ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัฟเวอร์เดลกับคัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษ

คัฟเวอร์เดลกับคัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษ

คัฟเวอร์เดล​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ฉบับ​แรก​ที่​พิมพ์​ใน​ภาษา​อังกฤษ

คัมภีร์​ไบเบิล​ครบ​ชุด​ฉบับ​แรก​ที่​พิมพ์​ใน​ภาษา​อังกฤษ​ไม่​ได้​บอก​ชื่อ​ผู้​แปล​เอา​ไว้. แต่​เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​ผู้​นั้น​คือ​ไมลส์ คัฟเวอร์เดล และ​ผล​งาน​ของ​เขา​ได้​รับ​การ​ตี​พิมพ์​ใน​ปี 1535. ใน​เวลา​นั้น วิลเลียม ทินเดล เพื่อน​ของ​เขา​ถูก​จำ​คุก​เพราะ​พยายาม​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล. ทินเดล​ถูก​ประหาร​ชีวิต​ใน​ปี​ต่อ​มา.

งาน​แปล​ของ​คัฟเวอร์เดล​ส่วน​หนึ่ง​อาศัย​งาน​ที่​ทินเดล​ทำ​ไว้. คัฟเวอร์เดล​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​สำเร็จ​ได้​โดย​ไม่​ถูก​ประหาร​ได้​อย่าง​ไร​ใน​ขณะ​ที่​ผู้​แปล​พระ​คัมภีร์​หลาย​คน​ใน​เวลา​นั้น​ต้อง​เอา​ชีวิต​เข้า​แลก? และ​คัฟเวอร์เดล​ฝาก​ผล​งาน​อะไร​ไว้?

เมล็ด​ที่​ถูก​หว่าน

ไมลส์ คัฟเวอร์เดล​เกิด​ที่​ยอร์กเชียร์ ประเทศ​อังกฤษ ประมาณ​ปี 1488. เขา​เรียน​ที่​มหาวิทยาลัย​เคมบริดจ์​และ​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​บาทหลวง​นิกาย​โรมัน​คาทอลิก​ใน​ปี 1514. ต่อ​มา โรเบิร์ต บานส์ ซึ่ง​เป็น​ครู​ของ​คัฟเวอร์เดล​ได้​จุด​ประกาย​ให้​เขา​เริ่ม​สนใจ​การ​ปฏิรูป​ศาสนา. ใน​ปี 1528 บานส์​หนี​ไป​ยุโรป และ​อีก​สิบ​สอง​ปี​ต่อ​มา นัก​ปฏิรูป​ผู้​นี้​ถูก​ผู้​นำ​คริสตจักร​ประหาร​ด้วย​การ​เผา​บน​หลัก.

พอ​ถึง​ปี 1528 คัฟเวอร์เดล​เริ่ม​เทศน์​โจมตี​พิธีกรรม​ต่าง ๆ ของ​คาทอลิก​ที่​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​คำ​สอน​ใน​พระ​คัมภีร์ เช่น การ​นมัสการ​รูป​เคารพ การ​สารภาพ​บาป และ​พิธี​มิสซา. เนื่อง​จาก​รู้​ว่า​ชีวิต​ของ​เขา​กำลัง​ตก​อยู่​ใน​อันตราย คัฟเวอร์เดล​จึง​หนี​จาก​อังกฤษ​ไป​ยุโรป​และ​อยู่​ที่​นั่น​ประมาณ​เจ็ด​ปี.

เขา​ไป​อาศัย​อยู่​กับ​วิลเลียม ทินเดล​ที่​ฮัมบูร์ก ประเทศ​เยอรมนี. ทั้ง​สอง​ต่าง​ก็​ต้องการ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คน​ทั่ว​ไป​ได้​อ่าน. ใน​ช่วง​นี้​เอง คัฟเวอร์เดล​ได้​เรียน​รู้​ศิลปะ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​ทินเดล.

ช่วง​แห่ง​การ​เปลี่ยน​แปลง

เวลา​นั้น ใน​อังกฤษ​เอง​ก็​กำลัง​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง. ใน​ปี 1534 กษัตริย์​เฮนรี​ที่ 8 ได้​ท้าทาย​อำนาจ​โปป​ใน​โรม​อย่าง​เปิด​เผย. นอก​จาก​นั้น กษัตริย์​เฮนรี​ยัง​อยาก​ให้​สามัญ​ชน​มี​โอกาส​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​อังกฤษ​ด้วย ซึ่ง​ต่อ​มา​คัฟเวอร์เดล​ได้​เป็น​ผู้​ทำ​งาน​นี้. คัฟเวอร์เดล​ช่ำชอง​ใน​การ​ใช้​ภาษา​อังกฤษ แต่​ไม่​มี​ความ​รู้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​เหมือน​กับ​ทินเดล​ซึ่ง​เป็น​ทั้ง​เพื่อน​และ​ที่​ปรึกษา​ของ​เขา. คัฟเวอร์เดล​นำ​ฉบับ​แปล​ของ​ทินเดล​มา​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​โดย​อาศัย​ฉบับ​แปล​ภาษา​ละติน​และ​เยอรมัน​เป็น​หลัก.

คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​คัฟเวอร์เดล​แปล​ได้​รับ​การ​ตี​พิมพ์​ที่​ยุโรป​ใน​ปี 1535 หนึ่ง​ปี​ก่อน​ทินเดล​จะ​ถูก​ประหาร. ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​มี​การ​เขียน​คำ​อุทิศ​แด่​กษัตริย์​เฮนรี​ด้วย​ถ้อย​คำ​สรรเสริญ​เยินยอ​อย่าง​เลิศ​หรู. คัฟเวอร์เดล​รับรอง​กับ​กษัตริย์​เฮนรี​ว่า​จะ​ไม่​ใส่​เชิงอรรถ​ของ​ทินเดล​ลง​ใน​พระ​คัมภีร์​ของ​เขา ซึ่ง​เชิงอรรถ​นี้​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​สาเหตุ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ความ​ขัด​แย้ง​เพราะ​มี​ข้อ​ความ​ที่​แสดง​ว่า​คำ​สอน​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์. ดัง​นั้น กษัตริย์​เฮนรี​จึง​เห็น​ชอบ​กับ​การ​ตี​พิมพ์​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้. สถานการณ์​เริ่ม​เปลี่ยน​ไป​แล้ว​จริง ๆ.

ต่อ​มา ใน​ปี 1537 มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​คัฟเวอร์เดล​ที่​พิมพ์​ใน​ประเทศ​อังกฤษ​เผย​โฉม​ออก​มา​อีก​สอง​ฉบับ. ใน​ปี​เดียว​กัน​นั้น​เอง กษัตริย์​เฮนรี​ได้​รับรอง​พระ​คัมภีร์​อีก​ฉบับ​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า​แมททิวไบเบิล​ซึ่ง​พิมพ์​ที่​เมือง​แอนทเวิร์ป. คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ได้​รวม​เอา​ผล​งาน​ของ​ทินเดล​และ​คัฟเวอร์เดล​ไว้​ด้วย​กัน.

หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน โทมัส ครอมเวลล์ ที่​ปรึกษา​คน​สำคัญ​ของ​กษัตริย์​ได้​มอง​เห็น​ว่า​จำเป็น​ต้อง​แก้ไข​ปรับ​ปรุง​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แมททิวไบเบิล และ​เขา​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​แครนเมอร์ อาร์ชบิชอป​แห่ง​แคนเทอร์เบอรี. ดัง​นั้น ครอมเวลล์​จึง​ขอ​ให้​คัฟเวอร์เดล​ตรวจ​แก้​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​ทั้ง​หมด. ต่อ​มา ใน​ปี 1539 กษัตริย์​เฮนรี​ได้​อนุญาต​ให้​พิมพ์​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ใหม่​นี้​ที่​เรียก​ว่า​เกรท​ไบเบิล และ​สั่ง​ให้​นำ​ไป​วาง​ไว้​ตาม​โบสถ์​ต่าง ๆ เพื่อ​ให้​ประชาชน​ทุก​คน​ได้​อ่าน. คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​โต​นี้​ได้​รับ​การ​ตอบรับ​ด้วย​ความ​ตื่นเต้น​ดีใจ​จาก​ผู้​คน​ทั่ว​ประเทศ.

มรดก​ที่​คัฟเวอร์เดล​ได้​ละ​ไว้

หลัง​จาก​กษัตริย์​เฮนรี​ที่ 8 สิ้น​พระ​ชนม์​และ​กษัตริย์​องค์​ใหม่​คือ​เอดเวิร์ด​ที่ 6 ขึ้น​ครอง​ราชย์ คัฟเวอร์เดล​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​บิชอป​แห่ง​เอ็กเซเทอร์​ใน​ปี 1551. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ราชินี​แมรี​ซึ่ง​เป็น​คาทอลิก​ขึ้น​ครอง​ราชย์​ต่อ​จาก​กษัตริย์​เอดเวิร์ด​ใน​ปี 1553 คัฟเวอร์เดล​ต้อง​หนี​ไป​เดนมาร์ก. ต่อ​มา เขา​ได้​ย้าย​ไป​สวิตเซอร์แลนด์​และ​ทำ​งาน​แปล​ต่อ​ที่​นั่น. นอก​จาก​นี้ เขา​ยัง​ตี​พิมพ์​ส่วน​ที่​เรียก​กัน​ว่า​พันธสัญญา​ใหม่​ใน​ภาษา​อังกฤษ​อีก​สาม​ฉบับ​ซึ่ง​มี​ข้อมูล​อ้างอิง​ภาษา​ละติน​ให้​นัก​เทศน์​นัก​บวช​ศึกษา​ค้นคว้า​ได้.

