าง​ไร​แม้​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน?

17 ถ้า​คุณ​เป็น​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน อย่า​ท้อ​ถอย. ขอ​ให้​จำ​ไว้​ว่า “[พระ​ยะโฮวา] จะ​ไม่​ละ​ทิ้ง​ประชากร​ของ​พระองค์​ด้วย​เห็น​แก่​พระ​นาม​ใหญ่​ยิ่ง​ของ​พระองค์.” (1 ซามู. 12:22, ฉบับ R​73) พระองค์​จะ​อยู่​กับ​คุณ​ตราบ​ใด​ที่​คุณ​ภักดี​ต่อ​พระองค์. (อ่าน 2 โครนิกา 15:2) ดัง​นั้น “จง​ยัง​ใจ​ให้​ชื่นชม​ใน​พระ​ยะโฮวา.” ใช่​แล้ว “จง​มอบ​ทาง​ประพฤติ​ของ​ตน​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา แถม​จง​วางใจ​ใน​พระองค์​ด้วย.” (เพลง. 37:4, 5) “จง​หมั่น​อธิษฐาน​อยู่​เสมอ” และ​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​สามารถ​ช่วย​คุณ​ให้​อด​ทน​ความ​ยาก​ลำบาก​ทุก​รูป​แบบ​ได้.—โรม 12:12

18 จง​อธิษฐาน​ขอ​พระ​ยะโฮวา​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​เพื่อ​ช่วย​คุณ​ให้​สร้าง​สันติ​สุข​ใน​บ้าน. (ฮีบรู 12:14) ใช่​แล้ว เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ส่ง​เสริม​ให้​เกิด​สันติ​สุข​ใน​บ้าน​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​อาจ​มี​ผล​กระทบ​ใน​ทาง​ที่​ดี​ต่อ​คน​ใน​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ. คุณ​จะ​มี​ความ​สุข​และ​ความ​สงบ​ใจ​ขณะ​ที่​คุณ “ทำ​ทุก​สิ่ง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​สรรเสริญ.” (1 โค. 10:31) ขณะ​ที่​คุณ​พยายาม​ทำ​สิ่ง​เหล่า​นี้ ช่าง​ให้​กำลังใจ​สัก​เพียง​ไร​ที่​รู้​ว่า​มี​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ที่​พร้อม​จะ​สนับสนุน​คุณ!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 8 คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​ไม่​ได้​ห้าม​คริสเตียน​ที่​จะ​แยก​กัน​อยู่​กับ​คู่​สมรส​ใน​กรณี​ที่​สภาพการณ์​ถึง​ขีด​สุด. นี่​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​เป็น​ส่วน​ตัว. โปรด​ดู​หนังสือ “เป็น​ที่​รัก​ของ​พระเจ้า​เสมอ” หน้า 220-221.

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 28]

จง​เลือก​เวลา​ที่​เหมาะ​เพื่อ​อธิบาย​ความ​เชื่อ​ของ​คุณ

[ภาพ​หน้า 29]

จง​แสดง​ความ​ห่วงใย​ต่อ​คู่​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