สิ่ง​ที่​น่า​สังเกต​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​คัฟเวอร์เดล คือ​เขา​ไม่​ได้​ใช้​คำ “ยะโฮวา” ซึ่ง​เป็น​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​เลย. ทินเดล​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​มาก​กว่า 20 ครั้ง​ใน​ฉบับ​แปล​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ของ​เขา. เจ. เอฟ. โมซลีย์​ได้​ให้​ความ​เห็น​ไว้​ใน​หนังสือ​คัฟเวอร์เดล​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​เขา ว่า “ใน​ปี 1535 คัฟเวอร์เดล​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ใช้​คำ​นี้ [ยะโฮวา] อย่าง​สิ้นเชิง.” กระนั้น ใน​เวลา​ต่อ​มา​เขา​ได้​ใส่​พระ​นาม​ยะโฮวา​ของ​พระเจ้า​ไว้​สาม​ครั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​เกรท​ไบเบิล.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​คัฟเวอร์เดล​เป็น​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​อังกฤษ​ฉบับ​แรก​ที่​มี​เททรากรัมมาทอน หรือ​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​รูป​อักษร​ฮีบรู​สี่​ตัว​อยู่​ที่​หัว​กระดาษ​ใน​หน้า​แรก​ของ​พระ​คัมภีร์. ลักษณะ​เด่น​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​คือ เป็น​ฉบับ​แรก​ที่​รวบ​รวม​หนังสือ​อธิกธรรม​ทั้ง​หมด​ไว้​ใน​ภาค​ผนวก​แทน​ที่​จะ​แทรก​ไว้​ระหว่าง​หนังสือ​เล่ม​ต่าง ๆ ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู.

สำนวน​และ​ถ้อย​คำ​ที่​เป็น​เอกลักษณ์​ของ​คัฟเวอร์เดล​ยัง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​ใน​หมู่​ผู้​แปล​พระ​คัมภีร์​สมัย​หลัง ๆ. ตัว​อย่าง​หนึ่ง​คือ วลี “หุบเขา​เงา​มัจจุราช” ใน​เพลง​สรรเสริญ​บท 23 ข้อ 4 (ฉบับ R​73). ศาสตราจารย์​เอส. แอล. กรีนสเลด​กล่าว​ว่า คำ “ความ​กรุณา​รักใคร่” ใน​ข้อ 6 (ล.ม.) เป็น “คำ​พิเศษ​ที่​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ที่​พระเจ้า​มี​ต่อ​ประชาชน​ของ​พระองค์​แตกต่าง​จาก​ความ​รัก​ทั่ว ๆ ไป​และ​ความ​กรุณา.” พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่—พร้อม​ด้วย​ข้อ​อ้างอิง (ภาษา​อังกฤษ) ใช้​คำ​เดียว​กัน​นี้​โดย​มี​คำ​อธิบาย​ใน​เชิงอรรถ​ว่า “หรือ ‘ความ​รัก​ภักดี.’ ”

หนังสือ​ชื่อ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​อังกฤษ กล่าว​ว่า​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​เกรท​ไบเบิล​ของ​คัฟเวอร์เดล “เป็น​ผล​งาน​ที่​เกิด​จาก​การ​ทุ่มเท​ความ​พยายาม​เพื่อ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​อังกฤษ . . . ตั้ง​แต่​สมัย​ที่​ทินเดล​เริ่ม​แปล​พันธสัญญา​ใหม่.” กล่าว​ตาม​จริง​แล้ว ฉบับ​แปล​ของ​คัฟเวอร์เดล​ได้​ช่วย​ให้​ผู้​คน​มาก​มาย​ที่​ใช้​ภาษา​อังกฤษ​ใน​สมัย​ของ​เขา​มี​โอกาส​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล.

[ภาพ​หน้า 11]

ซ้าย: เททรากรัมมาทอน​ใน​หน้า​แรก​ของ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ปี 1537

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Photo source: From The Holy Scriptures of the Olde and Newe Testamente With the Apocripha by Myles Coverdale

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 11]

From the book Our English Bible: Its Translations and Translators